FILA เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สปอร์ตแฟชั่นที่มีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะสายสปอร์ต, วินเทจ หรือสายเกาหลี สามารถจับเครื่องแต่งกายจากยี่ห้อนี้ มาแต่งตัวได้อย่างหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม FILA อาจไม่โด่งดังแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากช่วงกลางทศวรรษ 1970s แบรนด์จากประเทศอิตาลี ไม่เลือก บียอร์น บอร์ก ราชานักหวดลูกสักหลาดแห่งยุคชาวสวีเดนมาเป็นพรีเซนเตอร์
จากแบรนด์เสื้อผ้าที่คนทั่วโลกยังไม่ได้รู้จัก การเซ็นสัญญานักเทนนิสเพียงคนเดียว ช่วยสร้างให้ FILA กลายเป็นแบรนด์ที่คนรักแฟชั่นกีฬาต้องมีไอเท็มไว้ติดบ้านสักชิ้น
เด็กมหัศจรรย์
บียอร์น บอร์ก เป็นชาวสวีเดน เกิดที่กรุงสต็อกโฮล์ม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1956 ... ตั้งแต่วัยเยาว์เขาได้รับอิทธิพลความชอบด้านกีฬามาจาก บิดา ผู้เป็นนักกีฬาปิงปองอาชีพ
มีเรื่องเล่าที่ดูตลกไม่น้อย นั่นคือ รูน บอร์ก คุณพ่อของบียอร์น เคยเอาชนะการแข่งขันปิงปองรายการหนึ่ง แต่กลับได้รับรางวัลเป็น "ไม้แร็คเก็ตเทนนิสสีทอง" เสียอย่างนั้น
Photo : The Local Sweden
แม้ของรางวัลจะไม่เป็นถูกอกถูกใจคุณพ่อ แต่มันดันโดนใจคุณลูก บียอร์น บอร์ก ชื่นชอบไม้เทนนิสสีทองอันนี้มาก สำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เจ้าไม้อันนี้คือสัญลักษณ์ของความน่าตื่นตาตื่นใจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเติบโตเป็นนักเทนนิส
เมื่อเห็นลูกมีความฝัน พ่อแม่ของ บียอร์น บอร์ก จึงสนับสนุนลูกชายคนนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องความเป็นมืออาชีพในฐานะของนักกีฬา ความมุ่งมั่นตั้งใจ อดทนกับการฝึกฝน จนทำให้บอร์กพัฒนาฝีมือของตัวเองอย่างรวดเร็ว
บอร์กเต็มที่กับการฝึกซ้อมอย่างมาก จนถึงขั้นที่ว่าเขาฝึกให้ตัวเองตีเทนนิสได้ด้วยมือทั้งสองข้าง ทรงประสิทธิภาพไม่ต่างกัน (บอร์ก ถนัดมือขวา) ด้วยวัยเพียง 13 ปี นักเทนนิสรุ่นเยาว์รายนี้ สามารถคว้าแชมป์เยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ของประเทศสวีเดนมาครองได้สำเร็จ
ความแข็งแกร่งของ บอร์ก ทำให้เขามีอาจารย์เป็น เลนนาร์ท เบอร์เยลิน นักเทนนิสชายเบอร์ 1 ของสวีเดน ในช่วงปลายยุค 60s ที่เข้ามาปลุกปั้นบอร์กจนได้ติดทีมชาติสวีเดน ลงแข่งขันรายการเดวิส คัพ (Davis Cup) ในปี 1972 ด้วยวัยเพียง 15 ปี
หลังจากเก็บประสบการณ์ในการแข่งขันระดับชาติ บอร์กเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยการคว้าแชมป์ วิมเบิลดัน โอเพน ระดับเยาวชน ในปีเดียวกัน ทำให้เมื่อเข้าสู่ปี 1973 บอร์กในวัย 16 ย่าง 17 ปี ได้รับอนุญาตลงแข่งขันในรายการอาชีพ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 18 ปี
Photo : Sportskeeda
ในปีแรกที่บอร์กเล่นอาชีพ เขาเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการระดับ ATP Tour ได้ถึง 4 รายการ น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถคว้าถ้วยแชมป์มาครองได้แม้แต่สนามเดียว
ปีก่อนหน้าอาจจะไม่มีแชมป์ แต่ปีถัดไปเป็นคนละเรื่อง บอร์กคว้าแชมป์ ATP Tour ได้ตั้งแต่รายการแรกที่ลงแข่งขัน นั่นคือ นิวซีแลนด์ โอเพน (New Zealand Open) ก่อนจะกวาดเพิ่มอีก 6 ถ้วยแชมป์ รวมเป็น 7 รายการในระดับ ATP Tour ที่เขาคว้าแชมป์ในปีนั้น
เท่านั้นยังไม่พอ บอร์กสร้างชื่อถึงขีดสุด ด้วยการคว้าแชมป์แกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพน (French Open) ในปี 1974 มาครองด้วยวัยเพียง 18 ปี กับอีก 8 วัน กลายเป็นแชมป์ เฟรนช์ โอเพน ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลานั้น (สถิตินี้ของบอร์กถูกทำลายในปี 1989 โดย ไมเคิล ชาง นักเทนนิสชาวสหรัฐอเมริกา)
โอกาสจากความแตกต่าง
ความยอดเยี่ยมบนคอร์ตเทนนิส ทำให้ชื่อของ บียอร์น บอร์ก โด่งดังไปทั่วโลก แต่ถึงจะฉายแววนักกีฬาขั้นเทพมาอย่างยาวนาน ใช่ว่า บอร์ก จะชนะใจแฟนทุกคน
ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่ชอบบอร์ก คือ ภาพลักษณ์ที่ขัดกับขนบดั้งเดิมของเทนนิส เพราะนี่คือกีฬาของผู้ดี เกมการแข่งขันของคนชั้นชั้นสูง นักเทนนิสจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เรียบร้อย สง่า ดูดี มีระดับ
Photo : The Local Sweden
ทั้งหมดที่ว่ามา ไม่มีอยู่ในตัว บียอร์น บอร์ก นักเทนนิสรายนี้ไว้ผมยาว หนวดเครารุงรัง เหมือนกับร็อคสตาร์ เป็นคนตรงไปตรงมา ในสายตาของคนรักเทนนิสแนวอนุรักษ์นิยม บอร์ก เสมือนภาพแทนของนักกีฬาที่สกปรกมอซอ
แม้ว่าความจริง เขาไม่ได้คนเป็นแบบนั้น แต่หากเทียบกับมาตรฐานความเนี้ยบของนักเทนนิสรุ่นเก่า ๆ ต้องถือว่านักหวดชาวสวีดิช สอบตกจริง ๆ
ผู้มีอำนาจหลายคน พยายามเปลี่ยนแปลงลุคของบอร์ก ให้ดูดี มีชาติตระกูล แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ ซ้ำยังไม่เห็นว่ามันจะเกี่ยวกับการเล่นเทนนิสตรงไหน ?
จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่สปอนเซอร์จะวิ่งเข้ามาสนับสนุนบอร์ก เพราะภาพลักษณ์ของนักเทนนิสรายนี้ ขัดกับสินค้าในวงการเทนนิส ที่ต้องการผู้ชายเรียบ ๆ มีความคลาสสิค ดูดี มีระดับ มายืนอยู่บนโปสเตอร์ มากกว่าหนุ่มมาดร็อคกระตุกจิตกระชากใจ อย่าง บียอร์น บอร์ก
แต่ความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครของ บอร์ก ดันไปเข้าตา "FILA" แบรนด์เสื้อผ้าจากประเทศอิตาลี ที่ก่อตั้งมานับแต่ปี 1911 ที่ต้องการสร้างจุดเปลี่ยนให้ตัวเอง เนื่องจากตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา FILA ยังไม่สามารถตีตลาดเสื้อผ้ากีฬาได้ เนื่องจากไม่มีจุดขายอะไรเลย
Photo : Sportskeeda
การปรากฏตัวขึ้นมาของ ยอดเทนนิสมาดเซอร์อย่าง บียอร์น บอร์ก ที่ไม่ยอมเดินขนบเดิม ๆ ทำให้แบรนด์จากประเทศอิตาลี มั่นใจว่า บอร์กจะไม่ใช่แค่ดอกไม้ไฟที่โด่งดังแค่ช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป แต่นักเทนนิสจากสวีเดนรายนี้ คืออนาคตของเกมลูกสักหลาด ที่งจะเปลี่ยนภาพจำของเกมการแข่งขันนี้ไปตลอดกาล
ปี 1975 FILA ประกาศเซ็นสัญญา บียอร์น บอร์ก เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ แค่ก้าวแรกถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ FILA
เพราะเมื่อเห็น บียอร์น บอร์ก ลงแข่งที่ไหน ก็จะเห็น สินค้าของ FILA อยู่ที่ไหนด้วย ยิ่งถ้าเป็น แฟนกีฬาในช่วงเวลานั้น น้อยคนที่จะไม่รู้จักนักเทนนิสรายนี้
FILA - BORG ความอมตะของสปอร์ตแฟชั่น
FILA ไม่ได้เพียงเซ็นสัญญา บียอร์น บอร์ก มาเป็นเพียงโปสเตอร์บอย และไม่ทำอะไรอย่างอื่น แต่แบรนด์มีการวางแผนงานมาเป็นอย่างดี โดยใช้คาแรคเตอร์ความแตกต่างของนักหวดชาวสวีเดน ในการตีตลาดแฟชั่นให้แตกกระจุย
Photo : Roland-Garros
วิธีที่ง่ายที่สุด คือการออกแบบเสื้อโปโลให้ บอร์ก ใส่ลงทำการแข่งขัน ซึ่งเสื้อที่ FILA ออกแบบ ไม่ใช่เสื้อโปโลเรียบ ๆ คลาสสิคที่นักเทนนิสนิยมใส่ เพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ของบอร์กมาตลอด
FILA สร้างลวดลายใหม่ให้กับเสื้อแข่งของบอร์ก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อโปโลลายตาราง เสื้อโปโลที่มีแถบแนวตั้งอยู่บนเสื้อ และที่โด่งดังที่สุดคือการเขาใส่เสื้อแดงสุดร้อนแรง ลงทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เฟรนช์ โอเพน 1975 ผลปรากฏว่า บอร์กคว้าแชมป์ในปีนั้น
อิทธิพลความเก่งบนสนามแข่งของนักหวดรายนี้ ส่งผลตรงมายังยอดจำหน่ายสินค้าของ FILA ยิ่งบอร์กชนะมากเท่าไหร่ สินค้าของ FILA ยิ่งขายดีมากเท่านั้น ? เพราะใคร ๆ ก็อยากสวมใส่เสื้อโปโลแบบเดียวกับที่นักเทนนิสรายนี้ใส่ แถมดีไซน์ยังถูกใจคนรุ่นใหม่ มีความเป็นแฟชั่นร่วมสมัย แต่งตัวได้ง่ายมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดแค่การใส่แนวคลาสสิคอีกต่อไป
ไม่ใช่แค่เสื้อโปโลของ FILA ที่กลายเป็นสินค้าขายดี แต่รวมถึงเสื้อแจ็คเก็ตด้วยเช่นกัน แบรนด์จากอิตาลีให้บอร์ก สวมใส่แจ็คเก็ตสีสันฉูดฉาดยามอยู่นอกสนาม เข้ากับคาแรคเตอร์ที่มีเสน่ห์ของเขาอย่างมาก ทำให้แจ็คเก็ตที่นักหวดรายนี้สวมใส่ กลายเป็นไอเท็ม "ของมันต้องมี" สำหรับคนรักเทนนิสในยุค 70’s
ทุกวันนี้ เสื้อโปโลที่มีแถบแนวตั้ง หรือ BB1 Polo Shirt ของ FILA ยังคงเป็นไอเท็มอมตะที่เป็นที่ต้องการของนักแต่งตัวแนวสปอร์ตวินเทจ ในฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา
รวมถึงเสื้อแจ็ตเก็ต FILA Settanta Mk1 ล้วนเป็นที่ต้องการมากในตลาด เพราะไม่ใช่แค่ความสวยที่ชนะใจผู้คน แต่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจาก บียอร์น บอร์ก ใส่เสื้อโปโล และเสื้อแจ็คเก็ตรุ่นดังกล่าว คว้าแชมป์มานับไม่ถ้วน
ความล้ำหน้าของ FILA กับนักเทนนิสรายนี้ ไม่ได้หยุดแค่ในยุค 70s ทันทีที่เข้าสู่ทศวรรษถัดไป แบรนด์ดังจากอิตาลี ปล่อยแจ็คเก็ตรุ่นใหม่ Settanta Mk2 ซึ่งนิตยสาร The Business ถึงกับยกให้เป็นแจ็คเก็ตกีฬาที่สวยที่สุดตลอดกาล ทันทีที่เปิดตัว
Photo : Financial Times
“FILA BORG” คือชื่อที่ผู้คนเรียกถึงความยิ่งใหญ่ ระหว่างแบรนด์เสื้อผ้า กับนักเทนนิสรายนี้ ที่ร่วมกันยึดครองโลกแฟชั่นของกีฬาเทนนิส เป็นระยะเวลานับสิบปี ทั้ง FILA และ บียอร์น บอร์ก คือส่วนผสมที่เข้ากันอย่างลงตัว
หากไม่มี บียอร์น บอร์ก ... FILA คงไม่เป็นที่รู้จักแบบทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน หากไม่มี FILA ... บียอร์น บอร์ก คงถูกจดจำแค่เรื่องผลงานในสนาม ไม่ใช่นักกีฬาที่เป็นไอคอนด้านสปอร์ตแฟชั่น ที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังคงต่อยอดจากความสำเร็จ ของการจับมือครั้งนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม หลังจากแยกทางกัน ในปี 1984 (ก่อนกลับมาจับมือกันอีกครั้งเมื่อปี 2018) ... FILA ต่อยอดชื่อเสียงของตัวเอง จนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์สปอร์ตแฟชั่น อันเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะฝั่งโลกตะวันออก
Photo : Tennis Connected
ด้าน บียอร์น บอร์ก เขาไม่ได้เป็นแค่พรีเซนเตอร์ให้กับ FILA แต่ซึมซับความรู้ทางแฟชั่น จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้าเสียเอง และตัดสินใจเปิดแบรนด์เครื่องแต่งกายของตัวเอง ในชื่อ Björn Borg โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1984 ร่วมกับบริษัท World Brand Management
ก่อนจะตั้งบริษัทเสื้อผ้าเป็นของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ภายใต้ชื่อแบรนด์เดิม (Björn Borg) ในปี 2006 และได้รับความนิยม สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิง
https://www.80scasualclassics.co.uk/fila-borg-i75
https://www.vogue.com/article/bjorn-borg-tennis-personal-style-1970s-fashion-week-stockholm
https://www.scandinaviastandard.com/bjorn-borg-tennis-but-make-it-fashion/