หากย้อนกลับไปในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ เมื่อไรก็ตามที่ ทีมชาติไทย มีโปรแกรมฉะแข้งกับ ทีมชาติจีน แน่นอนว่านี่คือเกมการแข่งขันที่ “ยาก” เกมหนึ่งของทัพช้างศึก ชนิดที่ใครหลายคนแทบไม่ต้องสงสัย
แม้จะไม่ได้เป็นทีมระดับแชมป์ผูกขาดในเอเชีย ทว่าด้วยความยิ่งใหญ่หลาย ๆ อย่างหล่อหลอมให้พลพรรคมังกรเป็นทีมที่น่าจับตามองอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะจุดเริ่มต้นจากลีกอาชีพอันเลื่องชื่ออย่าง ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ไปจนถึงยุคที่มีกุนซือชื่อดังอย่าง มาร์เซโล่ ลิปปี้ ตลอดจนการมีไอค่อนโมเดลที่โลดแล่นในลาลีกาอย่าง อู๋ เหล่ย เป็นฟันเฟือง
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาพัดผ่านมาสู่ยุคสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีให้หลัง ภาพรวมของทีมชาติจีนชุดใหญ่กลับพลิกดั่งหนังคนละม้วนกับช่วงเวลาก่อนหน้า จนกลายเป็นว่าเกือบทุก ๆ ชาติที่มีคิวต่อกรกับจีนไม่จำเป็นจะต้องเกรงกลัวอีกต่อไป
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? แล้วสภาพการณ์ในปัจจุบันของทัพมังกรแห่งเอเชียกำลังเดินไปในทิศทางใด ?
Main Stand ได้ชวน "อาจารย์เอี่ยม" ศรัณยู ยงพานิช ผู้สันทัดกรณีเรื่องฟุตบอลจีน จากแฟนเพจเล่าเรื่องบอลจีน มาไขคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
สารตั้งต้นที่ฟุตบอลลีก
ภายหลังจากที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจริงจังกับการกวาดล้างการคอร์รัปชั่น การล้มบอล และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลในประเทศแบบถอนรากถอนโคน เมื่อปี 2010 ราว ๆ หนึ่งปีต่อจากนั้น สี จิ้นผิง ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี ได้ตั้งปณิธานเรื่องความยิ่งใหญ่ของแวดวงลูกหนังของประเทศ
นั่นคือความฝันที่จะได้เห็นฟุตบอลจีนกลายเป็น “มหาอำนาจโลกฟุตบอล” ภายในปี 2050
กระทั่งช่วงเวลาที่ สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีประเทศ ในปี 2013 เขาเดินหน้าทำตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างจริงจัง ซึ่งภารกิจการสร้างภาพลักษณ์ฟุตบอลจีนขึ้นมาใหม่คือการลงทุนไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือที่มีทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนเป็นฟันเฟือง
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำออกมาแล้วประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด (ณ เวลานั้น) คือการพัฒนาลีกอาชีพสูงสุด โดยเฉพาะการเข้ามาของกลุ่มนักธุรกิจชื่อดังของประเทศที่ต่างก็เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลอาชีพที่ตั้งอยู่ในเมืองที่เศรษฐกิจโต ด้วยเป้าหมายสำคัญคือ “เพื่อเอาใจรัฐบาล”
“ผมเชื่อว่าเกิน 80-90% ของเจ้าของสโมสรฟุตบอลอาชีพในจีนคือนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นคนทำธุรกิจก็ต้องเอาใจรัฐบาลเป็นหลัก พอนักธุรกิจเห็นแล้วว่าผู้นำสูงสุดมาหนุนกีฬาฟุตบอล ทุกคนก็ลงมาโขยกและมีเงินมีทอง จะสังเกตได้ว่าสัก 10 กว่าปีก่อน สโมสรดัง ๆ จะมาจากเมืองที่ GDP ดี ๆ ทั้งนั้น เช่นเมื่องกว่างโจว เซี่ยงไฮ้ เจียงซู ซานตง พวกนี้เป็นเมืองที่ GDP ดีหมด” ศรัณยู ยงพานิช เริ่มอธิบาย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐตั้งใจเต็มที่ขณะที่แต่ละทีมก็ล้วนแต่มีเงินถุงเงินถัง ทำให้บรรดาสโมสรน้อยใหญ่ต่างพร้อมใจกันดึงนักเตะระดับท็อปของโลกเข้ามาร่วมทีมชนิดไม่ยอมกัน ดังชื่อของแข้งซูเปอร์สตาร์ทั้ง ดิดิเยร์ ดร็อกบา, นิโกลาส์ อเนลก้า, ฮัลค์, ออสการ์, คาร์ลอส เตเวซ ไปจนถึง มารูยาน เฟลไลนี่
ขณะเดียวกันนักเตะสัญชาติจีนเองก็จะได้พัฒนาฝีเท้าตัวเองไปด้วยอีกทาง กลายเป็นว่าสโมสรจีนขยับสู่การเป็นทีมแกร่งแห่งทวีป อาทิ ทีมอย่าง กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ที่ไปไกลถึงขั้นเป็นแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก หรือศึกชิงแชมป์สโมสรเอเชียสองสมัย ในปี 2013 และ 2015
มากไปกว่านั้น ความแข็งแกร่งของลีกยังส่งผลต่อทีมชาติจีนชุดใหญ่ด้วยอีกทางหนึ่ง ทีมชาติจีนเคยมีทั้ง มาร์เซโล่ ลิปปี้ หรือ ฟาบิโอ คันนาวาโร่ คุมทัพ จีนเคยมีอันดับโลกฟีฟ่าแตะอันดับที่ 57 ในปี 2017 รวมถึงผลงานที่ขุนพลมังกรเคยปราบทีมแกร่งร่วมทวีปได้มากมาย เช่น เกาหลีใต้ อุซเบกิสถาน และ กาตาร์ ในเกมคัดเลือกฟุตบอลโลก 2018 มาแล้ว
แม้วงการฟุตบอลจีนจะผลิดอกออกผลจนโลกลูกหนังให้การจับตา อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความฮือฮานี้จะราบรื่นไปตลอด เพราะเมื่อมาดูที่ผลลัพธ์อย่างเรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละปีของลีก โดยเฉพาะเรื่องเงินค่าจ้างที่แต่ละทีมจ่ายให้นักเตะต่างชาติ จนกลายเป็นภาพดั่งเงินไหลออกนอกประเทศ “มากกว่า” เป็นภาพรายรับเข้าสู่ประเทศเสียเอง
มิหนำซ้ำ จีนยังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ชนิดที่เจอมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศที่กินเวลานานกว่า 2 ปี จนกลายเป็นว่าสโมสรไม่อาจสร้างรายได้มากพอ ติดเงินค่าจ้างนักเตะ โค้ช และบุคลากรเป็นว่าเล่น เนื่องจากลีกต้องหยุดแข่งขัน
ในเมื่อที่ภาพของสโมสรลีกจีนเปรียบดั่ง “ของเล่นคนรวย” กอปรกับภาวะชะงักงัน เมื่อธุรกิจฟุตบอลที่ไม่ได้ทำกำไรเท่าบริษัทอื่นในเครือ กาลต่อมาทุกอย่างก็ล้มไปตามกลไก สโมสรน้อยใหญ่ตบเท้ากันยุบทีมอยู่บ่อย ๆ
