Feature

จากแชมป์เอเชียสู่ตกรอบแรก : เกิดอะไรขึ้นกับฟุตซอลญี่ปุ่น ? | Main Stand

ญี่ปุ่น คือเป็นมหาอำนาจของฟุตซอลเอเชียมาตั้งแต่ยุค 80s พวกเขามีระเบียบ รวดเร็ว และแข็งแกร่ง คว้าแชมป์ระดับทวีปมาก็เยอะ ตีตั๋วไประดับฟุตซอลโลกระดับขาประจำเสมอมา

 

แต่คำถามคือทำไมหนนี้พวกเขาถึงตกรอบแรกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้ ? ชาติที่เมื่อได้เดินหน้าแล้วไม่เคยถอยหลัง เจอความผิดพลาดตรงไหน ?

ติดตามที่ MainStand 

 

ญี่ปุ่นเก่งฟุตซอลได้อย่างไร ? 

ประการแรกเลยฟุตซอลมีต้นกำเนิดมาจากประเทศแคนาดา โดยเริ่มต้นมาจากอากาศที่หนาวเหน็บจนต้องมาเตะฟุตบอลในโรงยิม และมีการปรับชื่อมาเป็นฟุตซอล ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่าฟุตซอลเกิดขึ้นในช่วงปี 1854  แต่แน่นอนว่าประเทศที่เอาฟุตซอลไปฮิตที่สุดคือ "บราซิล" 

บราซิลเป็นประเทศที่ว่ากันว่าทุกคนเตะฟุตบอลเป็น จริงอยู่ที่มันไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด อาจจะเป็นการเปรียบเทียบแบบภาพกว้าง ๆ ถึงความนิยมในกีฬาฟุตบอลของที่นั่น 

อย่างไรก็ตามด้วยประเทศบราซิลเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมาก และยังเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ และเป็นชุมชนแออัด ดังนั้นมันจึงยากที่พวกเขาจะมีการแข่งขันฟุตบอลสนามใหญ่ระดับ 11 คน เนื่องด้วยเรื่องของการลงทุนด้านต่าง ๆ ทั้งสนาม อุปกรณ์ บุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวก แต่ในทางกลับกันแพสชั่นด้านฟุตบอลกลับไม่ลดลง 

ดังนั้นรูปแบบการเล่นจึงออกมาเป็นแนวสตรีทฟุตบอล หรือฟุตซอล ที่ใช้คนน้อยกว่า จัดการแข่งขันง่ายกว่า และลงทุนน้อยกว่า ซึ่งสตรีทฟุตบอลหรือฟุตซอลนั้นถือเป็นเหมือนกับเวทีแรก ๆ ให้กับเด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะพื้นฐานต่าง ๆ และใครเก่งจริง ก็จะได้ต่อยอดไปเล่นในฟุตบอลระดับที่สูงกว่าในอนาคต โดยนักเตะทีมชาติบราซิลหลายคนก็ผ่านฟุตซอลมาด้วยกันทั้งนั้นก่อนที่จะไปเล่นฟุตบอลในช่วงอายุที่มากขึ้น อาทิ โรนัลดินโญ่, เนย์มาร์ และ วินิซิอุส จูเนียร์  

ความนี้มันเกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่น ? ประการแรกเลยคือญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับบราซิลมาโดยตลอด ตั้งแต่รัชสมัยเมจิ (1868-1912) ไล่เรียงเรื่อยมาจนปัจจุบัน บราซิล เป็นประเทศที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก(นอกจากญี่ปุ่น) ด้วยจำนวนถึง 1.5 ล้านคน  เมื่อมันเป็นเช่นนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันระหว่าง 2 ประเทศมากมาย และฟุตซอลก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

ญี่ปุ่นมีสมาพันธ์ฟุตซอลเป็นของตัวเองตั้งแต่ยุค 80s และวัฒนธรรมฟุตซอลของพวกเขาก็เติบโตไปพร้อม ๆ กับฟุตบอล คล้าย ๆ กับที่ บราซิลเป็น ที่ใช้เป็นการแข่งขันเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้มีการฝึกทักษะพื้นฐาน เพื่อต่อยอดไปเล่นบอล 11 คน ที่ตอบโจทย์กว่าในบั้นปลาย

วงการฟุตซอลญี่ปุ่นทำทุกทางเพื่อพัฒนา อย่างที่บอกเมื่อสหพันธ์ของพวกเขาแยกตัวเป็นเอกเทศ การพัฒนาและการจัดสรรงบประมาณจึงทำได้ง่าย มีลีกฟุตซอลระดับอาชีพที่ดึงนักเตะชื่อดังจากทั่วโลกโดยเฉพาะบราซิลมาเล่นที่นี่หลายคน และบางคนก็ถึงขั้น "โอนสัญชาติ" ติดทีมชาติญี่ปุ่นเลย ก็มี อาทิ อาตูร์ นักเตะทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตซอลโลกปี 2008 ที่ โอนมาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่น ในฟุตซอลโลกปี 2021 ที่ ลิธัวเนีย มาแล้ว

"ถ้าถามว่าญี่ปุนไปถึงระดับโลกหรือยัง ผมคิดว่ายังพูดแบบนั้นได้ไม่เต็มปาก ญี่ปุ่น ยังห่างจากชาติระดับหัวแถวอย่าง บราซิล, อาร์เจนติน่า, สเปน, โปรตุเกส, รัสเซีย, สเปน อยู่พอสมควร แต่ใช่ว่าจะไม่มีแววไล่ตามทัน"

"ฟุตซอลของญี่ปุ่นตอนนี้ก้าวหน้าขึ้นมาก มีการให้ความสำคัญมีการสนับสนุนจากรัฐบาลและเอกชน ทุกวันนี้ผมคิดว่าระดับของฟุตซอลญี่ปุ่นมีสมดุลมากขึ้น .. คนญี่ปุ่นรักกีฬาฟุตบอล เช่นเดียวกันกับฟุตซอล มันกำลังเติบโตต่อเนื่องขึ้นทุกปี จุดแข่งของการพัฒนาคือคนญี่ปุ่นกระตือรือร้น ชอบจะเดินไปข้างหน้าและมีความรักชาติมาก ๆ ถ้าได้เล่นเพื่อชาติพวกเขาจะทุ่มเทกันสุดขีด 100%" 

อย่างไรก็ตามปกติแล้วถ้าญี่ปุ่นตั้งหลักได้แล้วพวกเขาจะเดินไปข้างหน้าเสมอ ... แต่กับฟุตซอล ทำไมไม่เป็นแบบนั้น ? 

 

ก่อนฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024

อย่างที่หลายคนรู้กันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024 หนนี้ เป็นเหมือนการหาตัวแทนไปเล่นฟุตซอลโลกที่ประเทศอุซเบกิสถานด้วย โดยทีมชาติญี่ปุ่นได้กลับมาใช้โค้ชญี่ปุ่นอีกครั้งก่อนทัวร์นาเม้นต์เริ่ม 1 ปี ด้วยการแต่งตั้ง เคนอิจิโระ โคกุเระ ที่เคยเป็นอดีตผู้ช่วยของโค้ช บรูโน่ การ์เซีย ในชิงแชมป์โลกปี 2021 

ในวันที่รับตำแหน่ง โคกุเระ ให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะผ่านเข้ารอบชิงแชมป์เอเชีย วางเป้าไปถึงแชมป์ เพื่อตีตั๋วไปฟุตซอลโลกโดยอัตโนมัติ  

"พวกเราตั้งเป้าจะพาทีมชาติญี่ปุ่นไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตซอลโลก" โคกุเระ กล่าว

"สิ่งที่เราจะต้องแก้ไขเพื่อไปให้ถึงจุดนั้นคือเรื่องของการเล่นเกมรับเวลาที่เจอกับคู่แข่งที่เก่งกว่า เราจะเล่นเกมบุกให้เร็วขึ้น และสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยคือเราจะคัดเลือกนักเตะหนุ่ม ๆ เลือกใหม่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมชุดนี้"  ... และคีย์เวิร์ดของความล้มเหลวอยู่ที่คำว่า "เลือดใหม่" 

โคกุเระ สัมภาษณ์ก่อนการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียมาตลอดว่า พวกเขาค่อนข้างมั่นใจกับการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ว่าอย่างน้อยจะต้องเข้ามาเป็น 1 ใน 4 ได้ ดังนั้นจึงมีการพยายามหานักเตะใหม่มาลงเล่นตลอดช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ระยะยาวไปด้วย 

โคกุเระ เรียกนักเตะอายุน้อยมาจริงตามคาด เขาเอาลงเล่นเกมกระชับมิตรที่แพ้ บราซิล 1-5 แต่เขาบอกหลังเกมว่าเขาไม่ติดใจเรื่องแพ้เลย เพราะนักเตะแสดงทัศนคติที่ดีออกมา และการแพ้จะเป็นการเสริมกระดูก ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ญี่ปุ่น เชิญอาร์เจนติน่า มาอุ่นเครื่อง และจบลงด้วยผลเสมอ ซึ่งนั่นทำให้ โคกุเระ ชื่นชมนักเตะหนุ่มเลือดใหม่หลายคน ทำผลงานได้ดี 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตซอลญี่ปุ่นอย่าง ทาเคโอะ โกโตะ คอลัมนิสต์ของ jsports ระบุเมื่อ 1 ปีก่อนว่า เขายังค่อนข้างเป็นห่วงทีมชุดนี้ เพราะการเสมอ อาร์เจนติน่า อาจจะเป็นภาพลวงตา เพราะ อาร์เจนติน่า เอาผู้เล่นชุดที่ 2 มา อีกทั้งยังเดินทางโดยใช้เวลาเดินทาง เปลี่ยนไฟต์ รวม 30 ชั่วโมง และลงเล่นหลังได้พักเพียง 2 วัน  

"ผมไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นจะทานทนกับทีมระดับโลกไหวหรือไม่เมื่อการแข่งขันจริงมาถึง เรากำลังเปลี่ยนถ่ายเจเนอเรชั่น ใช้โค้ชในประเทศ และตั้งเป้าไว้ไกลมาก เราคงต้องไปวัดกันในฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งต่อไป"  

ซึ่งการเปลี่ยนเลือดใหม่มาใช้ในฟุตซอลชิงแชมป์เอเชียก็ทำให้คำถามนี้ได้คำตอบ ไม่ต้องรอให้ถึงฟุตซอลโลกเลยทีเดียว 

 

เมื่อทุกชาติเก่งขึ้น ต้องวิเคราะห์กันใหม่ 

การผลักดันนักเตะเลือดใหม่ ๆ ในระดับเอเชียถือเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมาเสมอ พวกเขาทำแบบนี้กับฟุตบอลชาย ที่ให้เยาวชนแบกอายุเล่นในรายการระดับทวีป หรือบางครั้งก็ไม่เรียกนักเตะที่ดีที่สุดมา เพราะต้องการเปิดโอกาสเพื่อหาเพชรเม็ดใหม่ ๆ ซึ่งในเอเชี่ยน คัพ 2024 ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าเรื่องมันเกินคาดของพวกเขาไปหน่อย 

อย่างที่รู้กันว่าฟุตซอล คือกีฬาที่เตรียมตัว เตรียมการ เตรียมทีม ได้ง่ายกว่าฟุตบอล อีกทั้งหากมองในแง่เหรียญรางวัลฟุตซอลคือโอกาสของชาติที่ไม่ได้เก่งฟุตบอลมาก ได้ใช้ฟุตซอลพัฒนาแบบไต่ระดับ ยกตัวอย่างเช่นหลาย ๆ ชาติในเอเชีย ที่ฟุตบอลไม่เคยได้เฉียดฟุตบอลโลกเลย แต่กับฟุตซอลที่มีคู่แข่งน้อยกว่า ความเข้มข้นในการแข่งขันน้อยกว่า กลับไปถึงศึกชิงแชมป์โลกได้เป็นประจำ 

เอาแค่ในอาเซียนก็พอจะรู้ได้ว่าทีมในอาเซียนเก่งฟุตซอลขึ้นมาก สัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างชัดเจนของวงการฟุตซอลอาเซียนคือการเข้าสู่เวทีฟุตซอลชิงแชมป์โลกของ ทีมชาติเวียดนาม ในปี 2016 และพวกเขาก็ยังคงรักษาระดับของตนไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นทีมขาประจำในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ฟุตซอลไทย ไม่ได้เป็นทีมระดับโลกเพียงทีมเดียวในภูมิภาคอาเซียนอีกต่อไป

อินโดนีเซีย ถือเป็นอีกทีมที่พัฒนาตัวเองได้ดีเช่นเดียวกัน แม้จะยังไม่มีโอกาสได้ลงเล่นในฟุตซอลชิงแชมป์โลกเหมือนไทยกับเวียดนาม แต่ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2022 ที่ผ่านมา พวกเขาสามารถเสมอทีมชาติไทยได้ทั้ง 2 แมตช์ ก่อนจะแพ้จุดโทษในนัดชิงชนะเลิศ นี่แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานที่แม้แต่ญี่ปุ่นก็ประมาทไม่ได้เลย 

ขนาดประเทศในอาเซียนที่พื้นฐานฟุตบอลไม่ได้ดีมากยังพัฒนาฟุตซอลได้เร็วขนาดนี้ ชาติอื่น ๆ ในเอเชียก็ไม่น้อยหน้าและญี่ปุ่นก็ได้รู้จริง ๆ เมื่อพวกเขาลงเล่นใน เอเชี่ยน คัพ 2024 และแพ้ให้กับ คีร์กีซสถาน 2-3 , ชนะ เกาหลีใต้ 5-0 และ เสมอ ทาจิกิสถาน 1-1  ทำให้ญี่ปุ่น ตกรอบแรกศึกชิงแชมป์เอเชียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

โคกุเระ สัมภาษณ์หลังเกมเสมอ ทาจิฯ ที่ทำให้พวกเขาตกรอบว่า "มันเป็นเรื่องของประสบการณ์และระดับของการแขงขัน ทีมของเรายังฉวยประโยชน์ในความผิดพลาดของคู่แข่งได้ไม่ดีนัก นั่นคือความจริง ทีมชุดนี้ยังขาดเรื่องความเด็ดขาด และการรีดฟอร์มให้ข้ามขีดจำกัดของตัวเองอยู่" 

"ในเอเชี่ยน คัพ รอบที่แล้ว เราก็ผ่านรอบคัดเลือกมาอย่างยากลำบากมาก ๆ ดังนั้นเราจึงรู้ว่าเราจะไม่ผ่านเข้ารอบในครั้งนี้ได้ง่าย ๆ แน่นอน เราจะต้องเอาความผิดพลาดทั้งหมดมาวิเคราะห์และพูดกันมากกว่านี้ มากยิ่งกว่าการหาข้อแก้ตัว"

"ผมไม่อยากแก้ตัวว่าเราไม่มีนักเตะอย่าง อาตูร์ หรือ ชิมิสึ คาซึยะ ที่เคยเป็นตัวหลักของเรา เพราะผมได้เลือกนักเตะที่เก่ง ๆ มารวมกันทั้ง 17 คน ผมพยายามจะทำให้พวกเขามีประสบการณ์ในการเป็นผู้ชนะ แต่มันไม่เป็นแบบนั้น... แต่ผมขอย้ำไว้เลยว่าการพ่ายแพ้ครั้งนี้จะไม่ทำให้กระบวนการพัฒนาที่เราทำมาตลอดต้องพังทลายลง" โคกุเระ ว่าแบบนั้น ... ทำไมเขาถึงมั่นใจ ? 

โทกุเระ เล่าต่อว่าทีมญี่ปุ่นจริงจังกับแผนการพัฒนาฟุตซอลมาตลอด โดยในช่วง 8 ปีที่เขาทำงานกับทีมชาติ ทุกอย่างก็ดีขึ้นมาเสมอ จะผิดพลาดก็เพียงแต่การประเมินคู่แข่งที่ผิดพลาดในการแข่งขันครั้งนี้   เพราะฐานที่พวกเขาได้ทำไว้ แข็งแกร่งเกินกว่าจะล้มจากความผิดหวังเพียงรายการเดียว 

"ก่อนทัวร์นาเม้นต์นี้จะเริ่ม ญี่ปุ่นมีฟุตซอลลีกอาชีพของทั้งทีมชายและทีมหญิง เรามีโครงการที่พัฒนาโค้ชท้องถิ่น และการมีลีกที่ขยายวงกว้างก็ทำให้พวกเขาได้มีประสบการณ์ในการทำงานจริง เช่นเดียวกันกับระดับความลึกของลีกที่ลงลึกกว่าเดิม (มีดิวิชั่นการแข่งขันมากขึ้น) ก็จะทำให้นักเตะได้เวทีในการพัฒนาตัวเอง และแสดงทักษะของเขาออกมา"

"พวกเขาจะโตขึ้นและจะชนะได้ อย่างไรก็ตามสิ่งทีต้องยอมรับคือความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากความสามารถที่ไม่มากพอสำหรับครั้งนี้เท่านั้น มันไม่ได้ล่มสลายสำหรับสิ่งที่ทำมา ญี่ปุ่นจะพยายามให้มากขึ้น มองกลับไปที่ความพ่ายแพ้ และวิเคราะห์มันอย่างละเอียด... นี่คือแนวทางของเรามาเสมอ"

สำหรับทีมชาติญี่ปุ่น ถ้าได้เริ่มแล้วพวกเขาไม่เคยหยุด การพ่ายแพ้ครั้งนี้อันที่จริงแล้วมันก็ส่งผลเสียหายเพราะมันทำให้พวกเขาไม่ได้ไปเล่นฟุตซอลโลก แต่อย่างน้อยมันก็เป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญว่า ณ ตอนนี้ความเข้มข้นในเวทีฟุตซอลไม่ว่าจะในระดับโลกหรือในระดับทวีปได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เรายังไม่รู้ว่าพวกเขาจะแก้ไขตรงนี้อย่างไร แต่อย่างที่บอก พวกเขาจะมองย้อนกลับไปที่ความผิดพลาด และวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อกลับมาให้แข็งแกร่งกว่าเดิม 

ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น ... พวกเขาผิดหวังครั้งนี้ แต่ใครล่ะจะกล้ากาชื่อพวกเขาทิ้งและบอกว่าพวกเขาไม่ใช่ทีมระดับแถวหน้าของเอเชียอีกต่อไป ? 

 

แหล่งอ้างอิง

https://tokyofox.net/2023/03/22/my-first-time-to-watch-futsal-in-japan-but-will-it-be-my-last/
https://inside.fifa.com/news/arthur-japanese-people-are-very-passionate-so-patriotic
https://futsalfeed.com/original-content/futsal-talks-with-steve-harris-asias-no-1-futsal-fanatic
https://www.dazn.com/ja-JP/news/%E3%83%95%E3%83%83%E3%83%88%E3%82%B5%E3%83%AB/20221003-futsal-asiacup-japan-review/1s7nld00rn4oq1l1sy5cs790dc
https://news.yahoo.co.jp/articles/5c783e6ec16dc0bf240189c7f97bd27a50628213?page=2
https://news.jsports.co.jp/football/article/20190310226290/?p=4
https://www.soccer-king.jp/news/japan/national/20240423/1884037.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