News

สำคัญกว่าที่คิด งานวิจัยในอังกฤษ เผยแข้งเยาวชนกว่า 75% จาก 160 คนในประเทศ มีปัญหาสุขภาพช่องปาก ส่งผลกระทบต่อการเล่นฟุตบอล

หากใครยังจำกันได้ เมื่อช่วงก่อนเปิดซีซั่น ฮันซี่ ฟลิค ผู้จัดการทีมบาร์เซโลน่า ได้ทำการเรียกนักเตะทุกคนมาตรวจสุขภาพ โดยหนึ่งในส่วนที่มีความพิเศษขึ้นมาคือมีโปรแกรมตรวจช่องปากและฟัน เพราะพวกเขาเชื่อว่าส่วนดังกล่าวของร่างกายสามารถส่งผลกระทบไปถึงระบบอื่น ๆ รวมถึงฟอร์มการเล่นในสนาม

 


อย่างไรก็ตามแนวคิดข้างต้นถูกนำมาวิจัยต่อในเด็กเยาวชนทั้งชายและหญิงที่เล่นฟุตบอลอายุ 16-18 ปี จำนวน 160 คน จาก 10 สโมสรพรีเมียร์ ลีก, แชมเปี้ยนชิพ และลีกหญิง ในประเทศอังกฤษ โดย University College London

และปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นร้ายแรงกว่าที่คาด เพราะพบว่านักฟุตบอลชายและหญิงอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับฟันผุและสุขอนามัยในช่องปาก มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นฟุตบอลในวัยไล่เลี่ยกัน

ดร.ซอล คอนวิเซอร์ หนึ่งในผู้เขียนการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ กล่าวกับ BBC ถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่าปัจจุบันจำเป็นต้องมีหลายแนวทางเพื่อจัดการกับปัญหา ซึ่งรวมถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาหลอดเลือดหัวใจที่เชื่อมโยงกับโรคช่องปาก และการดูแลช่องปากเป็นประจำสำหรับนักเตะ

"เราคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะนำหลักฐานนี้ไปใช้เพื่อให้คำแนะนำและสนับสนุนทีมแพทย์ในสโมสรฟุตบอล เป็นโอกาสที่หน่วยงานกีฬาจะดำเนินการ เราไม่อยากให้สุขภาพช่องปากที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเล่นกีฬา จำเป็นต้องมีความเข้าใจมากขึ้นว่าช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย"

"นักกีฬาหลายคนมักชอบบ่นเรื่องอาการปวดฟัน เหงือกเลือดออก และบอกว่าไม่สามารถฝึกซ้อมได้ในบางช่วงเนื่องจากติดเชื้อในช่องปาก และเมื่อปัญหาเรื่องช่องปากรุนแรงขึ้นมันอาจส่งผลต่อเนื่องได้ อาทิเรื่อง ความสามารถ ศักยภาพ และความเต็มใจที่จะแข่งขัน"

ซึ่งปัจจัยที่นำมาใช้วิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันไม่เพียงพอ, การบริโภคน้ำตาลและน้ำอัดลมที่มากเกินไป และความเครียดที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เน้นแต่การเล่นกีฬาซึ่งอาจทำให้ฟันสึกและผุได้

จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า

- มีเพียง 76% เท่านั้นที่ยืนยันว่าแปรงฟันวันละสองครั้ง (เทียบกับเด็กอายุ 15 ปีในอังกฤษ อยู่ที่ 81%)
- ผู้เล่น 76.8% ในการศึกษามีโรคเหงือกอักเสบ (เทียบกับเด็กอายุ 15 ปีในอังกฤษ มีเพียง 40%)
- ผู้เล่น 22.5% แสดงอาการของโรคเหงือกที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
- ผู้เล่น 31.2% มีฟันผุที่มองเห็นได้ซึ่งต้องได้รับการรักษา (เทียบกับเด็กอายุ 15 ปีในอังกฤษ อยู่ที่ 24%)
- ผู้เล่น 15.5% มีฟันสึกปานกลางถึงรุนแรง

นอกจากนี้การศึกษายังบอกด้วยว่าการสึกของฟันบางกรณีมีความเกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร โดยพบรูปแบบที่คล้ายกับกรดไหลย้อนและอาการผิดปกติของการกิน เช่น โรคบูลิเมีย

และงานวิจัยยังระบุอีกว่าบรรดานักเตะพึ่งพาการตรวจสุขภาพก่อนฤดูกาลแทนที่จะไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ โดยหนึ่งในห้าคนที่ไม่ได้ไปพบทันตแพทย์นานกว่าสองปี พบว่าผลการศึกษาสอดคล้องกับระดับโรคช่องปากที่เกิดขึ้นสูงในนักฟุตบอลชายระดับอาชีพ ที่ระบุไว้ในการศึกษาวิจัยโดย UCL Eastman Dental Institute เมื่อปี 2015-16 ซึ่งพบว่าสุขภาพช่องปากของนักฟุตบอลแย่กว่าค่าเฉลี่ยของผู้ชายในวัยเดียวกันถึง 10%

สุดท้าย ดร.ซอล คอนวิเซอร์ กล่าวว่าสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ตอบรับการศึกษาวิจัยเรื่องช่องปากเป็นอย่างดีส่วนวิธีแก้ปัญหาที่แนะนำ ได้แก่ การที่ผู้เล่นบ้วนปากด้วยน้ำหลังจากดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และให้ผู้เล่นไปตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ

 

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Graphic

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1