Muay Thai

มวยไทย VS กุน แขมร์ : ปัญหาโลกแตก แท้จริงแล้วใครเป็นต้นตำรับ | Main Stand

กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อ กัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ 2023 เตรียมเปลี่ยนชื่อการแข่งขันมวย หรือที่หลายชาติรับรู้กันว่าคือมวยไทย เป็น “กุน แขมร์” โดยอ้างว่าชาติตนเป็นต้นกำเนิดศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้

 

ทำไมกัมพูชาถึงกล้าเคลมขนาดนี้ … แท้จริงแล้วใครเป็นต้นตำรับ … แล้วผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

 

ทำไมกัมพูชาถึงเคลมว่าเป็นต้นตำรับ

การต่อสู้ด้วยหมัด เท้า เข่า ศอก นั้นเป็นสัญชาติญาณที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และถือเป็นพื้นฐานของการฝึกทหารของกองทัพแทบทุกอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยโบราณ  

ยิ่งในภูมิภาคที่ยังล้าหลังด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยแล้ว การฝึกศิลปะการต่อสู้เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะใช้ปกป้องดินแดนของตัวเองหรือใช้เพื่อต่อกรกับผู้ล่าอาณานิคมที่เข้ามารุกรานก็ตาม

ดังนั้นแต่ละดินแดนจึงมีการพัฒนาศิลปะการต่อสู้รูปแบบนี้ตามสไตล์และความสามารถของตนเอง … ดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นเดียวกัน

หลายชาติในอาเซียนปัจจุบันล้วนมีศิลปะการต่อสู้ประชิดตัวแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น มวยไทย, มวยพม่า หรือ เลทเหว่ย (Lethwei) ที่สามารถใช้หัวโขกได้ด้วย รวมถึงมวยเขมรที่เรียกตัวเองว่า กุน แขมร์ (Kun Khmer) หรืออีกชื่อคือ ประดัลเสรี (Pradal Serey) โดยมีความเหมือนกันคือการใช้กำปั้น หมัด เท้า เข่า ศอก ในการต่อสู้ป้องกันตัว

อาณาจักรเขมรในช่วงศตวรรษที่ 9 นั้นถือเป็นมหาอำนาจทางทหารในภูมิภาคแห่งนี้ มีดินแดนกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในปัจจุบันทั้งกัมพูชา ไทย ลาว และ เวียดนาม ซึ่งสิ่งที่ทำให้พวกเขายิ่งใหญ่มาจากกำลังรบของเหล่าบรรดาทหารที่มีความสามารถด้านการต่อสู้ประชิดตัวทั้งมือเปล่าและใช้อาวุธ 

ศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ได้ถูกจารึกและส่งต่อมาถึงปัจจุบันผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดและโบราณสถานต่าง ๆ อาทิ ภาพการตีเข่าใส่คู่ต่อสู้บนผนังในนครวัด, ภาพชัยชนะของทหารที่ปราสาทบายน ตลอดจนภาพการต่อสู้กันที่ใช้การชก การเตะ และการจับล็อกตามที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นรากฐานศิลปะการต่อสู้ของกัมพูชาในปัจจุบัน

และไม่ได้มีเพียงแค่ กุน แขมร์ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลาย โดยเฉพาะ โบกาตอ หรือ กุน ลโบตากอ (Kun Lbokator) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หรือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในฐานะกีฬาประเพณี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022

การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เพื่อให้ศิลปะโบราณชนิดนี้เป็นที่รู้จักและได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป เหมือนกับที่ โขน นวดไทย และ โนรา ของไทยได้รับการจดทะเบียนไปแล้วเช่นกัน 

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะทำให้กัมพูชามั่นใจและเคลมว่า “มวย” ในภูมิภาคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศตัวเอง … แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาหรือชาติอื่น ๆ จะอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของการชกมวยได้แต่เพียงผู้เดียว รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

 

แล้วมวยไทยมาจากไหน 

หากว่ากันตามจริง การจะบอกว่ามวยไทยถือเป็นต้นตำรับของการชกมวยรูปแบบนี้และมีมาก่อน กุน แขมร์ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะคำว่า “มวยไทย” นั้นเพิ่งจะถูกเรียกกันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ตอนที่มีการเปลี่ยนชื่อจาก สยาม เป็นมาเป็น ประเทศไทย นี่เอง

