รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ ก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดสินกีฬามวยสากลสมัครเล่นหมายเลข 1 ของเมืองไทยเช่นกัน
จากผลงานการตัดสินกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปี 2000 ที่ซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ในการทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินกรรมการ หรือผู้ที่พิจารณาคัดเลือกผู้ตัดสินไปทำหน้าที่ในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น
เส้นทางการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติในตำแหน่งคีย์แมนคนสำคัญวงการกีฬาโลกของ รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ หรือ อ.เค้ก ยังมีให้กล่าวถึงนานัปการ คู่ควรอย่างยิ่งกับเกียรติยศ “รางวัลเชิดชูเกียรติ วันมวยไทยแห่งชาติ ประจำปี 2563” ในสาขา ปูชนียบุคคลกีฬามวยดีเด่น
รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ เกิดเมื่อ 10 กันยายน 2500 ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา
เป็นคนสนใจกีฬามาตั้งแต่เด็ก รวมถึงการหัดมวยเพื่อขึ้นชกหารายได้ส่งตัวเองเรียนหนังสือ แต่เนื่องจากทางบ้านไม่สนับสนุน
จึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนสายพลศึกษา จนจบปริญญาตรี สาขาพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา สนามกีฬาแห่งชาติ, ปริญญาโท สาขาพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และปริญญาเอก สาขาการบริหารพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ระหว่างเรียน เคยชกมวยให้สถาบัน รวมทั้งเล่นกีฬาอีกหลายชนิดจนเรียนจบ และสอบบรรจุเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาพลศึกษา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนเกษียณอายุราชการในปี 2560 ระหว่างนั้นได้รับการชักชวนจาก อ.สมพงษ์ สุขา ประธานผู้ตัดสินสนามมวยช่อง 7 สี มานั่งเป็นกรรมการสังเกตการณ์
เมื่อเห็นว่าการเป็นผู้ตัดสินมวยไทยอาชีพไม่ใช่ทางของตน จึงยุติบทบาทกรรมการมวยอาชีพ แล้วหันมาทำหน้าที่ผู้ตัดสินกีฬามวยสมัครเล่นเพียงอย่างเดียว
ด้วยความรู้และความชอบในกีฬามวย รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ ได้รับการแต่งตั้งจากภาครัฐเป็นอนุกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา อนุกรรมการกีฬามวย ตาม พรบ.มวย ปี พ.ศ.2563 ขณะที่ผลงานที่เป็นเกียรติประวัติในระดับนานาชาติ
ทั้งการทำหน้าที่ผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินมวยสากล ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซิดนี่ย์ ปี 2000 ณ ประเทศออสเตรเลีย และได้รับพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินมวยสากลดีเด่น ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซิดนี่ย์ ปี 2000 ในครั้งนั้นด้วย
รวมถึงได้รับเลือกจาก IOC คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ แต่งตั้งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้สังเกตการณ์/ผู้ประเมิน/ผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสิน RJ มวยสากลในการแข่งขันกีฬา Olympic Tokyo 2020 อีกด้วย
“อาจารย์ไพบูลย์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดสินมวยสากลสมัครเล่นระดับโลกของไทย แต่คนไทยไม่ค่อยทราบเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่จะสนใจแต่ผลงานของนักกีฬาจนลืมไปว่ากรรมการไทยในเวทีระดับโลก ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติ”
“ในเรื่องการตัดสินที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างมาก อย่างมวยสากลอาชีพ สาย WBC มี อ.เอนก หงษ์ทองคำ เป็นกรรมการให้คะแนนระดับท็อปไฟว์ของโลก ส่วน WBA อ.พินิจ ประหยัดทรัพย์ เป็นผู้ชี้ขาดบนเวทีหมายเลข 1 ของเอเชีย และสายสมัครเล่น อ.ไพบูลย์ เป็นผู้ตัดสินระดับโลกครับ” ผศ.ลือชา สุบรรณพงษ์ อดีตผู้ควบคุมการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (IBA) กล่าวถึง รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์
รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ เป็นบุคลากรทางการกีฬา และพลศึกษา คนเดียวของประเทศไทย ที่ทำหน้าที่ ในสหพันธ์กีฬานานาชาติ 2 สหพันธ์ (IFs) คือ
1.สหพันธ์กรีฑานานาชาติ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น สหพันธ์กรีฑาโลก (World Athletics) ทำหน้าที่ วิทยากร ให้การอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ตัดสินกรีฑาของสหพันธ์กรีฑาโลก และเจ้าหน้าที่เทคนิคนานาชาติ ITO (ผู้ตัดสินกรีฑานานาชาติ)
2.สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (AIBA) ปัจจุบันเปลี่ยนคำย่อเป็น IBA ทำหน้าที่ ผู้สอน/ผู้สอบ/ผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินมวยสากลของ IBA รวมทั้งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคนานาชาติ ITO ของ IBA และเป็นผู้สังเกตการณ์/ผู้ประเมิน/ผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินมวยสากลของ IBA
“ผมต้องขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย และการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มอบรางวัลเกียรติยศบุคคลในวงการมวยให้กับผม ทุกรางวัลที่มอบให้กับผมและบุคคลวงการมวยท่านอื่นๆ จะเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อพัฒนาวงการมวยต่อไป ไม่ว่าจะเป็นมวยอาชีพหรือมวยสมัครเล่น ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ส่งเสริมกีฬามวยให้เป็นที่นิยมในวงกว้าง และพัฒนาศักยภาพนักมวยไทยจนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องครับ”
“ผมพูดในฐานะที่ทำงานในแวดวงมวยสมัครเล่น ต้องยอมรับว่า ความนิยมในกีฬามวยสมัครเล่นกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะการตัดสินที่มีปัญหา แม้ว่าสหพันธ์มวยสากลนานาชาติจะพยายามแก้ไขในทุกด้าน แต่ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้”
“ตอนนี้คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ เข้ามากำกับดูแลเอง และได้เชิญผมเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงาน แม้ว่าผมจะเลิกตัดสินมวยมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อไอโอซีต้องการความช่วยเหลือ ผมในฐานะคนในแวดวงมวยสมัครเล่น จึงต้องกลับมาช่วยแก้วิกฤตเหล่านี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การตัดสินบริสุทธิ์ยุติธรรมมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด”