Feature

ซาอุดี โปร ลีก : ผงาดจนโลกลูกหนังจับตา กับคำถามว่าจะตามรอยไชนีส ซูเปอร์ลีก หรือไม่ | Main Stand

ชื่อของ ซาอุดี โปรเฟสชันแนลลีก หรือลีกอาชีพสูงสุดของประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้รับการจับตาจากคอลูกหนังทั่วโลกนับตั้งแต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ย้ายจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปร่วมทีมอัล นาสเซอร์ พร้อมรับค่าเหนื่อยสูงถึง 200 ล้านยูโรต่อฤดูกาล (ประมาณ 7.3 พันล้านบาท) เมื่อช่วงปลายปี 2022 

 


ไปจนถึงกระแสข่าวหนาหูในช่วงซัมเมอร์ 2023 นี้ ว่า อัล ฮิลาล ได้ทุ่มค่าเหนื่อยที่หากคิดออกมาเป็นเงินไทยก็จะราว 26,702 ล้านบาทต่อปีในการสู่ขอ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ มาร่วมทัพ และยังไม่นับที่หลาย ๆ สโมสรทุ่มเงินคว้าทั้งกุนซือชื่อดัง ตลอดจนนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของยุโรปมาร่วมทีมแบบไม่มีน้อยหน้ากัน เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแบรนด์ของตัวเองจนทำเอาโลกลูกหนังเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ 

แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เป็นเหตุให้คนลูกหนังในแวดวงฟุตบอลหลาย ๆ คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์นี้ ทั้ง อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งยุโรป ที่ชี้ว่าลีกซาอุดีอาระเบียมีโอกาสล้มแบบ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก หรือลีกอาชีพสูงสุดของจีนที่เคยรุ่งเรืองจากแนวทางดังกล่าว ก่อนจะเผชิญผลกระทบอะไรหลาย ๆ อย่างจนแปรเปลี่ยนมาสู่ภาวะฟองสบู่แตกภายในเวลาไม่กี่ปี 

ซาอุดี โปรลีก มีโอกาสฟองสบู่แตกตามรอย ไชนีส ซูเปอร์ ลีก หรือไม่ พวกเขาจริงจังแค่ไหนกับแนวทางอภิมหาโปรเจ็กต์นี้ มาวิเคราะห์ไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand

 

รัฐบาลหนุน และอภิมหาโครงการ Vision 2030

ซาอุดี โปรเฟสชันแนล ลีก หรือ SPL ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นลีกอาชีพสูงสุดของประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในปี 1976 โดยภารกิจหลักในช่วงแรกคือการส่งเสริมนักเตะในประเทศสู่เส้นทางฟุตบอลโลก 1982

แม้ในยุคตั้งไข่จะยังทำตามเป้าหมายใหญ่ไม่สำเร็จ (ลุยเวิลด์คัพ 1982 ที่สเปน) ทว่าลีกสูงสุดแดนเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ไม่มีวี่แววจะล้มโครงการลงไปแต่อย่างใด สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ในฐานะชาติที่ร่ำรวยจากการค้าขายน้ำมัน คอยสนับสนุนและอุ้มลีกอาชีพของประเทศอยู่เรื่อยมา

เมื่อลีกอาชีพสามารถเดินต่อไปได้แบบยั่งยืนเพราะทางการสนับสนุน เวลาต่อจากนั้นลีกสูงสุดซาอุดีอาระเบียก็ผลิตพ่อค้าแข้งจะกลายเป็นหนึ่งในชาติขาประจำของทวีปเอเชียที่ไปยืนเด่นโดยท้าทายในเวทีฟุตบอลโลก ถึงตอนนี้ทีมชาติซาอุดีอาระเบียลงเล่นรอบสุดท้ายมาแล้วถึง 5 สมัย ประกอบไปด้วยปี 1998, 2002, 2006, 2018 และ 2022

ส่วนสโมสรระดับท็อปของประเทศก็นับเป็นเต้ยแห่งวงการลูกหนังทวีปเอเชียอยู่บ่อย ๆ เช่น อัล ฮิลาล เป็นเจ้าของสถิติแชมป์เจ้าสโมสรเอเชีย (นับรวมทั้ง เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก และ เอเชียน คลับ แชมเปี้ยนชิพ - ชื่อเดิม) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 4 สมัย 

อย่างไรก็ตาม การที่ซาอุดีอาระเบียถูกท้าทายในเวทีโลกอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะการพึ่งพาทรัพยากรหลักของชาติอย่าง น้ำมัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศจึงถูกลดทอนลงไปตามความแปรปรวนของราคาน้ำมันดิบโลก หรือการที่กลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปค อาทิ สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา เริ่มผลิตน้ำมันไว้ใช้เอง 

ตลอดจนการที่โลกเริ่มหันมาใส่ใจหันมาเรียนรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียน การใช้ยานพาหนะไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียในตลาดโลกลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ประเทศพัฒนาและขับเคลื่อนได้ด้วยแนวทางอื่น ๆ ด้วยอีกทางจึงก่อให้เกิดโปรเจ็กต์ใหญ่อย่าง "Vision 2030" ภายใต้แนวคิดของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ ด้วยเป้าหมายใหญ่คือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และอัตลักษณ์ประเทศ โดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยที่ “ฟุตบอล” ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปด้วย 

ดังที่โลกและแฟนฟุตบอลได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เมื่อกลุ่มทุน Public Investment Fund (PIF) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (รูปแบบการทำงานเป็นแบบกองทุนที่นำเงินจากรัฐบาลไปลงทุนในต่างประเทศ) เข้าเทคโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ด้วยมูลค่า 305 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท 

 

ซาอุดี โปร ลีก ยุคใหม่

วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบียกลายเป็นฟันเฟืองใหญ่ที่มีส่วนช่วยให้วงการฟุตบอลในประเทศได้รับอานิสงส์ในเรื่องของการพัฒนาไปสู่อีกระดับ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความพยายามผลักดันให้สโมสรอาชีพในประเทศปรากฏภาพที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวและพยายามทำให้เป็นเอกชนมากขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์การตลาดในอนาคต ที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากภายนอก และที่สำคัญก็เพื่อโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งของทั้งตัวลีกอาชีพรวมถึงสโมสรสมาชิก

เมื่อนำหลาย ๆ ปัจจัยที่ถูกสนับสนุนและส่งเสริมมาประกอบกัน กลายเป็นว่าสโมสรน้อยใหญ่ในประเทศมีท่อน้ำเลี้ยงมากพอที่จะอัปเกรดตัวเองให้แกร่งกว่าเดิม 

โดยเฉพาะ 4 สโมสรชั้นนำที่ถูก PIF เทคโอเวอร์ อย่าง อัล ฮิลาล, อัล นาสเซอร์, อัล อาห์ลี และ อัล อิตติฮัด ที่มีกำลังซื้อมากกว่าเดิม และกาลต่อมาก็ดึงนักเตะมากดีกรีมาสู่ทีมมากมาย

แฟน ๆ ฟุตบอลทั่วโลกได้เห็น คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ข้ามฟากจากทวีปยุโรปมาบุกเบิกกับ อัล นาสเซอร์ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 ตามมาด้วยความคึกคักในตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์ 2023 รวมถึงการเข้ามาของ คาริม เบนเซม่า และ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ที่ อัล อิตติฮัด 

อัล อาห์ลี ทีมน้องใหม่หน้าเก่าที่กลับมาสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งในฤดูกาลใหม่ที่จะถึงนี้ได้ตัว เอดูอาร์ เมนดี้ และโรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ หรือการย้ายเข้ามาสู่ อัล ฮิลาล ของ รูเบน เนเวส, เซอร์เก มิลินโควิช-ซาวิช และ คาลิดู คูลิบาลี่ แถมยังมีข่าวกับ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ อีกต่างหาก ขณะที่ อัล เอตติฟัค ก็มี สตีเว่น เจอร์ราร์ด รับหน้าที่กุนซือใหญ่ เป็นต้น

แต่ละทีมไม่ได้จงใจจะซื้อนักเตะอายุมากเพียงอย่างเดียว พวกเขาแสดงถึงความจริงจังที่จะยกระดับลีกแห่งนี้ให้แข็งแกร่งขึ้นอีกก้าว

“อาจฟังดูแปลก ๆ แต่แผนนี้ได้รับการพัฒนามาหลายปีแล้ว และแผนมาจากเบื้องบน (มกุฎราชกุมาร) มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ที่อยากรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ลีกซาอุดีอาระเบียมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมได้ถึงหกหมื่นคน ในบางเกม เพราะส่วนใหญ่แทบไม่มีเลย คำตอบที่ชัดเจนก็คือ: เพราะคุณภาพโดยรวมของลีกยังไม่สูงพอ” แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนที่เป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การเติบโตของลีกซาอุดีอาระเบีย บอกกับ The Athletic

“เราจะดึงดูดผู้เล่นฝีเท้าดีได้อย่างไร นั่นเป็นแผนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เป็นแนวทางที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการปรับปรุงสนามกีฬา ความสามารถในการถ่ายทอดสด วิธีดำเนินการของแต่ละสโมสร และความเป็นมืออาชีพโดยรวมของลีก”

ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า Vision 2030 มีส่วนยกระดับให้ศึกซาอุดี โปร ลีก ก้าวไปสู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย 

ว่ากันว่าพวกเขามีเป้าหมายใหญ่ในการเป็นลีกอาชีพชั้นนำท็อป 10 ของโลก และพร้อมจะสร้างรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 480 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีรายได้ 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4 เท่าของรายได้เดิม

เมื่อการเติบโตของลีกอาชีพสูงสุดแดนเศรษฐีน้ำมันเกิดขึ้นดุจพลุสวยงามที่ถูกจุดขึ้นบนฟ้ากลายเป็นคำถามและข้อสังเกตจากคนวงการลูกหนังที่ตามมาว่า การเติบโตนี้จะซ้ำรอยลีกฟุตบอลอาชีพที่สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่าง ไชนีส ซูเปอร์ ลีก หรือไม่

 

ไชนีส ซูเปอร์ ลีก : สูงสุดสู่สามัญ

การทำทีมฟุตบอลทีมหนึ่งขึ้นมาให้ยั่งยืนและประสบความสำเร็จ “เงิน” และ “ความเป็นมืออาชีพ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทีมนั้น ๆ ยืนหยัดต่อไปได้ แต่หากทีมขาดสองส่วนนี้ไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผลสุดท้ายก็ต้องมาลงเอยด้วยการยุบทีม 

ที่สำคัญ นี่คือประเด็นหลักที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ สโมสรในลีกสูงสุดแดนมังกร

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2010 หน่วยงานเอกชนระดับยักษ์หลาย ๆ แห่งของจีนนำเงินบางส่วนของตัวเองมาลงทุนกับทีมฟุตบอลแบบไม่มีน้อยหน้ากัน 

เหตุผลประการหนึ่งน่าจะมาจากความฝันเรื่องหนึ่งของผู้นำคนปัจจุบันของประเทศอย่าง สี จิ้นผิง ที่อยากยกระดับวงการฟุตบอลของประเทศให้ทัดเทียมกับเหล่าชาติที่แวดวงลูกหนังจัดอยู่ในระดับท็อปของโลก อย่างภารกิจใหญ่ภายในปี 2050 กับความตั้งใจให้จีนเป็นชาติยักษ์ใหญ่ในเกมกีฬาลูกหนังใบกลม

ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ กลุ่มทุนเอเวอร์แกรนด์ อสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้น ๆ ของประเทศ หรือแม้แต่ ซูหนิงกรุ๊ป ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายในประเทศ ล้วนเข้าให้การสนับสนุนสโมสรตามชื่อสโมสรที่ปรากฏในเวลานั้นอย่าง กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ และ เจียงซู ซูหนิง ตามลำดับ 

