Muay Thai

ปูโร โอเคโล โอบ็อบ : นักสู้ที่ใช้มวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง สร้างสันติภาพในซูดานใต้ | Main Stand

การต่อสู้และสันติภาพดูจะเป็นสองสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ ปูโร โอเคโบ โอบ็อบ นักสู้ศิลปะการต่อสู้แบบผสม ดีกรีแชมป์โลกหลายสมัย 

 

เมื่อนักสู้จากแอฟริการายนี้พยายามใช้ศิลปะการต่อสู้โดยเฉพาะ มวยไทย และ คิกบ็อกซิ่ง สร้างความปรองดองในซูดานใต้ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และครั้งหนึ่งเคยลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง 

เขาทำอย่างไร ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand 

 

ผู้ลี้ภัยสงคราม 

สำหรับ ปูโร โอเคโล โอบ็อบ ไม่เคยมีคำว่าง่ายในพจนานุกรมของเขา เพราะนับตั้งแต่ที่เขาลืมตาดูโลกที่หมู่บ้านโอทัลโล หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กับพรมแดนเอธิโอเปียในปี 1968 ซูดานก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง จากความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปี 1955 หรือหนึ่งปีก่อนได้รับเอกราชจากอังกฤษและอียิปต์ 

เมื่อโอเคโลโตขึ้น เขาก็เริ่มได้หายใจหายคอบ้าง หลังซูดานที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามยอมให้ซูดานใต้ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ได้จัดตั้งเขตปกครองตนเองในปี 1972 และทำให้โอเคโลได้เข้าไปเรียนในเมืองหลวงอย่างคาทูม และได้รู้จักกับศิลปะการต่อสู้ที่นั่น 

"ผมเริ่มฝึกคาราเต้มาตั้งแต่เรียนชั้นประถมที่เมืองคาร์ทูมในปี 1978" โอเคโล กล่าวกับ Radio Tamazuj

"ตอนเด็กศิลปะการต่อสู้คือแพชชั่นของผม ผมต้องเสี่ยงฝึกมัน เพราะมันจำเป็นสำหรับการป้องกันตัวในตอนที่ผมยังอ่อนแอ" 

แม้ว่าศิลปะการต่อสู้ ทั้งมวย มวยปล้ำ คิกบ็อกซิ่ง มวยไทย หรือคาราเต้ จะเป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวในประเทศโลกที่หนึ่งเรียนรู้เพื่อป้องกันตัว ลงแข่ง หรือเพื่อสุขภาพ แต่ในซูดานมันถูกมองว่าเป็นแค่ความบันเทิงเท่านั้น 

ทำให้ในช่วงทศวรรษที่ 1980s โอเคโลตัดสินใจนำศิลปะการต่อสู้ที่เขาร่ำเรียนมาแนะนำให้คนในพื้นที่เขตปกครองตนเองซูดานใต้ได้รู้จัก และกลายเป็นครูศิลปะการต่อสู้คนแรกของที่นี่ 

"ผมสอนโชโตคัง (รูปแบบหนึ่งของคาราเต้) ในเมืองจูบา ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s ผมคือคนแรกในซูดานที่สอนคาราเต้ให้คนในจูบา" โอเคโล อธิบาย

"ในปี 1984 ผมไปเคนยาเพื่ออบรมเพิ่มเติม และได้สายดำกลับมา" 

อย่างไรก็ดีโชคชะตาก็เล่นตลก เมื่อตอนอยู่เคนยาสงครามกลางเมืองที่ซูดานได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลกลางได้นำกฎหมายอิสลาม (กฏหมายชารีอะฮ์) มาบังคับใช้ทั่วประเทศ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านคน และทำให้โอเคโลตัดสินใจลี้ภัยหนีสงคราม 

"ตอนนั้นผมไม่สามารถกลับไปซูดานได้เพราะสงคราม ดังนั้นผมจึงไป แอดดิส อาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย และปี 1985 ผมก็ไปแคนาดา" โอเคโล กล่าว

และอเมริกาเหนือก็กลายเป็นดินแดนที่ทำให้โอเคโลได้เฉิดฉาย 

 

นักสู้แบบผสมผสาน 

"ที่นั่น (แคนาดา) ผมได้ไปฝึกคาราเต้ต่อและกลายเป็นนักสู้อาชีพ" โอเคโล เล่า

การได้ย้ายมาอยู่ดินแดนใหม่ทำให้โอเคโลเหมือนได้ชีวิตใหม่ เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับการศึกษา จนเรียนจบในระดับปริญญาตรีถึงสองใบ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและรัฐประศาสนศาสตร์

แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความหลงใหลในศิลปะการต่อสู้ของเขาลดลงไป เขายังคงฝึกฝนคิกบ็อกซิ่ง (ศิลปะการต่อสู้ที่ดัดแปลงมาจากมวยไทยที่ห้ามใช้ศอก) รวมถึงมวยไทย จนก้าวมาเป็นแชมป์โลก ในรายการ World full-contact champion ที่ชิคาโก ในปี 1995

"ที่แคนาดาผมได้สองปริญญา หนึ่งคือวิศวกรรมไฟฟ้าและอีกสาขาหนึ่งคือรัฐประศาสนศาสตร์ แต่นั่นไม่ได้หยุดผมจากคิกบ็อกซิ่ง" โอเคโล กล่าวกับ Radio Tamazuj 

ในปี 1997 เขาคว้าแชมป์ในรายการแบบนี้ได้อีกครั้งในทัวร์นาเมนต์ที่แคนาดา และทำให้เขาได้รับการยกย่องในฐานะนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมในรุ่นมิดเดิลเวต ที่ไม่มีใครหยุดได้ในยุคนั้น

นอกจากนี้ในปี 2007 เขายังสามารถคว้าแชมป์ Intercontinental full contact championship ทว่ารางวัลในครั้งนั้นก็กลายเป็นจุดหักเหที่ทำให้เขาตัดสินใจกลับบ้านเกิดในปีต่อมา  

"ในปี 1995 ผมก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ขึ้นที่แรกในแอฟริกาที่แอดดิสอาบาบา เอธิโอเปีย หลังจากนั้นผมก็เปิดอีกสาขาที่ไนโรบี เคนยา" โอเคโล กล่าว

ตอนนั้นซูดานเพิ่งจะลงนามสันติภาพหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย (ปี 2005) ที่ทำให้ซูดานใต้ได้สิทธิ์ปกครองตนเองอีกครั้ง (หลังจากยุบไปในปี 1983) ก่อนจะทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้สำเร็จปี 2011

"ผมกลับมาซูดานใต้ในปี 2008 และเริ่มโปรโมตคิกบ็อกซิ่งและศิลปะการต่อสู้แบบผสมที่เมืองจูบามาตั้งแต่ตอนนั้น" โอเคโล กล่าวต่อ

แม้ว่าตอนนั้นศิลปะการต่อสู้จะไม่ใช่สิ่งแรกที่คนซูดานใต้นึกถึง จากการที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอันยาวนานเกือบ 20 ปีมา แต่สำหรับโอเคโล เขามองว่ามันคือสิ่งเดียวที่เขาจะทำเพื่อบ้านเกิดได้ 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โอเคโลตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ที่มีตั้งแต่ คาราเต้ มวยไทย คิกบ็อกซิ่ง มวยปล้ำ สำหรับเยาวชนในเมืองจูบา เมืองหลวงของซูดานใต้ ภายใต้ชื่อ Youth Training Center

"คุณเริ่มจากสิ่งที่คุณรู้ ทุกคนมีบางอย่างที่จะมอบให้ เราแค่ต้องตระหนักว่าความสามารถของเราคืออะไร" โอเคโล อธิบายกับ mkimage.com

ทว่าเส้นทางของเขาก็ไม่ง่าย ในช่วงแรกเขาแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือกระทรวงเกี่ยวกับกีฬาเลยแม้จะยื่นขอไปหลายครั้ง ทำให้สถาบันต้องหาสปอนเซอร์และเปิดรับบริจาค ที่ส่วนใหญ่มาจากเพื่อน ๆ และครอบครัวของเขาเอง 

และในปี 2013 สถานการณ์ของเขาก็ย่ำแย่ลงไปอีก

 

สงครามกลางเมืองซูดานใต้ 

ด้วยความที่เป็นประเทศที่ประกอบขึ้นจากหลายชนเผ่า ทำให้แม้ว่าซูดานใต้จะได้รับเอกราชมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ของพวกเขาก็ยังคุกรุ่นมาโดยตลอด 

ก่อนที่มันจะมาปะทุขึ้นในปี 2013 เมื่อ ประธานาธิบดี ซัลวา เคียร์ ที่มาจากเผ่าดินกา (Dinka) กล่าวหาว่า ริเอ็ค มาชาร์ ที่เป็นคนของเผ่าเนือร์ (Nuer) กำลังวางแผนทำรัฐประหารโค่นล้มอำนาจเขา 

หลังจากนั้นก็ทำให้ความคิดแบ่งออกเป็นสองฝั่งตามกลุ่มชาติพันธุ์ และลุกลามกลายเป็นการใช้ความรุนแรงจนไม่รู้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหนที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างเคียร์และมาชาร์อีกต่อไป

ไม่นานความขัดแย้งก็เริ่มบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 380,000 คน และหลายคนก็ต้องตายเพราะความหิวโหย ขณะที่ผู้คนอีกกว่า 1.6 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย และบางส่วนต้องลี้ภัยไปยังประเทศข้างเคียง 

แต่โอเคโลก็ไม่ยอมแพ้ เขายังคงเปิดศูนย์ฝึกต่อไปท่ามกลางภาวะสับสนอลหม่าน ด้วยความปรารถนาที่จะทำให้เยาวชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าบางครั้งมันจะทำให้เขาต้องสูญเสียลูกศิษย์ไปจากสงครามก็ตาม  

หนึ่งในนั้นคือ เจมส์ คูโอล นักสู้ดาวรุ่งน่าจับตาของแอฟริกา ที่เคยรั้งอันดับ 16 ของโลกในการแข่งขันคิกบ็อกซิ่ง และเคยคว้าแชมป์ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ในปี 2012 

สงครามกลางเมืองทำให้คูโอลและครอบครัวต้องลี้ภัยไปอยู่ในศูนย์คุ้มครองพลเรือนของสหประชาชาติ พวกเขาอยู่ที่นั่นมาตลอดหลายปี และไม่ได้รับข่าวคราวอีกเลยหลังจากนั้น 

"คนซูดานใต้ไม่ค่อยกลัวอะไร เราเคยผ่านเรื่องแบบนั้นมา เราผ่านมันมากเลยทีเดียว" โอเคโล กล่าวกับ mcimage.com 

"เด็กหลายคนเหล่านี้ไม่มีอะไรเลย พวกเขาไม่มีแม้แต่ความสามารถที่จะฝัน"

"เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องเห็นว่าพวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกคนคือชาวแอฟริกัน พวกเขาจำเป็นต้องทำสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำสำเร็จมาก่อน" 

และมันก็เป็นเหุผลที่ทำให้โอเคโลยังคงยืนหยัดต่อไป 

 

ศิลปะการต่อสู้เพื่อสันติภาพ 

อันที่จริงโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ของโอเคโลไม่ต่างจากมูลนิธิการกุศล เขาเปิดรับผู้คนทุกเพศทุกวัย ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยให้ผู้คนในบ้านเกิดสามารถรับมือกับความเครียดทางอารมณ์ที่เกิดจากสงครามที่ยุติไปเมื่อปี 2020 ได้

"คิกบ็อกซิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาความสมดุล ความยืดหยุ่น และความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ นี่คือเหตุผลที่ทำให้นักกีฬาดูหนุ่มกว่าอายุจริงหลายปี" โอเคโล กล่าวกับ Radio Mazuj

อับดุล กาลี แมมโบ คือหนึ่งในนั้น นักสู้วัย 36 ปีที่เปลี่ยนจากกีฬาเทควันโด้มาเป็นคิกบ็อกซิ่งเมื่อปี 2017 บอกว่า เขารู้สึกว่ามีความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจมากขึ้น นับตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่นี่ 

"ก่อนผมมาอยู่สโมสรนี้ผมเคยชอบการทะเลาะวิวาท แต่อย่างน้อยหลังจากผมมาเล่นคิกบ็อกซิ่ง สิ่งนี้ก็ทำให้ผมได้ใช้ทักษะของผม ดังนั้นผมจึงไม่ไปทะเลาะวิวาทที่ไหนอีก" แมมโบ กล่าวกับ Xinhuanet

"มันช่วยหล่อหลอมบุคลิกของผมให้กลายเป็นคนที่นิ่งขึ้น" 

เช่นเดียวกับ โมนิกา มิเชล นักชกหญิงไม่กี่คนในศูนย์ฝึกแห่งนี้ ที่สามารถสู้กับผู้ชายได้อย่างไม่เป็นรอง ทั้งที่ผู้หญิงในประเทศนี้มีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการศึกษา และมีอัตราการตายจากการคลอดลูกมากกว่าเรียนจบถึง 3 เท่าจากการรายงานของยูนิเซฟ 

"ฉันสนุกกับการชกกับเด็กผู้ชาย ฉันชอบคิกบ็อกซิ่ง ฉันชอบการฝึกซ้อม" โมนิกา กล่าวกับ Al Jazeera 

