Feature

ทีมชาติบราซิล : การตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที | Main Stand

ในการแข่งขันฟุตบอลระดับทีมชาติ ถ้าให้เอ่ยถึงชื่อทีมชาติระดับท็อปขึ้นมาสักชาติหนึ่ง ด้วยชื่อชั้นหรือดีกรีดังที่สั่งสมมานับแต่อดีต แน่นอนว่าทีมชาติที่คนจำนวนไม่น้อยนึกถึง ก็คือทีมชาติบราซิล 

 


อย่างไรเสีย ดูเหมือนว่าสถานะความแข็งแกร่งในยุคปัจจุบันของขุนพลเซเลเซาดูจะไม่ค่อยสู้ดีเท่าไร ทั้งในแง่ของผลการแข่งขันในสนามและเรื่องนอกสนาม ไล่มาตั้งแต่สถิติแพ้ไปถึง 5 จาก 9 นัดที่ลงทำการแข่งขันในปี 2023 นี้ 

หรือแม้แต่การที่พวกเขายังไม่มีกุนซือทีมชาติชุดใหญ่ในลักษณะของการจ้างงานแบบถาวรมาตั้งแต่หลังจบฟุตบอลโลก 2022 จนอาจกล่าวได้ว่าบราซิลยุคนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตมากที่สุดครั้งหนึ่ง

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น ปัญหาหลักที่ทัพแซมบ้ากำลังเผชิญนั้นมีอะไรบ้าง มาร่วมวิเคราะห์ไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand

 

อดีตทีมดีกรีแชมป์โลก 5 สมัย 

ทุก ๆ ครั้งเมื่อทัวร์นาเมนต์ลูกหนังระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับทั้งโลก อย่างศึกฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย อุบัติขึ้น แน่นอนว่าทีมชาติบราซิล มักจะเป็นทีมที่ใครหลายคนมองว่าจะก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก เป็นทีมแรก ๆ

เหตุผลสำคัญก็เพราะขุนพลแซมบ้า เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์เวิลด์คัพ พวกเขาเป็นแชมป์โลกมาแล้วถึง 5 สมัย ประกอบไปด้วยแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1958, 1962, 1970, 1994 และ 2002 โดยยิ่งใหญ่ถึงขั้นว่าในตอนนี้ก็ยังไม่มีชาติใดล้มสถิตินี้ได้ 

นอกจากนี้ นับแต่ที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหนแรก ตั้งแต่ปี 1930 บราซิลเป็นประเทศเดียวที่ได้ลงเล่นในรอบสุดท้าย “ทุกครั้ง” 

และนับแต่ปี 1970 เป็นต้นมา พลพรรคบราซิลเลี่ยนผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาต์ของการแข่งขันมาโดยตลอด

ด้วยสไตล์การเล่นดั่งภาพจำของคอฟุตบอลว่าบราซิลจะเน้นเรื่องของเทคนิค ความสามารถเฉพาะตัว เล่นฟุตบอลสวยงาม เมื่อนำไปผนวกกับประสบการณ์การเป็นแชมป์ที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่อดีต ทั้งหมดได้กลายเป็นความภูมิใจของแฟนฟุตบอลบราซิลอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ดังการบอกกล่าวจากแดเนี่ยล เทย์เลอร์ นักข่าวซีเนียร์จาก The Athletic 

“ชาวบราซิลต้องการที่จะถูกมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของศิลปะการเล่นฟุตบอล มันทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากเมื่อพวกเขาทำให้โลกตะลึงไปกับสไตล์การเล่นของพวกเขา ไม่ว่าจะทั้งการสร้างสรรค์เกมแบบ Joga Bonito (การเล่นที่สวยงาม) ตามแบบฉบับของเปเล่ ขึ้นมาใหม่ ไปจนถึงการเล่นพร้อมคุณลักษณะชาวบราซิลมองเห็นในตัวเอง : อิสระ จังหวะฟุตบอล และความสนุกสนาน” บทวิเคราะห์จากเทย์เลอร์ 

อย่างไรก็แล้วแต่ แม้บราซิลจะให้ภาพเป็นทีมชั้นนำของโลกมาช้านาน แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะยืนหยัดแบบราบรื่นไปตลอดเส้นทาง 

โดยเฉพาะกับคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่ทีมผงาดแชมป์ฟุตบอลโลกหนล่าสุด เมื่อปี 2002 คิดเป็นช่วงเวลากว่า 20 ปีเข้าไปแล้ว 

เพราะเวลาต่อจากนั้น ขุนพลแซมบ้าไม่เคยเข้าใกล้กับโทรฟี่เวิลด์คัพได้เลย แถมยังเป็นการโดนเหล่าชาติจากยุโรปยึดครองความเป็นแชมป์โลกชนิดกินเวลาถึง 4 หนติดต่อกัน (อิตาลี - 2006, สเปน - 2010, เยอรมนี - 2014 และฝรั่งเศส - 2018)

จนอาจกล่าวได้ว่า มันดูห่างไกลจากความสำเร็จในรูปแบบโทรฟี่นานเกินไป 

 

ท่ามกลางอุปสรรคที่เริ่มก่อตัว

หลังคว้าความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพร่วม เวลาต่อจากนั้น บราซิลตกรอบน็อคเอาต์ของฟุตบอลโลกมาโดยตลอด นั่นรวมถึงแมตช์น้ำตาโศกในรอบรองชนะเลิศปี 2014 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ กับการปราชัยต่อแชมป์ในปีนั้นอย่างทีมชาติเยอรมนี ที่สกอร์ถล่มทลาย 1-7 ด้วย

หรือแม้แต่ทัวร์นาเมนต์สำคัญอื่น ๆ ที่ขุนพลบราซิลเลี่ยนมีโอกาสได้โม่แข้ง อย่างโคปา อเมริกา หรือศึกชิงแชมป์แห่งชาติของทวีปอเมริกาใต้ หากนับช่วงหลังความสำเร็จฟุตบอลโลก 2002 แล้วนั้น 7 ครั้งที่บราซิลลงทำศึกรายการแห่งทวีป พวกเขาคว้าแชมป์ได้เพียง 3 สมัย และที่น่าเจ็บใจกว่านั้นคือในระหว่างปี 2011-2016 บราซิลไม่มีชื่อเข้าชิงชนะเลิศเลยแม้แต่ครั้งเดียว

กับความสำเร็จที่ดูดร็อปลง มันยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายังทัวร์นาเมนต์ใหญ่ล่าสุดของเวทีทีมชาติ อย่างฟุตบอลโลก 2022 

ในการแข่งขันที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพ แม้ว่าขุนพลเซเลเซาจะอุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์ชื่อดังแห่งยุค ปะปนทั้งแข้งมากประสบการณ์และดาวรุ่งอนาคตไกล อาทิเนย์มาร์, อลิสซอน เบคเกอร์, ธิอาโก้ ซิลวา, ดานี่ อัลเวส ไปจนถึงวินิซิอุส จูเนียร์ ฯลฯ แถมยังถูกยกย่องให้เป็นเต็งหนึ่งจากทั้งสื่อมวลชนและบรรดากูรูทั่วมุมโลก

กระนั้น บราซิลก็ยังจอดแค่รอบก่อนรองชนะเลิศด้วยน้ำมือของทีมชาติโครเอเชีย จากการดวลจุดโทษพ่าย 2-4 หลังเสมอในเวลา 120 นาที 1-1

เมื่อเส้นทางสู่แชมป์โลกสมัยที่ 6 ยังต้องรอไปอีกในอนาคต กับความพ่ายแพ้ที่ยากจะทำใจนี้ ได้ส่งผลกระทบตามมาอีกหลายโมเมนต์ 

เริ่มตั้งแต่การประกาศอำลาตำแหน่งกุนซือทีมชาติของติเต้ เทรนเนอร์คู่บุญผู้อยู่คุมทีมมาตั้งแต่ปี 2016 โดยเป็นการทำตามสัญญาที่เขาเคยให้ไว้เมื่อครั้งก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ ว่าหากไม่อาจพาบราซิลเป็นแชมป์ได้ ก็จะขอลาออกจากการทำหน้าที่

และไม่น่าเชื่อว่าการลาออกของติเต้ จะทำให้ทีมชาติบราซิลเผชิญภาวะสุญญากาศเข้ามาท้าทายอีก นั่นเพราะทางสหพันธ์ฟุตบอลของประเทศ (CBF) ไม่ได้ประกาศตั้งใครเข้ามาคุมทีมแบบสัญญาถาวร 

โดยทาง CBF ตัดสินใจแต่งตั้งรามอน เมเนเซส ผู้จัดการทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีขึ้นทำหน้าที่แทน แถมยังเป็นการทำงานในรูปแบบ “ชั่วคราว” 

ที่ไม่ได้ตั้งโค้ชคนใหม่ขึ้นมาแบบเต็มตัวในทันที เพราะว่ากันว่าสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลยอมกลืนน้ำลายตัวเอง จากเดิมที่ยึดมั่นในกุนซือสัญชาติบราซิลเลี่ยนมาโดยตลอด นับแต่ก่อตั้งองค์กรลูกหนังแม่ของตัวเองขึ้น มาเป็นการเฟ้นหาเฮดโค้ชจากต่างชาติบ้างแล้ว 

โดยก่อนหน้าบราซิลใช้บริการโค้ชต่างชาติเพียง 3 รายเท่านั้น จนถึงตอนนี้มีรายงานปะทุขึ้นเรื่อย ๆ ว่าบราซิลเริ่ม “ไม่ปิดโอกาส” แต่งตั้งโค้ชชาวต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่กุนซือใหญ่ดูบ้าง ท่ามกลางข่าวพัวพันกับกุนซือต่างชาติหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคาร์โล อันเชล็อตติ, ซีเนอดีน ซีดาน, เป๊ป กวาร์ดิโอล่า รวมทั้งโชเซ่ มูรินโญ่ เป็นต้น

ทั้งนี้ การตั้งรามอน เมเนเซส คุมทีมหลังฟุตบอลโลก 2022 กลับกลายเป็นว่าบราซิลทำผลงานในเกมกระชับมิตรชนิดไม่ได้เรียกความมั่นใจหลังอกหักแรงในฟุตบอลโลกแต่อย่างใด โดยผลงานอุ่นเครื่องตลอดสามเกมแบ่งเป็นผลพ่ายทีมชาติโมร็อคโก 1-2, ชนะทีมชาติกินี 4-1 และแพ้ทีมชาติเซเนกัล 2-4 

เป็นเหตุให้ CBF เลือกเปลี่ยนแปลงเก้าอี้กุนซืออีกครั้ง และในเมื่อแคนดิเดตเบอร์ต้นที่มีข่าวหนักหน่วงกว่าใคร อย่างอันเชล็อตติยังมีสัญญากับเรอัล มาดริด ถึงมิถุนายน 2024 นั่นทำให้ทางสหพันธ์ลูกหนังแซมบ้า ก็ต้องรอให้สัญญาของเทรนเนอร์ประสบการณ์สูงเลือดอิตาเลียนหมดลงก่อน 

ดังนั้น ทางออกที่เร็วที่สุดในระหว่างการรออย่างอดทน ก็คือต้องหาโค้ชที่มีแนวทางการทำทีมใกล้เคียงอันเช่มากที่สุด 

กระทั่งชื่อมาออกที่เฟร์นานโด ดินิซ เฮดโค้ชที่พาฟลูมิเนนเซ่ ผงาดแชมป์โคปา ลิเบอร์ตาดอเรสได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เข้ามารับงานในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ และการทำหน้าที่ของดินิซก็ไม่ได้เข้ามาคุมแบบถาวร สัญญาของเขาเป็นไปในรูปแบบของกุนซือรักษาการณ์ กล่าวคือ เมื่อใดที่บราซิลไม่มีแข่งตามปฏิทินฟีฟ่าเดย์ เขาก็กลับไปคุมฟลูมิเนนเซ่ตามเดิม

อย่างไรก็ดี ผลงานของเฟร์นานโด ดินิซ ไม่ได้ดูดีกว่าเมเนเซสสักเท่าไร ถึงตอนนี้เขาคุมชาติบ้านเกิดตัวเองไปแล้ว 6 นัด แถมเป็นการคุมทีมลงแข่งฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 2026 โซนอเมริกาใต้ เขาพาแซมบ้าชนะ 2 เสมอ 1 และแพ้ไปถึง 3 นัด หนึ่งในนั้นคือเกมแพ้คู่ปรับตลอดกาลอย่างอาร์เจนติน่า 0-1 แถมยังเสียสถิติไร้พ่ายในบ้านจากการแข่งฟุตบอลโลก รอบคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อย

นั่นเท่ากับว่าหลังจบฟุตบอลโลก 2022 เข้าสู่ผลงานตลอดปี 2023 บราซิลใช้โค้ชขัดตาทัพสองคน ยังไม่มีการแต่งตั้งใครแบบถาวร 

แถมผลงานของทัพบราซิลเลี่ยนก็ไม่สู้ดีตลอดปี แข่งไป 9 นัด แพ้ไปถึง 5 นัด ส่วนแต้มในตารางคัดบอลโลกโซนอเมริกาใต้ ก็รั้งอยู่อันดับ 6 หรืออันดับสุดท้ายของโควตาทีมลุยเวิลด์คัพ 2026 โดยมีแต้มตามอาร์เจนติน่า จ่าฝูงหลังผ่าน 6 เกม ถึง 8 แต้มเลยทีเดียว

กับ “คลื่นใต้น้ำ” ที่ดูเหมือนจะเริ่มก่อตัวขึ้นแบบช้า ๆ กับทีมชาติบราซิล แล้วพวกเขาควรทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองยังคงสถานะชาติเบอร์ต้น ๆ ของโลกลูกหนัง 

บางทีอาจเริ่มจากการจัดการเรื่องราวภายในของตัวเองเป็นอันดับแรก

 

ปัญหาว่าด้วยเรื่องโค้ชสัญญาถาวร

มองมายังปัญหาแรก ยังคงเป็นเรื่องการใช้บริการกุนซือในลักษณะของการขัดตาทัพเป็นเวลาร่วมปี เปรียบเสมือนการทำงานในลักษณะที่ดูไม่เต็มเม็ดเต็มเหนี่ยวไปเลยในทันที 

เพราะแทนที่บราซิลจะได้กุนซือคนใหม่เข้ามาคุมทีมชาติเข้าสู่ยุคใหม่หลังความล้มเหลวในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ พวกเขาอาจต้องรอกุนซือถาวรไปอีกระยะใหญ่ หากเป้าหมายหลักตามข่าวยังไม่เปลี่ยน

“นักวิจารณ์ของ Globo สถานีโทรทัศน์บราซิล ไม่สบอารมณ์เมื่อต้องพูดถึงสถานะของทีม โดยไคโอ ริเบโร่ อดีตแข้งทีมชาติบราซิลที่ตอนนี้ผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์ กล่าวโทษทีมที่ไร้ตัวกุนซือถาวร ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมอย่างรวดเร็วหลังจบฟุตบอลโลก ทว่าทีมเซเลเซากลับใช้บริการกุนซือชั่วคราว” ทอม แซนเดอร์สัน จาก The Guardian เผย

“บราซิลอยากรออันเชล็อตติใช่ไหม? จนกว่าเขาจะมาถึงเราอาจจะต้องอับอายเพิ่มไปอีกนะ เราจะถูกหลาย ๆ ทีมที่เราไม่เคยคิดมากก่อนว่าจะเสมอหรือแพ้ คว้าชัยชนะเหนือพวกเราได้” วอลเตอร์ คาซากรันเด้ อดีตทีมชาติบราซิลยุค 80s ที่ผันตัวมาเป็นผู้สันทัดกรณี แสดงมุมมอง

หรือแม้แต่การทำทีมในช่วงเวลารอยต่อระหว่างเมเนเซสมาสู่ดินิช แม้เทรนเนอร์ของฟลูมิเนเซ่จะมีปรัชญาในใจว่าต้องการนำแนวทางฟุตบอลที่เปรียบดั่ง “แก่นแท้” ของฟุตบอลบราซิลมาสู่ทีมชาติชุดใหญ่ 

ทว่าด้วยการที่กุนซือรายนี้ทำงานสองจ็อบในเวลาเดียวกัน ที่สุดแล้วเขาก็โดนวิจารณ์ในแง่ลบมากกว่าบวก โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่สามารถจัดการเรื่องกลยุทธ์ในสนามดีพอ ตลอดจนปัญหาแข้งเกรดท็อปบาดเจ็บได้แบบเหมาะสม เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการพาทีมชาติแพ้รวดสามเกมในภารกิจคัดฟุตบอลโลก 2026

“ตอนนี้บราซิลแพ้ 3 นัดติดต่อกันแล้ว พวกเขาไม่เคยแพ้ 2 นัดรวดในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกมาก่อน ชัดเจนว่าเมื่อเฟร์นานโด ดินิซเข้ามารับตำแหน่ง มันเป็นเรื่องยากสำหรับเขา” ทิม วิคเคอรี่ นักข่าวอิสระชาวอังกฤษ ที่เข้าไปอยู่ในบราซิลมาตั้งแต่ปี 1994 ร่วมวิจารณ์

“การคุมทีมชาติดูมีอะไรให้ต้องระแวดระวังมากกว่าการคุมสโมสร เพราะคุณไม่ได้มีเวลาในสนามซ้อมมากขนาดนั้น และดินิซไม่มีประสบการณ์ในระดับนี้”

การจัดการขุมกำลังทีมชาติหลังช่วงเปลี่ยนผ่านจากฟุตบอลโลก 2022 ก็เป็นอีกประเด็นที่ชวนให้ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยกับบราซิล โดยมีประเด็นใหญ่สองเรื่องที่ชวนให้ขบคิด นั่นคือ การคงนักเตะมากประสบการณ์เป็นฟันเฟือง หรือจะนำสายเลือดใหม่เข้ามาเป็นหัวใจไปเลย

ยกตัวอย่างเนย์มาร์ ในวัย 31 ปี ได้รับบาดเจ็บบริเวณเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดไปเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2023 ผลคือต้องพักรักษาอาการร่วมปี บราซิลจะยังให้แนวรุกจากอัล ฮิลาล ผู้นี้เป็นแกนหลักของทีมในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์หลังจากนี้อีกหรือไม่ 

หรือจะเปลี่ยนวิถีมาใช้กลุ่มแข้งอนาคตไกลเข้าสู่ยุคใหม่ไปเลย นำโดยวินิซิอุส จูเนียร์, โรดรีโก้, กาเบรี่ยล มาติเนลลี่ หรือแม้แต่ดาวรุ่งวัย 17 อย่างเอ็นดริค เป็นต้น ทั้งนี้ ก็น่าจะขึ้นอยู่กับตัวผู้จัดการทีมชาติคนใหม่ ว่ามีแนวคิดกับการทำทีมสู่อนาคตอย่างไร

 

มองมายังโครงสร้างส่วนบน

การมองไปยังโครงสร้างส่วนบนของทีมชาติบราซิลก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งตัวละครหลักก็คือสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล โดยเฉพาะเรื่องของการทำรายได้เข้าสหพันธ์ฯ แต่มันดันสวนทางกับผลงานของทีมชาติในสนามแข่งขัน 

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปหลังความสำเร็จในฟุตบอลโลก 2002 การเป็นแชมป์ 5 สมัยของทัพเซเลเซา ทำเอาองค์กรลูกหนังของประเทศมีแพลนหารายได้จากความสำเร็จครั้งนั้น

กระทั่งปี 2006 ผู้บริหารของ CBF ได้ลงนามในสัญญาที่อนุญาตให้บริษัทภายนอกรับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันเกมกระชับมิตรทีมชาติของบราซิลเป็นเวลา 10 ปี ริเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2012 ไปจนถึงช่วงฟุตบอลโลก 2022 ภายใต้ชื่อ “Brasil Global Tour” หรือกล่าวโดยสรุปคือบราซิลกำลังจะทำกำไรจากการเตะอุ่นเครื่องเดินสายทั่วโลก

แน่นอนว่ารายได้ส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าสหพันธ์ฯ อย่างที่ไม่มีใครสงสัย แต่ในทางกลับกัน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นผลดีกับภาพรวมของทีมชาติชุดใหญ่สักเท่าไร 

เพราะมีการตั้งข้อสังเกตตามมาต่อว่า การแข่งขันดังกล่าว ให้ภาพของการแข่งขันเพื่อ โชว์ตัวสตาร์ หรือเพื่อความบันเทิง มากกว่าอุ่นเครื่องเพื่อลองระบบทีม ไปจนถึงให้โอกาสนักเตะเกรดรองลงมา ไปจนถึงดาวรุ่งเท่าที่ควรจะเป็น

“ฟุตบอลโลกปี 2002 จบลงด้วยการที่บราซิลเป็นแชมป์โลก 5 สมัย โดยมีโรนัลโด้, โรแบร์โต้ คาร์ลอส, คาฟู, ริวัลโด้, กาก้า, โรนัลดินโญ่ เรียกได้ว่าเป็นดรีมทีม” จามิล ชาเด (Jamil Chade) นักข่าวกีฬาชาวบราซิล ให้สัมภาษณ์กับ DW “นั่นคือตอนที่ CBF เริ่มมองถึงการเพิ่มแง่มุมเชิงพาณิชย์ของทีมชาติให้อยู่ในระดับที่ไร้สาระ”

“ถ้าคุณต้องการวางแผนทีมเพื่อคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในเวลา 4 ปี บางครั้งคุณต้องทดสอบนักเตะอายุน้อยเพื่อให้มีโอกาสที่ดีที่สุด แต่นั่นเป็นไปไม่ได้สำหรับบราซิล เนื่องจากสัญญา (Brasil Global Tour) ของพวกเขา” 

“ส่วนหนึ่งของสัญญาระบุว่าหากผู้เล่นได้รับบาดเจ็บและไม่สามารถเข้าร่วมในเกมกระชับมิตรได้ CBF ก็ต้องเรียกผู้เล่นคนอื่นที่มีมูลค่าทางการตลาดใกล้เคียงกันเข้ามาทดแทน มันไม่ได้เกี่ยวโยงกับผู้เล่นที่มีความสามารถหรือแท็กติกเหมือนกัน”

“หน้าที่ของโค้ช ไม่สิ ในสัญญาบอกว่าตัวสำรองต้องมีมูลค่าทางการตลาดใกล้เคียงกัน นั่นไม่ใช่เรื่องของกีฬาแล้ว มันคือธุรกิจ” 

หากมองลึกลงไปที่เกมการแข่งขัน สื่อสายเจาะอย่าง DW ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากทั้งหมด 60 นัดที่บราซิลลงกระชับมิตรก่อนถึงฟุตบอลโลก 2022 มีเพียง 11 นัดเท่านั้นที่ลงแข่งขันในบราซิล เรื่องนี้มีผลไม่น้อยกับการเพิ่มช่องว่างที่ห่างขึ้นระหว่างทีมชาติชุดใหญ่ กับแฟนบอลในบราซิล

ในปี 2023 ก็เช่นกัน บราซิลยังคงเป็นทีมตะลอนเดินสายทัวร์ อย่างเกมอุ่นเครื่องต้นปี พวกเขาลงเตะที่โมร็อคโก, สเปน และโปรตุเกส ตามลำดับ

เช่นเดียวกับโอกาสการเจอทีมที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากชาติชื่อดังแห่งยุโรป อย่างบราซิลยุคติเต้ เขาเคยคุมทัพบ้านเกิดเผชิญหน้ากับทีมยุโรปเพียง 12 ครั้งตลอดระยะเวลา 6 ปี และเกมเหล่านั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

2023 อาจไม่ใช่ปีที่น่าจดจำของแฟนฟุตบอลบราซิลสักเท่าไร ไม่ว่าจะเรื่องชื่อของกุนซือใหญ่คนใหม่ ผลงานในสนามที่ไม่สู้ดี ไปจนถึงแผนงานสู่เป้าหมายใหญ่แชมป์โลกสมัยที่ 6 

“รีบแก้ไขก่อนจะสายเกินไป” บางทีคำกล่าวนี้อาจใช้พาดพิงถึงทีมชาติบราซิล ในยุคสมัยปัจจุบันได้ดีที่สุด

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.researchgate.net/publication/232876342_The_Crisis_of_Brazilian_Football_Perspectives_for_the_Twenty-First_Century 
https://www.dw.com/en/world-cup-is-brazils-federation-holding-the-team-back/a-63622427
https://www.skysports.com/football/news/11095/13013521/is-brazilian-football-in-a-state-of-crisis-after-crushing-loss-to-lionel-messis-argentina 
https://www.thehindu.com/sport/football/brazil-ends-year-in-poor-shape-under-interim-coach-as-it-waits-for-word-from-carlo-ancelotti/article67564671.ece 
https://www.theguardian.com/football/2023/nov/21/brazil-back-roots-even-losing-argentina 
https://www.theguardian.com/football/2023/jun/23/brazil-defeat-senegal-argentina-no-manager-form-confidence 
https://en.wikipedia.org/wiki/Brazil_national_football_team 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