News

‘ฮอร์โมนทดแทน’ ทางออกวัยทองที่ผู้หญิงต้องรู้!

อาการวัยทอง คือภาวะที่ผู้หญิงอายุเกิน 40 ปีแทบทุกคนต้องเผชิญ และก่อให้เกิดความทรมานหลายประการ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ฮอร์โมนเปลี่ยนไปตามวัย หลายคนจึงมีอาการไม่สบายตัวและพยายามหาวิธีแก้ไข ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือการใช้ฮอร์โมนทดแทนนั่นเอง

 

แล้วอาการแบบไหนที่เรียกว่าเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงวัยทองควรรับมือกับปัญหาสุขภาพและอารมณ์ที่แปรปรวนเพราะฮอร์โมนของตัวเองอย่างไร แล้วมีอะไรต้องรู้เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนทดแทนบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ที่นี่เลย

 

เปิดลิสต์อาการและวิธีการรับมือวัยทองของคุณผู้หญิง

วัยทอง (Menopause) หมายถึง ช่วงวัยที่ผู้หญิงหมดประจำเดือน เกิดขึ้นเมื่อรังไข่หยุดผลิตไข่ ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน) ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทองในช่วงอายุ 45-55 ปี แต่บางรายอาจเริ่มเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ซึ่งอาการวัยทองที่มักพบบ่อย ได้แก่

• ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
• อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
• นอนไม่หลับ
• ช่องคลอดแห้ง รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
• ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ริ้วรอย
• กระดูกพรุน
• อ้วนง่าย
• ความจำเสื่อม ขี้หลงขี้ลืม

สำหรับผู้หญิงที่เริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงวัยทอง นอกจากจะดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้ว ยังสามารถรับมือช่วงวัยทองได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีเหล่านี้

• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
• การใช้ยาแก้ร้อนวูบวาบ ยาแก้ปวด ยาคลายกังวล ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลและดุลยพินิจของแพทย์
• การรักษาแบบอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม การโยคะ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ

 

หยุดวัยทองอยู่หมัด ด้วยการใช้ ‘ฮอร์โมนทดแทน’

ในปัจจุบัน มีการนำยาปรับฮอร์โมนมาใช้ในการรักษาวัยทอง หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนทดแทน โดยเป็นการใช้ยากลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย อาจให้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกตัวหนึ่ง คือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาการรักษาโดยแพทย์ มีประโยชน์มากมาย เช่น

• บรรเทาอาการวัยทอง เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
• ป้องกันภาวะกระดูกพรุน
• ช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง
• ป้องกันภาวะอัลไซเมอร์
• ช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานดีขึ้น
• ช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้น ป้องกันภาวะช่องคลอดแห้ง

อย่างไรก็ตาม การใช้ฮอร์โมนทดแทนอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เพื่อความปลอดภัย จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

สุดท้ายนี้ วัยทอง ถือเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญ การเตรียมตัวรับมือและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยให้คุณผ่านช่วงวัยนี้ไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน

Author

Mainstand