ฟุตบอลโลก 2018 นอกจากจะได้เห็น ฝรั่งเศส ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่สอง กับการนำเทคโนโลยี VAR มาช่วยในการตัดสินแล้ว ยังมีอีกเรื่องราวสุดช็อกที่เกิดขึ้นในการแข่งขันที่ประเทศรัสเซีย นั่นคือการร่วงตกรอบแรกของ เยอรมนี ด้วยการแพ้ 2 ชนะ 1 และจบรอบแบ่งกลุ่มในอันดับสุดท้าย
คงไม่มีใครเชื่อว่าทีมอันดับ 1 ของโลกในตอนนั้นจะต้องตีตั๋วกลับประเทศตั้งแต่ต้นทัวร์นาเมนต์ แต่สามปีหลังจากการพลิกล็อกตกรอบฟุตบอลโลก 2018 เยอรมนีเป็นชาติแรกของยุโรปที่ผ่านเข้าไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ณ ประเทศ กาตาร์ ได้สำเร็จ
เมื่อบทเรียนครั้งล่าสุดยังคงชัดเจนในความทรงจำ ทัพอินทรีเหล็กจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก ซึ่งรวมถึงการนำวิทยาศาสตร์แห่งการนอนมาประยุกต์เพื่อช่วยให้นักเตะของพวกเขามีความพร้อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การนอนนั้นสำคัญไฉน และทีมชาติเยอรมนีนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยอย่างไรบ้าง ไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand ได้ในบทความนี้
นอนให้หลับ นอนให้ดี
หลังจากเถลิงแชมป์โลกสมัยที่สี่ไปในปี 2014 ขุนพลอินทรีเหล็กต้องเผชิญกับอาถรรพ์แชมป์เก่าในฟุตบอลโลกปี 2018 ที่พวกเขาพลาดท่าตกรอบแบ่งกลุ่มหลังปราชัยให้กับ เกาหลีใต้ ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ เป็นผลลัพธ์ที่แย่สุดในรอบ 80 ปี และเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2002 ที่เยอรมันไปไม่ถึงรอบรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อย
และแม้จะผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาในฐานะแชมป์กลุ่ม แต่ทุกชาติที่เข้ารอบมาเป็น 32 ทีมสุดท้ายต่างมีดีพอที่จะเฉือนกันด้วยผลงานในสนามได้ ทำให้ สมาคมฟุตบอลเยอรมัน ได้ช่วยหาวิธีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงเล่นให้กับลูกทีมของ ฮันซี ฟลิก ในการแข่งขันที่กาตาร์ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการพักผ่อนที่ดี และทีมชาติเยอรมันก็ได้นำนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและอุปกรณ์สำหรับติดตามชั่วโมงการนอนหลับเข้ามาช่วยเสริมในการเตรียมทีมลงแข่งฟุตบอลโลก 2022 ด้วยเช่นกัน
แอนนา เวสต์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในด้านการฟื้นฟูร่างกายและการนอนหลับ ผู้เคยร่วมงานกับสโมสรเบรนท์ฟอร์ด และ มิดทิลแลนด์ ได้ถูกดึงตัวมาช่วยพัฒนาการนอนหลับให้กับลูกทีมของ ฮันซี่ ฟลิก ด้วยการปรับเปลี่ยนแผนตั้งแต่เรื่องการเดินทางกลับจากแมตช์ไปเยือน ว่าควรให้นักเตะบินกลับทันทีหรือนอนค้างอีกหนึ่งคืนในโรงแรมที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดผลดีต่อวงจรการนอนหลับของพวกเขามากที่สุด
เวสต์ ระบุว่า “ร่างกายมนุษย์จะฟื้นตัวได้ดีที่สุดหากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอและมีตารางที่แน่นอน” ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรทัดฐานที่เธอนำเข้ามาปรับตารางกิจกรรมให้กับขุนพลอินทรีเหล็ก รวมไปถึงการเพิ่มเวลางีบหลับให้นักเตะ หลังจากต้องบินไฟลท์ที่ใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งรวมถึงการเดินทางจากเยอรมนีสู่ประเทศกาตาร์ด้วยเช่นกัน
สมาคมฟุตบอลของเยอรมนี หรือ เดเอฟเบ ได้ปรับปรุงห้องพักของนักเตะที่สนามซ้อมทีมชาติใหม่หมด โดยใช้หลักการออกแบบที่เรียบง่ายและไร้ซึ่งสิ่งรบกวนสมาธิของนักเตะ เพื่อให้สอดคล้องกับการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพหลังสิ้นสุดการซ้อมตลอดวันลง
โทมัส มุลเลอร์ ถึงกับออกมายอมรับว่า “ห้องพัก (ที่สนามซ้อมทีมชาติ) ของเรานั้นเงียบมาก และมีความเรียบง่ายอย่างยิ่ง”
แต่นอกจากการนำผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูเรื่องการนอนหลับแล้ว ทีมชาติเยอรมนียังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจดูการนอนหลับ อุปกรณ์นี้มีชื่อว่า Oura Ring ซึ่งถูกแจกจ่ายให้กับนักเตะทีมชาติทุกคนตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา
นวัตกรรมตรวจจับการนอนหลับ
เรากำลังอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการช่วยตรวจเช็คสุขภาพของเรา ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาอัฉริยะที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดช่วงเวลาการนอน หรือช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกของร่างกายได้อย่างแม่นยำขึ้น และนั่นรวมถึงแหวน Oura Ring ด้วยเช่นกัน
อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถช่วยวัดการนอนหลับของผู้ใช้งานได้ นั่นคือวัดเวลาในการนอนหลับตลอดคืนและเช็คประสิทธิภาพของการนอนว่ามีมากน้อยเพียงใดโดยอิงจากอัตราการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวระหว่างคืน อัตราการหายใจ ไปจนถึงค่าออกซิเจนในเลือด ที่สามารถวัดได้จากการสวมแหวนดังกล่าวที่นิ้วมือ
คาดว่าข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์ Oura Ring หรือนาฬิกาอัฉริยะแบรนด์อื่นอย่าง Apple, Samsung และ Garmin จะถูกนำมาวิเคราะห์โดยทีมงานของฟลิก และอาจรวมถึงเวสต์เพื่อปรับปรุงรูปแบบการนอนหลับของนักเตะแต่ละรายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ไม่มีการเปิดเผยว่ากระบวนการทำงานของเวสต์และทีมของเธอกับนักเตะทีมชาติเยอรมันเป็นอย่างไร แต่หากอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ที่เธอเคยกล่าวถึงเมื่อครั้งได้ไปร่วมงานกับสโมสรเบรนท์ฟอร์ดจะพบว่า เวสต์ได้แบ่งนักเตะออกเป็น 3 กลุ่ม เริ่มจาก กลุ่มสีเขียว ที่แปลว่าไม่มีปัญหาในการนอนหลับ สีเหลือง ที่อาจประสบปัญหาระหว่างเข้านอนบ้าง กับกลุ่มสีแดง ที่มีจิตใจว่อกแว่กและไม่สามารถนอนหลับได้ดี หรืออาจพักผ่อนได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
แต่เมื่อนักฟุตบอลเหล่านี้ต่างเป็นนักกีฬาอาชีพที่ได้รับการดูแลมาเป็นอย่างดีจากบุคลากรจำนวนมากอยู่แล้ว ทำไมการนำศาสตร์แห่งการนอนมาใช้งานอย่างจริงจังถึงยังจำเป็นกับทีมชาติเยอรมนีอยู่ ?
เก่งแค่ไหนก็ต้องนอน
สถิติโลกของมนุษย์ที่อดนอนได้นานที่สุดคือ 11 วัน 25 นาที โดน แรนดี การ์ดเนอร์ ทำไว้ในปี 1963 แต่นั่นคือการทดลองที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยติดตามดูสุขภาพของเขาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
ซึ่งการนอนหลับเป็นกระบวนการโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ช่วยให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้พักผ่อน สร้างผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น มีงานวิจัยที่ศึกษาการอดนอนกับนักบาสเกตบอลพบว่า การนอนหลับที่เพียงพอเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานกันของมือและตา การตอบสนองของกล้ามเนื้อ และการฟื้นฟูจากอาการอ่อนล้าที่ต่างมีผลต่อการลงแข่งขันจริงได้
โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีรอบการนอนอยู่ทุก ๆ 90 นาที ประกอบด้วยการนอนแบบ Non-REM 80 นาที และช่วง REM 10 นาที
การนอนแบบ Non-REM หรือ การนอนหลับแบบธรรมดา แบ่งออกเป็นสามระยะ คือช่วงเริ่มง่วง ช่วงเคลิ้มหลับ และช่วงหลับลึก ซึ่งในช่วงหลับลึกจะเป็นเวลาที่ร่างกายพักผ่อนและฟื้นฟูได้มากที่สุด ซึ่งมันจะช่วยให้นักฟุตบอล (และทุกคน) สามารถฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า พร้อมกับลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้
ส่วนการนอนหลับแบบ REM หรือ การนอนหลับฝัน คือระยะที่ดวงตาของเรามีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว สมองจะทำงานเหมือนกับช่วงที่ตื่นนอน ทำให้มีโอกาสเกิดการฝันได้มากที่สุดในระยะนี้ แต่ก็มีข้อดีต่อการพัฒนาด้านการเรียนรู้ ความทรงจำ และจินตนาการของนักเตะ
เวสต์ เปิดเผยว่า “ถ้านักฟุตบอลนอนหลับได้ไม่เต็มที่เขาจะต้องเรียนรู้หนักกว่าปกติ เพื่อให้จดจำทักษะหรือแทคติกนั้นได้”
“เมื่อเราทำให้นักเตะเข้าใจได้ว่าทำไมเขาต้องให้ความสำคัญกับการนอนหลับและการฟื้นฟูร่างกายมากเท่ากับการโฟกัสในช่วงฝึกซ้อมแล้ว คุณจะเห็นพัฒนาการในแง่ประสิทธิภาพของพวกเขาได้เลย”
แต่กระนั้นเวสต์ก็ยังระบุว่าปัญหาหลัก ๆ ที่มีผลต่อการนอนหลับของนักฟุตบอลนั้น 90% มาจากเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาทางจิตใจ “เราสามารถกดเก็บเรื่องไม่ดีเอาไว้ได้ในช่วงกลางวัน แต่เมื่อตอนนอนหลับลงแล้วเรื่องราวต่าง ๆ มันจะผุดขึ้นมาทันที”
“คุณสามารถสร้างระบบฟื้นฟูร่างกายที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลกก็ได้ แต่ถ้าจิตใจของเขายังคงมีปัญหา ยังไงนักเตะเหล่านี้ก็ไม่อาจนอนหลับได้” ซึ่งเวสต์ยังพบว่านักฟุตบอลส่วนมากนอนหลับได้ดีกว่าเมื่อไม่ได้อยู่ที่บ้าน “อาจเพราะพวกเขาต้องเลี้ยงดูลูกวัยเด็ก หรือมีเรื่องราวที่ฝังใจเกิดขึ้นที่บ้านของเขา ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเตะเหล่านี้ และเก็บทุกประเด็นมาพิจารณาถึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับงานของฉัน”
ต้องมารอติดตามดูกันว่า การนำวิทยาศาสตร์แห่งการนอนเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับนักฟุตบอลของ เยอรมนีจะนำพาพวกเขาไปได้ไกลแค่ไหนในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จะเริ่มแข่งขันกันวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้
แหล่งอ้างอิง:
https://m.bild.de/sport/fussball/nationalmannschaft/nationalmannschaft-schlaf-forscherin-hilft-dfb-elf-80364132.bildMobile.html?t_ref=https%3A%2F%2Fwww.google.com%2F
https://ouraring.com/oura-experience
https://trainingground.guru/articles/how-brentford-became-sleep-specialists
https://www.sleep2perform.com/about
https://www.sclhealth.org/blog/2018/09/the-benefits-of-getting-a-full-night-sleep/
https://academic.oup.com/sleep/article/34/7/943/2596050?login=false