“รูปแบบสโมสรอาชีพในจีนคือจะมีบริษัทในเครือ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในเครือของบริษัทของนักธุรกิจ คือสมมติมี 10 บริษัทในเครือ แต่ 9 บริษัทกำไรมหาศาล แต่ฟุตบอลเหมือนเป็นอะไรที่เอามาละเลงเล่นเพื่อเอาใจรัฐบาลแล้วก็ให้หนุนผ่านนโยบาย พูดตามหน้าเสื่อก็คือ ฉันช่วยคุณผลักดันนะ มันก็กลายเป็นเหมือนของเล่นคนรวย” ศรัณยู ยงพานิช หรือ อาจารย์เอี่ยม ว่าต่อ
“จริง ๆ แล้วที่หลาย ๆ สโมสรปิดตัวลง ผมจะบอกว่าสโมสรไม่ได้เป็นหนี้อะไรขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเขา 'หัวหมอ’ ก็เหมือนกับว่าพอมีตัวเลขติดหนี้เยอะ ๆ ก็ไม่อยากใช้หนี้ เพราะตามระบบฟีฟ่า ใครจะมาเทคโอเวอร์ใหม่ก็ต้องใช้หนี้เก่าด้วย เพราะมันเป็นนิติบุคคล”
“วิธีแก้ง่าย ๆ ก็คือยุบมันไปเลยแล้วไปตั้งใหม่ เริ่มจาก Amateur (ลีกสมัครเล่น) ง่ายกว่า ล้างหนี้แล้วเปลี่ยนผู้บริหาร สร้างชื่อทีมขึ้นมาใหม่โดยที่ยังมีชื่อเมืองอยู่”
ขณะเดียวกัน “ผลสืบเนื่อง” จากความรู้สึกดั่งเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ รวมถึงภาวะโควิด-19 ที่กระทบลีกเต็ม ๆ ได้เกิดขึ้นไปพร้อมกับ “ทีมชาติจีนชุดใหญ่” ด้วย
เพราะภายใต้กรอบเวลาเดียวกัน แม้จีนจะเคยชนะทีมใหญ่ ๆ ได้ก็จริง ทว่าทัพมังกรชุดใหญ่ก็ยังไม่เคยก้าวไปถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้อีกครั้งต่อจากปี 2002 ได้เสียที แถมอันดับโลกของฟีฟ่า โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังก็เกาะตัวเลขคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 70 (บวก) เรียกได้ว่าไม่เคยไปไกลกว่าเลขหลักนี้ได้เลย
กลายเป็นว่าวงการฟุตบอลจีนทั้งลีกและทีมชาติต้องกลับมานับหนึ่งใหม่กันอีกครั้ง
ชุดใหญ่ไม่มีตัวแทน
ในระหว่างที่วงการฟุตบอลจีนอยู่ในช่วงรีเซ็ตกันใหม่ สำหรับทีมชาติจีน ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดคือ ทีมมังกรซีเนียร์ใช้กลุ่มนักเตะ “อายุเยอะ” เป็นแกนหลักในการลงเล่น
อย่างทีมชุดล่าสุดที่เสมอกับ มาเลเซีย 1-1 และพ่ายต่อ ซีเรีย 0-1 ในปฏิทินฟีฟ่าเดย์ กันยายน 2023 นักเตะทุกคนที่ อเล็กซานดร้า แยนโควิช ส่งลงสนามล้วนแต่มีอายุเกิน 26 ปีกันทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นเหล่าตัวเก๋าที่เคยลงเล่นให้ทีมชาติย้อนกลับไปเมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้า ทั้ง จาง หลินเผิง กองหลัง (34), เหยียน จุ้นหลิง ผู้รักษาประตู (32), อู๋ ซี กองกลาง (34) ไปจนถึง อู๋ เหล่ย กองหน้า (31) ล้วนแต่ยังเป็นกำลังสำคัญให้ทีมกันพร้อมหน้า
เหตุผลสำคัญที่ทีมชาติจีนยังคงเข็นแกนหลักอายุเยอะลงบู๊ เพราะพวกเขาไม่มี “ตัวตายตัวแทน” ที่พร้อมจะขึ้นมาสอดแทรกในทีมชุดใหญ่จริง ๆ จัง ๆ
ประเด็นนี้ อาจารย์เอี่ยมมองเหตุผลสำคัญหลายประการที่สอดรับกับการที่ทีมชุดใหญ่ขาดนักเตะตัวแทน ไม่ว่าจะเรื่อง “วัฒนธรรมการเลี้ยงดู” ที่แตกต่างออกไปจากเด็กจีนที่โตมาในยุครอยต่อหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเติบโตมาในชีวิตปากกัดตีนถีบ มาสู่ยุคสมัยใหม่ที่สังคมคนจีนในเมืองเติบโตไปตามสถานะทางเศรษฐกิจ และเลี้ยงลูกแบบประคบประหงมจนกลายเป็นดั่ง “ลูกเทวดา”
นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของฟุตบอลจีนถูกเปลี่ยนไปเป็นกีฬาของคนรวยไปโดยปริยาย แพสชั่นของเด็กที่มีต่อฟุตบอลไม่ได้สูงเหมือนในอดีต และนั่นก็ทำให้ความจริงจังที่มีต่อกีฬาลูกหนังถูกลดทอนไปพอควร
“จริง ๆ แล้วสูตรสำเร็จของนักฟุตบอลอาชีพส่วนใหญ่อย่างที่เราเห็นพวกบราซิลพวกผิวดำคือเป็นคนจนไม่มีเงิน แล้วก็ปากกัดตีนถีบที่จะเอาตัวเองมาถึงจุดสูงสุด เพื่อช่วยเรื่องปัญหาของครอบครัว แต่ที่จีนมันตรงกันข้าม”
“ยิ่งตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ฟุตบอลคือกีฬาของคนรวย ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องพร้อมเรื่องเงิน ซื้อรองเท้า อุปกรณ์ต่าง ๆ ทุกอย่างต้องพร้อม อคาเดมีไหนดังและแพงต้องไป ไปเพื่อโชว์สถานะทางสังคม โชว์กันตั้งแต่ระดับผู้ปกครองเลย”
เช่นเดียวกับการปล่อยบุตรหลานเข้าสู่อคาเดมีที่มีโค้ชฝีมือไม่ถึง เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝนไปจนสุดทางคือก้าวสู่ระบบฟุตบอลแบบจริงจัง ที่สุดแล้วที่ทำไปก็สูญเปล่า
“กับคนสอนที่เป็นโค้ชคนจีน ผมตอบได้เลยว่าเขาไม่ได้ outstanding (โดดเด่น) ถึงขั้นจะสอนให้เด็กเป็นเต้ยแห่งเอเชีย”
“ประเด็นคือ ถ้าครูสอนไม่ดีเด็กก็ได้แค่นั้น พอมาได้แค่นั้นเด็กก็ไม่สามารถขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ได้ทั้งหมด เด็กมันก็ตัน กับคนเป็นพ่อเป็นแม่ พอเห็นแบบนี้ก็คิดว่าทำไมฉันถึงต้องเอาลูกไปเสี่ยงกับอาชีพนักฟุตบอลด้วยล่ะ”
“เพราะฉะนั้น แทนที่จะได้หัวกะทิมา กลับกลายเป็นว่าได้เศษเหลือ ๆ มา แล้วก็ต้องมาปั้นต่อ ปกติจะมีคำว่าปั้นดินเป็นดาว แต่นี่น่าจะปั้นจากดินชั้นสุดท้ายเลย”
หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ โดยเฉพาะกับสมาคมฟุตบอลจีน ซึ่งมองภาพแคบเพียงแค่นักเตะดาวรุ่งสัญชาติจีนจากแค่ “ในประเทศ” เป็นสำคัญ
“อีกปัญหาคือวัฒนธรรมของจีนที่ทุกวันนี้ยังมีอยู่ คือใครจะติดทีมชาติต้องเล่นในประเทศเท่านั้น”
“มันก็เหมือนตัดแข้งตัดขากันเอง คนที่มีอำนาจ ณ ตอนนี้คือคนรุ่นอายุ 45 ปี 50 ปี คนจีนจะอยู่กับบริบทเดิม ๆ เช่น ต้องเล่นในจีนเท่านั้นนะ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เห็นฟอร์ม เมื่อไม่เห็นฟอร์มก็ไม่ถูกเรียกตัวมาติดทีมชาติ ทั้งบอลชายบอลหญิงเป็นแบบนี้หมด”
ทางเลือกเรื่องการแปลงสัญชาติและลูกครึ่ง
ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นชาติที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ยึดมั่นในแนวคิด ชาตินิยม (Nationalism) เป็นทุนเดิม ดังที่ใครหลายคนรับรู้กันดีจากทั้งนโยบายคนจีนมาก่อน (China first) ที่ซึ่งลีกสูงสุดเคยยึดแนวทางนี้มาจัดการกับฟุตบอลลีก ในช่วงปี 2018 ถึง 2020 โดยเฉพาะเรื่องค่าเหนื่อยที่นำไปจ้างนักเตะต่างชาติหรือกุนซือราคาแพง
ไปจนถึงแนวทางเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ซึ่งมุ่งเน้นผลประโยชน์สู่คนในชาติเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าแนวทางนี้ถูกปรับใช้กับวงการฟุตบอลด้วย ภายใต้กระบวนการ แปลงสัญชาติ (Naturalization)
“พอเข้ามาสู่ยุคลูกเทวดาแล้วเนี่ย มายด์เซ็ต (mindset) มันไม่มี จีนเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปนักเตะอย่างพวก จาง หลินเผิง เซ็นเตอร์อายุ 34-35 ปีก็ยังต้องเล่นอยู่ ไม่มีตัวแทน เพราะฉะนั้นเมื่อจีนเห็นแล้วก็ต้องทำอะไรสักอย่าง และจีนก็เป็นประเภทที่เสียหน้าไม่ได้ ก็เลยเกิดโครงการแปลงสัญชาติ” อาจารย์ศรัณยู แชร์มุมมองตัวเอง
และแม้ว่าทีมชาติจีนจะใช้นโยบายแปลงสัญชาติ นำนักเตะมาสวมอาภรณ์ทีมชาติ ซึ่งอาจให้ความรู้สึกขัดกับหลักการชาตินิยม
อย่างไรเสียหากมองลึก ๆ แล้ว ต่อให้ใครจะโอนสัญชาติเข้ามา แต่จีนออกกฎน้อยใหญ่มากมายเพื่อให้นักเตะกลุ่มนี้แปลงสภาพมาเป็นคนจีนแบบถูกต้องตามกฎหมาย ที่ต่างก็แค่รูปร่างสรีระเท่านั้น เช่น จะแปลงสัญชาติได้ก็ต้องอยู่และทำงานในจีนเป็นเวลา 5 ปี และต้องอยู่เกิน 220 วันขึ้นไปต่อปี
ตลอดจนแนวทางเรื่องการเป็นแข้งต่างชาติที่ทำผลงานได้ดียามลงเล่นให้ทีมในลีก ต้องทิ้งสัญชาติเดิม ไปจนถึงต้องร้องเพลงชาติจีนได้ นำมาซึ่งการได้เห็นนักเตะต่างชาติที่ไม่ได้มีหน้าละม้ายคล้ายคนจีนลงสวมยูนิฟอร์มทีมชาติจีนลงบู๊เป็นว่าเล่น อาทิ อลัน คาร์วัลโญ่ (อา หลัน), เอลเคสัน (อ้าย เคอเซิน) และ อลอยซิโอ้ (ลั่ว กั๋วฟู่) เป็นต้น
นี่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องทีมชาติจีนขาดตัวตายตัวแทนได้ในระดับหนึ่ง มิหนำซ้ำนักเตะกลุ่มนี้ยังไม่ถูกปรามาสว่าเป็นคนนอกแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมชาติจีนยังผลักดันอีกหนึ่งแนวทางเพื่อสร้างความแตกต่างไปจากทั้งนักเตะต่างชาติในลีกซึ่งโอนสัญชาติมากับนักเตะจีนแท้ ๆ ในประเทศ นั่นคือการอิมพอร์ตนักเตะประเภท “ลูกครึ่ง” ที่มีเชื้อสายจีนมาจากบรรพบุรุษ
เช่น นิโก้ เยนนาริส สตาร์วัย 30 กะรัต ที่มีตาเป็นคนกว่างโจว ไปจนถึง ไตอัส บราวนิ่ง แข้งวัย 29 ปี ที่มีเชื้อสายจีนกวางตุ้ง และถือเป็นกุญแจสำคัญของทีมชาติชุดใหญ่ด้วยอีกทางหนึ่ง ดั่งมุมมองจากเจ้าของเฟซบุ๊กเพจเล่าเรื่องบอลจีน
“เพราะลูกครึ่งโอนปุ๊บก็ติดทีมชาติเลย มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าถึงแม้จะเล่นในยุโรปลีกต่ำ ๆ แต่มาถึงนี่ก็คือทีมชาติชุดใหญ่เลย มันสะท้อนนะครับว่าจีนรุ่นใหม่มันไม่ไหวจริง ๆ”
“ถามว่ายกระดับได้ไหม ผมก็คงใช้คำว่า ถ้าไม่มีพวกนี้จีนก็จะแย่ไปกว่านี้ได้”
แล้วทีมชาติไทยสู้ทีมชาติจีนได้ไหม ?
ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ผลงานของทีมชาติจีนในช่วงสองนัดหลังสุดนั้นออกมาแบบไม่สู้ดี ออกทั้งเสมอและแพ้ทีมอันดับโลกต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย หรือ ซีเรีย แถมยังเป็นการลงเตะในบ้านตัวเอง
นั่นทำให้หลาย ๆ ชาติที่เตรียมจะโม่แข้งด้วยต่อจากนี้มีลุ้นทำผลงานให้ดีได้ไม่ต่างไปกับทีมเสือเหลืองแห่งแหลมมลายูและซีเรีย
อย่างไรก็แล้วแต่ ต่อให้ฟอร์มในช่วงหลังของจีนจะไม่ได้ดูน่าเกรงขามเฉกเช่นกับช่วงเวลาที่ฟุตบอลลีกสูงสุดบูมแบบขีดสุด
ทว่าจุดแข็งของทีมชาติจีนที่ยังคงยึดปฏิบัติเรื่อยมาก็คือเรื่องสรีระ ความฟิต สอดคล้องกับวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอันเป็นจุดแข็ง ซึ่งหากคู่แข่งทีมใดเผลอก็อาจเป็นหมัดเด็ดที่เหล่าทัพมังกรใช้เล่นงาน
“นักกีฬาจีนเกือบทุกประเภทถูกคัดจากสรีระ รูปร่าง และความฟิตเป็นหลัก มันเป็นแพตเทิร์นมาตั้งแต่อดีตแล้ว แล้วนักกีฬาชุดนี้ก็คือนักกีฬายุคอดีตนะ เพราะอายุก็ 30 กว่ากันหมดแล้ว ส่วนใหญ่เน้นหุ่น เน้นสรีระกันหมด เน้นความแข็งแรง”
“ผมคิดว่าถ้าเกิดเล่นไป 70 นาทีแล้วเราหมด อันนี้ต้องระวังเพราะเขาไม่หมดแน่ แล้ววิทยาศาสตร์การกีฬาของจีนก็น่าจะไปไกลกว่าเราพอสมควร”
“สูสี แต่ไม่มีอะไรต้องไปกลัว” นี่คือความเห็นจากเจ้าของแฟนเพจเล่าเรื่องบอลจีน ที่ทิ้งท้ายเอาไว้ ก่อนที่แฟนบอลไทยจะลุ้นไปพร้อม ๆ กันในสังเวียนราชมังคลากีฬาสถาน วันที่ 16 พฤศจิกายน
“กับทีมชาติชุดใหญ่ ผมคิดว่าสูสี ไม่มีอะไรต้องกลัวแต่ก็อย่าประมาท”
“เพราะทุกวันนี้ จีนก็ยังเป็นจีน”
แหล่งอ้างอิง
https://www.fifa.com/fifa-world-ranking/CHN
https://www.bbc.com/thai/international-49711667
https://www.nytimes.com/2023/03/29/sports/soccer/china-soccer.html