Feature

เพื่อน ๆ ล่ะผมรถแรงจัด : เศษเหล็กหรืออะไร ? เจาะลึกมอเตอร์ไซค์ "ทรงเชง" | Main Stand

หลายคนที่เล่นแอปพลิเคชัน TikTok คงเคยได้รับชมคลิปคอนเทนต์ประเภทรถมอเตอร์ไซค์ประมาณว่า "ระหว่าง Honda wave 125i กับ Honda Wave 110i ทรงเชง จะเลือกอะไร ?" ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ทำเอาประหลาดใจ เพราะวัยรุ่นสาวส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือก Wave 110i ทรงเชง 

 


รถโครงไก่ หรือ มอเตอร์ไซค์พร้อมตาย เป็นคำจำกัดความที่ใช้เรียก ทรงเชง เพราะด้วยรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากของเดิมโรงงานจนแทบจำไม่ได้ บวกกับสไตล์การขับขี่ที่นอนลงเป็นแนวราบโดยไม่มีความเกรงกลัวต่ออะไรทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแค่เพียงผู้สร้างความเดือดร้อนในสายตาใครบางคน 

แต่รู้หรือไม่ว่าในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการจัดการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงประลองความเร็วกับประเทศเพื่อนบ้าน ชิงเงินรางวัลเป็นมูลค่ากว่าล้านบาทมาแล้ว แถมยังมีเงินสะพัดนอกสนามแข่งขันไม่ต่างจากกีฬามวย ส่งผลให้สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงได้อีกด้วย

Main Stand ขออาสาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงว่ามันคืออะไร และเหตุใดวัยรุ่นหลังถนนถึงตัดสินใจนำรถของตนเองมาโมดิฟายให้กลายเป็น "ทรงเชง" ?

 

ทรงเชงคืออะไร ?

ก่อนอื่นต้องอธิบายความหมายของคำว่า เด็กแว้น ก่อน ในที่นี้คือ กลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุประมาณ 15 - 28 ปีที่จับกลุ่มกันออกไปซิ่งรถจักรยานยนต์ในเวลากลางคืน มีลักษณะการแต่งกาย ทรงผม รวมถึงความชอบที่คล้ายกัน ซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ เด็กแว้น ไว้ว่า "วัยรุ่นผู้ชายที่ชอบเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์ให้มีเสียงดัง แว้น ๆ 

สาเหตุที่เด็กแว้นส่วนใหญ่มักจะออกมากันในเวลากลางคืน เพราะด้วยความที่ถนนโล่งจึงทำให้มีพื้นที่ในการเร่งความเร็วได้แบบไม่ยั้ง โดยตามต่างจังหวัดนิยมนัดเจอกันบริเวณถนนรอบเมือง ส่วนที่กรุงเทพฯ จะเห็นได้บ่อยตามท้องถนนทั่วไป

จุดเริ่มต้นของการแต่งรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงมีการสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจากที่เจ้าของอู่แต่ละสำนักอยากวัดฝีมือกันว่าอู่ของใครสามารถแต่งรถมอเตอร์ไซค์ให้มีความเร็วมากที่สุด โดยทำการแข่งขันกันบนถนนสาธารณะหรือที่ศัพท์รถซิ่งเรียกว่า "เชงหมู่" จนเป็นที่มาของการแต่งรถจักรยานยนต์ให้มีน้ำหนักเบาที่สุด ถึงแม้จะต้องเปลี่ยนอะไหล่บางชิ้นที่ส่งผลต่อความปลอดภัยขณะขับขี่ก็ตาม

พื้นฐานของการแต่งรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงคือการทำอย่างไรก็ได้ให้รถมอเตอร์ไซค์มีน้ำหนักเบาที่สุด  อย่างแรก คือการไล่เบาทั้งคันอย่าง การเจาะอาร์ม  เจาะบังโคลน หรือชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้รถมีน้ำหนักเบาและลู่ลมมากที่สุด หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ภายในให้กลายเป็นอลูมิเนียมทั้งหมดก็มีมาแล้ว

ถัดมาเป็นการโหลดเตี้ยทั้งหน้าและหลังทำให้รถมอเตอร์ไซค์มีส่วนสูงลดลง จากนั้นก็ทำการเปลี่ยนยางให้เป็นแบบหน้าสัมผัสยางน้อย ๆ ทั้งสองล้อ ต่อไปที่ขาดไม่ได้คือ อาร์มย่น หมายถึง การเปลี่ยนสวิงอาร์มให้สั้นลงจากของเดิมเพื่อให้ล้อเข้าไปใกล้เครื่องมากที่สุด ช่วยให้ออกตัวได้เร็ว อีกทั้งเครื่องจะสามารถส่งกำลังมาที่ล้อได้ไวและไม่สูญเสียกำลังขับเคลื่อนเครื่องยนต์ไป

ในส่วนของเครื่องยนต์ สเต็ปเครื่องในสนามแข่งขันตามปกติจะเป็นลูก 53 ชักเดิม อีกทั้งวัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมจัดชุดสีให้ครบชุดไปในโทนเดียวกันทั้งคันเพื่อความสวยงาม นี่ยังไม่รวมถึงของแต่งอื่น ๆ อย่าง ดุมย่อ ท่อย่น และเบาะบางเฉียบ 

แต่ถึงจะเท่อย่างไร รถเชงก็เหมือนรถที่ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากชีวิตของผู้ขับ เพราะรถทรงเชงส่วนมากนำเบรกหลังออก ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่าถ้าต้องการหยุดรถต้องทำอย่างไร ? คำตอบง่าย ๆ คืออาศัยความชำนาญบวกกับดวงแข็งโป๊กทำการเบรกล้อหน้าอย่างเดียวแล้วถอนเกียร์เอา 

 

เฉพาะแค่ Wave 110i ?

ยานพาหนะที่กลุ่มเด็กแว้นใช้ขับขี่พาตัวเองออกไปสู่ถนน ส่วนมากหากไม่ใช่คนที่บ้านมีฐานะร่ำรวยอะไรก็จะนำรถมอเตอร์ไซต์ของผู้ปกครองนั่นแหละมาปรับเปลี่ยนให้ตรงตามสเปคที่เจ้าของต้องการจะให้เป็น ส่วนบ้านไหนที่มีเงินเหลือกินเหลือใช้จะมองไปยังจำพวก บิ๊กไบค์ แทน

ซึ่งแน่นอนว่ารถจักรยานยนต์ที่ได้รับความนิยมจากคนไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Honda Wave ที่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ใช้จ่ายตลาดจนไปถึงส่งลูกหลานเรียนจนจบการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ด้วยหลายปัจจัย อาทิ เรื่องราคา ความคุ้มค่า และสมรรถนะที่ตอบโจทย์ ส่งผลให้มอเตอร์ไซค์รุ่นนี้เข้าไปอยู่ในใจคนไทยมาอย่างยาวนาน 

รถจักรยานยนต์ Honda Wave ถูกจัดอยู่ในประเภทครอบครัว ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นคือ Honda wave 125i และ Honda wave 110i ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้ก็จะมีออปชันให้ลูกค้าตัดสินใจแยกย่อยลงไปอีกทั้งสตาร์ทมือหรือสตาร์ทเท้า 

โดยทั้งสองรุ่นมีสเปคเดิม ๆ จากโรงคล้ายคลึงกัน เครื่องยนต์ทำงานด้วยระบบจ่ายน้ำมันแบบหัวฉีด PGM-FI 4 จังหวะ SOHC ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ ระบายความร้อนด้วยอากาศ แต่แตกต่างกันตรงขนาดตัวถังและรูปลักษณ์ภายนอกเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงระบบภายในเรื่องความเร็วเล็กน้อย

ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แค่รถมอเตอร์ไซค์ Honda Wave รุ่นเดียวที่ได้รับความนิยมนำมาแต่งทรงเชง เพราะรถมอเตอร์ไซค์ประเภทครอบครัวจากแบรนด์ Honda รุ่นอื่น ๆ อย่าง Honda Super Cub ก็ถูกนำมาโมดิฟายให้เป็นทรงเชงเพื่อแข่งขันเช่นเดียวกัน 

การแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบไปด้วย ประเภทที่ 1 ทรงเชงธรรมดา ที่จะจำกัดการแต่งเครื่องยนต์ ซึ่งในสนามแข่งมาตรฐานจะเป็นลูก 53 ชักเดิม ประเภทที่ 2 ตรอ. หรือแต่งให้สามารถนำไปตรวจสภาพกับเอกชนแล้วผ่าน และประเภทสุดท้ายคือ Open ไม่จำกัดการแต่งใด ๆ เลยแม้แต่อย่างเดียว โดยส่วนใหญ่การแข่งทั้ง 3 ประเภทจะมีการกำหนดน้ำหนักผู้ขับขี่ให้ไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม เพื่อป้องกันไม่ให้รถปลิวอีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่เด็กแว้นเลือกที่จะนำรถรุ่นเหล่านี้มาแต่งทรงเชง หลัก ๆ คืออะไหล่แต่งมีราคาถูกและปรับแต่งเครื่องยนต์เพียงเล็กน้อยก็สามารถลงแข่งขันในสนามได้ อีกปัจจัยสำคัญคือสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อรสนิยมของคนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างไรก็ตามคนไทยไม่ควรดูถูกความชอบของคนอื่น เว้นเสียแต่ความชอบของเขามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ส่วนรวม

 

ไม่ใช่แค่ในบ้านเรา!

ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียวที่มีเด็กแว้นดำรงอยู่ในสังคม ทั่วโลกเองก็มีคนกลุ่มแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะจะเปลี่ยนไปตามสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ โดยพวกเขาจะถูกเรียกเหมารวมว่าเป็นพวก "Underground"

อย่างเด็กแว้นประเทศมาเลเซียจะมีการแข่งขันกันรถกันบนทางด่วนกันเลยทีเดียว เพราะกฎหมายของประเทศเขาอนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางพิเศษได้ ซึ่งมีระยะทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนที่ประเทศเวียดนามเด็กแว้นของเขาจะประลองความเร็วกันที่ถนนเส้นเรียบชายหาดยาวประมาณ 2 กิโลเมตร สาเหตุเนื่องจากสภาพการจราจรบนถนนปกติของประเทศเวียดนามค่อนข้างหนาแน่น 

ส่วนในบ้านเราระยะทางการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงจะสั้นกว่าหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นระยะตั้งแต่ 500 เมตร -1,000 เมตร โดยในปัจจุบันมีสนามแข่งขันรถทรงเชงที่ถูกกฎหมายเปิดให้วัยรุ่นสายซิ่งเข้ามาแข่งขันกันอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ และอีกหนึ่งสนามอยู่ทางโซนภาคใต้ ที่ถึงจะมีระยะทางที่สั้นกว่าแต่ในอดีตเคยจัดการแข่งขันทรงเชงชิงเงินรางวัลกว่าหนึ่งล้านบาทมาแล้ว

สามารถรับชมการแข่งขัน เชงรถ ชิงเงินรางวัลหนึ่งล้านบาท สนามสุราษฎร์ธานี ได้ที่: 

ที่ผ่านมามีการแข่งขันยานยนต์หลากหลายประเภทที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ให้เป็นการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต อีกทั้งยังผิดกฎหมายหากนำรถมาวิ่งบนถนนหลวง แต่ในอีกมุมหนึ่งการแข่งขันรถแบบนี้กลับได้รับความนิยมจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการจัดการแข่งขันชิงเงินรางวัลสูงถึง 10 ล้านบาทกับประเทศอินโดนีเซีย ปรากฎว่าเป็นนักบิดไทยที่สามารถคว้าชัยมาได้

สามารถรับชมการแข่งขัน เชงรถ ชิงเงินรางวัล 10 ล้านบาท กับประเทศอินโดนีเซีย ได้ที่: 

นอกจากนี้อะไหล่ต่าง ๆ บางชิ้นที่หายากไม่สามารถซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดก็นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางหาเงินเข้าประเทศได้เช่นกัน เนื่องจากบรรดาเด็กแว้นแถบประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีความชื่นชอบรถทรงเชงต่างก็ต้องการอะไหล่จากประเทศไทยโดยให้เหตุผลว่าคุณภาพดี 

 

ทิศทางต่อไปของ "ทรงเชง"

เชื่อว่าการแข่งขันประลองความเร็วที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและกฎหมายไทยยังสามารถพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้ โดยจะต้องมีการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับให้ชัดเจน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลความเรียบร้อย รวมถึงไม่ให้ไปก่อความรำคาญบนถนนหลวงอย่างเด็ดขาด

เอ็กซ์ หรือ ชื่อในวงการว่า X Filp ผู้คร่ำวอดในวงการจูนเครื่องยนต์รถมอเตอร์ไซค์ ได้ให้คำแนะนำถึงบรรดานักบิดทรงเชงทั้งหลายที่ยังเชงรถบนนถนนหลวงไว้ว่า 

"ตอนนี้มีสนามแข่งขันสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงและสายซิ่งอื่น ๆ อยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถูกกฎหมาย จะดีกว่าไหมหากเราเอารถมาแข่งขันในสนาม หากชนะก็จะมีชื่อเสียงแถมยังได้เงินรางวัลด้วย แต่อีกมุมหนึ่งผมก็เข้าใจวัยรุ่นสายซิ่งนะ ในเมื่อปัจจุบันยังไม่มีสนามให้พวกเขาปล่อยของมากนัก"

นอกจากนี้เขายังฝากข้อความถึงวัยรุ่นว่าอย่าทำตัวให้เป็นภาระของสังคม และเตือนอีกว่าการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

"ไม่สนับสนุนให้น้อง ๆ เยาวชนเอารถทรงเชงไปวิ่งบนถนนร่วมกับรถคันอื่น ส่วนตัวผมทำอาชีพจูนเนอร์สอนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศปรับแต่งเครื่องยนต์ แต่กลับกลายเป็นว่าอีก 2-3 เดือนหลังจากผมสอนเขาเสร็จ บางคนพิการ บางคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ผมรู้สึกเหมือนสิ่งที่ผมสอนถูกเอาไปใช้ผิดประเภท"

อย่างไรก็ตามรถมอเตอร์ไซค์ทรงเชงไม่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไปสักนิดเดียว เนื่องจากการปรับแต่งที่ไม่สนปัจจัยอื่นเลยนอกจากความเบาและความเร็ว แถมหากขับไปตามท้องถนนทั่วไปอาจเป็นต้นตอของอุบัติเหตุได้ ฉะนั้นแล้วไม่แนะนำให้นำรถมอเตอร์ไซค์ของท่านไปปรับแต่งจนผิดกฎหมาย เพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้ถนนหนทางร่วมกัน

 

ที่มา: 

http://elibrary.constitutionalcourt.or.th/document/read.php?bibid=11819&cat=4&typ=4&file=IS6D_610626.pdf
https://thethaiger.com/th/news/802558/

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