News

0-33 แพ้เละไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่าความสุข ของแฟนบอล “กวม”

การแข่งขันฟุตบอลรายการ AFC U-17 Asian Cup 2025 รอบคัดเลือก ได้มีผลการแข่งขันที่ทำเอาหลายคนประหลาดใจเกิดขึ้น หลังหมู่เกาะกวม ที่ตั้งอยู่ในโซนหมู่เกาะแปซิฟิก แพ้ให้กับ สิงคโปร์ ด้วยสกอร์ 0-33 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ขาดลอยจนเป็นสถิติที่ขาดลอยที่สุดในรายการที่ AFC รับรอง

 

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หมู่เกาะกวม แพ้ด้วยสกอร์เลขสองหลักแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะทีมชาติชุดไหน ๆ พวกเขาก็ยังถือว่ามีฝีเท้าห่างไกลกับทีมในทวีปเดียวกัน อย่างไรก็ตามแม้ผลการแข่งขันจะไม่เป็นอย่างที่หวัง แต่ความสนใจในฟุตบอลจากประชากรในหมู่เกาะกวมที่มีประชากรเพียง 18,000 คน กลับมีเพิ่มมากขึ้นในทุกปี

10 ปีที่ผ่านมา หมู่เกาะกวมใช้อะไรขับเคลื่อนกีฬาฟุตบอลในประเทศแม้ส่วนใหญ่พบกับความพ่ายแพ้ ติดตามได้ที่ Main Stand

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าประชากรที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะกวม ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมือง (Chamaro) ราว 37%, เชื้อสายฟิลิปปินส์ 26%, จากหมู่เกาะแปซิฟิค 11%, คนผิวขาว 6%, เชื้อสายเอเชีย 6% และที่เหลือเป็นเป็นคนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ

ส่วนสมาคมฟุตบอลหมู่เกาะกวม ก่อตั้งเมื่อปี 1975 โดยกลุ่มผู้ชายที่หลงรักฟุตบอลเพื่อสันทนาการพร้อมเริ่มมีการจัดการแข่งขันระดับเยาวชนภายในประเทศ กระทั่งในปี 1991 หมู่เกาะกวมได้เข้าเป็นสมาชิกของร่วมสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย(AFC) และกลายเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(FIFA) ในปี 1996

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพวกเขาก็เริ่มทยอยส่งทีมเข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ ทั้งทีมเยาวชนและทีมชาติชุดใหญ่ ไล่ตั้งแต่ U-14, U-16, U-17, U-19, U-20 และทีมชุดใหญ่ ก่อนจะมีทีมฟุตซอลหมู่เกาะกวมผุดเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง

อย่างไรก็ดีหมู่เกาะกวม มักตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อยู่ตลอด มีแค่เพียงบางเกมเท่านั้นที่พวกเขาได้ผลสกอร์ที่ต้องการ โดยชัยชนะครั้งสำคัญของพวกเขาเกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก ที่เฉือน เติร์กเมนิสถาน 1-0 และชนะ อินเดีย 1-0

เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกครั้งแรกของกวม เท่านั้น แต่ยังเป็นครั้งแรกที่สมาคมฟุตบอลขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และเป็นครั้งแรกที่ทีมชาติได้รับการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ท้องถิ่น

"นี่เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงกวม เปลี่ยนแปลงฟุตบอลที่นี่ พูดตามตรง มันดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง มันเหมือนความฝันเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้เกมฟุตบอลของเราเติบโตขึ้น เรามีเด็กๆ จำนวนมากที่นี่ที่ใฝ่ฝันที่จะอยู่ในทีม Matao (ทีมชาย) หรือ Masakada (ทีมหญิง) มันช่วยยกระดับเกม มันสร้างความตระหนักรู้"

"ผลลัพธ์นี้ไม่เพียงแต่มีศักยภาพที่จะฟื้นคืนวงการฟุตบอลที่นี่เท่านั้น แต่ยังดึงความสนใจไปที่หมู่เกาะกวมโดยทั่วไป และช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูทางวัฒนธรรมบนเกาะอีกด้วย"

"ผมใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการแข่งขันอยู่กับทีม และสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดคือพวกเขาภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของพวกเขาซึ่งสืบย้อนไปถึงชาวชามอร์โรพื้นเมือง" เจสัน คันลิฟฟ์ อดีตกัปตันทีมที่รับใช้ชาติมาอย่างยาวนาน  กล่าว

หลังจากนั้นสมาคมฟุตบอลกวม ก็เดินหน้าพัฒนากีฬาฟุตบอลภายในประเทศอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่ระดับเยาวชน แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่น เข้ามาสร้างมาตรฐานลูกหนังของประเทศ แถมหาผู้สนับสนุนได้แบบไม่ขาดสาย เช่น Budweiser, Macron และ Powerade

และจนถึงปัจจุบันในเว็บไซต์สมาคมฟุตบอลกวม ได้ระบุว่ามีเยาวชนในหมู่เกาะกว่า 3,500 คน และผู้ใหญ่กว่า 1,500 คนลงทะเบียนแข่งขันในลีกระดับต่าง ๆ ในประเทศทั้งชายและหญิง ซึ่งนับได้อยู่ที่ราว 30% ของประชากรทั้งหมด

สรุปได้ว่าเหตุผลที่สมาคมฟุตบอลกวมยังไม่ย่อท้อและมุ่งมั่นเดินต่อ คงหนีไม่พ้น วัฒนธรรม ความสุขของคนในประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นตั้งแต่อดีตที่ประชากรบนหมู่เกาะกวมมีให้กัน

แม้ว่าวันนี้ พวกเขาจะเจอกับความพ่ายแพ้หลัก 10 ลูก แทบทุกเกมที่ลงแข่งขันในทุกรุ่นอายุ  แต่ตราบเท่าที่สมาคมฟุตบอลของเขายังคงสนับสนุนการส่งทีมเพื่อการพัฒนา และเป้าหมายคือการสร้างความสุข  นี่คือสิ่งที่น่าชื่นชมในการยึดมั่นพัฒนาสู่อนาคต

เพราะวันนี้ ความสำเร็จหนึ่งของ “กวม” คือ การที่ฟีฟ่ารับรองการเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ทั้งที่เป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ ในการปกครองของสหรัฐฯ และมีประชากรเพียงไม่มาก  ทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง  เชื่อว่าวันนึง พวกเขาจะพัฒนาฝีเท้าของตัวเองเพื่อพัฒนาอันดับโลกได้

 

ภาพ: GUAM

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน