Feature

เชลซี และ PIF : ว่าด้วยเรื่องการปล่อยนักเตะสิงห์บลูส์ สู่ซาอุดีอาระเบีย | Main Stand

“มีโอกาสไหมที่พรีเมียร์ลีกจะเข้าตรวจสอบดีลซื้อผู้เล่นที่ทีมจากซาอุฯ ทำในตอนนี้!!!! ต้องรับหลักการให้ได้โดยเร็วที่สุดเพื่อหยุดเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้นทาง! หากคุณมองดูสถานการณ์แล้วเห็นว่ามันไม่ถูกต้องก็คงเป็นเพราะมันไม่ถูกต้องจริง ๆ นั่นแหละ! ก็อยากเห็นความเป็นอิสระโดยเร็วที่สุด ตอนนี้วงการฟุตบอลบ้านเราดูยุ่งเหยิงไปหมด!”

 


ก่อนเข้าสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่ 2023/24 แกรี่ เนวิลล์ อดีตสตาร์นักเตะที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักวิจารณ์ฟุตบอล ได้โพสต์ข้อความเชิงเรียกร้องฝ่ายจัดการแข่งขันช่วยตรวจสอบเบื้องหลังของกลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบียที่เริ่มคว้าตัวนักเตะจากลีกอังกฤษไปค้าแข้งในซาอุฯ ทั้งยังให้ความสนใจนักเตะระดับท็อปอีกจำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชลซีที่มีเหตุจำเป็นต้องลดขนาดทีมก่อนเริ่มซีซั่นใหม่ ซึ่งหมุดหมายสำคัญแรกคือการปล่อยนักเตะให้ย้ายไปเล่นที่ดินแดนเศรษฐีน้ำมัน ถึงขั้นที่ว่านักเตะสิงห์บลูส์ตกเป็นข่าวมากกว่าทีมอื่น ๆ ร่วมลีกและทวีปยุโรป โดยมีข่าวน้อยใหญ่รายงานว่าผู้บริหารสโมสรมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มทุนใหญ่อย่าง Saudi Arabia Public Investment Fund (PIF) 

เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ดังกล่าวกันให้มากขึ้น Main Stand จะชวนคุณมาหาคำตอบว่าทำไมนักเตะสิงห์บลูส์ถึงตกเป็นข่าวกับสโมสรจากซาอุดีอาระเบียเป็นว่าเล่น และแท้จริงแล้วสโมสรมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มทุน PIF มากน้อยแค่ไหน 

 

ปล่อยนักเตะเพื่อกฎการเงิน

นับแต่ที่เชลซีได้กลุ่มเจ้าของใหม่เข้ามาบริหารสโมสรนำโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ พร้อมหุ้นส่วนร่วมลงทุนสำคัญอย่าง เคลียร์เลค แคปติทัล (Clearlake Capital) สโมสรก็ทุ่มงบประมาณไปไม่อั้นกับการทำทีม

จำนวนเงินที่แตะหลัก 600 ล้านปอนด์ คือการลงทุนที่สิงโตน้ำเงินครามใช้ไปกับการคว้าขุมกำลังมาเสริมทัพทั้งในรอบตลาดซัมเมอร์ 2022 และตลาดฤดูหนาว 2023 อาทิ ทุ่ม 47.5 ล้านปอนด์ดึง ราฮีม สเตอร์ลิ่ง มาจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้, จ่ายเงิน 33 ล้านปอนด์สอย คาลิดู คูลิบาลี่ มาจากนาโปลี รวมไปถึงการทุ่มงบไม่อั้น 106.7 ล้านปอนด์ เพื่อสู่ขอ เอนโซ แฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิก้า ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ตามมากลับไม่เป็นดังที่คาดหวัง เชลซียุคเจ้าของใหม่แดนลุงแซมเผชิญซีซั่นที่แย่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สโมสร พวกเขาจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 12 เก็บได้แค่ 44 แต้มเท่านั้น แถมในซีซั่นถัดไป (2023/24) สโมสรไม่อาจคว้าสิทธิ์รายการแข่งขันใด ๆ ในระดับทวีปยุโรปได้เลย

จุดที่เป็นปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของเชลซีคือ “ขนาดขุมกำลัง” ในฤดูกาล 2022/23 ที่มากเกินความจำเป็น อย่างในครึ่งฤดูกาลหลัง เชลซีมีนักเตะอยู่ร่วมทีมชุดใหญ่กว่า 30 คน แถมแต่ละคนต่างก็มีชื่อชั้นชนิดไม่ได้น้อยหน้ากัน 

ดังนั้นเรื่องสำคัญที่บอร์ดบริหารต้องจัดการคือตัดสินใจขายขุมกำลังบางส่วนที่ไม่ค่อยได้วางเป็นตัวหลัก ๆ ในอนาคต ไปจนถึงนักเตะที่สัญญาใกล้จะหมดให้ออกจากทีมไป 

และเรื่องที่มาเกี่ยวโยงโดยตรงคือสถานการณ์ที่เชลซีต้องจัดการกับเรื่องสถานะทางการเงินของสโมสร โดยเฉพาะเรื่องเงินในบัญชีเพื่อให้สอดรับกับกฎการเงิน Financial Fair Play หรือ FFP 

แม้สื่อและผู้สันทัดกรณีน้อยใหญ่จะเคยวิเคราะห์ว่าเชลซีมีกลยุทธ์ในการจัดการภาวะการเงินสโมสรโดยอาศัย “ช่องโหว่” เกี่ยวกับกฎการเงินดังกล่าวที่บัญญัติขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) กล่าวคือ ใช้แนวทางการตัดจำหน่าย (Amortisation) เลือกเซ็นสัญญานักเตะระยะยาวเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางบัญชีแบบรายปีให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยคุมรายจ่ายให้อยู่ในงบดุล

อย่างไรก็ดี สิงห์บลูส์ก็ยังนิ่งนอนใจกับการสบช่องโหว่จาก FFP ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะการใช้ค่าตัดจ่ายต่อรองได้กับแค่นักเตะใหม่เท่านั้น 

ในอีกทางหนึ่ง ทีมยังอัดแน่นไปด้วยขุมกำลังหน้าเก่า ซึ่งค่าเหนื่อยแต่ละคนก็ไม่ได้ลดหลั่นไปกว่ากัน

และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎการเงินที่ว่ากันว่าสโมสรต้องส่งตัวเลขการเงินไปยังยูฟ่าก่อนตัดรอบบัญชีในวันที่ 30 มิถุนายน 2023 ทีมสิงโตน้ำเงินครามจำเป็นต้องปล่อยนักเตะบางส่วนเพื่อให้การจ่ายค่าเหนื่อยสอดรับกับเพดานของกฎการเงินจากยูฟ่า

นำมาซึ่งข่าวปล่อยตัวผู้เล่นที่มาแบบไม่เว้นวัน โดยยอดทีมแห่งเวสต์ ลอนดอน มีประเด็นขายนักเตะชนิดเชื่อมโยงกับทีมเล็กทีมใหญ่ไปทั่วทั้งยุโรป รวมไปถึงเหล่าทีมจาก ซาอุดี โปรเฟสชั่นแนล ลีก หรือลีกสูงสุดของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ทำให้พวกเขาถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษ 

เสมือนว่ามี “ดีลลับ” ระหว่างผู้บริหารสโมสรเชลซีกับหัวเรือใหญ่จากฝั่งซาอุฯ อย่างไรอย่างนั้น

 

เงินหนาที่ซาอุฯ

ก่อนจะไปสืบสาวราวเรื่องของความสัมพันธ์นี้ มารู้จักตัวละคร (Actor) จากฝั่งซาอุดีอาระเบียกันอีกสักครั้ง

ตัวละครสำคัญของฝั่งซาอุดีอาระเบียสำหรับประเด็นนี้คือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย หรือ PIF ที่เข้ามามีบทบาทในเวทีนานาชาติอย่างเต็มตัวนับแต่ที่ทางการซาอุฯ อนุญาตให้กองทุนดังกล่าวเข้าลงทุนในบริษัทต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการในปี 2014 

จากนั้นอีกหนึ่งปี กองทุนที่เปรียบดั่งบัญชีออมทรัพย์ของรัฐบาลซาอุฯ นี้ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (MBS) โอรสองค์ที่ 7 ของกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภายใต้การดูแลของ MBS กองทุน PIF เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด หนึ่งในโปรไฟล์สร้างชื่อคือการเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมกีฬาโลก ไล่มาตั้งแต่กอล์ฟ มวยปล้ำ มอเตอร์สปอร์ต รวมถึงฟุตบอล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการซื้อหุ้นใหญ่ของสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทีมระดับพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2021 มาจากไมค์ แอชลี่ย์ ด้วยวงเงิน 300 ล้านปอนด์ พร้อมจารึกสถิติเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลกจากทรัพย์สินที่ถูกบันทึกไว้ที่ 320,000 ล้านปอนด์ ก่อนจะพลิกโฉมสาลิกาดงจนกลายเป็นทีมท็อปโฟร์ในฤดูกาล 2022/23

ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนที่มีมกุฎราชกุมารแห่งประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นบิ๊กบอสยังลงทุนในอุตสาหกรรมฟุตบอลต่อเนื่อง แต่คราวนี้เป็นการเข้าซื้อหุ้น 75 % จาก 4 สโมสรซึ่งก่อนหน้านี้เป็นของรัฐบาลซาอุฯ ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2023 ประกอบด้วย อัล อิตติฮัด, อัล ฮิลาล, อัล นาสเซอร์ และ อัล อาห์ลี เป็นเหตุให้ทั้ง 4 ทีมนี้กลายเป็นทีมเงินถุงเงินถังยิ่งขึ้นไปอีก

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ 4 สโมสรแห่งแดนทะเลทรายและน้ำมันจะตกเป็นข่าวพร้อมเทงบประมาณไม่อั้นเพื่อสู่ขอนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมทีม หลังจากที่ อัล นาสเซอร์ บุกเบิกคว้า คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มาตั้งแต่ตลาดหน้าหนาว 2023 บรรดาแข้งระดับแถวหน้าคนอื่น ๆ ต่างพาเหรดมีชื่อกับทั้ง 4 สโมสรไม่เว้นแต่ละวัน 

การเดินหน้าลุยซื้อตัวนักเตะชื่อก้องของทีมจากซาอุดีอาระเบียกลายเป็นคำถามจากเหล่าคนลูกหนังหลาย ๆ คนที่อาจมองในมุมเดียวกับของ แกรี่ เนวิลล์ ที่รู้สึกถึงความปั่นป่วนในตลาดซื้อขาย บ้างก็ตั้งประเด็นปลายเปิดว่าลีกซาอุฯ จะเกิดภาวะ “ฟองสบู่แตก” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่ ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ของจีนหรือไม่

อย่างไรก็ดี จากคำกล่าวของ ฮาเฟซ อัล-เมดเลจ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่ง โปรลีก ซาอุฯ ยืนยันว่าลีกอาชีพที่นี่จะไม่เหมือนกับลีกสูงสุดแดนมังกร โปรลีกซาอุดีอาระเบียมีแผนการที่เน้นไปในเรื่องของการสร้างลีกที่แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยมีหัวใจสำคัญคือการดึงนักเตะชื่อดังมาสู่ลีก

“จากนี้เป็นต้นไป นักฟุตบอลที่สามารถย้ายทีมได้ทั้งหมดจะตกเป็นเป้าหมายของสโมสรในซาอุดีอาระเบีย! เรามีโครงการของรัฐที่ชัดเจนและจะไม่จำกัดเพียง 4 ทีมที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่รวมถึงทุกทีมด้วย เพราะความหลงใหลในฟุตบอลของชาวซาอุนั้นไม่มีขีดจำกัด” อัล-เมดเลจ์ เผย

เมื่อแผนการชัดเจนแล้ว กอปรกับเม็ดเงินลงทุนที่อยู่ในระดับมหาศาล เวลาต่อจากนี้ก็เหลือเพียงแต่เจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบรรดานักเตะระดับโลก 

ที่น่าแปลกใจที่สุดเรื่องหนึ่งคือ บรรดาลิสต์แข้งดังที่ตกเป็นข่าวลือหนาหูที่บ้างก็ประกาศ “Official” ไปแล้ว ส่วนมากเป็นนักเตะของ “เชลซี” 

 

ความสัมพันธ์ของ PIF และ เชลซี

ในขณะที่นักเตะชื่อดังจากทีมใหญ่ยุโรปมีข่าวกับทีมซาอุฯ อย่างละ 1-2 คน แต่ที่เชลซีกลับมีนักเตะที่เกี่ยวข้องมากกว่าทีมใด ๆ ไล่มาตั้งแต่สองรายที่ปิดดีลไปแล้วอย่าง เอ็นโกโล่ ก็องเต้ (อัล อิตติฮัด), คาลิดู คูลิบาลี่ (อัล ฮิลาล) 

และยังรวมถึง เอดูอาร์ เมนดี้, ฮาคิม ซิเยค, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย, ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง หรือแม้แต่ โรเมลู ลูกากู ที่สลับกันมีข่าวความเคลื่อนไหวอยู่บ่อย ๆ

จนกลายเป็นประเด็นที่สื่อใหญ่อย่าง The Athletic เคยจั่วหัวตั้งข้อสังเกตว่าการที่ทีมในซาอุฯ สนใจนักเตะเชลซีมากกว่าทีมไหน ๆ อาจเป็นทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ที่ทำให้ใครเชื่อว่าแท้จริงแล้วผู้บริหารเชลซีตัวจริงก็คือกองทุน PIF ที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด ขณะที่บรรดาเจ้าของร่วม อาทิ ท็อดด์ โบห์ลี่ หรือแม้แต่เบห์ดัด เอ็กห์บาลี เป็นเพียงเจ้าของบังหน้า 

อย่างไรเสีย เมื่อมาสืบค้นข้อมูลกันจริง ๆ ก็จะพบว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นแนวคิดที่มาจากการคิดและสรุปความกันเอาเอง เพราะแท้จริงแล้ว เคลียร์เลค แคปปิทัล กลุ่มทุนหลักที่ถือหุ้นเชลซีถึง 60% ซึ่งมี เบห์ดัด เอ็กห์บาลี และ โจเซ่ อี. เฟลิเซียโน่ เป็นเจ้าของร่วม เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “การจัดการสินทรัพย์” ที่ทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ของนักลงทุนทั่วโลก โดยหนึ่งในนั้นคือการดูแลสินทรัพย์ให้ PIF 

เมื่อเหล่าผู้บริหารของทั้งสองฝั่งรู้จักกันอยู่แล้ว คำถามที่ตามมาต่อก็คือ แล้วกลุ่มทุน PIF เกี่ยวข้องกับการเทคโอเวอร์เชลซี ในช่วงปี 2022 หรือไม่ เพราะการที่เคลียร์เลคฯ มี PIF เป็นลูกค้า อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้เช่นกัน

เรื่องนี้มีบทสรุปจาก ทอม มอร์แกน นักข่าวชื่อดังจากสื่อเอ็กซ์คลูซีฟอย่าง Telegraph ที่ชี้ข้อสังเกตสำคัญว่าพรีเมียร์ลีกได้รับการยืนยันจากทั้งเชลซีและทาง PIF มาตั้งแต่สิงห์บลูส์อยู่ในกระบวนการสรรหาเจ้าของรายใหม่ ใจความสำคัญคือ PIF ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเทคโอเวอร์เชลซีของ ทอดด์ โบห์ลี และ เคลียร์เลค แคปปิทัล แต่อย่างใด 

“Telegraph Sport ได้รับการยืนยันผ่านแหล่งข่าวหลายแหล่งว่า PIF มีการลงทุนกับเคลียร์เลค (ในแง่การจ้างให้ดูแลสินทรัพย์) และสิ่งนี้ถูกสอบสวนอย่างละเอียดในระหว่างการตรวจสอบการเป็นเจ้าของสโมสรใหม่ (เชลซี) เมื่อปีที่แล้ว” ทอม มอร์แกน อ้างอิงถึงข้อมูลที่ได้รับมา

“มีการให้ข้อมูลโดยละเอียดแก่พรีเมียร์ลีกตรงตามคำขอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับโครงสร้างความเป็นเจ้าของใหม่ที่เสนอกับสโมสร” 

เคลียร์เลคและโบห์ลี่ยืนยันว่า PIF “ไม่ได้มีส่วนร่วม” กับโครงสร้างความเป็นเจ้าของสโมสร และยังให้ความเชื่อมั่นเพิ่มเติมกับพรีเมียร์ลีกด้วยว่า PIF “จะไม่และไม่สามารถ” เข้ามาเป็นนักลงทุนทีมในอนาคต

จากข้อมูลที่ปรากฏทำให้สรุปได้ว่า กรณีความสนใจนักเตะเชลซีจากบรรดาทีมในลีกซาอุดีอาระเบียเป็นเพียงแค่เรื่องการซื้อขายทั่วไปในตลาดนักเตะ ซึ่งบรรดาทีมจากศึกซาอุดี โปร ลีก ก็ต้องการยกระดับลีกขึ้นมา โดยมีความตั้งใจให้นักเตะระดับสตาร์รวมถึงที่มาจากเชลซีเป็นตัวชูโรง

ขณะที่เชลซี หากขายลิสต์รายชื่อแข้งข้างต้นได้สโมสรก็จะมีเงินเข้ามาเป็นรายได้สโมสร เพื่อให้สอดรับกับกฎการเงินของทางยูฟ่า นอกจากนี้ทางสโมสรจากซาอุฯ ไม่ได้จะช่วยสิงห์บลูส์แบบออกนอกหน้า นี่เป็นเพียงดีลเจรจาซื้อขายและปล่อยตัวผู้เล่นโดยทั่วไปตามกลไกตลาดนักเตะและวิถีฟุตบอลเท่านั้น ยกตัวอย่าง เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ที่เลือกย้ายทีมแบบฟรี ๆ จากเชลซีหลังหมดสัญญา

แถมเหล่าทีมในลีกซาอุฯ ก็ไม่ได้สนใจแต่นักเตะเชลซีหรือพรีเมียร์ลีกเท่านั้น อย่างการที่ อัล อิตติฮัด คว้า คาริม เบนเซม่า มาจากเรอัล มาดริด แม้นักเตะจะรับค่าเหนื่อยสูงถึงปีละ 200 ล้านยูโร แต่เรื่องของ “การตัดสินใจ” จากตัวนักเตะเองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เบนเซม่ายอมรับว่าการตัดสินใจมาซาอุดีอาระเบีย ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเทศมุสลิม

ด้วยเหตุนี้จึงตอบคำถามได้เป็นอย่างดีว่า ระหว่างเชลซีกับกองทุน PIF ไม่ได้มีดีลลับหรือมีลับลมคมในระหว่างกัน มากไปกว่าการทำธุรกิจซื้อขายนักเตะ 

ฝ่ายหนึ่งต้องการถ่ายนักเตะออกเพื่อแผนการในอนาคต ขณะที่อีกฝ่ายก็ต้องการยกระดับลีกโดยมีนักเตะบางส่วนของทีมที่มีผู้บริหารคนรู้จักกันเป็นแคนดิเดตสนใจดึงมาร่วมงาน

ไม่มีเหตุผลใดซับซ้อนมากไปกว่านี้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-11085283/Newcastles-Saudi-owners-major-investors-Chelseas-new-majority-shareholder.html?fbclid=IwAR3SaVmBN8vjXbRa0ydI_QvinrkLJS5vsnWLgV7ICyYAiSka7JdZVkG6BF0 
https://theathletic.com/4624201/2023/06/21/saudi-arabia-chelsea-funding/?fbclid=IwAR14K4NuYWRVz_nEI3d-M9UK6aF3RmD1sdafnvVC8BB-78W2KBR_cvn-H5M 
https://www.sportingnews.com/us/soccer/news/are-chelsea-owned-saudi-arabia-pif-clearlake-capital-boehly/npbfqj9f4kuw1gskjr6gutgl?fbclid=IwAR3TbhNzGjGSz2x7BnE4JO1P8jcuqeJaKD3CpXbURwLFl34aJgt6J3SOCRc 
https://theprideoflondon.com/2023/04/22/chelsea-squad-clearout-ffp-deadline-set/ 
https://www.dailynews.co.th/news/2459281/
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/06/22/premier-league-chelsea-transfers-pif-clearlake-saudi-arabia/ 
https://www.90min.com/posts/liverpool-given-saudi-pro-league-warning-over-mohamed-salah

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น