Converse คือแบรนด์รองเท้าที่มีอิทธิพลอย่างมากกับคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสนีกเกอร์เฮดหรือไม่ก็ตาม เพราะด้วยรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย ทำให้มันสามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส
แม้จะมีรองเท้ามากมายของ Converse ที่กลายเป็นรุ่นระดับตำนาน แต่ไม่มีรุ่นไหนจะเป็นที่จดจำมากไปกว่า Chuck Taylor All-Stars สนีกเกอร์คลาสสิกเหนือกาลเวลา ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีไว้ในครอบครองมาแล้ว
อย่างไรก็ตามรองเท้ารุ่นนี้อาจไม่ได้มีอายุยืนยาวหากไม่ได้มีอิทธิพลสำคัญในช่วงเวลาที่ไม่เป็นที่น่าจดจำนักของประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่าง สงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงเวลาแห่งความรุนแรงส่งผลอย่างไรกับสนีกเกอร์รุ่นนี้ จนกลายเป็นรองเท้าอมตะมาจนถึงปัจจุบัน ติดตามเรื่องนี้ไปพร้อมกับเรา
อิทธิพลของ ชัค เทย์เลอร์
หากจะพูดถึงรองเท้ารุ่น Chuck Taylor All-Stars คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง ชัค เทย์เลอร์ นักบาสเกตบอลที่มีอิทธิพลสำคัญกับการสร้างรองเท้าสุดไอคอนิกรุ่นนี้ขึ้นมา
ชัค เทย์เลอร์ ถือเป็นนักบาสตำแหน่งชูตติ้งการ์ด (Shooting Guard) ที่มีพรสวรรค์ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมปลาย การันตีด้วยการเป็นผู้เล่นที่ติดทีมยอดเยี่ยมของรัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 สมัย
ด้วยความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ทำให้เทย์เลอร์ในวัย 17 ปี ไม่สนใจที่จะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เลือกเส้นทางในการเป็นนักบาสเกตบอล แม้ว่าในตอนนั้นกีฬานี้จะยังไม่ใช่กีฬาอาชีพ และไม่มีลีกอาชีพที่เรารู้จักกันดีอย่าง NBA แต่อย่างใด
ทว่า ชัค เทย์เลอร์ ก็ไม่สนใจ เขาเลือกเดินตามแพชชั่นของตัวเองด้วยการไปเล่นกับทีมสมัครเล่นหลายทีม แต่ไปอยู่ทีมไหนก็ไม่เคยอยู่ได้นาน ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง แต่เพราะทีมบาสส่วนใหญ่อยู่ได้แค่ปีเดียวก็ต้องยุบทีม เพราะเป็นทีมสมัครเล่นกันทั้งสิ้น
สุดท้ายเรื่องของปากท้องก็ต้องมาก่อน ในปี 1921 ด้วยวัย 20 ปี ชัค เทย์เลอร์ ก็สมัครเข้าทำงานกับบริษัท Converse บริษัทผลิตยางที่กำลังหาทางเจาะตลาดรองเท้าบาสเกตบอล เนื่องจากในเวลานั้น Converse กำลังพัฒนามิติใหม่ของรองเท้าบาสด้วยการนำพื้นยางมาใช้กับรองเท้าแทนที่จะเป็นพื้นไม้แบบในอดีต
Non-Skids คือชื่อรุ่นรองเท้าบาสของ Converse ที่ถูกวางจำหน่ายในปี 1917 และได้รับความนิยมพอสมควรในช่วงเวลานั้น ซึ่งหนึ่งในนักบาสที่ชื่นชอบรองเท้ารุ่นนี้คือ ชัค เทย์เลอร์
แม้รองเท้าบาสของ Converse จะทำยอดขายได้ไม่เลว แต่ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่บริษัทพอใจ Converse ต้องการเป็นเบอร์ 1 ของวงการนี้ ทำให้ในปี 1920 พวกเขาจึงทำการรีแบรนด์รองเท้ารุ่น Non-Skids ใหม่ ด้วยการปรับรายละเอียดบางอย่างแล้ววางจำหน่ายภายใต้ชื่อ All-Stars
Converse ต้องการมุ่งพัฒนาศักยภาพของรองเท้าให้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักบาสให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นแบรนด์จึงต้องการคนที่มีความรู้เกี่ยวกับกีฬานี้จริง ๆ มาช่วยทำงาน ซึ่งพวกเขาได้ตัดสินใจเลือกนักบาสหนุ่มอย่าง ชัค เทย์เลอร์ เข้ามาร่วมงาน
