News

หลักจิตวิทยา เหตุใด นักกีฬาได้เหรียญทองแดง จึงมีความสุขกว่า นักกีฬาที่ได้เหรียญเงิน

การศึกษาวิจัยในปี 1995 โดยนักจิตวิทยา Victoria Medvec, S.F. Madey และ Thomas Gilovich ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ได้รับเหรียญทองแดงดูมีความสุขมากกว่าผู้ที่ได้รับเหรียญเงินที่เอาชนะพวกเขาได้อย่างเห็นได้ชัด

 


และการตั้งข้อสังเกตนี้ไม่เกินจริงเท่าไรนัก ซึ่งเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวประเทศญีปุ่น เมื่อทีมยิมนาสติกหญิงของสหราชอาณาจักรออกอาการตื่นเต้นและดีใจอย่างมาก หลังเอาชนะทีมชาติอิตาลีและคว้าเหรียญทองแดงกลับบ้าน ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลแรกในการแข่งขันยิมนาสติกหญิงโอลิมปิกของสหราชอาณาจักรในรอบหลายทศวรรษ

โดยนักจิตวิทยา Medvec เผยว่าปัจจัยหลักของเรื่องนี้คือ ‘ความคิด’ ที่นักกีฬาใช้ในการเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ของ Andrea Luangrath ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยไอโอวา , Bill Hedgcock จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา และ Raelyn Webster อดีตนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากไอโอวา

Andrea Luangrath เผยว่าเธอและทีมงานทำการศึกษาด้วยการรวบรวมภาพถ่ายของนักกีฬาที่ขึ้นโพเดียมรับเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิก 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2000-2016 ก่อนนำมาเปรียบเทียบผ่านซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่ออ่านใบหน้าของนักกีฬาว่ารอยยิ้มของนักกีฬาคนไหนเป็นรอยยิ้มที่มีความสุขหลังได้รับเหรียญรางวัล และรอยยิ้มของนักกีฬาคนไหนเป็นรอยยิ้มของความผิดหวัง

“นักกีฬาที่ได้รับเหรียญเงินมักจะคิดและเปรียบเทียบตัวเองกับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญทอง พวกเขาจึงคิดว่า ‘บางทีถ้าเราทำอะไรบางเพื่อแก้ไขในจังหวะนั้น เราอาจจะเป็นฝ่ายชนะและคว้าเหรียญทองได้’ ความคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยมากๆโดยเฉพาะกับนักกีฬาอันดับที่หนึ่งและสองหลังจากพวกเขาเผชิญหน้าและแยกออกจากกัน ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่สามารถรับรู้ได้”

“แต่ในส่วนผู้ที่ได้รับเหรียญทองแดง พวกเขากำลังเปรียบเทียบกันในแง่ลบ และพวกเขาคิดว่าอย่างน้อยฉันก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้อันดับที่สี่และอย่างน้อยฉันก็ไม่ใช่คนที่ไม่ได้รับเหรียญด้วยซ้ำ”

ซึ่งการได้เหรียญเงิน ความรู้สึกหรือความนึกคิดที่ได้รับคือ "อีกนิดก็ได้เหรียญทองแล้ว" แต่สำหรับคนได้เหรียญทองแดงในกีฬาแบดมินตันจะมีความคิดว่า "ได้เหรียญทองแดง ยังดีกว่าไม่ได้"

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีที่ส่งผลต่อความสุขหลังจากจบการแข่งขันสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญเงินนั่นคือการตั้งเป้าและคาดหวังกับการแข่งขันไว้สูงอย่างเช่นการคว้าเหรียญทอง แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายแน่นอนว่าสิ่งนี้กลายเป็นตัวทำลายความสุขหลังจากจบการแข่งขัน

ยกตัวอย่างกรณีใกล้ตัวอย่าง "วิว" กุลวุฒิ ที่สามารถคว้าเหรียญเงินมาครองได้ ซึ่งถือเป็นเหรียญเงินประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ในเชิงจิตวิทยาแล้ว การแข่งขันนัดสุดท้ายของ "วิว" กุลวุฒิ เผชิญกับความพ่ายแพ้

แต่เทียบกับ "หลี่ ซี เจี๋ย" ที่ปิดท้ายทัวร์นาเมนต์ ด้วยชัยชนะ และคว้าเหรียญทองแดงกลับบ้าน ก็อาจจะมีความรู้สึกเสียดายที่แตกต่างกัน แต่ลึกๆ แล้วเชื่อว่า ไม่ว่าจะเหรียญสีอะไร นี่คือสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ต่างกัน

 

Author

ทรงวุฒิ อุ่นบริบูรณ์

ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายและหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของรถยนต์จากโมเดล

Graphic

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1