Feature

มองโลกแบบมิดฟิลด์จอมทัพ : ทำไมอดีตกองกลางจึงมีโอกาสเป็นยอดโค้ชเมื่อแขวนสตั๊ด ? | Main Stand

เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กับ แมนฯ ซิตี้ , มิเกล อาร์ตต้า กับ อาร์เซน่อล , ชาบี อลอนโซ่ กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น, มิเชล กับ จิโรน่า, รูเบน อโมริม กับ สปอร์ติ้ง ลิสบอน, ธิอาโก้ ม็อตต้า กับ โบโลญญ่า ... นอกจากพวกเขาจะพาทีมลุ้นแชมป์ในลีกของตัวเองแล้ว พวกเขายังมีอะไรเหมือนกันอีกบ้าง ? 

 

เฉลย ... สิ่งที่เหมือนกันคือ "ปูมหลัง" ทั้ง 5 คนนี้เคยเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์มาก่อนสมัยที่ยังเป้นนักเตะ และยังเป็นมิดฟิลด์ประเภท "จอมทัพ" หรือ "ห้องเครื่องของทีม" อีกด้วย 

ในโลกที่กุนซือระดับแถวหน้าผลัดใบ กุนซือหน้าใหม่ขึ้นมาสร้างชื่อมากมายหลายคน น่าแปลกที่กุนซือหนุ่มเหล่านี้ต่างเคยเป็นจอมทัพมาทั้งสิ้น ... นี่มันเรื่องบังเอิญหรือเปล่า หรือมันเกี่ยวข้องกันตรงไหน ? 

MainStand จะพาไปหาคำตอบเรื่องนี้ 

 

นักเตะที่ใช้ความคิดมากที่สุดในสนาม 

นักเตะในตำแหน่งกองกลางในโลกฟุตบอล คือ 1 ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในสนาม ไรนุส มิสเชล อดีตตำนานกุนซือของ เนเธอร์แลนด์ ชุดที่เรียกว่า "โททัล ฟุตบอล" หรือฟุตบอลที่นักเตะทั้งทีมสลับตำแหน่งกันได้ตลอดเวลาตามจังหวะเกม ยังเคยออกมาพูดว่าต่อให้เป็นโททัลฟุตบอลของเขา ก็ต้องมี "กระดูกสันหลังของทีม" 4 ตำแหน่ง ได้แก่ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ, กองกลางตัวรับ, กองกลางตัวรุก และ กองหน้าตัวจบสกอร์

เขาอธิบายเพิ่มว่านักเตะที่กระดูกสันหลังของทีม 4 ตำแหน่งจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อเกมในสนาม เป็นนักเตะที่ "ยอดทีม" ต้องมี เพราะ 4 ตำแหน่งนี้ทำให้เกมมีประสิทธิภาพ และช่วยคนอื่น ๆ ในทีมได้มากเป็นพิเศษ 

กองหลังที่เก่ง จะทำให้คุณมีเกมรับที่มั่นคงแน่นอน, กองกลางตัวรุกที่เก่ง จะทำให้คุณสร้างสรรค์โอกาสจากสมองและฝีเท้าของพวกเขา และ กองหน้าที่เก่งจะ ช่วยเปลี่ยนจังหวะที่มีแม้จะน้อยนิดก็สามารถทำให้เป็นประตูได้ 

และ 1 ตำแหน่งคือกองกลางตัวรับ หรือที่เราเรียกว่า "ห้องเครื่อง" ก็มีความสำคัญต่อทีมที่แตกต่างออกไป ห้องเครื่องคือคนทำให้เกมรับกับเกมรุกเชื่อมต่อถึงกัน พวกเขาจะไปรับบอลมาจากกลุ่มนักเตะเกมรับ และส่งต่อให้นักเตะเกมรุกเอาไปหน้าที่ต่อ 

งานของจอมทัพยังไม่จบแค่นั้นคือเมื่่อทีมต้องเล่นเกมรับ พวกเขาจะต้องใช้ทักษะการคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าในการไปช่วยเอาบอลกลับมาให้ได้ และเมื่อทีมได้บอลจะเปลี่ยนจากเกมรับเป็นเกมรุกบอลจะต้องผ่านที่พวกเขาเป็นหลัก ทั้ง สายตา ฝีเท้า สมอง และพละกำลัง ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับห้องเครื่องหรือจอมทัพแบบสุด ๆ 

ด้วยทักษะที่ใช้แทบรอบด้านนี้ ทำให้นักเตะตำแหน่ง ห้องเครื่องนั้น สัมพันธ์กับทั้งเกมรับและเกมรุก ถ้าห้องเครื่องไม่เก่ง คุณก็จะครองบอลไม่ได้ ขึ้นเกมบุกไม่ได้ เสี่ยงต่อการโดนปูพรมบุกใส่ฝ่ายเดียว ... ว่าง่าย ๆ คือพวกเขาเป็นคนที่เห็นภาพรวมของเกมทั้งหมด มากกว่าแค่การตั้งรับไม่ให้โดนยิง หรือการทำประตูแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

"ปกติแล้วกองกลางตัวรับเป็นตำแหน่งที่เหมาะกับคนที่มีมุมมองกว้างไกล นักเตะที่เล่นตำแหน่งนี้ต้องมีวิสัยทัศน์ระหว่างแข่งขัน อ่านจังหวะเกมในสนามตลอด" เป๊ป กวาร์ดิโอล่า อดีตกองกลางของ บาร์เซโลน่า และทีมชาติสเปน ที่ปัจจุบันถูกเรียกว่ากุนซือที่เก่งที่สุดในโลกกับ แมนฯ ซิตี้ อธิบายเรื่องนี้ 

"นักเตะในตำแหน่งกองกลางตัวรับ(หรือทีเรียกกันว่า โฮลดิ้งมิดฟิลด์) มองเกมอย่างรอบด้านและรอบคอบ แตกต่างกับตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ถ้าคุณเป็นกองหน้าคุณต้องพยายามคิดที่จะหาวิธียิงประตูให้ได้ ถ้าคุณเป็นผู้รักษาประตูก็ต้องพยายามคิดหาวิธีป้องกันประตู ... โฮลดิ้งมิดฟิลด์นั้นแตกต่างออกไปเลย"

"กองกลางตัวรับเรียนในบทเรียนที่แตกต่าง แบบที่คุณอาจจะไม่ได้ศึกษาจากหลักสูตรอย่างเดียวเท่านั้น ทุกอย่างมันแทบจะติดมาอยู่กับตัวและต้องซึบซับผ่านประสบการณ์จริง ...คุณหาเรียนเพิ่มในหลักสูตรไหนไม่ได้" เป๊ป ว่าแบบนั้น 

สิ่งที่ เป๊ป บอก น่าจะเคลียร์ที่สุดเท่าที่จะยกตัวอย่างได้ ... ห้องเครื่องมองเกมในุมมมองที่แตกต่าง คาดการณ์ล่วงหน้า มองตัวประกบของตัวเองเพื่อช่วยทีมเล่นเกมรับ เช็คตำแหน่งของเพื่อนร่วมทีมรอบตัวเพื่อให้ออกบอลได้เปรียบที่สุดในเวลาที่ได้บอล อ่านจังหวะเกมจังหวะไหนควรช้า จังหวะใดควรเร็ว นี่คือสิ่งที่โฮลดิ้งมิดฟิลด์ หรือจอมทัพในทีมต้องคิดพร้อม ๆ กันคราวเดียว ดังนั้นการมีห้องเครื่องที่เก่ง ก็เหมือนกับคุณมีโค้ชอีกคนอยู่ในสนาม เขาจะทำให้ทีมสมดุลแบบที่ตำแหน่งอื่นไม่สามารถมอบให้คุณได้

เมื่อคุณต้องเป็นกองกลางที่เล่นฟุตบอลแบบใช้สมองวิเคราะห์เกมตั้งแต่ยังค้าแข้ง สิ่งเหล่านี้มันจะส่งผลในอนาคต เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสัญชาติญาณติดตัว แน่นอนว่าเมื่อวันหนึ่งพวกเขากลายเป็นโค้ช DNA ของมิดฟิลด์เหล่านี้ก็จะติดตัวพวกเขาไปด้วย 

 

ฟุตบอลยุคใหม่ต้องการทั้งรับและรุก

คุณอาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องที่คิดกันเล่น ๆ และอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เรายกเอาแต่ชื่อโค้ชที่ประสบความสำเร็จที่มาจากนักเตะตำแหน่งกองกลาง ... แต่สิ่งหนึ่งที่แม้ผู้เขียนเห็นเองก็ยังไม่อยากจะเชื่อคือ โค้ชฟุตบอล กว่าครึ่งหนึ่งของ "โลกฟุตบอล" ... เคยเป็นนักเตะตำแหน่งกองกลางมาก่อนสมัยตอนพวกเขายังค้าแข้งอยู่ 

CIES Football Observatory ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ทางสถิติในฟุตบอล เก็บข้อมูลและเปิดเผยในช่วงปลายปี 2022 ว่า จาก ทีม 1,866 ทีมจาก 126 ลีกใน 89 ประเทศทั่วโลก มีเฮ้ดโค้ช ที่เป็นอดีตนักเตะกองกลางถึง 42.4% โดยมีนักเตะตำแหน่งกองหลังเข้ามาเป็นอันดับสองที่ 34.5% 

ข้อมูลจากทั่วโลกบอกเราแบบนั้น ส่วนเหตุผลนั้นก็มีมากมายหลายแบบ แต่ที่แน่ ๆ คือ ธรรมชาติของกองกลางกับ กับธรรมชาติของเฮ้ดโค้ช ในการมองเกมนั้นคล้าย ๆ กัน นั่นคือการมองภาพรวม การเชื่อต่อกันระหว่างเกมรับ สู่เกมรุก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก คัลลัม เอลลิส นักวิเคราะห์ของพรีเมียร์ลีก ที่บอกว่่า กองกลางกับเฮ้ดโค้ชนั้น นอกจากจะเหมือนกันในแง่การมองภาพรวมของเกมแล้ว พวกเขายังต่อมีสภาวะทางจิตใจ หรือความสงบ คล้าย ๆ กันอีกด้วย 

"กองกลางคือตำแหน่งที่เล่นยากที่สุดในสนาม เพราะมีความรับผิดชอบมากมาย พวกเขาเหมือนโค้ชที่ลงเล่นในสนามเพราะต้องคอยสื่อสารกับเพื่อนอยู่คลอด และในขณะเดียวพวกเขาเองต้องสภาวะทางจิตใจที่นิ่ง สงบสติอารมณ์ให้ดีภายใต้การโดนคู่แข่งรุมกัดดันจากรอบตัวในเวลาที่พวกเขาได้บอล พวกเขาต้องคอยคิดหาทางออกในช่วงเวลาที่หน้าสิ่วหน้าขวาน ซึ่งนี่ก็เป็นคุณสมบัติที่คล้าย ๆ  กับโค้ชในเกมฟุตบอลระดับสูงต้องมี" 

เช่นเดียวกับงานวิจัยของ โดมินิก เฮย์เนส โค้ชอคาเดมี่ที่ได้รับใบอนุญาต A ไลเซ่นส์ของยูฟ่า ที่อธิบายเพิ่มเติมว่าการที่กองกลางกลายเป็นโค้ชมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ คือเทรนด์ของโลกฟุตบอลด้วย 

ณ ปัจจุบัน ฟุตบอลในแบบที่อุดประตู ตั้งรับลึก เล่นแบบตีหัวเข้าบ้าน แทบไม่จะเป็นฟุตบอลที่ตกเทรนด์ไปแล้ว ฟุตบอลแบบโยนยาววัดดวง อาจจะยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่ไม่มีทีมใหญ่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จใช้แนวทางนี้ … มันแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไป 

ยุคนี้แค่ผลการแข่งขันอาจจะไม่พอ …เพราะวิธีการเองก็สำคัญไม่แพ้กับผลลัพธ์เลย 

แน่นอนว่าเกมรับคือสิ่งสำคัญ แต่ในเทรนด์ของยุคใหม่ เกมรับ คือภาคบังคับที่ทุกทีมต้องมีอยู่แล้ว มันคือพื้นฐานที่ไม่ได้พิเศษมากเหมือนฟุตบอลสมัยกันก่อนอีกแล้ว 

เพราะทีมหรือโค้ชที่จะประสบความสำเร็จต้องตอบให้ได้ว่า "ตั้งรับเสร็จเเล้วยังงไงต่อ?" จะเล่นเกมรุกยังไง ? ซึ่งอย่างที่บอกเรื่องนี้กองกลางทุกคนเรียนรู้มาทั้งชีวิตของพวกเขา หน้าที่ของพวกเขาคือเปลี่ยนรับเป็นรุก เปลี่ยนรุกเป็นรับ 

ทีมเล็กในปัจจุบันต่อให้พวกเขาไม่ครองบอล พวกเขาก็ยังต้องเล่นเกมรุกที่รวดเร็วเฉียบคม หลับตาแล้วนึกภาพการเล่นเล่นสวนกลับแบบสายฟ้าแล่บ ในแบบที่ทีมอย่าง ลูตัน เล่น ณ ตอนนี้ พวกเขาเป็นทีมที่มีคุณภาพนักเตะไม่ดีนัก เก็บแต้มได้ไม่เยอะ แต่การเล่นแบบเป็นทีม ตัดบอลจากเกมรับแล้วเล่นสวนกลับถือเป็นอาวุธที่ ลูตัน ยิง 4 ประตูใส่ นิวคาสเซิล, ถล่ม ไบรท์ตัน 4-0, ยิง อาร์เซน่อล ได้ 3 ประตู, ตีเสมอ ลิเวอร์พูล จากเกมสวนกลับในแบบที่แฟนหงส์จำไม่ลืมในซีซั่นนี้ 

ไบรท์ตัน ของ โรแบร์โต้ เด แซร์บี้ อดีตกองกลางชาวอิตาลี ก็เป็นทีมที่พยายามใช้การครองบอล บีบคู่แข่งสูง โจมตีคู่แข่งด้วยการต่อบอล ทั้ง ๆ ที่คุณภาพนักเตะของพวกเขาอาจจะไม่ได้ดีมาก … แต่เขาบอกว่าที่เขาทำทีมที่เน้นการครองบอล เพราะเขาทำทีมสไตล์อื่นไมไ่ด้ มันคือ DNA และแนวทางการเล่นฟุตบอลที่เขาสัมผัสมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน 

มองไปที่ทีมแถวหน้าของโลกนอกจากจะทำประตูได้แล้ว ยังต้องเพิ่มฟังค์ชั่นของการครอบครองบอลและการผ่านบอลที่มีประสิทธิภาพ มีการเข้าทำที่หลากหลาย ครบเครื่องมากขึ้นไปอีก … แมนฯ ซิตี้ ใส่เขบ็ด 3 ชั้นในการเข้าทำแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่การส่งบอลตามแพทเทิร์น แต่พวกเขามีตัวสอด ตัวทะลุ ขยับพื้นที่ตลอดจนแทบเดาทางไม่ได้ว่าบอลจะไปลงจังหวะสุดท้ายที่ใคร  นี่คือตัวอย่างชัด ๆ ของเรื่องนี้ 

