Feature

ได้เวลาทวงตำแหน่งราชา : มาร์กเซย กับปฏิบัติการ "โค่น เปแอสเช" | Main Stand

ในวันที่ โอลิมปิก มาร์กเซย เปิดตัว โรแบร์โต้ เดอ แซร์บี้ เข้ามาทำหน้าที่เฮดโค้ชของทีมในฤดูกาล 2024-25 กุนซือหนุ่มอิตาเลียนเนื้อหอมประกาศกร้าวในการสัมภาษณ์แรกของเขาว่า 

 

"ผมมาที่นี่เพื่อบอกกับนักเตะในทีมว่าเราจะทำให้แฟนบอลภาคภูมิใจ เราจะจริงจังและทำมันอย่างกล้าหาญ พวกเราจะท้าทายความยิ่งใหญ่ของ เปแอสเช" 

การพูดนั้นช่างง่ายดาย แต่การจะโค่น "เต้ยแห่งลีกเอิง" อย่าง เปแอสเช ที่ทุ่มหนักสร้างทีมมาเป็น 10 ปีมันง่ายแบบนั้นหรือ ? ...  มาร์กเซย กำลังทำอะไรอยู่และทำไมพวกเขาจึงตั้งเป้าแบบนั้น ? 

ติดตามที่ Main Stand 

 

เทพแห่งยุค 1990s 

ในช่วงยุคปลาย 1980s ถึงต้น 1990s โอลิมปิก มาร์กเซย สโมสรที่เติบโตจากชนชั้นรากหญ้าและมีแฟนบอลมากที่สุด คือเบอร์ 1 ของลีกเอิง ฝรั่งเศส อย่างแท้จริง พวกเขาคือทีมที่คว้าแชมป์ 4 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี 1988 ถึงปี 1992 แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ดรอปลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งภาพของการเป็นราชาค่อย ๆ จางหายลง พร้อมการปรากฏตัวของราชาทีมใหม่อย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง 

การมาของกลุ่มทุน  Qatar Sports Investments (QSI) เมื่อปี 2011 เปลี่ยนแปลง เปแอสเช ไปอย่างมาก งบประมาณการเสริมทัพจัดเต็มราวกับมีเงินไม่อั้น รวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างสโมสรด้านต่าง ๆ จนพวกเขากลายเป็นทีมที่อุดมไปด้วยดาวรุ่งฝีเท้าดี และเป็นทีมที่คว้าแชมป์ลีกถึง 10 สมัยจาก 13 ปี หลังสุด และแน่นอนว่า ณ ตอนนี้ยอดคว้าแชมป์ลีกของพวกเขามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วที่ 12 สมัย 

คำถามคือระหว่างนี้ โอแอ็ม ที่เคยเป็นพี่บิ๊กในช่วงยุค 1990s ทำอะไรอยู่ ?

ลุค เอนทวิสเซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านลีกเอิงฝรั่งเศสของ เดอะ การ์เดี้ยน สรุปเรื่องนี้ด้วย 1 ประโยคที่ว่า "เปแอสเช มีแผนระยะยาว แต่ มาร์กเซย ยังคงติดอยู่กับแผนการระยะสั้น" และยืนยันว่า มาร์กเซย ไม่ใช่แพ้ เปแอสเช ในเรื่องของเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

เรื่องมันเริ่มต้นจากความยิ่งใหญ่ในช่วงต้นยุค 1990s ที่มาร์กเซยมี แบร์กนาร์ ตาปี ที่เข้ามาซื้อสโมสรและทุ่มเงินมากมาย พวกเขากลายเป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อย่างยิ่งใหญ่ และมันควรจะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาดันตัวเองไปยังอีกระดับ ทว่าทุกอย่างก็จบลงอย่างรวดเร็ว 

สาเหตุเพราะตาปีนั้นถูกจับได้ว่าพยายามล็อกผลการแข่งขัน แถมยังถูกปรับตกชั้นอีกในปี 1994 นั่นคือจุดเริ่มต้นความตกต่ำของมาร์กเซย จนกระทั่งในที่สุดนักเตะดัง ๆ ก็เริ่มย้ายออกจากทีม ซึ่งพอถึงช่วงต้นยุค 2000s พวกเขาก็ยังตั้งหลักไม่ได้ ทีมไม่ได้มีการบริหารที่มีคุณภาพมากพอ มีแต่เสียงฮือฮาในการซื้อตัวในแต่ละซัมเมอร์ แต่ไม่มีความยั่งยืน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ เปแอสเช จะยังไม่ได้เริ่มสร้างยุคสมัย แต่มันก็ยากสำหรับ โอแอ็ม อยู่ดี เพราะ ณ ตอนนั้นทีมที่มีพร้อมกว่าทั้งแนวทางการบริหารทีมและเรื่องของการเงินอย่าง โอลิมปิก ลียง โดดเด่นขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของลีก หรือในยุคที่คนไทยจำได้ในชื่อยุค "ลียง ลงเป็นยิง" อันโด่งดัง 

แน่นอนว่าทีมที่ไม่พร้อม เดินหน้าต่อได้ไม่ไกล ... มาร์กเซย ยังคงเป็นทีมที่ช็อปนักเตะด้วยมูลค่ารวมติดท็อป 3 ของตลาดซื้อขายเสมอ แต่ปัญหาคือผลงานก็ไม่ได้ยั่งยืนแต่อย่างใด เรื่องนี้ เมห์ดี้ เบนาเตีย อดีตนักเตะจากอคาเดมี่ของ มาร์กเซย ที่ไม่เคยมีโอกาสได้ลงสนามให้กับทีมเลยแม้แต่นัดเดียว ก่อนจะย้ายออกไปโด่งดังกับ โรม่า, บาเยิร์น มิวนิค และ ยูเวนตุส คือคนที่ยืนยันเรื่องนี้เอง 

"มันเป็นเรื่องยากของทีม ๆ นี้มาโดยตลอด สำหรับนักเตะดาวรุ่งที่จะได้โอกาสลงสนามหรือได้เล่นให้กับทีม มันมีแรงกดดันมากมายภายใต้การทำงานของโค้ชและสโมสรแห่งนี้ ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากจะเสี่ยงกับนักเตะดาวรุ่งที่โตมาจากอคาเดมี่" เบนาเตีย กล่าว 

 

พยายามแก้แต่แย่กว่าเดิม 

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น มาร์กเซย ถูกตัดสินว่าเป็นทีมที่ไม่มีเป้าหมายระยะยาว เพราะมักจะซื้อนักเตะในราคาแพงและไม่ประสบความสำเร็จนัก ต่างกับทีมที่งบประมาณไม่เยอะแต่คว้าแชมป์ลีกเอิงได้ในยุคหลัง ๆ อาทิ ลีลล์ ที่เลือกลงทุนกับนักเตะอายุน้อย มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อได้ ซึ่งนอกจาก ลีลล์ จะได้แชมป์ลีกในฤดูกาล 2020-21 แล้ว นักเตะจากทีมชุดนั้นก็ขายได้ ทำเงินเข้าสู่สโมสรมากมาย

ที่เราพยายามบอกคือ ยิ่ง มาร์กเซย ล้มเหลวเท่าไหร่ พวกเขาก็จะโดนทีมที่ตามหลังค่อย ๆ แซงหน้า บางปีแม้แต่การเป็นเบอร์ 2 ของลีกรองจาก เปแอสเช พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ 

โดยในฤดูกาล 2023-24 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก มาร์กเซย ใช้เงินกว่า 100 ล้านยูโรในตลาดซื้อขายซัมเมอร์ที่แล้ว แต่จบลงด้วยการใช้งานกองหน้าที่อายุ 34 ปี และผ่านช่วงพีกไปพักใหญ่ ๆ อย่าง ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง 

"สโมสรที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่อย่างมาร์กเซย ไม่ควรทำอย่างยิ่งกับการใช้กองหน้าตัวหลักเป็นนักเตะวัย 34 ปี แถมยังตั้งเขาเป็นศูนย์กลางของทีม และยังเป็นนักเตะคนเดียวในลีกเอิงที่ได้ค่าเหนื่อยสูงที่สุดหากไม่นับนักเตะของ เปแอสเช" ลุค เอนทวิสเซิล ว่าแบบนั้น 

เรื่องความมวุ่นวายภายในสโมสรก็เป็นอีกเรื่องที่เกิดขึ้นเนือง ๆ กุนซือที่ทำงานกับสโมสรหลายคนอยู่ไม่เกิน 1 ซีซั่นก็ลาออกไป อาทิ มาร์เซโล บิเอลซ่า และ ฮอร์เก้ ซามเปาลี ลาออกอย่างกะทันหันหลังจากมีความขัดแย้งกัน และ อันเดร วิลลาส-โบอาส อดีตโค้ชก็ถูกพักงานเนื่องจากวิจารณ์สโมสรอย่างเปิดเผย 

ขณะที่ในฤดูกาล 2023-24 ที่ผ่านมา พวกเขาใช้เฮดโค้ชถึง 4 คนได้แก่ มาร์เซลินโญ่, ฌัคส์ อบาร์โดนาโด, เจนนาโร่ กัตตูโซ่ และ ฌอง หลุยส์ กัสเซต์ ... การปลดหรือเปลี่ยนโค้ชเป็นว่าเล่นแบบนี้แสดงให้เห็นปัญหาบางประการภายใน อาจจะด้วยโค้ชทำผลงานไม่ดีตามที่หวัง

แต่ครั้นเมื่อมีโค้ชที่ผลงานดีแฟนบอลชอบ โค้ชคนนั้นก็ไม่อยู่กับทีมและต้องออกอยู่ดี อาทิ อีกอร์ ทูดอร์ กุนซือชาวโครเอเชีย ก็เป็นอีกคนที่แม้จะพาทีมขึ้นมาจบอันดับ 3 ในฤดูกาล 2022-23 และชนะใจแฟน ๆ ด้วยสไตล์การเล่นที่ดุดันมีชีวิตชีวา แต่แฟนบอลยิ้มได้ไม่นาน ทูดอร์ ก็ลาออกเพราะมีปัญหาขัดแย้งกับประธานสโมสร ปาโบล ลองโกเรีย ซึ่งถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแฟนบอลมาพักใหญ่

และครั้งหนึ่งแฟนบอลของ โอแอ็ม ก็เคยขู่ว่าจะทำสงครามกับบอร์ดบริหาร หากไม่ยกทีมลาออก ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็ต้องรับฟังเสียงของแฟนบอลบ้าง เพราะกลัวเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนในปี 2021 ที่แฟนบอล มาร์กเซย กว่า 200 คนบุกโจมตีสนามซ้อมของตัวเอง 

คุณจะเห็นปัญหาคร่าว ๆ จากสิ่งเหล่านี้ไม่มีสโมสรไหนผลงานในสนามโดดเด่นต่อเนื่องได้หากไร้ซึ่งความแน่นอนและความเชื่อมั่นจากกลุ่มบอร์ดบริหาร ... โอแอ็ม ก็เป็นแบบนั้น 

อย่างไรก็ตามในซีซั่นนี้ อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็พยายามแก้ไขบางอย่างไปในทางที่ดีขึ้น ลองโกเรีย ผู้เป็นประธานประกาศกร้าวบอกว่า ทีมจะแก้ไขปัญหาเก่า ๆ และวางโครงสร้างที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายให้ทีมกลับมาอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง และพวกเขาก็เรียกร้องความสนใจได้ดีมากในซัมเมอร์นี้ 

 

2024-25 ยกเครื่องพร้อมลุย 

หลังจากความวุ่นวาย ลองโกเรีย ที่มีปัญหากับแฟนบอลยอมถอยหนึ่งก้าวและให้คนที่รู้เรื่องฟุตบอลอย่าง สเตฟาน เทสซิเย่ร์ นักบริหารชื่อดังในวงการฟุตบอลฝรั่งเศสขึ้นมารับตำแหน่งผู้อำนวยการทั่วไป นั่นถือเป็นก้าวแรกที่ทีมของพวกเขาเริ่มกลับมาเป็นรูปเป็นร่าง

เป้าหมายคือการวางโครงสร้างระยะยาว จ้างคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ ของฟุตบอลเข้ามาประจำการในตำแหน่งต่าง ๆ และเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องทำภายใต้เป้าหมายทางการเงินที่ยั่งยืนด้วย 

ผลงานของ เทสซิเย่ร์ หลังการเข้ามาทำงานถือว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงของสโมสร โดยเขาได้ใช้ สต๊าด เวโลโดรม รังเหย้าของทีมให้ใช้ประโยชน์และทำเงินได้มากขึ้นจากการให้เช่าจัดงานออแกไนเซอร์ระดับโลก รวมถึงงานคอนเสิร์ตนักร้องดัง ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเงินของทีมก็ดีขึ้นด้วย เพราะรายได้ของทีมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากผู้สนับสนุนเจ้าใหญ่อย่าง CMA บริษัทขนส่งชื่อดัง ซึ่งหลังฤดูกาล 2023-24 จบลง มาร์กเซย ถูกจัดอันดับให้เป็นสโมสรที่มีรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของยุโรป จากรายได้ 258.4 ล้านยูโร 

เงินจำนวนดังกล่าวถูกเอาไปใช้กับการปรับโครงสร้างอคาเดมี่และทีมชุดเยาวชนที่เป็นพื้นฐานที่แท้จริงของสโมสร มีการจ้าง เมห์ดี้ เบนาเตีย กลับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกีฬา มีหน้าที่คอยดึงเอานักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้ามาอยู่ในทีม และสร้างชุดความคิดให้กับเหล่าดาวรุ่ง เพื่อให้นักเตะมีความกระหายและอยากนำความสำเร็จมาสู่ทีม 

"เราต้องสอนนักเตะว่าสโมสรแห่งเป็นอย่างไร และเป็นตัวแทนของสิ่งใด (หมายถึงเมืองและแฟนบอล) เราจะไม่ได้สอนให้พวกเขาเป็นนักเตะที่ดีเท่านั้น เราจะสอนให้พวกเขาทนทานต่อความกดดัน และดำรงอยู่ด้วยแพชชั่นที่เปี่ยมล้น" เบนาเตีย กล่าว

เหล่านักเตะเยาวชนที่พวกเขาสร้างขึ้นมา จะถูกส่งต่อไปยังทีมสำรอง ที่ปัจจุบันคุมทีมโดย ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง ตำนานเบอร์ 1 ของสโมสร ซึ่งนั่นถือเป็นกาวใจคนสำคัญ อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็ฟื้นคืนจิตวิญญาณแห่งสโมสรของกลุ่มคนรากหญ้าเหล่านี้กลับมา 

แม้มาร์กเซยอาจไม่สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้ภายในเร็ววัน แต่การขยับตัวของพวกเขาในซัมเมอร์นี้น่าสนใจมาก โรแบร์โต้ เดอ แซร์บี้ กุนซือหนุ่มเนื้อหอมที่สุดคนหนึ่งของยุค ถูกบอร์ดบริหารมัดใจด้วยโปรเจ็กต์ใหญ่ระยะยาวในการทวงความยิ่งใหญ่ 

"สิ่งที่พวกเราจะทำร่วมกัน คือการวางโครงสร้างระยะยาวที่จะนำมาร์กเซยกลับสู่สถานะที่ควรจะเป็น นั่นคือการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งสูงสุด" ส่วนหนึ่งในการสัมภาษณ์ในวันเปิดตัวเป็นเช่นนั้น 

เดอ แซร์บี้ คือคนที่สามารถเปลี่ยนมายด์เซตนักเตะในทีมได้จริง เขาเคยพิสูจน์มาแล้วตอนที่อยู่กับ ไบรท์ตัน จากการรับงานต่อจาก แกรมห์ พ็อตเตอร์ และเขาพาทีมไปสู่อีกระดับหนึ่ง 

ในเชิงผลลัพธ์ เขาพาทีมจบอันดับ 6 ในฤดูกาล 2022-23 ซีซั่นแรกที่คุม และตกรอบรองชนะเลิศในศึกเอฟเอ คัพ แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมกว่า คือการพัฒนานักเตะที่มีให้กลายเป็นนักเตะที่คลาสสูงขึ้น เล่นฟุตบอลด้วยวิธีการที่สวยงาม แม้จะชื่อชั้นจะเป็นรอง นักเตะหลายคนอย่าง มอยเซส ไกเซโด้, อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์, คาโอรุ มิโตมะ และแนวรุกคนอื่น ๆ โดดเด่นขึ้นมามากในยุคของเขา แม้แต่นักเตะเกรดล่าง ๆ ของพรีเมียร์ลีกอย่าง ซอลลี่ มาร์ช, ลูอิส ดังค์ หรือ อดัม เว็บสเตอร์ กลายเป็นนักเตะที่เล่นฟุตบอลในแบบของฟุตบอลสมัยใหม่ได้อย่างเหลือเชื่อ  

การชิงตัว เดอ แซร์บี้ ท่ามกลางทีมใหญ่ ๆ มากมายถือเป็นการลงทุนที่ยอดเยี่ยม ซึ่งการมาของเขานำมาซึ่งนักเตะอายุน้อยมีศักยภาพที่จะไปข้างหน้าได้ไกลอย่าง เมสัน กรีนวู้ด, อิสมาเอล โกนาเต้ กองกลางที่คว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของ วัตฟอร์ด 2 ฤดูกาลติดต่อกัน และ บาโบ้ ไมเต้ วัย 22 ปีที่ซื้อขาดจาก ลอริยองต์  

นอกจากนักเตะอายุน้อยที่กล่าวในในลิสต์แล้ว ยังมีอีกหลายคนที่มีข่าวว่ากำลังจะมาเป็นสมาชิกของ มาร์กเซย อาทิ เอ็ดดี้ เอ็นเคเทียห์ ของ อาร์เซน่อล และ วาเลนติน คาร์โบนี่ ตัวรุกจาก อินเตอร์ มิลาน เป็นต้น  

ขณะแกนกลางที่ถือเป็นหัวใจในการสร้างเกม พวกเขาเลือกนักเตะที่มีประสบการณ์ และอยู่ในวัยพีก (29 ปี) อย่าง ปิแอร์ เอมิลล์ ฮอยเบียร์ มาจาก สเปอร์ส แบบยืมตัว ชื่อนี้อาจจะไม่ได้ว้าวมากนัก แต่เรื่องของคาแร็คเตอร์และผลงานกับ สเปอร์ส และในทีมชาติเดนมาร์กของเขาถือว่ามีมาตรฐานมาโดยตลอด เป็นนักเตะที่เหมาะกับการเป็นผู้นำทีมในยุคที่ทีมพยายามจะลดอายุเฉลี่ยนักเตะในทีมได้เป็นอย่างดี 

จากทั้งหมดที่ว่ามา มองแล้วก็ยังถือว่ามันยังไม่ใช่เรื่องใกล้เคียงที่ มาร์กเซย จะแซงหน้า เปแอสเช ได้ แต่อย่างน้อย ๆ ยักษ์หลับทีมนี้ได้เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอีกครั้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเป้าหมายว่าพวกเขาจะต้องดีขึ้นในทุก ๆ ปี 

อย่างไรก็ตามโลกฟุตบอลมันมีเรื่องเซอร์ไพรส์เสมอ บางครั้งชื่อชั้นของนักเตะก็ตัดสินอันดับบนตารางคะแนนไม่ได้ ... อย่างทีได้กล่าวไป พวกเขาได้โค้ชอย่าง เดอ แซร์บี้ ที่มีประสบการณ์ในการรวมทีมระยะสั้น และสร้างทีมให้มีคาแร็คเตอร์ที่กล้าหาญพร้อมท้าทายทีมใหญ่มาแล้ว ... หากตลาดซื้อขายยังดำเนินต่อไปอย่างที่เป็นข่าว ไม่แน่ เดอ แซร์บี้ อาจจะได้ส่วนผสมที่ลงตัวเป๊ะ และพร้อมจะสร้างเซอร์ไพรส์พร้อมทวงตำแหน่งบนหัวตารางกลับมาในรอบ 14 ก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/article/2024/may/02/marseille-aim-revive-former-glories-europa-league
https://english.aawsat.com/sports/4560256-marseille-crisis-it-prepares-face-psg-french-league
https://www.theguardian.com/football/2024/apr/02/psg-long-term-plan-marseille-stuck-short-termism-luis-enrique
https://en.wikipedia.org/wiki/Ligue_1
https://www.nytimes.com/athletic/5569516/2024/07/01/de-zerbi-marseille-brighton/
https://www.lemonde.fr/en/sports/article/2022/11/02/olympique-de-marseille-drops-out-of-europe-verging-on-crisis_6002647_9.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา