จบลงเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการแข่งขัน “โฮมฮักนักกีฬาน้อย ROZA KID'S ATHLETICS ปีที่ 6” การแข่งขันทักษะกีฬาของเหล่าน้อง ๆ ชั้นประถมศึกษาจากทั่วประเทศ ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในรายการที่เป็นประตูต่อยอดให้กับเด็ก ๆ สู่อนาคตการเป็นนักกีฬาทีมชาติเลยก็ว่าได้
ทีมงาน Main Stand ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปสัมผัสการแข่งขันด้วยเช่นกัน ก่อนพบว่ารายการนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะทุกการแข่งขันล้วนเสริมสร้างทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นนักกีฬาในทุกด้าน
ทำให้มีเด็กหลายคนที่เคยเข้าแข่งขันในโครงการนี้ ได้โอกาสถูกดึงเข้าสู่โรงเรียนกีฬาและก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยได้ในหลากหลายชนิดกีฬา … เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
โครงการ “โฮมฮักนักกีฬาน้อย ROZA KID'S ATHLETICS” เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "โรซ่า"
จุดประสงค์เพื่อพัฒนาเยาวชนระดับชั้นประถมศึกษา อายุระหว่าง 8-12 ปี ให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง ผ่านกิจกรรมการแข่งขันที่ต้องใช้ทักษะด้านการวิ่ง กระโดด ทุ่ม ขว้าง อันเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการเล่นกีฬาทุกประเภท ภายใต้หลักสูตรที่รับรองโดยสหพันธ์กรีฑาโลก หรือ World Athletics
ทำให้ตลอดระยะเวลาการจัดแข่งขันที่ผ่านมา เราจึงพบช้างเผือกที่มีแววโดดเด่นด้านกีฬาอันหลากหลาย จนหลายคนสามารถต่อยอดเช้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกีฬาและก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในที่สุด
อาทิ “เกี๊ยว” ชลธิชา คะบุตร นักกีฬากระโดดค้ำ, รามินเทพ เบลี่ย์ นักกีฬาฟันดาบ หรือ “มิ้นท์” ศศิประภา เรืองชัย นักกีฬายกน้ำหนักอนาคตไกล จากโรงเรียนกีฬา จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
“การที่มีนักกีฬาจากโครงการโฮมฮักนักกีฬาน้อยได้ก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายจริง ๆ” สุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดใจ
“แรกเริ่มคือเรามีความตั้งใจที่อยากจะมีกิจกรรมบางอย่างเพื่อตอบแทนสังคมและเกิดประโยชน์แก่สังคมจริง ๆ จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการเพียงสร้างทักษะพื้นฐานและสร้างนิสัยรักการออกกำลังกายให้แก่เยาวชน”
“แต่เพียงปีแรกเราก็เห็นแล้วว่าทุกอย่างเต็มไปด้วยความเข้มข้น เด็กทุกโรงเรียนมีความจริงจังสุด ๆ เพราะรายการนี้มีโรงเรียนกีฬาจากทั่วประเทศมาดู เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถเข้าไปเรียนเพื่อพัฒนาต่อ”
“รายการนี้เหมือนเป็นประตูให้เด็กได้ก้าวออกไป เขาอยู่ในท้องถิ่นอาจมีโอกาสเหมือนกัน แต่อันนี้เป็นโอกาสซึ่งเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นให้กับเขา”
“หลายปีที่ผ่านมามีเด็กหลายคนที่เข้ามาทักทายผม บอกว่าผมเองครับที่ไปแข่งโครงการเมื่อปีนั้นแล้วตอนนี้ได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬานี้แล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ” ผู้บริหารโรซ่า เผย
สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จและผลิตนักกีฬาดาวรุ่งขึ้นมามากมายก็เพราะพวกเขาไม่ได้จัดแข่งขันที่จำกัดเฉพาะประเภทกีฬา แต่เป็นการแข่งขันทักษะเบสิคพื้นฐานที่สามารถต่อยอดสู่การเล่นกีฬาได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น กรีฑา ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกน้ำหนัก มวย ฟันดาบ ฯลฯ
ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือในรอบชิงชนะเลิศ เด็ก ๆ จากทุกโรงเรียนต้องแข่งขันกัน 7 ฐานเพื่อเก็บคะแนนสะสมหาผู้ชนะ ซึ่งแต่ละฐานล้วนเป็นการสร้างทักษะอักเป็นรากฐานของการเป็นนักกีฬาแทบทั้งสิ้น
ไล่ตั้งแต่ ฐาน 1 Formula One ที่ต้องม้วน กลิ้ง วิ่ง คลาน อันเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวร่างกายของทุกกีฬา, ฐานที่ 2 Cross Hop ฝึกการทรงตัวและเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวภายใน 15 วินาที, ฐานที่ 3 Precision Throw ฝึกสมองในการควบคุมร่างกาย เพื่อขว้างวัตถุให้ตรงจุด
ฐานที่ 4 Relay Ladder and Hurdle การฝึกฟุตเวิร์คเปลี่ยนจังหวะการเคลื่อนไหวและปรับจังหวะเท้า, ฐานที่ 5 Triple Bounde การก้างกระโดดเพื่อฝึกความแข็งแรงของขาช่วงล่างและการออกตัว
ฐานที่ 6 Overhead Backward Throw การขว้างวัตถุไปด้านหลัง เพื่อฝึกความแข็งแรงของร่างกายและเรียนรู้การถ่ายโยงแรงจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปมัดเล็ก และฐานที่ 7 Long Run วิ่ง 8 นาทีเพื่อฝึกระบบหายใจ การไหลเวียนของลมหายใจและปอด
สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดทักษะพื้นฐานด้านกีฬาแก่เยาวชน ยิ่งถ้าได้รับการฝึกฝนเป็นประจำต่อเนื่องยิ่งทำให้พื้นฐานแน่นขึ้น ซึ่งแต่ละโรงเรียนล้วนฝึกซ้อมกันอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี
โดยในปีที่ 6 นี้ มีโรงเรียนส่งแข่งในรอบคัดเลือกระดับภูมิภาครวมแล้วมากกว่า 200 ทีม ก่อนคัดเหลือ 12 ทีมสุดท้ายเข้าชิงชัยรอบชิงชนะเลิศ ณ อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย CU Sport Complex และได้ผู้ชนะคือ โรงเรียนอนุบาลบ้านเพียมิตรภาพที่ 138 จาก จ.อุดรธานี
ไม่เพียงเท่านั้นนักเรียนทั้ง 120 คน จาก 12 ทีมสุดท้ายซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ยังได้รับประสบการณ์สุดพิเศษจากโรซ่า ทั้งการพาไปทัศนศึกษาที่ซาฟารีเวิลด์และดรีมเวิลด์ รวมถึงนั่งรถไฟฟ้า BTS ด้วยเช่นกัน
ประสบการณ์เหล่านี้สำหรับเด็ก ๆ ในเมืองกรุงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สำหรับพวกเขาที่บางโรงเรียนมาจากหนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ ลำปาง นี่อาจจะเป็นครั้งเดียวที่ได้มาเที่ยวกรุงเทพฯ พร้อมหน้าพร้อมตากันกับเพื่อน ๆ ที่ร่วมฝึกซ้อมกันมาอย่างหนักเลยก็เป็นได้
“ทุกโรงเรียนที่มาแข่งโคตรจริงจังเลย บางโรงเรียนเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ มีนักเรียนทั้งหมดทุกชั้นไม่ถึง 100 คน แต่สามารถมาแข่งรอบสุดท้ายได้ทุกปี เพราะเขาฝึกซ้อมตลอด พยายามเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ แม้ 5 ปีที่ผ่านมาโครงการเราต้องหยุดแข่งไปบ้างเพราะโควิดก็ตาม”
“ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 6 เราพูดได้ว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีอย่างมาก ไม่เพียงจัดแข่งแต่เรายังมีการเปิดหลักสูตรออนไลน์ให้ทุกโรงเรียนได้นำไปใช้กันได้ฟรี ๆ ในชื่อ E-Learning AATE KID’S ATHLETICS ด้วยเช่นกัน”
“อย่างไรก็ตามแม้โครงการนี้จะได้รับความนิยมต่อเนื่อง ๆ แต่ต้องยอมรับตามตรงว่าในอนาคตหากต้องการที่จะพัฒนาให้มีการจัดแข่งทั่วทุกภูมิภาคในระดับทั่วประเทศ หรือมีทีมเข้าร่วมปีละหลัก 1,000 ทีม ด้วยกำลังความสามารถของเราคนเดียวคงยังไม่ไหว”
“เพราะแต่ละปีเราใช้งบประมาณตรงนี้เป็นหลัก 10 ล้านบาท ซึ่งแทบทั้งหมดเน้นไปที่การจัดแข่งขันและการพัฒนาการแข่งขันให้ได้มาตรฐาน ไม่ค่อยได้เน้นเรื่องการโปรโมตมากนัก”
“ดังนั้นเรายินดีพร้อมเปิดรับภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เห็นถึงความสำคัญของเยาวชน มาร่วมมือกันพัฒนาโครงการนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะสำหรับโรซ่าและสมาคมกีฬากรีฑาแล้วโครงการนี้คือสมบัติของชาติ เราไม่เคยหวง ถ้ายิ่งแพร่หลายมากขึ้นผมมั่นใจว่าจะช่วยยกระดับพื้นฐานของกีฬาไทยได้แน่นอน” สุวิทย์ ทิ้งท้าย