Muay Thai

“น้องตุ้ม ปริญญา” การต่อสู้นอกสังเวียน 5ยก เพื่อชาว LGBTQ+ | Muay Thai Stand

ในช่วงที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเพิ่งผ่านการพิจารณา เราได้เห็นภาพของ บรรดาคู่รัก LGBTQ+ จูงมือกันไปที่อำเภอ หรือสำนักงานเขต เพื่อจดทะเบียนสมรสกัน ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจ.. ไม่เพียงเฉพาะ คู่หนุ่ม คู่สาว แต่ยังรวมถึง คู่ของคุณลุง คู่ของคุณป้า วัย 60-70 ปี ที่เฝ้ารอคอย ให้วันนี้มาถึง..

 

แม้ในปัจจุบัน สังคมไทยจะมีการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายในการพัฒนาตัวบทกฎหมาย ซึ่งประเด็นต่างๆเป็นเรื่องที่สังคมไทย ยังคงถกเถียงให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายต่างๆ ที่ต้องมีความสอดคล้อง ครอบคลุม และเท่าเทียมกันในทุกมิติ

ปริญญา เจริญผล หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “น้องตุ้ม” อดีตนักมวย LGBT ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่กล้าเปิดเผยตัวตน ในยุคที่สังคมไทยยังให้การยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ไม่มากนัก.. นอกเหนือจากการต่อสู้บนสังเวียนที่หนักหนาเอาการแล้ว หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “น้องตุ้ม” ได้ต่อสู้ในด้านสังคม เพื่อชาว LGBTQ+ ในหลายเรื่อง..

 

ยกที่ 1 

จุดเริ่มต้น.. การต่อสู้บนสังเวียน

จุดเริ่มต้นบนสังเวียนในวัยเด็ก “น้องตุ้ม” เริ่มชกมวยเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว โดยขึ้นชกไฟต์แรกในงานวัดที่เชียงใหม่ ชัยชนะในการขึ้นชกไฟต์แรก ทำให้เธอได้เงินมา 150 บาท มีเงินไปซื้อของกินดีๆ ไปให้ที่บ้านกิน .. เธอจึงสัมผัสได้ ว่า “มวยไทย” นี่แหละ คือสิ่งที่ใช่สำหรับเธอ..

แม้ว่า การชกมวยคือสิ่งที่ “น้องตุ้ม” เลือก อาจดูขัดแย้งกับสิ่งที่เธอเป็น.. ซึ่งความฝันของเธอ ก็ไม่ได้ต่างจากเด็กๆ คนอื่นทั่วไปที่อยากไปเป็นดาวเจิดจรัส.. โดยแท้จริงแล้วความฝันของ “น้องตุ้ม” ในวัยเด็ก เธออยากเป็นนางงาม เหมือนกับ “พี่ปุ๋ย” ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์ส ปี 1988 ..แต่ด้วยความยากจน เธอจึงมีทางเลือกไม่มากนัก..

“สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  “ตุ้ม” ขอบคุณที่พ่อแม่เข้าใจ ความฝันในวัยเด็กของตุ้ม ก็เหมือนกับเด็กสาวคนอื่นทั่วไปนั่นแหละ.. ตุ้มอยากเป็นนางงาม เพราะชื่นชอบ “พี่ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์” ..แต่ความยากลำบากทำให้เรามีทางเลือกไม่มากนัก พ่อแม่ตุ้มก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ตุ้มก็เลยเลือกมาชกมวย.. จำได้ว่าขึ้นชกไฟต์แรกที่เชียงใหม่ ได้ค่าตัวอยู่ 150 บาท จำได้ว่า ตอนนั้นตุ้มดีใจมาก เลยตัดสินใจว่าอาชีพนี้เนี่ยแหละ พี่ตุ้มจะยึดมันทำมาหากิน”

“เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง  มันไม่มีอะไรให้เลือกมากนะ ตุ้มเลยไปเสิร์ฟอยู่ร้านอาหาร วันนึงก็ได้ทิปมา 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง ตุ้มเคยไปช่วยเขาล้างจาน เคยไปรับจ้างแบกไม้ก็มี แต่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องไปเรียน มันก็ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ไม่มาก..

..แต่พอมีโอกาสได้ไปชกมวย มันภูมิใจนะ ที่ผู้คนให้การยอมรับ มันคือสิ่งที่ทำให้ตุ้มรู้สึกดีมากในตอนนั้น.. 
..เพราะเวลาที่ตุ้มชนะ ที่บ้านได้กินดีอยู่ดี หมู เห็ด เป็ด ไก่ ก็ได้กินหมด ..ตุ้มก็เลยยึดอาชีพนี้ เพราะเราไม่ได้มีเงินทองมากมาย เราไม่มีทางเลือกมาก”

 

ยกที่ 2 

เปลี่ยนคำดูถูก สู่แชมป์ลุมพินี

“ตุ้ม เป็นคนที่โชคดีที่ครูมวยคนแรกเข้าใจ  และยอมรับเราตั้งแต่แรก ..ตอนที่เราอายุ 11-12 ปี ท่านบอกกับตุ้มว่า ท่านไม่สนใจว่าตุ้มจะเป็นเพศอะไร.. ในเมื่อขึ้นไปชกบนเวทีขอให้เต็มที่ เวลาซ้อม เวลาชก อย่าแสดงให้เห็นว่าเราอ่อนแอ แค่นั้นก็เกินพอแล้ว”

“ตุ้มขอบคุณที่ให้โอกาสเด็กคนนี้  ครูของตุ้มท่านไม่เคยว่าอะไรเลย.. ไม่ว่าตุ้มจะแต่งหน้า ทาปาก ขึ้นไปชกเขาก็ไม่ว่า เขาไม่เคยด้อยค่าเราเลย.. ก็เลยทำให้มีน้องตุ้มในวันนี้”

แต่นอกเหนือจากการต่อสู้บนสังเวียน ที่ “น้องตุ้ม” ต้องมีการฝึกซ้อมที่หนักไม่น้อยไปกว่าผู้ชายแล้ว เธอยังต้องต่อสู้กับคำสบประมาทต่างๆ ที่ต้องพบเจอ ทั้ง ด่านล่างเวที และนอกสังเวียน.. 

“แพ้กะเทยไม่ได้นะ”

“เตะมันเบาๆนะมันเป็นกะเทย” 

“เวลาที่ตุ้มได้ยินคำพวกนี้ มันเจ็บนะ มันเหมือนเขาดูถูกเรา ที่เราเป็น LGBT ..ยอมรับว่าตอนนั้นคนที่ดูถูกตุ้ม มีเยอะมาก ..แต่ว่าเราก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรกลับไป แล้วเดี๋ยวจะเตะให้ดูบนเวที เพราะอยู่บนเวที วินาทีนั้นตุ้มไม่รู้เลย ว่าตัวเราเป็นหญิง หรือเราเป็นชาย สิ่งที่รู้อย่างเดียวก็คือเรากระหายชัยชนะเท่านั้น”

“ก็มีผู้ชายหลายคนที่โดนตุ้มเตะน็อคไปเยอะอยู่เหมือนกัน ยิ่งเค้าดูถูกเรามากเท่าไหร่ เราก็ต้องยิ่งเก็บคำนั้นไปซัดเขาบนเวที..
..อย่าดูถูกกะเทยนะ  กะเทยก็มีสมอง มีสองมือ สองเท้าเหมือนกัน.. อย่าด้อยค่าว่ากระเทยไม่มีมือ ไม่มีตีน ไม่มีสมองในการชกมวย”

 

ยกที่ 3 

การเป็นที่ยอมรับ จนนำไปสู่การเอาเรื่องราวชีวิตไปสร้างหนัง

“การยอมรับ LGBTQ+ ของสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ยอมรับว่ามันไม่ง่ายเท่ากับทุกวันนี้ แต่ถ้าเราไม่สู้ก็ไม่รู้จักคำว่าชนะกับคำสบประมาทที่จะต้องเจอ ทั้งในและนอกสังเวียน สิ่งนี้ยิ่งทำให้เราต้องสู้ เราเก็บทุกคำดูถูกมาเป็นแรงผลักดัน”

“ถ้าทุกคนให้การยอมรับซึ่งกันและกัน ให้โอกาสคนที่เป็น LGBTQ+ ..มันจะดีกว่าไหมมันจะมี “น้องตุ้ม” บนเวทีอีกหลายๆคน ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นแบบน้องตุ้ม ขึ้นชกในเวที ONE Championship ก็เป็นได้”

“ตุ้มต้องขอบคุณนะ  ที่สังคมมวยไม่ปิดกั้น LGBTQ+ ที่อยากจะเลือกเดินทางนี้อย่างเช่นตุ้ม ..สังคมมวยเปิดกว้างมากสำหรับพวกเรา อย่างเช่นเวทีมวยลุมพินี ที่ให้โอกาสตุ้มได้ขึ้นไปชก” 

“แต่ในเส้นทางนี้ยอมรับว่ามันยากมากสำหรับพวกเรา เพราะเวลาขึ้นไปชก มันไม่มีผู้ชายคนไหนหรอกที่อยากแพ้กะเทย.. 

..ก็จะทำให้พวกเขาใส่กับเรายิ่งกว่าเกินร้อย มันก็ทำให้เราก็ยิ่งต้องซ้อมหนักขึ้นอีก เพราะศักดิ์ศรีเวลาชกกับพวกเรา (LGBT) มันมากกว่าเวลาที่เขาชกกับผู้ชายด้วยกัน” 

“ส่วนอีกหนึ่งจุดพลิกชีวิต ที่เขาเอาชีวิตของเราไปสร้างหนัง Beautiful Boxer ตอนนั้นมองว่า ทั้งในสังคมโลก และในสังคมไทย ให้การยอมรับเรา.. ถึงแม้ว่าในทางกฎหมาย เขาจะยังไม่ยอมรับพวกเราก็ตาม.. 

..แต่ตุ้มภูมิใจนะ ภูมิใจกับความพยายามหลายๆอย่างของตัวเอง ตอนนั้นนั่งดูไปก็น้ำตาไหลไป ว่าเราผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร นี่เราสู้มาขนาดนี้เลยหรือ”

 

ยกที่ 4 

จุดเริ่มต้นการต่อสู้นอกสังเวียน -เรื่องเอกสารสำคัญทางทหาร

จุดเริ่มต้นของการต่อสู้นอกสังเวียน เรื่องสิทธิความเท่าเทียม เรื่องการเกณฑ์ทหาร หรือเรื่องต่างๆของชาว LGBTQ+

“อย่างที่ทุกคนรู้ ตุ้มเป็น LGBT ถึงแม้ในยุคนั้น ตุ้มจะเริ่มมีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับทางสังคมแล้วก็ตาม.. แต่สิทธิที่เราจะได้รับทางกฎหมาย ยังไงมันไม่เท่าคนอื่นเขา.. 

..เช่นตอนที่ตุ้มต้องเกณฑ์ทหาร ในวัย 20 ปีเต็ม ชายไทยทุกคนต้องทำหน้าที่ตรงนี้.. ตุ้มก็ยอมรับและเข้าใจ แต่พอเราไปขึ้นทะเบียน ตุ้มกลับถูกจัดกลุ่มว่าเป็น “โรคจิตประเภท4” ในใบสด.9 ..บางคนโดนหนักกว่า โดนระบุในเอกสารว่า “จิตวิปริต” ซึ่งตุ้มว่ามันไม่โอเคเลย”

“ตอนนั้นนักข่าวก็มารุมถาม ว่าตุ้มรู้สึกอย่างไร?  ที่เขาระบุว่า ตุ้มเป็นโรคจิต..  ตุ้มก็ตอบไปว่า คือตุ้มมั่นใจนะถ้ามีโอกาสได้เข้าไปรับใช้ชาติ ตุ้มจะทำได้ดีกว่าผู้ชายหลายคนแน่นอน” 

“ซึ่งต่อให้ฝึกหนักแค่ไหน ตุ้มมั่นใจว่า ตุ้มรับได้.. แต่ในเมื่อเขาตัดสินใจว่าเราเป็น “โรคจิต” ไปแล้ว ก็ไม่เป็นไร.. 

..แต่ถ้าวันนึงที่ชาติต้องการ เราก็พร้อมรับใช้ชาติ ถึงแม้ว่าเขาจะระบุว่าเราเป็นโรคจิต.. แต่ตุ้มก็มีหัวใจที่สำนึกรักบ้านเกิด รักชาติ ตุ้มรักประเทศนี้.. เพราะฉะนั้นอย่ามาตัดสินใจกัน โดยไม่ไตร่ตรองว่า.. กะเทยเป็นโรคจิตเลย”

“จากเรื่องนี้ ก็เลยทำให้ตุ้มลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคนอื่น.. เพราะเวลาที่เราไปยื่นเอกสารเพื่อทำงาน ไอคำว่า “โรคจิต” นี้ จะถูกระบุอยู่ในเอกสารของเรา แล้วมันก็จะตีตราว่าเราเป็นอย่างนั้นไปตลอดชีวิต..

“ขนาดตัวเราเอง ที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้วยังโดนแบบนี้ แล้วถ้าเป็นคนอื่นจะต่อสู้กับมันได้อย่างไร?

..ด้วยความที่เริ่มมีแสงฉายมาที่เราแล้ว เราก็ใช้แสงที่เรามี ในการต่อสู้เพื่อพี่ๆน้องๆ เพื่อเพื่อนๆกลุ่ม LGBTQ+ ตุ้มจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเราแก่แล้วแก่เลย โดยที่ไม่ทำประโยชน์ให้กับพวกเราเลย”

“ตุ้มก็เลยมีการจับกลุ่มกันกับเพื่อนๆเพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้ ตุ้มเข้าไปยื่นหนังสือไปทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่รับเรื่อง.. ต่อให้เค้าจะเอาตำรวจมากั้น เอาหมามาขู่ไม่ให้เราเข้าไป ..ตุ้มก็จะฝ่าเข้าไป จนยื่นหนังสือสำเร็จ.. 

..และผลสุดท้ายเราก็สู้สำเร็จจริงๆ กลุ่มพวกเรา สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้(คำระบุในใบสำคัญทหาร)ได้สำเร็จ คำระบุถึงพวกเราต่างๆมันดูซอฟต์ลงไปมาก.. ตุ้มดีใจ ที่สู้กับเรื่องนี้สำเร็จ”

“ถึงแม้ว่า เราจะกลับไปแก้ไขในใบของเรา ที่เขาระบุว่า ตุ้มเป็น “โรคจิตประเภท4” ไม่ได้แล้วก็ตาม.. แต่ตุ้มก็ได้สู้เพื่อคนรุ่นหลัง สู้เพื่อน้องๆ LGBTQ+ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเจออะไร แบบที่ตุ้มเคยเจอ..

..เพราะตุ้มเข้าใจความรู้สึกดี ว่าเราเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง แต่ทำไมเขาต้องมาตีตราว่า เราเป็นพวก “โรคจิต” ..ที่ผ่านมา ตุ้มต้องต่อสู้กับอะไรเยอะมาก กว่าที่จะทำให้คนยอมรับเราได้”

 

การต่อสู้นอกสังเวียน – เรื่องคำนำหน้านาม และสิทธิตามเพศสภาพ

“ถึงแม้ว่าตอนนั้นสังคมจะให้รับการยอมรับ ว่าเราคือ “น้องตุ้ม” และเราจะมีเพศสภาพทุกอย่างเป็นหญิง ..แต่ในทางกฎหมายแล้ว เรายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่ อย่างเช่น ตอนที่เราไปเรียน อาจารย์ก็เรียกชื่อ ว่า “นายปริญญา” เพื่อนๆก็จะพากันหัวเราะเยาะเรา หรือแม้ตอนที่เราไปต่างประเทศ ตม.ก็จะขอดูเอกสารเรา แล้วเขาก็จะไปตามเพื่อนๆมาดู เพราะรูปกับคำนำหน้า ไม่ตรงกัน.. 

“ตอนนั้นตุ้มรู้นะ ว่าเขาคุยอะไรกัน ตุ้มไม่ชอบเลยที่คนมองเราเป็นแบบนี้.. ทั้งๆที่การเดินทางในครั้งนั้น เราไปเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย เราไปเพื่อสอนมวยไทยให้กับพวกเขา.. แต่สิ่งที่เราได้รับ มันกลับเหมือนเขาเอาเราไปประจานมากกว่า..

“นี่หรือคือสิ่งที่ตุ้มได้รับการตอบแทน  ทั้งๆที่ตุ้มไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้กับประเทศไทย”

“ที่ผ่านมาเราพยายามเรียกร้องสิทธิ์ในเรื่องคำนำหน้ามาตลอด ตุ้มก็เข้าใจว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ที่เจ็บสุดคือ ตุ้มมีลูกบุญธรรม แต่เขาให้เรารับรองบุตรว่าเราต้องเป็น “พ่อ” ทั้งๆที่ตุ้มมีเพศสภาพเป็นหญิง.. 

“ซึ่งในวันนั้น ตุ้มก็ไม่ได้เซ็นรับรองบุตร ตุ้มให้พ่อกับแม่ของตุ้มมาเซ็นรับรองแทน..มันเป็นอีกเรื่องที่ตุ้มพยายามต่อสู้นอกสังเวียน.. 

“ตุ้มว่า ตุ้มเป็นแม่คนได้นะ แล้วตุ้มก็เชื่อว่าเราทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีด้วย.. ถึงปัจจุบัน ตุ้มส่งลูกสาวคนนี้จนเรียนจบปริญญาตรีแล้ว” 

 

การต่อสู้นอกสังเวียน - เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม

“ในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่มีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว.. ตุ้มก็ดีใจนะ เพราะเราเคยต่อสู้กับเรื่องพวกนี้มาตลอด เพื่อสิทธิ์ของพวกเรา จนถึงวันนี้ก็ดีใจกับ พี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆกลุ่ม LGBTQ+ ที่เคยร่วมต่อสู้มาด้วยกัน”

“ตุ้มดีใจ กับภาพที่ตุ้มได้เห็น.. คุณป้าวัย 60-70 ปี จูงมือกันไปจดทะเบียนกันหลายคู่.. ความรักไม่ควรมีเส้นแบ่งว่า “ชายหรือหญิง” ..ความรักเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา  ทุกเพศทุกวัย ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม..

“ในเรื่องของชีวิตคู่ ตุ้มกับแฟน(ครูเก่ง)คบกันมาเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว.. เราทั้งสองคนไม่มีอะไรต้องปกปิด คนรอบตัวรับรู้ ครอบครัวของเราก็รับรู้ ช่วงแรกก็มีบ้างที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย.. แต่เราทั้งสองคนก็ได้พิสูจน์ตัวเอง ด้วยการทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน.. “คิดดี ทำดี พูดดี” ทำมาหากินสุจริต สร้างธุรกิจที่เรารัก อย่างเช่น ที่เราร่วมกันสร้างค่ายมวย “น้องตุ้มมวยไทยยิม” นี้ขึ้นมา..

“ส่วนเรื่องอื่นๆ เขา(ครูเก่ง)ก็เข้ามาช่วยตุ้มดูแลได้ดี ทั้งเรื่องธุรกิจ เรื่องค่ายมวย แล้วเขาก็มาช่วยดูแลลูกตุ้มได้ดี ที่ผ่านมาเขาพิสูจน์ตัวเองให้เราเห็นหลายอย่าง.. เวลามีอะไรก็คุยกัน ปรับตัวเข้าหากัน 12 ปีที่ผ่านมา เราก็ถือว่ามันดีมากแล้ว”

“ในเรื่องของใบทะเบียนสมรส ที่ตอนนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว.. เราก็ได้คุยกัน ว่าจะจดทะเบียนกันดีไหม? แต่ในความคิดตุ้มมองว่า กระดาษใบเดียวอาจไม่ใช่เครื่องยืนยัน ความยืนยาวในชีวิตคู่ของเรา.. 

“ความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า ที่จะทำให้ชีวิตคู่เรามีความสุข”

“การจดทะเบียนให้มันเป็นเรื่องของอนาคต.. ตอนนี้กฎหมายผ่านแล้วเราจะไปจดทะเบียนด้วยกันเมื่อไหร่ก็ได้.. เพราะความไม่แน่นอนคือ สิ่งที่แน่นอน.. 

“ความซื่อสัตย์ ความรัก ความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น”  ..ถ้ามีตรงนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนสมรสก็ได้”

 

ยกที่ 5   

ความฝัน หลังสิ้นสุดเสียงระฆัง ในยกสุดท้าย 

“ที่ผ่านมา ตุ้มได้ต่อสู้ทำหน้าที่ ทำตามความฝันได้ทุกอย่างแล้ว.. ทั้งเป็นผู้หญิง เป็นนักมวย เป็นแชมป์มวยไทย เป็นแม่ที่ดี ส่งลูกจนเรียนจบปริญญาตรีได้ และมีสามีที่ดี.. 

“ชีวิตนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร แต่ถ้าเราทำทั้งหมดนี้ได้.. จากนี้ไปใครจะมาว่าเราเสียชาติเกิด หรือจะมาว่าอะไรเราก็ช่าง.. 
..ถึงตอนนี้ก็ไม่ต้องไปแคร์อะไรแล้ว”

“ความฝันของตุ้มหลังจากนี้ ขอเก็บเงินอีกสักก้อน.. ตุ้มอยากกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด ปลูกบ้านหลังเล็กๆ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ใช้ชีวิตย้อนกลับไปในแบบตอนที่เราเด็กอีกครั้ง.. 

..แค่นี้ก็น่าจะเป็นความสุขที่สุดของชีวิตตุ้มแล้ว”

Author

ณัฐวุฒิ บุญโท

Ever Tried Ever Failed Try Again Failed Better.

Photo

อำพล ทองเมืองหลวง

อุดมการณ์ รักษาไว้ได้ด้วย "เนื้องาน"

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา