Feature

นักกีฬาคือหมาล่าเนื้อ : กำปั้นสิบล้านอย่าง “รถถัง” จะรับมือเรื่องการเงินอย่างไร | Main Stand

นักกีฬามักถูกเปรียบไม่ต่างจาก หมาล่าเนื้อ จากข้อจำกัดด้านระยะเวลาการใช้งานร่างกาย จึงต้องใช้ทุกช่วงนาทีเร่งไล่ล่าความสำเร็จมาครอบครองให้ได้มากที่สุดเพื่อความอยู่รอดในบั้นปลายชีวิต

 


หลายคนไปไม่ถึงฝัน หลายคนกวาดชื่อเสียงเงินทองมากมายมาไว้ในมือ แต่หลายครั้งที่ปลายทางสุดท้ายในชีวิตของพวกเขากลับไม่ต่างกัน เราจึงมักเห็นข่าวอดีตนักกีฬาผู้โด่งดังต้องตกระกำลำบากหลังยุติอาชีพมาแล้วนักต่อนัก 

แม้พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย แต่เงินทองที่หามาได้กลับอันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอยจากการใช้จ่ายที่ไร้ซึ่งการวางแผนอันเหมาะสม

บางคนเลือกนำเงินที่หามาได้ไปเปิดร้านอาหาร บางคนลงทุนทำแบรนด์สินค้า บางคนเลือกเก็งกำไรกับอสังหาริมทรัพย์ ซื้อที่ดิน ซื้อคอนโด … แต่ในโลกความจริงอันโหดร้าย ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง จากกำไรก้อนโตที่เคยวาดฝันอาจหมดไปจนถึงขั้นติดลบเลยก็ได้

คำถามนี้จึงวนเวียนกลับมาอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรให้นักกีฬาหลุดพ้นจากวงจรเหล่านี้ โดยเฉพาะในยุคที่นักมวยไทยอย่าง รถถัง จิตรเมืองนนท์ สามารถหาเงินได้หลักสิบล้านบาทเพียงชั่วข้ามคืน

 

หมาล่าเนื้อ

วงการกีฬาทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “รถถัง จิตรเมืองนนท์” ยอดกำปั้นแห่งยุคที่มีค่าตัวต่อไฟต์สูงที่สุดในเมืองไทยถึง 10 ล้านบาท 

นักชกวัย 26 ปีจากพัทลุง ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าด้วยความมุมานะและความพยายามอย่างหนัก ทำให้เขาสามารถพลิกชีวิตของตัวเองจากเด็กยากจนสู่การเป็นเศรษฐีภายในระยะเวลาไม่กี่ปีด้วยการชกมวยเพียงอย่างเดียว

แต่คำถามก็คือ เงินทองที่เขาหามาได้จะอยู่จีรังได้นานขนาดไหน เพราะต้องอย่าลืมว่านักมวยนั้นไม่ต่างจากหมาล่าเนื้อที่ใช้ร่างกายไล่ล่าความสำเร็จ เมื่อแรงหมดก็ต้องปิดฉากอำลาสังเวียนผ้าใบ

หนำซ้ำชีวิตแต่ละวันก็อยู่บนความเสี่ยง ไม่มีเงินเดือนประจำ จะได้เงินก็ต่อเมื่อขึ้นเวทีเท่านั้น หากบาดเจ็บ ฟอร์มตก หรือเกิดอุบัติเหตุ ก็แทบจะหมดสิทธิ์หาเงินทันที ดังนั้นนอกจากจะทุ่มชีวิตกับการหาเงินแล้วยังต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านการเงินที่มีอยู่ด้วย 

รถถังเองก็เช่นกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาต้องเริ่มเตรียมแผนการในอนาคตเพื่อรับมือหากถึงวันที่แขวนนวม

“มีช่วงหนึ่งที่ผมเผาผลาญเงินไปมากอยู่ เราเคยจนมาก่อน พอมีเงินก็ใช้จ่ายเกินตัว อยากได้อะไรก็ต้องได้อย่างใจหวัง พอเริ่มคิดได้ก็เริ่มหันมามองที่ครอบครัว เก็บออมเพื่อวันข้างหน้า หาซื้อที่ดินเพื่ออนาคตที่อยากเปิดค่ายปั้นนักมวย หรือทำวิลล่าทุ่งนาให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนและฝึกมวย” รถถัง เปิดใจถึงแผนในอนาคต

เช่นเดียวกับ ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9 คู่ปรับที่มอบความพ่ายแพ้ให้แก่รถถังในไฟต์ล่าสุด ที่ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี หลังเคยไม่มีไฟต์ขึ้นชกนานนับปีจนเงินที่สะสมมาร่อยหรอจนต้องไปขอหยิบยืมจากเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง

ซุปเปอร์เล็กเองได้เริ่มวางแผนให้กับอนาคตของตัวเองด้วยการหาซื้อคอนโดทำเลดีเพื่อหวังนำมาปล่อยเช่าทำกำไร รอเวลาทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้คือการเปิดยิมของตัวเองหลังเลิกชก

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะตัวอย่างในอดีตมีให้เห็นมาแล้วมากมาย นักกีฬาหลายคนหาเงินได้หลักแสนหลักล้าน แต่ก็หมดไปจากการนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความรู้และประสบการณ์จนขาดทุนย่อยยับ หรือบางคนที่เก็บหอมรอมริบแต่ไม่คิดนำไปต่อยอดจนเงินที่มีค่อย ๆ หมดไปตามกาลเวลา

พวกเขาเหล่านั้นสามารถหาเงินได้มากมายก็จริง แต่สิ่งที่ยังขาดไปก็คือ “ความรู้ทางการเงิน” ที่จะช่วยบริหารจัดการเงินที่หามาได้ให้มีโอกาสงอกเงยเพิ่มมากขึ้น 

แล้วหากถึงวันหนึ่งที่พวกเขาไม่สามารถเล่นกีฬาและหาเงินจากสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุดได้ พวกเขาจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ตัวเองมีเงินในการใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นจวบจนวันสุดท้าย  

 

สังเวียนชีวิตที่แพ้ไม่ได้

ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาในอดีตถือเป็นบทเรียนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ … บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XSpring ผู้ให้บริการทางการเงินและที่ปรึกษาด้านการลงทุนครบวงจร ได้ร่วมมือกับ ONE Championship และสนามมวยเวทีลุมพินี จัดงานเสวนาในชื่อ “PLAY TO WIN สังเวียนชีวิตที่แพ้ไม่ได้” เพื่อพัฒนาทักษะนักกีฬาให้มีความรู้ทางการเงินรอบด้าน

พร้อมเชิญวิทยากรด้านการเงินของเมืองไทยมาถ่ายทอดความรู้ นำโดย ยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด และ “โค้ชเป๊ก” ปุณยวีร์ จันทรขจร Money Coach เจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊กการลงทุนระดับ Best Seller ทั้งด้านหุ้นและทองคำ โดยมี รถถัง ซุปเปอร์เล็ก และ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในซีซั่นแรก

“นักกีฬาเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถสร้างชื่อเสียง ความสำเร็จ และความมั่งคั่งทางการเงิน แต่บ่อยครั้งที่ความสำเร็จเหล่านั้นไม่ยั่งยืน เราจึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงอนาคตทางการเงินของกลุ่มนักกีฬาทุกประเภทให้ก้าวข้ามความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้น”

“เราจึงเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับนักกีฬาอาชีพ เพราะเราเชื่อว่าการให้ความรู้ด้านการลงทุน การวางแผนทางการเงิน ไปจนถึงมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ หรือมีคนที่เข้าไปช่วยให้คำแนะนำด้านการลงทุน จะมีส่วนช่วยให้นักกีฬาสามารถวางแผนหรือบริหารจัดการการเงินได้ดีขึ้น”

“สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นนักกีฬามีรายได้ไปจนถึงตอนเลิกเล่นดีขึ้น และภาพลักษณ์ที่ออกมาจะเป็นตัวอย่างของความสำเร็จให้กับเด็ก ๆ ที่อยากก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาได้เห็นต่อไป” ยศกร กล่าวถึงความตั้งใจของ XSpring

ภายในงานมีการแนะนำเคล็ดลับและช่องทางการลงทุนในหลากหลายมุมมองให้นักกีฬาได้รับรู้ ไล่ตั้งแต่เรื่องการแบ่งเงินที่ได้มาเป็นสัดส่วน สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้หนี้ เก็บออม ไปจนถึงใช้ลงทุนช่องทางต่าง ๆ เพื่อนำเงินที่หามาได้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กลับคืนมา

การลงทุนคือการนำเงินไปเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อะไรบางอย่างเพื่อ 1.หวังส่วนต่างของราคา เช่น ซื้อที่ดิน ซื้อรถ ซื้อทอง หรือ 2.หวังเงินปันผลเป็นประจำทุกเดือนทุกปี เช่น การลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป 

“การลงทุนเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่มีถูกมีผิด ต้องมาดูว่าปัญหาการเงินวันนี้คุณขาดอะไร ถ้าเป็นนักมวยที่มีรายได้ผันผวน แสดงว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดของเขาคือรายได้ที่มั่นคง เช่น เงินปันผลจากตราสารหนี้หรือตราสารทุน เพราะเขาขาดกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอทุกเดือนและทุกปี” 

“เราสามารถวางแผนทั้งหมดได้ว่าช่วงเวลาที่เหลือเราต้องการใช้เงินเท่าไหร่ วันนี้เรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มีหนี้จะต้องจ่ายเท่าไหร่ และอยากได้เท่าไหร่ แล้วมาดูกันว่าความเป็นไปได้ของเงินต้นที่ไปต่อยมวยหรือเตะบอลแล้วหามาได้จะลงทุนส่วนใดเท่าไหร่บ้างจึงจะได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ” โค้ชเป๊ก แนะนำ

นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อคิดเรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่องด้วย เพราะบางคนเลือกที่จะลงทุนกับการซื้อที่ดินหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่พอเกิดปัญหาฉุกเฉินด้านการเงิน ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถขายออกได้ง่ายในทันที ดังนั้นจึงควรแบ่งลงทุนกับสิ่งที่สามารถขายออกได้ในระยะเวลา 1-2 วัน อย่างทองหรือกองทุนรวมระยะสั้น

คำแนะนำเหล่านี้ล้วนเปิดโลกให้กับนักกีฬาทั้ง 3 คนเป็นอย่างดี เพราะตลอดทั้งชีวิตพวกเขาโฟกัสอยู่กับการฝึกซ้อมและการแข่งขัน เงินทองที่หามาได้ก็ถูกใช้ไปตามที่ใจต้องการ การลงทุนต่าง ๆ ก็เป็นไปตามสัญชาตญาณ ขาดความรู้และการมองให้รอบด้าน

“เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผมไม่เคยได้รับรู้เลย เราจะมีแต่รูปแบบเดิมคือซื้อที่ดินหรือซื้อสิ่งของมาเก็บไว้เผื่อภายภาคหน้าอย่างเดียว แต่การดำเนินชีวิตแต่ละวันหรือแต่ละเดือนที่เราต้องใช้จ่ายเนี่ยจะต้องหาเงินจากทางไหนไม่เคยคิดถึงเลย”

“พอมาได้มาฟังก็ทำให้ผมต้องกลับไปคิดอีกอย่างหนึ่ง จากที่เคยซื้อที่ดินก็อาจต้องลองแบ่งสัดส่วนไปทางอื่นบ้าง เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เรามีเงินหมุนเวียนได้ตลอด ถ้าเราไม่ชกก็ยังมีเงินจากการลงทุนตรงนี้มาใช้จ่าย” รถถัง อธิบาย

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่เพิ่มองค์ความรู้และเพิ่มทางเลือกให้กับทั้ง 3 คนเท่านั้น หากแต่การถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้นจะช่วยเหลือนักกีฬาไทยได้แน่นอน

 

สร้างฮีโร่อย่างแท้จริง

การวางแผนบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุนด้านต่าง ๆ ที่เหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำในการเสวนาครั้งนี้ อาจดูเป็นเรื่องใหม่ในวงการกีฬาไทย ทว่าในต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

ท็อปสตาร์ระดับโลกจำนวนมากล้วนมีการจัดการด้านการเงินหรือการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างมืออาชีพ หลายคนมีผู้จัดการด้านการเงินของตัวเองโดยเฉพาะเพื่อดูแลเงินที่ได้มาว่าจะบริหารด้านภาษีอย่างไร บริหารสวัสดิการอย่างไร แบ่งเงินทำประกันหรือลงทุนกับอะไรให้งอกเงยขึ้นมาได้บ้าง

กระทั่งการเข้ามาปลุกชีพมวยไทยของ ONE Championship ที่มอบเงินค่าตัวและโบนัสหลักแสนหลักล้านให้กำปั้นไทยเป็นว่าเล่นในศึก ONE ลุมพินี การวางแผนจัดการด้านการเงินให้แก่นักกีฬาเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้

“ถ้านักสู้ระดับซูเปอร์สตาร์ของเรารีไทร์ไปแล้วไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบาย คนก็ไม่สามารถเชื่อว่ากีฬานี้สามารถสร้างฮีโร่ได้” ปลาย-จิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย กล่าว

“วันนี้เราสร้าง ONE ลุมพินีให้กลายเป็นรายการมวยไทยที่มีคนดูเยอะที่สุดในโลกได้แล้ว เราสร้างนักมวยระดับเงิน 10 ล้านให้เห็นแล้วทั้งรถถัง แสตมป์ รวมถึงสตาร์ระดับเงินล้านอีกมากมายหลายคน” 

“สิ่งที่เราต้องการขยายผลจากตรงนี้คือการที่เราได้เห็นจริง ๆ ว่าในบั้นปลายชีวิตของนักกีฬาเหล่านี้ นอกจากจะถูกจดจำในฐานะแชมเปียนระดับโลก เราต้องการให้เขามีความมั่นคงและมั่งคั่ง เสมือนกับเศรษฐีที่รีไทร์ไปแล้วก็ยังสุขสบาย เลี้ยงดูครอบครัวตัวเองได้ และมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง”

“ดังนั้นเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงิน การลงทุน และทัศนคติตรงนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ทักษะการต่อสู้บนสังเวียน การจับมือกับพาร์ตเนอร์ด้านการเงินของเราในวันนี้จะช่วยจุดประกายการพัฒนาซอฟท์สกิลของนักกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากถ้าเราต้องการให้อุตสาหกรรมมวยไทยมีความยั่งยืนจริง ๆ”

“เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังขาดในวงการกีฬาไทย ผมจึงอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับวงการกีฬาไทยในอนาคต โดยเฉพาะกับวงการมวยไทย” จิติณัฐ ทิ้งท้าย

ชีวิตหลังจากนี้ของรถถังจึงถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนให้กับนักกีฬาคนอื่น ๆ ในอนาตต กับการรักษาชื่อเสียงและเงินทองที่หามาได้จวบจนหลังเลิกชก ให้สมกับการเป็นฮีโร่ที่ทุกคนอยากเจริญรอยตาม

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น