News

คนรู้อนาคต ? : ไขเบื้องหลังการแขวนสตั๊ดช็อคโลกของ เอริก คันโตนา

"วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ และมีข่าวหลุดออกมา ข่าวนั้นเป็นข่าวที่น่ากลัวที่สุดที่เราหลายคนไม่อยากจะได้ยิน ... เอริก คันโตนา บอกว่าเขาจะเลิกเล่นฟุตบอล" 


 

อดัม มาร์แชล นักเขียนที่ทำงานให้กับสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขียนลงในบทความที่ชื่อว่า "ทำไมการแขวนสตั๊ดของ คันโตนา จึงเป็นเรื่องช็อคที่สุดในโลก ?" 

เอริก คันโตนา เข้ามาและเปลี่ยน แมนฯ ยูไนเต็ด ให้เป็นสโมสรของแชมเปียนส์ เขาเป็นทุกอย่างของสโมสรนี้ ถึงขั้นที่ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในวันที่ยังไม่ได้รับพระราชทานยศอัศวิน ต้องร้องขอให้ทบทวนความคิดนี้ใหม่อีกครั้ง 

ในวัย 30 ปี 4 แชมป์ พรีเมียร์ ลีก 2 แชมป์ เอฟเอ คัพ และตีตราว่าเป็นไอคอนของทีม ... ทุกอย่างใกล้เข้ามา ความยิ่งใหญ่ที่รออยู่กำลังจะมาถึง แต่ทำไม คันโตนา จึงเลิกเล่นฟุตบอลไปเสียเฉย ๆ

เรารู้ว่าเขาเป็นคนอาร์ต แต่อะไรล่ะคือสาเหตุที่แท้จริง ? ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่ 

 

ย้อนความการบอกลาสุดช็อค 

ไม่ต้องกล่าวกันมากถึงสิ่งที่ เอริก คันโตนา ทำไว้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขากำลังอายุเข้าสู่ช่วงที่ว่ากันว่าพีกสุด ๆ ของนักฟุตบอลในยุคก่อน (29 ย่าง 30 ปี) ความเก่งของเขาบันดาลให้ ยูไนเต็ด กลับมาเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ที่เต็มไปด้วยความหยิ่งผยอง ... เหมือนกันตัวตนของเขา 

ในวันที่ คันโตนา ประกาศรีไทร์ ความจริงในวันนั้นแตกต่างจากเรื่องราวความสวยงามและยิ่งใหญ่ที่กล่าวถึงกันในภายหลัง ... ณ ตอนนั้น คันโตนา กำลังมีปัญหากับจิตใจของตัวเอง ชายผู้ถูกเรียกว่า "คิง" กำลังสงสัยว่า "จะเตะฟุตบอลต่อไปเพื่ออะไร ?" 

นั่นเป็นคำถามที่ค่อนข้างจะตลก นักฟุตบอลส่วนใหญ่ชอบวิ่งคว้าความสำเร็จ และเล่นไปจนกว่าจะร่างกายไม่ไหว เพราะมีบทเรียนมากมายถึงอาชีพที่เป็นเหมือนหมาล่าเนื้อ วันที่สวมสตั๊ดพวกเขาอาจจะยิ่งใหญ่ แต่วันใดที่เลิกเล่นไปโดยไร้การวางแผนทางการเงิน หลายคนต้องเจอความยากลำบากหลังจากนั้น นั่นจึงทำให้นักฟุตบอลต้องเก็บเงินเอาไว้เยอะ ๆ นักเตะหลายคนถึงกับไปเล่นในลีกเล็ก ๆ เพื่อคว้าเงินก้อนโต 

เปเล่, จอร์จ เบสต์ และ ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ ย้ายไปโกยเงินที่ NASL สหรัฐอเมริกา, โรเจอร์ มิลลา ย้ายไปเล่นในลีกอินโดนีเซีย หรือย้อนไปไม่ต้องไกล คาร์ลอส เตเวซ ไปโกยเงินหยวนใน ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ก่อนกลับมาหาความสุขที่อาร์เจนตินาบ้านเกิด นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจน แข้งเบอร์ใหญ่หลายคนทำเช่นนั้น แต่ทำไม คันโตนา ไม่เอาด้วย ?  

ย้อนกลับไปในปี 1997 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังตามหาถ้วยแชมป์ยุโรป ใบที่ 2 มาประดับตู้โชว์ของสโมสร หลังจากครั้งแรกต้องย้อนไปยังปี 1968 ยุค เซอร์ แม็ตส์ บัสบี้ และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาเป็นเบอร์ 1 ในประเทศอังกฤษไปแล้ว ณ ตอนนั้น ดังนั้นการได้เป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก จะเป็นเครื่องยืนยันและประทับตราว่า "ทีม ๆ นี้เป็นทีมที่ดีที่สุดในโลกจริง ๆ" 

เช่นเดียวกับ คันโตนา ณ เวลานั้น เขาเป็นเหมือนพระราชาสำหรับแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่สามารถบันดาลแชมป์ลีกได้เป็นว่าเล่น แต่สำหรับคนภายนอกที่มองเข้ามาต่างไม่คิดเช่นนั้นเสียทีเดียว 

"เก่งจริงทำไมไม่เคยได้แชมป์ที่ประเทศอื่นบ้างเลย ?", "เก่งจริงทำไมไม่ประสบความสำเร็จในทีมชาติฝรั่งเศส ?" นี่คือคำถามตัวอย่างส่วนหนึ่งที่มีต่อ คันโตนา ในเวลานั้น

ภายนอกของ คันโตนา เป็นคนแข็งแกร่ง ไม่เคยฟังเสียงของใครที่ไหนนอกจากเสียงใจของตัวเอง เขาทำหลายสิ่งหลายอย่างที่นักฟุตบอลคนอื่นไม่กล้า แต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรอกว่าคำติฉินนั้นได้กัดเซาะหัวใจเขาพอสมควร เพราะว่าที่เขาประกาศเลิกเล่นแบบไม่เป็นทางการนั้น เกิดจากเกมฟุตบอลยุโรป ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และจบเส้นทางการลุ้นแชมป์โดยปริยาย

"ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจาก ยูไนเต็ด โดน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เขี่ยตกรอบรองชนะเลิศในถ้วยยุโรปฤดูกาล 1996-97 เอริก คันโตนา ขอเข้าพบกับ เฟอร์กูสัน แบบเป็นการส่วนตัว เพื่อบอกว่าเขาจะเลิกเล่นหลังจากฤดูกาลสิ้นสุดลง" เลียม เคอร์เลส นักข่าวจาก แมนเชสเตอร์ อีฟนิง นิวส์ ว่าเช่นนั้น 

"จริงอยู่ที่ความพ่ายแพ้ในเกมนั้นส่งผลต่อจิตใจแฟน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทุกคน อีกก้าวเดียวก็จะไปถึงนัดชิงชนะเลิศแล้ว ... แต่เชื่อเหอะ ความผิดหวังในเกมนั้น ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งที่ คันโตนา ประกาศเลิกเล่นเลย" 

อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สมัยที่ยังไม่มีคำว่า เซอร์ นำหน้า ณ ปี 1997 คือคนที่ช็อกที่สุดและรับข่าวนี้เป็นคนแรก คันโตนา คือลูกรักอันดับ 1 ที่แม้จะด่าก็ยังไม่อยากจะด่า เป็นขุนพลเอกที่ทีมจะขาดไม่ได้ของเขา และ เฟอร์กี้ เล่าเรื่องนี้ภายหลังว่า สีหน้าและแววตาของ คันโตนา ในวันที่เดินมาบอกข่าวร้ายเรื่องนี้ คือสิ่งที่ทำให้เขารู้ทันทีว่า "อย่าห้าม"

"ถ้าเป็นก่อนหน้าช่วงเวลานั้น ผมว่าผมเอาเขาอยู่นะ ผมสามารถจะเกลี้ยกล่อมให้เขาอยู่กับเราต่อไปได้ แต่คราวนี้มันต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง" เฟอร์กี้ กล่าวในวันที่เขาขึ้นแถลงข่าวอย่างเป็นทางการพร้อมกับที่ คันโตนา ว่าเช่นนั้น และมีเพียงเขาที่รู้ว่าเหตุใดครั้งนี้จึงแตกต่างจากอารมณ์ศิลปินครั้งอื่น ๆ ของ ก็องโต้ ... ซึ่งเรื่องนี้มีที่มา

 

