Feature

หลังรูนีย์โดนปลด : ทำไมอดีตแข้งปีศาจแดงยุคเฟอร์กี้ มักพังพาบเสมอเวลาเป็นกุนซือ | Main Stand

เวย์น รูนีย์ อดีตกองหน้าระดับตำนานแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นกุนซือชื่อดังคนล่าสุดที่โดนปลดจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอน หลัง เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ประกาศแยกทางในระหว่างที่เจ้าตัวเข้ามาคุมทีมแค่ 13 สัปดาห์

 


ความล้มเหลวครั้งนี้ทำให้ตำนานดาวยิงทีมชาติอังกฤษ เข้าทำเนียบอดีตแข้งปีศาจแดงในยุคที่มี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และเลือกผันตัวมารับงานกุนซือหลังเลิกเล่นฟุตบอล แต่ทำผลงานในบทบาทดังกล่าวได้ชนิด "ไม่ชวนให้ประทับใจ" เป็นคนล่าสุด จนกลายเป็นคำถามชวนคิดว่า เหตุใดอดีตเหล่าแข้งแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเคยร่วมงานกับบรมกุนซือสกอตติช ถึงมีภาพจำในฐานะผู้จัดการทีมที่คุมทีมไม่ประสบความสำเร็จ 

เพื่อไขคำตอบจากคำถามดังกล่าว ลองมาวิเคราะห์เรื่องราวนี้ไปด้วยกันกับ Main Stand

 

ภาพจำกุนซือผู้ล้มเหลว

เวย์น รูนีย์ เข้ามาคุม เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ได้เพียง 84 วันก็ถูกปลดจากตำแหน่งกุนซือทันที หลังผลงานการคุมทัพลูกโลกของเขามีสถิติไม่น่าจดจำสักเท่าไร ด้วยผลงานชนะ 2 จาก 15 เกมที่คุม มีตัวเลขเปอร์เซนต์ชนะแค่ 13.3% เท่านั้น และที่สำคัญ "รูน" คุม เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ชนิดเปลี่ยนสถานะของทีมจากโซนลุ้นเลื่อนชั้นลุยพรีเมียร์ลีก มาหนีตกชั้นแบบหน้าตาเฉย

ความล้มเหลวหนนี้ของตำนานศูนย์หน้าชาวอังกฤษ ทำให้เขากลายเป็นอดีตนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คนล่าสุด ที่ขยับบทบาทจากนักฟุตบอลภายหลังที่แขวนสตั๊ด มาเป็นผู้จัดการทีม และยัง "ไม่ประสบความสำเร็จ" ในเส้นทางนี้เท่าไรนัก

ที่ผ่านมา อดีตนักเตะสีเสื้อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นลูกทีมของเฟอร์กี้ ต่างมีผลงานการคุมทีมฟุตบอลออกมาในรูปแบบเดียวกับที่ เวย์น รูนีย์ เผชิญ โดยความล้มเหลวในลักษณะนี้ เกิดขึ้นบ่อยจนอาจกล่าวได้ว่า มันกลายเป็น "ภาพจำ" ที่ใครหลายคนคุ้นเคยแบบไม่มีน้อยหน้ากัน

ยกตัวอย่าง แกรี่ เนวิลล์ เคยได้รับโอกาสคุมทัพ บาเลนเซีย ในลาลีกา เมื่อปี 2015 อย่างไรก็ดี เขากลับอยู่ในตำแหน่งได้แค่ 4 เดือนเท่านั้น หลังพาทีมทำผลงานล้มเหลว ชนะ 10 จาก 28 เกม และมันหนักถึงขั้นที่ว่าอดีตแบ็กขวาปีศาจแดงรายนี้ ขยาดถึงขั้นไม่คิดหวนกลับมารับงานคุมทีมอีก

น้องชายของ แกรี่ เนวิลล์ อย่าง ฟิล เนวิลล์ ก็ไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางจัดการทีมเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่อยู่คุม อินเตอร์ ไมอามี่ เมื่อเนวิลล์ผู้น้องพาทีมผลงานแย่ถึงขั้นหล่นไปอยู่อันดับสุดท้ายของโซนตะวันออก ในขวบปีสุดท้ายที่อยู่คุม แถมยังมีค่าเฉลี่ยคุมทีมชนะเพียง 38.98 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

