Feature

จากปากเบอร์ 1 วินนิ่งไทย : ขุดเบื้องหลังยุคเสื่อม PES สู่กีฬาใหม่เอเชียนเกมส์

“วินนิ่งไหมส***ด”...วลีเด็ดแห่งยุค 90s - 20s ต้นๆ ที่วัยรุ่นไทยแทบทุกคนต้องเคยใช้…

 

ทำไมน่ะเหรอ? ก็เพราะเกมวินนิ่ง อีเลฟเว่น (Winning Eleven) เกมฟุตบอลจากค่าย KONAMI ของญี่ปุ่น ได้ครอบครองหัวใจ และจิตวิญญาณเด็กไทยแบบทุกอนุ แทบทุกบ้าน แทบทุกตรอก แทบทุกซอย เกมวินนิ่ง เปรียบเสมือนกิจกรรม ที่วัยรุ่นทุกคนต้องท้าดวลกันราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

 

แต่เมื่อวัยรุ่นในยุค 90s เริ่มเติบโต… พวกเขาได้สังเกตกันบ้างไหมว่า กระแสนิยมของเกมวินนิ่ง หรือที่เรียกชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันว่า PES (Pro Evolution Soccer) มันเริ่มหายไปได้อย่างไร? และ อะไร ทำให้มันกลับมาอีกครั้งจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย - เอเชียน เกมส์

 

Main Stand ขอร้อยเรียงเรื่องราวจากปากของรุจิกร แต้วัฒนาสกุล หรือ บอส หนุ่มวัย 32 ปี หนึ่งเดียวคนไทย ที่เคยไปแข่งขัน PES ชิงแชมป์โลก ที่ประเทศเยอรมันจากสังกัด MS Cerberus  ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับ “วินนิ่ง” และการกลับมาอีกครั้ง ภายใน 90 นาทีของเกมการแข่งขัน

 

KICK - OFF  

การเข้ามาของเกมวินนิ่ง อีเลฟเว่น ภาค 3 เมื่อปี 1998 ภายใต้แบรนด์การผลิตของ KONAMI ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายบนเครื่องเล่นเพลย์ สเตชั่น เด็กยุคนั้นแทบไม่มีใครไม่ได้ยินเสียงคำเข้าเกมว่า “ซือโท” เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็มักจะรีบกดปุ่ม PRESS START เพื่อเข้าโหมดเล่นเกม นั่น คือ ยุคเริ่มต้นของวินนิ่งครองเมือง… และมันครอบครองจิตใจวัยรุ่นไทย ไปทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่หัวเมืองใหญ่ แต่รวมไปถึงเด็กที่อยู่ในชนบทอย่าง บอส - รุจิกร แต้วัฒนาสกุล ด้วย

 

“วินนิ่ง มันเป็นเกมที่เล่นแล้วสนุก ให้ความรู้สึกสมจริง” บอส - รุจิกร เริ่มเล่า “ผมเชื่อมั่นว่ายุคผม เด็กผู้ชายเกือบทุกคนต้องเล่นวินนิ่ง”

และเมื่อภาคใหม่ที่สมจริงยิ่งกว่าเดิมอย่างวินนิ่ง 4 ปรากฏตัวในปีถัดมา แฟนพันธุ์แท้วินนิ่งทั่วไทย ก็ยิ่งทวีคูณ แม้ในยุคเดียวกันมีเกมจากค่าย EA Sports อย่าง FIFA ที่ดูมีภาพกราฟิคที่สวยงามกว่า แต่ยังเทียบจำนวนประชากรที่หลงรักวินนิ่งไม่ได้เลย

“บ้านผมอยู่ที่อำเภอเมืองคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร สมัยนั้นก็เล่นกับเพื่อนที่บ้าน ตามร้านเกมก็จะมีแข่งชิงรางวัลกัน เป็นหนังสือการ์ตูนบ้าง เสื้อทีมฮัดเดอร์สฟิลด์ของพี่ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) บ้าง พอมัธยมศึกษาตอนปลายย้ายไปเรียนในตัวเมือง ก็ขลุกที่ร้านเกมเพลย์ของญาติ ร้านเกม สมัยนั้นก็เปิดแต่วินนิ่ง”

ในยุคสมัยที่เด็กทุกคนไม่ได้มีเครื่องเกมเพลย์ สเตชั่น ที่บ้าน ร้านเกม คือ แหล่งรวมตัวของวัยรุ่น ที่อยากจะมาท้าทาย ช่วงชิงอำนาจความเป็นเบอร์ 1 วินนิ่งในกลุ่มแก๊งตัวเอง ทุกตรอก, ทุกซอย, ทุกสถานที่สำคัญ ล้วนมีร้านเกมรองรับความต้องการเหล่านี้ ไม่ว่าคุณจะเปิดประตูเข้าไปกี่ร้าน หน้าจอทีวี จะต้องมีภาพเกมวินนิ่งเปิดอยู่ พร้อมกับเสียงการบลัฟกันของผู้เล่นแบบสะบั้นหั่นแหลก

ยิงประตูขึ้นนำ

“บลัฟ มันเป็นของคู่กันของวินนิ่ง ตั้งแต่สมัย 20 กว่าปีก่อน ถ้าเราชนะ เราก็ต้องล้อเพื่อน” รุจิกร แต้วัฒนาสกุล กล่าวถึงกิจกรรมสุดฮิตในหมู่เหล่าวัยรุ่นชายยุค ‘90 ถึง 2000 ที่เขาติดงอมแงมมาตั้งแต่เด็ก จนเข้าเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย

 

“ผมไปเรียนที่ ม.นเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และข้างหลังมหา’ลัย ก็มีร้านเกมเยอะมาก มีจัดแข่งกันด้วย ผมมักไปขลุกอยู่กับเพื่อนๆ ไปเล่นวินนิ่งกันนั่นแหละ สมัยนั้นเป็นยุคที่เล่นวินนิ่งผ่านเพลย์ 2”

ยุคกว่า 10 ปีก่อน หากฉายภาพให้เห็นกันชัดๆ คือ ไม่ว่าจะต่างจังหวัด หรือเมืองหลวง อิทธิพลของร้านเกมที่มากขึ้น ทำให้ประชากรเด็กๆ เข้าถึงเกมวินนิ่ง ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องคอนโซล (Console) ยังมีราคาแพง ร้านเกมจึงกำเนิดขึ้นเป็นดอกเห็ดให้เด็กๆ มาเสียค่าเช่าไม่มากนักต่อชั่วโมง การมารวมตัวกันที่ร้านเกม เพื่อท้าดวลวินนิ่ง มีทั้งการเดิมพันแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ตลอดจนเรื่องของศักดิ์ศรีในกลุ่มเพื่อน วลีคำว่า “วินนิ่งไหมส*ด” จึงกระจายไปทั่ว จนถูกแต่งเป็นเพลงล้อเลียนขึ้นมา

“พอมีร้านเกมเยอะ มันก็มีการจัดการแข่งขันบ่อยมาก รายการระดับประเทศตอนนั้นแข่งกัน 3 - 4 ครั้ง โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ มีจัดแข่งบ่อยมาก ผมก็เข้ามาแข่งด้วย ก็ยอมรับว่าเด็กที่กรุงเทพฯ เก่งกันเยอะจริงๆ (หัวเราะ) จนปี 2008 ถือว่าพีคที่สุด เพราะมีชิงเงินรางวัล 1 ล้านบาท ที่บางแสน เป็นรายการที่ใหญ่ และชิงเงินสูงมากในเวลานั้น”  

ในมุมของคนไทยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน วินนิ่ง หรือที่แม้ว่าความจริงจะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการที่ยุโรป และอเมริกาเหนือว่า PES มาตั้งแต่ปี 2001 ชนะ FIFA ขาดลอย ความสนุก, กระแสนิยม, ความคุ้นชิน คือ สิ่งที่วินนิ่งเหนือกว่า ถ้าเปรียบกับฟุตบอลในครึ่งแรก วินนิ่ง คงนำขาด 3 - 0 แล้ว 

จุดเปลี่ยนนรก  

“มันมียุคหนึ่ง ที่ร้านอินเตอร์เน็ต และพวกร้านเกม ถูกกวาดล้าง” บอส เริ่มพูดถึงสาเหตุหนึ่งที่เขาคิดว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความนิยมในวินนิ่งเริ่มถดถอย

ผลกระทบจากการที่มีเด็กฆ่าคนจนเสียชีวิต โดยถูกกล่าวหาว่าเพราะลอกเลียนพฤติกรรมจากเกม ราว 10 ปีก่อน ทำให้ร้านเกม และอินเตอร์เน็ตที่เปิดทั่วประเทศ เริ่มถูกกวาดล้างด้วยข้อหาด้านลิขสิทธิ์ เมื่อร้านเกมมีน้อย คนก็เล่นน้อยลง ผู้คนเล่นเกมที่บ้านมากขึ้น ประจวบเหมาะกับ EA Sports เริ่มทำให้การเล่นของ FIFA สนุกขึ้น บวกกับการมีภาพกราฟิคสวยๆ และลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้คนเล่นมีอารมณ์ร่วมกว่า เพราะสมจริงกว่า จึงเริ่มเข้ามาอยู่ในหัวใจวัยรุ่นยุคใหม่มากขึ้น

“เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กๆ รุ่นใหม่บางทีพอเล่นเกมเขาก็จะรู้สึกว่า เออ มันดูสมจริงกว่า และ  อีกสาเหตุหนึ่ง คือ ต้องยอมรับว่าฟีฟ่า เขาทำตลาดออนไลน์ได้ดีกว่า และตอนนี้ทุกๆ อย่างก็เชื่อมต่อกันด้วยโลกอินเตอร์เน็ต ระบบการเล่นออนไลน์ของ FIFA ก็ดีกว่า ลื่นไหลกว่า KONAMI ขาดจุดนี้ไป ขณะที่ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตดีขึ้น ตอบโจทย์ทุกคน ยิ่ง 4-5 ปี หลัง อินเตอร์เน็ตดีขึ้น ปัญหาการเล่นออนไลน์ ยิ่งน้อยลง”

“มันจะมีพวกแคสเตอร์ที่เล่นฟีฟ่าเก่งๆ กลายเป็น Youtube Influencers ซึ่งเรียกกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เยอะ” บอส กล่าว

 

OWN GOAL

เมื่อเกิดจุดเปลี่ยน และถูกคู่แข่งรุกหนัก KONAMI ก็ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่… Pro Evolution Soccer (PES) 2014 กลายเป็นรองด่างของพวกเขา ที่ทำให้คนเล่นหดหาย และสูญเสียตลาดให้ FIFA

“มันเป็นภาคที่เหมือน KONAMI ยังทำเกมออกมาไม่เสร็จ และระหว่างปีก็เปลี่ยนแปลงเกมบ่อยมาก    มันจะอัพเดทเรื่อยๆ คนเบื่อจนไม่เล่น กว่ามันจะเสถียร คนมันเฟลกันหมดแล้ว ฟีฟ่า ชิงตลาดได้โดยสมบูรณ์” บอส กล่าว

เหตุการณ์ปีนั้นเปรียบเสมือนการทำเข้าประตูตัวเองของ KONAMI จนท้ายที่สุดโดน EA Sports แซงขึ้นนำ โมเมนตั้มของเกมเปลี่ยนไป และฟีฟ่า ก็ฉายแสงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการจัดการแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก็ชิงเงินรางวัลค่อนข้างสูง ซึ่งดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ได้มากกว่า จากนั้นปี 2017 พวกเขาผลิตภาคที่มีอเล็กซ์ ฮันเตอร์ ในโหมด The Journey โดยเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่ต่อสู้ฝ่าฝันอุปสรรคจนได้มาเล่นในพรีเมียร์ลีก จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ และผู้คนก็ติดฟีฟ่า กันงอมแงมกว่าเดิม

“ฟีฟ่า มันเริ่มมีสตอรีมากกว่า เริ่มมีหลายๆอย่างที่เหนือกว่า PES เชื่อไหม เด็กๆ รุ่นใหม่หลายๆ คนเดี๋ยวนี้ ไม่รู้จัก PES ด้วยซ้ำ พวกเขารู้จักแต่ฟีฟ่า ซึ่งอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าตามร้านคอมพิวเตอร์ (หมายถึงร้านเกม) ก็จะมีแต่ฟีฟ่า”

ทดเจ็บ

มาถึงจุดนี้ คุณอาจคิดว่า PES จะล่มสลาย… แต่จริงๆ แล้วพลังเงียบในไทยยังมีเยอะมาก คนรุ่นอายุ 30 ปีขึ้นไป ยังฝังใจว่าชีวิตของพวกเขาเติบโตมากับวินนิ่ง อันที่จริงๆ กระแส PES หรือ วินนิ่งในเมืองไทย เริ่มกลับมาคึกคัก เมื่อช่วงปลายปี 2015 หลังจาก บอส - รุจิกร แต้วัฒนาสกุล คนที่เรากำลังคุยด้วยคว้าแชมป์เป็นตัวแทนของเอเชีย ไปแข่งขัน Pro Evolution Soccer ชิงแชมป์โลก ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

“ตอนนั้นในมุมผม ผมคิดว่ามีคนบางกลุ่มที่เริ่มกลับมาสนใจวินนิ่งอีกครั้งนะ เพราะเราได้ไปชิงแชมป์โลก” บอส กล่าวแต่มันก็อาจเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ เพราะฟีฟ่า ยังคงครองตลาดได้ต่อเนื่องอีกหลายปี  จนกระทั่งกลางเดือนพฤษภาคม Asian Electronic Sports Federation หรือ AESF ประกาศ 6 กีฬาอีสปอร์ต ที่จะได้ไปอยู่ในเอเชียน เกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย จุดนี้เหมือนเป็นจะพลิกนรกให้ PES ดูกลับมาเป็นที่นิยม และปลุกกลุ่มคนรัก PES ให้กระชุ่มกระชวยอีกครั้ง

เรื่องนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะขณะที่ฟีฟ่าดูจะครอบครองตลาดเกมฟุตบอลได้มากกว่า มีลิขสิทธิ์ในมือมากกว่า แต่กลับไม่ได้ถูกบรรจุในเอเชียน เกมส์ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ครั้งนี้

“ความจริงแล้วเพื่อนบ้านเรา ทั้งอินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย, พม่า พวกนี้เล่น PES กันเยอะมาก เยอะกว่าฟีฟ่า อย่างเวียดนามมีเป็นลีกกันเลย ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุนี้แหละ ที่ทำให้วินนิ่ง ได้เข้ามาอยู่ใน เอเชียน เกมส์ แทนที่จะเป็นฟีฟ่า”   

“ตอนนี้ผมสังเกตเห็นได้ชัดว่า การประกาศเปิดรับการแข่งขันวินนิ่ง คึกคักมาก มากกว่าที่เคยเป็นมาเยอะเลย คือ ลงประกาศ 30 นาที เต็มแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นเพราะ PES ได้บรรจุในเอเชียน เกมส์ เนี่ยแหละ”

“นักเล่น PES ยังไม่ออกมาอีกเยอะ เพราะมีพวกที่เล่น PC พวกเล่นผ่านคอนโซล (Console) กันเฉยๆ ที่บ้าน แต่จากนี้ไปผมคิดว่าน่าจะออกมามากขึ้น”

“อย่างเอเชี่ยน เกมส์ พอแข่งวินนิ่ง มันก็ต้องมีถ่ายทอดสด ใช่มะ? แล้วมันจะช่วยให้คนที่เคยหนีไปเล่นฟีฟ่า กลับมาเล่นวินนิ่งอีก”

การถูกบรรจุเข้าไปในเอเชี่ยน เกมส์ 2018 ทำให้วินนิ่งได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น ถ้าเปรียบกับเกมฟุตบอล 90 นาที แล้ว PES ก็มาได้ประตูชัยในช่วงทดเจ็บแบบปาฏิหาริย์ หลังจากเจอช่วงเวลาที่ล้มลุกคลุกคลาน จนแฟนบอลเริ่มเทไปเชียร์อีกฝั่งจนหมดใจแล้ว…

“สำหรับผม วินนิ่ง มันสนุกกว่า ผมก็เคยไปลองเล่นฟีฟ่าแหละ แต่มันไม่ใช่ ผมคิดว่าคนในยุคผม ยังไงก็ต้องวินนิ่ง” บอส กล่าวทิ้งท้าย



เปิดรายชื่อนักกีฬา PES สังกัดทีม MS Cerberus 

 

Author

กฤติกร ธนมหามงคล

Executive Editor

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น