M-Style

มองแฟชั่นผ่านวิวัฒนาการของ “ชุดปีนผา” กีฬาใหม่ในโอลิมปิก | Main Stand

กีฬาปีนผา เป็นหนึ่งในสี่กี่ฬาที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 เคียงคู่กับ สเก็ตบอร์ด, เซิร์ฟบอร์ด, และคาราเต้


 

ความน่าสนใจของกีฬาดังกล่าว คือความเกี่ยวเนื่องกันกับแฟชั่นอย่างมีนัยสำคัญ แม้กระทั่งแบรนด์เสื้อผ้าระดับไฮเอนด์อย่าง หลุยส์ วิตตอง ยังเคยออกกระเป๋าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการปีนผามาแล้ว หรือรู้หรือไม่ว่า แบรนด์อย่าง เบอเบอร์รี่ นั้นเริ่มโด่งดังมาจากเสื้อคลุมสำหรับการปีนเขามาก่อน 

จากการปีนเขา สู่กีฬาปีนผา จากเสื้อผ้ารุงรัง สู่สปอร์ตแวร์ใส่สบาย เรื่องนี้สามารถสืบค้นย้อนกลับไปในยุคฮิปปี้ช่วงทศวรรษ 1970s หรือกับยุคล่าอาณานิคมในทศวรรษ 1400s หรือแม้กระทั่งลากยาวไปจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินโบราณได้เลยทีเดียว 

ขึ้นชื่อว่าเสื้อผ้าสำหรับการออกกำลังกาย สิ่งที่สำคัญเสมอคือการเอื้ออำนวยต่อประสิทธิภาพที่ดีของผู้สวมใส่ แต่สำหรับกีฬาปีนผานั้น แค่สะดวกอาจจะยังไม่พอ แต่อาจจำเป็นต้องดูดีด้วย 

เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand 

 

Accidentally “Cool”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1991 หลังจากที่ได้มีการค้นพบซากของมนุษย์ยุคหินหรือมนุษย์น้ำแข็ง ที่ชื่อ “เอิตซี” (Ötzi) ตรงรอยต่อระหว่างประเทศออสเตรียและอิตาลี เอิตซี ได้กลายมาเป็นมนุษย์น้ำแข็งที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในภาคพื้นทวีปยุโรป เชื่อกันว่าเขามีชีวิตอยู่ในช่วง 3,400 ถึง 3,100 ปีก่อนคริสตกาล 

ร่างของ เอิตซี ถูกค้นพบโดยนักปีนเขาคู่สามี-ภรรยาชาวเยอรมัน 2 คน ชื่อ “เฮลมุต ไซมอน” และ “เอริก้า ไซมอน” ที่ระดับความสูง 3,210 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ช่วงสันเขาตะวันออกในบริเวณเทือกเขาออสตัลท์ ระหว่างที่กำลังท่องเที่ยว โดยตอนแรกพวกเขาเข้าใจว่า นี่คือศพของนักเดินทางที่เพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน ภายหลังจากที่ได้รับการชันสูตรศพโดยนักโบราณคดี จึงได้ทราบว่านี่คือซากของมนุษย์น้ำแข็ง ที่มีอายุเกือบ 4,000 ปีมาแล้ว

ในเวลาต่อมา ร่างกายและเครื่องใช้ของเอิตซี ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณคดีเซาท์ไทรอล ในเมืองบอลซาโน ประเทศอิตาลี สถานที่ที่มีการสันนิษฐานว่าเป็นบ้านเกิดของเอิตซี มรดกทางชีววิทยาที่เอิตซีทิ้งไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง คือหลักฐานของการเป็นมนุษย์ชาวยุโรปในยุคทองแดง นอกเหนือไปกว่านั้นคือลักษณะของชุดและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปีนเขาของเอิตซี กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญของเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ในยุคนั้น เพราะตอนที่เจอศพ ร่างกายของเขายังอยู่ในเสื้อผ้าอยู่ แม้จะได้รับความเสียหายไปบ้างจากลมและสภาพอากาศ 

แม้จะไม่มีปรากฏหลักฐานว่าชุดที่เขาใส่นั้นเป็นชุดที่คนส่วนมากในยุคทองแดงใส่กันหรือเป็นชุดพิเศษที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อการปีนเขาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี ชุดดังกล่าวถือว่าทำออกมาเพื่อการใช้งานได้อย่างเหมาะสม สามารถป้องกันความหนาวและความชื้นได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากการบูรณะเสื้อผ้าของเขาที่หลงเหลืออยู่โดยพิพิธภัณฑ์ โรมาโน-เยอรมันนิค เซ็นทรัล ในเมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมนี 

ด้วยหลักฐานทางโบราณคดี จึงเกิดเป็นข้อสมมุติฐานที่น่าสนใจขึ้นมาว่า เอิตซี คือนักปีนเขาที่มีอุปกรณ์ครบเครื่องที่สุดคนหนึ่ง เสื้อผ้าส่วนมากของเขาทำมาจากหนังสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เสื้อคลุมหนังแกะ กางเกงที่ทำจากหนังแพะ หมวกที่ทำมาจากขนหมี รองเท้าที่เขาใช้มีความทนทานค่อนข้างสูง เนื่องจากเกิดจากการประดิษฐ์รวมกันของหนังสัตว์หลายชนิด

ตัวพื้นรองเท้าทำมาจากหนังของหมี ในขณะที่ส่วนด้านนอกทำมาจากหนังกวาง และมีการนำเปลือกไม้มาถักเป็นตาข่ายบุไว้ข้างในและนำหญ้าอ่อนมาพันรอบอีกที รองเท้าสำหรับการปีนเขาของเอิตซีจึงมีความทนทานสูง กันน้ำ สามารถเดินลุยน้ำ ลุยหิมะได้สบาย ส่วนเสื้อผ้าชิ้นอื่น ๆ อย่าง ผ้าเตี่ยวก็ทำมาจากขนแกะ

นอกจากความชาญฉลาดที่แสดงออกผ่านการประดิษฐ์เสื้อผ้าเพื่อการใช้งานเต็มรูปแบบ นี่ยังเป็นเหมือนหลักฐานแสดงความหลงใหลต่อหนังสัตว์สำหรับคนโบราณอีกด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ยุคทองแดงอย่างเอิตซี ก็มีความพยายามที่จะล่าสัตว์เหล่านี้เพื่อเอามาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม

นีล โอ ซัลลิแวน นักวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์น้ำแข็งและมัมมี่ในเมืองบอลซาโน ประเทศอิตาลี ได้แสดงความเห็นไว้ว่า 
“มันเป็นไปได้นะที่เขาจะใช้ทักษะในการล่าสัตว์ฆ่าหมี หรืออาจจะบังเอิญเจอหมีนอนตายอยู่ แล้วก็เอาหนังของหมีมาทำเป็นเสื้อผ้า มันแสดงให้เราเห็นว่าเขาเป็นคนที่ไขว่คว้าหาโอกาสและมีไหวพริบ เขาพยายามใช้ทักษะให้มากที่สุดในการหาทรัพยากร แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายก็ตาม”

เราจึงสามารถอนุมานได้อย่างคร่าว ๆ ว่า มนุษย์ยุคทองแดงในยุโรปเริ่มมีการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งของในระดับหนึ่ง แม้ว่าช่วงเวลานั้นมนุษย์จะยังไม่มีสำนึกในเรื่องของแฟชั่น ความสวยงาม เน้นการใช้งานเป็นหลัก แต่รูปปั้นจำลองของเอิตซีที่ใส่เสื้อผ้าปีนเขาที่ถูกปั้นขึ้นมานั้น ดันกลายเป็นภาพของชายวัยกลางคนที่ใส่กางเกงหนังสัตว์แลดูเท่ไม่หยอกอย่างไม่ได้ตั้งใจไปเสียอย่างนั้น

 

เน้นสวยงามหรือใช้งานจริง

แม้ว่าในยุคทองแดง เอิตซี จะไม่ได้ตั้งใจทำให้ตัวเองเป็นผู้นำแฟชั่น แต่เขาก็โดดเด่นขึ้นมาด้วยเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย การปีนเขาเริ่มมีความเกี่ยวโยงกับแฟชั่นเข้าจริง ๆ ก็ในยุคล่าอาณานิคมในทศวรรษ 1400s แต่ก็อาจจะไม่ผิดนักหากบอกว่าแฟชั่นในที่นี้ เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ และคนในยุคนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำตัวเป็นผู้นำแฟชั่นเช่นดียวกับเอิตซี 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า การปีนเขาในสมัยก่อน เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เป็นการแสดงถึงอำนาจรัฐ หรือการทำพิธีกรรมทางศาสนา ใน ค.ศ.1492 ได้มีการพิชิตภูเขา “มอง ไอกวี” (Mont Aiguille) โดยนายทหารที่ชื่อ “อองตวน เดอ วิลล์” พร้อมกองกำลังทหารของเขาเพียงไม่กี่คน ตามคำสั่งของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งประเทศฝรั่งเศส 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งประเทศฝรั่งเศส รู้สึกประทับใจภูเขา มอง ไอกวี ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นระหว่างทางในขณะที่ตนกำลังเดินทางไปแสวงบุญที่วิหาร “เอ็มบรุน” ในเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสและปรารถนาที่จะครอบครองภูเขาลูกนี้ เขาเชื่อว่าจะนำมาใช้เป็น “เครื่องมือ” เสริมบารมีของตนได้ 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นความประสงค์ของรัฐ แต่ผู้ลงมือปฏิบัติ ก็คือกลุ่มทหารที่ไม่ได้ใคร่อยากจะปีนเขาเท่าไหร่นัก เพราะเป็นการปีนเขาที่ขาดการเตรียมพร้อม ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์และเสื้อผ้า สิ่งของที่กลุ่มทหารของอองตวนนำติดตัวไปจึงมีแค่เชือกกับบันได ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่ก็คือชุดเครื่องแบบทหาร ที่ใช้งานไม่ได้จริง แต่ดูดี โดดเด่นด้วยหมวกทรงสูง และรองเท้าท็อปบูท 

ในเวลาต่อมา ช่วงทศวรรษ 1800s การปีนเขาถึงเริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นกิจกรรมนอกสถานที่และถูกมองว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่เพิ่มความนิยมอย่างต่อเนื่องและได้รับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปีนเขาเพิ่มมากขึ้น 

จนเข้าสู่ทศวรรษ 1900s มนุษย์เริ่มมีการสำรวจขั้วโลกเหนือ เสื้อผ้าที่ใช้จึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานได้ดี แบรนด์ที่เข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมขณะนั้น คือ “เบอเบอร์รี่” (Burberry) ผู้บุกเบิกและผลิตคิดค้นผ้าที่เรียกว่า “การ์บาร์ดีน” ซึ่งเป็นผ้าที่มีการถักให้หนาเป็นพิเศษ เบอเบอร์รี่เริ่มมีชื่อเสียงจริง ๆ จากตอนที่ “จอร์จ มัลลอรี” อดีตทหารผ่านศึกชาวอังกฤษ ที่ใส่เสื้อคลุมการ์บาร์ดีนพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ใน ค.ศ.1924 

การมาถึงของเสื้อผ้าที่เน้นการใช้งานมากกว่าความสวยงามเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950s ถึง 1970s คนในสมัยนั้นเน้นการใช้งานจริงมากกว่าความสวยงาม แต่มันก็ดันกลายเป็นการแต่งกายที่ลงตัวเหมาะเจาะ 

นอกจากเรื่องเสื้อผ้าที่ได้รับการปรับปรุง ในยุคเดียวกันนี้เองที่การ “ปีนเขา” ได้เริ่มแตกแขนงออกมา กลายมาเป็นการ “ปีนผา” หรือกีฬาปีนผา แม้อาจจะฟังดูสับสนบ้าง แต่กีฬา 2 ชนิดนี้ก็มีความเหมือนในความต่างกันอยู่ กล่าวได้ว่า การปีนหน้าผาเป็นกีฬาที่ได้รับอิทธิพลมาจากการปีนเขาอีกทอดหนึ่ง

สำหรับบางคน การปีนเขาถือเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์กับปรัชญาและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบอเมริกัน สืบเนื่องจากบริบททางสังคมหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้คนหันมาตระหนักถึงภัยอันตรายมากขึ้น การปีนเขาแต่ละครั้งจึงจำเป็นจะต้องรอบคอบและระลึกอยู่เสมอถึงการลดความเสี่ยงเช่นเดียวกับการไต่ขึ้นเขา 

วัฒนธรรมแบบนี้ก่อให้เกิดกระแส “วัฒนธรรมแบบสวนกระแส” (Counterculture) 

นำโดย “แจ็ค เคอรูแอค” นักเขียนที่พยายามฉีกตัวเองออกจากกรอบสังคม เขาคือชายหนุ่มคนแรก ๆ ที่เริ่มทำให้การปีนผาเป็นกีฬาขึ้นมาด้วยตัวเอง เหตุเพราะความไม่ต้องการอยู่ในระเบียบอันยุ่งเหยิงของการปีนเขาแบบที่ใช้อุปกรณ์เยอะ ๆ ประเดิมด้วยการปีนป่ายเทือกเขาโยเซมิตี ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กับเพื่อนของเขา 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กีฬาปีนผา จึงได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น เป็นการปีนที่ให้อิสระมากกว่า ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นกว่า ไม่ต้องไปเผชิญความหนาวอยู่บนยอดเขาสูงเหมือนการปีนเขาแบบเดิม 

ทำให้ช่วงทศวรรษ 1950s เป็นต้นมา นักปีนผาชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหลวม เน้นความสบาย อาทิ เสื้อรักบี้ กางเกงลูกฟูก เป็นเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นต้องมีความหรูหรา สามารถหาได้ตามร้านขายเสื้อผ้ามือสอง

การออกกำลังกายชนิดนี้จึงผูกติดอยู่กับเสื้อผ้าที่มีความคล่องตัวมากกว่าที่เคย 

 

หน้าผาที่โตเกียวโอลิมปิก 

กีฬาปีนหน้าผา ได้กลายมาเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในโตเกียวโอลิมปิก 2020 โดยการแข่งขันจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สปีด, โบลเดอริง และ ลีด

สำหรับการแข่งขันแบบ สปีด (Speed) คือการเน้นความเร็ว ปีนบนกำแพงที่มีความสูง 15 เมตร ทำมุม 95 องศา นักกีฬาจะแข่งกันปีนรอบละ 2 คน โดยจะต้องทำความเร็วให้มากกว่าคู่แข่งบนเส้นทางปีนเดียวกัน ใครใช้เวลาได้น้อยกว่าเป็นผู้ชนะ เวลาส่วนใหญ่ของผู้ชายจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 วินาที ส่วนสำหรับผู้หญิงจะอยู่ประมาณ 7-8 วินาที และหากมีการเริ่มต้นที่ผิดพลาดก็จะถูกปรับแพ้ทันที 

การแข่งขันประเภทที่สองคือ โบลเดอริง (Bouldering) โบลเดอริงเป็นการปีนผาจำลองแบบไม่ใช้เชือกหรืออุปกรณ์ใด ๆ แต่จะมีเบาะนิรภัยรองรับอยู่ด้านล่าง นักกีฬาจะต้องปีนขึ้นไปบนหน้าผาจำลองความสูง 4.5 เมตร เส้นทางปีนจะมีความยากแตกต่างกันไป วิธีการเอาชนะคู่แข่งทำได้ด้วยการปีนขึ้นไปที่จุดสูงสุดของหน้าผาจำลองด้วยมือทั้งสองข้าง
หากมีการร่วงลงมาในการแข่งประเภทโบลเดอริงในรอบแรก นักกีฬาสามารถลองปีนอีกครั้งในเส้นทางใหม่ เส้นทางจะมีความท้าทายกว่าการแข่งขันประเภทสปีด หินบางก้อนมีขนาดเล็กมากจนจับได้แค่ส่วนปลายนิ้ว บางก้อนก็ยื่นออกมาให้จับได้ง่าย ๆ การแข่งประเภทนี้นักกีฬาต้องรู้จักวางแผนล่วงหน้าว่าจะปีนไปเส้นทางไหนและต้องรอบคอบมากเป็นพิเศษ 

ประเภทสุดท้ายได้แก่ ลีด (Lead) คือการปีนหน้าผาจำลองความสูง 15 เมตร ให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ นักกีฬาจะต้องใส่เชือกนิรภัยขณะปีน วิธีการเอาชนะคือการนำเชือกขึ้นไปติดกับอุปกรณ์ควิกดรอว์ (Quickdraw) ที่เป็นอุปกรณ์ช่วยให้เชือกไม่ติดขัดขณะปีนบนยอดผาจำลอง ถ้านักกีฬาร่วงลงมาขณะที่ปีนจะบันทึกสถิติความสูงไว้และจะไม่สามารถลองปีนใหม่ได้อีก 

ถ้านักกีฬาสามารถปีนไปถึงยอดได้หรือปีนผาอยู่ในระดับเท่ากัน จะตัดสินด้วยเวลาที่ใช้ในการปีนแทน การแข่งประเภทนี้จึงจำเป็นจะต้องมีไหวพริบและความอดทนสูง และเพื่อความยุติธรรม ระหว่างที่นักกีฬาคนหนึ่งกำลังปีนอยู่ จะมีการกั้นนักกีฬาคนอื่น ๆ ออกไปให้ห่างจากหน้าผาจำลองก่อน เพื่อไม่ให้สังเกตเส้นทางปีน และเมื่อถึงเวลาแข่ง นักกีฬาจะมีเวลาสำรวจเส้นทางหน้าผาและกำแพงเป็นระยะสั้น ๆ ก่อนเริ่มปีนจริง 

นักกีฬาปีนผาที่เข้าร่วมการแข่งขันในโตเกียวโอลิมปิก 2020 แต่ละคนมาพร้อมเครื่องแบบประจำชาติเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ และบางประเทศยังได้รับการออกแบบโดยแบรนด์อุปกรณ์เสื้อผ้าปีนเขาโดยเฉพาะอีกด้วย 

สำหรับทีมชาติสหรัฐอเมริกา ชุดของนักกีฬาปีนผาได้รับการออกแบบโดย “เดอะ นอร์ธ เฟซ” (The North Face) แบรนด์อุปกรณ์ปีนเขาชื่อดังผู้คร่ำหวอดในวงการปีนเขามานานตั้งแต่ ค.ศ.1968 โดยเสื้อผ้าสำหรับนักปีนผาของทีมชาติสหรัฐอเมริกาจะเน้นความคล่องตัวเป็นหลัก ด้วยชุดที่เข้ารูป เน้นความเรียบง่าย ดูคล้ายกับชุดนักกีฬาประเภทลู่และลานมากกว่าสำหรับการปีนผาประเภทโบลเดอริงและลีด

“เอริก้า คอร์เทล” ดีไซน์เนอร์ของเดอะ นอร์ธ เฟซ ได้ใช้เทคโนโลยีการสแกนแบบ 4 มิติ ที่ใช้ในการแพทย์ เพื่อดูการเคลื่อนไหวจำลองของนักกีฬาขณะที่ใส่ชุด อีกทั้งยังได้คำปรึกษจากนักกีฬาปีนผาอาชีพหลายคน ไม่ว่าจะเป็น มาร์โก เฮยส์, อาชิมะ ชิราอิชิ และ นาธาเนียล โคลแมน

เดอะ นอร์ธ เฟซ ยังร่วมออกแบบชุดกีฬาให้กับนักกีฬาทีมชาติอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ ออสเตรีย ที่เป็นชุดที่มีลักษณะเหมือนบอดี้สูท เรียกว่า “วินด์ชนิตทิก” (Windschnittig) ที่เน้นความลู่ลม สำหรับประเภทสปีด หรือเกาหลีใต้ที่มีชุดสำหรับการแข่งประเภทสปีด ที่มีลักษณะคล้ายกับชุดของสหรัฐอเมริกา

การแข่งขันปีนหน้าผาในโตเกียวโอลิมปิก 2020 จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม เป็นวันแรก ในรอบคัดเลือกชาย และวันที่ 4 สิงหาคม ในรอบคัดเลือกหญิง และรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 5 และ 6 สิงหาคม ที่สนามกีฬาอาโอมิ (Aomi Urban Sports Park)

 

แฟชั่นที่กำลัง “ปีน” ขึ้นมาสู่กระแสหลัก

“แซม สเตฟเฟสัน” หัวหน้าดีไซน์เนอร์แห่งบริษัท “เมาท์เท่น อิควิปเมนต์” (Mountain Equipment) แบรนด์เสื้อผ้าปีนเขาจากประเทศอังกฤษ ได้แสดงความเห็นเรื่องความเกี่ยวข้องต่อแฟชั่นกับกีฬาปีนเขาเอาไว้ว่า

“ผมมองว่าการพัฒนาของสไตล์ในกีฬาประเภทปีนป่ายมีความขัดแย้งกับเทรนด์แต่งตัวทั่วไป เนื่องจากคนที่นิยมกีฬาแบบนี้มักจะแสดงตัวตนออกมาชัดเจนในวัฒนธรรมย่อยที่เขานิยม” 

“แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาที่ไม่ใช่แบรนด์สำหรับนักปีนเขาก็เริ่มออกสินค้าสำหรับการปีนเขาออกมามากขึ้น อย่างอาดิดาสหรืออันเดอร์ อาเมอร์ ทั้ง ๆ ที่แบรนด์พวกนี้ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับการปีนเขาเลย”

แซมมองว่าความนิยมของแฟชั่นกีฬาปีนป่ายกำลังเติบโต ถึงแม้จะช้า แต่มันก็กำลังขยายไปสู่วงกว้างมากขึ้น 

แบรนด์อย่าง “หลุยส์ วิตตอง” (Louis Vuitton) ก็เคยออกกระเป๋า “Chalk Nano Bag” มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2019 ผ่านการดีไซน์ของ “เวอร์จิล อาโบลห์” สตรีทดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นกระเป๋าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการกระเป๋าใส่ชอล์กของนักปีนผา หรือแบรนด์อย่าง “พาทาโกเนีย” (Patagonia) ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขายสินค้าภายใต้ปณิธานแบบรักโลก ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่ากระแสของแฟชั่นกีฬาเอาต์ดอร์ ยังคงได้รับความนิยมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย 

เพราะเหตุนี้ การสวมใส่เสื้อผ้าจากแบรนด์ปีนป่าย ก็ไม่ต่างจากการนำสปอร์ตแวร์มาเสริมลุคในชีวิตประจำวันเท่าไรนัก ด้วยลักษณะเสื้อผ้าที่เน้นความสบาย ใช้งานได้จริง หรือลองคิดดูว่า แม้แต่กระเป๋าจากแบรนด์เอาต์ดอร์อย่าง เดอะ นอร์ธ เฟซ ก็ไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์อยู่เสมอสำหรับหลาย ๆ คน บางคนอาจจะซื้อเพราะชอบ และนั่นก็ไม่ผิดเลยแม้แต่นิดเดียว

เพราะเราก็คงไม่ได้ไปปีนเขาหรือปีนผากันทุกวัน นี่เป็นเครื่องการันตีว่าแบรนด์เหล่านี้ก็มีความเปิดกว้างและหลากหลายในเรื่องประโยชน์ใช้สอย ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเราไม่จำเป็นจะต้องใส่เสื้อผ้าปีนเขา เพื่อไปปีนเขาเพียงอย่างเดียว

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://ascentionism.com/mountaineering-vs-rock-climbing-whats-the-difference/ 
https://www.climbing.com/gear/climbing-fashion-through-the-ages/ 
https://www.gearpatrol.com/outdoors/a36133433/the-north-faces-team-usa-olympic-climbing-kit/ 
https://www.gq.com/story/patagonia-labels-on-fire 
https://www.iceman.it/en/clothing/ 
https://www.nationalgeographic.com/culture/article/otzi-iceman-european-alps-mummy-clothing-dna-leather-fur-archaeology 
https://www.npr.org/2015/01/11/376189069/a-half-century-of-battles-for-the-biggest-rock-walls 
https://olympics.com/tokyo-2020/en/sports/sport-climbing/ 
https://publications.americanalpineclub.org/articles/12196535900/The-Story-of-Mont-Aiguille 
https://www.theguardian.com/science/2016/aug/18/it-becometh-the-iceman-otzi-clothing-study-reveals-stylish-secrets-of-leather-loving-ancient 
https://www.ukclimbing.com/articles/features/olympic_outfits_-_sport_climbing_style_at_tokyo_2020-13720 
https://www.ukclimbing.com/articles/features/the_height_of_fashion_-_why_designers_are_hyped_about_climbing-12287 

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น