News

ปืนจ่อยังเอาไม่ลง : วีรกรรมตายแล้วเกิดใหม่ของ "ปุสกัส" ท่ามกลางการปฏิวัติฮังการี

ใครที่ติดตามฟุตบอล คงเคยได้ยินชื่อของตำนานนักเตะชาวฮังการีอย่าง เฟเรนซ์ ปุสกัส มาไม่มากก็น้อย และคำบอกเล่านั้นมักจะมาในแง่ความเก่งเหนือมนุษย์ของเขา


 

อย่างไรก็ตาม น้อยคนนักที่จะเข้าใจจริง ๆ ว่า ปุสกัส เก่งยังไง ? เล่นแบบไหน ? และมีอิทธิพลอย่างไร ?  เพราะเรื่องราวความรุ่งเรืองของเขามันเกิดขึ้นมานานนม จนแทบหาคลิปวีดีโอดูย้อนหลังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ 

และเรื่องราวต่อไปนี้ อาจไม่ได้เกี่ยวกับลีลาในสนามของเขาสักเท่าไหร่ ทว่าเราจะได้เห็นถึง "ความทรงอิทธิพล" ของเขาในแง่คน ๆ หนึ่งที่มีชื่อเสียงในยุคสงครามโลก และการปฏิวัติบ้านเมืองของประเทศฮังการี 

นี่คือเรื่องราวที่จะทำให้คุณเข้าใจและหมดคำถามว่า เฟเรนซ์ ปุสกัส เป็นตำนานเพราะอะไร ? 

 

ทำไมเราไม่ค่อยรู้เรื่องราวของเขาเลย

เฟเรนซ์ ปุสกัส ... ชื่อนี้ได้ยินมานาน หลายคนบอกว่าเขาเป็นตำนานโลกลูกหนัง เก่งอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ทำไม คอบอลรุ่นหลัง หรือแม้กระทั่งหลายๆคนยังไม่เข้าใจว่าเขาเก่งยังไง ? 

เหตุผลหลัก ๆ คงเป็นเรื่องกาลเวลาและเทคโนโลยี ปุสกัส เป็นชาวฮังการี เกิดตั้งแต่ปี 1927 และเล่นฟุตบอลจนกระทั่งถึงปี 1966 เขาก็แขวนสตั๊ด ซึ่งการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ในช่วงยุคสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ 

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ คือ แม้แต่นักเตะที่ถือว่าเป็นระดับ "ไอคอน" คนแรกของโลกอย่าง เปเล่ ยังแทบไม่เหลือฟุตเทจเก่า ๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นเท่าไรนัก สิ่งที่โลกจดจำ เปเล่ ได้เป็นครั้งแรกคือในฟุตบอลโลกปี 1958 ที่สวีเดนเป็นเจ้าภาพ ณ เวลานั้นเปเล่อายุแค่ 17 ปีเท่านั้น ... และในช่วงขณะเดียวกันนั้น เฟเรนซ์ ปุสกัส มีอายุ 31 ปีแล้ว  

อีกทั้งในปีค.ศ. 1927 ที่ ปุสกัส ลืมตาดูโลก ยังเป็นปีเดียวกันกับที่โลกได้รู้จักโทรทัศน์เครื่องแรก ที่ถูกคิดค้นโดย ฟีโล ที. ฟาร์นสเวิร์ธ และกว่าที่ ฟาร์นสเวิร์ธ จะส่งสัญญาโทรทัศน์ไปสู่เครื่องรับได้ก็ต้องรออีก 2 ปีถัดมา หากยกกรณีดังกล่าวมาเปรียบเทียบดู ก็จะพบเหตุผลที่ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า ทำไม ปุสกัส จึงมีคลิปวีดีโอสมัยยังเป็นนักเตะออกมาน้อยมากเหลือเกิน 

เห็นได้ชัดว่า ปุสกัส เกิดเร็วไปประมาณ 10 ปี เขาเป็นนักเตะรุ่นเก่ากว่าตำนานบทแรกที่รู้จักกันทั่วโลกอย่าง เปเล่ ด้วยอายุที่ห่างกันถึง 14 ปี ... อย่าว่าแต่ ปุสกัส เลย แม้ต่คลิปของ เปเล่ สมัยช่วงปลายยุค 50s ยังหายากและมีน้อยมาก ดังนั้น ปุสกัส จะเหลืออะไร ? คลิปวีดีโอของ ปุสกัส ที่อยู่ในเว็บไซต์อย่าง YouTube นั้น แม้จะมีหลายคลิป แต่ถ้ากดคลิกเข้าไปดู คุณก็จะได้เห็นภาพเดิม ๆ ประตูเดิม ๆ เพราะแต่ละคลิปนั้นเป็นการหยิบของเก่ามาอัพโหลดซ้ำ ๆ กันมากกว่า  ซึ่งนั่นทำให้ลีลาต่าง ๆ ของ ปุสกัส สำหรับคอบอลรุ่นหลังยังไม่ชัดเท่าไรนัก มีเพียงคำบอกเล่า แต่ไร้ซึ่งประจักษ์หลักฐานที่ทำให้เชื่อหมดหัวใจ

แม้ทุกคนจะรู้ว่าเขาเก่ง แต่น้อยคนจะมองเขาไว้สูงเหมือนกับที่ เปเล่ หรือ ดิเอโก มาราโดนา เป็น ... ถึงกระนั้น มันต้องมีสักวิธีที่จะบอกเล่าความยิ่งใหญ่ของเขาได้ แม้ไม่ใช้ภาพเคลื่อนไหวก็ตาม 

 

วิเคราะห์จากสภาพแวดล้อม

ปุสกัส เป็นนักเตะทีมชาติฮังการีชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาติดทีมชาติฮังการีครั้งแรกในปี 1945 ณ เวลานั้นเขาคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ ฮังการี ถูกเรียกว่า "Mighty Magyars" (ทัพฮังการีอันเกรียงไกร) ที่ครองความยิ่งใหญ่จนนักเตะหลายคนในยุคนั้นยอมซูฮกมาแล้ว 

สิ่งที่จะอธิบายความมหัศจรรย์ของ ปุสกัส ได้ คือการเปรียบเทียบทีมชาติฮังการี ตอนที่เขายังไม่ติดทีมชาติ (ช่วงก่อนยุค 40s) กับช่วงหลังจากที่เขาติดทีมชาติ (เข้ายุค 50s) คุณจะเห็นความต่างที่ชัดเจนมากขึ้นเยอะเลยทีเดียว

นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลของตัวเองในปี 1901 ฮังการี เป็นไม้ประดับในทวีปยุโรปมาตลอด จนกระทั่งในปี 1938 พวกเขาพอจะมีขื่อเสียงขึ้นมาบ้างจากการได้รองแชมป์โลกแบบหักปากกาเซียน น่าเสียดายที่ไปแพ้ อิตาลี เสียก่อน 

ช่วงเวลาหลังจากฟุตบอลโลกครั้งนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นพอดิบพอดี ฟุตบอลหยุดแข่งกะทันหัน และกลับมาอีกครั้งในช่วงเข้ายุค 50s ที่ ปุสกัส เริ่มเป็นนักเตะที่กำลังอยู่ในช่วงจุดพีก เท่านั้นแหละความต่างก็เกิดขึ้น

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1950 ชื่อเสียงของ ฮังการี ขจรขจายไปทั่ว หลัง "โกลเดน ทีม" ของพวกเขาเดินหน้าประกาศศักดาทั้งในยุโรปและทั่วโลก ปี 1952 ฮังการี ที่ไม่เคยผ่านได้ไกลกว่ารอบ 2 ในฟุตบอลโอลิมปิก ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยการไล่ถล่มคู่แข่งจนไปไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นการถล่มอิตาลี 3-0 อัดตุรกี 7-1 ถล่มสวีเดน 6-0 และเอาชนะยูโกสลาเวีย 2-0 ในนัดชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองโอลิมปิกไปครอง

ในช่วงปี 1950-1955 ฮังการี ระเบิดตาข่ายคู่แข่ง 220 ประตูจาก 51 นัด หรือเฉลี่ยมากกว่า 4 ประตูต่อนัดเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงเวลานั้น ปุสกัส นำ ฮังการี สร้างประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเหรียญทองโอลิมปิกตามที่ได้กล่าวไป, ถล่ม อังกฤษ คาสนาม เวมบลีย์ถึง 6-3 ยัดเยียดความปราชัยในบ้านครั้งแรกรอบกว่า 90 ปีให้กับทีมสิงโตคำราม นอกจากนี้ยังอยู่ในทีมชุดรองแชมป์โลกปี 1954 ด้วย 

ในระดับลีก ปุสกัส ยิง 514 ประตูจาก 530 นัด ขณะที่ในทีมชาติยิง 84 ประตูจาก 85 นัด ... หากเห็นแค่สถิติ ไม่ดูชื่อ เราจะพบว่าผลงานระดับนี้มีเพียงแค่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ ลิโอเนล เมสซี่ เท่านั้นที่ทำได้ ... ดังนั้นหากเทียบแบบบัญญัติไตรยางค์ ก็ไม่สำคัญว่า ปุสกัส จะเล่นฟุตบอลสไตล์ไหน แต่ด้วยผลลัพธ์ที่ออกมา เขา, โรนัลโด้ และ เมสซี่ คือกลุ่ม "พระเจ้า" เหมือนกันทั้งสิ้น 

สถิติและการเปรียบเทียบข้างต้นบอกอะไรในตัวเขาได้ในระดับหนึ่ง แต่มันมีสิ่งที่ยืนยันความยิ่งใหญ่ได้มากกว่านี้อีก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศฮังการีมีการปฏิวัติ และ ปุสกัส ต้องเปลี่ยนบทบาทจากยอดนักเตะ กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ... ว่ากันว่ามันทำให้เขาถูกยิงเข้าที่ขมับ แต่กลับฟื้นคืนชีพได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

 

ช่วงเวลาของประชาชน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดในปี 1945 ฮังการี ที่อยู่ในฝ่ายอักษะ ผู้แพ้สงคราม กลายเป็นรัฐในอารักขาของสหภาพโซเวียต ปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ มาทยาส ราโกซี ผู้มีฉายาว่า "ลูกศิษย์ที่ดีที่สุดของ สตาลิน" ... และ สตาลิน ที่ว่านั้นคือ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตนั่นเอง

ในปี 1951 ราโกซี ได้สร้างอนุสาวรีย์ โจเซฟ สตาลิน เพื่อเป็นของขวัญวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 70 ปีของผู้นำที่เขาศรัทธา อย่างไรก็ตาม รูปปั้นที่ทำจากบรอนซ์และหินปูนที่มีขนาดใหญ่ถึง 25 เมตร กลับกลายเป็นตัวแทนของอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี และสัญลักษณ์การยอมรับผู้นำโซเวียตที่คนหลายภาคส่วนในประเทศเกลียดชัง 

เมื่อสะสมความเกลียดและความแค้นมานานนม สุดท้ายก็ถึงเวลาที่ประชาชนจะลุกฮือ ในปี 1956 ประชาชนฮังการีกว่าแสนคนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลและนโยบายที่กำหนดโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งแน่นอน รูปปั้นของ สตาลิน ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความเกลียดชัง โดนทำลายจนเหลือเพียงแต่ส่วนหัวที่ถูกทิ้งไว้กลางถนนเท่านั้น 

อย่างไรตาม สหภาพโซเวียต ไม่รอให้ ฮังการี ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย พวกเขาส่ง "กองทัพแดง" เข้ามาปราบกลุ่มผู้ปฏิวัติจนเหี้ยนเตียน ด้วยวิธีที่รุนแรงและเด็ดขาด การบุกของโซเวียตครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน มีคนถูกจับเข้าคุกอีกมาก ขณะที่อีกหลายคนต้องหลบหนี และหนึ่งในผู้ต่อต้านเผด็จการที่เข้าตาจนคือ เฟเรนซ์ ปุสกัส ฮีโร่ฟุตบอลของประเทศ