หากยิ่งเจาะลึกลงไปถึงยุคสมัยก่อนเป็นรัฐชาติที่แต่ละอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีการขีดเส้นแบ่งเขตแดนกันชัดเจนเหมือนตอนนี้ การชกมวยในสยามก็ไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแต่อย่างใด

ข้อความที่ปรากฏใน ประวัติศาสตร์มวยไทย โดยกรมพลศึกษา ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ในสมัยสุโขทัยยังไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงลักษณะวิธีใช้มวยไทยในการต่อสู้ สันนิษฐานได้ว่าศิลปะการป้องกันตัวด้วยการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้นคงมีแบบอย่างมาแต่เดิมและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากที่ตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้นแต่เดิมมีชนพื้นเมืองเดิมคือพวกขอม ข่า ขมุ เขมร มอญ เม็ง และ ลาว หรือที่เรียกว่า ลัวะ ละว้า อาศัยอยู่”

มวยในสมัยนั้นจึงมีรูปแบบที่หลากลาย ทั้งสไตล์การชกและการรำมวยของแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนก็จะมีเอกลักษณ์และรูปแบบแม่ไม้มวยเป็นของตัวเองตามแต่สรีระของร่างกาย วัฒนธรรม ประเพณี หรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน

จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงเริ่มมีการรวบรวมบันทึกรูปแบบการชกมวยโบราณต่าง ๆ ที่กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “มวย 4 ภาค” ประกอบด้วย มวยไชยา (ภาคใต้), มวยโคราช (ภาคอีสาน), มวยลพบุรี (ภาคกลาง) และ มวยท่าเสา (ภาคเหนือ)

สายมวยเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานที่ระบุถึงต้นกำเนิดที่ชัดเจน มีเพียงแต่คำบอกเล่าหรือตำนานที่สืบทอดกันมาปากต่อปาก ซึ่งอาจจะมีมวยแบบอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าหรือถูกผสมกลมกลืนไปจึงไม่ได้ถูกรวบรวมเข้ามาด้วย

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “มวยไทย” ก็ไม่ได้ถือเป็นต้นตำรับการชกมวยแต่อย่างใด แม่ไม้มวยต่าง ๆ ก็เป็นการผสมผสานมวยโบราณหลากหลายรูปแบบหลากหลายที่มาเข้าไว้ด้วยกัน

แต่สิ่งที่ทำให้ “มวยไทย” ได้รับการรู้จักในวงกว้างและมีชื่อเสียงมากกว่ามวยของชาติอื่นในภูมิภาคนั้นเกิดจากการพัฒนามวยไทยสู่การเป็นกีฬาที่จริงจังและต่อเนื่องมากกว่า

 

ปัญหาโลกแตก

แม้การชกมวยจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาค จากการใช้ฝึกทหารสู่การต่อสู้เพื่อความบันเทิงในงานเทศกาลและงานเฉลิมฉลองตามวัดต่าง ๆ ทว่าแต่ละท้องที่ก็จะมีกติกาหรือรูปแบบการชกที่แตกต่างกัน ทั้งการพันมือ การแต่งกาย ตลอดจนสถานที่ซึ่งเป็นสังเวียน 

ตามบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ นักการทูตชาวฝรั่งเศส ที่ถูกส่งมายังกรุงศรีอยุธยาในช่วงปี ค.ศ.1687 ระบุในจดหมายเหตุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ในการชกมวยนั้นชาวสยามใช้ระวังมือด้วยกำพันท่อนด้ายดิบ 3 หรือ 4 รอบ แทนกำวงแหวนทองแดงเช่นพวกลาวใช้ในเวลาชกมวยฉะนั้น”

และแม้ว่าในปัจจุบันแต่ละชาติจะพัฒนาการชกมวยให้เป็นกีฬา แต่ก็ไม่เคยมีการจับมือสร้างมาตรฐานร่วมกันอย่างจริงจัง เพราะแต่ละชาติล้วนมีมวยในแบบฉบับทางวัฒนธรรมของตัวเอง … จนนำมาซึ่งปัญหาโลกแตกว่าใครเป็นต้นตำรับ

กุน แขมร์ ของกัมพูชาได้เริ่มถูกเปลี่ยนให้เป็นกีฬาในช่วงที่ถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส โดยมีเวทีมวยแทนหลุมดิน เพิ่มรอบจับเวลา และสวมนวมแบบตะวันตกแทนการคาดเชือก แต่ก็เกือบจะสูญหายไปในช่วงสงครามกลางเมืองที่ศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมถูกกลุ่มเขมรแดงสั่งห้าม และนักมวยหลายคนถูกประหารหรือให้ทำงานจนเสียชีวิต

