Muay Thai

โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ : ตำนานแชมป์ 3 เส้น จอมปราบลุมพินีผู้เป็นความภาคภูมิใจเวทีราชดำเนิน | Main Stand

“โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ เป็นมวยฝีมือดี แม้ไม่ใช่ที่สุดในยุคของตัวเอง แต่ชัยชนะเหนือ นำขบวน หนองกี่พาหุยุทธ ว่าที่ยอดมวยปี 2535 จากเวทีลุมพินี ขาดลอยชนิดสู้กันไม่ได้ ทำให้เขากลายเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งยวดของเวทีราชดำเนิน”

 

“ชัยชนะไฟต์ดังกล่าวทำให้เขาก้าวขึ้นเป็น ยอดมวยหมายเลข 1 ของเวทีราชดำเนิน พร้อมทั้งนำพาวิกแอร์กลับมาคึกคักและได้รับความนิยม ในช่วงเวลาที่เจ้าตัวค้ากำปั้นอีกด้วย”

เรื่องราวระหว่าง โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ กับ สนามมวยเวทีราชดำเนิน ยังมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอีกมาก ผู้ที่จะมาเล่าเรื่องของจอมฝีมือสุดคลาสสิกแห่งยุค 90s ได้ดีสุดคนหนึ่งคงหนีไม่พ้น “สายันต์ เย็นวัฒนา” อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารมวยตู้ และผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์คิกออฟ

บก.สายันต์ รู้จักมักคุ้นกับ สมมาตร หงสกุล หัวหน้าคณะจ๊อกกี้ยิม นั่นจึงทำให้เขาพลอยสนิทชิดเชื้อกับบรรดานักชกในค่ายเป็นอย่างดี จากการที่ต้องบิดจักรยานยนต์ “เมท 88” คันโก้เดินทางไปทำข่าวที่ค่ายมวยชื่อดังแห่งซอยสีน้ำเงิน ย่านบางโพ เป็นประจำ 

วันนี้ Main Stand ขอชวน สายันต์ มาร่วมย้อนตำนาน “โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์” ตั้งแต่ครั้งยังเป็นไอ้แอ้ดรุ่น 100 ปอนด์ กระทั่งเติบใหญ่กลายเป็น ยอดมวยดีกรี แชมเปี้ยนเข็มขัด 3 พิกัดรุ่นของสนามมวยเวทีราชดำเนิน

 

ปราบ “แซมซั่น” ตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก

“เส้นทางการเข้าเมืองกรุงของโรเบิร์ตจะแตกต่างจากยอดมวยคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่เข้ามาชกสร้างกระดูกตั้งแต่ยังเล็กจนเก่งที่เวทีใหญ่ (ในสมัยนั้น เวทีใหญ่ หมายถึง เวทีราชดำเนิน กับ ลุมพินี) แต่สำหรับโรเบิร์ต เขาเก่งมาจากภูธร เข้ามาชกที่เวทีราชดำเนินไม่กี่ไฟต์ก็กลายเป็นแชมป์อย่างรวดเร็ว”

“ก่อนอื่นผมขอเท้าประวัติเขาสักเล็กน้อยนะครับ โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ มีชื่อจริงว่า พินิจ สมเพชร เกิดที่เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2515 หัดมวยครั้งแรกตอนอายุ 11 ปี กับ แก่นใจ เวียงวิเศษ หรือ กิ่งกัณหา ศักดิ์ประมวล หัวหน้าคณะแก่นนรสิงห์ ซึ่งเป็นพ่อของ วันวิเศษ แก่นนรสิงห์ หรือ พงษ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ ยอดมวยในตำนานอีกคนของเวทีราชดำเนินนั่นเอง” 

“ขึ้นชกครั้งแรกในชื่อ อดิศักดิ์ แก่นนรสิงห์ น้ำหนักตัวประมาณ 35 กิโลกรัม เอาชนะคะแนนได้ค่าตัว 150 บาท หลังจากก็นั้นเดินสายชกทั่วภาคอีสานพร้อม ไก่-พงษ์สิทธิ์ ซึ่งเกิดปีเดียวแต่แก่เดือน ปรากฏว่าอดิศักดิ์ยิ่งชกยิ่งเก่ง เอาชนะนักมวยเด็กมีชื่อของภาคอีสานไปนับไม่ถ้วน”

“ไฟต์ที่แฟนมวยพูดถึงมากที่สุดคือนัดที่เอาชนะคะแนน แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ หรือ แซมซั่นอีสาน ไปสนุกขาดลอยตอนท้าย ๆ” 

“นอกจากนี้ โรเบิร์ต ยังเคยชนะ ฤทธิเดช ส.เพลินจิต, เพชรใหม่ ณ เดชอุดม, บัลลังก์ทอง ลูกบ่อไร่ มีแพ้ แสนไกล ศิษย์ครูอ๊อด แค่คนเดียว เพราะส่วนใหญ่ต้องปล่อยน้ำหนักขึ้นไปปะทะกับนักมวยพิกัดใหญ่กว่า เนื่องจากพิกัดเดียวกันไม่มีตัวสู้”

“พออายุได้14 ปี กิ่งกัณหา ศักดิ์ประมวล จึงพาเข้ากรุงมาอยู่กับ สมมาตร หงสกุล ที่ค่ายจ๊อกกี้ยิม ตั้งอยู่ภายในซอยสีน้ำเงิน ย่านบางโพ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ส่วนพงษ์สิทธิ์ยังเรียนไม่จบ ม.3 ที่ขอนแก่น จึงตามมาอยู่ด้วยในปีถัดมา”

“ในเวลาไล่เลี่ยกัน อรัญ มิตรสมาน ก็พา 2 พี่น้องจากบ้านไผ่ พิมพ์อรัญ - พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ มาฝากซ้อมที่ค่ายจ๊อกกี้ยิม ทำให้ 3 เด็กหนุ่มจากเมืองหมอแคน ไก่ (วันวิเศษ) - บาส (สมรักษ์) - อ๋อง (ชื่อเล่นโรเบิร์ต) ซึ่งมีวัยใกล้กันกลายเป็นเพื่อนรักในเวลาต่อมา” 

“ยิ่งในยามที่ทั้ง 3 คนโด่งดัง คู่ต่อสู้ที่พิมพ์อรัญเล็กกับวันวิเศษเคยแพ้มาบางคนถูกโรเบิร์ตตามไปเช็คบิลชำระแค้นให้อย่างสะใจ”

“ส่วนที่ป๋ามาดตั้งชื่อ โรเบิร์ต ก็เพราะได้ยินเพื่อนนักมวยเรียกเจ้าอ๋องเป็นภาษาอีสานว่า บักเบิ่ด เพราะเห็นว่าหนังตาตกจนตาปรือเหมือนคนง่วงนอน ประกอบกับป๋ามาดแกเคยดูพระเอกฮอลลีวูดชื่อ โรเบิร์ต มิตชั่ม เล่นหนังหลายเรื่อง พระเอกรายนี้มีเอกลักษณ์สะดุดตาที่น่าจดจำคือตาปรือเหมือนเจ้าอ๋อง จึงตั้งชื่อ โรเบิร์ต ให้อย่างไม่ลังเล”

 

คว้าแชมป์แรกจากคู่แฝดเพชรบูรณ์

“อย่างที่บอกไปว่าโรเบิร์ตขึ้นชกเวทีราชดำเนินไฟต์แรกในฐานะมวยเก่ง ไม่ใช่มวยหน้าใหม่เหมือนนักมวยทั่วไป ในช่วงแรก บักปรือ ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อมวลชนและแฟนมวยเรียก ขึ้นชกในรายการศึกมุมน้ำเงิน ของ พ.อ. (พิเศษ) บรรจุ อ่องแสงคุณ โดยมี เส่ย ลี้ถาวรชัย เป็นมือประกบ”

“ถือเป็นดาวรุ่งรุ่นเล็กที่น่าจับตามองมากในเวลานั้น เพราะเป็นมวยถนัดซ้าย รูปร่างสูงยาว แต่ไม่ใช่มวยเข่าอาชีพ กลายเป็นมวยฝีมือระดับไอคิว 180 ออกอาวุธคล่องแคล่ว จุกจิก ชกยาก ด้วยความที่ตาปรือเหมือนจะง่วงนอนตลอดเวลา แถมหลายไฟต์ยังออกอาวุธเรื่อย ๆ แบบไม่เร่งรีบ คู่ต่อสู้คิดว่าเป็นมวยแรงน้อยจึงเดินเข้าหา กลายเป็นว่าโดนโรเบิร์ตดักเตะเข่าล่อเป้าจนเจ๊งชัยไปขาดลอย”

“ในเวลาต่อมา เส่ย แซ่ลี้ ก้าวขึ้นเป็นโปรโมเตอร์ศึกวันมวยไทย โดยมี 2 โปรโมเตอร์พันธมิตรอย่าง เสี่ยดำ - เติมศักดิ์ ปิติธนสารสมบัติ เจ้าของศึกเพชรทองคำ และ แชแม้ - นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ เจ้าของศึกพลังหนุ่ม แลกมวยกันจัดจนเกิดเป็นกลุ่ม ส.ม.ด. (เส่ย-แม้-ดำ) กลายเป็นโปรโมเตอร์อันดับ 1 ของเวทีราชดำเนินในช่วงเวลานั้น”

“ทำให้นักชกในเครือ ส.ม.ด. ก้าวขึ้นเป็นนักมวยแม่เหล็กของวิกแอร์ราชดำเนินหลายคน รวมทั้ง โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ ด้วย เพราะหลังจากปราบนักมวยรุ่นเล็กในเวตเดียวกันจนแทบหมดตัวชก ไม่ว่าจะเป็นการชนะ ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย และชนะ แรมบ๊องส์ - ชูชัย เกียรติชาญสิงห์ จึงได้รับโอกาสขึ้นชิงแชมป์เวทีราชดำเนินเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2532”

“แชมเปี้ยนรุ่นมินิฟลายเวต 105 ปอนด์ของเวทีราชดำเนินในเวลานั้นคือ สงคราม ป.เปาอินทร์ ฝาแฝดจอมแกร่งจากเมืองมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ สงครามนักชกแฝดน้องเป็นเจ้าของตำแหน่งที่ไร้เทียมทานมาก มวยรุ่น 105 ปอนด์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวยเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี ขึ้นมาเจอสงครามขู่จนถอดใจแพ้กลับไปเป็นส่วนใหญ่”

“สงครามมีแฝดพี่ชื่อ ชนะ ป.เปาอินทร์ เวลานั้นเป็นแชมป์มวยสากลรุ่น 105 ปอนด์เวทีราชดำเนิน แชแม้ - นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ กำลังนำไปสร้างสรรค์เป็นแชมป์โลก แม้สงครามจะชกมวยไทยแต่ด้วยชื่อเสียงของแชมป์คู่พี่น้องฝาแฝด ทำให้สงครามกลายเป็นมวยความเชื่อถือดีขึ้นมาทันที”

“การชกวันนั้นใครก็มองว่า บักปรือวัย 17 ปีคงต้านเจ้าของตำแหน่งรุ่นพี่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยที่แข็งแกร่งสุดขีดไม่ได้แน่ แต่ที่ไหนได้โรเบิร์ตอาศัยช่วงชกที่ได้เปรียบเทียบได้กับมวยรุ่นแบนตัมเวต ดักวางแข้งซ้ายยาว ๆ แล้วขย่มเข่าจนเจ้าของตำแหน่งจอมเก๋าต้านไม่อยู่ สุดท้ายโรเบิร์ตเอาชนะคะแนนไปอย่างชัดเจน คว้าแชมป์เวทีใหญ่มาครองรวดเร็วเกินคาด”

 

ข้ามรุ่นกระชากแชมป์ 3 เส้นสู่ตำนานราชดำเนิน 

“ชื่อเสียงของโรเบิร์ตกลบรัศมีแชมป์เวทีคู่แข่งจนมิด สร้างความภูมิใจให้ผู้บริหารเวทีจนส่งเสียงชมมายังโปรโมเตอร์ ทำให้นักมวยอินดี้อย่างบักเบิ่ดกล้าที่จะคุยกับคนหนวดดุใจดีอย่าง สมมาตร หงสกุล ว่าร่างกายเติบใหญ่ขึ้นทุกวันจนทำน้ำหนักไม่ไหว หรือถ้าลดน้ำหนักได้ก็ไม่มีแรง ขึ้นไปชกก็แพ้อยู่ดี”

“สุดท้ายป๋ามาดต้องยอมสละแชมป์รุ่น 105 ปอนด์ โดยมีสัญญาใจว่าบักเบิ่ดต้องคว้าแชมป์เส้นใหม่มาคาดเอวทดแทน จังหวะนั้นเวทีสำโรงที่ จ.สมุทรปราการ ได้จัดมวยรอบอีซูซุ ครั้งที่ 2 พิกัด 116 ปอนด์ ป๋ามาดซึ่งเป็นโฆษกและผู้บรรยายอยู่ที่นั่นจึงเสนอโรเบิร์ตขึ้นชก”

“เนื่องจากต้องปล่อยน้ำหนักขึ้นมาเกือบ 4 พิกัดรุ่น แรงปะทะย่อมเสียเปรียบมวยรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวตธรรมชาติ ยิ่งเห็นรายชื่อคู่ชกอีก 7 คนด้วยแล้ว เล่นเอาป๋ามาดต้องแอบอุทานในใจ ... ไอ้หยา! ไอ้เบิ่ดเสร็จแน่ เพราะทั้ง 7 คนล้วนเป็นมวยพระกาฬรุ่น 116 ปอนด์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น…”

“ประกาศศึก เกียรติเมืองตรัง เต็งหนึ่ง, แป้นน้อย ชูวัฒนะ (เกียรติวิเชียร), ราชประชา ณ พัทยา, ยอดขุนพล ศิษย์ไตรภูมิ, ก้องไกล เมืองชัยภูมิ, ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย และ ดาวหลวง เกียรติประเทือง ปรากฏว่าโรเบิร์ตย้ำแค้นเอาชนะตัวเต็งอย่างประกาศศึกไปขาดลอยเหมือนมวยแพ้ทางกัน”

“เพราะฟอร์มประกาศศึกช่วงนั้นสดมาก เอาชนะ เป๊ปซี่ ปิยะภัณฑ์ นักมวยคนเดียวที่โรเบิร์ตขยาดไม่อยากชกด้วย แต่พอประกาศศึกมาเจอโรเบิร์ตกลับกลายเป็นงูเหลือมกับเชือกกล้วยไปซะอย่างนั้น”

“หลังปราบประกาศศึกอย่างราบคาบ โรเบิร์ตยิ่งชกยิ่งมั่นใจจนคว้าแชมป์มาครองด้วยการชนะคะแนนยอดขุนพลอย่างไม่ยากเย็น ทำให้กลับมาเป็นนักมวยเอกของเวทีราชดำเนินอีกครั้ง แต่คราวนี้กลับมาพร้อมฉายาใหม่ นั่นคือ จอมถอน เพราะเจ้าตัวมักจะอ้างว่าเจ็บจนต้องถอนชกเป็นประจำ”

“เรื่องนี้ป๋ามาดเป็นคนยืนยันเองว่าบักเบิ่ดมันเจ็บจริง ตัวป๋ามาดเองก็เกรงใจโปรโมเตอร์กลัวจะเสียรายการพยายามคะยั้นคะยอให้ขึ้นชก แต่เด็กมันไม่อยากชก ไปบังคับแล้วต่อยไม่ดีก็รังแต่จะเสียชื่อทั้งโปรโมเตอร์และหัวหน้าคณะ”

“พอถอนชกบ่อยจนไม่มีรายการต่อย กลับมาชกใหม่คราวนี้น้ำหนักตัวพุ่งไปถึงรุ่นเฟเธอร์เวต โรเบิร์ตเคาะสนิมไม่กี่ไฟต์ก็ได้ชิงแชมป์รุ่น 126 ปอนด์ราชดำเนิน ชนะคะแนน ทวีชัย ว.ปรีชา เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2534 แล้วป้องกันชนะผู้ท้าชิงระดับนักชกเงินแสนอย่าง เผด็จศึก เกียรติสำราญ, ราชศักดิ์ ส.วรพิน, แจ็ค เกียรตินิวัฒน์ และ บัวขาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์ กลายเป็นยอดมวยระดับแนวหน้าของเวทีราชดำเนินอีกครั้ง”

 

เหนือการควบคุม

“แม้จะกลายเป็นนักชกเนื้อหอมที่โปรโมเตอร์จองคิวจัด แต่โรเบิร์ตก็ยังรักษาเอกลักษณ์เป็นจอมถอนอันดับ 1 ในปฐพีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ได้โคจรมาเจอกับยอดมวยจากลุมพินี นำขบวน หนองกี่พาหุยุทธ ซึ่งในเวลานั้นกำลังคั่วรางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยมอยู่ด้วย”

“ศึกซูเปอร์ไฟต์คู่นี้เป็นคู่มวยในฝันแห่งยุค 90s ที่ทุกคนรอคอย ทั้งคู่พบกันในศึกเกียรติเพชรน้อย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ณ เวทีราชดำเนิน ก่อนชกแฟนมวยส่วนใหญ่มองว่านำขบวนดูได้เปรียบ แต่ชกกันจริง ๆ กลับกลายเป็นโรเบิร์ตที่ใช้จังหวะฝีมือดักเตะถีบสลับบิดเหลี่ยมจนนำขบวนใช้ลูกไถนาไม่ได้เลย ครบ 5 ยกโรเบิร์ตสอนเชิงชนะคะแนนไปขาดลอยเหลือเชื่อ”

“ชัยชนะเหนือจอมยุทธ์เพียว ส่งให้ชื่อของ โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ กลายเป็นยอดมวยหมายเลข 1 ของวิกแอร์ราชดำเนินอย่างเต็มตัว ถัดจากนั้นอีก 7 เดือน เมื่อ 21 กรกฎาคม 2536 โรเบิร์ตข้ามรุ่นไปคว้าแชมป์จูเนียร์ไลท์เวต 130 ปอนด์ ราชดำเนิน ชนะคะแนน จงรักษ์ ลูกพระบาท เจ้าของฉายา จงอางหวงไข่ ซึ่งในเวลานั้นไม่มีใครชิงเข็มขัดไปจากเขาได้ แต่พอเจอเก่งเล็กอย่างโรเบิร์ตข้ามรุ่นขึ้นมาท้าชิงด้วยก็เจ๊งชัยไปอย่างพลิกล็อก”

“โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ เป็นหนึ่งในนักมวยประเภทซ้อมน้อยแต่ต่อยดี จน สมมาตร หงสกุล ไม่กล้าจ้ำจี้จ้ำไช เพราะเคยเคี่ยวเข็ญให้ซ้อมหนักเหมือนเพื่อนร่วมค่าย ปรากฏว่าไฟต์ไหนซ้อมเยอะแล้วมักจะต่อยไม่ดี หรือไม่ก็แพ้ลงมาไม่เป็นองค์ ยิ่งถ้าเจ้าตัวกดดันมาก ๆ มีเตลิดหนีออกจากค่ายไปก็หลายหน”

“พอปล่อยให้ซ้อมสบาย ๆ โรเบิร์ตก็โชว์ฟอร์มเทพให้เห็นทันที เช่นการชนะคะแนน พันมงคล แครี่บอย นักชกกำปั้นหนักจากขอนแก่นไปขาดลอย ทั้งที่ต่อน้ำหนักให้คู่ชกถึง 6 ปอนด์ (132-138 ปอนด์) ชนะคะแนน บัวขาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์ 2 ครั้งซ้อน ล้างแค้นให้ สมรักษ์ คำสิงห์ ซึ่งเคยแพ้น็อกบัวขาวมาก่อนหน้านั้น”

“โรเบิร์ตยังได้ชื่อว่าปราบยอดมวยลุมพินีมากที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการชนะ ชาญชัย ส.ธรรมรังสี, ไพโรจน์ ว.วลาพล, พนมรุ้งเล็ก ช.สวัสดิ์, ฤทธิเดช ส.เพลินจิต และ ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย รวมถึงพระเอกภูธรอย่าง บักโจ้ ส.พันนุช ก็เคยพ่ายโรเบิร์ตมาแล้วเช่นกัน”

“นอกจากนี้โรเบิร์ตยังเป็นต้นแบบของนักมวยตาชั้นเดียว ตาหรี่ ตาปรือ จะต้องตั้งชื่อ โรเบิร์ต ตามต้นฉบับแทบทุกคน เขาได้รับเลือกจากสนามมวยเวทีราชดำเนินให้เป็นนายแบบสาธิตการออกอาวุธให้ถูกต้องและได้คะแนน ในการจัดสัมมนาเรื่องการตัดสิน เพื่อให้เซียนมวยดูมวยในทิศทางเดียวกัน”

“รวมทั้งยังได้รับเลือกจากเวทีราชดำเนินเป็นตัวแทนนักมวยไทยยกทีมปะทะนักชกต่างชาติทั้งในและนอกประเทศ แต่เนื่องจากเป็นการชกช่วงปลายของเจ้าตัว แม้จะพยายามโชว์สปีดแข้งซ้าย แต่เห็นได้ชัดว่าความเร็วช้าลงไปเยอะ จึงมักชนะคะแนนไปตามฟอร์ม และไม่เป็นที่กล่าวถึงมากเท่าไหร่”

“กระทั่งการชกกับ ฌอง สตาร์โบสกี้ นักชกฝรั่งเศส ที่ลาสเวกัส กลายเป็นไฟต์บั่นทอนกำลังใจเจ้าตัวโดยไม่ตั้งใจ การชกไฟต์ดังกล่าวมีขึ้นที่โรงแรม เดอะ เวเนเชียน เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เมื่อ 22 ปีก่อน”

“ฌอง สตาร์โบสกี้ หรือ ฌอง - ชาร์ลส์ สการ์โบว์สกี้ (Jean-Charles Skarbowsky) ในเวลานั้น เป็นนักชกหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ขณะที่โรเบิร์ตต้องการโชว์ศิลปะมวยไทยให้คนอเมริกันได้รู้ซึ้งถึงพิษสง จึงไล่เตะซ้ายเข้าเป้าแทบทุกดอก”

“ขณะเดียวกันก็โชว์สายตาหลบหมัดนักชกฝรั่งเศสได้ตลอด จนล่วงเข้าสู่ปลายยกแรก สตาร์โบสกี้เดินเข้ามารัวกำปั้นใส่ คราวนี้โรเบิร์ตหลบไม่พ้นโดนต่อยจนร่วงลงไป แม้จะลุกขึ้นมาได้แต่ขายังสั่น โทนี่ วีคส์ กรรมการระดับโลกจึงยุติการชก ให้ ฌอง สตาร์โบสกี้ ชนะทีเคโอแค่ยกแรก”

“แม้แฟนมวยจะเห็นใจและเข้าใจ เนื่องจากกรรมการจับแพ้เร็วเกินไปจริง ๆ แต่นั่นก็ทำให้เจ้าตัวเริ่มมีความคิดจะแขวนนวมขึ้นมาในหัว กระทั่งไปแพ้คะแนน หลิว ไห่หลง ที่กว่างโจว ประเทศจีน เมื่อปี 2546 จึงประกาศแขวนนวมทันที”

“ปัจจุบัน โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์ ซึ่งในช่วงบั้นปลายใช้สีเสื้อ ก.บางกรวย บินไปสอนมวยที่ Skarbowsky Gym กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นยิมของ ฌอง สตาร์โบสกี้ อดีตคู่ปรับเก่า” 

“ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขากลายเป็นเพื่อนเลิฟและเจ้านาย ปีหนึ่งจะกลับเมืองไทยประมาณ 2 ครั้ง ถือเป็นตำนานมวยที่ทำให้ผู้คนนึกถึงเวทีราชดำเนิน ทันทีที่เอ่ยชื่อ โรเบิร์ต แก่นนรสิงห์”

Author

ทัศนะเทพ รัตนจันทา

Muay Thai Stand's writer - มวยไทยสแตนด์ สังเวียนที่ทำให้คุณอยู่ใกล้มวยไทย

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา