M-Style

เส้นกั้นบาง ๆ ที่จางลง : ความนิยมของ "สปอร์ตแวร์" ที่กำลังจะกลายมาเป็น "สตรีทแวร์" แบบใหม่ | MAIN STAND

เมื่อพูดถึง "สปอร์ตแวร์" สิ่งที่หลายคนมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ เครื่องแต่งกายที่มีไว้เพื่อการออกกำลังกายโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง แทร็กสูท หรือเสื้อแจ็คเก็ต ซึ่งในบางครั้ง "ความสบาย" และ "ความคล่องตัว" ของเสื้อผ้าเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญทำให้มันถูกหยิบจับขึ้นมาเป็นเสื้อผ้าสำหรับการใส่แคชชวลในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกัน 

 


ในขณะเดียวกัน ดีไซน์ที่ร่วมสมัยมากขึ้นของสปอร์ตแวร์เหล่านี้ รวมไปถึงการปรับตัวโดยการหาคู่มาคอลแล็บก็เริ่มทำให้สิ่งที่เรียกว่า "เสื้อผ้ากีฬา" เป็นที่สนใจของเหล่าแฟชั่นนิสต้ามากขึ้น อย่างเช่น Adidas ที่มักจะจับ Star Wars มาเป็นคู่คอลแล็บลุยตลาดผู้หลงใหลในป๊อปคัลเจอร์อยู่เสมอ หรือ Umbro ตอนช่วงต้นปี 2022 ที่ได้จับ New Order วงดนตรีระดับตำนานของประเทศอังกฤษ มาเป็นหนึ่งของคอลเลกชั่นเสื้อผ้า เอาใจคอดนตรี 

เท่านั้นยังไม่พอ ในโลกของ "สตรีทแวร์" แบรนด์เสื้อผ้าหลาย ๆ เจ้ากลับเริ่มที่จะส่งสินค้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกีฬาหรือสปอร์ตแวร์มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น Supreme ในคอลเลกชั่นที่ได้ร่วมทำกับ NBA และ Nike, แบรนด์ BAIT จากสหรัฐอเมริกาและ PALACE จากประเทศอังกฤษ ต่างก็มักจะส่งคอลเลกชั่นที่ได้ร่วมกันกับ Adidas ออกมาอยู่บ่อยครั้ง จนเส้นแบ่งระหว่างของเสื้อผ้าเหล่านี้เริ่มจะจางลงเรื่อยๆ 

ทำไม "เสื้อผ้ากีฬา" ถึงกลายมาเป็นเสื้อผ้าแคชชวลนำสมัยได้มากขึ้น และทำไม "เสื้อผ้าแฟชั่น" ถึงขยับเข้าหาวงการกีฬามากกว่าที่เคย ติดตามได้ใน Main Stand 

 

ความสบายสไตล์สปอร์ต 

ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจกันว่า ทำไมเสื้อผ้า "สปอร์ตแวร์" และเสื้อผ้า "สตรีทแวร์" ถึงเริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น ทั้งในด้านของดีไซน์ที่มีการปรับให้ใส่ได้ทุกโอกาสและการใช้งานที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใส่ได้รอบด้าน เราลองกลับมาทบทวนลักษณะพื้นฐานของ "สปอร์ตแวร์" กันก่อนสักนิด เพื่อให้เข้าใจว่าจุดประสงค์เดิมของเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่ออะไร ? มีผลต่อการใช้งานอย่างไร ? ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจถึงคำถามสำคัญกันต่อไปว่า ทำไมมันถึงค่อย ๆ ถูกนิยมนำมาใส่เป็นเสื้อผ้าแคชชวลแทน "สตรีทแวร์" มากขึ้น 

ความจริงแล้ว แม้ว่าการออกกำลังกายที่ดีอาจจะไม่จำเป็นต้องอาศัยเสื้อผ้าสำหรับการออกกำลังกายโดยเฉพาะ อาจจำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพูดกันเฉพาะในเรื่องของการใช้งาน เสื้อผ้าก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งตรงนี้เอง ก็เป็นจุดที่แต่ละแบรนด์พยายามที่จะแข่งขันกัน เข็นสินค้าที่มีคุณภาพเหนือกว่ามาดึงความสนใจของผู้บริโภคในตลาด  

เรื่องการใช้งานของสปอร์ตแวร์ส่วนมาก อาจเห็นได้ชัดจากการแข่งขันกันระหว่างสปอร์ตแบรนด์เจ้าใหญ่ อาทิ เทคโนโลยี AeroAdapt ของ Nike ที่ออกแบบมาเพื่อการควบคุมอุณภูมิของร่างกายไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ผ่านการหดและยืดตัวของผ้าขณะที่อุณภูมิร่างกายเปลี่ยน หรือทางฝั่ง Adidas ที่มีทั้ง ClimaCool เสื้อผ้าเพื่อการขับเหงื่อโดยเฉพาะ หรือ ClimaChill เพื่อรักษาให้ร่างกายรู้สึกโปร่งสบายอยู่ตลอด เป็นต้น 

อ้างอิงจากคำกล่าวของ นิค แฮร์ริส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษญ์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ HPE Activewear เสื้อผ้าออกกำลังกายจากประเทศอังกฤษ เสื้อผ้าสามารถมีผลต่อการออกกำลังกายของเราได้ และในบางครั้ง มันก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการออกกำลังกายมากขึ้นด้วย

อย่างเช่นการเลือกชุดรัดรูป (Compression Wear) เพื่อการเล่นเวทเทรนนิ่ง ที่อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ส่งออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นไปยังกล้ามเนื้อในส่วนที่กำลังทำงานอยู่ ลดความเหนื่อยล้าและอาการปวดเมื่อยจากการสะสมของกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ จากการออกกำลังกายหนักๆ ได้ 

สปอร์ตแวร์ที่ออกแบบมาเพื่อการออกกำลังกายส่วนมากยังช่วยให้รู้สึกสบายตัว เคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่มากขึ้นเพราะมีน้ำหนักเบา หรือบางครั้งรายละเอียดเล็ก ๆ อย่างตะเข็บเสื้อ ที่ส่วนมากในเสื้อผ้าออกกำลังกายมักจะเป็นการถักแบบไร้รอยต่อ (Seamless) ก็สามารถเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนหันมาเลือกเสื้อผ้าออกกำลังกายโดยเฉพาะมากขึ้น 

นอกจากเสื้อผ้า ยังมีเรื่องของรองเท้าที่ส่วนมากเป็นรองเท้ากีฬา

จากตัวอย่างคร่าว ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด เราจะสังเกตได้ว่าสปอร์ตแวร์มีคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ "ความสบาย" ซึ่งบางครั้งการใส่สปอร์ตแวร์ที่ทำจากผ้าไนล่อนหรือผ้าร่ม ก็อาจจะเย็นกว่าการสวมใส่เดนิมหรือผ้าฝ้ายหนา ๆ ที่มักพบได้บ่อยในสตรีทแวร์ หรือการใส่รองเท้าวิ่ง ก็อาจจะให้ความรู้สึกเมื่อยน้อยกว่าแฟชั่นสนีกเกอร์ 

ตรงนี้เอง ที่อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้การเลือกใส่สปอร์ตแวร์ เป็นตัวเลือกหลักของการใส่เสื้อผ้าแบบอื่น ๆ และกำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนเสื้อผ้าแบบแคชชวลที่เรียกว่าสตรีทแวร์

 

การใช้งานที่หลากหลายกว่า

จริง ๆ แล้ว คำว่าสตรีทแวร์ เป็นคำกว้าง ๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมานิยามสไตล์การแต่งตัวใน "ชุดลำลอง" แต่งแบบแคชชวลเรียบง่าย อย่างเช่น การจับกางเกงยีนส์ทรงหลวมมาแมตช์กับเสื้อยืดลายกราฟิก ใส่คู่กับสนีกเกอร์สักคู่ เพียงเท่านี้ก็เป็นสตรีทแวร์ได้แล้ว 

สไตล์ดังกล่าว เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าถือกำเนิดขึ้นที่ นิวยอร์ก ซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านทางวัฒนธรรมฮิปฮอปและได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นเด็กเซิร์ฟทางแถบฟากตะวันตกมาเล็กน้อย ในช่วงทศวรรษ 1970s ถึง 1980s เป็นการจับเสื้อผ้ามาแต่งรวมแบบผสมกัน อย่างการนำสปอร์ตแวร์มาแมตช์กับเวิร์คแวร์ (Workwear) หรือชุดที่เหมาะแก่การทำงานช่าง จนเกิดขึ้นมาเป็นชุดใส่เที่ยวง่าย ๆ ที่ใส่ไปไหนมาไหนก็ได้ในแต่ละวัน สตรีทแวร์จึงเป็นสไตล์การแต่งตัวที่คำนึงถึงเรื่องความสวยความงามและให้ความรู้สึกด้านแฟชั่นที่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ชุดลำลองใส่เที่ยวง่าย ๆ แบบนี้ก็อาจจะไม่ใช่ชุดที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมทุกประเภท โดยเฉพาะในกรณีนี้คือ การออกกำลังกาย แม้ว่าบางครั้งมันจะมีสปอร์ตแวร์บางชิ้น อย่างกางเกงหรือแจ็คเก็ตเข้ามาผสมอยู่ในชุดด้วย เหตุผลหลักก็คือ การแต่งตัวแบบสตรีทแวร์อาจจะมีความคล่องตัวที่ไม่เท่ากับเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อการออกกำลังกายโดยเฉพาะ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงเป็นเรื่องของวัสดุ ที่ส่วนมากมักจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าวูล หรือผ้าเดนิม ซึ่งวัสดุเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่วัสดุที่เหมาะแก่การขยับร่างกายเท่าไรนัก

ในทางกลับกัน สปอร์ตแวร์ที่เป็นเสื้อผ้าเพื่อการออกกำลังกาย กลับเป็นเสื้อผ้าที่ใส่แคชชวลได้เช่นกัน ไม่เหมือนกันกับที่สตรีทแวร์ใส่เที่ยวได้ แต่ใส่ออกกำลังกายไม่ค่อยจะดีนัก

ตัวอย่างเช่น ในวงการฮิปฮอป ที่ศิลปินจะชอบใส่กางเกงสเวต (Sweatpants) ที่เป็นกางเกงเน้นใส่สบาย มีจุดประสงค์หลักในการใช้งานคือเรื่องของกีฬา ก่อนที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเทรนด์สำหรับการใส่แคชชวลมากขึ้นเพราะเป็นกางเกงที่แต่งตัวได้ง่ายเข้ากับรองเท้าหรือเสื้อส่วนบนที่หลากหลาย 

รวมไปถึงเสื้อเจอร์ซี่ย์ (Jerseys) ที่ครอบคลุมตั้งแต่เสื้อบาสเกตบอล เสื้อฟุตบอล ที่เริ่มมีการนำมาแต่งแบบแฟชั่นมากขึ้น ไม่ได้มีไว้เฉพาะการเล่นกีฬาอย่างเดียวอีกต่อไป เหมือนกับ เดรค แร็ปเปอร์จากโตรอนโต้ผู้โด่งดังที่ชอบใส่เสื้อเจอร์ซี่ย์ทีมกีฬาอยู่บ่อย ๆ

ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่สปอร์ตแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องของการออกแบบมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้เครื่องแต่งกายประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปด้วย 

 

ใส่เล่นก็ได้ ใส่เที่ยวก็ดี   

ปัจจุบัน ภาพจำของสปอร์ตแวร์กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไป เนื่องจากการออกแบบที่มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเสื้อผ้า รองเท้า แอคเซสเซอรี่อื่น ๆ ผ่านการดึงตัวศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการแฟชั่นและศิลปะเข้ามาช่วยออกแบบ 

อย่างเช่น ฌอน วูเทอร์สปูน กับการร่วมทำรองเท้ารุ่น Air Max 97 รุ่นพิเศษกับ Nike ในปี 2018, จี วอน ชอย กับ Adidas ที่เข้ามาเปลี่ยนชุดแทร็กสูทให้มีความแปลกตา ไม่เหมือนชุดออกกำลังกายมากขึ้น ในปี 2019 หรืออย่างล่าสุดกับ New Balance ที่ได้ดึงศิลปินอย่าง จาวด์ และ โจ เฟรชกู๊ด มาออกแบบสนีกเกอร์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น 

เป็นความจริงว่า แม้สปอร์ตแบรนด์เหล่านี้ จะมีไลน์เสื้อผ้าและสินค้าเชิงเพื่อไลฟ์สไตล์โดยเฉพาะ แต่การลุยตลาดของแบรนด์เหล่านี้ในปัจจุบัน ก็ทำให้สปอร์ตแบรนด์และสปอร์ตแวร์ ไม่ได้ให้ความรู้สึกของการเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับการออกกำลังกายโดยเฉพาะอีกต่อไป ไม่ใช่แค่แบรนด์กีฬาเพื่อการกีฬาอีกแล้ว 

มากไปกว่านั้น ความสวยงามของสปอร์ตแบรนด์เหล่านี้ ก็แทบจะกลืนกันไปกับแบรนด์แฟชั่นอื่น ๆ ในท้องตลาดไปหมดแล้ว เพราะการคอลแล็บกันระหว่างตัวสปอร์ตแบรนด์กับสื่ออื่น ๆ ก็ยิ่งทำให้สปอร์ตแบรนด์ได้รับความสนใจมากกว่าที่เคย เช่น รองเท้ารุ่น Ultraboost ของ Adidas กับซีรี่ย์ Game of Thrones และ Nike Cortez กับซีรี่ย์ Stranger Things ในปี 2019

สปอร์ตแบรนด์เหล่านี้ ยังคงไม่หยุดที่จะส่งการคอลแล็บสวย ๆ ออกมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น Nike กับ ศิลปินหญิง Billie Eilish หรือ Adidas กับการ์ตูน South Park สินค้าเหล่านี้ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าความเป็นแบรนด์กีฬา ได้ขยับขึ้นมาทัดเทียมกับแบรนด์แฟชั่นและกลายเป็นสตรีทแวร์ได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

เรื่องที่น่าสนใจคือ ทางสปอร์ตแบรนด์ก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวที่จะพยายามหลุดออกจากกรอบของกีฬา ในทางตรงกันข้าม ทางฝั่งของสตรีทแบรนด์ ก็มีความพยายามขายความงามแบบกีฬา วนเข้ามาหากีฬาเช่นเดียวกัน 

ทั้งสองวงการจึงเหมือนเอื้อหนุนกันมากกว่าแข่งขัน หลอมรวมกันเป็นเทรนด์ที่คนรักแฟชั่นมีแต่ได้กับได้ 

 

สองวงการที่แยกออกจากกันยาก 

หากเราลองย้อนกลับไปสำรวจเทรนด์ของเสื้อผ้าสตรีทแวร์ที่ผ่านมาในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2018 จะพบว่า การหลอมรวมกันระหว่างสินค้าจากสปอร์ตแบรนด์และสตรีทแวร์นั้นได้กลายมาเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองมาตลอด เกิดเป็นสินค้าที่ได้ใจไปทั้งคอกีฬาและคนชอบแต่งตัวมาแล้วหลายคอลเลกชั่น

ความนิยมจากทางฝั่งสตรีทแบรนด์ที่หลายแบรนด์มักจะชอบทำกัน คือการพยายามที่จะขายความงามแบบเสื้อผ้ากีฬา ทั้งแบบเรโทรและแบบล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อย่าง Supreme กับคอลเลกชั่น NBA ที่ได้ร่วมกับ Nike ออกเสื้อผ้าคอลเลกชั่นเอาใจคนรักบาสเกตบอลในปี 2018 โดดเด่นด้วยลายคอลลาจจากการนำโลโก้ทีมมาวางปน ๆ กัน เป็น "ลายมัน" ที่ดูเหมาะใส่เที่ยวมากกว่าใส่ออกกำลังกาย 

หรือ PALACE สตรีทแบรนด์สัญชาติอังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมมือกับ Adidas ส่งเสื้อผ้าเทนนิสออกมาในคอลเลกชั่น "ADIDAS TENNIS X PALACE WIMBLEDON" คอลเลกชั่นเสื้อผ้าที่เป็นการผสมกันระหว่างสปอร์ตและสตรีทแวร์อย่างลงตัว จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดของแบรนด์ PALACE 

นอกจากนี้ ยังมี BAPE สตรีทแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นกับ Reebok ที่ส่งรองเท้าโมเดลคลาสสิกของแบรนด์อย่าง Club C ออกมาให้มีความทันสมัยและ ACRONYM® ที่ได้ร่วมกับ Nike ส่งรองเท้าและเสื้อผ้าคอลเลกชั่นพิเศษออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พ่วงมาด้วยเสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสื้อเจอร์ซีย์ฟุตบอล เมื่อมองอย่างผิวเผินจึงยิ่งบอกได้ยากว่านี่เป็น "สตรีทแวร์ที่ทำเสื้อผ้ากีฬา" หรือ "แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาที่ทำเสื้อผ้าแฟชั่น" กันแน่ 

การเคลื่อนตัวเข้าหากันของทั้งสองวงการ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการกีฬากับแฟชั่นเข้าใกล้กันได้มากขึ้นกว่าที่เคย จนถึงช่วงเวลานี้ การมานั่งจำแนกประเภทเสื้อผ้าสปอร์ตแวร์หรือสตรีทแวร์และการใช้งานของเสื้อผ้าดังกล่าวก็อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ไม่ว่าสิ่งไหนจะมาแทนสิ่งไหน หรือทั้งสองสิ่งจะกลืนเป็นเสื้อผ้าที่มีหน้าตาคล้ายกัน มันก็ล้วนแล้วมีแต่จะช่วยยกระดับวงการแฟชั่นมากขึ้น

บางที เส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างสองวงการนี้ที่กำลังค่อยๆ จางลง อาจกำลังจะกลายเปลี่ยนมาเป็นเส้นเดียวกันที่ชัดขึ้นต่อไปในอนาคตก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://dsportsnews.com/the-difference-between-streetswear-vs-sportswear/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Streetwear 
https://news.nike.com/news/nike-aeroadapt-material-innovation 
https://uk.linkedin.com/in/nicholas-harris-65037335 
https://www.gq.com/story/supreme-nba-collaboration-jr-smith 
https://www.harpersbazaar.com/uk/beauty/fitness-wellbeing/a15954030/performance-gym-wear-tips/ 
https://www.highsnobiety.com/p/adidas-tennis-palace-collaboration/ 
https://www.highsnobiety.com/p/palace-adidas-wimbledon/ 
https://www.highsnobiety.com/p/sports-streetwear-overlap2018-overlapping/  
https://www.umbro.com/en/style/collections/new-order-x-umbro/ 

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น