ตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ยอดนักแบดมินตันสาว ถูกยกให้เป็นหนึ่งในความหวังการคว้าเหรียญโอลิมปิกของทัพนักกีฬาไทยมาตลอด ทว่าเจ้าตัวต้องพบเจอกับความผิดหวังมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ปารีสเกมส์ครั้งนี้นับเป็นการลงชิงชัยสมัยที่ 4 และมีโอกาสที่จะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอ … ขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งยังเป็นโอลิมปิกครั้งแรกของ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักหวดหนุ่มรุ่นน้องร่วมค่ายบ้านทองหยอดด้วยเช่นกัน
เมย์จะมีมุมมองอย่างไร และจะมีคำแนะนำใดจากประสบการณ์ที่พบเจอมาส่งต่อให้กับวิวบ้างหรือไม่ ติดตามได้ที่นี่
3 สมัยแห่งความผิดหวัง
โอลิมปิกเกมส์ถือเป็นของถือเป็นรายการที่รัชนกถูกคาดหวังมาตลอดว่าจะเป็นผู้คว้าเหรียญรางวัลให้กับทัพนักกีฬาไทย ตั้งแต่ที่เธอประเดิมแข่งขันครั้งแรกในฐานะสตาร์ดวงใหม่ของวงการ
ด้วยปัจจัยและความพร้อมต่าง ๆ ทำให้เธอเองก็คาดหวังกับตัวเองเช่นเดียวกัน … แต่สุดท้ายเธอก็ไม่สามารถไปได้ถึงจุดหมาย ต้องผิดหวังไปอย่างน่าเสียดายตลอดทั้ง 3 ครั้ง
ครั้งแรกปี 2012 ที่ลอนดอน เมย์ลงชิงชัยในฐานะดาวรุ่งที่ต้องจับตามองจากดีกรีการเป็นแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยซ้อน (2009, 2010, 2011) ซึ่งเจ้าตัวทำผลงานได้ดีตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบ 16 คน ก่อนจะแพ้ลูกเก๋าของ หวัง ซิน มือ 2 ของโลกเวลานั้นไปอย่างเฉียดฉิว 2-1 เกม ในรอบ 8 คนสุดท้าย
หากใครได้ดูเกมในวันนั้นจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเมย์ลงเล่นอย่างไร้ความกดดัน และสามารถสู้ได้อย่างไม่เป็นรอง มีแค่เรื่องร่างกายที่ยังยืนระยะสู้ไม่ได้ ทำให้โดนพลิกแซงไปอย่างน่าเสียดาย
แม้จะผิดหวังในครั้งแรกแต่เมย์ยังคงทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้ เมื่อเจ้าตัวสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกในปี 2013 ซึ่งเป็นนักหวดไทยคนแรกที่ทำได้และยังเป็นแชมป์โลกอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 18 ปี
ก่อนจะเดินหน้ากวาดแชมป์รวมถึง 9 รายการภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมก้าวขึ้นรั้งมือ 1 ของโลกได้สำเร็จในปี 2016 หรือก่อนโอลิมปิกที่บราซิลจะเริ่มเพียง 4 เดือน นั่นจึงทำให้เธอลงแข่งขันในศึก “ริโอเกมส์” ในฐานะตัวเต็งเบอร์ต้น ๆ
ทว่าความกดดันและความคาดหวังที่ถาโถมเข้ามา ทำให้เมย์เล่นได้อย่างผิดฟอร์ม และต้องจอดป้ายเพียงรอบ 16 คน ด้วยการแพ้มืออันดับต่ำกว่าอย่าง อากาเนะ ยามากูชิ 2 เกมรวด
แม้ 4 ปีถัดมาในศึก “โตเกียวเกมส์” เมย์จะกลับมาอยู่ในฟอร์มที่ดีอีกครั้ง แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ยังไปไม่ถึงฝัน แพ้ให้กับ ไต้ จืออิ่ง มือวางอันดับ 2 ไปอย่างสูสี 1-2 เกม โดยเป็นฝ่ายนำก่อนแต่โดนพลิกแซง เหมือนฉายหนังซ้ำม้วนเดิมกับเมื่อ 8 ปีก่อน
“ทุกครั้งที่เมย์มองถึงเหรียญมากเกินไป มันทำให้ตัวเมย์ไม่สามารถเล่นในสนามได้ดี” เมย์ยอมรับด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามใน “ปารีสเกมส์ 2024” นั้นต่างออกไป เมย์ไม่ได้เป็นตัวเต็งในฐานะมือวางอีกแล้ว ทำให้หลายคนจับตามองว่าเธอจะทำความฝันให้เป็นจริงได้หรือไม่ เพราะนี่อาจจะเป็นการทิ้งทวนโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอก็เป็นได้
โอลิมปิกครั้งสุดท้าย ?
แม้เจ้าตัวจะยังไม่ยืนยันอย่างเต็มปาก แต่หลายคนคาดการณ์กันว่าโอลิมปิกสมัยที่ 4 ที่ปารีสในครั้งนี้ มีโอกาสสูงที่จะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของ “เมย์” รัชนก อินทนนท์
ในวัย 29 ปี เมย์ยอมรับว่าเคยมีความคิดที่จะให้โอลิมปิก 2024 เป็นครั้งสุดท้ายของตนเอง เพราะไม่รู้ว่าอีก 4 ปีข้างหน้าตนจะยังสามารถลงเล่นในฟอร์มที่ดีอยู่ได้ไหม แต่ตอนนี้จะพยายามทำให้ดีที่สุดและขอโฟกัสกับผลงานในปีนี้ก่อน
“เรื่องจิตใจพยายามที่จะคุมสติตัวเอง มีความสุขให้มากที่สุดในทุกวันเพื่อปรับมายด์เซตของตัวเอง”
“ทุกคนที่ไปอยากคว้าเหรียญอยู่แล้วไม่ใช่ไม่มีความหวังอะไรเลย แต่ความรู้สึกเราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้เหรียญแน่ ๆ เพราะทุกอย่างที่เราเคยคาดหวังไปมาก ๆ มันไม่สามารถทำได้ดีเลย”
“ปีนี้ตัวเองจึงไม่ได้คาดหวังกับผลงานอะไรมากมาย เพียงแค่คาดหวังกับการเล่นของตัวเองให้มีความสุขในแต่ละช็อต ให้วันนั้นเป็นตัวของเมย์เองให้มากที่สุดก็พอ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องถึงเหรียญหรืออะไร” เมย์ เผย
โอลิมปิกครั้งนี้เมย์จะลงแข่งในฐานะมืออันดับ 21 ของโลก เนื่องจากไม่ได้ลงแข่งขันมาหลายรายการในช่วงก่อนหน้านี้จนอันดับร่วงลงมา ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เคยลงร่วมแข่งขันมา และไม่ได้ถูกจัดเป็นมือวางในการแบ่งสายเหมือนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
นั้นจึงทำให้รอบแบ่งกลุ่มเธอต้องไปชนกับของแข็งอย่าง ไต้ จืออิ่ง คู่ปรับเก่าที่รั้งมืออันดับ 3 ของโลกจากไต้หวัน และเลียนเน่ ทราน มืออันดับ 57 ของโลกจากเบลเยียม
“การไปครั้งนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้เป็นมือวาง และเผื่อใจว่าต้องเจอกับมือวางไว้อยู่แล้ว ก็คิดว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ จะพยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุด มีความสุขในทุกจังหวะที่เล่น” เมย์ เปิดใจ
ต้องจับตาดูว่าท้ายที่สุดแล้วเมย์จะทำความฝันสำเร็จหรือไม่ เพราะการเดินทางในโอลิมปิกครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเธอก็เป็นได้ … ซึ่งสวนทางกับรุ่นน้องร่วมชายคาบ้านทองหยอดอย่าง “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่กำลังจะลงแข่งในรายการนี้เป็นสมัยแรก
จากพี่สู่น้อง
ในขณะที่โอลิมปิกครั้งนี้อาจะเป็นครั้งสุดท้ายของ “เมย์” รัชนก … แต่อีกฝากหนึ่งโอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของ “วิว” กุลวุฒิ นักแบดหนุ่มจากบ้านทองหยอด ที่แทบจะถอดแบบเส้นทางความสำเร็จจากศิษย์ผู้พี่มาเลยทีเดียว
วิวเข้าสังกัดโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดตอนอายุ 13 หรือให้หลังจากที่เมย์เป็นแชมป์โลกเพียง 1 ปี ก่อนจะเดินตามรอยด้วยการคว้าแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยซ้อน (2017, 2018, 2019) และสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักหวดหนุ่มไทยคนแรกที่คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปี 2023
ปารีสเกมส์ครั้งนี้เจ้าตัวจึงถูกตั้งความหวังว่ามีโอกาสที่จะลุ้นเหรียญรางวัลติดมือ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เมย์ลงแข่งขันสมัยแรก ซึ่งเมย์เองก็ได้นำประสบการณ์ของตัวเองมาแนะนำรุ่นน้องด้วยเช่นกัน
“นักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรก แน่นอนเลยว่าเราต้องชนะใจตัวเองก่อนชนะคู่ต่อสู้ เพราะบางครั้งความกดดันมันมีแน่นอน พยายามปรับมายด์เซตให้คิดว่าเป็นรายการนึง”
“ในโอลิมปิกเราเจอคู่ต่อสู้เหมือน ๆ เดิมก็จริง แต่เวลาลงไปมันคือความคาดหวัง เพราะ 4 ปีมีครั้ง มันทำให้เราคิดว่าไม่สามารถพลาดโอกาสนี้ได้ ทำให้ความกดดันมันมากขึ้น”
“อยากให้คิดว่าลงไปเพื่อเอ็นจอย ตีให้คนที่เข้ามาชมในสนามดูว่าเรามีสกิลมีลูกเล่นอะไร ให้เอ็นจอยไปกับมัน อย่าไปมองถึงผลก่อนที่เรายังไม่ได้เริ่มทำ” เมย์ ให้คำแนะนำ
พร้อมกันนี้เจ้าตัวยังเชื่อว่า “วิว” มีลุ้นที่จะคว้าเหรียญในโอลิมปิกครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยมองว่าวิวเป็นนักกีฬาที่มีความก้าวร้าวในสนาม ซึ่งคู่ต่อสู้หลายคนมีความกลัวเขา อีกทั้งยังมีเกมรับที่ดีเป็นจุดแข็ง
“คิดว่าน้องเป็นหนึ่งคนที่มีโอกาสในการคว้าเหรียญ อาจจะยากหน่อยแต่มันก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับน้อง” เมย์ ทิ้งท้ายถึงน้องชายร่วมค่าย
ไม่เพียงแค่ทัศนคติที่ดีจากรุ่นพี่เท่านั้นที่ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นน้อง แต่ “วิว” ยังได้รับประสบการณ์เต็ม ๆ ในทุกด้านจากเส้นทางที่ “เมย์” เคยเดิน
โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ต้นสังกัดของทั้งคู่ได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เคยปั้นเมย์จนประสบความสำเร็จมาบ่มเพาะฝึกฝนให้แก่วิว พร้อมนำจุดบกพร่องและข้อผิดพลาดที่เมย์เคยเจอมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนารุ่นน้องด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องฝีมือและเทคนิคที่เก่งกาจไม่เป็นรองใครของทั้งคู่ แต่สิ่งที่ถูกเพิ่มขึ้นมาก็คือเรื่องสภาพร่างกาย ที่ทางทีมได้นำวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น จนทำให้วิวแทบจะไม่มีอาการเหนื่อยล้าหากต้องดวลเกมยาว ๆ
รวมถึงการวางแผนการแข่งขัน ที่ค่อย ๆ ประคบประหงมไม่ให้เจ้าตัวต้องใช้ร่างกายหนักเกินอายุมากไป เรื่อยไปจนถึงเรื่องสภาพจิตใจที่จะต้องแบกรับความกดดันในการเล่นและคำแนะนำในการใช้ชีวิตส่วนตัวด้านต่าง ๆ
ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ที่ทางโค้ชและทีมงานได้เคยลองผิดลองถูกกับเมย์มาแล้วทั้งนั้น จนรู้ว่าจะต้องใช้แนวทางแบบใดในการดูแลนักกีฬาที่มีพรสวรรค์เช่นนี้
สิ่งเหล่านี้จึงทำให้หลายคนมองว่า “วิว” กุลวุฒิ มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในโอลิมปิกครั้งนี้
ก้าวแรกของ “วิว-กุลวุฒิ”
ประสบการณ์และบทเรียนด้านต่าง ๆ ของเมย์ ได้กลายเป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนานักแบดมินตันของบ้านทองหยอด จนเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้กลายเป็น “วิว” กุลวุฒิขึ้นมา
ขณะที่วิวเองแม้ส่วนตัวจะยังไม่เคยได้พูดคุยกับพี่เมย์อย่างจริงจังถึงโอลิมปิกครั้งนี้ แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความกดดันในการลงแข่งมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษย์เป็นอย่างดี
“มันอยู่ที่ความคิดของเรา หากเรามองมันว่าคือมหกรรม 4 ปีมีครั้ง ตรงนี้จะทำให้เราเพิ่มความกดดันมากกว่า แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นการแข่งขันเหมือนกันกับทั่วไป เราก็จะพยายามเล่นให้ดีที่สุดแล้วก็ไม่กดดันตัวเอง”
“มหกรรมแบบนี้มันค่อนข้างยาก การเป็นแชมป์โลกหรือแชมป์อะไรมันมีโอกาสที่จะทำได้ เพราะปีนี้เราไม่ได้ปีหน้าก็มีอีก แต่โอลิมปิกถ้าปีนี้ไม่ได้มันต้องไปอีก 4 ปี
“ตอนนั้นอายุเราก็เพิ่มขึ้น ร่างกายเราอาจจะถอยลง อาจจะมีเจ็บ มีผ่า หรืออะไรหรือเปล่า โอกาสที่จะคว้าโอลิมปิกมันจึงยากกว่า ขนาดอันดับ 3 ยังต้องชิงเลย ซึ่งชิงแชมป์โลกยังเป็นที่ 3 ร่วมกัน” วิว เปิดใจ
โอลิมปิกครั้งนี้ วิวในฐานะมือ 8 ของโลก อยู่ร่วมกลุ่มกับ คัลเล โคโยเนน มือ 61 ของโลกจากฟินแลนด์ และจอร์เจส ยูเลียน พอล มืออันดับ 109 ของโลกจากมอริเชียส ซึ่งแม้จะมีโอกาสสูงแต่เจ้าตัวก็ไม่ประมาท
"จริง ๆ ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นความหวังเหรียญรางวัลของไทย เพราะคิดว่าตัวเองไม่ใช่ตัวเต็งแน่นอน เอาให้ผ่านรอบแรกก่อน ไม่อยากเพิ่มความกดดันให้ตัวเอง
“โอลิมปิกเกมส์มันยากสำหรับทุกคน ทุกคนอยากจะได้เหรียญ แต่สำหรับผมขอแค่เล่นให้ดีที่สุดเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ขอแค่ติดเหรียญใดเหรียญหนึ่งก็พอ” หวดหนุ่มวัย 23 ปีทิ้งท้าย
ก้าวแรกของ “วิว” บนเส้นทางโอลิมปิกจะไปได้ไกลขนาดไหน และการไล่ตามความฝันครั้งที่ 4 ของ “เมย์” จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ติดตามได้ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มวันที่ 27 กรกฎาคมนี้