อาร์เซน่อล จะเปิดบ้านพบ แมนฯ ยูไนเต็ด ในเกมเอฟเอ คัพ วันอาทิตย์นี้ และเรื่องราวของทั้ง 2 ทีมนั้นมีให้กล่าวถึงมากมายในแต่ละยุค
หนนี้เราจะย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 2000s ยุคที่ อาร์แซน เวนเกอร์ พา อาร์เซน่อล ไปอีกขั้น และ แมนฯ ยูไนเต็ด ของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ต้องหอบกินทุกครั้งที่เจอกันเพราะรูปเกมที่สู้ไม่ได้
จนกระทั่งสุดท้าย เฟอร์กี้ ยอมทิ้งระบบ 4-4-2 อันเลื่องชื่อที่เขาเคยพาทีมคว้าแชมป์มากมาย รวมถึงทริปเปิลแชมป์ประวัติศาสตร์ด้วย
ฟุตบอลของ เวนเกอร์ ในตอนนั้นเป็นแบบไหน ? ทำไม เฟอร์กี้ จึงต้องเปลี่ยนตัวเอง ? ติดตามเรื่องนี้ที่ Main Stand
ผู้ท้าทายจากนาโงย่า
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทีม แมนฯ ยูไนเต็ด มาตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปี 2013 ขณะที่ อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีม อาร์เซน่อล ตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปี 2018
หากคุณกางไทม์ไลน์นี้จะพบว่าทั้งสองคนเริ่มเจอกันในปี 1996 และห้ำหั่นกันตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ซึ่งแน่นอนว่า เฟอร์กี้ คือผู้ยิ่งใหญ่มาก่อน ตั้งหลักมาก่อน ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นทีมที่ดีกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่า ภายใต้นักเตะอย่าง เอริค คันโตน่า, รอย คีน และกลุ่ม คลาส ออฟ '92 ที่เริ่มสร้างชื่อกันในช่วงปี 1996 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม การมาของ เวนเกอร์ ถ้าใช้ศัพท์ให้เท่ ๆ แบบยุคนี้ก็ต้องเรียกว่า "Disrupt" หรือปฏิวัติสิ่งที่มีอยู่เก่าก่อนอย่างสิ้นเชิง
ฟุตบอลอังกฤษในเวลานั้นเต็มไปด้วยกลุ่มนักเตะท้องถิ่น มีนักเตะต่างชาติเพียงไม่กี่คนเท่านั้น และบางทีมแทบจะไม่ใช่นักเตะต่างชาติเลยด้วยซ้ำ ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วฟุตบอลอังกฤษในยุคนั้น แต่ละทีมจะมีขาใหญ่คอยคุมน้อง ๆ อยู่ กลุ่มนักเตะท้องถิ่นจะวินัยไม่ค่อยดีนัก กินดื่ม ปาร์ตี้ โดยที่โค้ชก็ทำอะไรมากไม่ได้ถ้าไม่เด็ดขาดและบารมีถึงจริง ๆ ซึ่งย้อนกลับไป ณ ตอนนั้น เห็นจะมีแต่ เฟอร์กี้ ที่เอาจริงเอาจังเรื่องระเบียบวินัย คอยจับตาลูกทีมไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางตลอด
ขณะที่ฝั่ง อาร์เซน่อล ตอนนั้นต้องบอกว่าเป็น "ทีมขี้เมา" ของจริง ในปี 1996 ที่ เวนเกอร์ เข้ามาคุม อาร์เซน่อล มีกลุ่มที่ชื่อว่า Tuesday Club ที่ตั้งขึ้นโดย โทนี่ อดัมส์ กัปตันของพวกเขาเอง
หากจะสรุปง่าย ๆ ก็คือกลุ่มรวมตัวกันดื่มเหล้า นำโดย โทนี่ อดัมส์, พอล เมอร์สัน, ลี ดิ๊กซั่น และ น้องเล็กอย่าง เรย์ พาร์เลอร์ โดยจะดื่มกันในคืนวันอังคารและลากยาวถึงเช้า เพราะวันพุธจะเป็นวันที่สโมสรให้เป็นวันหยุดซ้อม ซึ่ง เวนเกอร์ ก็เข้ามาทำลายวัฒนธรรมนี้ทิ้ง
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่นักเตะพูดเอง โดยมาบอกเล่าในภายหลัง โทนี่ อดัมส์ กัปตันทีมชุดนั้นบอกว่า "มันเหมือนกับว่ามีสวิตช์ไฟถูกเปิดขึ้นสำหรับผม มันเหมือนกับว่า 'นี่คือโลกของฉัน นี่มันเหลือเชื่อมาก' มันทำให้ความคิดและความรู้สึกของฉันทั้งหมดประหลาดใจ มันเหมือนกับว่า 'ฮัลเลลูยาห์ !'"
ซึ่งเมื่อมีกัปตันที่ชวนออกนอกลู่นอกทาง ดาวรุ่งในทีมก็ยากที่จะพัฒนาเป็นยอดนักเตะได้ เพราะวัฒนธรรมซีเนียร์และการรับรุ่นของพวกเขาที่ดึงเด็ก ๆ เหล่านั้นไปกินดื่มด้วย โดยคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือ เรย์ พาร์เลอร์ ที่บอกว่า "ถ้าโทนี่พูดว่า 'ฉันจะออกไป' เท่านั้น ผมก็เหมือนลูกสุนัขที่กระโดดตามเขาไปแล้ว"
เวนเกอร์ เข้ามาทำลายวัฒนธรรมนี้ทิ้ง โดยตั้งเป้าหมายสโมสรใหม่เพื่อความเป็นเลิศเท่านั้น ... เวนเกอร์ นำระบบใหม่ ๆ เข้ามา ทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการ การออกแบบการฝึกซ้อม และระบบออกกำลังกาย ... เรื่องนี้แม้แต่ เฟอร์กี้ ก็ยอมรับว่าเขายังเปลี่ยนแปลงทีมได้ไม่เร็วเท่า เวนเกอร์ เลยด้วยซ้ำ และนั่นทำให้เขาต้องจับตาดูผู้ท้าชิงชาวฝรั่งเศส ที่ก่อนหน้านี้เคยคุมทีม นาโงย่า แกรมปัส ใน เจลีก มาก่อน
"เมื่ออาร์แซนมาถึงอาร์เซนอล เขาก็เปลี่ยนแปลงนิสัยการกินและระบบออกกำลังกายหลายอย่างของสโมสร" เฟอร์กี้ กล่าว และยังยอมรับว่าเรื่องของรูปแบบเกม อาร์เซน่อล ได้แซงหน้า แมนฯ ยูไนเต็ด ไปแล้วในช่วงปลายยุค 1990s
"เขาเป็นผู้นำเกมในเวลานั้น เราเอาตัวอย่างมาใช้เสมอ เพราะเราพยายามเอาตัวอย่างจากใครก็ตามที่กำลังพัฒนาอยู่เสมอ ... ก็เหมือนตอนคุณขับรถบนถนนนั่นแหละ คุณอดไม่ได้หรอกที่จะมองกระจกด้านข้างเพื่อจะได้รู้ว่าใครกำลังจะเป็นคนที่แซงหน้าคุณ" เฟอร์กี้ ทิ้งท้าย
เมื่อระบบ 4-4-2 สั่นคลอน
แม้ เฟอร์กี้ จะบอกว่าเขาพยายามเหลียวหลังแลหน้าเพื่อดูความเป็นไปของ อาร์เซน่อล ตลอด การเปลี่ยนแปลงแกนหลักนักเตะหลายคนจากต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศส ก็เริ่มทำให้ปีศาจแดงสั่นคลอนมากขึ้น
ฤดูกาล 1997-98 อาร์เซน่อล ได้ดับเบิลแชมป์ด้วยขุมกำลังหลักอย่าง พาทริก วิเอร่า, เอ็มมานูเอล เปอตีต์, มาร์ค โอเวอร์มาร์ส และที่ขาดไม่ได้เลย นิโกล่าส์ อเนลก้า กับ เดนิส เบิร์กแคมป์ 2 กองหน้าที่เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย
แต่ก็อย่างที่บอก เพราะความมาก่อนของ เฟอร์กี้ และโครงสร้าง แมนฯ ยูไนเต็ด ที่สร้างไว้จนแน่นหนาจากรากฐาน ทำให้ ยูไนเต็ด ปล่อย อาร์เซน่อล แซงหน้าได้แค่ปีเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับซีซั่นดังกล่าวเป็นฤดูกาลแรกที่ ยูไนเต็ด เล่นโดยไม่มี เอริค คันโตน่า ซึ่งเพิ่งประกาศเลิกเล่นไปด้วย
อย่างไรเสีย สิ่งที่ทุกคนจดจำก็คือถ้วยแชมป์ ยูไนเต็ด กลบความยิ่งใหญ่ของ อาร์เซน่อล ได้ในปีต่อมาแบบสนิท จาก 3 แชมป์ใหญ่ พรีเมียร์ลีก เอฟเอ คัพ และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาล 1998-99 เป็นทีมแรกในเกาะอังกฤษที่ทำได้ แม้ว่าหากใครที่เกิดทันยุคนั้นจะเข้าใจดีว่าเวลาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เจอกับ อาร์เซน่อล เราจะได้เห็นกลิ่นอายจาง ๆ ของฟุตบอลแบบ โอลด์สคูล ของ เฟอร์กี้ ในระบบ 4-4-2 และเล่นฟุตบอลไดเร็กต์จากหลังไปหน้าให้รวดเร็วที่สุด เสียแล้วค่อยไปรุมแย่งคืนกันใหม่
ขณะที่ของ อาร์เซน่อล เป็นโมเดิร์นฟุตบอลยุโรปแบบจ๋า ๆ ครองบอลเหนียวแน่นอน เสียบอลยาก การเข้าทำสวยงาม มีบอลเท้าสู่เท้าที่แม่นยำ และเหนือสิ่งอื่นใดคือทักษะส่วนตัวของนักเตะปืนใหญ่ยุคนั้น ที่แพรวพราวหาตัวจับยากมาก เรื่องนี้แม้แต่ เฟอร์กี้ ก็ยอมรับว่าฟุตบอลของ เวนเกอร์ ในเวลานั้น คือสาเหตุที่ทำให้ อาร์เซน่อล เป็นคู่แข่งที่ทีมของเขาแพ้ทางมากที่สุด
"แทบทุกเกมที่เจออาร์เซน่อล เราต่างคับเคี่ยวกันแบบเข้มข้นมาก ๆ ต่างฝ่ายต่างมีลุ้น มันสูสีกันสุด ๆ ซึ่งผมไม่แปลกใจเลยเพราะผู้จัดการทีม 2 คนต้องการถ้วยแชมป์เดียวกัน และนักเตะของทั้ง 2 ฝั่งก็มีพรีเมียร์ลีกเป็นเป้าหมายพียงหนึ่งเดียวของพวกเขา ... ถ้าจะมีอะไรให้พูดก็คงต้องยอมรับว่า เวนเกอร์ คือคนที่ผมให้ความเคารพ จากผลงานยอดเยี่ยมที่เขาเปลี่ยนแปลงอาร์เซน่อลในวันนั้น"
อย่างไรก็ตาม ความสูสีก็เปลี่ยนไป ดังธรรมชาติของฟุตบอลที่จะต้องมีการผลัดใบ และทุกทีมจะต้องเจอขาลง ... หลังคว้า 3 แชมป์ในปี 1999 ยูไนเต็ด เริ่มเข้าสู่วัฏจักรของโลกฟุตบอล พวกเขาอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จากขุมกำลัง และอาจจะรวมถึงแท็คติกของเฟอร์กี้ด้วย ... กลับกัน ฝั่ง อาร์เซน่อล นั้นเติบใหญ่ เรียนรู้ และกลายเป็นทีมที่ดีกว่า ยูไนเต็ด อย่างแท้จริงหลังจากนั้นไม่กี่ปี
เวนเกอร์ มีความแม่นยำในการดึงนักเตะต่างชาติเข้ามา ซึ่งแตกต่างกับ เฟอร์กี้ ที่ส่วนใหญ่ในช่วงต้นยุค 2000s จะล้มเหลว ในขณะที่ เฟอร์กี้ ได้ ควินตัน ฟอร์จูน, เอริค เฌมบ้า เฌมบ้า, เคลแบร์สัน, มิกาเอล ซิลแวสตร์, ฮวน เซบาสเตียน เวรอน, มาร์ค บอสนิช และอีกมากหมายหลายคน อาร์เซน่อล กลับเติมเต็มด้วยขุมกำลังชุดเทพที่เข้ามาเพิ่มเติม โลรองต์ เอตาเม่, โซล แคมป์เบลล์, จิลแบร์โต้ ซิลวา, โรแบร์ ปิแรส, ซิลแว็ง วิลตอร์, เอ็นวานโก้ คานู และแน่นอนที่สุดคือ เธียร์รี่ อองรี
อาร์เซน่อล ในยุคต้น 2000s นอกจากจะเล่นฟุตบอลสวยแล้ว ยังประสบความสำเร็จด้วย โดยเฉพาะในฤดูกาล 2003-04 ที่ อาร์เซน่อล กลายเป็นทีมแชมป์พรีเมียร์ลีกไร้พ่ายทีมแรก ซึ่งแชมป์นี้ของทีมปืนใหญ่ ก็เหมือนจะทำให้ยูไนเต็ดรู้ว่า พวกเขาจะอยู่ที่เดิมไม่ได้อีกแล้ว
เปิดยุคสู่โมเดิร์นฟุตบอล
เดิมที แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยห่างหายจากการเป็นแชมป์ลีกนาน ๆ เลย ทว่าในช่วงนั้น (ปี 2003 ถึง 2006) เป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่สามารถคว้าแชมป์ลีกได้นานถึง 3 ซีซั่นติดต่อกัน
แนวทางของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานั้นถ้ายังจำกันได้ เหมือนบอลที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ห้องเครื่องอย่าง รอย คีน มีปัญหากับ เฟอร์กี้ จนโดนปล่อยออก, เดวิด เบ็คแฮม ก็เจอพิษ "สตั๊ดบิน" จนไปอยู่กับ เรอัล มาดริด และนักเตะที่ซื้อมาก็ไม่มีใครแบกทีมได้จริงจัง (ยกเว้น รุด ฟาน นิสเตลรอย) ระบบ 4-4-2 ที่เคยเลื่องชื่อ ต้องถูกลบจากกระดาน และ เฟอร์กี้ ก็พยายามจะปรับมาเล่นแผนยอดฮิตในวงการยุโรปเวลานั้นนั่นคือ 4-5-1 ด้วยการลดกองหน้าให้เหลือแค่คนเดียว และเน้นที่การเอาชนะพื้นที่กลางสนามที่เป็นจุดยุทธศาสตร์มากกว่า
แต่อย่างที่บอกด้วยความที่ เฟอร์กี้ เป็นโค้ชมาตั้งแต่ต้นยุค 1980s เขาเกือบจะตกยุคไปแล้วในตอนนั้น เพราะ ยูไนเต็ด นอกจากจะไม่ได้แชมป์แล้ว ทรงบอลยังออกไปทางเละเทะเป็นพิเศษ มีการเปลี่ยนตำแหน่งนักเตะวุ่นวายมากมายไปหมด เช่นการเอา อลัน สมิธ ที่ปกติเล่นกองหน้ามาเล่นกองกลางตัวรับ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ลองแล้วล้มเหลวอย่างแรง
พวกเขาจบอันดับ 3 ของลีกติดต่อกัน 2 ปี ในปี 2004 และ 2005 ส่วนปี 2006 พวกเขาได้แค่รองแชมป์ "เฟอร์กี้หมดมุกแล้ว" ใครก็คิดแบบนั้น แต่สุดท้ายยอดกุนซือชาวสกอตต์ ก็ค่อย ๆ สร้างทีมขึ้นมาทีละนิด ๆ ผลัดใบนักเตะยุคเก่าออกไปทีละคน ๆ และเริ่มนำดาวรุ่งที่เป็นแผนการระยะยาวในการทำทีม อย่าง เวย์น รูนี่ย์ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เข้ามา
เขารู้แล้วว่า ระบบ 4-4-2 ของเขาหละหลวม และมีพื้นที่เปิดกว้างเกินไปสำหรับฟุตบอลยุคใหม่ การถอดกองหน้าออก 1 คน และการใช้นักเตะที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูง และมีคาแร็คเตอร์ดี ๆ จะช่วยเปลี่ยนโอกาสจากรับเป็นรุกทดแทนการขาดหายไปได้
การเติมกองกลางแบบยุคใหม่ตามตำราแบบ Deep Lying Playmaker แบบไมเคิล คาร์ริค, มิดฟิลด์ Box to Box อย่าง ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์ และการใช้นักเตะพลังเยอะอย่าง เวย์น รูนี่ย์ ยืนริมเส้นเพื่อช่วยเล่นเกมรับ การปักปีกธรรมชาติอย่าง โรนัลโด้ เป็นกองหน้าตัวเป้าเพื่อรอเล่นจังหวะสวนกลับ ... เฟอร์กี้ ไขรหัสโมเดิร์นฟุตบอลได้สำเร็จ สิ่งที่ยืนยันได้เลยก็คือเรื่องของแชมป์ ที่นับจากทำสำเร็จในฤดูกาล 2006-07 พวกเขาคว้าแชมป์ลีกแทบทุกปี
ไม่ใช่แค่แชมป์ลีกเท่านั้น สิ่งที่ยืนยันได้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด เข้าสู่โมเดิร์นฟุตบอลเต็มตัวก็เพราะผลงานในฟุตบอลยุโรปของพวกเขาดีขึ้นผิดหูผิดตา นับตั้งแต่ เฟอร์กี้ ไขกุญแจสู่ฟุตบอลยุคใหม่ได้ ยูไนเต็ด เข้าชิงยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกได้ถึง 3 ครั้ง และเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายได้ถีง 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา โดยคว้าแชมป์ได้ 1 ครั้งในปี 2008
เฟอร์กี้ ไม่หมดมุกอย่างที่ใครพูด และแน่นอนว่าการโดนฟุตบอลของ เวนเกอร์ ไล่ต้อน และอาจจะรวมถึงการมาของ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ เชลซี คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เฟอร์กี้ ขยับตัวเองและทีมของเขาไปอีกขั้น
ทั้งหมดนี้ทำให้เขาเหมาะสมที่จะถูกเรียกว่า "บรมกุนซือ" อย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง
https://www.skysports.com/football/news/11670/10884787/sir-alex-ferguson-says-pressure-on-arsene-wenger-is-ridiculous
https://metro.co.uk/2018/04/29/sir-alex-ferguson-reveals-how-arsene-wenger-influenced-his-manchester-united-champions-7507510/
https://onefootball.com/en/news/martin-keowns-story-about-how-arsene-wenger-was-different-to-sir-alex-ferguson-before-big-games-38513869
https://www.skysports.com/football/news/11661/11339221/sir-alex-ferguson-proud-to-have-been-arsene-wengers-rival
https://www.goal.com/en/news/how-ferguson-dealt-with-ronaldo-rooney-wink-man-utd/1gu98vtc19l4v1rrebcfgd0gjq