News

"โซตัส" ระบบรับน้องสุดโหด ควรใช้กับทีมฟุตบอลจริงหรือ?

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่อนหนังสือแสดงการต่อต้านระบบการรับน้องแบบ "โซตัส" สืบเนื่องจากที่มีการเผยแพร่บทความที่กล่าวถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของสมาชิกบางส่วนจากชมรมฟุตบอลภายใต้ฝ่ายกีฬาของสโมสรนิสิตฯ

 


ส่งผลให้หนังสือฉบับดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามมากมายจากบรรดานักท่องโลกออนไลน์ว่า ระบบการรับน้องแบบโซตัส ยังไม่หมดไปจากประเทศไทยอีกหรือ พร้อมถามหาถึงเหตุผลของการนำใช้ภายในชมรมฟุตบอล

Main Stand จึงสอบถามถึงผู้ผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาแล้วจริง ๆ ว่าระบบแบบนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และการรับน้องแบบโซตัสจะสร้างประโยชน์ต่อทีมฟุตบอลได้จริงหรือไม่? ...ร่วมหาคำตอบได้ในโพสต์นี้

ต้นสายปลายเหตุของหนังสือต่อต้านโซตัสฉบับล่าสุด ที่ทางสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่อนออกมา ต้องย้อนกลับไปก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2566 เมื่อมีนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตนายกสมาคมนิสิตจุฬา ได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ (หรือ X) เกี่ยวกับเหตุกาณ์ที่เดินผ่านบริเวณหน้าแอมพาร์ค

โดยเจ้าตัวทวิตข้อความว่า "ได้ยินเสียงว้ากน้องดังมาจากในมหาวิทยาลัย เจ้าตัวเลยเดินเข้าไปดูเหตุการณ์ใกล้ ๆ ก่อนจะได้พบเข้ากับกลุ่มนิสิตสวมชุดกีฬา พอถามว่าทำอะไร บุคคลกลุ่มดังกล่าวก็ไม่ตอบ แต่เปลี่ยนท่าทีการพูดเป็นสอนเรื่องการใช้ชีวิตพร้อม ๆ กับโทนเสียงที่ซอฟต์ลง"

หลังจากนั้นโพสต์ต้นทางของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ก็มีผู้ที่เคยพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันออกมาเสริมว่า "เห็นรุ่นพี่สั่งน้องนั่งเข้ากำแพง ให้ลุกนั่ง ตะคอกใส่ นี่เลยไปบอกยามให้ไปเตือน ยามบอกว่าเป็นชมรมบอล ทำงี้ประจำช่วงนิสิตเข้าใหม่ ยามบอกเคยเตือนเพราะมีคนแจ้งบ่อยแต่ก็ยังทำอยู่ เดินไปถ่ายภาพก็ไม่ยอมหยุดใครเตือนได้เตือนทีค่า กลัวเกิดอันตราย"

อย่างไรก็ตามหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าระบบการรับน้องแบบโซตัส นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์เสียชีวิตจากการโดนรับน้องตามสถาบันการศึกษาปรากฏอยู่บนหน้าข่าวอยู่เรื่อย ๆ ทว่าในกรณีที่สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่อนหนังสือออกมาดันเกิดขึ้นในทีมฟุตบอล

ซึ่งจากที่ Main Stand ได้สอบถามไปยังผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์รับน้องแบบโซตัสของชมรมฟุตบอลจุฬาฯ ปรากฏว่ามีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ พร้อมเผยถึงมุมมองของแต่ละคนดังนี้ โดยนิสิต A เผยว่า "อันที่จริงการรับน้องแบบนี้ มีการปฏิบัติต่อกันมานานแล้ว"

"มันขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนว่าจะมองมุมไหน ส่วนใหญ่อาจมองว่าไม่ดี แต่สำหรับผม ผมเห็นว่าการรับน้องแบบนี้มันช่วยให้เกิดความสามาคคีในหมู่คณะ ที่มันจะถูกนำมาใช้ในสนามหรือในการแข่งขัน"

ขณะที่นิสิต B มีความเห็นที่แตกต่างจากนิสิต A พร้อมบอกว่าไม่ชอบระบบโซตัสในชมรมกีฬาฟุตบอลจุฬาฯ แต่ต้องจำใจทำตามเพราะเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา "ตอนที่ได้สัมผัสกับระบบรับน้องแบบนี้ครั้งแรก ผมไม่ชอบเลยครับ ถึงขั้นที่เคยมีความคิดออกจากชมรม หรือแม้กระทั่งย้ายมหาลัย"

"สำหรับผม ผมว่าการรับน้องแบบโซตัสมันมีแต่ข้อเสีย เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้วยังไม่ได้ทำให้รู้สึกเคารพรุ่นพี่ด้วยใจจริง แต่จะเป็นความรู้สึกลัว ซึ่งความกลัวนี้มันจะส่งผลต่อไปถึงเรื่องในสนาม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน ตัวอย่างเช่นหากผมลงแข่งขันพร้อมกับเพื่อนร่วมทีมที่เป็นรุ่นพี่ ผมจะมีความรู้สึกกดดัน ไม่กล้าเล่น กลัวทำบอลเสีย เพราะกลัวรุ่นพี่ต่อว่าและไม่พอใจ"

ซึ่งในต่างประเทศการรับน้องแบบโซตัสในสโมสรฟุตบอลอาชีพคงเป็นเรื่องที่ยากจะพบเจอ เพราะการรับน้องของพวกเขาเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คุยกันอย่างเป็นกันเอง และให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้หากระบบการรับน้องแบบโซตัส ดีจริง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เยอร์เก้น คล็อปป์ หรือ ผู้อำนวยการกีฬาของสโมสรในพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ คงจับนักฟุตบอลนั่งปิดตาหันหน้าเข้ากำแพงทุกสัปดาห์ ...แล้วแฟน ๆ Main Stand มีความเห็นเรื่องโซตัสในทีมฟุตบอลอย่างไร ?

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Graphic

วิสุทธา วงค์หน่อแก้ว

หนุ่มน้อยผู้คลั่งรัก "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สุดหัวใจ