หนุ่มรายนี้เต็มไปด้วยแพชชั่นในการทำงานร่วมกับ Converse เขาเป็นทั้งเซลล์แมน, คนช่วยพัฒนาคุณสมบัติรองเท้า, ช่วยออกแบบรองเท้า และเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับรองเท้าด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ชัค เทย์เลอร์ ยังเดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อสาธิตการใช้รองเท้ารุ่นนี้ด้วยตัวของเขาเอง เขาต้องการแสดงให้เห็นว่ารองเท้ารุ่นนี้สามารถพัฒนาการเล่นของนักบาสได้จริง ๆ เรียกได้ว่าเขายอมทำทุกอย่างที่ทำได้กับรองเท้ารุ่นนี้
รองเท้ารุ่น All Star โด่งดังอย่างต่อเนื่อง จน Converse ตัดสินใจเลิกวางจำหน่ายรองเท้าบาสรุ่นอื่นเพื่อมาโฟกัสเรื่องการตลาดกับรองเท้ารุ่นยอดนิยมอย่างเต็มตัว
ส่วนหนึ่งที่ทำให้รองเท้ารุ่นนี้ได้รับความนิยมอย่างมากปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคือ ชัค เทย์เลอร์ เพราะเขาไม่ใช่แค่เซลล์แมนที่ทำทุกอย่างเพื่อขายรองเท้าให้ Converse แต่ยังเป็นโปรโมเตอร์จัดการแข่งขันบาสเกตบอลระดับสมัครเล่น ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็จัดการสนับสนุนนักบาสด้วยรองเท้า Converse รุ่น All-Stars
เมื่อเข้าสู่ยุค 1930s รองเท้ารุ่น Converse All-Stasr ก็กลายเป็นรองเท้าบาสที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งยุค เนื่องจากการผลักดันและอยู่เบื้องหลังของ ชัค เทย์เลอร์ ที่ช่วยให้รองเท้ารุ่นนี้กลายเป็นรองเท้าประจำการแข่งขันบาสเกตบอลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 1936 และเป็นครั้งแรกที่กีฬานี้ถูกบรรจุให้มีการแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์
อย่างไรก็ตามรองเท้ารุ่นนี้กลับยังไม่ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในเวลานั้น แต่ก็สามารถพุ่งทะยานไปได้ไกลมากขึ้นอีก ด้วยอิทธิพลของ "สงคราม"
โด่งดังช่วงสงครามโลก
ท่ามกลางการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ครั้งนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากถูกเกณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่ง รวมถึง ชัค เทยเลอร์ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามด้วยวัยที่ย่างเข้าสู่เลข 4 ทำให้เขาไม่ได้เป็นแนวหน้าที่ไปออกรบ แต่เป็นคนทำงานอยู่เบื้องหลัง ในฐานะโค้ชบาสเกตบอลให้กับหน่วยทหารอากาศในช่วงสงคราม
หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่ากีฬาบาสเกตบอลมีความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นี่คือเรื่องจริง เพราะเกมยัดห่วงกลายเป็นกีฬาของกองทัพอเมริกาที่ใช้ในการสร้างความสามัคคีให้กับเหล่าทหาร ไม่ว่าจะเป็นทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ ไปจนถึงนาวิกโยธิน ต่างก็ต้องเล่นบาสเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในหมู่ทหารด้วยกัน
เนื่องจากบาสเกตบอลมีความสำคัญในกองทัพอยู่แล้ว และคนที่คอยฝึกทหารในการเล่นบาสก็คือ ชัค เทย์เลอร์ สิ่งที่ตามมาก็คือบทบาทสำคัญของรองเท้า Converse All-Stars
รองเท้าบาสรุ่นนี้กลายเป็นรองเท้าบาสประจำกองทัพสหรัฐฯ แต่อิทธิพลของรองเท้ารุ่นนี้มีมากกว่านั้น เพราะไม่ว่าโดยบังเอิญหรือตั้งใจ คุณสมบัติของรองเท้ารุ่นนี้ใกล้เคียงกับรองเท้าของทหารอเมริกันในช่วงสงครามโลกเป็นอย่างมาก
นั่นเป็นเพราะว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัท Converse คือหน่วยงานสำคัญที่ผลิตรองเท้าทหารที่ใช้ในสงครามให้กับกองทัพสหรัฐฯ และถึงจะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่ารองเท้าบาสเกตบอลของ Converse คือต้นแบบของรองเท้าทหารอเมริกันในเวลานั้น ที่ต้องการคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ไม่ต่างจากรองเท้าบาส นั่นคือการสนับสนุนการเคลื่อนที่อันรวดเร็วและว่องไวของผู้สวมใส่
สิ่งที่สามารถสังเกตได้คือรองเท้าของทหารสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกมีพื้นยางที่ใกล้เคียงกับ Converse All-Stars เป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเหมือนรองเท้าที่เป็นพี่น้องกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ตัวรองเท้ารุ่น All-Stars เองก็ไม่ได้เป็นรองเท้าที่ทหารใส่เพื่อเล่นบาสเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกใช้เป็นรองเท้าฝึกซ้อมของทหารอีกด้วย เนื่องจากรูปทรงที่คล้ายกัน ความรู้สึกในการสวมใส่และการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก ทำให้ทหารหลายคนเลือกใส่รองเท้ารุ่นนี้ในการฝึกซ้อม เพราะมีน้ำหนักที่เบากว่ารองเท้าทหารทั่วไป และช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของทหารได้ดียิ่่งขึ้น
อิทธิพลของรองเท้ารุ่นนี้ในช่วงสงครามโลกมีบทบาทมากในสังคมอเมริกัน และเป็นช่วงเวลาแรกที่คนเริ่มเรียกรองเท้ารุ่นนี้ว่า Chuck Taylor All-Stars ด้วยการใส่ชื่อของ ชัค เทย์เลอร์ เพิ่มเข้ามาเพื่อเป็นการยกย่องถึงบุคคลสำคัญที่ทำให้รองเท้ารุ่นนี้โด่งดังไปทั่ว
ผนวกกับพอเข้าสู่ยุค 50s ที่กีฬาบาสเกตบอลได้รับความนิยมในระดับประเทศ จนนำไปสู่การเกิดลีกอาชีพอย่าง NBA ทำให้ในยุคนี้กลายเป็นยุคทองของ Chuck Taylor All-Stars ที่ไม่ว่าจะเป็นนักบาสระดับมัธยม, มหาวิทยาลัย หรือระดับอาชีพ ก็ต้องใส่รองเท้ารุ่นนี้
สู่สนีกเกอร์ไม่มีวันตาย
แม้ว่ารองเท้า Chuck Taylor All-Stars จะมีบทบาทสำคัญในฐานะรองเท้าบาสเกตบอลมาอย่างยาวนาน แต่ทุกอย่างก็มีวัฏจักรของตัวเอง เมื่อรองเท้าบาสรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่าออกวางจำหน่าย ก็ทำให้รองเท้าสุดเก๋ารุ่นนี้ต้องหมดยุคสมัยในคอร์ตบาสเกตบอลไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามจุดจบของ Chuck Taylor All-Stars ในสนามแข่งขันนำมาสู่การเกิดใหม่อีกครั้งนอกสนาม เพราะรองเท้ารุ่นนี้กลายเป็นสนีกเกอร์แฟชั่นขวัญใจของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว
ข้อแรกที่ทำให้ Chuck Taylor All-Stars กลายเป็นสนีกเกอร์ที่คนหลงรักก็เป็นเพราะเรื่องของความสวยงาม ที่แม้ว่าตัวของรองเท้าจะไม่ได้มีลวดลายที่หวือหวา แต่ก็สามารถใส่คู่สีที่มีความสวยงามจัดวางลงในรองเท้าได้อย่างลงตัว
โดยคู่สีแรกที่มีอิทธิพลอย่างมากคือ คู่สี "ดำ-ขาว" ที่มีตัวรองเท้าเป็นสีดำขณะที่ส่วนพื้นรองเท้าเป็นสีขาว ซึ่งเป็นความเรียบง่ายที่ลงตัว มีความสวยงาม และสามารถใส่ได้ในทุกโอกาส
แต่ไม่ใช่ว่ารองเท้า Chuck Taylor All-Stars จะโดดเด่นด้วยคู่สีเพียงแค่ "ดำ-ขาว" เพราะมีคู่สีอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกผลิตออกมาและได้รับความนิยมที่แตกต่างกันออกไป
ต้องชื่นชมการตลาดของแบรนด์ Converse เพราะช่วงยุค 70s ซึ่งถือเป็นจุดตกต่ำสุดขีดของรองเท้ารุ่นนี้ในการใส่ในฐานะรองเท้าบาสเกตบอล เนื่องจากประสิทธิภาพในการใช้งานสำหรับเล่นกีฬาถือว่าตกรุ่นไปเป็นที่เรียบร้อย
แต่ Converse ก็แก้เกมด้วยการปล่อยรองเท้ารุ่นนี้ในสีที่หลากหลาย ไม่ผูกมัดมันไว้แค่กับสีดั้งเดิม (สี Original) ที่เคยใช้ในการแข่งบาสเกตบอลเท่านั้น เรียกได้ว่าทำออกมาแทบจะทุกสี ชนิดที่เรียกได้ว่าทุกคนต้องมีสักคู่สีที่ถูกใจสำหรับรองเท้ารุ่นนี้
นอกจากนี้ยังได้มีการวางจำหน่ายรองเท้าทรง Low ในช่วงเวลาเดียวกัน จากที่แต่เดิมรองเท้ารุ่นนี้เป็นทรง High อันเป็นทรงยอดฮิตของการเป็นรองเท้าบาสเกตบอล แต่การปล่อยรูปลักษณ์ใหม่ของ Chuck Taylor All-Stars ก็เป็นการสะท้อนว่ารองเท้ารุ่นนี้ไม่ใช่แค่รองเท้าบาสเกตบอลอีกต่อไป แต่มันเปรียบเสมือนรองเท้าที่ทุกคนใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการตลาดแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 70s ก่อนที่สนีกเกอร์จะได้รับความนิยมด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเป็นการเดินเกมธุรกิจที่เฉียบขาดอย่างมากของทาง Converse
ย้อนกลับมาที่ตัวรองเท้า ด้วยทางเลือกที่หลากหลายทั้งรูปทรงและคู่สี ทำให้ Chuck Taylor All-Stars ไม่ใช่แค่รองเท้าสำหรับใครบางคน แต่เป็นการแสดงออกถึงตัวตนของผู้สวมใส่ เพราะด้วยทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้คนที่ใส่รองเท้ารุ่นนี้สามารถเลือกสีที่มาพร้อมกับรูปทรงที่ถูกใจตัวเองได้ รวมถึงสามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ตามต้องการ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Chuck Taylor All-Stars จะกลายเป็นรองเท้าสนีกเกอร์ที่ไม่มีวันตาย เพราะด้วยความหลากหลายที่ไม่ตายตัว ทำให้รองเท้ารุ่นนี้เข้าถึงผู้คนได้เสมอไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน
แม้ว่าทุกวันนี้โลกของสนีกเกอร์จะเต็มไปด้วยกระแสของความไฮป์ การรีเซลด้วยราคาเป็นเท่าตัว และ Chuck Taylor All-Stars ก็ไม่ใช่รุ่นที่อยู่ในกระแสมากนัก แต่รองเท้ารุ่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งกระแสอะไรทั้งนั้น
เพราะถึงผ่านมาเป็นร้อยปีแต่รองเท้ารุ่นนี้ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังคงรักมันและพร้อมจะหยิบมาสวมใส่ในทุกโอกาสทุกเวลา เพราะนี่คือรองเท้าที่ไม่ได้อยู่ด้วยกระแสหรือพึ่งพาการสวมใส่ของเซเลบริตี้ แต่นี่คือเครื่องสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ทุกคน และมันเป็นรองเท้าที่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็มีคุณค่ามากกว่าแค่รองเท้าเสมอ
แหล่งอ้างอิง
https://www.artsy.net/artwork/converse-all-star-slash-non-skid
https://www.sneakerfreaker.com/news/american-icon-basketball-history-converse-star
http://chucksconnection.com/history1.html
https://www.opumo.com/magazine/history-of-converse-chuck-taylor-allp-star/