หากพูดถึงอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเล่นกีฬาและการดำเนินชีวิตประจำวันในยุคนี้ สิ่งที่คนส่วนมากนิยมรองจากสมาร์ทโฟนในกระเป๋าของตนเองคือสมาร์ทวอทช์ที่อยู่บนข้อมือ
สมาร์ทวอทช์ หรือ นาฬิกาอัจฉริยะ ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้กับหลาย ๆ คน ถึงแม้ว่าจะมีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว แต่ด้วยขนาดที่กะทัดรัด ฟังก์ชันที่เน้นการใช้งานตามติดสุขภาพ นาฬิกาสมาร์ทวอทช์จึงใช้งานได้สะดวกมากกว่าหากใช้สำหรับการออกกำลังกาย
สิ่งที่น่าดึงดูดรองลงมาจากเรื่องการใช้งาน คือรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความทันสมัย เพราะสมาร์ทวอทช์ก็เป็นเสมือนไอเท็มแห่งโลกอนาคต อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนก็ยังคงต้องการนาฬิกาที่มีหน้าตาเหมือน “นาฬิกา” ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่เหมือนแท็บเล็ตขนาดจิ๋วติดข้อมือได้ แต่ในขณะเดียวกันหากได้ฟังก์ชันการใช้งานที่ล้ำสมัยมาคู่กันก็คงจะดีไม่น้อย
เพราะเหตุนี้ผู้ผลิตหลาย ๆ ราย จึงเริ่มที่จะกลับไปใช้ดีไซน์นาฬิกาแบบเก่า ในขณะที่ยังคงความทันสมัยของเทคโนโลยีไว้อยู่
ทำไมสมาร์ทวอทช์ที่เป็นสมาร์ทแกดเจ็ตล้ำสมัยถึงหวนคืนไปสู่การดีไซน์แบบคลาสสิกกันมากขึ้น ?
Main Stand ขออาสาเล่าให้ฟัง
AHEAD OF ITS TIME
หากพูดถึงสมาร์ทวอทช์ สิ่งที่หลายคนนึกขึ้นเป็นอันดับแรก ๆ คงจะเป็น Apple Watch, Samsung Galaxy Watch, Xiaomi Mi Watch หรือนาฬิกาอัจฉริยะจากแบรนด์ใหญ่ ๆ อย่าง Garmin, Suunto ที่กำลังแข่งขันกันครองตลาดกันในปัจจุบัน แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงแล้วนาฬิกาสมาร์ทวอทช์มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s แล้ว
แม้ว่าเทคโนโลยีตอนนั้นจะยังไม่ล้ำสมัยเท่าตอนนี้ แต่อย่างน้อยนิยามของ นาฬิกาอัจฉริยะ ก็ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคดังกล่าว มีผู้ผลิตนาฬิกามากมายที่เข็นสมาร์ทวอทช์ออกมาสู่ท้องตลาด แรกสุดเริ่มมาจาก Seiko (ไซโก้) ที่ปล่อยนาฬิกาแบรนด์ลูกของตนเองยี่ห้อ Pulsar รุ่น NL C01 ในปี 1982 ออกมา เป็นนาฬิกาที่สามารถจัดเก็บบันทึกข้อมูลได้ ใช้ร่วมกับชุดต่อเสริมที่มีลักษณะคล้ายคีย์บอร์ดขนาดเล็ก ฟังก์ชันการใช้งานโดยทั่วไปของนาฬิการุ่นดังกล่าวคือการเก็บรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
หลังจากนั้นในปี 1983 Seiko ก็ได้ปล่อยสมาร์ทวอทช์ภายใต้แบรนด์ของตนเองออกมาในชื่อรุ่น The Data 2000 นาฬิการุ่นดังกล่าวยังคงมีวิธีการใช้งานแบบนาฬิกาอัจฉริยะที่พวกเขาปล่อยมาภายใต้แบรนด์ลูกก่อนหน้านี้ สมาร์ทวอทช์ในยุคนั้นจะสมาร์ทจริง ๆ ก็ต่อเมื่อมีการต่ออุปกรณ์เสริมเข้ากับนาฬิกา ถึงอย่างไรมันก็ดูเป็นอุปกรณ์ที่เทอะทะและไม่ค่อยสะดวกต่อการใช้งานเท่าไรนัก
นอกจาก Seiko ยังมี Casio (คาสิโอ) บริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องคิดเลขอยู่นาน โดยเริ่มนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาสู่นาฬิกาของตนเองมากขึ้น แม้ว่านวัตกรรมเหล่านั้นจะดูไม่มีความจำเป็นสำหรับผู้ใช้มากสักเท่าไหร่ ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจาก G-Shock นาฬิกาที่เน้นในเรื่องความทนทานเป็นหลัก ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรุ่นซิกเนเจอร์ประจำแบรนด์ Casio ในตอนนั้นเองก็เริ่มที่จะขยายรุ่นนาฬิกาให้มากขึ้นจนเป็นสมาร์ทวอทช์แบบที่ไซโก้ทำ
ในช่วงทศวรรษ 1980s นี้เอง Casio ก็เริ่มพัฒนานาฬิกาที่มีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย จนถึงขนาดกล่าวได้ว่าเริ่ม “แปลก” เลยทีเดียว อย่างนาฬิกาที่มีเครื่องคิดเลข ในรุ่น C-80, T-1500 รุ่นที่มีดิกชันนารี, รุ่น CD-40 ที่สามารถบันทึกเบอร์โทรศัพท์ได้ หรือแม้กระทั่งรุ่นที่สามารถวัดชีพจรได้อย่าง JP-100W
อย่างไรก็ดี สมาร์ทวอทช์ในอดีตก็ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะราคาที่สูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง อย่าง The Data 2000 สมาร์ทวอทช์เรือธงของ Seiko ณ ตอนนั้น มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 295 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 9,990 บาท ซึ่งถ้าเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบันแล้ว นาฬิการุ่นดังกล่าวมีมูลค่าเท่ากับ 797 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 27,000 บาทเลยทีเดียว
แต่ถึงจะไม่ได้ขายดีเท่าไหร่ สิ่งที่ตามมากับฟังก์ชันการใช้งานอันหลากหลายและนวัตกรรมล้ำอนาคต คือดีไซน์ที่เริ่มหลุดโลกไปเรื่อย ๆ หน้าตาของนาฬิกาก็เริ่มไม่เป็นนาฬิกา เดี๋ยวก็เหมือนเพจเจอร์บ้าง เหมือนคีย์บอร์ดบ้าง แต่หารู้ไหมว่า ในปัจจุบัน ยิ่งนาฬิกาดังกล่าวมีคุณสมบัติการทำงานที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ดีไซน์ก็ต้องยิ่งเรียบง่ายขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่ถูกมองว่าเยอะในอดีต กำลังจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปัจจุบัน
RETRO-FUTURISTIC
นาฬิกาสมาร์ทวอทช์ในยุคปัจจุบัน เป็นนาฬิกาที่รวมฟังก์ชันการใช้งานในอดีตของสมาร์ทวอทช์ยุคเก่าไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล การคิดเลข ติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ บอกสภาพอากาศ จากอุปกรณ์เสริมใหญ่เทอะทะที่ต้องใช้ร่วมกัน ก็เปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเท่านั้น
นอกจากนี้นิยามของสมาร์ทวอทช์ก็ดูเหมือนจะแปรเปลี่ยนไปอีกครั้ง เนื่องจากนาฬิกาอัจฉริยะในท้องตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีจุดประสงค์มุ่งเน้นในเรื่องของการใช้เพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ อย่างการวัดระดับชีพจรหรือการบันทึกผลการออกกำลังกาย ผิดจากอดีตที่เน้นเรื่องของการใช้งานด้านธุรกิจหรืองานเอกสารเป็นหลัก
ฟังก์ชันการใช้งานส่วนมากในอดีต จะวนเวียนอยู่แค่การใช้งานในด้านธุรกิจ สิ่งที่นาฬิกาพวกนี้ทำได้โดยพื้นฐาน คือการเก็บข้อมูล เป็นการใช้งานเฉพาะ หาใช่การทำออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันแบบองค์รวมแต่อย่างใด และเมื่อมาลองทบทวนดี ๆ อีกครั้ง คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สมาร์ทวอทช์ยุคปัจจุบันพยายามจะทำทั้งสิ้น ความสามารถที่นาฬิกาของ Casio หรือ Seiko ทำได้ในตอนนั้น แทบจะทำให้การบอกเวลาเป็นงานรองไปเฉย ๆ เลยสำหรับการเป็นนาฬิกา
โลกในตอนนั้นยังไม่พร้อมกับความล้ำสมัยของนาฬิกาอัจฉริยะเหล่านี้ ฟังก์ชั่นการใช้งานที่เยอะถูกมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ขนาดผู้บริหารคาสิโอยุคปัจจุบันอย่าง คาสุฮิโระ คาชิโอะ ทายาทรุ่นลูกของ Casio ก็ออกมายอมรับต่อเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมากับ Europa Star เมื่อปี 2015 ที่ขณะนั้นพวกเขาเตรียมรื้อฟื้นไอเดียเก่า ๆ ในอดีตออกมาใช้ใหม่
“มันเคยมีช่วงเวลาที่เราชอบอวดคุณสมบัติของนาฬิกาแบบล้น ๆ สุดท้ายแล้วก็ต้องเก็บคืนกลับบริษัท เพราะมันขายไม่ดีเลย”
ดีไซน์ของนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ในปัจจุบันส่วนมากจะมีความเรียบง่าย ไม่ค่อยมีปุ่มเยอะเหมือนกับสมาร์ทวอทช์ในอดีต มีเพียงหน้าจอสัมผัสเล็ก ๆ อยู่บนข้อมือเท่านั้น ความน่าสนใจของเรื่องดังกล่าวก็คือ แม้ว่าหน้าตาอุปกรณ์จะเริ่มล้ำสมัยไปเรื่อย ๆ แต่ผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์บางเจ้ายังตั้งใจที่จะออกแบบนาฬิกาให้กลับไปดูเหมือนนาฬิกายุคเก่าอีกครั้ง
ตัวอย่างเช่น Pebble Time (เพ็บเบิ้ล ไทม์) บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์ที่เคยระดมทุนในการสร้างมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2012 แต่ก็ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวตามกระแสทางการค้าได้ เพราะแนวทางในการคิดค้นนั้นไม่ชัดเจนว่าจะเน้นการใช้งานทางด้านไหนเป็นพิเศษ เมื่อถึงเวลาที่ต้องแข่งขันกับบริษัทอื่นจริง ๆ Pebble Time กลับทำการตลาดได้ไม่ดีนัก เนื่องจากบริษัทคู่แข่งอย่าง Apple ที่เปิดตัวสมาร์ทวอทช์ในเวลาใกล้ ๆ กันทำผลงานได้ดีกว่ามาก
ถึงอย่างไรตอนที่ Pebble Time เปิดตัวนาฬิกาของตนเอง พวกเขาก็โดดเด่นในเรื่องของดีไซน์เป็นพิเศษ นาฬิกาดังกล่าว นำสมัยด้วยเทคโนโลยี แต่ขายความคลาสสิก ด้วยดีไซน์แบบเรโทร มีความเป็นของเล่น มีความเนิร์ดอยู่ในตัว ให้อารมณ์เสมือนเกมอาร์เคดยุค 80s ยังไงอย่างงั้น
หรืออย่างแบรนด์ Amazfit รุ่น NEO ที่โปรโมทอย่างหนักว่าขายดีไซน์แบบเรโทร มีปุ่มรอบด้านสี่ทิศกับหน้าปัดแสดงผลแบบดิจิตอล ในขณะที่ยังคงฟังก์ชันการใช้งานแบบสมัยใหม่ไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การวัดชีพจร การติดตามการนอน ไปจนถึงการนับการเผาผลาญแคลอรีในแต่ละวันอีกด้วย
แม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงสาเหตุในการดีไซน์นาฬิกาอย่างเป็นทางการสำหรับสองแบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้น แต่นี่ก็อาจเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแขนงหนึ่ง เพราะปัจจุบัน สมาร์ทวอทช์ หรือ ฟิตเนสแทร็กเกอร์ มักจะมีหน้าตาที่ค่อนข้างคล้ายกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้แบรนด์ของตนเองโดดเด่นขึ้นมาได้คือการดีไซน์ที่แตกต่างนั่นเอง
แม้กระทั่งแบรนด์อย่าง Casio ที่หวนคืนสู่ตลาดนาฬิกาอัจฉริยะอีกครั้ง พวกเขาชูโรงสมาร์ทวอทช์ด้วยไลน์นาฬิกาที่ชื่อว่า PRO TEK Smart ที่ถูกสร้างมาเพื่อการใช้งานกับการออกกำลังกายและทำกิจกรรมเอาต์ดอร์โดยเฉพาะ นอกจากนี้ พวกเขายังผลิตสมาร์ทวอทช์ ในคราบของนาฬิการุ่น G-Shock อีกด้วย
จริง ๆ แล้ว Casio ไม่จำเป็นต้องทำสมาร์ทวอทช์ออกมาในคราบของ G-Shock ก็ได้ แต่พวกเขาก็เลือกที่จะทำอยู่ดี เพราะมองว่านี่ก็เป็นมรดกของแบรนด์ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน มากไปกว่านั้นเขาก็เข้าใจถึงแฟน ๆ นาฬิกาที่อยากได้ความสะดวกสบาย แต่ก็ยังคงคิดถึงดีไซน์แบบคลาสสิกด้วย แม้จะมีการปรับให้ตัวนาฬิกามีความเรียวมากขึ้น แต่มันก็ยังเป็น G-Shock ในแบบที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย
“เราอยากจะสร้างนาฬิกาโมเดลนี้ขึ้นมาอีกเพื่อให้ตอบโจทย์กับการใช้งานและแฟชั่นอย่างเต็มที่”
ริวสุเกะ โมริอาอิ หัวหน้าในการออกแบบนาฬิกาของ Casio เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2019 กับ DigitalTrends ถึงความใส่ใจในรายละเอียดในผลงานของพวกเขา
“ผมพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะสร้างบางสิ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูงขึ้นมา"
“พวกเราจะไม่เลิกใช้ดีไซน์ที่ดูสมบุกสมบันของ G-Shock แต่อย่างใด มันอาจจะมีความเรียวมากขึ้น แต่มันก็ยังดึงดูดแฟน ๆ G-Shock ได้”
ความชัดเจนในแนวทางของ Casio ก็ทำให้พวกเขาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดสมาร์ทวอทช์ที่ยังคงโดนเด่น ไม่ใช่ด้วยเรื่องของเทคโนโลยีหรือราคา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือดีไซน์ต่างหาก
FEELS LIKE WE ONLY GO BACKWARDS
นอกจากดีไซน์แบบเรโทร สมาร์ทวอทช์บางยี่ห้อยังเลือกเอาใจสายวินเทจ เช่น Withings (วิทธิงส์) แบรนด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากประเทศฝรั่งเศส ที่ทำสมาร์ทวอทช์ออกมาเพื่อเอาใจคนรักนาฬิกาวินเทจโดยเฉพาะ อย่างรุ่น ScanWatch ที่เป็นรุ่นคลาสสิกของแบรนด์ หรือ ScanWatch Horizon ที่ออกแบบมาให้มีความทัดเทียมกับนาฬิกาหรูยี่ห้อ Rolex
นาฬิกาของ Withings เป็นนาฬิกาที่ผสานความทันสมัยกับความคลาสสิคกเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว มีหน้าปัดแสดงผลแบบดิจิตอลผสมกับหน้าปัดแบบเข็มเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้นาฬิกาดังกล่าวเหมาะสำหรับใส่ทั้งงานที่เป็นทางการและสำหรับการเล่นกีฬา
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น การเลือกใช้ดีไซน์แบบคลาสสิกสำหรับการสร้างสมาร์ทวอทช์ของแต่ละแบรนด์ ไม่ได้มีเหตุผลแบบเฉพาะเจาะจงที่มาตีกรอบไว้ ส่วนมากมักจะเป็นไอเดียของทางผู้ผลิตเองที่มองเห็นการสร้างความแตกต่างโดยการออกแบบหรือบางครั้งก็อาจมีความหมายแฝงถึงการเชิดชูมรดกแบบคาสิโอก็เป็นได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวของกระแสเรโทรและกระแสความนิยมความคลาสสิกนั้นแฝงอยู่ในแทบทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นรองเท้าหรือวิดีโอเกมอาร์เคดที่ถูกนำมาผลิตขายใหม่ และสมาร์ทวอทช์เองก็คงเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่อยู่ในกระแสนี้เช่นกัน กล่าวคือ ยังมีคนบางกลุ่มที่นิยมความงามแบบคลาสสิกอยู่ ในขณะที่อีกกลุ่มก็อาจจะชอบความทันสมัยแบบเต็มขั้นไปเลยก็ได้ การมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดีไซน์เรโทรให้เราเลือกในท้องตลาดก็เป็นการสร้างตัวเลือกที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาเท่านั้น
เพียงแต่ว่าในปัจจุบัน นาฬิกาที่เคยมีฟังก์ชันและหน้าตาล้น ๆ ในอดีต กลับทำงานได้ดีจริง ๆ แล้ว แถมยังจบในเรือนเดียวอีกต่างหาก ไม่ได้มีคุณสมบัติต่างกันในแต่ละรุ่นอีกต่อไป
แหล่งอ้างอิง :
https://world.casio.com/corporate/history/chapter02/
https://brandinside.asia/pebble-fitbit-deal-analysis/
https://www.digitaltrends.com/wearables/casio-g-shock-smartwatch-ryusuke-moriai-interview/
https://www.europastar.com/news/1004088270-casio-the-return-of-the-original-smartwatch.html
https://www.ft.com/content/261124bc-2aef-11e5-acfb-cbd2e1c81cca
https://www.gearpatrol.com/watches/a498479/smartwatch-history/
https://www.techradar.com/news/wearables/before-iwatch-the-timely-history-of-the-smartwatch-1176685
https://www.theweek.co.uk/64380/pebble-time-review-praise-for-the-simple-smartwatch-with-retro-charm
https://www.withings.com/de/en/watches