การประกาศตัวเป็นศัตรูกับรัฐบาล ทำให้ ปุสกัส มีสถานะเปลี่ยนไปในทันที ครอบครัวถูกคุกคาม ลูก ๆ ต้องลาออกจากโรงเรียน จากฮีโร่ที่ไปไหนก็มีแต่คนชื่นชม เขาต้องทำตัวเหมือนกับคนเถื่อนที่ต้องใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ กับครอบครัวของเขา  

เขาถูกรัฐบาลเผด็จการตามล่าตัว เพราะไม่อยากจะให้นักเตะที่เป็นฮีโร่ของคนทั้งประเทศ คนที่พูดอะไรออกไปจะมีคนพร้อมที่จะรับฟังอย่าง ปุสกัส ได้ทำอะไรตามอำเภอใจ ... และวิธีการที่ภาครัฐใช้ คือการมุ่งหมายให้คนที่มีแนวคิดตรงกันข้ามไม่มีโอกาสได้พูดอีก "ตลอดกาล"

เรื่องเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1956 ในระหว่างที่นักกีฬาทีมชาติฮังการี เก็บตัวเตรียมความพร้อมก่อนลุยมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ก็มีตำรวจในสังกัดของรัฐบาล บุกเข้าโรงแรมเรด สตาร์ สถานที่เก็บตัวในเมือง Svábhegy และเปิดฉากยิงใส่กลุ่มนักกีฬาที่มารวมตัวกันครั้งนั้น ทำให้ István Hegedüs นักปัญจกีฬาถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เผด็จการสร้างความกลัวแบบฝังหัวให้กับทุกคนที่เห็นต่าง พวกเขาฆ่านักกีฬาที่เป็นขวัญใจของคนในประเทศอย่างเลือดเย็น และ ปุสกัส เองก็ถือว่าเป็นเป้าแรก ๆ ที่ต้องจัดการให้ได้ กระทั่งวันหนึ่งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ...

สำนักข่าวชื่อ Nepszava ขึ้นพาดหัวชื่อของ ปุสกัส ใหญ่ ๆ พร้อมข้อความว่า "ปิดตำนาน ปุสกัส" พวกเขาพาดหัวไว้เช่นนั้น บรรยายว่าดาวยิงฮีโร่รายนี้ถูกปืนเป่าที่ขมับ เนื่องจากกีดขวางรัฐบาล และต่อสู้เพื่ออิสรภาพเหนือเผด็จการ

เจตนาเดียวของพาดหัวข่าวนี้คือการข่มขวัญ และบอกให้ทุกคนรู้ว่าจุดจบของการขวางทางเดินของรัฐบาลจะต้องจบลงเช่นไร พวกเขาต้องการฝังกลบความหวังของคณะปฏิวัติให้ดับสนิท ... พวกเขาฆ่า ปุสกัส ด้วยปืน และหวังว่าเรื่องราวการต่อสู้ของเขาจะหายไปตลอดกาล ... ทว่าความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น เมล็ดพันธุ์ที่พวกเขาฝังกลบกลับเติบโตขึ้นในสภาพที่เลวร้ายที่สุดจนได้ 

 

กูยังไม่ตาย

ก่อนที่ความหวังจะดับลง ก็มีข่าวประกาศแทรกขึ้นมา สถานีวิทยุรายงานว่า "ปุสกัส ยังไม่ตาย" และกำลังมีชีวิตอยู่เพื่อเล่นฟุตบอลในที่ใดสักแห่ง ซึ่งมันก็เป็นเพียงการรายงานเท่านั้น เพราะยังไม่มีใครได้เห็นหน้า ปุสกัส หลังจากข่าวการยิงถล่มที่โรงแรม  

จนกระทั่ง 1 เดือนหลังจากนั้น ปุสกัส ก็ปรากฎตัวขึ้นด้วยความกล้าที่มากกว่า และการออกหน้ามากกว่าที่เคย ตอนนี้เขาพูดเองทุกคำโดยไม่ต้องให้สื่อไปบิดเบือนอีกต่อไป เขาประกาศชัดเจนว่า คนที่อยากให้เขาตายนั้นมีจริง และมีการสร้างเฟคนิวส์ (ข่าวปลอม) เกี่ยวกับการโดนเป่าขมับของเขา เช่นเดียวกับนักกีฬาดังเพื่อนร่วมชาติอย่าง โจเซฟ เซอร์มัก (József Csermák) นักขว้างค้อนแชมป์โอลิมปิก และ กาเบอร์ เบเนเด็ก (Gábor Benedek) นักปัญจกีฬา ทว่าตอนนี้เขากลับมาแล้ว และยืนยันว่าต่อจากนี้เขาจะไม่เล่นฟุตบอลให้กับทีมชาติฮังการีอีกต่อไป 

"เราอยู่ที่ชายแดนประเทศออสเตรีย และมีข่าวรายงานว่าผมเสียชีวิต ตอนนั้นเรากำลังอยู่ในช่วงที่ต้องหาเงินให้พร้อม (สโมสร บูดาเปสต์ ฮอนเวด ของเขา ที่เพิ่งตกรอบแรก ยูโรเปียน คัพ ฤดูกาล 1956-57 กำลังวางแผนจะหนีไปทัวร์รอบโลกโดยไม่สนคำเตือนของรัฐบาล เนื่องจากนักเตะหลายคน รวมถึง ปุสกัส มีแนวคิดตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ) เรากำลังมีการเดินทางที่ซับซ้อนมาก และได้รับแจ้งว่าพวกเราทุกคนจะต้องกลับฮังการีด่วน เพื่อไปรับโทษต่าง ๆ ซึ่งโทษที่รุนแรงที่สุดนั้นได้เตรียมไว้ สำหรับผมที่เป็นหัวเรือใหญ่ของทีม" ปุสกัส กล่าวในภายหลัง 

จากที่จะได้กลับบ้านเกิด ต้องเปลี่ยนเป็นการหนีออกจากประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เดิมที ฮอนเวด ตั้งใจจะไปลงแข่งฟุตบอลรายการหนึ่งที่ประเทศบราซิล ทว่ารัฐบาลฮังการีกดดัน จน ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ต้องออกคำสั่ง ห้าม ฮอนเวด ไปแข่งที่แดนแซมบ้า เพราะถือว่าสมาชิกในทีมเป็นนักโทษคดีร้ายแรงของประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ฟีฟ่า ต้องจำยอมสั่งแบน ปุสกัส ถึง 18 เดือน โดยห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลทุกระดับ

"ความกดดันและความกังวลเกิดขึ้นเต็มไปหมดกับครอบครัวของผม พวกเราลำบากมากจริง ๆ ในช่วงเวลานั้น กว่าจะผ่านไปได้แต่ละวันมันเป็นอะไรที่แย่มาก" เขาเล่าให้ The Guardian ฟัง ก่อนที่เขาจะเกิดใหม่ภายใต้การยอมรับที่มากยิ่งกว่าที่เคยเป็น 

ปุสกัส รอจนโทษแบนครบ 18 เดือน เขาหาสโมสรต่าง ๆ เล่น แต่ปัญหาคือหลายทีมบอกว่าเขาอ้วนและแก่เกินไป ช่วงนั้นเงินของเขาร่อยหรอแล้ว และต้องหาทีมเล่นให้ได้ จนกระทั่งได้เจอกับ ซานติอาโก เบอร์นาเบว ประธานสโมสรของ เรอัล มาดริด ในช่วงเวลาดังกล่าว การหารือก็เกิดขึ้น และ ปุสกัส ก็ได้สัญญาอาชีพจาก มาดริด โดยที่เขาตั้งใจว่าจะแสดงให้เห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

"มีคนบอกผมอ้วนเกินไป ผมต้องไปลดน้ำหนักอีกเยอะ จนกระทั่งผมพบกับ เบอร์นาเบว เราคุยกันแบบไม่มีล่าม เขาจ้อสเปนไม่หยุด ส่วนผมก็พูดแต่ฮังการี และผมจับใจความได้ว่า 'เป็นอันตกลง'"

"ผมเลยบอกกับเขาว่า 'เยี่ยมเลย แต่คุณโอเคแน่เหรอ ผมน้ำหนักเกินเกณฑ์มา 18 กิโลกรัมเชียวนะ' ... ก่อนที่เขาจะบอกว่า 'นั่นมันปัญหาของแก ไม่ใช่ของฉันสักหน่อย' ว่าเสร็จ เบอร์นาเบว ก็มอบเงิน 5,000 เหรียญให้กับผม นั่นมันเป็นเงินก้อนสำคัญและมีประโยชน์กับชีวิตผมอย่างมากเลยทีเดียว" 