รอย คีน อดีตกัปตันปีศาจแดง ก็เป็นอีกคนที่มีภาพจำว่าเป็นนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ แต่ล้มเหลวในแง่ของการจัดการทีม แม้จะเคยพา ซันเดอร์แลนด์ เลื่อนชั้นมาสู่พรีเมียร์ลีกได้ ทว่าอดีตแข้งไอริชก็ไม่ได้ทำทีมให้ยืนระยะในระดับที่น่าพอใจ

มิหนำซ้ำกลับบกพร่องในเรื่องของการบริหารจัดการคน นักเตะหลาย ๆ คนไม่ได้ชื่นชอบแนวทางการคุมทีมของเขา ที่ให้ภาพดุดัน เกรี้ยวกราด โดยหลังจากที่อำลาการคุมทีม อิปสวิช ทาวน์ ในปี 2011 เขาก็ไม่คิดหวนรับงานกุนซืออีกเลย

โอลด์แฮม แอธเลติก เคยทำเซอร์ไพร์ส ตั้ง พอล สโคลส์ ให้เข้ามาคุมทีมเมื่อปี 2019 อย่างไรก็ตาม ตำนานลูกหม้อยูไนเต็ดซึ่งจับงานเฮดโค้ชเต็มตัวที่ โอลด์แฮม เป็นหนแรกในชีวิต กลับคุมทีมได้แค่ 4 สัปดาห์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง นั่นมาจากสถิติการคุมทีมที่ไม่สู้ดี ชนะเพียง 1 จาก 7 เกม

โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เคยยิ่งใหญ่หลังคุม โมลด์ เอฟเค เป็นแชมป์ลีกนอร์เวย์หนแรกในรอบ 100 ปีนับแต่ก่อตั้งทีม แถมยังคว้าแชมป์ลีก 2 ปีติด อย่างไรก็ตาม เขากลับไม่ประสบความสำเร็จกับการคุมทีมในลีกอังกฤษเท่าที่ควร ไม่ว่าจะที่ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ หรือแม้แต่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยเฉพาะกับปีศาจแดง ถึงขั้นที่ว่าโดนแฟน ๆ ขีดเส้นแบ่งความยิ่งใหญ่ระหว่างการเป็นตำนานสมัยนักเตะ และความล้มเหลวในฐานะผู้จัดการทีมไปเรียบร้อย 

หรือถ้าให้ย้อนชื่อนักเตะไปไกลกว่านั้น ยกตัวอย่าง พอล อินซ์ ที่ประสบความสำเร็จกับการคุมทีมในระดับลีกล่าง หลังพา เอ็มเค ดอนส์ คว้าแชมป์ลีกทูฤดูกาล 2007/08 ทว่าเมื่อได้โอกาสชิมลางคุม แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส แทนที่ของ มาร์ค ฮิวจ์ส ซึ่งก็เป็นอดีตนักเตะยูไนเต็ด พอล อินซ์ กลับได้คุมทัพกุหลาบไฟแค่ 21 นัด แถมเก็บสถิติชนะเพียง 6 เกม หรือคิดเป็น 28.6% เท่านั้น

ไบรอัน ร็อบสัน ตำนานกองกลางชาวอังกฤษ มีประสบการณ์คุมทีมฟุตบอลรวมทั้งสิ้น 17 ปี ทว่าตลอดเวลาดังกล่าว อดีตแข้งฉายา "กัปตันมาร์เวล" กลับไม่เคยพาทีมใดประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ช่วงที่ดีที่สุดมีแค่ที่ มิดเดิ้ลสโบรช์ กับการพาทีมเลื่อนชั้น และภายหลังที่โดนปลดจากตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติไทย เมื่อกลางปี 2011 ร็อบสันก็ไม่ได้ปรากฏชื่อเป็นกุนซือที่ใดอีกเลย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างของอดีตแข้งปีศาจแดง ผู้ซึ่งยิ่งใหญ่ในสมัยเป็นนักเตะ ทว่าเมื่อพลิกบทบาทเข้ามาจับงานโค้ช แต่ละคนกลับทำผลงานได้ไม่ดีเท่าตอนที่อยู่เป็นพ่อค้าแข้ง 

แน่นอนว่าเรื่องนี้พอจะมีเหตุผลที่พอจะเชื่อมโยงได้ ว่าทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

 

โดนเทียบบารมีป๋า

แฟนฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะแฟน ๆ ที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษ ย่อมรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือผู้จัดการทีมที่อยู่คุมถิ่น โอลด์ แทรฟฟอร์ด มาตั้งแต่ปี 1986 จนกระทั่งประกาศเกษียณตัวเองในปี 2013 แถมพาทีมเป็นแชมป์ลีกสูงสุดถึง 13 สมัย แชมป์เอฟเอ คัพ 5 สมัย ไปจนถึงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีก 2 สมัย หรือรวม ๆ แล้วกว่า 25 รายการ