My Time Has Come 

คันโตนา อธิบายด้วยตัวเองต่อจาก เฟอร์กี้ วางไมโครโฟนว่า "ผมเล่นฟุตบอลอาชีพมา 13 ปี และนั่นมันยาวนานมาก และผมคิดว่าผมควรทำอย่างอื่นมากกว่า ผมวางแผนเรื่องการแขวนสตั๊ดกับตัวเองเสมอ ผมหวังว่ามันจะเกิดขึ้นในวันที่ผมยังอยู่บนจุดสูงสุดที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และผมคิดว่าตอนนี้แหละคือจุดสุดยอดในอาชีพที่ผมหมายถึง" 

หากถอดจากประโยคดังกล่าวจะได้ใจความว่า คันโตนา "อิ่มแล้วกับฟุตบอล" แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งจะพบว่าหลังเกมกับ ดอร์ทมุนด์ ในรอบรองชนะเลิศนั้น คือเกมที่ คันโตนา บอกตัวเองในทางอ้อมว่า "ถึงเวลาพอได้แล้ว" 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า 6 เกมสุดท้ายก่อนแขวนสตั๊ด (พรีเมียร์ลีก 5 เกม, แชมเปียนส์ ลีก 1 เกม) คนที่ยิงประตูเป็นกอบเป็นกำอย่าง คันโตนา กลับไม่สามารถยิงประตูได้เลยแม้แต่ลูกเดียว สื่อบอกว่าเขามีปีที่ไม่ดีนัก ทั้ง ๆ ที่ปีนั้น ยูไนเต็ด ก็จบด้วยแชมป์ลีก และ คันโตนา ก็เป็นรองดาวซัลโวของทีม ที่ 15 ประตูรวมทุกรายการด้วย (ปีดังกล่าว ดาวซัลโวของทีมคือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา 19 ประตูรวมทุกรายการ) นั่นยังไม่พออีกหรือ ? 

คำวิจารณ์ดังกล่าว ถ้าเข้าหูแฟน แมนฯ ยูไนเต็ด รับรองได้เลยว่าควันออกหูแน่ ... แต่ถ้าถาม คันโตนา เขาอาจจะตอบด้วยตัวเองว่า "ใช่ ผมกำลังจะฟอร์มตกในเร็วนี้ ๆ" ... แม้จะไม่ได้เอ่ยปากบอกตรง ๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เขาพูดคือการจะบอกว่า มันไม่แฟร์นักกับสโมสร หากเขาที่กำลังจะหมดแพชชั่น เดินทางมาสู่ขาลง ยังคงต้องเล่นให้กับทีมต่อไป ในวันที่นักเตะยุค คลาส ออฟ 92 กำลังขึ้นรุ่นด้วยความกระหายอย่างที่สุด

ทุกคนรู้ดีว่า เฟอร์กี้ รัก คันโตนา ขนาดไหน และหากมีโลกคู่ขนานในแบบฉบับที่ คันโตนา ไม่ประกาศแขวนสตั๊ด ก็เชื่อว่า เฟอร์กี้ จะใช้งาน คันโตนา ในฐานะ 11 ตัวจริงแบบแบเบอร์อย่างแน่นอน ... ข้อนี้แหละที่ ก็องโต้ คิดว่า มันไม่แฟร์กับใครเลยสักคน แม้กระทั่งกับความรู้สึกของเขาเอง 

"ผมหมดความท้าทาย" คันโตนา เล่าใน Podcast ของตัวเองในภายหลังถึงเหตุผลที่แท้จริง เขาไม่ได้พีคที่สุด แต่เขากำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลงต่างหาก เพราะความคิดของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

"ในฟุตบอลระดับสูงต้องการอะไรจากนักเตะคนหนึ่งบ้าง ? อย่างแรก คุณต้องมีสมาธิให้มากกับงานที่ทำ และประการที่ 2 คือสิ่งสำคัญมาก การที่คุณจะมีสมาธิได้ คุณต้องมีความหลงใหลในงานที่ทำก่อน"

"หากไร้ซึ่งสิ่งนี้ รับรองได้เลยคุณจะเริ่มสูญเสียอะไรบางอย่างไปทีละนิด ๆ จนรู้ตัวอีกทีคุณจะตกจากจุดที่คุณเคยอยู่ หลุดจากระดับที่คุณเคยทำได้ ... จำไว้ว่าความหลงใหลในสิ่งที่ทำ ช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองกลายเป็นคนที่เก่งขึ้น แต่ถ้าคุณไม่มีสิ่งนั้น คุณต้องรู้ตัวว่า ฉันจะไม่มีทางเก่งไปกว่านี้อีกแล้ว" เขาพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของตัวเองและไม่ได้บอกใคร ณ เวลานั้น นอกจาก เฟอร์กี้ คนเดียว ที่เคยแย้มถึงสิ่งนี้ในวันที่หลายคนยังไม่เชื่อว่า "ทีมอย่าง ยูไนเต็ด ขาด คันโตนา ไม่ได้" 

"คันโตนา เป็นคนที่ยอดเยี่ยมสำหรับทีมของเรา เขาคือหนึ่งในนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลเท่าที่ผมเคยเจอ ... แต่ผมคิดว่าเราจะได้พบกับนักเตะที่มีความสามารถแบบเขาอีกครั้งแน่นอน" เฟอร์กี้ มั่นใจเช่นนั้น 

"นี่คือวัฏจักรของโลกฟุตบอล ... นักเตะที่ยอดเยี่ยมปรากฎตัวขึ้นมาตลอดเวลา" คนอื่นอาจช็อก แต่ เฟอร์กี้ กลับมองต่างด้วยประโยคดังกล่าว

 

อะไรที่ทำให้ คันโตนา รู้ตัว ? 

เดนิส เออร์วิน แบ็กซ้ายของทีมเล่าว่า ตอนนั้นเขาไม่เห็นด้วยและมีความคิดแย้งกับ เฟอร์กี้ โดย เออร์วิน ไม่เชื่อว่าจะมีใครมาแทน คันโตนา ได้ แถมยังฟันธงอีกว่า นักเตะอย่าง คันโตนา จะเล่นในระดับสูงได้อีกหลายปีจากที่เขาเคยได้สัมผัสและใกล้ชิดมาตลอด 5 ปีหลัง ... แต่กระนั้น จะมีใครรู้ดีกว่าเจ้าตัวล่ะ ? 

พรีเมียร์ ลีก รีแบรนด์ใหม่จาก ดิวิชั่น 1 ในปี 1992 ในยุคนั้นนักเตะหลายคนยังมีไลฟ์สไตล์นอกสนามที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพอยู่มาก หลายคนเป็นพวกดื่มเหล้าสำมะเลเทเมาหลังแข่ง ยกตัวอย่างเช่นนักเตะในทีม น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในยุคกลาง 90s ที่เคยบอกว่า หลังซ้อมเสร็จ นักเตะในทีมมักจะรวมตัวกันที่ร้านฟาสต์ฟู้ด และหาเบียร์ดื่ม เหมือนกับพนักงานออฟฟิศทั่วไปเลยทีเดียว

เรื่องนี้ต้องลองมองกว้าง ๆ ดูสักหน่อย หากสังเกตให้ดี เมื่อเอานักเตะยุคโน้นมาเทียบกับนักเตะยุคนี้ก็จะเห็นชัดมาก โดยเฉพาะเรื่องสรีระร่างกาย  

ในยุคนั้นนักเตะหลายคนไม่ได้มีเทรนเนอร์ส่วนตัว ไม่ได้มีใครคอยออกแบบตารางการออกกำลังกาย ไม่มีเครื่องเช็คมวลร่างกายว่าควรออกกำลังกายแบบไหน เล่นเวทจุดไหน จึงจะทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นจะพบว่านักเตะในยุคนั้นหลายคนออกแนวท้วม ๆ ซึ่งต่างจากยุคนี้ที่ร่างกายถูกออกแบบมาให้พร้อมกับการใช้งานมากที่สุด ถามว่าช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมันเริ่มตอนไหน ก็คงต้องบอกว่าปลายยุค 90s ต่อ 2000s นั่นแหละ ที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว นักเตะคนไหนตามไม่ทันก็จะตกยุคไปทันที ... 

การเลิกเล่นของ คันโตนา คาบเกี่ยวกับยุคนั้นพอดิบพอดี อาจจะเหลื่อม ๆ มาก่อนกาลนิดหน่อย แต่ คันโตนา ก็รู้ดีว่า เขาอาจจะไม่เหมาะกับฟุตบอลยุคมิลเลนเนียมที่กำลังจะมาถึงก็เป็นได้ 

"การจะเป็นนักเตะที่เล่นในระดับสูงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใส่ใจและระแวดระวังกับทุกเรื่อง ก่อนจะเอาอะไรใส่ปาก คุณต้องคิดก่อนแล้วว่ามันดีกับร่างกายไหม แม้กระทั่งขึ้นเตียง คุณก็ยังต้องคิดต่อไปอีกว่านอนแบบไหนจึงจะดีต่อร่างกาย" คันโตนา คิดเช่นนั้นตั้งแต่ยุคที่นักเตะสมัยเดียวกับเขาหลายคนยังดื่มเหล้าและกินตามใจปากอยู่เลย ซึ่งใครจะรู้ว่าในเวลาต่อมา นักฟุตบอลเบอร์ 1 ของยุคนี้อย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ยังต้องมีเชฟกับนักโภชนาการส่วนตัว รวมถึงมีคนออกแบบตารางการนอนให้อีกต่างหาก

คันโตนา รู้ดีว่าเขาคงจะกินตามตาราง ออกกำลังกายตามเทรนเนอร์ เข้านอนแต่ห้วค่ำ และวางตัวแบบมืออาชีพที่ดีไม่ได้ ในโลกฟุตบอลยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง นั่นแหละคือเหตุผลเดียวที่เขารู้ว่า เขาไม่ควรจะเล่นฟุตบอลต่อไป ... เขากำลังจะเป็นคนที่เก่งน้อยลง และนั่นไม่แฟร์กับต้นสังกัดอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด 

"ผมว่าถ้าผมไม่แขวนสตั๊ดในวันนั้น ผมน่าจะเล่นได้อีกสัก 10 ปี แต่ผมไม่ทำหรอก" คันโตนา เริ่มเล่า

"มันอาจจะนานกว่านั้นก็ได้ตราบใดที่ยังรักในสิ่งที่ทำ เชื่อไหมผมถามตัวเองทุกวันว่า ไอ้ความรู้สึกรักและหลงใหลมันคงเหมือนสวิตช์ไฟสำหรับผม อีกไม่นานคงมีใครมาเปิดมัน ผมคุยกับตัวเองว่า 'เดี๋ยวมัน (แพชชั่น) ก็กลับมา เดี๋ยวมันก็กลับมา' คิดไปซ้ำ ๆ อย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้วมันไม่เคยกลับมาหาผมเลย"  

 

ไอคอนผู้ร่ำรวยความสุข 

เอริก คันโตนา เลือกที่จะออกจากฟุตบอลในวันที่เขารู้ตัวว่ายุคสมัยของเขากำลังเดินทางมาถึงตอนจบ ... แม้ความหมายอาจจะคนละอย่างกับที่หลายคนเข้าใจว่า "เขาเลิกเล่นตอนกำลังพีค" แต่สุดท้ายปลายทางที่เหมือนกันสำหรับการแขวนสตั๊ดนั่นคือ "ทุกคนจดจำภาพสุดท้ายอันยิ่งใหญ่ของเขา"

ไม่มีคำถามว่า "เก่งจริงทำไมไม่เคยได้แชมป์ลีกอื่นบ้างเลย ?", "เก่งจริงทำไมไม่ประสบความสำเร็จในทีมชาติฝรั่งเศส ?" อีกต่อไปแล้ว ทุกครั้งที่พูดชื่อ คันโตนา ไม่มีใครพูดถึงช่วงเวลาขาลงของเขา มีแต่ช่วงเวลาแห่งตำนานกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เท่านั้น ... หลายคนอาจจะเสียดายที่ คันโตนา เลิกเล่นเร็วเกินไป เพราะหลังจากแขวนสตั๊ดเพียง 2 ปี แมนฯ ยูไนเต็ด ก็คว้าแชมป์ยุโรปที่รอคอยได้สำเร็จ แถมยังเป็น "เทรเบิล แชมป์" 3 ถ้วยในซีซั่นเดียวอีกด้วย แต่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าหาก คันโตนา เล่นไปอีกสัก 2-3 ปีด้วยสภาพจิตใจที่เขาเป็น ภาพของเขาอาจจะไม่ได้สูงค่าและอาจไม่ได้เป็น "ราชาตลอดกาล" เหมือนกับทุกวันนี้ก็ได้ 

ตัดภาพของนักฟุตบอลคนหนึ่งออกไป และลองมองภาพ คันโตนา เป็นเหมือนกับคนธรรมดา ... เราจะได้เห็นอะไรที่ต่างออกไปจากที่สื่อพยายามบอกถึงเรื่องราวของเขาได้ชัดมากขึ้น

คันโตนา เหมือนกับคนยุคนี้ที่ข้ามเวลากลับไปในยุค 90s 

เขาคือชายคนหนึ่งที่วางแผนการเกษียณไว้ในหัวตลอด และเลือกช่วงเวลาเกษียณได้ถูกที่ถูกจังหวะสุด ๆ เขาได้เงินและชื่อเสียงจากอาชีพที่เคยทำ 

ในวันที่เขาหมดรักกับสิ่งนั้นแล้ว เขาก็แค่ออกมาจากสิ่งที่อยู่แล้วไม่มีความสุข มาตามหาสิ่งใหม่ในชีวิตและมันอาจจะทำให้เขารู้สึกดีกว่าเดิม มีความสุขกว่าที่เคยเป็นก็ได้ ... นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นตามคอนเทนท์ในหน้าโซเชียลต่าง ๆ ในหัวข้อการวางแผนเกษียณของคนยุคปัจจุบัน ที่กำลังสนใจเรื่องเหล่านี้กันมาขึ้นเรื่อย ๆ 

คันโตนา พบกับเส้นทางสายบันเทิงที่ทำให้เขาได้หลงใหลกับมันเหมือนที่ฟุตบอลเคยทำไว้ ... แม้ที่สุดแล้วงานในวงการบันเทิงของ คันโตนา อาจจะไม่ได้ไปไกลมากนักในระดับฮอลลีวูด แต่งานแสดงของเขาก็มีออกมาให้เห็นและปรากฏผ่านสื่อเสมอ อาจจะมากกว่านักเตะระดับแถวหน้าของโลกในยุคของเขาหลาย ๆ คนก็ได้ 

อาทิ มิวสิควิดีโอเพลง Once เมื่อปี 2019 ของ เลียม กัลลาเกอร์ อดีตสมาชิกวงดนตรีดังของอังกฤษอย่าง Oasis ที่ถือว่าเป็นแฟนเดนตายพันธุ์แท้ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อริตลอดกาลของ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็เป็นการบอกถึงตัวตนและสิ่งที่ คันโตนา ทำภายใต้ความสงสัยของคนอื่นอย่างชัดเจน

ในมิวสิควีดีโอนั้น คันโตนา สวมบทบาทดั่งราชา มีผ้าคลุมและสวมมงกุฎ เดินไปทั่วบ้านหลังหนึ่งที่ใหญ่โตราคาแพง แต่ภายในกลับมีแต่ของระเกะระกะไปหมด ... คันโตนา คือคนแบบนั้น เขายิ่งใหญ่ แต่มักจะมีความคิดที่ใครเห็นก็ต้องสงสัย และต้องตีความในสิ่งที่เขาทำเสมอ ...  

"ผมแม่งโคตรระทึกเลยว่ะ ที่ได้ทำงานกับนักบอลร็อคแอนด์โรลคนสุดท้าย เพลงแบบนี้แม่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เหมือนกับนักบอลแบบเขานั่นแหละ" นี่คือสิ่งที่ เลียม กัลลาเกอร์ พูดถึง คันโตนา และยืนยันว่านี่จะเป็นนักเตะ แมนฯ ยูไนเต็ด คนเดียวที่เขายอมกล่าวคำสรรเสริญ ... ซึ่งประโยคดังกล่าวของ เลียม นั้นแสดงความชัดเจนในตัวตนของ คันโตนา ออกมาที่สุดแล้ว

ทำงานที่อยากทำ ไปในที่ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข รู้จักจิตวิญญาณของตัวเองให้เหมือนกับเพื่อนซี้ที่มองตาก็รู้ใจ และทำในสิ่งที่ถูกต้องกับตัวเองมากที่สุด ... เมื่อนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหน คุณจะกลายเป็น "ตำนาน" ที่ควรค่าแก่การสรรเสริญ เหมือนกับที่ คันโตนา เป็น

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/man-utd-latest-news-cantona-17100202
https://www.manutd.com/en/news/detail/eric-cantona-retirement-one-of-most-shocking-moments-for-man-utd#
https://thepeoplesperson.com/2017/12/01/eric-cantona-on-why-he-retired-from-football-aged-just-30-years-old-191813/
https://www.joe.co.uk/sport/eric-cantona-retirement-150869

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น