จนหลังจบสงครามในปี ค.ศ.1979 พวกเขาจึงเริ่มฟื้นฟู กุน แขมร์ ให้กลับมา โดยจัดแข่งขันและถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทุกสัปดาห์ ภายใต้กติกาชก 5 ยก ออกอาวุธได้ทั้งหมัด เท้า ศอก เข่า และมีการไหว้รำก่อนชกคล้ายกับมวยไทย พร้อมจัดตั้งองค์กรมวยแขมร์ที่ต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย ฯลฯ เพื่อเผยแพร่และหวังทำการตลาดในระดับเดียวกับศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ

ขณะที่มวยไทยถูกพัฒนาให้เป็นกีฬาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำกติกามวยไทย ฉบับปี พ.ศ.2480 (ค.ศ.1937) โดยกรมพลศึกษา ก่อนได้รับการปรับปรุงใหม่เป็น กติกามวยไทยอาชีพฉบับแรก ปี พ.ศ.2498 (ค.ศ.1955) 

กระทั่งปี ค.ศ.1993 จึงได้มีการจัดตั้งสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ อิฟมา (IFMA) ขึ้นเพื่อให้ความรู้ ดูแลกฎกติกาการแข่งขัน และจัดแข่งมวยไทยชิงแชมป์โลกเรื่อยมา โดยมีสมาชิกมากถึง 132 ชาติในปัจจุบัน 

ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดสู่การบรรจุเป็นชนิดกีฬาใน มหกรรมเอเชียนอินดอร์ และ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ มาตั้งแต่ปี 2005 จนถึงได้เข้าบรรจุในเวิลด์เกมส์ และกำลังผลักดันเพื่อเข้าสู่โอลิมปิกอยู่ในตอนนี้

อย่างไรก็ตามแม้มวยไทยจะมีการพัฒนาเหนือมวยชาติอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่ใช่ว่าทุกชาติในอาเซียนจะให้การยอมรับ โดยเฉพาะกัมพูชาที่เคยเสนอในที่ประชุมอาเซียน เมื่อปี 1995 ให้รวมรูปแบบมวยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันภายใต้คำศัพท์สากลในชื่อ “มวยสุวรรณภูมิ” หรือ “SEA Boxing”

ทว่าทางฝั่งไทยไม่เอาด้วย โดยมองว่าแต่ละชาติมีสไตล์มวยเป็นของตัวเอง และไทยจะเป็นผู้ผลักดันมวยไทยไปสู่ระดับนานาชาติด้วยตนเอง 

ความขัดแย้งจึงเริ่มก่อตัวเป็นต้นมา ในศึกซีเกมส์ 2005 ที่ฟิลิปปินส์ ได้มีการบรรจุ “มวยไทย” แข่งขันเป็นครั้งแรก ทำให้กัมพูชาบอยคอตไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันเรื่อยมา หรือในซีเกมส์ 2009 ที่ลาวเตรียมใช้ชื่อ “มวยลาว” ก่อนถูกร้องเรียนให้เปลี่ยนชื่อเหลือเพียง “มวย” (Muay) เพื่อความเสมอภาคในท้ายที่สุด

รวมถึงซีเกมส์ 2013 ที่เมียนมาใช้ชื่อ “มวย” ทำให้สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน เนื่องจากมองว่าไม่ใช่กีฬามวยไทย จนท้ายที่สุด การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย และสมาคมกีฬามวยอาชีพเป็นผู้คัดเลือกนักกีฬาส่งเข้าชิงชัยแทน

กระทั่งครั้งล่าสุดที่กัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ 2023 เตรียมใช้ชื่อ “กุน แขมร์” แทน ในฐานะเจ้าของวัฒนธรรมของศิลปะการป้องกันตัวและในฐานะเจ้าภาพ จนเป็นอีกครั้งที่ไทยตัดสินใจที่จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน

ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ ระบุว่า องค์กรและกีฬานี้ของกัมพูชาไม่ได้เป็นกีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รวมทั้งสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) และชาติที่ส่งนักกีฬาแข่งขัน กุน แขมร์ จะถูกแบนจากการแข่งขันที่อิฟมารับรองด้วยเช่นกัน 

ขณะที่กัมพูชาเองก็ตอบโต้ทันทีว่าจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในซีเกมส์ 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเช่นเดียวกัน … จนถึงตอนนี้ความขัดแย้งต่าง ๆ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แล้วท้ายที่สุดจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

 

ทางออกร่วมกัน ? 

ถึงตอนนี้กัมพูชายังคงยืนยันหนักแน่นว่าจะจัดการแข่ง “กุน แขมร์” แน่นอน และมีโอกาสที่จะทำได้ไม่ต่างจากเจ้าภาพหลายชาติในครั้งก่อน ๆ ที่มักเพิ่มกีฬาพื้นบ้านของตัวเองเข้าไปด้วยในซีเกมส์หรือปรับเปลี่ยนกติกาบางอย่าง

ขั้นตอนการตัดสินทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสหพันธ์กีฬาซีเกมส์และมนตรีซีเกมส์ทั้ง 11 ชาติว่าจะอนุญาตให้กัมพูชาจัดแข่งขันกีฬานี้หรือไม่ 

รวมถึงว่าจะมีชาติใดเข้าร่วมชิงชัยบ้าง เพราะต้องมีประเทศที่เข้าร่วมตั้งแต่ 4 ชาติขึ้นไปจึงจะจัดแข่งได้ ซึ่งการที่อิฟมาประกาศขู่แบนสมาชิกที่เข้าแข่งขันนั้นส่งผลไม่น้อย โดยชาติในอาเซียนที่เป็นสมาชิกมีทั้ง ไทย ลาว เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และ ติมอร์-เลสเต 

แต่ถ้าจัดแข่งได้ประเทศไทยจะทำอย่างไร ? … ไทยมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.จะไม่เข้าร่วมสังคายนาเลยก็ได้เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจน หรือ 2.แต่งตั้งหน่วยงานคัดเลือกนักกีฬาแทนสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เหมือนในซีเกมส์  2013 เพื่อไม่ให้ขัดต่ออิฟมา

ซึ่งหากว่ากันตามจริงแล้ว แม้จะมีกติกาหลายอย่างคล้ายกัน แต่ถ้ามองว่าเป็นกีฬาคนละชนิดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสร้างความขัดแย้งเลยแม้แต่นิดเดียว

การที่กัมพูชาพยายามผลักดัน กุน แขมร์ ก็เพื่อผู้คนและวัฒนธรรมของประเทศเขา ไม่ต่างจากที่เราพยายามจะผลักดันมวยไทยเลยแม้แต่น้อย รวมถึงชาติอื่น ๆ ที่มีสิทธิ์ผลักดันกีฬาที่ใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ตามวัฒนธรรมของตัวเองเมื่อมีโอกาสด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ไม่ต่างจาก เทควันโด ของเกาหลีใต้ที่ได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากคาราเต้ของญี่ปุ่นสมัยถูกยึดครอง หรือคาราเต้เองที่ถูกผสมผสานร่วมกับศิลปะการต่อสู้ของจีนมาตั้งแต่อดีต

กีฬาเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นจนได้บรรจุเข้าแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ และทั่วโลกต่างรับรู้ว่าชาติใดเป็นผู้ผลักดันโดยแทบไม่ต้องใส่ชื่อประเทศเข้าไปเลยด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นแล้วมวยไทยก็คือมวยไทยโดยไม่ต้องไปสนใจเลยว่าชาติอื่นจะเรียกว่าอย่างไร … และอาจจะน่าสนใจไม่น้อยหากนักมวยไทยไปคว้าเหรียญทอง กุน แขมร์ ได้ถึงถิ่นกัมพูชา

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.channelnewsasia.com/sport/muay-thai-kun-khmer-thailand-cambodia-sea-games-event-3227791
https://www.dpe.go.th/manual-files-411691791792
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/HUSOTSU/article/view/199975/139771
https://www.finearts.go.th/suphanburilibrary/view/15165-%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B7-%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1-%E0%B9%91
https://www.mfa.go.th/th/content/nora161264?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3c915e39c306002a908
https://en.wikipedia.org/wiki/Pradal_serey#cite_note-7
https://muaythai.sport/
https://en.unesco.org/news/kun-lbokator-traditional-martial-arts-cambodia-inscribed-unesco-representative-list-intangible?fbclid=IwAR3M2mEKdfzHJmHkZO0KdIzGJ3WI_tA9wujZJ40iNuEyVDcS-5ZM4N0xJ2w

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา