นับเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์อย่างมากในการเปิดตัวโค้ชคนใหม่ของ นาโปลี ที่ถึงแม้มีข่าวพัวพันกับโค้ชระดับ B+ A ไปจนถึง A+ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ติอาโก้ ม็อตต้า, จาน ปิเอโร กาสเปรินี่, คริสตอฟ กัลติเยร์, ราฟาเอล เบนิเตซ, ยูเลียน นาเกิลส์มันน์, หลุยส์ เอ็นริเก้ ไปจนถึง อันโตนิโอ คอนเต้ แต่กลับกลายเป็นมาลงเอยกับ “รูดี้ การ์เซีย (Rudi José Garcia)” โค้ชเลือดเฟรนช์ ที่เพิ่งตกงานจาก อัล นาซเซอร์ เสียอย่างนั้น
แน่นอนว่าแม้เขาถือได้ว่ามีชื่อเสียงพอสมควร แต่ในเรื่องของความสำเร็จกลับมีน้อยอย่างมาก และส่วนมากจะเป็น “รองช้ำ” ทำให้เกิดข้อครหาตามมาว่า ในการที่พลพรรคอัซซูร่าเพิ่งได้ลิ้มรสความสำเร็จ การเลือกคนที่ “ไม่ค่อยจะสำเร็จ” มาสานต่อเพื่อ “ตามล่าความสำเร็จ” จะสามารถยืนระยะต่อไปได้จริงหรือ ?
การตั้งแง่ต่อความสำเร็จก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เขาเป็นคนที่มีจุดเด่นในเรื่อง “แทคติก” อย่างมาก นับตั้งแต่การสร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์ลีกเอิงกับ ลีลล์, ปลุก โรม่า ให้เป็นเพชฌฆาต หรือกลับมาทำที มาร์กเซย์ และ ลียง ให้มีสีสัน ถึงขนาดได้รับฉายาว่า “เดอะ เฟรนช์ กวาร์ดิโอลา” เรียกได้ว่าของแบบนี้ไม่มี “โชคช่วย” แน่นอน
ร่วมติดตามวิถีการทำทีมของการ์เซียไปพร้อมกับเรา
ลีลล์: ทุนต่ำแต่หนำใจ ติดไฟบรรลัยกัลป์
อย่างที่ทราบกันดี ผลงานระดับ Masterpiece ของการ์เซียที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จแรกและความสำเร็จเดียวจนถึงตอนนี้ นั่นคือการพา “ลีลล์” คว้าแชมป์ลีกเอิง ได้ในฤดูกาล 2010-11 ทั้งที่ไม่ได้เป็นทีมกระเป๋าหนักและร้างราความสำเร็จไปนานกว่า 50 ปี ทั้งยังปาดหน้าทีมยักษ์ใหญ่ในลีกทั้ง มาร์กเซย์, ลียง หรือกระทั่งเศรษฐีใหม่ (ณ ตอนนั้น) อย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ได้อีกด้วย
นอกจากจะแจ้งเกิดให้กับปีกวัยรุ่นมะขามข้อเดียวนามว่า “เอเดน อาซาร์” และพลิกชีวิตกลางรับวัยไม้ใกล้ฝั่งทางฟุตบอลนามว่า “ริโอ มาวูบา” กัปตันของพลพรรค “หูตูบ” ณ ขณะนั้น รวมถึง มุสซา โซว และ แชร์วินโญ สองศูนย์หน้าให้ยิงกระจุยกระจายรวมกันกว่า 44 ประตูในทุกรายการ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการวางแทคติกที่ก้าวล้ำกว่าใครในลีก
โดยเฉพาะการทำให้ให้อาซาร์เจิดจรัสแสงในตำแหน่ง “Inverted Winger” ทางด้านซ้าย ที่ไม่เน้นการกระชากหาย แต่ให้ตัดเข้ากลางมามีส่วนร่วมกับแนวรุกด้านใน หรือหาโอกาสสับไกหากได้ช่องได้ฉาก แน่นอนว่าหากกล่าวถึงการเล่นในลักษณะนั้นในตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน หากแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สิ่งนี้คือวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำอย่างมาก อย่างน้อยที่สุดกว่าจะคิดค้นหาวิธีรับมือและเทรนนิ่งตำแหน่งแบ็กให้รู้เท่าทันได้ก็ล่วงมาหลายปี
ที่สำคัญไปกว่านั้น ใช่ว่าอาซาร์จะไร้ซึ่งสปีดต้น หากวันใดที่ไม่ใช่วันของเขาย่อมมีการเอาตัวรอดผ่านการหวนไปกระชากทางด้านข้างได้เสมอ สิ่งนี้ส่งผลกับการที่เขาได้ย้ายข้ามน้ำข้ามทะเลมายัง เชลซี ก่อนจะสร้างตำนานผ่านการเล่นในลักษณะดังกล่าว ขนาดว่าเป็นที่รักของแฟนบอลสิงโตน้ำเงินครามเลยทีเดียว
อีกตำแหน่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการเปลี่ยนมาวูบาจากกลางรับดาด ๆ ให้เป็น “Holding Midfield” ชนิดที่หินอ็อบซิเดียนยังคารวะ เพราะนอกจากเขาจะเก็บกวาดได้หมดยังสามารถคุมเกม คุมจังหวะในสนาม และจ่ายบอลได้ในยามจำเป็น ซึ่งการเล่นในลักษณะดังกล่าวยังได้ส่งเสริมให้ โยฮัน กาบาย ห้องเครื่องของทีมโดดเด่นขึ้นมาอีกคนหนึ่ง เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะหลุดตำแหน่งก็สามารถขึ้นไปทำเกมหรือไล้เพรสแดนบนได้
ทั้งยังมีการวางตำแหน่งให้แชร์วินโญ่ถ่างออกไปทางด้านขวา คล้ายคลึงกับการที่ โฆเซ มูรินโญ่ ถ่าง ซามูเอล เอโต้ ออกไปทางด้านซ้าย แต่ยังคงเล่นในลักษณะศูนย์หน้าเช่นเดิม ตรงนี้จะช่วยในเรื่องการครองบอล พักบอล และหาโอกาสในการส่องประตูผ่านทางด้านกว้างมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการดึงตัวประกบให้โซวหาโอกาสยิงได้ง่ายขึ้นทางด้านในอีกด้วย
แน่นอนว่าเมื่อ Inverted Winger เล่นในฝั่งซ้าย แบ็กซ้ายจึงไม่จำเป็นต้องมีภาระในการเติมไปช่วยมาก เพราะการตัดเข้าในไปสร้างสามเหลี่ยมย่อมเสียบอลยาก แต่ในฝั่งขวาเมื่อเล่นแบบถ่างศูนย์หน้าที่ไม่ได้มีทักษะแบบปีกติดตัวมา อย่างไรก็ต้องมีช่องให้โดนโจมตี ดังนั้นการได้แบ็กสายพลังงาน อึด ถึก ทน อย่าง มาติเยอ เดอบูชี คอยขึ้น-ลง สนับสนุนเกมรับตั้งแต่แดนคู่ต่อสู้จึงมีความสำคัญอย่างมากและการันตีว่าอย่างไรก็มีตำแหน่งแบ็กขวาขึ้นมาซัปพอร์ต และที่สำคัญยังเติมขึ้นไปครอสบอลได้อีกด้วย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในตอนนั้นชุดวิธีคิดให้แบ็กเติมขึ้นมาช่วยบุกกึ่ง ๆ วิงแบ็กก็มีหลายทีมใช้มานานแล้ว เพียงแต่การเล่นในลักษณะนี้สอดรับกับลีลล์ได้อย่างลงตัว
ซึ่งสื่อในประเทศต่างให้ฉายาวิธีการเล่นของลีลล์ว่า “บาร์ซ่าเมืองเหนือ (the Barça of the North)” และให้ฉายาการ์เซียว่า “กวาร์ดิโอลาเมืองน้ำหอม (the French Guardiola)”
กระนั้นอาจมีข้อครหาว่า ลีกเอิง ณ ตอนนั้นเป็นลีกที่มีความ “สวิง” สูงมาก นับตั้งแต่ความเสื่อมของยุค “ลียงลงเป็นยิง” ที่พลพรรค “โอแอล” คว้าแชมป์ 7 สมัยซ้อน การผูกขาดก็ลดลง นับตั้งแต่ฤดูกาล 2008-09 ทั้ง บอร์กโดซ์, มาร์กเซย์ และ ลีลล์ ได้ผลัดกันมาเชยชมตำแหน่งแชมป์ทั้งสิ้น (มงเปลลิเยร์ อีกทีมในฤดูกาล 2011-12)
ดังนั้นการคว้าแชมป์ได้ของการ์เซียจึงไม่อาจส่งผลกระทบอะไรมากไปกว่าการ “ได้แชมป์” เฉย ๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะลีลล์ไม่เคยไปแตะขอบฟ้าอย่างที่เคยทำได้อีกเลย แม้จะโต้ได้ว่าทีมยังคงวนเวียนอยู่บนหัวตารางและเสียกำลังหลักไปมาก แต่หากแทคติกมาก่อนจริง เหตุใดจึงชะลูดลงไปขนาดนี้ ?
แม้ผลงานตกลงแต่สโมสรก็ไม่ได้ต้องการไล่เขาออกไป กระนั้นการ์เซียก็ได้ตัดสินใจเดินทางครั้งใหม่อีกครั้งที่อิตาลีกับสโมสร อาแอส โรม่า ท่ามกลางความแคลงใจจากแฟนบอลว่า “ไอ้นี่เป็นใคร ?”
แต่ใครเลยจะรู้ว่าการไปยังพลพรรค “หมาป่า” จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปอีกขั้น
อาแอส โรมา: คืนชีพเจ้าชายหมาป่า ด้วยความบ้าแทคติก
“ณ ที่นี้ (เซเรีย อา) คือลีกแห่งเจ้าแทคติก เห็นได้จากเกือบ ๆ ร้อยละ 40 พวกเขาจะยืนหลัง 5 ทั้งนั้น ในทางกลับกัน ก็มีทีมที่ใช้ระบบการเล่นเพื่อไปฟุตบอลสโมสรทวีป (หมายถึงยืนหลัง 4 และมีกลาง Holding - เสริมโดยคนเขียน) เพียงร้อยละ 2”
ข้างต้นคือคำกล่าวของการ์เซียที่ให้สัมภาษณ์กับ Bleacher Report ในบทความ Rudi Garcia Exclusive: Roma Coach on His Philosophy, Serie A and Pallotta ซึ่งกล่าวถึงความเขี้ยวลากดินของเซเรีย อา ว่าเป็นลีกแห่งแทคติก ถ้าไม่แข็งจริงก็ไม่มีทางอยู่ยั้งยืนยงได้
หรือในอีกความหมายหนึ่ง หากอ่านระหว่างบรรทัดจะเห็นได้ว่าการ์เซียอาจมีความมั่นใจระดับหนึ่งในเรื่องของแทคติก ไม่เช่นนั้นคงไม่มีทางเลือกมาคุมทัพโรม่าเป็นแน่
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะการเข้ามาของเขาพลิกโรม่าจากอดีตทีมที่เคยเกรียงไกรในยุคของ ลูเซียโน่ สปัลเล็ตติ ให้กลับมาโหดอีกครั้งได้อย่างเหลือเชื่อ โดยมีความน่าสนใจหลักคือการหวนกลับมาพิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ของ ฟรานเชสโก้ ต็อตติ กัปตันทีมเจ้าชายหมาป่า อีกครั้งในฐานะ “False 9”
จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต็อตติก็เคยปรับเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวในสมัยของสปัลเล็ตติ และทำผลงานได้อย่างน่าทึ่ง ชนิดเบียดแย่งความยิ่งใหญ่คับประเทศกับ อินเตอร์ มิลาน ได้อย่างสูสี (ช่วงนั้น ยูเวนตุส ตกตํ่าจากกรณีกัลโช่โปลี)
แต่หลังจากนั้นไม่ว่าจะเข้าสู่การคุมทัพของ เคลาดิโอ รานิเอรี่, หลุยส์ เอ็นริเก้ หรือ ซเนเด็ค ซีมาน ต่างใช้งานต็อตติแตกต่างกันออกไปทั้ง ศูนย์หน้า กลางรุก ไปจนถึงริมเส้น ทั้งที่จริงๆ วัยของต็อตติก็มากขึ้นเรื่อย ๆ และทำได้ดีกับการเล่นแบบ False 9 ซึ่งนับว่าขาดความต่อเนื่องไปพอสมควรและส่งผลเสียไม่น้อยต่อทีมโรม่าเอง จากทีมลุ้นแชมป์ก็ลดระดับลงมาเป็นทีมลุ้นโควตาไปแข่งขันสโมสรฟุตบอลระดับทวีป
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากการ์เซียจะทำการ “Fales 9’s Turn” ในครั้งนี้ เพราะอะไรที่เปลี่ยนแปลงมาแล้วทำได้ดีอย่างต่อเนื่องก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรให้เสียกระบวน แน่นอนว่าต็อตติคนเดียวด้วยวัยใกล้แขวนสตั๊ดไม่อาจเป็นกำลังหลักได้แบบโดด ๆ อีกทั้งในการเล่น False 9 ในสมัยสปัลเล็ตติก็ยังมี มันชินี่ และ ซิโมเน่ แปร็อตต้า คอยขนาบด้านข้างซัปพอร์ตลอดเวลา
นั่นจึงนำไปสู่การให้เหตุผลที่สำคัญไปอีกขั้น นั่นคือเรื่องทุนทรัพยากรมนุษย์ในทีมโรม่าที่เป็นส่วนที่เข้ากันได้และหนุนเสริมแทคติกที่เขาใช้ประจำได้เป็นอย่างดี
เพราะเดชะบุญ ในตลาดซัมเมอร์ฤดูกาล 2013-14 การ์เซียได้ทำการคว้าตัว แชร์วินโญ เด็กในคาถาเก่ามาจาก อาร์เซนอล พอดิบพอดี ซึ่งเขารู้เหลี่ยมดีอยู่ก่อนหน้า ไม่จำเป็นต้องเทรนนิ่งอะไรให้มากความในการเล่นด้านกว้าง ส่วนอีกด้านหนึ่งการ์เซียใช้บริการของ อเลสซานโดร ฟลอเรนซี่ ที่มีดีทั้งด้านความเร็ว ความคล่อง และการครอสบอล ทั้งยังสามารถที่จะตัดเข้ากลางเข้ามาสร้างสามเหลี่ยม ทำเกม หรือหาโอกาสส่องได้ รวมถึงมีสกิลในการเล่นตำแหน่งวิงแบ็กได้หากต้องการปรับเปลี่ยนแทคติกหน้างาน
ไม่คุ้นก็ต้องคุ้น เพราะสิ่งนี้คล้ายคลึงกับ 3 ประสานแนวรุกที่การ์เซียใช้กับลีลล์ไม่มากก็น้อย เพียงแต่ต็อตติไม่ได้ยืนค้ำแบบที่ใช้โซวยืนเฉย ๆ
แน่นอนว่าแดนกลางก็สำคัญไม่แพ้กัน นับว่าเป็นโชคดีที่โรม่ามี มิราเล็ม ปยานิช และ ดานิเอเล่ เด รอสซี่ รับบทเป็น Holding อยู่แล้วจึงลดปัญหาไปได้มาก เพียงแต่เสริม เควิน สตรอตมาน เพื่อมาหมุนเวียนในยามจำเป็น ส่วนกลางรุก เป็นหน้าที่ของ อาเด็ม ลายิช ที่ดึงมาจาก ฟิออเรนติน่า ส่วนเกมรับเพียงแต่เติม เมห์ดี้ เบนาเตีย เซ็นเตอร์ราคาแพงที่ดึงมาจาก อุดิเนเซ่ มาจับคู่กับ เลอันโดร คาสตาน เท่ากับได้ความสมดุลทั้งสายเชิงและสายปะทะทีเดียว
เมื่อผู้เล่นพร้อม กายพร้อม ใจพร้อม แทคติกพร้อม ผลงานที่ยอดเยี่ยมย่อมตามมา 17 แมตช์ติดต่อกันที่ลูกทีมของการ์เซียไม่แพ้ใคร นับตั้งแต่เปิดฤดูกาล 2013-14 รวมถึงชนะ 9 แมตช์ติดต่อกัน ส่งให้โรม่าคว้ารองแชมป์เซเรีย อา ไปครอง ซึ่งฤดูกาลนั้นต้องยอม ยูเวนตุส จริง ๆ เพราะความโหดของพลพรรค ”ม้าลาย” ของ อันโตนิโอ คอนเต้ ทำได้ถึง 102 คะแนน
ส่วนในฤดูกาลถัดมา (2014-15) โรม่าเสริมแกร่งไปอีกขั้น โดยได้แนวรับทั้ง มาปู ย็องกา-เอ็มบิวา และ คอสตาส มาโนลาส รวมไปถึงได้ เซย์ดู เกอีตา กลางรับสายเก๋า พร้อมกับ เลอันโดร ปาเรเดส กลางรับสายเถื่อน มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับ เด รอสซี่ รวมถึง รัดยา เนียงโกลัน กลางรับที่เล่นดุดันอีกคน
แถมยังได้พัฒนาแทคติกของตนเองไปอีกขั้น จากแต่เดิมการ์เซียถนัดในการวางระบบ “หลัง 4” ไม่ว่าจะเป็น 4-3-3, 4-2-3-1, 4-3-1-2 หรือ 4-2-2-2 มาเป็นระบบ “หลัง 3” หรือ “หลัง 5” ซึ่งเป็น Signature ของฟุตบอลอิตาลี หรือเรียกได้ว่า เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม แต่ในรายละเอียดยังคงความเป็นการ์เซียได้เป็นอย่างดี แถมยังให้กำเนิดตำแหน่งวิงแบ็กแบบตัดเข้ามาช่วยในแดนกลาง (ประหนึ่งกองกลางอีกคน) หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “Inverted Full-back หรือ Inverted Wing-back” ของฟลอเรนซี่ได้อีกด้วย
ผลก็คือ การไม่แพ้ใคร 16 แมตช์ติดต่อกัน พร้อมเกมรับสุดเหนียว และการตัดเกมแดนกลางสุดโหด กระนั้นโรม่าก็ต้องสยบยอมเป็นรองช้ำต่อยูเวนตุสที่แม้จะเปลี่ยนโค้ชเป็น มักซ์ อัลเลกรี ก็ตาม แต่ยังคงคว้าแชมป์ได้อย่างต่อเนื่องอีกฤดูกาล
ก่อนที่ฤดูกาล 2015-16 โรม่าจะลดระดับลง โดยฟางเส้นสุดท้ายของเขากับทีมมาจากการตกรอบ โคปา อิตาเลีย จากการแพ้จุดโทษทีมรองบ่อนนาม สเปเซีย ไปด้วยสกอร์ 2-4 (เสมอในเวลา 0-0) โดยสโมสรออกแถลงการณ์ไล่ออก ความว่า “ในนามของผม (เจมส์ ปาล็อตตา ประธานสโมสร) และทุก ๆ คนในสโมสร ผมขอขอบพระคุณการ์เซียสำหรับการทำงานหนักกับเรามาตลอด เรามีความสุขอย่างมากที่ท่านเสกสรรช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ดีงามให้เกิดขึ้น แต่เราเห็นควรว่า ณ ตอนนี้สมเหมาะที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลง”
แม้คำพูดจะสวยหรูตามมารยาท แต่หากอ่านสถานการณ์ย่อมทราบได้ทันทีว่าเป็นการจากกันที่ไม่ค่อยอภิรมย์นัก แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ให้พลพรรคหมาป่า นั่นคือเขาได้ว่างงานอยู่เกินครึ่งปี ก่อนจะกลับไปรับจ็อบที่มาตุภูมิอีกครั้ง
และนั่นคือตำนานบทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
มาร์กเซย์ และ ลียง: ห่างแค่เพียงเอื้อมมือ แต่ระบือแก้เกม
จ็อบแรกที่การ์เซียรับหลังจากระเห็จกลับลีกเอิง นั่นคือการเซ็นสัญญา 3 ปี กับ มาร์กเซย์ พร้อม ๆ กับที่พลพรรค “โอแอ็ม” ได้เจ้าของใหม่นามว่า แฟรงก์ แมคคอร์ต โดยเจ้าของใหม่ที่เป็นเศรษฐีอเมริกันนั้นมีการจ่ายไม่อั้นเพื่อกอบกู้สโมสรจากที่ตกต่ำในฤดูกาลก่อน (2015-16) ที่ตกลงไปถึงกลางตาราง ซึ่งผิดวิสัยทีมใหญ่อย่างมาก
ซึ่งการเสริมทัพของการ์เซียยังคงดำเนินตนตามสิ่งที่เป็นมาตลอด นั่นคือการต้องมี Inverted Winger ซึ่งคนที่เข้ามา ไม่ใช่อื่นไกล เพราะเป็นชายที่มีชื่อว่า ดิมิทรี ปาเย็ด ลูกหม้อของทีมที่ไปโชว์ฟอร์มโดดเด่นกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด แล้วเกิดคิดถึงถิ่นสตาด เวโลโดรม ขึ้นมา เลยหวนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งฟอร์มที่โดดเด่นก็มาจากการเล่น Inverted Winger ที่ออกจะกึ่ง ๆ Playmaker เสียด้วยซ้ำ แม้เขาจะไม่ได้มีความเร็วอะไรมากมาย
ส่วนแนวรุกอีกข้างก็เป็นอีกคนที่กลับบ้านเช่นกัน นั่นคือ ฟลอริยง โตแว็ง ที่ไปดับสนิทกับ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มารับบทบาทที่เป็นปีกแบบเน้นเติมไปเป็นศูนย์หน้า หรือกระชากไปครอสได้ตามโอกาส ด้วยสัญยายืมตัว ส่วนศูนย์หน้าเป็น บาเฟติมบี้ โกมิส ที่แฟนบอลรู้จักกันดีจากท่าดีใจคลานสุดสยอง ซึ่งถือว่ากลับมาหากินที่ลีกเอิงอีกครั้ง หลังจากไปเฉิดฉายกับ สวอนซี ซิตี้ อยู่นาน
หากพิจารณาเผิน ๆ จะเหมือนว่าการ์เซียนั้น “เพลย์เซฟ” ใช้แต่แทกติกเดิม ๆ จะสามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่าเป็นโค้ชสายแทคติกได้อย่างไร ? แต่อย่าลืมว่าในช่วงที่ผ่านมาการ์เซียได้มีการปรับเล็กปรับน้อย เสริมแทคติกที่เป็น “แก่นแกน” ของตนเองตลอด โดยทำแบบแนบเนียนและกลมกลืนไปกับหลักการของตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องของการปรับเป็น False 9 หรือหลัง 3 หลัง 5 ที่โรม่า และกับมาร์กเซย์ เขาก็ทำเช่นเดียวกัน
โดยเขาใช้ “Double-pivot” แทนการยืน Holding เดี่ยว ๆ ในแดนกลาง ซึ่งใช้งาน อังเดร อ็องกวีซา และ มอร์กก็อง ซ็องซง พร้อมทั้งค้นพบเพชรเม็ดงามในตำแหน่งกลางรุกที่มีชื่อว่า ลูคัส โอคัมโปส ซึ่งประสานงานร่วมกันกับปาเย็ดได้อย่างไร้รอยต่อ
แม้ฤดูกาลแรกจะถูลู่ถูกัง แต่ในฤดูกาล 2017-18 มาร์กเซย์ก็ฟอร์มสะเด่าขึ้นมาทันตาเห็น เพราะการได้ ลุยซ์ กุสตาโว และ ชอร์แด็ง อมาวี เข้ามาเสริมแนวรับ พร้อมทั้งเซ็นสัญญาซื้อขาดโตแวง พร้อมทั้งได้ วาแลร์ แชร์กแม็ง ศูนย์หน้าจากโมนาโกเข้ามาเสริมทัพ และมันก็ยิ่งทำให้เข้ากับระบบของการ์เซียเป็นอย่างมาก เพราะแชร์กแม็งเล่นแบบ False 9 ได้อย่างดีเยี่ยม โดยประสานงานได้ดีกับโตแว็งวิ่งหลอกเสียจนปั้นโตแว็งให้ยิงได้ถึง 26 ประตูรวมทุกรายการ
มีช่วงที่ 12 แมตช์ที่มาร์กเซย์ไม่แพ้ใครในลีกแต่กลับหนักเสมอ ทำให้แหกโค้งเบียดลุ้นแชมป์ไปอย่างรวดเร็ว กลับกัน ใน ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก กลับเฉิดฉายอย่างเหลือเชื่อ โดยปาเย็ดเป็นจอมแอสซิสต์ให้ทีมไปถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยต้องพบกับ แอตเลติโก มาดริด ซึ่งแข็งรองจาก เซบีย่า ทีมเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามาร์กเซย์พ่ายแพ้ไปตามระเบียบ 0-3 แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การ์เซียปลุกทีมขึ้นมาได้ด้วยแทคติกที่กลั่นออกมาจากสมองเขาจริง ๆ
แต่แล้วด้วยวิถีฟุตบอล เขาเองก็ต้องจากถิ่นสตาด เวโลโรม ไป ซึ่งสถานีต่อไปก็ไม่ได้ไปไหนไกล เพราะได้ย้ายไปคุมทีมยังถิ่น กรุพามา สเตเดียม ของทีมอริอย่าง โอลิมปิก ลียง ในฤดูกาล 2019-20
ซึ่งการคุมทัพ “โอแอล” ของเขานั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการ “โชว์กึ๋น” ในแมตช์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ปะทะกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ เป็ป กวาร์ดิโอลา ยอดกุนซือระดับว่าที่มรดกโลกฟุตบอล ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย หรืออาจเรียกได้ว่าแมตช์นี้เป็นการปะทะวัดกึ๋นกันด้าน “แทคติก” ของเป็ปตัวจริงกับเป็ปแดนน้ำหอม
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเป็ปแดนน้ำหอมกำชัยในศึกครานี้ไปด้วยสกอร์ 3-1 (แข่งแมตช์เดียวจบ จากสถานการณ์โควิด 19) และไม่ใช่เพราะว่า “โชคช่วย” เสียด้วย โดยการ์เซียได้เปิดเผยเรื่องนี้ผ่าน The Coaches’ Voice ความว่า
“วันนั้นผมปรับมาเล่นหลัง 3 และให้เน้นเกมรับ โดยรับแน่น ๆ ไม่ให้ แมนฯ ซิตี้ เจาะตรงกลางได้ … และกำชับแนวรุกให้ถ่างออกด้านกว้าง ไม่ให้โรดรี้เข้ามาเพรสเร็ว … คือผมรู้ว่าเป็ปมาดันแนวรับขึ้นสูงเพื่อเพรสแน่นอน เวลาเขาเสียบอลเขาจะเข้าหาเราอย่างไม่ทันตั้งตัว นั่นคือจุดที่เราโจมตีได้ผ่านการวางยาวในพื้นที่ที่เหลือในแดนสาม และนั่นนำมาซึ่งประตูขึ้นนำ … พื้นที่หลังแนวรับคือจุดที่ผมเห็นน่ะครับ”
“แน่นอนว่าตอนที่โดนตีเสมอผมก็เหวอไปเหมือนกัน … แต่เรายังมี มุสซา เด็มเบเล ที่วิ่งฉีกตัวประกบของคู่ต่อสู้ได้ดี และเล่นกับพื้นที่หลังแนวรับอย่างยิ่งยวด นั่นนำมาซึ่งการดวลเดี่ยวกับเอแดร์ซง (ประตูที่ 2) … ก่อนจะใช้การจ่ายยาวอีกครั้งเพื่อปิดจ็อบ”
“ต้องยอมรับว่าในส่วนลึกของจิตใจนักเตะเรือใบสีฟ้า พวกเขามัวแต่สนใจว่าจะคว้าแชมป์รายการนี้ได้ไหม (คือคิดข้ามช็อตไปแล้ว) จนไม่ได้สนใจพวกเรามากเท่าที่ควร แถมเรายังขึ้นนำได้ก่อน จึงเป็นเหมือนกับเรากุมความได้เปรียบในเชิงจิตใจไปหมดสิ้น และนำมาซึ่งชัยชนะครับ”
โควตข้างต้นสะท้อนกึ๋นของการ์เซียได้อย่างดีเยี่ยม กระนั้นแม้ว่าเขาจะเทพด้านแทคติกสักเพียงไหน แต่เรื่องของความสำเร็จก็ยังคงวกกลับมาตั้งแง่ในตัวเขาได้เสมอ
เพราะอย่าลืมว่าวลี “เล่นดีไม่มีถ้วย” แฟนบอลก็เห็นมานักต่อนัก ทั้งนี้ยังไม่แน่ว่าการเข้ามาคุมทัพนาโปลีของการ์เซียจะเป็นไปในทิศทางไหน และเขาจะสามารถสานต่อความสำเร็จของพลพรรคอัซซูร่าต่อไปได้หรือไม่ หนทางยังอีกยาวไกลเหลือคณานับกว่าที่จะคาดการณ์ได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.footballparadise.com/roma-resurgence-rudi-garcias-tactics/
https://themastermindsite.com/2022/09/19/explaining-the-inverted-winger-player-role-analysis/
https://bleacherreport.com/articles/2334347-rudi-garcia-exclusive-roma-coach-on-his-philosophy-serie-a-and-pallotta%20
https://bleacherreport.com/articles/1836549-scouting-gervinhos-resurgence-at-rudi-garcias-roma
https://www.holdingmidfield.com/lille-how-did-the-french-champions-play-in-20102011/
https://www.coachesvoice.com/cv/rudi-garcia-manchester-city-lyon-tactics-champions-league/
https://www.theguardian.com/football/2016/jan/13/roma-sack-coach-rudi-garcia-serie-a
https://themastermindsite.com/2022/06/05/explaining-the-inverted-fullback-player-role-analysis/