Feature

ทำไมฟุตบอลสนามเล็กไทยเล่น 7 คน แต่ชาติอื่นนิยมเล่นกัน 6 คน | Main Stand

ฟุตบอลเดินสาย 7 คน กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองไทย มีการจัดแข่งขันกันเกือบร้อยรายการตลอดทั้งปี มิหนำซ้ำหลายรายการยังมีเงินรางวัลล่อใจสูงถึงหลักแสนหลักล้านบาท

 

ขณะเดียวกันฟุตบอล 6 คนก็กำลังถูกพูดถึงไม่แพ้กัน หลังจากที่ประเทศไทยได้ส่งทีมเข้าแข่งขันรายการชิงแชมป์โลก รวมถึงเป็นเจ้าบ้านจัดศึกชิงแชมป์เอเชียมาแล้ว

ที่สำคัญหลายชาติเองเริ่มให้ความสำคัญกับฟุตบอล 6 คนกันแล้วอย่างจริงจัง มีการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศมีลีกเป็นของตัวเอง ซึ่งในอนาคตยังมีแนวโน้มที่จะได้รับการผลักดันให้พัฒนามากขึ้นไปอีก

ฟุตบอล 7 คนและ 6 คนต่างกันอย่างไร แล้วทำไมฟุตบอล 7 คนที่เราคุ้นชินจึงไม่ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติเท่าฟุตบอล 6 คนในตอนนี้ ร่วมหาคำตอบได้ที่ Main Stand

 

ฟุตบอลสนามเล็กนิยมไปทั่วโลก

ฟุตบอลสนามเล็ก หรือ Small Side ถือเป็นที่นิยมกันทั่วโลก ด้วยการย่อขนาดฟุตบอล 11 คน ให้สามารถจัดแข่งขันและเล่นกันได้สะดวกสบายมากขึ้น โดยจำนวนของผู้เล่นในทีมและกติกานั้นจะแตกต่างกันตามความนิยมของแต่ละประเทศ มีตั้งแต่ข้างละ 5 คน 6 คน 7 คน ไปจนถึง 9 คน

ฟุตบอลสนามเล็กที่ได้รับความนิยมในวงกว้างมากที่สุดชนิดหนึ่งก็คือฟุตบอล 7 คน ที่มีการจัดแข่งขันและฝึกสอนในหลายประเทศ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่ช่วยฝึกทักษะลูกหนังให้กับเยาวชนได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเลี้ยง การส่ง การยิง ไปจนถึงการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ 1 ต่อ 1 รวมถึงการใช้ทักษะเฉพาะด้านที่มากกว่าฟุตบอล 5 คนหรือฟุตซอล เช่น การเปิดบอล ลูกครอส การโหม่งบอล 

เว็บไซต์ England Football Learning ได้ระบุว่า การแข่งขัน 7 ต่อ 7 ทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์ของฟุตบอล 11 คน โดยไม่สูญเสียประโยชน์จากขนาดสนามที่เล็กลง นอกจากนี้ยังเป็นเกมที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการเก็บสถิติการสัมผัสฟุตบอลรวมทั้งสิ้นเฉลี่ยถึง 462 ครั้งในระยะเวลา 20 นาที หรือเฉลี่ยคนละ 37 ครั้งเลยทีเดียว

ในเมืองไทยฟุตบอล 7 คนก็เรียกได้ว่าได้รับความนิยมมากที่สุดเช่นกัน โดยมีการจัดแข่งขันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ระดับนักเรียน เยาวชน บุคคลทั่วไป จนพัฒนาสู่การจัดทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลเดินสายที่เกิดขึ้นมากมายในเวลานี้

การแข่งขันฟุตบอล 7 คนในไทยนั้นไม่มีประวัติชัดเจนว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่หลายสถาบันการ
ศึกษาได้เลือกที่จะนำกติกาการแข่งขันฟุตบอล 7 คน มาปรับใช้ในโรงเรียนเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดสนามและรองรับกับจำนวนนักเรียน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พรชัย นทีประสิทธฺพร อดีตครูประถมศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านเขาแก้ว ในอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ได้แบ่งปันเรื่องราวของตนเองในการนำฟุตบอล 7 คน มาใช้สอนนักเรียน บนเว็บไซต์ GotoKnow ได้อย่างน่าสนใจ

ครูพรชัย ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ.2535 ตนได้ไปขอกติกาฟุตบอล 7 คน จากสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำมาปรับใช้สอนนักเรียน เนื่องจากพิจารณาว่าสนามของโรงเรียนมีขนาดคับแคบ ไม่เพียงพอที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอล 11 คนได้ 