 

ประวัติศาสตร์ 5,000 ดอลลาร์

หลังจากได้รับความไว้วางใจ ปุสกัส กลับมาเป็นดาวยิงที่อันตรายที่สุดในยุโรปด้วยวัย 32 ปี เขาลงเล่นให้กับ เรอัล มาดริด เคียงข้างตำนานอีกคนอย่าง อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน และบันดาลแชมป์มากมายให้กับราชันชุดขาว รวมถึงแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ อีก 3 สมัย ในปี 1959, 1960 และ 1966 (หลังทีมได้มาแล้ว 3 สมัยรวด ระหว่างปี 1956-1958)

ณ เวลานั้นไม่ใช่แค่คนฮังการีที่ชอบเขา ผู้คนที่ดูบอลในประเทศต่าง ๆ ของยุโรป โดยเฉพาะชาวสเปนรู้ซึ้งความเก่งของ ปุสกัส เป็นอย่างดี และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความสำเร็จนั้นเป็นเหมือนการทวงชื่อเสียงและสิ่งที่เขาเคยทำในอดีตกลับมาจากรัฐบาลอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ข่าวของ ปุสกัส ถูกห้ามนำเสนอในฮังการีโดยรัฐบาลเผด็จการ แต่สุดท้ายความรุ่งโรจน์กับ เรอัล มาดริด ก็ทำให้ไม่มีกฎข้อใดห้ามความดังของเขาอยู่ (ที่สำคัญ เจ้าตัวโอนสัญชาติไปเล่นให้ทีมชาติสเปนอีกด้วย) ผู้คนในฮังการีได้รู้เรื่องราวของ ปุสกัส อีกครั้ง แรงศรัทธาในตัวเขาแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สวนทางกับรัฐบาลเผด็จการที่อ่อนกำลังลงทุกวัน ตามอำนาจที่เสื่อมถอยเรื่อย ๆ ของสหภาพโซเวียต ดังนั้นทุกคนจึงรอให้วันที่เผด็จการล่มสบาย และ ปุสกัส จะได้กลับสู่ดินแทนที่เขาเป็นฮีโร่เมื่อในอดีต 

กว่าที่ ปุสกัส จะได้กลับฮังการี ก็ต้องรอเอาถึงปี 1981 และเขายังจำบรรยากาศวันนั้นได้ดี วันที่ ฮังการี เปลี่ยนไป วันที่ใครหลายคนเริ่มมีอิสรภาพอีกครั้ง แม้กว่าที่ ฮังการี จะหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการจริง ๆ ก็ต้องรอถึงปี 1989 ก็ตาม

"เมื่อผมหนีออกมา ผมสาบานกับตัวเองว่าจะไม่กลับไปเหยียบที่ฮังการีอีก แต่หลังจากออกมาอยู่สเปนครบ 25 ปี ผมได้โอกาสบินกลับไปที่ บูดาเปสต์ และพบว่าผู้คนที่นั่นมารอผมเต็มสนามบิน พวกเขายังต้อนรับผมอย่างอบอุ่น มันคือเรื่องเหลือเชื่อสำหรับผม หลายคนกรีดร้องราวกับว่าป๊อปสตาร์แห่งยุคกำลังมา ทันทีที่ถึงบ้านเกิด ผมแวะไปที่สุสาน Kispest ทันที เพราะศพของพ่อและแม่ของผมถูกฝังไว้ที่นี่ โดยที่ผมยังไม่เคยมาเคารพหลุมศพท่านเลย" ปุสกัส กล่าว

แม้วันที่เขาจากมา จะเป็นการหนีหัวซุกหัวซุน เนื่องจากความพ่ายแพ้ของกองกำลังปฏิวัติฮังการี อย่างไรก็ตาม เชื้อไฟเล็ก ๆ ที่พวกเขาทิ้งไว้เมื่อหลายปีก่อน ก็ลุกลามกลายเป็นกองไฟที่ยิ่งใหญ่ เผาผลาญระบอบคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาเกลียดชังจนได้ ฮังการี กลับมาปกครองในแบบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพอีกครั้ง ในวันที่ ปุสกัส กลับมา นั่นคือสิ่งที่เขาอยากจะเห็นที่สุด และมันทำให้รู้ว่าการต่อสู้ของเขาไม่มีทางสูญเปล่า มันคือก้าวเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ฮังการี โดยสิ้นเชิงอย่างไม่ต้องสงสัย  

จะเห็นได้ว่าเป็นคนดังหรือเป็นขวัญใจประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ปุสกัส แสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมนั้นทั้งในฐานะนักฟุตบอล และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่ง

ในช่วงเวลาที่น่าจดจำ หากนึกย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่า การเสียสละของ ปุสกัส และอิทธิพลของเขาที่มีต่อหัวใจชาวฮังการี ถือเป็นเป็นสิ่งสำคัญที่บันดาลให้เรื่องนี้เกิดขึ้น จะมีนักเตะคนไหนในยุคนั้นอีกไหมที่โดนกีดขวางจากการเมืองและรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่การแข่งขันยุคนั้น ไม่ได้เข้มข้นและมีเดิมพันสูงเหมือนทุกวันนี้เลยด้วยซ้ำ 

อิทธิพล, ความสนใจจากสื่อ, การโดนตั้งแง่จากรัฐบาล, การโดนโจมตีโดยเฟคนิวส์ และการโดนเผด็จการล่าหัวและขู่ฆ่า ... คือสิ่งที่นักฟุตบอลอย่าง ปุสกัส ได้รับ และนั่นหมายความว่าทุกคนต้องการจะหยุดเขาให้ได้ ทว่าอุดมการณ์อันแน่วแน่ ทำให้เขาผ่านความยากลำบากทั้งหมดไปได้ และกลายเป็นตำนานของโลกลูกหนังจนถึงปัจจุบัน เพราะถึงแม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2006 แต่ชื่อของเขาได้รับเกียรติให้เป็นชื่อรางวัลประตูยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่า ในชื่อ ปุสกัส อวอร์ด

แม้กระทั่งตอนนี้ ภาพความเป็นตำนานของ ปุสกัส ก็ยังคงอยู่ต่อไป และรอให้ใครหลายคนมาตามหาคำตอบว่าเขาเป็นนักเตะที่ดีขนาดไหน เพราะ FIFA Online 4 เกมฟุตบอลออนไลน์บนแพลตฟอร์ม PC กำลังจะนำตำนานบทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลกลับมาให้แฟน ๆ ได้สัมผัสกันอีกครั้ง 


โดยการอัปเดทแพทช์ของเกมในครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ ปุสกัส จะปรากฎตัวในเกม FIFA และเขาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนักเตะประเภท "ไอคอน (ICONS)" หรือตำนานตลอดกาลอีกด้วย 

สำหรับใครที่เป็นคอเกมฟุตบอลอย่าง FIFA Online 4 จะได้พบกับความโหดจากยุค 50s และอยากจะรู้ว่า ปุสกัส เจอกับกองหลังระดับโลกยุคปัจจุบันเขาจะโหดแค่ไหน อย่าลืมเข้าไปสัมผัสกันด้วยตัวเองที่  FIFA Online 4 ซึ่งนอกจากการเข้ามาของ ปุสกัส แล้ว ยังจะมีการเพิ่มนักเตะคลาสใหม่อย่าง 20UCL และ Nostalgia เข้ามาด้วย

ดาวน์โหลดเกมฟรี ! ที่นี่
fo4.garena.in.th

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.fourfourtwo.com/features/ranked-the-top-10-fut-icons-in-fifa-21
https://www.fourfourtwo.com/features/9-times-football-fell-victim-fake-news-arrests-deaths-and-sex-changes
https://taleoftwohalves.uk/featured/ferenc-puskas-hungary-mighty-magyar
https://www.bangkokpost.com/sports/1000865/relic-of-puskas-glory-days-bulldozed-in-hungary
http://www.puskas.com/en/topical/395-why-puskas-was-declared-dead-in-1956.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น