Feature

"ซุป อิทธิ นานา" การ์ดฟุตบอลที่ไม่ใช่แค่ของเล่น แต่คือการลงทุนผ่านเรื่องราวบนกระดาษ | Main Stand

เชื่อว่าทุกคนอาจมีความคิดที่จะนำเงินเก็บของตัวเองมาต่อยอดด้วยการลงทุนเพื่อหวังผลกำไร ซึ่งในอดีตรูปแบบของการลงทุนก็คงจะมีเพียงแค่ไม่กี่อย่างเช่นการซื้อทองคำ แตกต่างจากสมัยนี้ที่กลับมีทางเลือกมากมาย ทั้ง คริปโตเคอร์เรนซี ภาพ NFT หรือ รองเท้าสนีกเกอร์ 

 

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในโลกกีฬาก็มีสินค้าที่สามารถเลือกเก็บสะสมเพื่อการลุงทุนได้เช่นกัน เช่น เสื้อฟุตบอล รองเท้าสตั๊ด สินค้าแมตช์วอร์นทั้งหลาย และอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้คือ การ์ดนักกีฬาฟุตบอล 

หากมองที่ตัวการ์ดฟุตบอลที่มีองค์ประกอบเพียงแค่รูปของนักเตะและความสวยงามของรูปแบบ ซึ่งมันอาจจะถูกกำหนดให้เป็นของเล่นสำหรับเด็ก แต่หากคุณศึกษาและให้เวลากับมันจะพบว่าการ์ดเหล่านี้มีความพิเศษและมีเรื่องราวที่มากกว่าแค่เรื่องความสวยงามอย่างแน่นอน

Main Stand ร่วมพูดคุยกับ “ซุป อิทธิ นานา” หนึ่งในนักสะสมยุคแรก ๆ ของไทย ที่ปัจจุบันมีการ์ดสะสมกว่าหมื่นใบ ซึ่งการสะสมของเขานั้นเกิดจากความชื่นชอบ แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการสะสมมาเป็นการลงทุน 

การเริ่มต้นสะสมการ์ดของซุปเป็นอย่างไร และเรื่องราวการลงทุนกับการ์ดฟุตบอลมีความน่าสนใจแค่ไหน ติดตามได้ที่นี่

 

เข้าสู่วงการสะสมการ์ดฟุตบอลได้อย่างไร ?  

“ผมชอบดูฟุตบอลมาแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อนเราจะชอบย้อนดูคลิปไฮไลท์ฟุตบอลในยูทูบ แต่พอหาไปหามาดันมาเจอเพจที่เป็นการ์ดฟุตบอลเฉยเลย ผมก็เลยงงว่า เฮ้ย มันมีการ์ดแบบนี้ด้วยเหรอ พอได้ชื่อมาก็เลยลองไปหาข้อมูลดูก็เลยเริ่มรู้จักการ์ดตั้งแต่นั้น แต่ก็เกิดมาจากการหาดูไฮไลท์ฟุตบอล”

“สมัยก่อนการจะหาของพวกนี้มันยากกว่าสมัยนี้ที่มีโซเชียลมีเดีย สมัยก่อนมันไม่ได้มีเยอะขนาดนี้และมันก็ต้องเสิร์ชหา ตอนนั้นในไทยเองยังไม่ได้มีกลุ่มการ์ดบอลถึงได้เริ่มสะสม แรก ๆ ไม่เจอคนไทยเลยด้วย แต่ตอนหลังถึงรู้ว่ามีพี่ ๆ คนไทยสะสมด้วย แต่ก็คือยังตัวใครตัวมันอยู่เลยไม่ได้มารวมกลุ่มกัน”

 

ตั้งแต่เริ่มเก็บสะสมมามีการ์ดเยอะแค่ไหน ?

“ตอนนี้สะสมมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว ถ้านับจำนวนใบทั้งหมดก็คงจะเป็นหมื่นใบ เพราะตู้ข้างหน้านี้ก็ของผมทั้งหมด แล้วก็ตู้นู้นตู้นี้ แล้วมันก็จะมีการ์ดที่ไม่ค่อยมีมูลค่า ซึ่งมันเยอะมากจนไม่มีที่เก็บแล้ว”

“สมัยก่อนกล่องนึงไม่แพง ถ้ามีรุ่นที่ออกมาเราก็จะดูว่าเราชอบดีไซน์แบบไหนเราก็จะซื้อแบบนั้นมาเก็บสะสม คือผมเริ่มมาจากนักสะสมก็เลยไม่ได้มองว่าการ์ดแบบไหนจะเอาไว้ขาย 80-90 เปอร์เซ็นต์นี่คือเก็บทั้งหมด แต่ 10 เปอร์เซ็นต์จะเป็นลงทุนและขาย” 

 

การ์ดในไทยยังไม่เป็นที่นิยม แล้วซุปสะสมการ์ดเหล่านี้ด้วยวิธีไหน ? 

“การสะสมการ์ดของผมจะเริ่มจากการเปิดกล่อง อีกส่วนหนึ่งก็คือการเล่นเบรก ซึ่งการเล่นเบรกก็จะมีคนที่เข้ามาร่วมหารค่ากล่อง อย่างเช่นในกล่องนึงไม่รู้ว่าจะมีการ์ดอะไรบ้าง มีคนเข้ามาร่วมหาร 5 คน คนนึงเอา แมนฯ ยูไนเต็ด ผมเอา ลิเวอร์พูล อีกคนเอา สเปอร์ส สมมุติว่าเป็นกล่องของพรีเมียร์ลีก ถ้าเปิดออกมาเป็นลิเวอร์พูลผมก็จะได้มา อีกส่วนหนึ่งทางก็จะมาจากการซื้อในเฟซบุ๊ก หรือ eBay ซึ่งเดี๋ยวนี้มันก็จะมีหลาย ๆ ตลาดที่เกิดขึ้น” 


 

กระแสของการ์ดฟุตบอลตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

“จริง ๆ การ์ดบอลมันมีมานานแล้ว แต่ว่ามันมาบูมที่แบบว่าราคาขึ้นแล้วคนที่สะสมไว้นานทำกำไรได้เยอะก็จะเป็นช่วงฟุตบอลโลกปี 2018 คือคำว่าราคาขึ้นมันขึ้นถึง 200 ถึง 300 เปอร์เซ็นต์ สมมุติจากการ์ดใบละ 1,000 บาทกลายเป็นราคา 8-9 พันบาท ซึ่งตอนนี้ราคามันลงแล้วแต่ก็ไม่ได้กลับไปที่จุดเดิม ใครสะสมไว้ก่อนหน้านี้ก็ถือว่าโชคดี”

“กับการที่มีกระแสมากขึ้นก็ทำให้มีนักสะสมนักลงทุนเยอะขึ้น บวกกับตลาดที่มันกว้างขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็มีบางคนที่ทำเป็นอาชีพเลย แต่สมัยก่อนไม่ค่อยมีเพราะการ์ดบอลทำกำไรไม่ค่อยได้”

“มันทำให้ตัวผมก็เปลี่ยนจากการสะสมในอดีตที่ประมาณ 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์จะสะสม 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อลงทุนและขาย  แต่ตอนนี้ตายเป็น 60 และ 40 เพราะตลาดการ์ดตอนนี้มันบูม มันก็เลยมีบ้างที่เวลาเราเจอแล้วถูกก็จะซื้อมาไว้ขาย”

“สมัยก่อนคนก็จะมองว่าการสะสมการ์ดก็อาจจะเป็นแค่พวกเด็ก ๆ ที่เก็บ แต่พอเดี๋ยวนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปการ์ดมันทำเงินได้มากขึ้นคนก็เริ่มเปิดใจมากขึ้น” 

 

การ์ดที่ทั่วโลกนิยมสะสมในตอนนี้มีการ์ดประเภทไหนบ้าง ?

“ส่วนมากแล้วการ์ดที่นิยมสะสมกันทั่วโลกจะมีอยู่ 3 แบรนด์หลัก ๆ คือ Futera, PANINI แล้วก็ Tops แล้วก็แยกออกเป็นแต่ละประเภทอย่างเช่น  Match-Warn คือชุดที่นักเตะสวมใส่ในการแข่งขันจริง ๆ Player-Warn คือชุดที่นักเตะสวมใส่แต่อาจจะเป็นแค่การใส่ถ่ายรูปหรือทำ PR ซึ่งตอนนี้มีการ์ดใหม่ก็คือ Not associate ก็คือเอาผ้าอะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับนักเตะมาใส่ในการ์ด แล้วก็เบสการ์ดคือการ์ดแบบธรรมดา”

“อย่างเช่นการ์ดใบนี้เป็นรุ่นเดียวที่ไม่มีลายเซ็น เป็นรุ่นเดียวที่เป็นรองเท้าสตั๊ดของเมสซี่ แล้วก็เป็น Match-Worn ที่เมสซี่เคยใส่ลงแข่งจริง ๆ ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นการ์ดที่หายากมาก ทางบริษัทก็จะมีการเคลมว่าเป็นรองเท้าที่เมสซี่เคยใส่จริง ๆ ซึ่งข้างหลังของการ์ดก็จะเขียนว่า Match-Worn ถึงแม้ว่าการ์ดมันจะมีหลายประเภท แต่การ์ดที่ทางบริษัทเคลมว่าเป็น Match-Worn ก็จะราคาขึ้น” 


