M-Style

เจ๋งจริงป่ะ ? : "Performance Beer" เบียร์เทพประทานสำหรับคนออกกำลังกายขาดริงค์ | Main Stand

ใครก็รู้ว่าการ "เมา" นั้นมันส่งผลเสียแค่ไหนในฐานะนักกีฬา หรือแม้กระทั่งคนที่ออกกำลังกาย 
 

 

ความฟิตจะลดลง การตัดสินใจจะไม่รอบคอบ และประสิทธิภาพก็จะหดหาย นี่คือผลเสียและเป็นเหตุผลว่าทำไมเหล่านักกีฬาอาชีพกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างปฎิเสธไม่ได้ 

อย่างไรก็ตามทุกอย่างในโลกล้วนมี 2 มุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง "เบียร์" นั้นคือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ส่วนใหญ่ถ้าได้ลิ้มรสและเข้าถึงระดับความเมาที่พอดิบพอดีแล้ว ก็จะได้พบกับบรรยากาศที่ "ฟิน" อย่าบอกใคร 

และไอเดียบรรเจิดจากมนุษย์เรา ก็เอาทั้งการออกกำลังกายและการดื่มมารวมกันจนได้ ภายใต้ชื่อ "Performance Beer" ... สิ่งนี้เจ๋งจริงหรือหลอกเจ้า? ติดตามได้ที่นี่

 

อยากเป็นสุดยอดนักกีฬา...อย่ากินเบียร์ 

เหล่านักกีฬาอาชีพเกือบทุกประเภทนั้น มักจะมีกฎเหล็กจากเหล่าต้นสังกัดหรืออย่างน้อยๆ พวกเขาก็ตั้งกฎให้กับตัวเองว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นคือเรื่องต้องห้ามในช่วงที่มีการแข่งกัน หรือก่อนการแข่งขันไม่นาน เพราะมันจะส่งผลเสียโดยตรงเลยทีเดียว

แอลกอฮอล์มีผลทำให้คุณอาจได้รับการบาดเจ็บที่มากขึ้น และสาเหตุการบาดเจ็บเกิดได้หลายวิธี ทำให้ร่างกายของคุณผลิตสารไกลโคเจนได้ไม่เต็มที่ ซึ่งไกลโคเจนนี้นี่เองที่เป็นแหล่งสร้างพลังงานที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้เหล่านักกีฬามีความอึด, ความแข็งแรง และพร้อมสำหรับการแข่งขัน นอกจากนี้เบียร์ยังมีแคลอรี่เยอะมาก ส่งผลต่อรูปร่างโดยตรงเข้าไปอีก 

ปี 2012 กลุ่มนักวิจัยจากเยอรมันนำโดยแพทย์ประจำทีมสกีของทีมชาติเยอรมันในศึกโอลิมปิกฤดูหนาว ได้ทำการทดสอบด้วยกลุ่มตัวอย่างนักวิ่งชายที่มีสุขภาพดีและแข็งแรงจำนวน 277 คน โดยนักวิ่งทั้งหมดจะถูกมอบหมายให้ดื่มเบียร์จำนวน 1-1.5 ลิตร โดยมีนักวิ่งบางส่วนได้รับ "ยาหลอก" (Placebo) นั่นคือได้ดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 

ทั้ง 277 คน จะได้ดื่มก่อนรายการวิ่งมาราธอนจะเริ่ม 3 สัปดาห์ และเมื่อวิ่งมาราธอนเสร็จพวกเขาจะได้ทดสอบให้ดื่มอีก 3 สัปดาห์หลังการแข่ง และผลที่ออกมาคือกลุ่มนักวิ่งที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อน้อยกว่า นอกจากนี้ยังมีระบบทางเดินหายใจที่ดีกว่าด้วย 

ยังไม่จบแค่นั้น ฤทธิ์อีกอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นคือการเป็นยาขับปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ก่อนแข่งขันหรือออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายของเหล่านักกีฬาคายน้ำออก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังร่างกาย เมื่อน้ำถูกระบายออกไป ร่างกายก็จะมีความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อมากขึ้น 

มีนักกีฬาชื่อดังหลายคนที่เก่งมากๆ แต่ก็ไปได้ไม่ไกลบนสายอาชีพเพราะเหล้า, เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ พอล แกสคอยน์ ผู้เสียคนจากน้ำเมา จนพลาดโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะระดับโลก ทั้งที่มีพรสวรรค์ล้นตัว เป็นต้น 

ชัดเจนว่าทั้งในแง่นามธรรม (ความรู้สึก) และรูปธรรม (มีเหตุผลยืนยัน) บอกได้ว่า ถึงแเม้เบียร์จะทำให้ชีวิตของคุณคึกครื้นแค่ไหน แต่ตราบใดที่คุณเป็นนักกีฬาอาชีพ มันยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแน่นอน 

 

ทุกอย่างต้องมีทางแก้

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าดื่มแล้วส่งผลเสีย แต่มนุษย์เรานั้นไม่ได้มีชีวิตไว้เพื่อจริงจังตลอดทั้ง 7 วันต่อสัปดาห์ 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันอะไรแบบนั้น การออกไปรีแล็กซ์ร่างกายด้วยเบียร์เย็นๆ พร้อมบรรยากาศดีๆ นี่คือสิ่งที่หลายคนหลงใหลและไม่กล้าปฏิเสธว่า "มันเยี่ยมจริงๆ"

เพราะชีวิตมันต้องครบรส ดังนั้นมันจำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอ เมื่อค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้ร่างกายบอบช้ำและเจ็บปวดจริงๆ ไม่ใช่เบียร์ แต่มันคือ แอลกอฮอล์ ที่อยู่ในเบียร์ ดังนั้นการแก้ปัญหามันก็ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คิด แค่เอา แอลกอฮอล์ ออกไปก็สามารถดื่มได้สบายมาก ... มันเป็นวิธีที่ดูเหมือนกำปั้นทุบดิน แต่มันกลับแก้ปัญหาได้จริงเสียอย่างนั้น 

ในปี 2018 ณ โอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ ทีมชาติเยอรมันสั่งเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาลงที่หมู่บ้านนักกีฬาของพวกเขากว่า 3,500 ลิตร และมันก็เป็นที่ถูกอกถูกใจเป็นอย่างมาก หลังฝึกมาเหนื่อยๆ นักกีฬามักจะดื่มกันอย่างสบายอุรา เพราะมันดีต่อสุขภาพแถมยังมีรสชาติดีอีกต่างหาก ส่วนผลงานหลังจากดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ของเยอรมันคืออะไรน่ะหรือ? 

พวกเขาจบอันดับที่ 2 ของตารางเหรียญรวม ด้วยการกวาดไป 14 เหรียญทอง 10 เหรียญเงิน 7 เหรียญทองแดง ... จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวไม่มีใครอธิบายได้ แต่สถิติที่กล่าวมาก็ไม่เลวเลยใช่ไหมล่ะสำหรับการดื่มเบียร์กว่า 3,500 ลิตร?  

 

ยุคใหม่ต้องไม่ใช่แค่กินแก้อยาก 

เอาล่ะ เมื่อมนุษย์เรารับรู้ว่าการดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ นอกจากจะไม่ทำร้ายสุขภาพร่างกายแล้วยังมีประโยชน์หากใช้ให้ถูกทางอีกด้วย แต่แค่นั้นมันยังเยี่ยมไม่พอ ... เพราะมนุษย์ค้นคว้าไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งค้นพบ นั่นหมายความว่า เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ จะถูกยกระดับไปอีกขั้นในแง่ของประสิทธิภาพหลังการดื่ม และกลายเป็นเบียร์สำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อเรียกว่า "Performance Beer"

เบียร์ที่ดื่มแล้วเล่นกีฬาหรืออกกำลังกายได้ดีขึ้น แค่ได้ยินแบบนี้ก็เยี่ยมแล้ว ว่ากันว่า Performance Beer กำลังเป็นที่นิยมมาก ปัจจุบันมีหลากหลายแบรนด์ทั่วโลกที่มารุมแบ่งเค้กที่เพิ่งอบเสร็จใหม่ๆ ก้อนนี้ 

หนึ่งในมนุษย์ผู้ผลิต Performance Beer เบอร์แรกๆ ของโลกมีชื่อว่า แคทลิน แลนเดสเบิร์ก เธอคือคนที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬามาตลอดชีวิตโดยเฉพาะเรื่องของการวิ่ง เธอคิดว่าความฟินระหว่างการวิ่งเข้าเส้นชัยและการดื่มเบียร์นั้นคือระดับเดียวกันที่แยกไม่ออก ทว่าในปี 2010 เธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นภาวะโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และหมอบอกให้เธอเลิกดื่มเบียร์ เพราะในเบียร์นั้นมี "กลูเตน" (โปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน 'กาว' ในการเชื่อมส่วนของอาหารไว้ด้วยกัน) มากเกินไป แต่แทนที่เธอจะเลิกดื่มเบียร์ เธอกลับอิจฉาเพื่อนๆ ที่ได้ดื่มเบียร์เย็นๆ จนเป็นเหตุให้เธอทำในสิ่งที่เจ๋งกว่านั้น นั่นคือการต้มเบียร์ที่เหมาะกับตัวเองแทน 

เธอตัดส่วนผสมที่สร้างกลูเตนออกไป และเติมบางสิ่งที่ทดแทนอย่าง เกสรผึ้ง (มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ) และ เกลือทะเล (ช่วยดูดซึมแร่ธาตุ) และออกมาเป็นเบียร์ในสูตรที่เหมาะกับคนที่ออกกำลังกายและไม่สามารถดื่มเบียร์แบบปกติอย่างเธอได้ 

การคิดค้นครั้งนั้น นำมาสู่การนำไปลองให้เพื่อนๆ นักออกกำลังกายทั้งหลายลองดื่ม และจากนั้นไม่นานทุกคนก็บอกว่า "เราต้องการสิ่งนี้" จนนำไปสู่การผลิตมันเพื่อขายอย่างจริงๆ จังๆ

ณ ตอนนั้น แคทลิน เป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทที่มั่นคงอย่าง "Strava" ผู้สร้างแอปพลิเคชั่นบันทึกการออกกำลังกายชื่อดัง แต่การออกมาต้มเบียร์ให้กับนักวิ่ง คือสิ่งที่เอาความชอบของเธอมารวมกัน จึงทำให้เธอตัดสินใจลาออก และมาเปิดแบรนด์เบียร์สำหรับนักกีฬาอย่าง "Sufferfest" เธอเริ่มขายจากเบียร์อย่าง Taper IPA และ Flyby Pilsner โดยส่งให้ร้านของชำในชุมชน ซึ่งสุดท้ายแบรนด์ของเธอก็ติดตลาด ได้เซ็นสัญญากับบริษัทผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่แห่งเมืองเดนเวอร์ที่ชื่อว่า Sleeping Giant Brewing และการได้อยู่กับบริษัทใหญ่ทำให้มีเบียร์หลายรสชาติออกมาวางขาย 

นอกจากจะมีเบียร์ที่กินเพื่อทำให้ประสิทธิภาพออกกำลังกายดีขึ้นแล้ว เธอยังผลิตเบียร์ที่เรียกว่า "Recovery Beer" เพื่อกู้คืนพลังหลังจากออกกำลังกายอีกด้วย แน่นอนทุกๆ อย่างขายดิบขายดีมาจนถึงเวลานี้ และนำมาซึ่งการแข่งขันในตลาดเบียร์เพื่อนักกีฬาและผู้ออกกำลังกานย

Sufferfest และแบรนด์อื่นๆ ประกาศจุดขายด้วยการเคลมว่า ด้วยส่วนประกอบที่ตัดของที่ส่งผลเสียทิ้งและเติมแต่ของที่ส่งประโยชน์ หากนักวิ่งคนไหนได้ดื่มจะทำให้สามารถทำลายสถิติการวิ่งที่เร็วที่สุดของตัวเองได้ 

ขณะที่แบรนด์อื่นๆ อย่าง Dogfish Head SeaQuench Ale และ Harpoon Brewery Rec League Pale Ale ก็เคลมสรรพคุณของตัวเองในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการรวมกันระหว่าง "ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์ และชีวิตที่กระตือรือร้นในเวลาเดียวกัน"

 

มันดีขนาดนี้เลยหรือ?

สรรพคุณและสิ่งที่พวกแบรนด์ต่างๆ พยายามบอก คือเบียร์ของพวกเขายอดเยี่ยมมากสำหรับคนยุคใหม่ที่ต้องการทั้งความเท่และสุขภาพ ทว่าภายใต้การเติบโตของสินค้าประเภทนี้ มีการตั้งข้อสงสัยที่น่าสนใจขึ้นมาว่า "มันจะดีขนาดนั้นเลยหรือ?"

fatherly.com เว็บไซต์จากสหรัฐอเมริกาได้ออกบทความเพื่อโต้แย้งสรรพคุณระดับเทพเหล่านี้ และบอกว่าเบียร์สำหรับผู้ออกกำลังกายและนักกีฬานั้นมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำโฆษณา

"แค่อ่านฉลากว่า 'เบียร์ทางเลือกของนักกีฬา' มันก็ดูน่าสนุกแล้วใช่ไหม?" มาเรีย สปาโน่ ผู้เขียนบทความและเป็นนักโภชนาการสำหรับกีฬาออกกำลังกายและสุขภาพ ตั้งใจจะตอบเรื่องนี้ให้เคลียร์ 

"แค่คำว่า ใส่ส่วนผสมเพื่อสุขภาพ ไม่ได้บอกอะไรคุณทั้งหมดหรอกนะ เบียร์ไม่ได้วิเศษไปกว่าเครื่องดื่มเกลือแร่หรือโปรตีนเชคอะไรมากมายนัก แต่ถ้าคุณอยากจะดื่มเบียร์ แน่นอนว่านั่นไม่ผิดแน่ ... อยากดื่มคุณดื่มได้เลยเต็มที่ แต่อย่าแกล้งทำเป็นอ้างว่าคนดื่มเบียร์เพื่อสุขภาพ" 

มาเรีย เปิดหัวมาดูรุนแรงพอสมควร แต่เธอเองก็ให้เหตุผลยืนยันกำกับ โดยยกตัวอย่างเบียร์เพื่อสุขภาพออกมา 3 ยี่ห้อ และหนึ่งในนั้นคือ Sufferfest ของ แคทลิน แลนเดสเบิร์ก ที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ด้วย

"เบียร์ยี่ห้อนี้ถูกอ้างว่าเป็นของสำหรับนักวิ่ง เพราะทั้งตัดกลูเตนออกไป และเพิ่มของมีประโยชน์ที่ทำให้คืนพลังหลังออกกำลังกายด้วย" เธอกล่าวเริ่ม ก่อนเริ่มแจงต่อว่า

"ความจริงคือ หากคุณไม่ได้เป็น 1% ของชาวอเมริกันที่เป็นโรคแพ้กลูเตนแล้วล่ะก็ การเอากลูเตนออกจากเบียร์แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่การเปลี่ยนเอาอิเล็คโทรไลต์เข้ามาถือว่าดีนะ มันทดแทนสิ่งที่เสียไปได้ ทว่ามันก็ไม่ต่างกับการดื่มเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำสำหรับกีฬา หรือกล้วยสักผลหรอก"

จากนั้นเธอไปต่อที่อีกแบรนด์ดังอย่าง Dogfish Head SeaQuench Ale ที่บอกว่ามีคาร์โบไฮเดรต 9 กรัม เหมาะสำหรับการฟื้นฟูร่างกายว่า

"นักโภชนาการทุกคนแนะนำให้กินคาร์โบไฮเดรตถึง 30-90 กรัมทันทีหลังจากออกกำลังกายเพื่อเร่งการฟื้นตัว ดังนั้นถ้าคุณหวังจะฟื้นตัวกับเบียร์ชนิดนี้ คุณต้องกินมันหลายกระป๋อง ส่วนโปรตีนที่อยู่ในส่วนผสมนั้นถึงแม้จะน้อยแค่ 2 กรัม แต่มันก็ยังดีกว่าไม่มีเลยนะ ... ถึงแม้มันจะน้อยมากจนไม่เพียงพอก็ตาม"

สิ่งที่ สปาโน ในฐานะนักโภชนาการพยายามบอกคือ คุณประโยชน์ที่ Performance Beer ยี่ห้อต่างๆ เคลมนั้นสามารถหาได้รอบตัว ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกระป๋องเบียร์เท่านั้น  

ที่นี้ก็อยู่ที่ความเชื่อหรือสิ่งที่แต่ละคนได้สัมผัสแล้วล่ะว่า Performance Beer หรือเบียร์สำหรับออกกำลังกายและนักกีฬานั้น มีประโยชน์และสร้างความแตกต่างมากขนาดไหน 

ในมุมมองของนักโภชนาการ ก็มองว่ามันไม่ได้จำเป็นขนาดขาดไม่ได้ มีของทดแทนมากมายในราคาที่ถูกกว่าเบียร์ 1 กระป๋องแน่นอน 

แต่สำหรับผู้บริโภคบางคนก็คิดว่า ในเมื่อมันรวมมาใส่กระป๋องให้ดื่มแบบสะดวกๆ แล้ว แถมยังเข้าสังคมได้และมีประโยชน์กว่าการดื่มเบียร์ปกติ  ...Performance Beer ก็เป็นคุณค่าที่พวกเขายอมจ่ายแบบไม่มีคำถาม

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.fastcompany.com/90372213/why-performance-beer-is-the-newest-trend-in-sports-beverages
https://www.fatherly.com/health-science/performance-beer-recovery-sports-science-claim-check/
https://www.gq.com.au/lifestyle/food-wine/forget-gatorade-performance-beer-is-here-to-quench-your-thirst-and-aid-recovery/news-story/0bb91087b7cfadeabe12e58b955e92cb
https://www.honestdocs.co/what-is-a-gluten-free-diet

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น