M-Style

รู้จัก Uniforia : ลูกฟุตบอล ยูโร 2020 ที่ adidas ใช้ข้อผิดพลาดของตัวเองเป็นสารตั้งต้น | Main Stand

ยูโร 2020 กำลังจะเริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการ ในคืนวันศุกร์ที่จะถึงนี้แล้ว และแน่นอนว่าลูกบอลประจำการแข่งขันในครั้งนี้ ย่อมกลายมาเป็นเป้าสายตาในการแข่งขันอย่างเลี่ยงไม่ได้


 

นับตั้งแต่ปี 1968 ที่ทาง อาดิดาส เปิดตัวลูกฟุตบอล Telstar Elast อันประกอบด้วยแผ่นชิ้นส่วนด้านนอก 32 ชิ้น สีขาวสลับดำ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับดาวเทียมสื่อสาร Telstar ที่โคจรอยู่นอกโลก ณ เวลานั้น ลูกฟุตบอลดังกล่าวก็ได้ถูกใช้ในการแข่งขัน ยูโร 1968 ที่ประเทศอิตาลีทันที

ตั้งแต่วันนั้น อาดิดาส ได้เปิดตัวลูกฟุตบอลประจำการแข่งขัน ทั้งฟุตบอลโลกและยูโรมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ใส่มาโดยตลอด

โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาดิดาส พยายามทำให้ลูกฟุตบอลของพวกเขาสมบูรณ์แบบที่สุด และหนึ่งในบทเรียนสำคัญของเรื่องนี้ คือ Jabulani ลูกฟุตบอลเจ้าปัญหา จากฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้

เมื่อ Jabulani ลดจำนวนของแผ่นพาเนลด้านนอกลงจาก 32 เหลือเพียง 8 แผ่น พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการเย็บตะเข็บใหม่ ทำให้มันมีความกลมสูงมากจนเกิดผลเสีย นั่นคือการควบคุมและคาดเดาทิศทางการเคลื่อนที่ของลูกทำได้ยากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่เสียงก่นด่าทั้งจากผู้รักษาประตู และผู้เล่นตำแหน่งต่าง ๆ

หลังจากนั้นมา อาดิดาส ได้ออกแบบลูกฟุตบอลให้ทั้งยูโร 2012, 2016 และฟุตบอลโลก 2014, 2018 โดยคำนึงถึงหลักการที่พวกเขาพลาดไปในปี 2010 และนั่นรวมถึง Unifornia ที่ถือเป็นการต่อยอดจากบทเรียนราคาแพงดังกล่าว

Unifornia ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจาก Telstar 18 ลูกบอลประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย โดยพวกเขาใช้เวลาพัฒนานานกว่า 4 ปีด้วยกัน ก่อนจะนำลูกฟุตบอลหลากสีสันใบนี้ ไปทดสอบแทบทุกทวีปบนโลก ทั้ง ร้อน หนาว ยอดเขาสูง หรือที่ระดับน้ำทะเล เพื่อให้มั่นใจว่ามันสามารถใช้แข่งขันได้ โดยไม่ต้องกังวลปัญหาจากปัจจัยภายนอก

และหนึ่งในสิ่งที่สำคัญ คือเรื่องผิวสัมผัสของลูกบอล ที่มีการเพิ่มขนาดขอบของแผ่นพาเนลให้ใหญ่ยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้การเดินทางของลูกบอลกลางอากาศนั้น มีความสเถียรกว่าเดิม และมีการปรับตัวยึดแผ่นพาเนลภายนอก ให้สามารถยึดกับโฟมโพลียูรีเทนภายในลูกบอลได้ดีกว่าเดิม พร้อมกับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อวัสดุมากกว่า 65% สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกครั้ง

ด้านการออกแบบ Unifornia ได้มีการใช้ลายเส้นหลากสีสัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย และการรวมกันของวัฒนธรรมต่าง ๆ พร้อมกับมีแถบเส้นสีดำที่จางออก สื่อถึงการลบเส้นแบ่งเขตแดนให้จางลงไป เหมือนกับการแข่งขันนี้ ที่ถูกกระจายจัดไปใน 11 เมืองทั่วทวีปยุโรป

จนถึงตอนนี้ กระแสตอบรับของ Unifornia ยังไปในทางที่ดี โดยยังไม่มีนักฟุตบอลรายไหนที่แสดงความกังวลออกมา และเราอาจได้ฟังความเห็นของพวกเขาอย่างชัดเจน เมื่อได้เริ่มเขี่ยบอลประเดิมการแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ในทุก ๆ การแข่งขัน ย่อมมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องซ่อนอยู่มากมาย และมันก็ล้วนมีความสำคัญที่ไม่ได้ลดหลั่นไปจากกันเลย เช่นเดียวกับลูกฟุตบอลประจำการแข่งขัน ที่แม้แต่รายละเอียดเล็กน้อย ก็สามารถส่งผลต่อการแข่งขัน หรือตัดสินแพ้ชนะได้เลย

จากลูกหนังธรรมดา ก็ได้ถูกยกโฉมเป็นบอลขาวดำ 32 แผ่นหน้าตาเหมือนยานอวกาศ มาถึงลูกบอลที่กลมที่สุดในโลก จนกลายเป็นนรกของผู้เล่นทุกคนในสนาม จนมาสู่ Unifornia ลูกฟุตบอลที่ผ่านการปรับเปลี่ยนและพัฒนามาจากข้อผิดพลาดต่าง ๆ เพื่อให้มันดีที่สุดกับการแข่งขัน และไม่ดีเกินไปจนกลายเป็นผลร้ายได้

สุดท้ายนี้ เรามารอรับชมประวัติศาสตร์ ที่กำลังจะถูกจารึกขึ้นโดยลูกบอลรุ่นใหม่แกะกล่อง ในสังเวียนแข่งขันทั่วทวีปยุโรป กับ ยูโร 2020 ครั้งนี้กัน 

สำหรับใครที่อยากได้ลูกบอล Unifornia ไปเตะ หรือตั้งโชว์ ตอนนี้อาจจะหายากสักหน่อย เนื่องจากของจากหลายตัวแทนจำหน่ายหมดสต็อกไปแล้ว แต่ยังคงมีหาซื้อได้ที่ Supersports ทุกสาขา รวมถึงช็อปออนไลน์ โดย Unifornia Pro ตัวเดียวกับที่ใช้ใน ยูโร 2020 ราคาลูกละ 4,200 บาท และ Unifornia Training ราคาลูกละ 900 บาท (ราคาเต็มก่อนหักส่วนลด)

 

แหล่งอ้างอิง:

https://www.uefa.com/uefaeuro-2020/news/025e-0fc6971c8220-0ceba795a115-1000--every-euro-match-ball/
https://www.youtube.com/watch?v=JI-zh_83dis
https://www.youtube.com/watch?v=PRW1evytCSA

Author

กรทอง วิริยะเศวตกุล

2000 - Football and F1 fanatics - Space enthusiasts - aka KornKT

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น