อย่างไรก็ดีนอกจากความฟิตและสภาพจิตใจแล้ว เป้าหมายสำคัญของโอเคโลคือต้องการให้โรงเรียนของเขาช่วยสานสัมพันธ์ให้กับผู้คนต่างเผ่าที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของความขัดแย้งหลังสงครามกลางเมืองสงบลง 

"ศูนย์ฝึกแห่งนี้ประกอบด้วยผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน มันทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่รวมคนจากหลากหลายเผ่าพันธุ์" โอเคโล กล่าวกับ Xinhuanet 

"เรามีผู้คนที่หลากหลายที่มาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน เราจะไม่คำนึงถึงภูมิหลังหรือเชื้อชาติของพวกเขา" 

โอเคโลบอกว่านับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ฝึก มีผู้คนจากหลายอาชีพมาฝึกกับเขา เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 คนในแต่ละปี และเขาก็หวังว่ามันจะสร้างความสามัคคีในชาติที่เคยถูกแบ่งแยกมาอย่างยาวนานได้ 

"ความฝันของผมคือทำให้เด็กพวกนี้มีความเชื่อในด้านบวก ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชายหรือหญิงหรือมาจากเผ่าไหน" โอเคโล กล่าวกับ Al Jazeera 

"ผมอยากให้พวกเขาเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม และไม่ถูกแบ่งแยกจากเส้นแบ่งเรื่องเผ่า" 

ปัจจุบันสมาชิกของ Youth Training Center มีสมาชิกอยู่เกือบพันคน แต่จะมีตัวหลักอยู่เพียง 20 คน และไม่กี่คนนี้จะได้รับเลือกให้ไปแข่งขันในระดับประเทศ 

ล่าสุดดูเหมือนว่าความพยายามของเขาเริ่มผลิดอกออกผล เมื่อ เจมส์ มายอค ผลผลิตจากสถาบันแห่งนี้ ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของซูดานใต้ ลงแข่งในศึกมวยไทยชิงแชมป์แอฟริกา African Continental World Muay Thai Championship เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา 
 
"ผมอยากมอบโอกาสให้พวกเขาในการพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถทำบางอย่างที่ไม่เคยคิดได้ เมื่อพวกเขาเห็นสิ่งนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้" โอเคโล อธิบาย

อย่างไรก็ดีความฝันของโอเคโลก็ยังไม่สิ้นสุด เขาอยากพาลูกศิษย์ไปคว้าแชมป์ให้ได้สักครั้ง และมันจะทำให้พวกเขาได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ 

และทำให้ชาติเกิดใหม่อย่างซูดานใต้มีเสถียรภาพและยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต

"ตอนที่พวกเขามาที่นี่ ผมบอกพวกเขาว่าให้ทิ้งทุกอย่างที่พวกเขามี ผมบอกพวกเขาว่าเราไม่ได้มาที่นี่เพื่อแก้แค้นใคร เรามาที่นี่เพื่อฝึกฝน เรามาที่นี่เพื่อฟิตร่างกาย และทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต" โอเคโล กล่าวกับ Xinhuanet 

"สิ่งแรกคือต้องเอาความโกรธออกไปจากหัว นี่ไม่ใช่การสู้กันข้างถนน ผมบอกพวกเขาว่ากีฬาเอาไว้ใช้สำหรับสร้างชาติ ไม่ใช่ทำลายชาติ" 

"ด้วยกีฬามันจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน มันเป็นการสร้างโอกาสให้กับเยาวชน และสำคัญมากที่จะทำในสิ่งที่ต่างออกไป กีฬาจะพาเยาวชนให้พ้นจากการต้องอยู่ข้างถนน"

 

แหล่งอ้างอิง 

https://radiotamazuj.org/en/news/article/kickboxing-for-peace-the-life-and-times-of-puro-okelo-obob
https://www.aljazeera.com/features/2016/1/20/south-sudan-boxing-through-barriers-and-conflict
http://www.mkcimage.com/learning-to-fight-in-south-sudan 
http://www.xinhuanet.com/english/2019-01/20/c_137760116.htm
https://www.blockdit.com/posts/61078dce8136970c7c0d434a 
https://cityreviewss.com/kickboxing-federation-appeals-for-support-ahead-of-continental-championship/
https://ugsports.net/kick-boxingmuay-thai-kick-south-sudans-majok-to-challenge-mohammed-for-wmo-pro-am-title%EF%BF%BC/

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น