ดังนั้นจะมีนักเตะตำแหน่งไหนที่ขึ้นชื่อเรื่องการครองบอล ผ่านบอล และสร้างสรรค์โอกาสการเข้าทำได้มากที่สุดมากกว่านักเตะตำแหน่งกองกลาง ... แน่นอนว่าเมื่อพวกเขาเป็นโค้ช พวกเขามีประสบการณ์ตรงมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี 

"นักเตะตำแหน่งมิดฟิลด์คือผู้เล่นที่มีเทคนิครอบด้านที่สุด รับแรงกดดันมหาศาล เราจะได้เห็นว่านักเตะตำแหน่งนี้เป็นกัปตันทีมมากที่สุด พวกเขาคือนักเตะที่มีความรับผิดชอบ และมีความเป็นผู้นำมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ" เฮย์เนส กล่าวเริ่ม 

"ในวันนี้โลกฟุตบอลเปลี่ยนไปยังเทรนด์ใหม่ สมาคมฟุตบอลทั่วโลกกำลังให้ความรู้และสอนหลักสูตรกับโค้ชรุ่นใหม่เกี่ยวกับเรื่องเกมรุก และอ้างอิงไปยังการครอบครองบอล ... จะมีนักเตะตำแหน่งไหนเพลิดเพลินกับแนวคิดแบบนี้มากกว่ากองกลางอีกล่ะ ?" 

โดยสรุปของเรื่องนี้คือกองกลางระดับจอมทัพหรือห้องเครื่องมีทักษะพื้นฐานที่ตอบโจทย์ต่อเทรนด์ฟุตบอล ณ ปัจจุบัน ในขณะที่นักเตะตำแหน่งอื่น ๆ อาจจะต้องเริ่มนับ 1 กันใหม่ กลับกลายเป็นว่าเหล่าจอมทัพทั้งหลายที่กลายเป็นโค้ชมีวิสัยทัศน์นี้ติดตัวมาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงได้เปรียบ และต่อยอดไปพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้เร็วกว่า ทีมของพวกเขาจึงมีวิธีการเล่นที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพได้ง่ายกว่า... 

แน่นอนว่ามันไม่เสมอไปและไม่ใช่ Fact ที่ชัดเจน 100% เพราะการเป็นเฮ้ดโค้ชที่ดีและประสบความสำเร็จได้มันไม่ใช่แค่เรื่องของแท็คติก การอ่านเกม เพียงอย่างเดียว มันยังรวมถึงการบริหารจัดการคน การสื่อสารลูกทีม การวางแผนการบริหาร หรือการทำงานร่วมกับผู้บริหาร รวมอยู่ด้วย ... ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่ไม่ว่าจะอดีตนักตำแหน่งไหนก็เรียนรู้กันใหม่แทบทั้งหมด เพราะการเป็นโค้ชแตกต่างกับการเป็นนักเตะมากพอสมควร 

อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดที่น่าสนใจ ในการมองว่านักเตะคนไหนมีแววที่จะกลายเป็นโค้ชที่ดีได้ในอนาคต 

 

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนวันนั้นมาถึง 

สิ่งที่น่าสนใจคือนักเตะกองกลางที่เป็นโค้ช ณ ปัจจุบันหลายคนถูกมองว่า "จะก้าวขึ้นมาเป็นโค้ชที่ดีได้" จากนิสัยของเขาตั้งแต่สมัยยังค้าแข้ง 

ยกตัวอย่างคือ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่โค้ชสมัยทีมเยาวชนของ ลา มาเซีย บอกว่าเป็นคนที่ยอดมมองเกมจากข้างสนาม และตั้งใจศึกษาวิธีเล่นของนักเตะตำแหน่งที่หลากหลาย คลั่งไคล้ในเกมของแท็คติกมาตั้งแต่เด็ก สิ่งเหล่านี้สะท้อนมาในวันที่เขาเป็นกุนซือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก 

ตัวอย่างที่ 2 คือ ชาบี อลอนโซ่ ที่ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่เคยเป็นโค้ชของเขาสมัยเป็นนักเตะของ เรอัล มาดริด บอกว่า อลอนโซ่ มีความเป็นเฮ้ดโค้ชตั้งแต่ยังค้าแข้ง เพราะ เล่นฟุตบอลในหลายประเทศ เป็นนักเตะที่เข้าหาโค้ชโดยตรง ทำงานกับโค้ชที่มีชื่อเสียงทั้ง เป๊ป, อันเล็อตติ, ราฟา เบนิเตซ แล มูรินโญ่ เอง  เพื่อมองฟุตบอลให้ลึกขึ้นกว่านักเตะทั่วไป 

ตัวอย่างสุดท้ายคือ มิเกล อาร์เตต้า ที่เคยโดน อาร์แซน เวนเกอร์ มองว่ามีคุณสมบัติจะเป็นโค้ชตั้งแต่ยังไม่แขวนสตั๊ด เพราะชอบสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม มีความเป็นผู้นำ และทำหน้าที่หมือนกับโค้ชในสนามได้  

จาก 3 ตัวอย่างที่กล่าวมา เราจะบอกได้ว่านอกเหนือจากการเป็นกองกลางมาก่อน คือการใฝ่เรียนรู้ และมีความ "คลั่งไคล้" ในเกมของแท็คติกและกลยุทธ์ สิ่งต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นนักเตะตำแหน่งไหนก็เริ่มเรียนรู้ได้ทั้งนั้นหากพวกเขาอยากเป็นโค้ช 

แต่ก็อยากร่ายยาวเอาไว้ทั้งหมด มันจะดีกว่าหากคุณเป็นมิดฟิลด์ที่เรียนรู้ และศึกษาเรื่องกลยุทธ การบริหารจัดการคน และการสื่อสารมาตั้งแต่ยังค้าแข้ง เพราะเมื่อเอาทุกสิ่งมาประกอบกันในเทรนด์ของโลกฟุตบอลที่กำลังตอบโจทย์สำหรับกองกลางแบบที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ 

และสุดท้ายต่อให้คุณไม่เคยเป็นนักเตะกองกลาง หรือแม้กระทั่งไม่เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน ก็ใช่ว่าคุณจะไม่ประสบความสำเร็จเลยเสียทีเดียว เพราะการเป็นโค้ชนั้นไม่มีหลักสูตรตายตัว คุณถนัดแบบไหน คุณทำทีมออกมาแบบนั้น สถิติทั้งหมดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรคุณได้หากคุณคือคนที่ใฝ่รู้ มีแนวคิดที่ชัดเจนในแง่ของแท็คติกและการบริหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้คุณสามารถเป็นยอดโค้ชได้เช่นกัน ... เพียงแต่คุณต้องพยายามมากหน่อย หากเทียบกับเหล่ามิดฟิลด์มันสมองที่มีต้นทุนมากกว่า ... 

เหมือนที่โลกกำลังไล่ตามกลยุทธ์ของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า และกุนซือที่เป็นกองกลางมาก่อนอีกหลาย ๆ คนที่เราเอ่ยชื่อมาก่อนหน้านี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/blog/2022/nov/08/some-say-great-players-dont-make-great-coaches-alonso-can-prove-them-wrong
https://theathletic.com/4818506/2023/08/31/guardiola-mourinho-head-coaches-central-midfielders/
https://www.canofootball.com/articles/look-inside-mind-methods-pep-guardiola/
https://www.skysports.com/football/news/11095/11870139/pep-guardiola-says-mikel-arteta-will-be-a-manager-in-future
https://www.coachesvoice.com/coach-watch-pep-guardiola-manchester-city-barcelona-bayern-munich/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