บริษัทชั้นนำที่พอจะมีเม็ดเงินมหาศาลไม่ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลล้วนแต่ขยับตัวเองมาสู่จุดนี้ ก่อนนำมาซึ่งความสำเร็จในชั่วข้ามคืน ทั้งการดึงดูดสตาร์ดังจากยุโรปให้เข้ามาโกยเงินหยวน เช่น ออสการ์ กับช่วงวัยที่ยังเล่นฟุตบอลกับทีมชั้นนำได้แบบสบาย ๆ แต่ที่สุดแล้วเขาเลือกย้ายมาเล่นให้ เซียงไฮ้ เอสไอพีจี ในปี 2017 

หรือแม้แต่ อเล็กซ์ เตเซร่า ที่ครั้งหนึ่งลิเวอร์พูลเคยให้ความสนใจสุด ๆ ทว่าท้ายสุดแนวรุกแซมบ้ากลับเลือกมาเล่นที่จีนในช่วงวัยไม่ถึงเลขสาม

หรือแม้แต่การที่สโมสรหลาย ๆ สโมสรขยับขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของทวีป ได้เข้ารอบลึก บ้างก็ไปถึงแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก หรือฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย 

อย่างไรก็ดี ความยั่งยืนของแนวทางดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้นที่จีน เมื่อการลงทุนมันไม่ได้ให้ผลกำไรอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งจากกรณีศักยภาพของแต่ละทีมไม่ได้อยู่ในสถานะที่พร้อมมากพอ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบรุนแรงต่อประเทศ จนกลายเป็นว่าหลาย ๆ สโมสรประสบปัญหาขาดทุนจนถึงขั้นต้องขายทีมหรือยุบทีมทิ้งไปเลย 

ยกตัวอย่าง เจียงซู ซูหนิง พวกเขาทำเรื่องช็อกแฟนบอลไปตาม ๆ กัน เมื่อภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังครองแชมป์ลีกสูงสุด 2020 สโมสรกลับประกาศให้สาวกได้ทราบโดยทั่วกันว่าจะยุบทีม เหตุเพราะไม่มีเงินทำทีมต่อ เนื่องจากรายรับจากแหล่งทุนเดียวอย่างซูหนิงสวนทางกับรายจ่ายที่มากขึ้นในทุก ๆ วัน 

จนถึงขั้นที่ว่า เจา มิรานด้า อดีตกองหลัง แอตเลติโก มาดริด และ อินเตอร์ มิลาน ไม่ได้เงินค่าเหนื่อยกว่า 7.5 ล้านปอนด์ เพราะเรื่องยุบสโมสร เป็นต้น

กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ เจียงซู ซูหนิง เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับหลาย ๆ สโมสร เป็นเหตุให้ฝ่ายจัดการแข่งขันใช้นโยบายกำหนดเพดานค่าตัวและค่าเหนื่อย หรือ ไฟแนนเชี่ยลแฟร์เพลย์ (FFP) ขึ้นมา เพื่อคัดกรองทีมให้ไปต่อได้ในอนาคต ผลกระทบใหญ่ต่อจากนั้นคือทีมที่ค้างค่าเหนื่อยนักเตะถูกตัดออกจากลีก เหล่าแข้งชื่อก้องเริ่มทยอยออกจากลีกไป 

สถานะปัจจุบันของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก คือการรัดเข็มขัดและใช้เงินซื้อนักเตะต่างชาติในราคาสมน้ำสมเนื้อ 

และหากจะบอกว่าลีกอาชีพสูงสุดจีนกลับมานับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งก็คงจะไม่ผิดอะไร

 

อนาคต ซาอุดี โปร ลีก จะตามรอยหรือไม่

มีเหตุผลหลายอย่างที่ช่วยซัปพอร์ตว่า ซาอุดี โปร ลีก อาจจะไม่ได้เดินตามรอย ไชนีส ซูเปอร์ ลีก เหตุผลแรก เพราะลีกสูงสุดของซาอุดีอาระเบียได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

โดยเฉพาะกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในฐานะผู้สนับสนุนหลักของลีก ซึ่งดำเนินการผ่าน บริษัท Roshn บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้เซ็นสัญญาร่วมกันถึง 5 ปี ด้วยมูลค่า 127.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาท ขณะที่ลีกสูงสุดของจีนขับเคลื่อนโดยเอกชนเป็นหลัก

นอกจาก PIF จะเป็นหัวเรือใหญ่ให้ลีกแล้ว อย่าลืมว่านี่เป็นกลุ่มทุนเจ้าของสโมสรสาลิกาดงแห่งพรีเมียร์ลีก ดังนั้นการจัดการหรือการดำเนินงานต่าง ๆ ในภายประเทศ ไม่มากก็น้อยก็มีระบบการจัดการที่รอให้หลาย ๆ สโมสรได้เรียนรู้ต้นแบบจากทีมดังแห่งภาคอีสานอังกฤษ

เหตุผลต่อมา เพราะฟุตบอลเป็นกีฬามหาชนของประชาชนชาวซาอุดีอาระเบีย แถมทีมชาติของพวกเขาก็อยู่ในระดับที่เป็นทีมขาประจำในฟุตบอลโลก กลับกัน ที่ประเทศจีนหากพูดถึงความนิยมของเกมลูกหนังว่าอยู่ในจุดที่ประชนชนนิยมมากที่สุดหรือไม่ คำตอบคือไม่

“เงินลงทุนของที่นี่ให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า และมันเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาว สโมสรต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีในชุมชนท้องถิ่น และฟุตบอลก็เป็นกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศ” แหล่งข่าวระดับสูงของลีกที่ไม่ขอเผยตัวตน บอกกับ BBC Sport

มากกว่านั้น ตัวแทนของฝ่ายจัดการแข่งขันลีกซาอุดีอาระเบียอย่าง ฮาเฟซ อัล-เมดเลจ์ ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าลีกอาชีพที่นี่มีแผนการที่เน้นไปที่เรื่องของการสร้างลีกที่แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยมีหัวใจสำคัญคือการดึงนักเตะชื่อดังมาเป็นฟันเฟือง

"ประสบการณ์ของลีกจีนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย” 

“ฟุตบอลไม่ได้เป็นที่นิยมสูงสุดที่นั่น แต่กับเรา เรามีโครงการของรัฐที่ชัดเจนและจะไม่จำกัดเพียง 4 ทีมที่ยอดเยี่ยมเท่านั้นแต่รวมถึงทุกทีมด้วย เพราะความหลงใหลในฟุตบอลของชาวซาอุนั้นไม่มีขีดจำกัด”

ซาอุดี โปร ลีก จะประสบความสำเร็จดั่งหวังหรือไม่ กาลเวลาอาจช่วยตัดสิน 

แต่ที่แน่ ๆ ในระหว่างการขับเคลื่อนนี้ ลีกอาชีพสูงสุดของซาอุดีอาระเบียมีกรณีศึกษาชั้นดีจากความล้มเหลวของ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ที่พร้อมจะเป็นเครื่องเตือนใจเพื่อไม่ให้เดินรอยตาม

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/2023/jul/03/saudi-arabia-football-china-transfers-cristiano-ronaldo-benzema
https://www.90min.com/posts/liverpool-given-saudi-pro-league-warning-over-mohamed-salah 
https://theathletic.com/4592574/2023/06/20/saudi-pro-league-transfers/ 
https://thinkcurve.co/suuebcchaakdiilornalod-ebnechmaa-aikhebuue-nghlangliikchaa-u-ptiwatiolkluukhnang/ 
https://www.moneybuffalo.in.th/economy/why-saudi-football-league-have-money-to-buy-more-than-200-million-euro-for-players 
https://www.caughtoffside.com/2023/06/28/super-agent-jon-smith-details-what-makes-the-saudi-pro-league-project-different-to-the-chinese-super-league/ 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา