นับแต่จบฟุตบอลโลก 2022 เป็นต้นมา ทีมชาติเยอรมันชุดใหญ่เผชิญผลงานที่ไม่สู้ดีเท่าไรนัก จากการตกตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม เช่นเดียวกับผลงานของทีมชาติหญิง ที่ตกรอบแรกของวีเม่น เวิลด์ คัพ 2023 ขณะที่ทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ที่จอดตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลยูโร U21
ทำให้ใครหลาย ๆ คนมองว่านี่คือ “ยุคมืด” ครั้งหนึ่งของแวดวงฟุตบอลทัพอินทรีเหล็ก
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความมืดมนที่กินเวลาร่วมปี ก็ยังพอจะมีแสงสว่างเล็ก ๆ ที่สาดส่องเข้ามาอยู่บ้าง เมื่อทีมชาติเยอรมันรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ทำผลงานกระฉ่อนโลกลูกหนังเยาวชน จากการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก U17 มาครองส่งท้ายปี 2023 นับเป็นการต่อยอดจากผลงานแชมป์ฟุตบอลยูโร U17 เมื่อกลางปี จนอาจกล่าวได้ว่า ทีมเยาวชนชุดนี้เข้ามากอบกู้ศักดิ์ศรีของแวดวงลูกหนังเมืองเบียร์อย่างแท้จริง
กับสถานการณ์ที่เปรียบดั่ง “แสงแห่งความหวัง” กลายเป็นคำถามปลายเปิดตามมาว่า ปัจจัยใดที่ส่งให้อินทรีเหล็ก U17 เฉิดฉายขึ้นมา และคนในแวดวงลูกหนังประเทศมองความสำเร็จนี้ออกมาในทิศทางใดบ้าง ติดตามไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand
ช่วงปีที่มืดมนของทีมชาติเยอรมัน
นับแต่ที่เยอรมนี จอดป้ายตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มในฟุตบอลโลก 2022 ในฐานะทีมอันดับสามของกลุ่ม E ไม่น่าเชื่อว่าช่วงเวลาต่อจากนั้น พลพรรคอินทรีเหล็กยังคงผลงานที่บู่มาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2023
โดยอดีตทีมชาติดีกรีแชมป์ฟุตบอลโลก 4 สมัย เก็บสถิติลงแข่งตลอดปี 2023 ด้วยผลงานคว้าชัยชนะได้แค่ 3 นัด เสมอ 2 นัด และพบกับความพ่ายแพ้ไปถึง 6 นัด จากโปรแกรมที่พวกเขาลงอุ่นเครื่องทั้งสิ้น 11 นัด แถมยังมีตัวเลขการเสียประตูให้คู่แข่ง “มากกว่า” ทำประตูคู่แข่ง จากสถิติ 22 ต่อ 17 (ติดลบ 5)
ผลงานที่ทำเอาทัพอินทรีเหล็กต้องเจ็บช้ำน้ำใจก็มีทั้งการถูกทีมชาติญี่ปุ่น บุกมายัดเยียดความปราชัยคาบ้านถึง 1-4 จนเป็นเหตุให้ฮันซี่ ฟลิค อดีตกุนซือมากดีกรีของบาเยิร์น มิวนิค มีอันต้องลาออกจากตำแหน่ง
และแม้เยอรมนีจะเปลี่ยนเกาอี้หัวหน้าผู้ฝึกสอนมาเป็นยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์ ในช่วงเวลาต่อจากนั้น ทว่าผลงานโดยรวมก็ยังไม่ได้ออกมาให้สาวกต้องชื่นใจ โดยเฉพาะสองนัดส่งท้ายศักราช 2023 เมื่อมาพ่ายคาบ้านที่กรุงเบอร์ลินต่อตุรกี 2-3 และออกไปเยือนที่เวียนนา โดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างออสเตรียกดไป 0-2
ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลงานไม่สบอารมณ์แฟนบอลอินทรีเหล็กอย่างแท้จริง นั่นเพราะในปี 2024 นี้ เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2024 แน่นอนว่าหากอินทรีเหล็กยังคง “สภาพการณ์” เดิมเหมือนในรอบปีปฏิทินก้อนหน้า เห็นทีน่าจะจอดป้ายเร็วกว่าที่คิดไว้เป็นแน่แท้
“ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ขาดหายไป ไม่เช่นนั้นผลการแข่งขันล่าสุด (แพ้ตุรกีและออสเตรีย) คงไม่ออกมาแบบนี้ เพราะคุณภาพการเล่นของทีมเอง” ฟิลลิป ลาห์ม อดีตกัปตันทีมชาติเยอรมนี แสดงมุมมองส่วนตัว ผ่าน DW
“สิ่งสำคัญคือทีมต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอ เราต้องรู้จักคาแร็กเตอร์ของแต่ละคนให้เจอ ในแต่ละตำแหน่งก็ควรจะมีนักเตะที่ถนัดในพื้นที่ตรงนั้นมากที่สุด ยังคงต้องจัดระบบระเบียบกันให้มากกว่านี้ นี่คือสิ่งที่คนเป็นโค้ชต้องปรับปรุง ในมุมผมนะ”
นอกจากทีมชายชุดใหญ่จะผลงานไม่สู้ดีแล้ว ฟุตบอลหญิงทีมชาติเยอรมนีก็ทำผลงานชนิดไม่ได้ช่วยให้แฟนคลับต้องใจชื้นเลยแม้แต่น้อย
เมื่อทัพสตรีอินทรีเหล็ก ในฐานะอดีตแชมป์โลกสองสมัย จอดตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มของฟุตบอลโลกหญิง 2023 ส่วนผลงานตลอดปีปฏิทิน 2024 พลพรรคเยอรมัน วีเม่น ก็เก็บผลงานไม่ชนะคู่แข่งถึง 7 จาก 14 นัด
ขณะที่ทีมชาติเยอรมันรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี หรือทีมพลังหนุ่มที่มีสถานะดั่งขุมกำลังแห่งอนาคตของแวดวงลูกหนังประเทศ ก็ทำผลงานเฉกเช่นกับทีมชายชุดใหญ่และทีมหญิง เมื่อเยอรมัน U21 ตกรอบแบ่งกลุ่มของฟุตบอลยูโร รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แถมจบด้วยการเป็นบ๊วยของกลุ่มจากผลงาน เสมอ 1 นัด และแพ้ 2 นัด
กับผลงานที่พร้อมใจกัน “แย่” ของทั้งทีมชายชุดใหญ่ ทีมชาติหญิง และทีม U21 กลายเป็นคำถามโจทย์ใหญ่ของสื่อกีฬาในประเทศ ว่าด้วยเรื่องของแนวทางของสมาคมฟุตบอลเยอรมัน (DFB) ที่ชื่อว่า “Deutsche Tugenden” หรือ “ความเป็นเยอรมัน” ที่ซึ่งพวกเขาเคยใช้ปรัชญาดังกล่าวลงทำการแข่งขันมาโดยตลอดนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ไล่มาตั้งแต่การเล่นในรูปแบบที่ใช้ลิเบอโร่และสต็อปเปอร์อยู่ปักหลักก่อนถึงผู้รักษาประตูในยุคดั้งเดิม ก่อนปรับมายึดแนวทางฟุตบอลระบบที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้นไปตามยุคสมัยให้หลัง
ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็มีทั้งการที่ทีมชายและทีมหญิงชุดใหญ่กลายเป็นเต้ยแห่งวงการ ทว่ามาวันนี้ อินทรีเหล็กที่ยิ่งใหญ่ กำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความมืดมนในช่วงยุคสมัย กลับมีแสงสว่างเล็ก ๆ ที่ถูกฉายขึ้นมา
แสงแห่งความหวังนี้เปรียบดั่งการดึงแนวทางความเป็นเยอรมันใส่ลงไป ให้ภาพดั่งนักเตะเน้นความเป็นทีมสปิริตและฟุตบอลระบบ และได้เข้ามาช่วยกู้หน้าผลงานของทีมชาติชุดอื่น ๆ อย่างไรอย่างนั้น
นั่นคือผลงานของทีมชาติเยอรมันรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี กับการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี
อินทรีเหล็ก U17 “แสงแห่งความหวัง”
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2023 หลังสิ้นเสียงนกหวีดยาวที่มานาฮาน สเตเดี้ยม ในสุระการ์ต้า อินโดนีเซีย ทีมชาติเยอรมัน รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี กลายเป็นทีมล่าสุด ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี จากการดวลจุดโทษชนะทีมชาติฝรั่งเศส รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ไปด้วยสกอร์ 4-3 (เสมอในเวลา 120 นาที ที่ 2-2)
ยิ่งไปกว่านั้น อินทรีเหล็ก U17 ภายใต้การทำทีมของกุนซือ คริสเตียน วุค (Christian Wück) ยังคว้าแชมป์โลกรายการดังกล่าวเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ชาติได้ด้วย
นี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จแค่ชั่วข้ามคืน ไม่ใช่ความสำเร็จระยะสั้นแต่อย่างใด เพราะนี่คือความสำเร็จที่ถูกต่อยอดมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2023 ที่ซึ่งทีมชาติเยอรมัน รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ครองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2023
“เราเป็นแชมป์ยุโรปและเป็นแชมป์โลก! ผมรู้สึกซาบซึ้งใจจริง ๆ ที่ได้เป็นโค้ชให้นักเตะชุดนี้ และวันนี้ (นัดชิงฯ กับฝรั่งเศส) เป็นเกมสุดท้ายของพวกเราทุกคนแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่มาพร้อมความสุขอย่างไม่น่าเชื่อ” คริสเตียน วุค ให้สัมภาษณ์หลังเกม
ความยิ่งใหญ่ในรอบปีของทีมเยาวชนรุ่น U17 กลายเป็นคำชื่นชมจากคนในวงการฟุตบอลเมืองเบียร์แบบทั่วสารทิศ เพราะนี่คือความสำเร็จ “เดียว” ที่ทำได้ในรอบหนึ่งปี ยกตัวอย่างคำชื่นชมจาก เบิร์น นอยน์ดอร์ฟ (Bernd Neuendorf) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน
“หลายเดือนที่ผ่านมา ใครหลายคนมักจะบอกว่านี่คือยุคมืดของฟุตบอลทีมชาติเยอรมัน แล้วนี่ละ มันเกิดอะไรขึ้นกับทีมเยาวชนของเรา นักเตะทุกคนสุดยอดมาก ทีมนี้กำลังเดินมาถูกทางแล้ว”
ปลุกความเป็นเยอรมันในตัวคุณ
ความคิดที่ว่าอยากให้นักเตะลงเล่นด้วยแรงกระหาย ลงเล่นด้วยความปรารถนาที่ว่า “อยากจะคว้าชัยชนะให้ได้ในทุก ๆ เกม” และต้องไม่ลืมว่าทุกคนลงเล่นในฐานะตัวแทนทีมชาติ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กุนซือคริสเตียน วุค เลือกใส่ลงไปในตัวนักเตะ เพื่อให้ทุกคนยึดในแนวทางดังกล่าวเหมือนกันหมด
“หากใครอยากรู้จักคาแร็กเตอร์ของทีมเรา ก็ให้ดูจากเกมวันนี้ (นัดชิงฯ กับฝรั่งเศส) ได้เลย” วุค ในฐานะอดีตนักเตะระดับบุนเดสลีก้า กล่าว
“การต่อสู้กับคู่แข่งแบบไม่มีย่อท้อ ความเชื่อมั่นในตัวเองที่มีอยู่เสมอ นั่นคือเรื่องที่น่าทึ่งมาก ทุกอย่างสมบูรณ์แบบเลย”
“เราต้องเชื่อมั่นในพรสวรรค์ของนักเตะเยอรมันด้วย”
ไม่เว้นแม้แต่คนนอกที่มองเข้ามา ซึ่งเห็นถึงจุดเด่นของทีมชาติเยอรมัน รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปีชุดนี้ โดยเฉพาะเรื่องของทีมสปิริต และการเล่นให้สมศักดิ์ศรีในฐานะ นักฟุตบอลตัวแทนประเทศ
“ความหลงใหลเป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งสำคัญคือต้องมีความกระตือรือร้นเมื่อคุณเป็นตัวแทนประเทศของคุณ” ฟิลลิป ลาห์ม ว่าต่อ
“นั่นคือพื้นฐานความคิดที่คุณควรมี เพื่อเล่นฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ ทีม U17 ได้แสดงให้เห็นแล้ว และพวกเราก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้จากทีมชุดใหญ่เช่นกัน”
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมชาติเยอรมัน รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ทั้งแชมป์โลก รวมถึงแชมป์ยุโรป นั่นคือทีมของคริสเตียน วุค ไม่เคยขาดนักเตะระดับแถวหน้าของประเทศในรุ่นอายุดังกล่าว แถมความสามารถของนักเตะแต่ละคน ในตำแหน่งเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ก็ลงเล่นชนิดทดแทนกันได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่าง แม้เยอรมัน U17 จะไม่อาจใช้งานนักเตะที่ว่ากันว่าเป็น “ตัวชูโรงของรุ่น” อย่างอาสซาน อูดราโอโก้ (Assan Ouedraogo) ดาวเตะวัย 17 ปี ที่สถาปนาตัวเองเป็นแข้งชุดใหญ่ของทีมชาลเก้ 04 ไปแล้ว ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยระหว่างทัวร์นาเมนต์ เนื่องจากอาการบาดเจ็บในรอบน็อคเอาต์
กระนั้น พวกเขากลับมีนักเตะที่ปรากฏภาพดั่งตัวชูโรงทดแทนกันได้แบบเนียนสนิท นั่นคือพาลริส บรุนน์เนอร์ (Paris Brunner) ดาวเตะเยาวชนของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซึ่งที่สุดแล้ว แข้งรายนี้ทำผลงาน 5 ประตู กับอีก 1 แอสซิสต์ เป็นเจ้าของรางวัลแข้งยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกที่ดินแดนอิเหนาด้วย
หรือการทำให้เห็นว่าตัวจริงและตัวสำรองก็อยู่ในระดับเดียวกัน ดังตัวอย่างตำแหน่งผู้รักษาประตู เมื่อทีมตัดสินใจเปลี่ยนมือหนึ่งจากมักซ์ ชมิดท์ (Max Schmitt) ที่ลงเล่นในรอบแบ่งกลุ่มไปจนถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ มาเป็นคอนสแตนติน ไฮด์ (Konstantin Heide) ในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ
ผลปรากฏว่านายด่านอย่างไฮด์ก็ทำผลงานได้น่าชื่นชม โดยเฉพาะการเซฟลูกโทษทั้งในรอบ 4 ทีมสุดท้ายกับอาร์เจนติน่า ไปจนถึงนัดตัดสินแชมป์โลกกับฝรั่งเศส
อนาคตที่ต้องต่อให้ติด
การก้าวไปสู่ระดับนักเตะอาชีพแบบเต็มตัว ได้ลงเล่นในลีกฟุตบอลอาชีพ พัฒนาตัวเองและต่อยอดไปสู่ทีมชาติชุดใหญ่ หรือไกลกว่านั้นก็คือยกระดับตัวเองจนกลายเป็นนักเตะซูเปอร์สตาร์โลก และพาทีมชาติให้เป็นแชมป์โลกให้ได้ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นโจทย์สำคัญที่รอท้าทายบรรดาแข้งทีมชาติเยอรมัน U17 ชุดแชมป์โลกบนแผ่นดินอินโดนีเซียอยู่
แน่นอนว่ามันคงเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวว่า ขุมกำลังชุดความสำเร็จนี้จะก้าวขึ้นมามีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่ และคว้าแชมป์โลกได้ทุกคน เพราะอดีตที่ผ่านมา นักเตะทีมชาติเยอรมันชุดที่ก้าวไปถึงแชมป์ หรือเข้าถึงรอบตัดสินโทรฟี่ในรุ่นเยาวชนหลาย ๆ คน ไปไกลสุดแค่เล่นในลีกสูงสุดของประเทศ
ตัวอย่างนักเตะชุดรองแชมป์ฟุตบอลโลก U17 เมื่อปี 1985 หรือสมัยที่ยังใช้ชื่อว่าทีมชาติเยอรมันตะวันตก ปรากฏว่ามีนักเตะที่ได้ลงเล่นระดับบุนเดสลีก้าแตะหลักเกิน 240 นัด เพียงสามคนเท่านั้น และไม่มีใครก้าวขึ้นทีมชาติชุดใหญ่ได้เลย
อย่างไรก็แล้วแต่ ใช่ว่าบรรดาเยาวชนที่เคยผ่านเวทีระดับดังกล่าวนี้จะไปถึงขีดสูงสุดไม่ได้ ดังตัวอย่างนักเตะทีมชาติเยอรมัน รุ่นอายุไม่เกิน 17 ชุดแชมป์ฟุตบอลยูโร 2009 ซึ่งมีถึงสามคนที่ก้าวไปสู่ทีมชาติชุดใหญ่ กลายเป็นนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์โลก และที่สำคัญคือพวกเขาพาเยอรมันคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหนล่าสุด (2014) ได้ ประกอบด้วย มาร์ก-อันเดร แตร์ สเตเก้น, ชโคดราน มุสตาฟี่ รวมถึงมาริโอ เกิทเซ่
ด้วยอายุที่ยังอยู่ในวัยแค่ 17 ปี การเติบโตในทิศทางที่ดี ไปจนถึงการไม่เดินออกนอกลู่นอกทางไปเสียก่อน ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเหล่าเยาวชนเยอรมันดีกรีแชมป์ฟุตบอลโลก U17 ดังความเห็นของกุนซือทีมชาติชุดใหญ่คนปัจจุบัน ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์
“พวกเขายังอายุน้อยกันอยู่ เมื่อพวกเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก U17 ได้แล้ว นี่เป็นแรงผลักดันสู่ทีมชาติชุดใหญ่ต่อไปของทุกคน พวกเขาต้องเติบโตในทางที่ดี พวกเขามีโอกาสที่จะทำมันแล้ว”
“และเราจะได้เห็นบางคน (ในทีมชุดใหญ่) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้”
แหล่งอ้างอิง
https://www.facebook.com/photo/?fbid=889853336190705&set=a.292153245960720
https://www.forbes.com/sites/manuelveth/2023/12/02/germany-showed-long-lost-german-virtues-at-u17-world-cup-triumph/?sh=cd083df779cf
https://www.dw.com/en/under-17-world-cup-light-in-german-football-darkness/a-67594994
https://www.dw.com/en/philipp-lahm-germany-can-learn-from-u17s-world-cup-win/a-67620461
https://www.qatar-tribune.com/article/96236/sports/dfb-president-hopes-germanys-u17-teams-wc-title-has-impact-on-euro-2024
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/5-players-to-watch-from-germany-u17-world-cup-finalists-25473