นอกจากนี้ อดีตผู้จัดการทีมชาวสกอตแลนด์ ยังขึ้นชื่อในเรื่องของการบริหารจัดการคนเป็นที่หนึ่ง ทั้งการให้ความสำคัญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีม ชื่นชมและให้กำลังใจนักเตะภายในทีม ให้โอกาสเยาวชนขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดใหญ่เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของสโมสร ฯลฯ 

ด้วยความสำเร็จที่มีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเหตุให้ เซอร์ อเล็กซ์ มักถูกยกเป็นแบบอย่างที่ดีของใครหลาย ๆ คนในแวดวงฟุตบอล อย่าง เดวิด กิลล์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของสโมสร ซึ่งกล่าวถึงเฟอร์กี้ว่า "สตีฟจ็อบส์คือ Apple ฉันใด เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฉันนั้น" 

ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือ บรรดานักเตะที่เคยผ่านประสบการณ์ลงเล่นให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุค เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ครองความยิ่งใหญ่ในยุคที่ป๋าเฟอร์กี้อยู่คุมทีม และผันตัวเองขึ้นมาเป็นโค้ช มักจะถูกนำชื่อขึ้นไปเปรียบเทียบกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเรื่องสไตล์การทำทีม ไปจนถึงเรื่องการบริหารจัดการคน

ครั้งหนึ่ง แอชลี่ย์ ยัง ฟูลแบ็คมากประสบการณ์เคยออกมาชื่นชมอดีตเจ้านายที่ แมนฯ ยูไนเต็ด อย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ในช่วงที่เข้ามาคุมทีมปีแรก ว่ามีบุคลิกการทำทีมคล้ายคลึงกับ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หลังจากที่ดาวเตะคนปัจจุบันของ เอฟเวอร์ตัน เคยได้ร่วมงานกับทั้งสองคน

"แบบเดียวกันเลย ทัศนคติที่มุ่งมั่นถึงชัยชนะในแบบเดียวกัน ความปรารถนาในแบบเดียวกัน ความกระหายในแบบเดียวกัน เขา (โซลชา) เคยอยู่ที่นี่ในฐานะนักเตะมาก่อน เขารู้ว่าสโมสรเป็นแบบไหน" 

"นั่นคือสิ่งที่สโมสรต้องการครับ และคุณสามารถเห็นได้ตั้งแต่การฝึกซ้อม เขาลงมาซ้อมกับทีมเลยด้วยซ้ำ มันน่าทึ่งมาก มันให้ความรู้สึกเหมือนว่าบอส (เฟอร์กี้) เดินกลับมาที่สโมสรอีกครั้ง"

เช่นเดียวกับ หลุยส์ ซาฮา ที่เคยออกมาชื่นชมแนวทางและทัศนคติการทำทีมของ เวย์น รูนีย์ ในสมัยที่คุม ดาร์บี้ เคาน์ตี้ เผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

"ที่ดาร์บี้ มันเป็นงานที่หนักสำหรับเขามากนะ ผมไม่รู้ว่าเขาจัดการทีมอย่างไร แต่สิ่งที่ผมเห็นเรื่องการมีส่วนร่วมของเขา เขาเป็นคนที่มีคลาสเลยนะ ผมเห็นท่าทางเวลาให้สัมภาษณ์ ภาษากายของเขาดูดีเลยนะ และเขาก็มีความเห็นอกเห็นใจคนมาก ๆ นี่คือสิ่งสำคัญเลย" อดีตกองหน้าเฟร้นช์แมนผู้เคยจับคู่กับรูนีย์ในสีเสื้อ แมนฯ ยูไนเต็ด กล่าวกับ The Mirror 

"มันทำให้คุณมองเห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของนักเตะในเวลาเดียวกัน ถ้าคุณไม่มีความเห็นอกเห็นใจ คุณก็จะไม่มีทางก้าวไปข้างหน้าได้ นี่คือคุณสมบัติของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเลย"

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความชื่นชมและการถูกเปรียบเทียบในแง่ดี บางครั้งมันก็ให้ภาพของ "ดาบสองคม" ไปด้วย เพราะในเวลาเดียวกัน ใช่ว่ากุนซือทุกคนจะทำได้เฉกเช่นโค้ชคนต้นแบบอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่ว่าจะเรื่องแทคติกและแนวทางในสนาม ไปจนถึงแนวทางการจัดการนอกสนาม

