และแล้วก็เดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศจนได้สำหรับศึกฟุตบอลสโมสรยุโรปที่ได้แข่งขันกันมาตลอดทั้งฤดูกาล
เราได้บทสรุปใน 2 ถ้วยเล็กไปแล้ว จากการที่ “เซบีย่า” ขาประจำของบอลยุโรปถ้วยเล็ก ผงาดคว้าแชมป์ยูฟ่ายูโรป้า ลีก สมัยที่ 7 ไปครอง รวมไปถึง “เวสต์แฮม” ที่คว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ได้เป็นครั้งแรก แต่ยังเหลืออีกหนึ่งถ้วยใหญ่นั่นคือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่จะลงชิงชัยในค่ำคืนนี้
วันนี้เราจะพาไปดูว่าการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปที่จัดแข่งขันกันทุกปีที่ทำให้หลายทีมในลีกยุโรปต่างพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้เข้ามาเล่นในรายการเหล่านี้นั้นมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดอย่างไร และทำไมถึงต้องแบ่งออกเป็น 3 ระดับ แนวคิดนี้สโมสรฟุตบอลจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นกว่าการเเบ่งถ้วยเป็น 2 ระดับจริงหรือ ไปหาคำตอบกันได้ที่ Main Stand
เริ่มที่โครงสร้างกันก่อน
การแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปเป็นการแข่งขันประจำปีภายใต้การจัดของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า (UEFA) องค์กรที่ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลในทวีปยุโรป ที่มีหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับทีมฟุตบอล เงินรางวัล กฎระเบียบต่าง ๆ รวมไปถึงลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด
การแข่งขันที่จัดโดยยูฟ่าก็มีมากมายหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลระดับทีมชาติ ระดับสโมสร หรือแม้กระทั่งฟุตซอล แต่รายการที่เราอยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังคือ “ฟุตบอลสโมสรยุโรป” ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มจากถ้วยที่ใหญ่สุดคือ “ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก” รองลงมาด้วย “ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก” และถ้วยเล็กที่สุดใบใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2021 นั่นคือ “ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก”
ทำไมต้องแข่งขันกัน 3 ระดับ ?
เริ่มต้นด้วย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรายการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวงการฟุตบอล รวมไปถึงเป็นรายการที่นักฟุตบอลหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้เข้ามาเล่นให้ได้สักครั้งในชีวิต เพราะเป็นหนึ่งในรายการที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก นั้นเป็นการแข่งขันของ 32 ทีม แข่งขันกันทั้งหมด 5 รอบเพื่อช่วงชิงตำแหน่งเจ้าแห่งยุโรป
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก จัดขึ้นตั้งแต่ฤดูกาล 1955-1956 เป็นต้นมาในชื่อ ยูโรเปียนคัพ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 1992 โดยที่ทั้ง 32 ทีมถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม ในรูปแบบพบกันหมดสองรอบเพื่อหาแชมป์กลุ่มและรองแชมป์กลุ่มให้ผ่านเข้าไปสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย จากนั้นทีมที่เข้ารอบก็จะแข่งกันในรูปแบบน็อกเอาต์ไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ (รอบ 16 ทีมสุดท้าย รอบก่อนรองชนะเลิศ รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ) แต่ถ้าทีมของคุณไม่สามารถผ่านเข้ารอบไปสู่รายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้ ยูฟ่าก็มีถ้วยรองลงมาเพื่อรองรับไว้เป็นทางเลือกแก่ทีมในยุโรปที่ไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก นั่นก็คือ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ที่เริ่มแข่งขันกันมาตั้งแต่ฤดูกาล 1971-1972 ในชื่อ ยูฟ่าคัพ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ยูฟ่า ยูโรป้าลีก ในปี 2009 ซึ่งรูปแบบการแข่งขันในปัจจุบันจะเหมือนกับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก คือมี 32 ทีมในรอบแบ่งกลุ่มและผ่านเข้าไปยังรอบน็อกเอาต์เช่นกัน และปิดท้ายด้วยถ้วยน้องใหม่ล่าสุดอย่างยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ลีก ที่ก่อตั้งมาในปี 2021 เพื่อให้การแข่งขันระดับสโมสรของยูฟ่ามีความครอบคลุมมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา รวมไปถึงเป็นการเปิดโอกาสให้แก่สโมสรจากลีกเล็ก ๆ ของยุโรปได้มีส่วนร่วมกับทัวร์นาเมนต์ในยุโรปมากขึ้น เพราะคงเป็นเรื่องยากที่สโมสรเหล่านี้จะเข้ารอบไปเล่นใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก โดยรูปแบบการแข่งขันก็เหมือนกับสองถ้วยข้างต้น
ดังนั้นเหตุผลที่ทำให้ยูฟ่าแบ่งการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปออกเป็น 3 ระดับ นั่นเป็นเพราะว่าเป็นรายการแข่งขันที่ทำเงินได้มหาศาล เนื่องจากมีสปอนเซอร์และผู้ออกอากาศชื่อดังหลายเจ้ายินดีจ่ายเงินก้อนโตให้กับยูฟ่าเพื่อจัดการการแข่งขันและถ่ายทอดสดไปทั่วโลก จากเดิมที่มีแค่ 2 ระดับที่ได้รับส่วนแบ่งจากสปอนเซอร์เหล่านี้อยู่แล้ว การเพิ่มเป็น 3 ระดับ นอกจากจะทำให้มีโปรแกรมการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สปอนเซอร์และผู้ออกอากาศชื่อดังอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาลงทุนเพิ่ม รวมไปถึงยังเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ทีมต่าง ๆ ในลีกยุโรป โดยเฉพาะทีมขนาดเล็กหรือทีมที่ไม่ได้อยู่ในลีกชื่อดังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันมากขึ้น ดังคำกล่าวของ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่าคนปัจจุบัน ที่กล่าวถึงรายการยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ว่า “การแข่งขันระดับสโมสรใหม่ของยูฟ่าจะทำให้การแข่งขันระดับสโมสรของยูฟ่ามีความครอบคลุมมากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อสร้างฐานรายได้และแฟนบอลจากประเทศนั้น ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม”
การแข่งขันทั้ง 3 ระดับนี้ส่งผลต่อระดับเศรษฐกิจอย่างไร ?
เหตุผลที่ยูฟ่าต้องจัดการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปให้เป็น 3 ระดับ เพราะว่าจำนวนการแข่งขันที่มีมากขึ้นส่งผลไปถึงเรื่องของระดับทางเศรษฐกิจที่มาจากฐานรายได้หรือแฟนบอลที่มีมากขึ้นจากประเทศที่หลากหลายทั่วยุโรป ในความเป็นจริงก่อนที่จะมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรป 3 ระดับจนประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ ความสำเร็จด้านการเงินและการตลาดที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1992 ในรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แล้วผ่านการจัดการแข่งขันในรูปแบบใหม่ การโฆษณา การถ่ายทอดสด และการเจรจาเรื่องสิทธิ์ด้านการค้าไปสู่ระดับโลกเพื่อสร้างผลกระทบที่ดีให้แก่องค์กรตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะยูฟ่ามีความเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองที่มีส่วนช่วยในการสร้างรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ทีวีและสปอนเซอร์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจก็มีน่าประทับใจเป็นอย่างมากในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการมียูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก เพิ่มขึ้นมาในปี 2021 ส่งผลให้ยูฟ่าได้รับเม็ดเงินจากการโฆษณา สปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์ต่าง ๆ จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 3 รายการ ซึ่งเพิ่มรายได้ให้กับวงการฟุตบอลยุโรปโดยรวม เพราะแค่จากการแข่งขันอย่างเดียวก็สร้างรายได้เกินกว่า 3.6 พันล้านยูโรแล้ว รวมไปถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่งที่สูงเช่นกัน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจของยูฟ่าให้สูงขึ้นตาม เห็นได้จากจำนวนรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น โดยเปรียบเทียบจากปีสุดท้ายของการมีการแข่งขันแค่ 2 ระดับกับปีหลังจากที่การแข่งขันเพิ่มเป็น 3 ระดับ ซึ่งในฤดูกาล 2020-21 ที่เป็นปีสุดท้ายในการมีการแข่งขันแค่ 2 ระดับยูฟ่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 3.8 พันล้านยูโร แต่เมื่อเพิ่มเป็น 3 ระดับในฤดูกาลถัดมาก็มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นมาเป็น 4 พันล้านยูโร และมีแนวโน้มที่รายรับจะเพิ่มขึ้นถึง 4.4 พันล้านยูโรในฤดูกาล 2022-23 ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แต่การคาดการณ์อนาคตในฤดูกาลถัด ๆ ไปก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เคล็ดลับของความสำเร็จนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้แก่ยูฟ่าที่สามารถจัดการแข่งขันแบบมืออาชีพ ประกอบกับการเพิ่มการแข่งขันขึ้นในทั้ง 3 ระดับในประเทศใหม่ ๆ แล้วก็ยิ่งทำให้เงินที่ได้จากสปอนเซอร์ที่สนับสนุนทีมการเล่นในรายการเหล่านี้ให้มีมากขึ้นตาม อีกทั้งยูฟ่ายังตีตลาดด้วยการยกระดับแบรนด์ผ่านเอกลักษณ์ที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการสร้างไอคอนทางตลาด เช่น เพลงธีมการแข่งขัน เราจึงมองว่าการจัดการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปเป็น 3 ระดับนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับความแม่นยำในการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดของยูฟ่า ส่งผลให้ระดับเศรษฐกิจของยูฟ่าขยายขึ้นเป็นอย่างดี
ผลประโยชน์ของสโมสรที่ได้รับจากการเข้าร่วมการแข่งขัน
เหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ทีมต่าง ๆ ในลีกยุโรปอยากเข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากการจะได้แข่งขันในรายการที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรายการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกฟุตบอล และเพื่อให้คนทั้งโลกให้ความสนใจและรู้จักกับทีมของตนมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นเม็ดเงินที่ทางยูฟ่าจะจ่ายให้กับสโมสรที่ผ่านเข้ามาเล่นในรายการนี้ได้ โดยจากการคาดการณ์รายได้และการจัดสรรของยูฟ่า จำนวนเงินทั้งหมดที่มีอยู่สำหรับการแจกจ่ายให้กับสโมสรที่เข้าร่วมในฤดูกาลล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2.732 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเงินจำนวน 2.032 พันล้านยูโรให้กับสโมสรที่แข่งขันในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เงินจำนวน 465 ล้านยูโรจะถูกแจกจ่ายให้สโมสรที่แข่งขันในยูฟ่า ยูโรป้า ลีก และเงินจำนวนอีก 235 จะถูกจ่ายให้สโมสรที่แข่งขันในยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก เราจะพาไปเจาะลึกว่าเงินที่สโมสรในแต่ละการแข่งขันได้รับว่ามาจากส่วนใดและมีจำนวนเท่าไรบ้าง ซึ่งเม็ดเงินที่เรากำลังจะพูดถึงต่อจากนี้จะเป็นเม็ดเงินสำหรับทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่มได้เป็นต้นไป โดยจะแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ จำนวนเงินค่าธรรมเนียมเริ่มต้น จำนวนเงินค่าตอบแทนคงที่ตามผลงาน จำนวนเงินตามค่าสัมประสิทธิ์ และจำนวนเงินที่ผันแปรไปตามตลาด โดยก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละรายการ
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก
เงินค่าธรรมเนียมเริ่มต้นอยู่ที่ 500.5 ล้านยูโร คิดเป็น 25% จากเงินทั้งหมด
แบ่งเป็นค่าตอบแทนคงที่ตามผลงานที่ 600.6 ล้านยูโร คิดเป็น 30% จากเงินทั้งหมด และจำนวน 2.8 ล้านยูโรต่อการชนะในรอบแบ่งกลุ่มแต่ละนัด และถ้าทีมใดสามารถผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ก็จะได้รับเงินส่วนแบ่งที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่รอบ 16 ทีมจะได้รับเงิน 9.6 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบก่อนรองชนะเลิศจะได้รับเงิน 10.6 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบรองชนะเลิศจะได้รับเงิน 12.5 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบชิงชนะเลิศจะได้รับเงิน 15.5 ล้านยูโรต่อสโมสร และผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินเพิ่มเติมอีก 4.5 ล้านยูโร
แบ่งเงินตามค่าสัมประสิทธิ์อยู่ที่ 600.6 ล้านยูโร คิดเป็น 30% จากเงินทั้งหมด เช่นเดียวกับเงินค่าตอบแทนคงที่ โดยจะจ่ายตามผลงานและค่าสัมประสิทธิ์ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
แบ่งเงินที่ผันแปรไปตามตลาดอยู่ที่ 300.3 ล้านยูโร คิดเป็น 15% จากเงินทั้งหมดที่จะถูกแบ่งตามมูลค่าสัดส่วนของตลาดโทรทัศน์แต่ละประเทศที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันของสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มเป็นต้นไป และกระจายไปยังสโมสรที่เข้าร่วมจากแต่ละสมาคมในประเทศนั้น ๆ
ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก
เงินค่าธรรมเนียมเริ่มต้นอยู่ที่ 116.25 ล้านยูโร คิดเป็น 25% จากเงินทั้งหมด
แบ่งเป็นค่าตอบแทนคงที่ตามผลงานอยู่ที่ 139.5 ล้านยูโร คิดเป็น 30% จากเงินทั้งหมด และจำนวน 6.3 แสนยูโรต่อการชนะในรอบ
แบ่งกลุ่มแต่ละนัด และถ้าทีมใดสามารถผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้จะได้รับส่วนแบ่งที่มากขึ้น ตั้งแต่รอบ 16 ทีมจะได้รับเงิน 1.2 ล้านยูโรต่อสโมสร (รวมไปถึงทีมอันดับ 3 ที่ตกมาจากยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) รอบก่อนรองชนะเลิศจะได้รับเงิน 1.8 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบรองชนะเลิศจะได้รับเงิน 2.8 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบชิงชนะเลิศจะได้รับเงิน 4.6 ล้านยูโรต่อสโมสร และผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินเพิ่มเติมอีก 4 ล้านยูโร
แบ่งเงินตามค่าสัมประสิทธิ์อยู่ที่ 69.75 ล้านยูโร คิดเป็น 15% จากเงินทั้งหมด จ่ายตามผลงานและค่าสัมประสิทธิ์ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
แบ่งเงินที่ผันแปรไปตามตลาดอยู่ที่ 139.5 ล้านยูโร คิดเป็น 30% จากเงินทั้งหมด ที่จะถูกแบ่งตามสัดส่วนของตลาดโทรทัศน์แต่ละประเทศที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันของสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มเป็นต้นไป และกระจายไปยังสโมสรที่เข้าร่วมจากแต่ละสมาคมในประเทศนั้น ๆ
ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก
เงินค่าธรรมเนียมเริ่มต้นอยู่ที่ 94 ล้านยูโร คิดเป็น 40% จากเงินทั้งหมด
แบ่งเป็นค่าตอบแทนคงที่ตามผลงานอยู่ที่ 94 ล้านยูโร คิดเป็น 40% จากเงินทั้งหมด และจำนวน 5 แสนยูโรต่อการชนะในแต่ละนัด และถ้าทีมใดสามารถผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้จะได้รับส่วนแบ่งที่มากขึ้น ตั้งแต่รอบ 16 ทีมจะได้รับเงิน 6 แสนยูโรต่อสโมสร (รวมไปถึงทีมอันดับ 3 ที่ตกลงมาจากยูฟ่า ยูโรป้า ลีก) รอบก่อนรองชนะเลิศจะได้รับเงิน 1 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบรองชนะเลิศจะได้รับเงิน 2 ล้านยูโรต่อสโมสร รอบชิงชนะเลิศจะได้รับเงิน 3 ล้านยูโร และผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินเพิ่มเติมอีก 2 ล้านยูโร
แบ่งเงินตามค่าสัมประสิทธิ์อยู่ที่ 23.5 ล้านยูโร คิดเป็น 10% จากเงินทั้งหมด จ่ายตามผลงานและค่าสัมประสิทธิ์ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
แบ่งเงินที่ผันแปรไปตามตลาดอยู่ที่ 23.5 ล้านยูโร คิดเป็น 10% จากเงินทั้งหมดที่จะถูกแบ่งตามสัดส่วนของตลาดโทรทัศน์แต่ละประเทศที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันของสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มเป็นต้นไป และกระจายไปยังสโมสรที่เข้าร่วมจากแต่ละสมาคมในประเทศนั้น ๆ
เม็ดเงินเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งสิ่งดึงดูดให้ทีมต่าง ๆ อยากทำผลงานให้ดีเพื่อผ่านเข้ารอบมาเล่นในให้ได้ เพราะจำนวนเงินมหาศาลเหล่านี้จะทำให้สโมสรทั้งหลายสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาทีม เช่น ซื้อนักเตะ นำไปลงทุนสร้างสนามซ้อม หรือการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในสโมสร
เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าทีมขนาดเล็กหรือทีมที่ไม่ได้อยู่ในลีกชื่อดังของยุโรปจะมีมุมมองในเชิงบวกมากในเรื่องการเพิ่มการแข่งขันจาก 2 เป็น 3 ระดับ ที่จะทำให้ทีมของพวกเขานอกจากจะได้เป็นที่รู้จักสำหรับแฟนบอลผ่านการแข่งขันแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักเตะได้แสดงผลงานในรายการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลถึงการซื้อขายนักเตะเพื่อทำเงินเข้าสโมสรในอนาคตได้ รวมไปถึงในเรื่องของรายได้ที่ได้มาจากการถ่ายทอดสดและลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ทีมเหล่านี้จะได้รับ ซึ่งทีมขนาดเล็กบางทีมก็อาจไม่ได้เน้นไปที่ผลการแข่งขันอย่างเดียว อย่างที่เราเคยเห็นกันในช่วงการจับฉลากบอลถ้วยในประเทศต่าง ๆ ที่ทีมขนาดเล็กเหล่านี้ต่างดีใจและฉลองกันอย่างสุดเหวี่ยงเมื่อทราบผลการจับฉลากว่าจะได้พบกับทีมยักษ์ใหญ่ เพราะพวกเขารู้ดีว่าจะเพิ่มโอกาสทำรายได้เข้าสู่ทีมจากปัจจัยต่าง ๆ ส่วนในมุมมองของทีมขนาดใหญ่ การที่เพิ่มจาก 2 เป็น 3 ระดับนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนักกับทีมเหล่านี้ เพราะทีมขนาดใหญ่เหล่านี้ก็มองไปถึงการเล่นถ้วยที่ใหญ่ที่สุดเป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าพวกเขาต้องมาเล่นในถ้วยเล็กจริง ๆ ก็ถือว่าได้ลองใช้นักเตะจากทีมชุดเล็กในรายการเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานักเตะของทีมตัวเองไปด้วยในตัว
แบบอย่างที่ดีของเอเชีย ?
สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ เอเอฟซี (AFC) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่นำรูปแบบการแข่งขันฟุตบอลยุโรปมาใช้ เนื่องจากเป็นทวีปที่ใหญ่และมีประเทศต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งเอเอฟซีก็สามารถยืมรูปแบบการพัฒนาของยูฟ่ามาเป็นแบบอย่างได้ เอเอฟซีในปัจจุบันมีการแข่งขันอยู่ที่ 2 ระดับ แบ่งออกเป็น AFC Champions League และ AFC Cup ซึ่งสโมสรฟุตบอลจากเอเชียก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนทั่วโลก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องของนักเตะชื่อดังที่ส่วนใหญ่ค้าแข้งอยู่ในยุโรป ทำให้สปอนเซอร์ต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนทีมในเอเชียน้อยกว่า เพราะการแข่งขันฟุตบอลสโมสรเอเชียที่จัดโดยเอเอฟซียังไม่เปิดโอกาสในกับทีมขนาดเล็กมากเท่าที่ควร ดังนั้นผู้เขียนจึงมองว่าเอเอฟซีควรนำรูปแบบการแข่งขันของยูฟ่ามาค่อย ๆ ปรับให้เข้ากับรูปแบบของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองว่าในอนาคตสโมสรฟุตบอลในเอเชียอาจเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมากขึ้นผ่านการแข่งขันฟุตบอลสโมสรเอเชีย
ที่มา
https://bleacherreport.com/articles/2819840-uefa-champions-league-explained-how-the-tournament-works
https://bleacherreport.com/articles/2820025-uefa-europa-league-explained-how-the-tournament-works
https://www.uefa.com/uefaeuropaconferenceleague/news/0264-10fe90612aa3-37b2bc77f89e-1000--uefa-europa-conference-league-what-is-it-how-does-it-work-w/
https://editorial.uefa.com/resources/0277-158b0bea495a-ba6c18158cd3-1000/20220704_circular_2022_47_en.pdf
http://www.sportsvalue.com.br/wp-content/uploads/2018/06/SportsValue-UEFA-Champions-League-May-2018-EN.pdf
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9996857/Europa-Conference-League-Format-watch-Tottenham-knockout-dates-odds.html
https://editorial.uefa.com/resources/0275-151e2b400998-1bf6ada88c53-1000/en_ln_uefa_budget_2022-2023.pdf