Feature

ยาม้ายังอาย : ว่าด้วยการเล่นแบบ "วิ่งสู้ฟัด" ของทีมชาติเกาหลีใต้ | Main Stand

ชัยชนะเหนือ โปรตุเกส 2-1 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 กลุ่ม H แมตช์สุดท้าย ส่งให้พลพรรคโสมขาว ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ทั้งยังเป็นการ "ล้มยักษ์" คือ เยอรมนี และ โปรตุเกส ในฟุตบอลโลกสองครั้งติดต่อกันเลยทีเดียว 

 


แม้หลายทรรศนะต่างมีการให้เหตุผลว่าเกาหลีใต้ชนะเพราะพวกมีดวงมาเยอะ หรือบางรายอาจจะให้เหตุผลว่าโปรตุเกสพักนักเตะ ส่งตัวสำรองลงเล่น และไม่ได้จริงจัง เพราะเข้ารอบไปแล้วก็ตาม

หากแต่จริง ๆ เมื่อลงลึกไปถึงวิธีการเล่นของเกาหลีใต้นั้นจะพบว่ามีวิถีหรือแนวทางบางอย่างที่เกาหลีใต้กระทำมาอย่างช้านาน ทั้งวิธีการเล่นแบบรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รู้เหลี่ยมรู้ใจกันเป็นอย่างดี ช่วยกันรับช่วยกันทำเกมบุก หรือที่เด็ดที่สุดคือการเพรสซิ่งวิ่งไล่บีบคู่แข่ง แบบไม่สนดีกรี ไม่สนสรีระ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนอาจคิดว่านักเตะเกาหลีใต้ "ดูดยาม้า" มาก่อนทำการแข่งขัน 

สิ่งดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร ? มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

 

หาคู่แค้นเป็นแรงผลักดัน

ในการแข่งขันใด ๆ ก็ตาม หากเรามี "คู่แข่ง" ที่ต้องการเอาชนะให้ได้ แรงผลักดันในการแข่งขันย่อมมีมากตาม กระนั้นหากสิ่งที่เราแข่งด้วยได้รับการยกสถานะเป็น "คู่แค้น" ย่อมไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะแต่เพียงประการเดียว หากแต่จะเป็นเรื่องของการทำทุกวิถีทางให้คู่แค้นอับอายขายขี้หน้าที่สุด เหยียบให้จมดินโงหัวไม่ขึ้น หรืออาจจะไม่ให้ได้ผุดได้เกิด 

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจหากวลี "แพ้ใครแพ้ได้ แต่ห้ามแพ้ญี่ปุ่น" มักจะได้รับการผลิตซ้ำจากรัฐบาลรวมถึงคนเฒ่าคนแก่ของเกาหลีใต้อยู่บ่อยครั้ง นั่นเพราะดินแดนบนคาบสมุทรเกาหลีแห่งนี้เคยได้รับความระทมทุกข์จากญี่ปุ่นมาช้านาน ตั้งแต่สมัยสงครามอิมจิน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ไปจนถึงการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

จะเห็นได้ว่าในทุกมิติของทุกวงการเกาหลีใต้จะแข่งขันอย่างบ้าดีเดือดกับญี่ปุ่นเสมอ ทั้งการพัฒนาประเทศ พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกระทั่งพัฒนาประชาชน แน่นอนว่าสำหรับวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ก็ใช้สิ่งนี้ในการเป็นเครื่องยนต์ในการพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย 

แม้ฟุตบอลจะเป็นเรื่องของการกีฬา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสนามคือสงครามย่อม ๆ แบบหนึ่งที่ไม่มีใครอยากพ่ายแพ้คู่แค้นตลอดกาล นอกจากจะอับอายขายขี้หน้าแล้ว สิ่งนี้ยังหมายถึงการเสีย "อธิปไตย" และเสีย "ความเชื่อมั่น" จากประชาชนในประเทศเลยทีเดียว

ดังนั้นญี่ปุ่นวิ่งได้เท่าไร เกาหลีใต้จะต้องวิ่งให้ไม่น้อยหน้า ญี่ปุ่นชนะสกอร์เท่าไร เกาหลีใต้จะต้องชนะให้ได้มากกว่านั้น หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นเล่นได้เทพขนาดไหน เกาหลีใต้ต้องเทพให้ได้มากกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแรงผลักดันในการไปฟุตบอลโลกในอดีตราวช่วงสงครามเย็น เพราะตอนนั้นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงดุลแห่งอำนาจ เกาหลีใต้ไม่อาจสู้ญี่ปุ่นได้เลย ดังนั้นการเกาหลีใต้จะที่มุ่งเอาชนะด้วยกีฬาจึงเปรียบเสมือน "ที่พึ่งสุดท้าย" ที่อาจยัดเยียดความปราชัยให้ญี่ปุ่นได้

เพราะเหตุนี้พลพรรคโสมขาวจึงวิ่งเหมือนดูดยาม้าทุกครั้งที่ลงสนามมาตั้งแต่อดีตแล้วนั่นเอง พวกเขาใช้แรงเข้าสู้ อาศัยพละกำลังที่เหนือกว่า ฟิตกว่า ถูลู่ถูกังไป ประเดี๋ยวประตูก็จะตามมาภายหลัง

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น การไปฟุตบอลโลก 1954 รวมถึงไปฟุตบอลโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1986 ถือเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำส่วนมากยังได้ไปฟุตบอลโลกจากการชนะญี่ปุ่นในรอบคัดเลือกโซนเอเชียอีกด้วย

แม้กระทั่งในระดับปัจเจก ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังตั้งไข่ลีกอาชีพของตนเอง พวกเขาก็มีพ่อค้าแข้งสัญชาติเกาหลีใต้นี่แหละที่ได้มาเล่นมาโชว์คลาสให้นักเตะญี่ปุ่นระดับกึ่งอาชีพได้ดูเป็นบุญตา ถึง ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ จะเป็นแข้งคนแรกจากแดนซามูไรที่ได้ไปค้าแข้งยังทวีปยุโรปก่อนในปี 1977 แต่ ชา บอม กึน แข้งโสมขาวที่ตามหลังในอีก 1 ปีต่อมาก็ทำผลงานได้เป็นที่จดจำมากกว่า

แต่การมีแรงผลักดันด้วยสิ่งนี้ใช่ว่าจะสัมฤทธิ์ผลไปเสียหมด หากแต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญไปกว่านั้นอีกหลายเท่า

 

พัฒนาเศรษฐกิจ ฟุตบอลพัฒนา

แน่นอนว่าคู่แค้นตลอดกาลจะช่วยให้การแข่งขันทางด้านฟุตบอลคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์ หากแต่แค้นอย่างเดียวย่อมทำอะไรไม่มากนอกจากเรื่องของอารมณ์ 

ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางฟุตบอลในเกาหลีใต้จึงเล็งเห็นว่า "การครองความเหนือ" (Superiority) นั้นสำคัญที่สุดในการพาฟุตบอลเกาหลีใต้พุ่งทะยานฟ้า โดยเฉพาะการครองความเหนือในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโมเดลยอดนิยม ณ ขณะนั้น

ในช่วงยุค 1970s ได้มีทรรศนะลงใน Monthly Football จากโค้ชฟุตบอลระดับมัธยมท่านหนึ่งกล่าไว้ว่า 

"ไอ้พวกยุ่นร่างกายดีกว่าเด็กของเราเยอะ เพราะอะไรนะเหรอ ก็เพราะเศรษฐกิจพวกเขาดีกว่าเราเยอะไง พวกเขาเหนือกว่าเราทุกอย่าง ดูเด็ก ๆ ของเราสิตัวแคระแกร็นทั้งนั้น ก็จนไงเลยขาดความแข็งแรงทางกายไป คงจะดีกว่านี้หากไอ้พวกคนชนชั้นสูงอยากให้ลูกหลานมาเป็นนักฟุตบอลบ้าง เกาหลีใต้คงจะชนะญี่ปุ่นได้ไม่ยาก"

ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การที่นักเตะจะพัฒนาได้อย่างทรงประสิทธิภาพ เศรษฐกิจในประเทศต้องอยู่ในระดับที่ดีมาก ๆ หรือกล่าวในทางกลับกันคือ การพัฒนานักฟุตบอลกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นความสัมพันธ์ที่ "ไม่มีทางแยกขาดจากกัน" 

และอีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากโควตดังกล่าว นั่นคือเรื่องของการเรียกร้องให้ "ชนชั้นสูง" ส่งลูกหลานมาเป็นนักฟุตบอล นั่นหมายความว่าพวกเยาวชนมีอันจะกินเหล่านี้มีระดับโภชนาการดีกว่าเยาวชนทั่วไปอย่างมาก

ประเทศมั่งคั่งก็จะนำมาซึ่งการจัดทำงบประมาณสำหรับนโยบายต่าง ๆ อย่างไม่มีอุปสรรค โดยเฉพาะ การที่เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักที่เป็นสี่เสือแห่งเอเชีย รวมถึงกลายเป็นมหาอำนาจกลางได้ภายใต้ร่มเงาของประธานาธิบดีสายอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมที่พยายามจะวัดรอยเท้าญี่ปุ่นมาโดยตลอด

เพราะผู้นำสไตล์แบบนี้มักเป็นพวกหน้าบาง เสียอะไรเสียได้แต่เสียหน้ายอมไม่ได้ ดังนั้นการทุ่มเม็ดเงินลงไปในนโยบายทางการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลที่ได้หน้าได้ตาในโลกร่วมสมัยมากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยความที่กลัวแพ้เสียยิ่งกว่าอะไรดีนี้เองจึงเกิดนโยบายการ "เพิ่มโภชนาการ" ไปสู่เยาวชนหรือนักกีฬามากขึ้น โดยจะเน้นอาหารพวกโปรตีน ผัก ผลไม้ และนม เพื่อให้กายพร้อมใจพร้อม และเชื่อว่าพวกเราทำได้แน่นอน อัตราการเจริญเติบโต มวลกล้ามเนื้อ ส่วนสูง รวมถึงพลังกาย จึงเพิ่มขึ้นพรวดพราดในประเทศเกาหลีใต้ 

จากที่แต่เดิมการจะมีโภชนาการเช่นนี้ได้มักจะเกิดกับพวกมีอันจะกินเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนมากมักจะลงเอยที่อาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม เช่น แพทย์ ทนาย อัยการ นักการเมือง หรือเทคธุรกิจครอบครัว แน่นอนว่ามันไม่ได้สร้างข้อได้เปรียบในวงการฟุตบอลใด ๆ แต่กลับกลายเป็นลงสู่เบื้องล่างให้ได้มีโอกาสเพิ่มสมรรรถภาพทางร่ายกายมากขึ้น

แน่นอนว่าการประกอบอาชีพนักฟุตบอลก็มีแต่ลูกหลานคนจน ๆ ทั้งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นกับคนในระดับรากหญ้า ชนชั้นกลาง ไปจนถึงชนชั้นล่าง คนเหล่านี้ก็เหมือน "ติดหนี้บุญคุณ" รัฐบาลแบบใช้ชาตินี้ก็ไม่หมด แม้จะเป็นคนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีพยุงงบดุลของรัฐอยู่ตลอดก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารที่นี้รัฐประหารมาที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก ส่วนมากมักจะแสดงผลออกมาในลักษณะเช่นนี้เป็นปกติเหมือนกันทั่วโลก

ขั้นต่อมา การที่รัฐไปบังคับนักเตะว่ารัฐทำให้ขนาดนี้คุณต้องทำทุกวิถีทางเพื่อได้รับชัยชนะมา และแน่นอนสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการที่คุณต้องวิ่งสู้ฟัด วิ่งลืมตายในสนาม ให้สมกับที่ได้รับโปรตีนและนมเข้าร่างกายจากนโยบายรัฐ และมันทำได้อย่างง่ายดายและได้ผลชะงัดยิ่ง

กระนั้นการมีความพร้อมทางด้านร่างกาย และแรงขับเคลื่อนทางด้านจิตใจ ก็ใช่ว่าจะเพียงพอต่อการสะท้อนการเล่นแบบวิ่งสู้ฟัดได้ 

 

แก้ Pain Point ด้วยการ "เพรสซิ่ง"

กายพร้อม ใจพร้อม เป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อขาดยุทธศาสตร์ที่เหมือนเข็มทิศในการมุ่งหน้าไปสู่ที่หมายบางประการ หรือทำให้บรรลุเป้าหมายบางประการไป ก็เป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จได้

ตรงนี้นับเป็นความโชคดีของเกาหลีใต้ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางฟุตบอลในประเทศและการหาวิถีทางที่จะดำเนินไปของทีมให้ได้จุดที่ลงตัว เหมาะสม และเข้ากันกับ "ความเป็นเกาหลี" มากที่สุด มากว่า 40-50 ปีก่อนแล้ว

ซึ่งสิ่งที่เห็นตรงกัน นั่นคือ "Pain Point" ของฟุตบอลเกาหลีใต้นั้นมีอยู่จุดเดียวที่ต้องปรับปรุงแก้ไข นั่นคือเรื่องของ "สรีระแบบเอเชียตะวันออก"

นั่นเพราะสรีระแบบเอเชียตะวันออก หากใช้วิธีการเล่นฟุตบอลแบบเปิดโหม่งก็ไม่อาจจะสู้กับบรรดาทีมจากโลกตะวันตกได้ แต่หากเล่นฟุตบอลแบบใช้ทักษะ หรือต่อบอล ก็ไม่อาจจะสู้ชาติจากละตินอเมริกาได้เช่นกัน

ดังนั้นความลักลั่นจึงเกิดขึ้น เพราะการเล่นแบบ Mainstream ในโลกฟุตบอลขณะนั้น เกาหลีใต้ถือว่าเสียเปรียบอย่างมาก เลือกแบบใดไม่ได้เลย จะเปิดโหม่งหรือใช้ความสามารถเฉพาะตัว ก็เป็นรองไปเสียหมด เตรียมปิดประตูแพ้

ชาติเอเชียในภูมิภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยประสบกับ Pain Point นี้ อย่าง อิหร่าน ที่ถือว่าเผ่าพันธุ์ใกล้เคียงกับยุโรป พวกอาหรับก็สูงใหญ่ หรือแม้แต่เอเชียใต้ก็มีความคล่องตัวสูง มีทักษะ และขนาดตัวก็เล็กกว่าอาหรับไม่มาก 

กระนั้น นับว่าบุคลากรในวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ตอนนั้นมองขาดเป็นอย่างมาก เพราะได้เล็งเห็นว่า หากสรีระและทักษะไม่สามารถต่อกรกับใครหน้าไหนได้ ดังนั้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้อง "ใช้แรงเข้าสู้" 

หากนักเตะของเกาหลีใต้มีแรงมากกว่า ฟิตกว่า ยืนระยะในสนามได้มากกว่าคู่แข่ง อย่างน้อยๆ หากคู่แข่งหมดก่อน ด้วยแรงที่เหลือๆ ย่อมสามารถกดดันใส่ให้เกิดข้อผิดพลาด หรืออาจจะถึงขั้นเพลี่ยงพล้ำได้

ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้คล้ายคลึงกับในภาษาปัจจุบันที่เรียกว่า "เพรสซิ่ง" (Pressing) ที่กำลังเป็นเทรนด์สำหรับการทำทีมฟุตบอล ณ ตอนนี้ แน่นอนว่าเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อนไม่มีทีมฟุตบอลทีมไหนที่จะเล่นแผนนี้ จึงนับว่าเกาหลีใต้ "มาก่อนกาล" เป็นอย่างมาก

ด้วยการวางเพรสซิ่งเป็นยุทธศาสตร์มาโดยตลอดนี้ ก็ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในระดับเอเชียเป็นอย่างมาก ได้เข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายบ่อยครั้ง รวมถึงต่อมาจะมีการปลูกฝัง ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น ดีเอ็นเอ เละเครื่องหมายการค้าของพ่อค้าแข้งสัญชาติเกาหลีใต้เลยทีเดียว พัก จี ซอง ตำนาน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด

แน่นอนว่าการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้เกาหลีใต้สามารถคุมโทนการเล่นของทีมชาติตนได้อย่างมั่นคง สังเกตได้จากไม่ว่าทีมจะใช้บริการโค้ชในประเทศหรือว่าโค้ชต่างประเทศที่มีวิธีการทำทีมด้วยการเล่นแบบใดก็ตามก็จะทำในแบบแตกต่างออกไป อย่างพวกเน้นเกมรับรอสวนกลับ เน้นต่อบอลกับพื้น หรือจอดรถบัสหน้ากรอบประตู ก็ตาม 

แต่บรรดาแข้งพลังโสมก็ยังคีปคาแร็กเตอร์วิ่งสู้ฟัดอยู่วันยังค่ำ แม้แต่ กุส ฮิดดิงก์ ปรมจารย์ด้านการทำทีมเกมรับก็ยังต้องปล่อยเลยตามเลย ซึ่งเป็นผลดีการไปถึงอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลก 2002 ในแผ่นดินมาตุภูมิ (แม้คำครหาจากความสำเร็จดังกล่าวก็มีไม่น้อยเช่นกัน)

ซึ่งการเข้าสู่เพรสซิ่งก่อนถึงยุคก็ทำให้เกาหลีใต้ได้เปรียบชาติอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องมาคอยบอกคอยสอนจ้ำจี้จ้ำไชอะไรมากมาย นักเตะเกาหลีแค่มองตาก็รู้ใจ รู้ว่าต้องเล่นแบบใด เพราะได้เรียนรู้จากแข้งรุ่นก่อน ๆ มาไม่น้อย

และในฟุตบอลโลก 2022 นี้ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สุดก็คือ บรรดานักเตะพลพรรคพลังโสม มีร่างกายที่บึกบึน วงแขนมีกล้ามกล้ามเป็นมัด ๆ และส่วนสูงในระดับ 180 เซนติเมตรและสูงขึ้นในเกือบทุกตำแหน่ง เรียกได้ว่าบางคนมีสรีระร่างกายที่ใหญ่กว่าพวกแอฟริกาหรือยุโรปที่ร่วมสายกันเสียอีก เรียกได้ว่ามีความล่ำบึ้กมากที่สุดหากเทียบกับตัวแทนจากเอเชียเสียด้วยซ้ำ

อีกทั้งทักษะของพวกเขาก็ยังเยี่ยมยอด ทั้งการเล่นเป็นทีมหรือความสามารถเฉพาะตัวก็เรียกได้ว่ามีวินัยในเกมเคร่งครัดและการมีชงเองกินเองก็ไม่น้อยหน้าทีมอื่นที่มักเอาตัวรอดจากบรรดาแข้งชั้นนำ จากทีมร่วมสายได้เสมอ 

หรือที่น่าตกใจที่สุดคือการครองบอลบุกขึงใส่ทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ รวมถึงมีการโจมตีจากด้านข้างครอสให้กองหน้าโหม่งทำประตู รวมถึงที่มีการทำเกมเลียงหลบไปแอสซิสต์อีกด้วยเสียด้วย ซึ่งถือเป็นการแก้ลำ Pain Point ของเกาหลีใต้เมื่อ 50 ปีก่อนได้อย่างอยู่หมัด

ตรงนี้ ก็อาจจะนับได้ว่า เกาหลีใต้นั้น มีความน่ากลัวอย่างสุดขีด สมฉายา "ปีศาจแดงแห่งเอเชีย" ที่บรรดายักษ์ใหญ่ในวงการฟุตบอล จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ Investigation of Institutional Discourse on Change in South Korean Football from 1945 to Pre-2002 FIFA World Cup.
บทความ The Study of Discourse on Change in South Korean Football: Between Tradition and Modernity, from Colonial to Post-Colonial
บทความ The Development of Football in Korea ใน The Development of Football in Korea
https://www.wsj.com/articles/world-cup-round-of-16-usa-france-brazil-netherlands-11670018701?fbclid=IwAR12keRaKZVQz1mLQkqSk-8Tq4LzkhvPtXtfMpghr9FPaGFMNIPYeXo6ezk 
https://theathletic.com/3961683/2022/12/02/south-korea-portugal-result-world-cup/ 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