พร้อมได้ปรับเปลี่ยน กฎ กติกา และวิธีการจัดการแข่งขันบางอย่างให้เหมาะสมกับ จนเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ เนื่องจากจัดการแข่งขันได้ง่าย ไม่มีการล้ำหน้า การรวมตัวผู้เล่นเป็นทีมสามารถทำได้ง่าย ส่วนผู้ตัดสินจะใช้ 1 หรือ 2 คนก็ได้ จึงมีการจัดการแข่งขันแพร่หลายอย่างกว้างขวาง

ก่อนที่ปีถัดมา ชมรมฟุตบอลพรานกระต่าย จะทดลองจัดการแข่งขันฟุตบอล 7 คน ในรูปแบบเทศกาลโดยเชิญทีมฟุตบอลกว่า 20 ทีมมาร่วมแข่งขันในหลากหลายระดับอายุ ตั้งแต่ 10 ปี 12 ปี 16 ปี และประชาชาทั่วไป จนเกิดความสนใจในวงกว้าง และโรงเรียนต่าง ๆ ได้นำกติกาไปจัดแข่งในจังหวัดของตนเองจนแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค

เมื่อหลายโรงเรียนเลือกที่จะนำฟุตบอล 7 คนมาใช้ในการฝึกสอนและการแข่งขันมากขึ้น ผู้สนับสนุนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนก็เริ่มให้ความสนใจเข้ามาเป็นสปอนเซอร์จัดการแข่งขันในวงกว้างมากขึ้น

 

ฟุตบอล 7 สี บูมฟุตบอล 7 คน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ฟุตบอล 7 คนในเมืองไทยได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากการจัดแข่งขันที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฟุตบอลนักเรียน 7 คน รายการฟุตบอล 7HD แชมเปี้ยน คัพ หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า “ฟุตบอล 7 สี” 

ฟุตบอล 7 สี นับเป็นรายการที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอลนักเรียนไทยมานานกว่า 20 ปี โดยเป็นการชิงชัยของโรงเรียนมัธยมอายุ 15-18 ปี จากสถาบันการศึกษาหลักสูตรภาคปกติทั่วประเทศ (ในปี 2023 มีโรงเรียนเข่าแข่งขันรวม 128 ทีม)

การแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 โดยแชมป์ตกเป็นของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่ชนะ โรงเรียนปทุมคงคา 5-3 ก่อนที่จะจัดแข่งขันต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 19 ครั้ง (เว้นจัดช่วงโควิด-19)

สิ่งที่ทำให้ฟุตบอล 7 สีได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจของโรงเรียนทั่วประเทศ มาจากการเป็นฟุตบอลนักเรียนสนามเล็กรายการแรก ๆ ของเมืองไทยที่จัดแข่งขันกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้เห็นทั่วประเทศ 

ที่สำคัญยังมีผู้เล่นหลายรายที่ผ่านเวทีนี้แล้วต่อยอดสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ปิยะชาติ ถามะพันธ์ นักเตะยอดเยี่ยมที่พาทัพชงโคม่วงทองคว้าแชมป์ในปีแรก, ธีรศิลป์ แดงดา, ธีราทร บุญมาทัน, ปกเกล้า อนันต์, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ และอีกมากมายล้วนเคยผ่านเวทีนี้มาแล้วทั้งสิ้น 

การเกิดขึ้นของฟุตบอล 7 สี จึงยิ่งช่วยเพิ่มกระแสและความนิยมให้กับฟุตบอล 7 คน จนมีแข่งขันกันทุกระดับ และเกิดเป็นภาพจำที่คุ้นชินในเมืองไทย ไม่ว่าใครจะจัดแข่งรายการไหนหากไม่ใช่ฟุตซอลก็มักจะเลือกฟุตบอล 7 คนเป็นลำดับแรก

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการแข่งขันฟุตบอล 6 คนที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลกเป็นอย่างมากในระดับโลก และประเทศไทยเองก็มีโอกาสที่จะได้เข้าร่วมมาแล้ว ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก 

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมในระดับนานาชาติฟุตบอล 6 คนจึงถูกต่อยอดได้ไกลกว่าฟุตบอล 7 คน

 

MINI FOOTBALL ตีตลาดแข้ง 6 คน

ปัจจุบันทั้งฟุตบอล 7 คน และฟุตบอล 6 คน ยังไม่มีการจัดแข่งขันระดับนานาชาติที่ได้รับการรับรองจาก FIFA หรือองค์กรฟุตบอลระดับทวีปอย่าง UEFA หรือ AFC 

แม้ฟุตบอล 7 คนจะได้รับความนิยมในหลายประเทศแต่ FIFA มองว่าเป็นเกมที่เหมาะสำหรับการใช้พัฒนาเยาวชนมากกว่า จึงไม่มีการจัดแข่งขันอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น โดยถูกบรรจุอยู่ในแบบแผนการพัฒนาเยาวชน หรือ The FIFA Grassroots Program สำหรับเด็กช่วงอายุ 9-12 ปีเท่านั้น

ขณะเดียวกันก็มีองค์กรเอกชนหลายเจ้าที่พยายามจะจัดแข่งขันฟุตบอล 7 คนในระดับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร จึงไม่ได้ถูกต่อยอดหรือพัฒนาอย่างแพร่หลาย

ต่างจากฟุตบอล 6 คนที่เริ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเล็งเห็นช่องว่างที่สามารถจะพัฒนาขึ้นมาเป็นเกมของตัวเองได้ พร้อมขนานนามตัวเองว่าเป็น “มินิฟุตบอล” เพื่อให้แยกตัวเป็นอิสระจาก FIFA อย่างชัดเจน 

มินิฟุตบอล มีองค์กรระดับโลกรองรับในชื่อ World Minifootball Federation (WMF) หรือ สหพันธ์มินิฟุตบอลโลก ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 144 ประเทศทั่วโลก และมีสหพันธ์มินิฟุตบอลระดับทวีปทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา โอชีเนีย และแพนอเมริกา ที่สำคัญยังมีการผลักดันให้เกิดการจัดมินิฟุตบอลชิงแชมป์โลกมาแล้วถึง 4 ครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรที่พยายามจะผลักดันฟุตบอล 6 คนในระดับนานาชาติทั้งในระดับลีกและทีมชาติ เช่น International Socca Federation (ISF) ที่กำกับดูแลฟุตบอล 6 คนสมัครเล่น ซึ่งก่อตั้งในปี 2017 พร้อมจัดชิงแชมป์โลกในปีถัดมา

ศึกชิงแชมป์โลกที่ ISF จัดเมื่อปี 2018 เรียกได้ว่าช่วยจุดกระแสของฟุตบอล 6 คนได้เป็นอย่างดี นับเป็นอีเวนท์ที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันฟุตบอลสมอลล์ไซด์ให้เทียบเท่า FIFA 

รวมถึงยังมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกผ่านทางสตรีมและสถานีโทรทัศน์บางประเทศ จนได้รับการบันทึกว่ามีผู้ชมทุกช่องทางรวมกันมากถึง 23 ล้านคนเลยทีเดียว 

ขณะเดียวกัน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เองก็เริ่มนำการแข่งขันฟุตบอล 6 คนมาบรรจุในแผนพัฒนาเยาวชนสำหรับสโมสรและมีการจัดแข่งขันกันแล้ว โดยเน้นไปที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 และ 14 ปี เพื่อพัฒนาทักษะการโจมตีและการป้องกันแบบตัวต่อตัว รวมถึงผู้รักษาประตูยังได้มีส่วนร่วมในเกมมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ฟุตบอล 6 คน หรือมินิฟุตบอลได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว หลายชาติหันมาเล่นกันมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปได้ไกลกว่าฟุตบอล 7 คนในอนาคต

“ฟุตบอล 6 คนเริ่มมีการพัฒนาไปในเชิงบวก แต่ยังต้องมีหลาย ๆ ส่วนที่ต้องมีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้โดยเฉพาะองค์กรที่จะมารองรับ” อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลและประธานพัฒนาฟุตซอลฟุตบอลชายหาดทีมชาติไทย เผย

ผู้ปลุกปั้นฟุตซอลไทยจนก้าวสู่ระดับโลก มองว่าฟุตบอล 6 คนในปัจจุบันยังมีหลายหน่วยงานที่พยายามจะจัดแข่งขัน ทำให้มาตรฐานแตกต่างกันไป ซึ่งการจัดแข่งขันชิงแชมป์เอเชียในประเทศไทยที่ผ่านมาก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับ WMF หรือ ISF แต่อย่างใด

รวมถึงบางประเทศก็ยังไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่น ในประเทศไทยหากจะพัฒนาต่อยอดได้ก็อาจจะต้องมีสมาคมมินิฟุตบอลขึ้นมาเพื่อช่วยขับเคลื่อนในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังต้องมีความชัดเจนในเรื่องนักกีฬาที่อาจจะทับซ้อนกับ FIFA ด้วยเช่นกัน 

 

ผู้เล่นน้อยกว่าคนนึงแตกต่างกันขนาดไหน

อย่างที่กล่าวไป ประเทศไทยมีความคุ้นชินกับฟุตบอล 7 คนกันมายาวนาน แต่เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอล 6 คนเกิดขึ้น เราก็สามารถทำผลงานได้น่าประทับใจ

ในศึกชิงแชมป์โลกที่จัดโดย WMF สามารถทะลุเข้าถึงรอบ 2 ขณะที่ชิงแชมป์เอเชียที่เมืองไทยก็สามารถคว้าแชมป์ได้อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มสูงที่ทีมชาติไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล 6 คนในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

“การหายไป 1 คน ผมมองว่าไม่ส่งผลเท่าไหร่ ฟุตบอล 7 คนมันยืนโซนง่ายกว่า ส่วน 6 คนต้องเคลื่อนที่ตลอดคล้ายฟุตซอล แต่สามารถใช้รูปแบบเดียวกันได้เพราะสนามก็ถูกย่อลงมาตามจำนวนผู้เล่น” อดิศักดิ์ หร่ำแค กัปตันทีมฟุตบอล 6 คนทีมชาติไทย เผย 

อดิศักดิ์ หรือ “เบียร์” ถือเป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์โชกโชนมากที่สุดคนหนึ่งในวงการลูกหนังไทย เขาผ่านการลงเล่นมาแล้วทั้งฟุตบอลไทยลีก ฟุตซอลลีก รวมถึงฟุตบอลเดินสายในปัจจุบัน ก่อนมีโอกาสได้ประดับธงชาติไทยบนหน้าอกครั้งแรกในการลุยศึกฟุตบอล 6 คนชิงแชมป์โลก ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่เคยเล่นฟุตบอล 6 คนมาก่อนในชีวิต

“ทั้งฟุตบอล 6 และ 7 คนพื้นฐานมาจากฟุตบอลเหมือนกัน และสามารถนำทักษะของฟุตซอลเช่นการคลึงบอลการเคลื่อนที่มาปรับใช้ได้ด้วย ซึ่งบ้านเราชินกับฟุตบอล 7 คนอยู่แล้วและปัจจุบันฟุตบอลเดินสายก็มีการแข่งขันที่จริงจังมากขึ้น ทำให้เล่นได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญก็คือต้องเข้าใจแทคติกและวิธีการเล่นมากกว่า”

“ตอนไปแข่งชิงแชมป์โลกผมสัมผัสได้เลยว่าแต่ละทีมแข็งแกร่งจริง ๆ หลายชาติมีลีก 6 คนของตัวเองกันแล้ว ยิ่งพวกยุโรปมีทั้งความสามารถ ความเข้าใจเกม ความแข็งแกร่งของร่างกายที่ดีกว่าเรา แต่เราก็มีนักเตะดี ๆ เยอะ ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังก็มีโอกาสที่จะไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน”

“ที่สำคัญคือมันเป็นโอกาสที่ทำให้นักบอลได้ติดทีมชาติ อย่างผมที่ผ่านมาทั้งฟุตบอลและฟุตซอลก็ไม่เคยได้มีโอกาสนี้ มันเป็นความภาคภูมิใจที่หาไม่ได้จริง ๆ” เบียร์ ทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดแล้วแม้ความนิยมในระดับท้องถิ่นของฟุตบอล 6 คน กับ 7 คน จะไม่ต่างกันมากขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้คนในพื้นที่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของฟุตบอล 6 คน หรือมินิฟุตบอลที่ได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ ได้เพิ่มแรงจูงใจให้แต่ละชาติหันมาสนใจเล่นฟุตบอล 6 คนกันมากขึ้น

ในอนาคตหากมีองค์กรที่สามารถรวบรวมทุกชาติเป็นหนึ่งเดียวได้ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นรายการใหม่ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรกีฬาระดับสากลได้เช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิง

https://soccafederation.com/first-6-a-side-world-cup-draws-audience-of-millions/
https://learn.englandfootball.com/articles/resources/2022/why-you-should-try-7-a-side-football
https://www.premierleague.com/news/58931#!
https://www.gotoknow.org/posts/208560
https://cdn1.sportngin.com/attachments/document/8546-2348967/FIFA_grassroots_en.pdf

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