Feature

AFCON : เมื่อฟุตบอลคือการเมือง และเม็ดเงิน แอฟริกาจึงต้องการฟุตบอลทุก ๆ 2 ปี | Main Stand

ซาดิโอ มาเน่, วิคเตอร์ โอซิมเฮน, อองเดร โอนาน่า, อัชราฟ ฮาคิมี, โมฮัมเหม็ด คูดุส เหล่านี้คือนักเตะดังจากทวีปแอฟริกาที่กำลังฟาดแข้งกันในฟุตบอลแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ 2023 โดยมีไอวอรีโคสต์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

 

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ คือ ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับทวีปที่อยู่ในระดับเดียวกับฟุตบอลยูโร และเอเชียน คัพ แต่จัดแข่งขันทุก ๆ 2 ปี ซึ่งต่างจากทัวร์นาเมนต์อื่น ๆ ที่จัดแข่งทุก ๆ 4 ปี ทำให้รายการดังกล่าวอาจไม่ถูกใจแฟนบอลสโมสรในยุโรปมากนัก เพราะสโมสรของพวกเขาต้องเสียนักเตะให้กับทีมชาติ เป็นระยะเวลาร่วมเดือน เนื่องจากช่วงเวลาการแข่งขันตรงกับโปรแกรมลีกยุโรป

แต่เพราะอะไรทำไมแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ จึงจัดแข่งทุก ๆ 2 ปี หนำซ้ำยังชนกับโปรแกรมลีก จนกลายเป็นที่ไม่พอใจของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย แต่สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกายังยืนหยัดที่จะจัดการแข่งขันแบบเดิม 

ทุก ๆ การกระทำล้วนมีเหตุผลเสมอ แต่จะเป็นเหตุผลอะไรนั้น หาคำตอบพร้อมกันได้ที่ Main Stand

 

ถ้วยแห่งอิสรภาพ

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ (AFCON) คือ ทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ในปี 1957 ซึ่งเก่าแก่กว่าฟุตบอลยูโรที่ก่อตั้งในปี 1960 โดยเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้เพื่อให้ได้การยอมรับจากนานาชาติ ทั้งทางการเมืองและในแง่ฟุตบอล หลังจากที่หลายประเทศในทวีปแอฟริกาได้รับอิสรภาพจากการล่าอาณานิคมของเหล่ามหาอำนาจยุโรปและอเมริกาใต้  

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ สมัยแรกจึงเปรียบเสมือนการประกาศอิสรภาพของเหล่าประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ว่าในตอนนี้พวกเขามีอิสระ มีความสามารถ และศักยภาพมากพอที่จะพร้อมก้าวขึ้นสู่ระดับโลกในทุกๆ ด้าน โดยครั้งแรกในปี 1957 นั้น มี 3 ชาติเข้าร่วม คือ อียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน เจ้าภาพ ส่วนแชมป์ตกเป็นของอียิปต์

ครั้งที่สองจัดขึ้นในปี 1959 โดยมีซูดานและอียิปต์เป็นเจ้าภาพ ครั้งที่สามในปี 1962 ที่เอธิโอเปีย ต่อด้วยปี 1963 ที่กานา ปี 1965 ที่ตูนีเซีย และจัดขึ้นอีกครั้งในปี 1968 ที่เอธิโอเปียครั้ง และตั้งแต่นั้นมา AFCON ก็จัดทุก ๆ 2 ปีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจนมาถึงปี 2012 สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา (CAF) ได้เปลี่ยนปีการแข่งขันอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากปีเลขคู่เป็นเลขคี่เพื่อไม่ให้ชนกับฟุตบอลโลก AFCON ครั้งที่ 29 จึงจัดขึ้นในปี 2013 โดยมีแอฟริกาใต้ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2010 รับช่วงเป็นเจ้าภาพฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปต่อ และหลังจากนั้นก็จัดทุก 2 ปีมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ชาวแอฟริกันคลั่งไคล้ฟุตบอลไม่น้อยไปกว่าชาวยุโรป พวกเขาให้ความสำคัญกับฟุตบอลระดับชาติ ไม่ว่าจะลงเล่นในรายการไหนก็ตาม ถึงขนาดมีคำเปรียบเปรยที่ว่า “เมื่อทีมชาติเล่น ถนนจะว่างเปล่า” แม้แต่ฟุตบอลท้องถิ่นก็รับได้ความนิยม แม้ว่าการแข่งขันส่วนใหญ่จะไม่ได้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ตก็ตาม

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่าชาวแอฟริกันคลั่งไคล้ในฟุตบอลมากแค่ไหน ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นเจ้าภาพ คอบอลทั่วโลกได้เห็นวัฒนธรรมของผู้คนทั้งทวีปแอฟริกาไม่เพียงแค่ในประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้น สีสันและความครื้นเครงที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลกครั้งนั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเจ้าภาพไหนจัดฟุตบอลโลกได้ในแบบที่แอฟริกาใต้ทำได้อีกแล้ว เพลง Waka Waka (This Time for Africa) กลายเป็นเพลงประจำทัวร์นาเมนต์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน ถึงกับได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลก

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ที่จัดแข่งทุก 2 ปี จึงเป็นรายการแข่งขันที่ชาวแอฟริกาเฝ้ารอที่จะได้เห็นชาติของตัวเองลงเล่น โดยเฉพาะในประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่เคยมีโอกาสได้ไปเล่นฟุตบอลโลก มีเพียงฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปเท่านั้นที่ได้เห็นนักเตะของพวกเขาลงเล่น และสร้างความภูมิใจให้คนในชาติ

 

ฟุตบอล กับ การเมือง

ด้วยเหตุผลทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเหล่าประเทศในแถบแอฟริกา ที่ชาติส่วนใหญ่ขาดความมั่งคั่งและการพัฒนา พวกเขาจึงไม่สามารถรอถึง 4 ปีได้ เพราะการจัดมหกรรมกีฬาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังกระตุ้นการทำงานของภาครัฐให้หันมาพัฒนาประเทศ และเตรียมความพร้อมให้ประเทศพร้อมรับกับการเป็นเจ้าภาพ

การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ทำให้งบประมาณมากมายถูกดึงออกมาใช้พัฒนาประเทศ เช่น การปรับปรุงเส้นทางการคมนาคม และระบบขนส่งสาธารณะ สร้างสนามกีฬา พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้พร้อมรับแขกผู้มาเยือนจากต่างแดน เหตุผลเหล่านี้ทำให้ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพเกิดการพัฒนา และหลาย ๆ ครั้งการเลือกเจ้าภาพแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ จะเลือกประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องสถานที่และระบบการจัดการ เพื่อให้พวกเขาได้กลับไปพัฒนาประเทศ

รัฐบาลไอวอรีโคสต์ เจ้าภาพ AFCON 2023 ใช้งบประมาณกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน รวมถึงเตรียมกำลังตำรวจและทหารราว 17,000 นาย ประจำการเพื่อรักษาความปลอดภัยในแต่ละเมืองที่จัดการแข่งขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดเหมือนในครั้งล่าสุดที่แคเมอรูนเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่มีแฟนบอลเสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บอีกหลายสิบคนจากเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

ฟรอง ซัวส์ อามิเคีย ส.ส. ไอวอรีโคสต์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา กล่าวว่า “เมื่อไอวอรีโคสต์ตัดสินใจเป็นเจ้าภาพ คัพ ออฟ เนชันส์ มันไม่ใช่การหาเงิน แต่เป็นการลงทุนเพื่อประเทศ นี่เป็นโอกาสที่เราจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬา ที่ตกต่ำมาหลายปีแล้ว คัพ ออฟ เนชันส์ ทำให้เรามีสนามใหม่ โรงพยาบาล สนามบิน และถนนที่ปรับปรุงใหม่”

รัฐบาลไอวอรีโคสต์หวังว่าการได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปในครั้งนี้ จะช่วยเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ หลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2554 จึงเป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลจึงยอมทุ่มเงินถึงหลักพันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ 4 แห่ง และปรับปรุงสนามเดิมอีก 2 แห่ง นอกจากนี้ สนามบิน ถนน โรงพยาบาล และโรงแรม ยังถูกปรับปรุงและสร้างขึ้นใหม่ใน 5 เมืองที่จัดการแข่งขัน

หลายประเทศพยายามผลักดันเพื่อให้ตัวเองได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ฟุตบอลยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐบาลหลายประเทศใช้รักษาอำนาจของตัวเอง อย่างเช่นในกรณีของแคเมอรูนที่แต่เดิมจะต้องเป็นเจ้าภาพในปี 2019 แต่ในช่วงปลายปี 2018 สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกากลับเพิกถอนสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพของแคเมอรูน โดยอ้างว่าขาดความมั่นใจในความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่สงบภายในประเทศ จึงมอบหน้าที่เจ้าภาพให้กับอียิปต์ ส่วนการเป็นเจ้าภาพของแคเมอรูนถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2021 แทน

รัฐบาลแคเมอรูนแสดงความกังวัลถึงเรื่องนี้ เพราะการจัดงานกีฬาขนาดใหญ่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมหาศาล และมีเงินจำนวนไม่น้อยที่แคเมอรูนดึงออกมาลงทุนเพื่อให้พร้อมรับกับการเป็นเจ้าภาพ แต่กลับถูกเพิกถอนสิทธิ์และเลื่อนออกไปอีก 2 ปี การตัดสินใจครั้งนี้ของสหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกาจึงสร้างความเสียหายให้กับแคเมอรูนทั้งทางเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ

แคเมอรูนคือหนึ่งในชาติที่พยายามผลักดันให้ตัวเองได้เป็นเจ้าภาพ AFCON จากคำกล่าวของประธานาธิบดี พอล บิยา ผู้ครองอำนาจในประเทศมานานกว่า 42 ปี “เราต้องการให้ AFCON เป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมของความปรองดองกัน และขอให้เรามอบความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้กับแขกผู้มาเยือน”

ฟุตบอลในแคเมอรูนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล จนอาจกล่าวได้ว่าฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าฟุตบอลมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาตินิยมและความสามัคคีในแคเมอรูน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจะใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลในวันที่ความนิยมต่ำลง อีกทั้งฟุตบอลยังช่วยสมานความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบทางการเมืองได้อีกด้วย 

ประธานาธิบดีของแคเมอรูนเคยแสดงให้เห็นมาแล้วว่าฟุตบอลเป็นมากกว่าแค่กีฬา เพราะ ในปี 1990 ปีเดียวกับที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก เกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในแคเมอรูน เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากไม่พอใจการปกครองของพอล บิยา ทำให้เกิดการประท้วงและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครอง แต่เป็นโชคดีของพอล บิยา ที่ผลงานในฟุตบอลโลกของแคมเมอรูนที่สามารถไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้ในครั้งนั้นช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนออกจากการเมืองได้ ถึงขึ้นที่พอล บิยา ประกาศให้มีวันหยุดพิเศษประจำชาติอันเป็นผลมาจากผลงานของทีมชาติที่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลก 1990

 

แอฟริกาต้องการฟุตบอลทุก ๆ 2 ปี

เนื่องจากการจัดแข่งทุก ๆ 2 ปี และตรงกับโปรแกรมของลีก ทำให้เกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะสโมสรในยุโรปที่ต้องเสียนักเตะให้กับทีมชาติเป็นระยะเวลาร่วมเดือน เช่น ในกรณีของโมฮาเหม็ด ซาลาห์ ที่ย้ายมาร่วมทัพลิเวอร์พูลในฤดูกาล 2017-18 ทีมหงส์แดงต้องปล่อย ซาลาห์ ให้กับทีมชาติอียิปต์ เพื่อลงเล่นในแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ มาแล้วถึง 3 ครั้ง คือในปี 2019 2021 และ 2023 ทำให้ลิเวอร์พูลได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของนักเตะคนสำคัญ 

ในขณะเดียวกันนักเตะสัญชาติเอเชีย ซน ฮึง มิน ที่ย้ายมาร่วมทัพไก่เดือยทอง ตั้งแต่ในฤดูกาล 2015-16 สเปอร์ต้องปล่อยนักเตะคนสำคัญรายนี้ให้กับทีมชาติเกาหลีใต้ เพื่อลงเล่นในฟุตบอลเอเชียน คัพ ซึ่งตรงกับโปรแกรมลีก เช่นเดียวกับแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ แต่จัดแข่งทุก 4 ปี เพียง  2 ครั้ง คือในปี 2019 และ 2023 เท่านั้น 

ครั้งหนึ่งในช่วงก่อนการแข่งขัน AFCON เซบาสเตียน อัลแลร์ กองหน้าของทีมชาติไอวอรีโคสต์ เคยถูกนักข่าวถามในตอนที่เขาค้าแข้งอยู่กับอาแจ็กซ์ฯ ว่าเขาจะไปเล่นให้ทีมชาติหรืออยู่ช่วยสโมสรต่อ อัลแลร์ ตอบกลับด้วยความโกรธว่า “คำถามนี้แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพแอฟริกา คำถามนี้จะถูกถามกับผู้เล่นยุโรปก่อนยูโรไหม” สิ่งที่อัลแลร์พูดอาจถูกส่วนหนึ่งเรื่องการไม่เคารพ เพราะโปรแกรมการแข่งขันที่เกิดขึ้นกลางฤดูกาล ทำให้หลายทีมในยุโรปได้รับผลกระทบ และคิดถึงแต่ประโยชน์ของทีม แต่ยูโรไม่ได้จัดตรงกับโปรแกรมลีก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสโมสร

ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่า ได้เรียกร้องให้สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา เปลี่ยนมาจัดทุก ๆ 4 ปีแทน “ผมเสนอให้จัดแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ทุก ๆ 4 ปี เพื่อให้มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และน่าดึงดูดยิ่งขึ้นในระดับโลก”

“แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ สร้างรายได้น้อยกว่ายูโรถึง 20 เท่า ในเชิงพาณิชย์แล้ว มันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะขึ้นทุก ๆ 2 ปี หากเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สร้างความดึงดูดให้มากขึ้น แล้วจัดทุก ๆ 4 ปีคงดีกว่า”

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ สร้างรายได้ประมาณ 45 ล้านยูโร ในขณะที่ฟุตบอลยูโร สร้างรายได้ถึง 1.9 พันล้านยูโร ด้วยตัวเลขที่ห่างกันนี้ ทำให้ประธานฟีฟ่าเสนอให้สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา เปลี่ยนมาจัดทุก ๆ 4 ปี แล้วหันมายกระดับการจัดการแข่งขันให้มีความน่าสนใจ และปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดคนทั่วโลก ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น

แต่สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะพวกเขาต้องการเงินเพื่อมาดูแลจัดการฟุตบอลในทวีป รวมทั้งสหพันธ์ฟุตบอลของแต่ละประเทศก็ต้องการเงินส่วนนี้ เพื่อนำไปพัฒนาฟุตบอลในประเทศ หาก AFCON เปลี่ยนมาจัดทุก 4 ปี ฟุตบอลในทวีปแอฟริกาอาจเกิดความล่าช้าในการพัฒนา หรืออาจถึงขั้นถดถอยได้ แม้รายได้ที่ได้จะดูเป็นจำนวนเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับรายการการแข่งขันอื่น แต่ความถี่ก็เป็นส่วนสำคัญ ถึงแม้จะน้อยแต่สหพันธ์ฟุตบอลจะได้เงินส่วนนี้ทุก ๆ 2 ปี หากปรับไปแข่งทุก 4 ปีแทน แม้รายได้อาจเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่ทันต่อความต้องการ

กาย คอสซี อัคโปวี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลโตโก กล่าวว่า “การแข่งขันได้รับการคาดหวังอย่างมากจากชาวแอฟริกันที่รักฟุตบอล  หาก AFCON จัดทุก ๆ 4 ปี แอฟริกาจะไม่ได้รับการสนใจและการมองเห็นในระดับนานาชาติ การจัดแข่งทุก 2 ปี ทำให้แอฟริกาของอยู่ในความสนใจของผู้คน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ทีมขนาดเล็กและกลางได้มีส่วนร่วมในการแข่งขัน เนื่องจากฟุตบอลโลกดูเหมือนจะห่างไกลเกินไปสำหรับหลาย ๆ ชาติ”

ปาทริซ เนเวอู กุนซือชาวฝรั่งเศสของทีมชาติกาบอง เป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนให้ AFCON จัดแข่งเหมือนเดิม “แอฟริกาต้องการการแข่งขันนี้ทุก ๆ 2 ปี ฟุตบอลทวีปนี้ต้องตื่นตัวและก้าวหน้าต่อไป ด้วยเหตุนี้ การจัดแข่ง AFCON ทุก ๆ 2 ปี จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาฟุตบอลในทวีป”

หากสหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกายืนยันว่าจะจัดทุก 2 ปีเหมือนเดิม แล้วสามารถขยับตารางการแข่งขันเพื่อไม่ให้กระทบกับโปรแกรมของลีกได้ไหม เรื่องนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะ สภาพอากาศก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ไม่สามารถจัดการแข่งขันให้ตรงกับช่วงเวลาที่ลีกในยุโรปปิดฤดูกาลได้ 

เพราะในแอฟริกาหากอยู่ในช่วงหน้าฝน อาจมีปริมาณน้ำฝนถึง 270 มม. /วัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำหรับการจัดการแข่งขัน ช่วงเวลาต้นปีซึ่งตรงกับฤดูหนาวในยุโรป ส่วนในแอฟริกาเพิ่งเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้อุณหภูมิยังไม่สูงมาก จึงดูจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดการแข่งขัน

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ จึงยังต้องการจัดแข่งขันทุก 2 ปี และชนกับโปรแกรมลีกตามเดิม ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สิ่งที่สโมสรและแฟนบอลบรรดาทีมในยุโรปจะทำได้ คือ การยอมรับ ทำความเข้าใจ และเคารพเหตุผลของฝั่งแอฟริกา และตามให้กำลังใจนักเตะจากทีมโปรดของตัวเองต่อไป เพราะถึงยังไงการได้เล่นให้ทีมชาติก็ถือเป็นเกียรติสูงสุดในอาชีพนักกีฬา ที่เหล่านักกีฬาต่างภาคภูมิใจ

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.theguardian.com/football/blog/2022/jan/08/premier-league-fans-may-be-frustrated-but-africa-cup-of-nations-deserves-respect
https://www.goal.com/en-gb/news/how-often-is-the-african-cup-of-nations-played-caf-international-tournament-timing-explained/bltc897385c17e56814
https://www.africanews.com/2020/02/02/afcon-must-be-played-every-4-years-for-more-impact-fifa-president/
https://www.theafricareport.com/155928/football-should-the-african-cup-of-nations-be-held-every-four-years/
https://www.france24.com/en/sport/20240113-hosts-ivory-coast-have-high-hopes-as-africa-cup-of-nations-kicks-off
https://theconversation.com/why-losing-the-african-cup-of-nations-is-a-heavy-blow-for-cameroon-108610
https://theconversation.com/drama-delays-and-domestic-unrest-why-hosting-afcon-is-so-important-for-cameroon-174721
https://www.fifa.com/fifaplus/en/articles/cafs-two-pronged-approach-to-ensure-continent-wide-development
https://www.bbc.com/sport/africa/67719900

Author

กมลธิชา จันทร์เอียด

หนูรู้สึกง่วงตลอดเวลา ยกเว้นตอนดู "ลิเวอร์พูล" ทีมรักของหนูลงแข่ง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