ดังตัวอย่างสองคนข้างต้น ในรายของโซลชา แม้จะมีบุคลิกชนิดรู้ไส้รู้พุงสโมสร ทว่าที่สุดแล้วหลังอยู่คุม แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นเวลากว่าสามปี เมื่อแท็คติกและวิธีการทำทีมของเขาถึงทางตัน สโมสรก็ตัดสินใจปลดจากตำแหน่ง 

ส่วนรูนีย์ แม้แฟน ๆ ดาร์บี้จะหลงรักหลังอยู่กับทีมท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก (โดนตัด 21 แต้มในแชมเปี้ยนชิพ) แต่กาลต่อมา เขาก็ยังไม่อาจพิสูจน์ตัวเองในฐานะกุนซือฝีไม้ลายมือดีได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะกับช่วงเวลาที่โดน เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ปลดหลังเข้ามาคุมทีมเพียง 80 วัน

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ครั้งหนึ่ง แฟนคลับปีศาจแดงเคยตั้งกระทู้ "Why are Ex United Players Such Bad Managers?" ผ่านเว็บบอร์ด redcafe.net โดยเข้ามาแชร์มุมมองว่าทำไมอดีตนักเตะปีศาจแดงถึงทำหน้าที่กุนซือได้อย่างย่ำแย่ หนึ่งในหัวข้อที่แฟน ๆ มองตรงกันก็คือ แต่ละคนถูกนำไปเปรียบเทียบกับเฟอร์กี้

"เพราะวิถียูไนเต็ด (United way) นั้นขึ้นอยู่กับเรื่องของบุคลิกภาพ โดยพื้นฐานแล้วคนย่อมนึกถึงชื่อของ เซอร์ อเล็กซ์" แอคเคาท์ชื่อ Marcus เอ่ยถึงมุมมองตัวเอง

"เนื่องจากเฟอร์กี้เป็นผู้จัดการทีมที่มีเอกลักษณ์ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟุตบอล และเมื่อคุณพยายามเลียนแบบเขา ไม่มีทางที่คุณจะทำได้เหมือนเขาอย่างแน่นอน" แอคเคาท์ชื่อ Idxomer แสดงความเห็น

นั่นก็ทำให้กุนซือที่ต่างก็เคยเป็นลูกศิษย์ของเฟอร์กี้ มีภาพจำในหมู่แฟนบอลว่ามักจะพังพาบ มากกว่า ประสบความสำเร็จ ในฐานะกุนซือ

 

ขาดเรื่องประสบการณ์ 

นอกจากจะโดนเทียบบารมีของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อย่างยากจะหลีกเลี่ยงแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลน่าสนใจที่ทำให้อดีตนักเตะปีศาจแดงยุคเฟอร์กี้ มักไม่ประสบความสำเร็จในฐานะกุนซือ คือเรื่องของประสบการณ์ในการคุมทีม

มีกุนซืออดีตนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลายคน ที่โดดขึ้นมารับงานจัดการทีมในสถานการณ์ที่กดดัน ดังตัวอย่างของ แกรี่ เนวิลล์ ที่ผันตัวเองมาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนครั้งแรกที่ บาเลนเซีย ทีมแกร่งในเวทีลาลีกา โดยได้คอนเนคชั่นจากการที่เขารู้จัก ปีเตอร์ ลิม เจ้าของทีมเป็นการส่วนตัว 

จริงอยู่ที่อดีตแบ็กคขวาเบอร์ 2 จะมีดีกรีโปรไลเซ่นส์ของยูฟ่า ทว่าเขายังไม่มีประสบการณ์คุมทีมฟุตบอลใด ๆ มาก่อน ที่สุดแล้วก็อยู่คุมค้างคาวไฟแค่ 28 นัด และชนะแค่ 10 นัดเท่านั้น ซึ่งใจความสำคัญที่เนวิลล์คนพี่โดนวิจารณ์ก็คือประสบการณ์น้อย พูดสแปนิชไม่ได้ แท็คติกการแก้เกมยังไม่หนักแน่นพอ ไม่มี 11 ตัวจริงในใจ เน้นโรเตชั่นจนนักเตะงุนงง ฯลฯ

หรืออย่าง รอย คีน ที่แม้จะพา ซันเดอร์แลนด์ ซึ่งเป็นทีมแรกที่เขาคุมทัพหลังเลิกเล่น เลื่อนชั้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้ ทว่าการยืนระยะคุมทีมแบล็คแคทของอดีตกัปตันคีโน่ในลีกสูงสุดอังกฤษ กลับมีเวลาแค่ปีเศษเท่านั้น 

นั่นแสดงให้เห็นว่า เมื่อต้องดวลกับทีมระดับเสือสิงห์กระทิงแรด ซึ่งต่างจากลีกรองที่เคยคุม รอย คีน ยังต้องควานหาประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน

เช่นเดียวกับ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา หากมองเฉพาะการทำหน้าที่กุนซือข้างสนาม ก็จะเห็นได้ถึงรูปแบบและวิธีการที่เริ่มตัน ไม่เหมือนกับขวบปีแรกที่เข้ามาคุมทีม ยกตัวอย่างการเข็น แฮร์รี่ แม็คไกวร์ลงสนามในช่วงเวลาที่ไม่สมบูรณ์ จนกลายเป็นหนึ่งในนักเตะจอมคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ 

หรือแม้แต่การถูกทีมชื่อชั้นรองกว่าเบียดชัยแบบสกอร์ห่างเกินสองลูก เช่น พ่าย วัตฟอร์ด 1-4 และพ่าย เลสเตอร์ 2-4 ในฤดูกาลสุดท้ายที่เขาอยู่คุม

ยังมีเหตุผลอีกร้อยแปดที่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ว่าทำไมอดีตนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถึงมักจะพังพาบเวลาเป็นกุนซือ 

ในทางกลับกัน เราก็ไม่อาจเหมารวมได้หมดว่าอดีตแข้งศิษย์เฟอร์กี้ที่ยูไนเต็ด จะล้มเหลวในฐานะผู้จัดการทีมไปทั้งหมด เพราะบางคนก็ยังประสบความสำเร็จในเส้นทาง ยังมีดีกรีที่เชิดชูได้อยู่

นักเตะอย่าง โลร็องต์ บลองก์ ซึ่งเล่นให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นทีมสุดท้ายก่อนแขวนสตั๊ดเมื่อปี 2003 ก็เคยพา บอร์กโดซ์ เถลิงแชมป์ลีกเอิง 2008-09 เช่นเดียวกับการพา ปารีส แซงต์-แชร์กแมง กวาดแชมป์ลีกสูงสุดฝรั่งเศส 3 สมัยติด (2013-14, 2014-15 และ 2015-16) 

ขณะที่ รุด ฟาน นิสเตลรอย อดีตกองหน้าจอมซัลโวของทีม ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นกุนซือในระดับ "ผลงานดี" อยู่ จากประสบการณ์คุม พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น เขามีสถิติคุมทีมชนะถึง 33 จาก 51 นัด คิดเป็นเปอร์เซนต์ชนะถึง 64.71% และพาลูกทีมคว้าแชมป์บอลถ้วยในประเทศได้ถึง 2 รายการภายในเวลาหนึ่งปี

โดยปกติแล้ว การที่นักเตะชื่อดังคนหนึ่งจะขยับตัวเองมาเป็นยอดโค้ชนั้นก็นับเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งเหล่าแข้งปีศาจแดงที่ผันตัวเองเป็นกุนซือ แถมยังเคยผ่านมือเฟอร์กี้มาก่อน ก็ยิ่งเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ มันจึงกลายเป็นภาพจำที่อยู่ติดกับตัวอดีตนักเตะปีศาจแดงฝีเท้าดีหลาย ๆ คนในยุคเฟอร์กี้ ว่าแต่ละคนนั้นคุมทีมล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.manutd.com/en/news/detail/ex-man-utd-players-who-are-current-managers-after-ruud-van-nistelrooy-appointed-psv-eindhoven-coach 
https://www.redcafe.net/threads/why-are-ex-united-players-such-bad-managers.466856/ 
https://www.goal.com/en/news/rooney-compared-sir-alex-ferguson-man-utd-saha-derby-boss/blt61683eb86693bf27 
https://www.goal.com/en/news/man-utd-captain-young-compares-solskjaer-to-ferguson-its-like-the-boss-walked-back-in-the-door/1t5f6mwf8vpta1qzivdmbgz6nf 
https://en.wikipedia.org/wiki/Manchester_United_F.C. 
https://www.quora.com/Why-did-some-of-Manchester-Uniteds-great-players-like-Bryan-Robson-Paul-Ince-and-Mark-Hughes-fail-as-managers-Was-it-because-they-were-lackin

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา