Feature

กล้าฝันให้ใหญ่ยิ่ง : เมื่อนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ตั้งเป้าเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกเร็วขึ้น 24 ปี | Main Stand

ญี่ปุ่น คือหนึ่งในชาติขาประจำจากทวีปเอเชียที่สามารถตีตั๋วเข้ามายังศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ทุกครั้ง นับตั้งแต่พวกเขาได้ประเดิมเดบิวต์กับการแข่งขันรายการนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1998

 

พวกเขาหวังที่จะพาทีมเข้าไปเล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้ทุกสมัย และทำผลงานให้ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้ง จนสามารถก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุด นั่นคือการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ในปี 2050 ซึ่งนั่นคือเป้าหมายที่ทีมชาติญี่ปุ่นได้ตั้งเอาไว้มานาน

แต่ทว่าตอนนี้เป้าหมายที่จะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2050 นั้นกลับมีนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นบางส่วนที่รู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขามองว่าทัพ "ซามูไรบลู" ดีพอที่จะสามารถทำเป้าหมายดังกล่าวให้กลายเป็นจริงได้ตั้งแต่ 24 ปีก่อนหน้านั้นเสียอีก หรือก็คือในฟุตบอลโลกครั้งที่จะถึงนี้ในปี 2026

อะไรที่ทำให้พวกเขาคิดเช่นนั้น ? ติดตามได้ที่นี่ Main Stand

 

ญี่ปุ่นกับแชมป์ฟุตบอลโลก 2050

เป้าหมายในการจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ในปี 2050 ของทีมชาติญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากทางสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA ที่ได้ริเริ่มวางแผนสู่หนทางในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเอาไว้ตั้งแต่ปี 2005 หรือ 3 ปีหลังจากที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ เกาหลีใต้ ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 

ภายใต้โปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า "Dream" เพื่อทำให้ฟุตบอลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนในสังคมที่จะช่วยกันพาชาติของพวกเขาไปสู่จุดสูงสุด นั่นคือการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก โดยในแต่ละปีญี่ปุ่นจะมีการกำหนดไว้ว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรให้สำเร็จบ้างกับทีมชาติญี่ปุ่น

ซึ่งทาง สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ได้ประกาศโปรเจ็กต์ดังกล่าวขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2005 ก่อนเกมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลถ้วยเอ็มเพอเรอร์ส คัพ จะเริ่มคิกออฟ ที่สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น พร้อมกับกล่าวถึงเหตุผลที่พวกเขาริเริ่มวางแผนเกี่ยวกับหนทางในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ในปี 2050 ของทีมชาติญี่ปุ่น รวมถึงแนวทางต่าง ๆ ที่พวกเขาจะทำให้กับวงการฟุตบอลในประเทศแห่งนี้ว่า

"เราเชื่อว่าฟุตบอลสามารถสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ให้กับวงการกีฬาญี่ปุ่น เราเชื่อว่าฟุตบอลจะช่วยในการพัฒนาศักยภาพของผู้คนในสังคมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ" 

"เพื่อให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับกีฬาฟุตบอลมากขึ้น เราขออาสาที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การให้ทุกคนได้เข้าถึงกีฬาชนิดนี้ เราจะทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขึ้นชื่อในเรื่องกีฬาฟุตบอลด้วยการพาทีมชาติญี่ปุ่นไปสู่การแข่งขันระดับโลกให้ได้อยู่ตลอด และทำให้ทุกคนในประเทศกล้าฝันว่าจะประสบความสำเร็จกับทุกรายการการแข่งขัน"

"เราจะเป็นผู้ชนะที่ใสสะอาด ปราศจากการเล่นสกปรก ทั้งการแข่งขันในประเทศและนอกประเทศ นอกจากนี้เราพร้อมจะทำให้ญี่ปุ่นเป็นทีมที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่ใช่แค่กับคนในประเทศ แต่ยังรวมถึงผู้คนทั่วโลก"

ในโปรเจ็กต์ "Dream" ทางสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นได้วางโรดแมปในปีต่าง ๆ ว่าพวกเขามีเป้าหมายอะไรบ้างที่ต้องทำให้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นบ้าง เริ่มตั้งแต่ปี 2015 ที่สมาคมตั้งเป้าว่าจะทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นมีแฟนบอลผู้มีความรักในฟุตบอลประเทศตัวเองอย่างแท้จริงให้ได้มากกว่า 5 ล้านคน (ทำสำเร็จ), พาทีมชาติญี่ปุ่นติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก (ทำไม่สำเร็จ) และทำให้ JFA เป็น 1 ใน 10 สมาคมฟุตบอลที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุดโลก (ทำสำเร็จ)

ต่อมาอีก 3 ปี ในปี 2018 JFA ได้ตั้งเป้าหมายต่อทั้งการทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นมีแฟนบอลเพิ่มอีกเป็น 5.6 ล้านคน และพาทีมชาติญี่ปุ่นติด 1 ใน 20 อันดับแรกของโลก จากนั้นในปี 2022 ก็ทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นมีแฟนบอลเพิ่มเป็น 6.4 ล้านคน และตั้งเป้าอีกครั้งที่จะพาทีมชาติญี่ปุ่นติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกให้ได้ ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่สำเร็จ

ในปี 2030 JFA จะทำให้มีเหล่าแฟนบอล "ซามูไรบลู" เพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน และตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติท็อป 3 ของโลกในวงการฟุตบอล

และในปี 2050 ทางสมาคมได้ตั้งเป้าครั้งใหญ่ที่สุด นั่นคือการทำให้ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2050 พร้อมกับคว้าแชมป์ได้สำเร็จ รวมถึงทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นมีแฟนบอลทะลุเกินหลัก 10 ล้านคน

จนถึงตอนนี้มีเวลาเหลืออยู่อีก 27 ปี ก่อนที่จะถึงจุดที่ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าไว้ว่าตัวเองจะต้องเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ซึ่ง ณ ตอนนี้ จุดที่ทีมชาติของพวกเขาสามารถเข้าใกล้กับเป้าหมายดังกล่าวได้มากที่สุดคือการผ่านเข้าไปถึงในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ของศึกฟุตบอลโลก ปี 2002, 2010, 2018 และ 2022

ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากเหล่าแฟนบอลญี่ปุ่นว่าทีมชาติของพวกเขายังมีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปอยู่หรือเปล่าสำหรับการเป็นทีมที่คู่ควรกับการได้ไปต่อ มากกว่าหยุดอยู่แค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย 

บ้างก็ว่าทีมชาติญี่ปุ่นยังขาดผู้เล่นตำแหน่งกองหน้าตัวจบสกอร์ พวกเขาไม่มีผู้เล่นที่สามารถสร้างความแตกต่างในจังหวะสุดท้ายที่สามารถตัดสินความเป็นไปของเกมการแข่งขันเกมหนึ่งที่ดีพอ หรือเป็นเรื่องของการเล่นกันตามแบบแผนมากเกินไปจนส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นฟุตบอลของทีมเริ่มจางลง

แต่สำหรับนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นบางคน พวกเขากลับไม่ได้คิดแค่ว่าเรื่องของการขาดผู้เล่นกองหน้าตัวจบสกอร์คม ๆ หรือการเล่นเป็นทีมมากเกินไปเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่คอยฉุดรั้งทีมชาติไม่ให้ไปไกลกว่านี้ได้

พร้อมมองว่าเป้าหมายในการจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2050 เองก็มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นยังคงปลดล็อกผ่านเข้าสู่รอบที่ลึกกว่ารอบ 16 ทีมไม่ได้เสียที

 

ตั้งเป้าให้สูงกว่านี้

ประเด็นที่นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นบางคนเริ่มมองว่าการได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2050 เป็นช่วงเวลาที่นานเกินกว่าที่จะรอได้กลายเป็นที่พูดถึงหลังจากที่ "ฮาจิเมะ โมริยาสุ" กุนซือทีมชาติญี่ปุ่นในตอนนี้ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา หนึ่งวันก่อนเกมที่ ญี่ปุ่น จะลงเล่นเกมอุ่นเครื่องพบกับ เอล ซัลวาดอร์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2023

โดยในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น โมริยาสุมีการเอ่ยถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการที่ "วาตารุ เอนโดะ" แข้งกัปตันทีมคนใหม่ของทีมชาติญี่ปุ่นในเวลานี้ ได้เข้ามาพูดคุยกับเขาโดยตรงว่าอยากให้ทีมชาติญี่ปุ่นมีการร่นระยะเวลาเป้าหมายในฟุตบอลโลกให้เร็วขึ้น ด้วยการตั้งเป้าว่าจะพาทีมคว้าแชมป์รายการนี้ให้ได้ในปี 2026 เร็วขึ้น 24 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2050

พร้อมให้เหตุผลว่ามันจะทำให้ความมุ่งมั่นของนักเตะในการทำตามเป้าหมายให้สำเร็จมีมากขึ้น โดยจะไม่มองว่าการพาญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกเป็นเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่อะไร แต่จะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้อยู่แล้ว ถ้าอยากจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลก 

จากเดิมที่พวกเขาจะเลือกก้าวเดินให้สำเร็จไปทีละขั้น นั่นคือการพาทีมผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลกให้ได้ก่อนแล้วค่อย ๆ หาทางเข้าไปสู่รอบที่ลึกกว่านี้ จนสามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่การคว้าแชมป์ได้สำเร็จในปี 2050 เอนโดะอยากให้ทุกคนมองว่าจะต้องไปให้ถึงการคว้าแชมป์ให้ได้เลยในอีก 3 ปีที่จะถึงนี้

"ทำไมเราถึงไม่ตั้งเป้าให้ไปถึงจุดสูงสุดเลยล่ะ" วาตารุ เอนโดะ บอกกับ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ถึงเป้าหมายในฟุตบอลโลกหลังจากนี้ที่ญี่ปุ่นควรจะมองหา

"ทำไมเราถึงไม่คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ผมคิดมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์แล้วว่าทำไมเราไม่ตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย ในฐานะกัปตันทีม ถ้าทุกคนคิดแบบเดียวกับผม ผมก็อยากจะพูดปลุกใจเพื่อนร่วมทีมด้วยสิ่งที่ผมคิดอยู่เสมอว่า 'เราจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก'"

ซึ่งสิ่งที่ วาตารุ เอนโดะ บอกกับ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ในตอนนั้นก็ทำให้กุนซือรายนี้รู้สึกเห็นด้วยเช่นกัน พร้อมกับให้ความเห็นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"แทนที่จะตั้งเป้าว่าต้องไปให้ถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย เราอยากจะตั้งเป้าหมายใหม่คือการคว้าแชมป์ และกลายเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก"

"เรามีผู้เล่นหลายคนที่กำลังเล่นอยู่ในลีกชั้นนำของทวีปยุโรปและพร้อมที่จะมุ่งหน้าไปให้ถึงจุดสูงสุด นั่นคือการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ผมคิดว่ามันมีโอกาสที่พวกเขาจะทำมันได้"

อย่างไรก็ตาม ทำไมทั้ง วาตารุ เอนโดะ และ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ถึงกล้าคิดกล้าฝันที่จะพาทีมชาติญี่ปุ่นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2026 ทั้งที่ทัพ "ซามูไรบลู" ในตอนนี้สามารถไปได้ไกลที่สุดในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เพียงรอบ 16 ทีมสุดท้ายเท่านั้น ?

 

รากฐานและแนวคิดที่ดี

สำหรับเป้าหมายคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2026 ที่สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และ เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพร่วมกันนั้น ดูเผิน ๆ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากและเร็วเกินไปสำหรับพวกเขา แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ หากมองไปยังสิ่งต่าง ๆ ที่วงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนช่วยทำให้เป้าหมายในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกของทีมชาติญี่ปุ่นจะกลายเป็นจริงได้ นั่นคือการก่อตั้ง "เจลีก" ลีกฟุตบอลอาชีพแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นในปี 1992 ก่อนที่จะประเดิมจัดการแข่งขันแบบฤดูกาลเป็นครั้งแรกในปี 1993 

พร้อมกับวางเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้กับลีกแห่งนี้ นั่นคือการแผนการ 100 ปีของเจลีก ที่มีจุดประสงค์ในการทำให้ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นเติบโตขึ้น และเกิดสโมสรฟุตบอลอาชีพในญี่ปุ่นให้ได้ครบ 100 สโมสรภายในปี 2092 ซี่งจะครบรอบ 100 ปีของการเปิดฉากฤดูกาลแรกของเจลีกพอดี

การถือกำเนิดขึ้นของเจลีกและแผนการ 100 ปีของเจลีกนั้นจะเป็นบันไดขั้นสำคัญให้กับนักเตะญี่ปุ่นในการได้มีโอกาสพัฒนาฝีเท้าของตัวเอง ก่อนจะสามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นนักเตะที่มีคุณภาพ

รวมไปถึงการไขว่คว้าโอกาสในการได้ไปเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลในต่างประเทศอย่างทวีปยุโรปที่มีความเข้มข้นและความกดดันในการเล่นฟุตบอลที่สูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทุกสโมสรในเจลีกก็ไม่ปิดโอกาส โดยพร้อมสนับสนุนให้นักเตะญี่ปุ่นในลีกแห่งนี้ได้ไปโลดแล่นในต่างแดนด้วยค่าตัวแสนถูกสำหรับทีมที่จะซื้อตัวไป

การได้ไปเล่นในลีกยุโรปเองจะช่วยให้นักเตะญี่ปุ่นเติบโตไปพร้อมกับการได้เล่นฟุตบอลในระดับสูง และเติบโตขึ้นมาเป็นขุมกำลังสำคัญของทีมชาติญี่ปุ่นในอนาคตด้วยเช่นกัน

หากมองไปที่เหล่านักเตะทีมชาติญี่ปุ่นในตอนนี้ จะพบว่าหลาย ๆ คนก็กำลังไปได้ดีกับการเล่นฟุตบอลในลีกยุโรป เช่น "วาตารุ เอนโดะ" กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ที่กำลังค้าแข้งอยู่ สตุ๊ตการ์ท ในบุนเดสลีกา เยอรมนี, "คาโอรุ มิโตมะ" ปีกฟอร์มแรงของ ไบรท์ตัน ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ หรือ "ทาเคฟุสะ คุโบะ" ตัวรุกของ เรอัล โซเซียดาด ในลา ลีกา สเปน

อีกทั้งผลงานของทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมาในปี 2022 ก็ถือว่าทำได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยการเฉือนชนะสองทีมดีกรีแชมป์ฟุตบอลโลกอย่าง เยอรมนี กับ สเปน ได้ในรอบแบ่งกลุ่ม และยังสามารถต่อกรกับ โครเอเชีย รองแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ได้อย่างคู่คี่สูสีจนต้องไปหาผู้ชนะด้วยการดวลจุดโทษ มันจึงทำให้พวกเขามีความมั่นใจว่าตัวเองก็มีดีพอที่จะเอาชนะได้ทุกทีมในการแข่งขันรายการนี้

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่ช่วยให้ญี่ปุ่นมองว่าพวกเขาจะสามารถไปได้ถึงการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกอีกด้วย นั่นคือ "โคดาวาริ" (Kodawari : こだわり) แนวคิดว่าด้วยการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขาไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง พร้อมหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองเก่งขึ้นอยู่เสมอ และแน่นอนว่าการได้แชมป์ฟุตบอลโลกถือเป็นจุดสูงสุดของฟุตบอลทีมชาติแล้ว มันจึงสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าด้วยการใฝ่หาที่สุดของความสมบูรณ์แบบ

หลักแนวคิดโคดาวารินั้นยังเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงอยู่กับ "อิคิไก" (Ikigai : 生き甲斐) หนึ่งในแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแนวคิดหนึ่งของคนญี่ปุ่น ว่าด้วยการตามหาเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของตัวเองเพื่อให้ได้พบเจอกับความสุขที่แท้จริง และเห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิต

ไม่ว่าในอีก 3 ปีหลังจากนี้ เหล่าขุนพลทีมชาติญี่ปุ่นจะสามารถเดินทางไปถึงจุดสูงสุดของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 ได้หรือเปล่า ? แต่สุดท้ายแล้ว การมีลีกในประเทศที่ดีและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ รวมถึงแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทีมของญี่ปุ่น มันก็ทำให้พวกเขากล้าคิดกล้าฝันที่จะไปให้ถึงจุดที่หลาย ๆ คนมองว่าตัวเองไม่สามารถไปถึง 

สำหรับพวกเขาแล้ว มันไปถึงได้…

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.jfa.jp/about_jfa/dream/
https://www.jfa.jp/about_jfa/plan/JFA_plan2015_2022.pdf
https://times.abema.tv/articles/-/10086971
https://web.gekisaka.jp/news/japan/detail/?386263-386263-fl
https://web.gekisaka.jp/news/japan/detail/?387911-387911-fl

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น