เราได้เห็นการยิง 2 ประตูจากระบบการเล่น "เพาเวอร์เพลย์" ของทีมชาติไทย ช่วยให้ "ช้างศึกโต๊ะเล็ก" ตามตีเสมอ ทาจิกิสถานได้เป็น 3-3 ในรอบรองชนะเลิศ ของศึกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย และกลายเป็นเกมที่อยู่ในความทรงจำของทีมชาติไทยหลังจากนี้แน่นอน
แท็กติก เพาเวอร์เพลย์ ปัจจุบัน เรามักจะคุ้นเคยที่จะได้เห็นทีมที่มีสกอร์เป็นรอง ใช้แท็กติกนี้ในการเดินหน้าเพื่อทวงสกอร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว ระบบเพาเวอร์เพลย์ จำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมอย่างยิ่ง เพราะนี่คือ ระบบที่มีความเสี่ยงแบบสุดๆ เช่นกัน ในกรณีที่ผลแพ้ชนะ ยังไม่ถูกชี้ขาด เริ่มใช้แพร่หลายหลังยุคทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา
นิยามการเล่น "เพาเวอร์เพลย์" คือ การที่ผู้รักษาประตู หรือผู้เล่นพิเศษ ที่เติมขึ้นมาเล่นในแดนบุก โดยมากแล้ว ผู้เล่นคนที่ห้า มักจะไม่ใช้ผู้รักษาประตู เนื่องจาก ผู้เล่นมักมีทักษะการใช้เท้าที่ดีกว่า แต่ก็มีบางทีมเหมือนกัน ที่ผู้รักษาประตู มาเป็นตัว "เพาเวอร์เพลย์" เอง เช่น ทีมชาติ คาซัคสถาน
ในฟุตซอลสมัยใหม่ โดยมากแล้ว ระบบเพาเวอร์เพลย์ จะใช้ในสถานการณ์พิเศษโดยทีมที่มีสกอร์เป็นรอง แต่ปัจจุบัน เราได้เห็นรูปแบบการใช้สถานการณ์ที่แตกต่างมากขึ้น เช่น
1.ลดการครอบครองบอลของคู่แข่ง - ดังเช่น กรณีที่ทีมชาติอิรัก ใช้เพาเวอร์เพลย์กับ ไทย ขณะเสมอ 2-2
2.ทดลองระบบขณะเป็นทีมนำ - เช่นในอดีต ทีมชาติอิหร่าน เคยใช้เพาเวอร์เพลย์ กับ ทีมชาติไทย ในชิงแชมป์เอเชีย 2018 ขณะนำอยู่ด้วยสกอร์ 7-1
3.เริ่มใช้เพาเวอร์เพลย์แต่ต้นเกม - การใช้เพาเวอร์เพลย์ลักษณะนี้ มักจะใช้หวังผลในการมีสกอร์ขึ้นนำเพื่อความได้เปรียบ เช่น ในฟุตซอลลีก ทีมสมุทรสาคร เคยใช้แท็กติกนี้ตั้งแต่ต้นเกมเช่นกัน
4.โจมตีทีมคู่แข่งที่เกมรับเหนียวแน่น - บางครั้งการใช้ผู้เล่นมากกว่าก็มีความสำคัญ และใช้จิตวิทยาในการเล่นกับทีมที่เป็นฝ่ายรับ
ขณะที่การโจมตีของระบบ "เพาเวอร์เพลย์" มีหลายระบบ แล้วแต่การเคลื่อนที่ของผู้เล่น เช่น ระบบ 1-2-2, ระบบ 3-2,ระบบ 2-1-2 และมีการเปลี่ยนระบบในช่วงการโจมตีและยิงประตู ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ระบบเพาเวอร์เพลย์นั้น ไม่ใช่เพียงแค่อยากใช้ก็ใช้ได้ แต่จำเป็นต้องฝึกซ้อมและแม่นยำ เพราะหากพลาด นั้นหมายถึงหน้าปากประตูว่าง และไม่มีใครยืนเฝ้าเสา ดังนั้น แต่ละทีมที่เลือกใช้ระบบนี้ จึงต้องระวังคู่แข่งตัดบอลมากเป็นพิเศษ
มีข้อมูลระบุว่า ในการแข่งขันฟุตซอลโลก 2021 ที่ประเทศลิทัวเนีย ครั้งล่าสุด มีการเล่นเพาเวอร์เพลย์เกิดขึ้นแทบทุกเกม และมีโอกาสจบสกอร์จากเเท็กติกเพาเวอร์เพลย์ รวมทั้งสิ้น 194 ครั้ง แต่มีประตูเกิดขึ้นจริง เพียง 16 ประตู ขณะที่ประตูจากการที่คู่แข่งสวนเพาเวอร์เพลย์นั้น มีถึง 21 ประตู ซึ่งมากกว่าประตูจากการบุก
นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า นี่คือระบบที่ใช้นั้นเล่นกับจิตวิทยา ของทั้งฝ่ายรุกและฝ่ายรับ หากมีจุดอ่อน และ ไม่ดีพอ นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำความพ่ายแพ้ให้กับทีมที่ใช้แท็กติกนี้ แต่กลับกัน มันก็แสดงให้เห็นว่า หากระบบเพาเวอร์เพลย์ มีความแข็งแกร่ง ทั้งรุก และการรับเพาเวอร์เพลย์ คุณก็มีสิทธิ์จะเป็นผู้ชนะได้ทุกเวลา