 

เท่ากับว่าตอนนี้การ์ดฟุตบอลคือหนึ่งทางเลือกในการลงทุน

“เดี๋ยวนี้หลายคนก็จะบอกว่าการ์ดก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุน ซึ่งสมัยก่อนการลงทุนก็คงจะเป็นแค่ ทอง หุ้น หรือภาพวาด ถ้าเป็นสมัยใหม่ก็คงจะเป็น NFT คริปโตฯ แล้วก็การ์ด ซึ่งการ์ดก็ทำกำไรได้ถ้าหากคุณรู้จริง ผมบอกหลาย ๆ คนเสมอว่าการที่จะลงทุนไม่จำเป็นต้องเป็นการ์ด Rookie ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าถ้าลงทุนต้องซื้อการ์ดนักเตะดาวรุ่ง ถ้าเล่นดีราคาก็จะพุ่งขึ้นอีก แต่มันไม่จำเป็นเลย”

“ยกตัวอย่างเช่นเร็ว ๆ นี้ฟุตบอลโลกจะเตะแล้ว เอาแค่สติ๊กเกอร์ของ PANINI ที่แปะสมุด ซึ่งจะมีรุ่นแรกที่ทางบริษัทเปิดจำหน่ายเองหรือที่เขาเรียกว่า Online Exclusive เฉพาะเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ดีไซน์จะแตกต่างจากทั่ว ๆ ไป เช่น ตัวขอบสติ๊กเกอร์จะมีสีทอง ซึ่งมีการจำหน่ายในเดือนที่แล้ว” 

“ผมก็พยายามบอกคนที่รู้จักว่า เฮ้ยพี่ ซื้อเลย กล่องละ 60 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,200 บาท) Online Exclusive มันน่าจะผลิตน้อย ผมก็ซื้อ ซึ่งคนที่ซื้อสามารถซื้อได้ออเดอร์ละ 5 กล่อง ผมก็เลยซื้อ 2 ออเดอร์เป็น 10 กล่อง ทุกวันนี้ถ้าขายก็น่าจะได้กล่องละประมาณ 250 ถึง 300 ดอลลาร์ (ประมาณ 9,300-11,000 บาท) นี่ผมพยายามยกตัวอย่างว่ามันไม่เกี่ยวกับ Rookie เลย แต่ขอเพียงแค่คุณมีข้อมูลและพยายามศึกษา” 

 

อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้การ์ดฟุตบอลนั้นมีราคาแพง ?

“ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยสมัยนี้มันก็ขึ้นอยู่ฟอร์มการเล่นกับนิสัยของนักเตะด้วย โซเชียลก็มีผลเยอะ เห็นชัดเลยอย่างเช่น เฟร์นานโด ตอร์เรส ด้วยความที่เขาเท่คนก็ตามเก็บคนเลยชอบเยอะ แล้วก็อย่างการ์ด (เมสัน) กรีนวูด เมื่อก่อนการ์ดแพงมากเพราะว่าเขาเก่ง แต่ปัจจุบันหลังมีประเด็นที่ไปทำร้ายแฟนก็ทำให้ราคาการ์ดของกรีนวูดหล่นลงมา” 

“ทีมที่ย้ายก็มีผลนะครับ เพราะว่าตอนแรกคนที่สะสม ฮาลันด์ อยากให้เขาย้ายไป เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลน่า เพราะว่าฐานแฟนบอลเยอะมากกว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่านักเตะแมนฯ ซิตี้ ส่วนใหญ่ราคาการ์ดจะไม่แพงมาก หรืออาจจะเป็นเพราะทีมเพิ่งจะมาโชว์ฟอร์มเก่งในช่วงหลัง”

“ซึ่งนักบอลไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่ย้ายไปแมนฯ ยูไนเต็ด หรือเรอัล มาดริด ราคาการ์ดก็จะพุ่งขึ้นประมาณ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ อย่างเช่น แฮร์รี่ เคน ต่อให้แก่แล้วแต่ถ้าย้ายมาแมนฯ ยูไนเต็ด ราคาการ์ดก็จะแพงขึ้นมาประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์” 

“สุดท้ายก็อยู่ที่ตำแหน่ง ซึ่งถ้าหากย้อนดูมีผู้รักษาประตูไม่กี่คนที่ราคาการ์ดจะสูงอย่างเช่น (จานลุยจิ) บุฟฟ่อน ส่วนกองหลังที่แพงที่สุดก็คงจะเป็น เปาโล มัลดินี่ มันก็เป็นหลักการเดียวกันกับที่ผู้รักษาประตูกับกองหลังไม่ค่อยได้บัลลงดอร์ ขนาดผู้เล่นกองกลางราคายังขึ้นยาก ต่อให้ แฟรงก์ แลมพาร์ด ยิงเยอะราคาของการ์ดก็คงจะไม่เทียบเท่า โรนัลโด้ หรือ เมสซี่”


 

แล้วการ์ดแบบไหนที่มีราคาสูง ?

“ส่วนใหญ่การ์ดที่แพงจะเป็นการ์ด Rookie หรือ RC เป็นการ์ดปีแรกของนักเตะที่ดังนะ อย่างการ์ดของ ฮาลันด์ ปีแรก ๆ เลยคือปี 2019 ซึ่งตอนนั้นมีโควิด-19 ระบาดทำให้การ์ดผลิตออกมาน้อย บวกกับฟอร์มการเล่นที่ดีของนักเตะทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีก แล้วก็การ์ดของ เอ็มบัปเป้ ยุคที่เขาแจ้งเกิดจริง ๆ ก็ปี 2017 ซึ่งตอนนั้นตลาดยังไม่ได้บูมทำให้ผลิตออกมาน้อย ทำให้การ์ด Rookie ของเอ็มบัปเป้ผลิตออกมาน้อยไปด้วย ทำให้ราคาแพงเหมือนกัน”

“แต่ปัจจุบัน Rookie Card มีการผลิตออกมาเยอะมากขึ้นเนื่องจากตลาดที่เติบโตขึ้นและนักสะสมที่มากขึ้น ทำให้การ์ดรุกกี้ อย่างเช่นของ จู๊ด เบลลิงแฮม และ กาบี ผลิตออกมาเยอะ ราคาก็อาจจะยังไม่แพงสักเท่าไร” 

“แต่ข้อเสียของการ์ด RC คือมันต้องให้เวลา อย่าง ชาบี ไซมอน ของเปแอสเช ที่เก่งมาก ๆ ตอนนั้นคนก็ตามหา แล้วบอกว่าใครมีเยอะก็ได้กำไรแน่ ๆ แต่เขากลับไม่ได้ลงเล่น ตอนนี้ย้ายไป พีเอสวี แล้ว แถมฟอร์มดีด้วย แต่ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตเขาอาจจะย้ายมาพรีเมียร์ลีก คนก็อาจจะกลับมาตามหาการ์ด RC อีกก็ได้” 

 

ถ้ามีการ์ดอยู่แล้วและนำไปให้นักเตะคนนั้นเซ็น การ์ดใบนี้จะมีราคาไหม ?

“การ์ดพวกนี้ก็จะมีราคาระดับหนึ่ง ถ้าเป็นนักเตะดังและมีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นนักเตะเซ็นจริง ๆ คือบางทีแค่รูปที่เราถ่ายกับนักเตะตอนเซ็นก็ยังไม่พอ บางคนก็จะส่งไปที่บริษัทในอเมริกาเพื่อพิสูจน์ลายเซ็น และจะมีการยืนยันกลับมาว่านี่คือลายเซ็นของนักเตะคนนั้นจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นการ์ดแบบนี้จะมีราคาสูงขึ้น อย่างเช่นให้ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช เซ็นการ์ดแบบนี้ก็จะมีมูลค่า เพราะว่าตัวนักเตะเองไม่เคยเซ็นการ์ด ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่นักเตะทุกคนที่จะเซ็นให้บนการ์ด” 

 

อยากให้ยกตัวอย่างการ์ดฟุตบอลที่คิดว่าพิเศษที่สุดที่เก็บสะสมไว้

“นี่เลยครับ การ์ดใบนี้เป็นนักเตะของ เอซี มิลาน 8 คนที่รวมอยู่ในการ์ดเดียวกัน ซึ่งผมเองโตมาในยุคที่มิลานเก่งมาก ๆ ก็เลยอยากจะได้มาเก็บสะสม ในการ์ดก็มีทั้ง เปาโล มัลดินี่, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, เปาโล รอสซี่ ฯลฯ ซึ่งก็จะเป็นแก๊งของเอซี มิลาน เป็นการ์ดที่เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2018 แต่ก็น้อยครั้งมากที่ทางบริษัทจะทำการ์ดที่รวมนักเตะถึง 8 คน คือลายเซ็นจะเซ็นอยู่บนสติ๊กเกอร์ แต่มันก็เจ๋งดีที่มีนักเตะถึง 8 คนบนนั้น รุ่นนี้จะมีทั้งหมด 11 ใบในโลกก็จะมีทั้งทับ 5 (5/5) ทับ 10 (10/10) และ One of one (1/1)” 

“ซึ่งความแตกต่างของการ์ดรุ่นนี้ก็คงจะเป็นสี ซึ่งการ์ด 5/5 จะเป็นสีทอง การ์ด 10/10 จะเป็นสีเงิน ส่วนการ์ดใบเดียวในโลกจะเป็นสีน้ำเงิน”

“อีกอย่างคือผมเก็บการ์ดลิเวอร์พูลอยู่แล้ว นี่ ๆ แฟนลิเวอร์พูลก็ต้องมีนี่ การ์ด Match-Worn ของ ฟาน ไดจ์ค นี่ ๆ ๆ โลโก้ ลิเวอร์พูล มันต่อกันด้วย เป็นรูปนกลิเวอร์เบิร์ดเลยหายากมาก ซึ่งชิ้นส่วนมันตรงกัน เราเป็นแฟนลิเวอร์ก็ต้องรีบคว้าไว้ ใบแรกมีคนต่างประเทศเขาได้มา ผมก็เลยอาศัยเร็วรีบติดต่อเขาไปตอนประมาณ ตี 1 ส่วนอีกใบที่ต่อกันเห็นขายอยู่ใน eBay ในตอนนั้นไม่ได้บอกใครด้วยว่ามีใบแรกที่มันต่อกันได้ ไม่งั้นเดี๋ยวโดนดันราคา พอเห็นใบนี้ราคาเท่าไรก็สู้เพราะรู้ว่ามันต่อกันได้ แถมเราเชียร์ลิเวอร์พูลด้วย” 


 

มีการ์ดใบไหนที่อยากได้มาเก็บสะสมแล้วยังไม่ได้มาบ้าง ?

“เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นประจำเลย ในตอนนี้ก็ยังคงมีอยู่เพราะว่าคนไทยสนใจการ์ดและเริ่มเก็บสะสมการ์ดกันเยอะขึ้น”

“มีการ์ดอยู่หนึ่งรุ่นที่ผมยังหาไม่ได้และขาดอยู่ใบเดียวคือการ์ดรุ่น Crown Jewels ในเซ็ตนี้มีทั้งหมด 67 ใบ นักเตะที่เซ็นการ์ดใบนี้ก็จะมี 67 คน ซึ่งรูปของนักเตะก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ดีไซน์การ์ดยังเหมือนเดิม ผมเองมีทั้งหมด 66 ใบ คือรุ่นนี้ผลิตออกมาตั้งแต่ปี 2018 ผมก็เริ่มเก็บมาตั้งแต่ตอนนั้น”

“นี่ก็ 4 ปีแล้ว ซึ่งตัวสุดท้ายที่ผมขาดอยู่และตามหาอยู่มาประมาณปีครึ่งคือการ์ดของ เดนนิส เบิร์กแคมป์ แต่การ์ดใบนี้ไม่ควรจะเป็นนักเตะที่มีราคาแพงเท่าไร วันหนึ่งผมเจอคนเกาหลีประกาศขายการ์ดใบนี้อยู่ใน eBay ตอนนั้นผมเดาว่าราคาอาจจะอยู่ที่ประมาณ 80,000-100,000 บาท ซึ่งมันควรจะอยู่ประมาณนี้ แต่คนขายคนนี้ตั้งราคาไว้ที่ 150,000 บาท ผมก็ต่อราคาสัก 120,000 บาท เขาก็ไม่ลดให้ผม”

“แต่ผมก็บอกเขาว่าผมขาดอยู่ใบเดียวเอง ขอเถอะ เขาก็เลยเปลี่ยนราคาเป็น 300,000 บาท เพราะเขารู้ว่าผมต้องการ ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดว่าเขาเป็นนักสะสมด้วยกันก็อาจจะแบ่งปันให้ ตอนนี้ราคาก็ยังคงอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์ใน eBay” 

 

พอเจอคนขายทำแบบนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง ?

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเขาใจร้ายมาก นอกจากจะไม่ขายแล้วยังขึ้นราคาอีก นักเตะแต่ละตัวกว่าจะเก็บได้มันหายากมาก เพราะนักเตะแต่ละคนจะผลิตการ์ดออกมาแค่ 11 ใบ กว่าที่ผมจะได้ถึง 66 ใบต้องใช้เวลาทั้งการซื้อ เปิดกล่องเองบ้าง แลกกับคนที่รู้จักบ้าง ก็แอบเสียดายนิดห่นอย แต่ก็นั่นแหละผมก็ไม่ได้ซื้อเพราะว่าราคามันควรจะอยู่แค่นี้ เขาตั้งสูงเกินจริงไป”


 

ตั้งแต่สะสมการ์ดมา การ์ดใบไหนที่อยู่ในความทรงจำของซุปมากที่สุด ?

“จริง ๆ มีหลายใบเลย อย่างการ์ด โรนัลโด้ R9 ผมก็มีความทรงจำ แล้วก็ใบนี้เป็นการ์ดของ โรนัลโด้ CR7 มีคนอินโดนีเซียคนหนึ่งเขาทำค่ายหนัง เขาสะสมการ์ดและขายการ์ด โรนัลโด้ CR7 ที่มีลายเซ็นให้กับผมในราคาประมาณ 15,000 บาท แล้วเขาก็บอกว่าถ้าวันที่เขาขอซื้อคืนจะขอซื้อ 650 ดอลลาร์นะ (23,000 บาทในปัจจุบัน) พอหนึ่งปีผ่านไปการ์ดใบนี้ราคาขึ้นไปที่ 1 ล้านบาท เขาก็มาขอซื้อคืนตามสัญญา ก็ประมาณ 20,000 บาท ผมก็ขายคืน แต่ตอนนั้นก็ขายไปที่ราคาเดิม 15,000 บาท”

“แต่ช่วงนั้นมีโควิด-19 ค่ายหนังเขามีปัญหาถ่ายหนังไม่ได้ เขาก็จะขายการ์ดบางส่วนเพื่อให้ค่ายหนังเขาอยู่รอด ทีนี้เขาก็เอาการ์ดโรนัลโด้ใบเดิมมาขาย ผมก็เลยถามว่า เฮ้ย ขายเท่าไร เผื่อผมสู้ เขาก็บอกว่าเขาขายคนจีนหนึ่งล้านบาท ผมก็เลยปล่อยไป แต่ผมก็รู้สึกดีนะ อย่างน้อยการ์ดอยู่กับเราได้ชื่นชมตั้งหลายปี และผมก็ได้ทำตามสัญญา”

 

ปัญหาของการ์ดฟุตบอลที่พบได้บ่อยคืออะไร ?

“บางครั้งทางบริษัทก็มีข้อผิดพลาดบ่อยมาก อย่างเช่นการ์ดทีมชาติของโรนัลโด้ แต่ไปเอาเสื้อทีมยูเวนตุสมาใส่ แล้วก็ลายเซ็นที่แปะมาก็ไม่ตรง ผมก็ต้องส่งกลับไปที่บริษัทให้เขาเปลี่ยนให้ ที่มันเกิดขึ้นบ่อยสุดคือแปะสติ๊กเกอร์กลับหัว แต่บางคนก็จะเก็บการ์ดแบบนี้เพราะว่ามันแปลก มันก็อาจจะมีผลต่อราคา” 


 

เรียกได้ว่าการ์ดฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยหรือไม่ ? 

“ได้เลยครับ วัน ๆ ผมยุ่งอยู่แต่เรื่องการ์ด  70 เปอร์เซ็นต์เลย ดึก ๆ ก็เรื่องการ์ด ตื่นมาก็การ์ด ก่อนนอนก็เข้า eBay ดูการ์ดที่ชอบ เช็คราคา เข้ากลุ่มเฟซบุ๊ก พอเป็นแพชชั่นมันก็เลยเป็นสิ่งที่เราไม่เบื่อ แฟนเราก็ถามนะว่าทำอะไร หลาย ๆ คน อาจจะงงว่า ๆ การ์ดฟุตบอลคืออะไร มันคือการ์ดเด็กหรือเปล่า แต่พอมันทำเงินได้ตอนนี้มันก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี มีการยอมรับมากขึ้น ซึ่งทางครอบครัวผมก็เข้าใจตรงนี้”

“ผมใช้เวลาศึกษาการ์ดนานมากต่อวัน คือถ้าเราชอบอะไรเราก็จะใช้เวลากับสิ่งนั้นเหมือนอย่างที่เราชอบบอลเราก็จะหาเวลาดูฟุตบอลจนได้ ซึ่งการสะสมการ์ดก็หลักการเดียวกัน พอมีเวลาว่างในช่วงกลางคืนก็จะเข้ายูทูบ มาดูคลิปวิดีโอศึกษาเรื่องการ์ด ดูแม้กระทั่งการเปิดกล่องว่าในแพ็คนั้นสามารถออกการ์ดอะไรได้บ้าง ศึกษาคลิปที่มีการวิเคราะห์ว่าการ์ดแต่ละรุ่นมันเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนั้นผมก็ต้องหาข้อมูลด้วยตัวเองล้วน ๆ”

 

การ์ดฟุตบอลเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตซุปอย่างไร ?

“มันเกิดจากความชอบ พอเราชอบแรก ๆ ก็เป็นกลุ่มเล็ก ๆ แล้วตอนหลังมันเยอะขึ้น สิ่งที่ผมได้จากวงการนี้ก็คือสังคมใหม่ ๆ ได้เจอพี่น้องที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือน เป็นหนึ่งในสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาในชีวิต”

“อีกอย่างคือมิตรภาพ สมัยก่อนเรามีการ์ดอะไรก็แลกกันโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องราคา อย่างผมมีการ์ด (ซาดิโอ) มาเน่ ก็ไปแลกกับคนอื่นที่เขาตามหา ซึ่งเขาก็เอาการ์ด เจอร์ราร์ด มาแลกเพราะเห็นว่าผมเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล คือคนนี้เป็นชาวต่างชาติด้วยนะ มันก็คือมิตรภาพดี ๆ ในการเก็บสะสมการ์ด”


 

เร็ว ๆ นี้จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก มันส่งผลต่อกระแสของการ์ดฟุตบอลอย่างไรบ้าง ?

“ส่วนใหญ่พอเวลามีกระแสฟุตบอลโลกราคาของการ์ดก็จะขึ้นทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ดที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก อย่างเช่นฟุตบอลโลกปี 2014 ถ้ายังจำกันได้ ฮาเมส โรดริเกซ นักเตะของโคลอมเบีย ที่วอลเลย์หน้ากรอบเขตโทษ จากเดิมราคาการ์ดอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ (2,200-2,500 บาท) แค่พักอกวอลเลย์ วันรุ่งขึ้นการ์ดราคาพุ่งถึง 250-300 ดอลลาร์ (9,100-11,000บาท) แล้วก็ราคาลงกลับเท่าเก่า ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของกระแสด้วย”  

 

ชาติของนักเตะมีผลต่อราคาของการ์ดไหม ?

“ชาติของนักเตะแต่ละคนก็มีผล อย่างเช่น แคนาดา พี่เพิ่งกลับไปเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งตอนนี้คนก็จะตามหา โจนาธาน เดวิด กองหน้าของลีลล์ ที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ว่าจะได้มาเล่นฟุตบอลโลก แล้วก็ยังมี สหรัฐอเมริกา เพราะตลาดใหญ่อยู่ที่อเมริกา ยิ่งไปกว่านั้นคือในปี 2026 อเมริกาจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกแล้วเด็ก ๆ ชุดนี้ก็คาดว่าจะเก่งขึ้น ทั้งคริสเตียน พูลิซิช, จอร์จิโอ เรย์นา แล้วก็ เซอร์จิโอ เดสต์”

“แต่อย่าง ฮาลันด์ ที่อยู่นอร์เวย์ ซึ่งถ้าเทียบกับ เอ็มบัปเป้ ที่อยู่ฝรั่งเศส ราคาก็อาจจะไม่ได้สูงเท่าเอ็มบัปเป้ แต่สำหรับฮาลันด์มันเหมือนเป็นข้อยกเว้นเพราะว่าอย่างที่เรารู้กันดีคือเขาเก่งมาก” 


 

ความพิเศษของการ์ดฟุตบอลโลก

“พอถึงช่วงฟุตบอลโลกตัวการ์ดเองก็จะมีการผลิตคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ในแต่ละปีก็จะไม่ซ้ำกัน ข้อดีของการ์ดฟุตบอลโลกคือมันสามารถรวมนักลงทุนได้ทั่วโลก ซึ่งผมเองก็เคยเล่นเบรกและต้องส่งการ์ดไปต่างประเทศอยู่หลายครั้ง ซึ่งครั้งที่แล้วก็มีคนรัสเซียมาเล่นเบรกกับผมเพราะว่าเขาตามหาการ์ดของรัสเซีย ผมก็เลยส่งการ์ดไปที่มอสโก”

“ในปี 2018 มีอยู่หนึ่งชาติที่การ์ดขายได้ดีที่สุดคือ เปรู เพราะว่าปีนั้นเป็นครั้งแรกที่เปรูได้กลับมาแข่งขันฟุตบอลโลกอีกครั้ง สำหรับคนทั้งโลกอาจจะมองว่านี่เป็นแค่การ์ดธรรมดาลายเซ็นก็ไม่มี แต่เวลามีประกาศขายคนก็จะแย่งซื้อจนหมด เพราะที่แน่ ๆ คนเปรูจะมาแย่งกันเก็บ ก็หลักการเดียวกัน ถ้าวันหนึ่งไทยได้ไปฟุตบอลโลก คนชาติอื่น ๆ ก็คงไม่แคร์ แต่คนไทยนี่แหละที่จะแย่งกันเก็บ ข้อดีของฟุตบอลโลกคือมันก็จะเป็นแบบนี้ที่บางครั้งจะมีชาติที่ไม่เคยไปฟุตบอลโลกหรือไม่ได้ไปมานานแล้วได้ไป นักสะสมก็จะอินในการค้นหา”

 

ชื่นชอบและเก็บสะสมการ์ดของนักเตะคนไหนเป็นพิเศษ ?

“ส่วนใหญ่แล้วนักฟุตบอลในทีมชาติก็จะเก็บตัวที่ชอบ เราอายุเยอะหน่อยก็จะชอบนักเตะในตํานาน พวกการ์ดของ โรนัลดินโญ่ ที่เป็นโลโก้เสื้อทีมชาติบราซิล แล้วก็เป็นแมตช์วอร์นด้วย ซึ่งผมก็จะเก็บรุ่นที่เป็นโลโก้เสื้ออยู่แล้ว พอมาวางเรียงกันในมุมของนักสะสมมันรู้สึกสวย มันเจ๋งดี”

“แล้วก็มีการ์ดของ โรนัลโด้ R9 ตำนานบราซิล ซึ่งใบนี้มีใบเดียวในโลกด้วยนะ แถมโรนัลโด้เซ็นลงบนการ์ดจริง ๆ ไม่ใช่สติ๊กเกอร์ แล้วก็มีการ์ดลายเซ็นของ โรนัลโด้ กับ เปเล่ สองคนรวมกันในใบเดียว”

 

คาดว่ากระแสของการ์ดฟุตบอลโลกในปีนี้จะเป็นอย่างไร ?

“ตอนที่การ์ดบูมมากก็คงจะเป็นหลังจากฟุตบอลโลก (2018) ซึ่งก็เลยมีการคาดการณ์ว่าฟุตบอลโลกในปีนี้จะกลับมาบูมอีกครั้งไหม แต่กลับกันฟุตบอลโลกปีนี้เป็นช่วงที่ทุกอย่างมันอยู่ในขาลง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะบูมได้แค่ไหน เพราะว่าของปี 2018 ที่มันแพงเพราะว่ามันเป็น First World Cup ของเอ็มบัปเป้ มันมีการ์ดของนักเตะที่ทำให้ราคาสูง แต่ปีนี้ก็คงต้องดูต่อไปว่าจะมีนักเตะคนไหนที่เก่ง ซึ่งก็จะมีคนที่บอกว่าราคามันจะไปสูงขึ้นอีกเพราะว่านี่อาจจะเป็นฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของ (ลิโอเนล) เมสซี่ แล้วก็ (คริสเตียโน่) โรนัลโด้ ซึ่งมันก็อาจจะทำให้หลาย ๆ คนอาจจะตามหากัน”

 

มองภาพของตัวเองในอนาคตอย่างไรในมุมมองของการสะสมการ์ด ?

“นั่นแหละเป็นคำถาม มันเป็นเหมือนทรัพย์สินไปแล้ว ตราบใดที่ยังรักผมก็สะสมต่อไป แต่ถ้าเลิกสะสมจริง ๆ ก็คงจะส่งต่อให้ลูกแล้วกัน อันนี้ผมไม่รู้จริง ๆ ถ้าเขาไม่สนใจก็เป็นสิทธิ์ของเขา ขายก็ได้ แต่ด้วยความที่เราสะสมมานาน ถ้าจะให้ขายเลยคงทำใจยาก บางใบก็มีประวัติด้วย แบบว่าใบนี้แลกกับคนไทยเพราะพี่เขามีใบนี้พอดี มันก็จะมีเรื่องราว” 

 

ตั้งแต่เก็บสะสมการ์ดฟุตบอลมาเห็นข้อดีอะไรในวงการนี้บ้าง ?

“มันก็คงจะดีต่อใจ เห็นพี่ ๆ ที่เริ่มสะสมมาก่อนเอาการ์ดที่ซ้ำไปขายก็ได้กำไรมาเยอะ แค่บังเอิญโชคดีที่สะสมมาก่อนมันบูม แต่สิ่งที่เห็นชัดเลยคือผมได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ เยอะ ที่มาสนิทกันคุยกัน เพราะว่าพื้นฐานชอบอะไรเหมือนกันก็คือฟุตบอล มันก็เป็นสังคมใหม่ที่มีการ์ดเป็นตัวกลาง”

“ผมพูดเสมอเลยว่าการ์ดมันมีหรือไม่มีก็ได้ มันคือ nice to have ไม่ใช่ much have”

Author

ทรงวุฒิ อุ่นบริบูรณ์

ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายและหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของรถยนต์จากโมเดล

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา