"เหลือเชื่อสุด ๆ ผมภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสโมสร นักเตะ สตาฟ บอร์ดบริหาร กองเชียร์ พวกเขาสมควรได้รับมัน พวกเขาผ่านอะไรมาเยอะกว่าผมเสียอีก แต่ผมก็ภูมิใจสุด ๆ เลย" ร็อบ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้จัดการทีมลูตัน ทาวน์ ให้สัมภาษณ์หลังเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ นัดสอง ที่เสมอ โคเวนทรี 1-1 ก่อนชนะจุดโทษ 6-5 คว้าตั๋วใบสุดท้ายสู่พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ
เมื่อทีมใด ๆ ก็ตามทำผลงานในฤดูกาลปกติได้อย่างโดดเด่นจนได้สิทธิ์แข่งเพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้น อ่านแบบผิวเผินอาจเป็นเรื่องปกติทั่วไปตามหลักการ แต่สำหรับ ลูตัน ทาวน์ กลับมีอะไรมากกว่านั้น นี่ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อช่วง 9 ปีก่อน พวกเขายังคงสถานะเป็นเพียงทีมจากลีกที่อยู่ด้านล่างจากล่างสุดของพีระมิดฟุตบอลอาชีพ กับการเป็นทีม "นอกลีก"
การเดินทางที่แสนมหัศจรรย์ของลูตัน ทาวน์ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีแรงผลักดันและพลังขับเคลื่อนใดบ้างที่ส่งให้พวกเขาก้าวมาสู่พรีเมียร์ลีก ติดตามไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand
ประสบการณ์โชกโชนทั้งลีกบนลีกล่าง
ลูตัน ทาวน์ สโมสรจากท้องถิ่นเมืองลูตัน มณฑลเบดฟอร์ดเชียร์ ห่างจากมหานครลอนดอนราว ๆ 30 กิโลเมตร ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการทำให้เป็นสโมสรของประชาชนคนลูตัน ดังคำว่า "Town (เมือง)" ซึ่งปรากฏอยู่ในชื่อสโมสร
แม้ช่วงแรกจะไม่ได้มีคนเห็นด้วยเสียทีเดียว นั่นเพราะที่ลูตันมีทีมฟุตบอลที่ก่อตั้งมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลูตัน วันเดอร์เรอร์ส รวมถึง ลูตัน เอ็กเซลซิเออร์
ทว่าภายหลังการประชุมแบบสาธารณะที่เปิดให้คนในเมืองร่วมฟังความเห็นบริเวณศาลากลางของเมือง ท้ายที่สุดด้วยปณิธานอันแน่วแน่จากการปราศรัยของคนที่เป็นตัวตั้งตัวตี นำโดย จอร์จ ดีคอน ซึ่งเป็นนักเตะของวันเดอร์เรอร์สมาก่อน ก็โน้มน้าวใจให้ทุกเสียงรวมเป็นหนึ่ง นำมาซึ่งการก่อตั้ง ลูตัน ทาวน์ ขึ้นเมื่อกว่า 138 ปีที่แล้ว
ลูตัน ทาวน์ สัมผัสทุกรสชาติของการโลดแล่นในพีระมิดลูกหนังอังกฤษมาเป็นเวลาร่วมศตวรรษเข้าไปแล้ว มีทั้งช่วงเวลาที่โลดแล่นทั้งในระดับกึ่งอาชีพ เริ่มที่ เซาท์เทิร์น ฟุตบอล ลีก (Southern Football League) ซึ่งทีมฉายา "เดอะ แฮตเตอร์ส" เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ไปจนถึงการลงเล่นในระดับลีกรองในยุคเดิม ไม่ว่าจะเป็นดิวิชั่น 2, 3 และ 4 รวมถึงการโลดแล่นขึ้นสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษอย่าง "ดิวิชั่น 1" มาแล้ว
และนั่นก็ทำให้นอกจาก ลูตัน ทาวน์ จะมีฉายาว่าช่างทำหมวก ซึ่งที่มาจากพื้นเพของเมืองที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตหมวกแล้ว สโมสรมักจะถูกใครหลายคนเปรียบเปรยว่าเป็น "ทีมโยโย่ (yo-yo club)" หรือทีมที่มักจะได้เลื่อนชั้นหรือตกชั้นอยู่เป็นประจำ เหมือนกับการเล่นโยโย่ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงสลับกันไปตามแนวดิ่งบนเชือก
ช่วงเวลาหอมหวานที่สุดของ ลูตัน ทาวน์ เกิดขึ้นในฤดูกาล 1982/83 ถึง 1991/92 เป็นช่วงเวลาที่สโมสรได้ลงเล่นบนลีกสูงสุดเป็นเวลาถึง 10 ฤดูกาลเต็ม โดยที่อันดับในตารางของแต่ละขวบปีมีตั้งแต่การคว้าอันดับ 7 ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่สูงสุดของสโมสร ในฤดูกาล 1986/87 ไปจนถึงการจบอันดับเหนือโซนสีแดงให้แฟน ๆ ลุ้นระทึก
นอกจากนี้ภายใต้ช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าเป็นยุครุ่งเรืองสโมสรอย่างแท้จริง ลูตัน ทาวน์ เคยสร้างผลงานสุดยิ่งใหญ่ ด้วยการเฉือนชนะ อาร์เซนอล 3-2 ผงาดแชมป์ ลิตเติลวูดส์ ชาลเลนจ์ คัพ (Littlewoods Challenge Cup) หรือที่รู้จักในนาม "ลีก คัพ" มาแล้ว เมื่อปี 1988
1991/92 ถือเป็นฤดูกาลสุดท้ายบนลีกสูงสุดของสโมสร ลูตันจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 20 ห่างจากโซนปลอดภัยในอันดับ 19 แค่ 2 แต้มเท่านั้น เรียกได้ว่ามันน่าเจ็บใจแบบสุดฤทธิ์ นั่นเพราะฤดูกาลต่อมา (1992/93) กลายเป็นศักราชใหม่ของลีกอาชีพสูงสุดของประเทศ ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก ดิวิชั่น 1 มาเป็น "พรีเมียร์ลีก" นั่นเอง
หลังกระเด็นตกชั้นไป เวลาต่อจากนั้นพวกเขาไม่เคยกลับมายืนในจุดนี้ได้อีกเลย ลูตัน ทาวน์ ยังคงสถานะสโมสรที่ถูกยกไปเปรียบเทียบว่าเป็นทีมโยโย่ แต่คราวนี้เกิดขึ้นและเวียนวนในระดับลีกรองเท่านั้น
ไม่ว่าจะภายใต้ชื่อลีกรองใหม่ ๆ ทั้ง เดอะ แชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน รวมถึงลีกทู ลูตัน ทาวน์ ผ่านสังเวียนดังกล่าวนี้มาทั้งหมด กระทั่งถึงช่วงเวลาสำคัญของสโมสรที่เปรียบดั่งการกลับไปเริ่มต้นใหม่เหมือนสมัยกว่าศตวรรษที่แล้ว เมื่อ ลูตัน ทาวน์ ตกชั้นจากลีกทู ซึ่งเป็นลีกอาชีพอันดับล่างสุดของอังกฤษ (ดิวิชั่น 4) สู่ระดับดิวิชั่น 5 หรือนอกลีกอย่างเต็มตัว หลังจบฤดูกาล 2008/09
ติดลบ 30 แต้ม
"Luton Town, est 1885. Betrayed by the FA, 2008 (ลูตัน ทาวน์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 โดนเอฟเอหักหลังในปี 2008)" คือข้อความจากธงขนาดยักษ์ที่ทำขึ้นโดยแฟน ๆ ลูตัน ทาวน์ กับช่วงเวลาที่สโมสรเผชิญวิกฤตหนักโดนตัด 30 แต้ม ในระหว่างที่ตกชั้นจากลีกวันมาสู่ลีกทู ในฤดูกาล 2008/09
อันที่จริง ลูตัน ทาวน์ ไม่ได้โดนโทษใหญ่ดังกล่าวแค่ฤดูกาลนั้นฤดูกาลเดียว แต่ฤดูกาลก่อนหน้า (2007/08) ในสมัยอยู่ลีกวัน สโมสรก็เคยโดนโทษตัด 10 แต้มมาแล้ว
2007/08 เป็นช่วงเวลาที่ ลูตัน ทาวน์ หมายมั่นปั้นมือที่จะกลับขึ้นสู่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ให้ได้อีกครั้ง สโมสรวางใจให้กุนซือในเวลานั้นอย่าง เควิน แบล็คเวลล์ ซึ่งเป็นคนเมืองลูตันขนานแท้รับหน้าที่เป็นหัวเรือ พร้อมกับเสริมทัพจัดเต็มถึง 8 ราย
แบล็คเวลล์จุดประกายความหวังให้แฟน ๆ ท้องถิ่นกันถ้วนหน้าตั้งแต่ช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล เขาพาทีมคว้าชัยชนะได้ 4 จาก 5 นัดแรกในลีกและบอลถ้วย หนึ่งในนั้นคือชัยชนะ 3-0 เหนือทีมระดับพรีเมียร์ลีกอย่าง ซันเดอร์แลนด์
อย่างไรก็ดี โอกาสสดใสในช่วงออกสตาร์ทก็มาโดนบดบังจนได้ เมื่อฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอังกฤษ หรืออีเอฟแอล รวมถึงสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือเอฟเอ ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลของสโมสร กลายเป็นว่า ลูตัน ทาวน์ ถูกลงโทษจากองค์กรลูกหนังของประเทศด้วยการตัด 10 คะแนน โทษฐานติดสินบนเอเยนต์นักเตะ
เวลาต่อจากนั้น ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด จากที่มีลุ้นกลับสู่ลีกรองกลายเป็นว่าต้องมาลุ้นหนีตกชั้นแทน สมาธิคนทำทีมก็ถูกรบกวนด้วยปัจจัยแวดล้อม นักเตะบางส่วนทยอยออกจากทีม และรายรับรายจ่ายของทีมมีปัญหา
ถึงแม้ช่วงกลางฤดูกาล ทีมจะเปลี่ยนหัวฝ่ายบริหารใหม่หมดเป็นกลุ่มแฟนบอลที่มีกำลังซื้อนาม "Luton Town 2020" แต่ก็ไม่ทันเวลา ลูตัน ทาวน์ จบบ๊วยของตารางลีกวัน กลายเป็นสถิติตกชั้นสองปีติด ๆ กัน
ติดลบ 10 แต้มว่าหนักแล้ว ฤดูกาลถัดมาคือ ฤดูกาล 2008/09 กลับหนักยิ่งกว่า เมื่ออีเอฟแอลและเอฟเอไปตรวจสอบที่มาที่ไปเรื่องการเงินของ ลูตัน ทาวน์ ต่อ จนสืบสาวราวเรื่องจนเจอประเด็นใหม่อีกจนได้ เมื่อลูตันถูกตรวจพบความผิดทางการเงินย้อนหลังไปหลายปีที่กระทำโดยเจ้าของทีมคนก่อน รวมถึงข้อหาเดิมคือติดสินบนเอเยนต์นักเตะ
กลายเป็นว่า ลูตัน ทาวน์ โดนตัด 30 แต้มก่อนเริ่มฤดูกาลลีกทู และแม้ว่าการแข่งครบ 46 นัด ทีมช่างทำหมวกจะเก็บได้ 56 คะแนน ซึ่งคือแต้มที่ได้อันดับในตารางคืออันดับที่ 15 เรียกได้ว่ารอดตกชั้นแบบสบาย ๆ แต่แต้มที่ปรากฏบนสกอร์บอร์ดคือ 26 คะแนน ตกชั้นในฐานะอันดับสุดท้ายของลีกทู
ต่อให้ลูตันจะเป็นทีมที่โลดแล่นทั้งลีกสูงสุดของอังกฤษ กระเด็นตกมายังลีกรองแชมเปี้ยนชิพ ไปจนถึงลีกวันและลีกทู ทว่าสโมสรจากเบดฟอร์ดเชียร์ทีมนี้ก็ไม่เคยหล่นอนาถถึงขั้นหลุดไปนอกลีก จนกระทั่งถึงช่วงครบรอบ 90 ปีของสโมสร
"แน่นอนว่าคุณไม่อาจลืมความทรงจำแบบนั้นไปได้หรอก มันติดอยู่กับพวกเรา ต่อให้เราย้ายไปสนามใหม่ ธง (ที่ทำขึ้นโดยแฟนบอล) นั้นก็จะติดตัวเราไปด้วย" แกรี่ สวีต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูตัน ทาวน์ เผยความรู้สึกในช่วงที่ทีมตกสู่นอกลีก
"พวกเรารู้สึกโกรธในฐานะสโมสรฟุตบอล ทั้งเอฟเอและอีเอฟแอลพยายามจะฆ่าเรา นี่เป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป" ข้อความบางส่วนจาก เควิน คราวน์ นักเขียนซึ่งเป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ของ ลูตัน ทาวน์
อนาคตสีส้ม ก้าวไปอย่างยั่งยืน
เป็นเวลาถึง 5 ฤดูกาลเต็มที่ ลูตัน ทาวน์ ต้องโลดแล่นอยู่ในระดับนอกลีก อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพของสโมสรในยุคเปลี่ยนผ่านเป็นกลุ่มบริหารใหม่ซึ่งผูกโยงกับท้องถิ่นอย่างเต็มเปี่ยม ลูตัน ทาวน์ หวิดจะเลื่อนชั้นกลับสู่ลีกอาชีพเกือบจะทุกขวบปี เห็นได้ชัดจากโอกาสถึง 3 หนที่ทีมได้เล่นในรอบเพลย์ออฟ
กระทั่งความสำเร็จมาเกิดขึ้นจนได้ในฤดูกาลที่ 5 (2013/14) คราวนี้ ลูตัน ทาวน์ ทำผลงานสมราคาทีมเกาะกลุ่มเลื่อนชั้นจากการทำสถิติเก็บ 101 แต้ม พร้อมซัลโวคู่แข่งตลอด 46 นัดไป 102 ประตู จบด้วยการเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งอันดับสองชนิดแทบไม่เห็นฝุ่นที่ 19 แต้มทำให้ไม่ต้องมาเหนื่อยในเกมเพลย์ออฟแล้ว
2014/15 คือช่วงเวลาที่สโมสรแห่งเมืองลูตันคืนสู่ลีกอาชีพอีกครั้ง แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของทีมก็คือการกลับไปอยู่ในจุดที่ควรอยู่ อย่างน้อย ๆ ก็คือแชมเปี้ยนชิพ อย่างมากก็คือลีกสูงสุดที่พวกเขาเคยสัมผัส ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่าพรีเมียร์ลีก
เป้าหมายระยะสั้นของ ลูตัน ทาวน์ สำเร็จหลังจบฤดูกาล 2018/19 ภายใต้การคุมทีมของ นาธาน โจนส์ และคนที่รับไม้ต่อแบบรักษาการอย่าง มิค ฮาร์ฟอร์ด ที่ทั้งสองมีส่วนช่วยให้สโมสรกลับสู่ลีกวันเป็นหนแรกหลังตกไปนอกลีก และเล่นลีกทูมา 4 ฤดูกาล พวกเขาผงาดแชมป์ลีกวัน กลับสู่เวที เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในรอบ 12 ปีได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ลูตันกลับมาอยู่ในจุดที่เคยยืน และใช้เวลา 3 ฤดูกาลในการทำอันดับเกาะพื้นที่ลุ้นเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด เริ่มจากฤดูกาล 2021/22 เรื่อยมาจนช่วงเวลาปัจจุบัน (2022/23) ซึ่งปีหลังเป็นครั้งที่ก้าวไกลกว่าเดิม เพราะทีมเดินทางมาถึงเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ
และในเวลาคาบเกี่ยวกับที่ทีมคืนสู่ลีกอาชีพ เรื่อยมายังพื้นที่เพลย์ออฟ ลูตัน ทาวน์ มีแผนการขับเคลื่อนเรื่องนอกสนามไปด้วย อย่างเรื่องการย้ายสนามแข่งขันจากเดิมที่ เคนิลเวิร์ธ โรด หรือสนามคลาสสิกท่ามกลางชุมชนเมือง (จุคนได้ 10,356 ที่นั่ง) ซึ่งมีทางเดินเข้าสนามบางส่วนสามารถมองเห็นวิวหลังบ้านคนละแวกนั้น
ทีมช่างทำหมวกใช้สนามแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1905 ซึ่งในช่วงที่ทีมมีฝ่ายบริหารใหม่เป็นคนในพื้นที่ และมีโปรเจ็กต์ใหญ่เตรียมย้ายสนามไปสู่สถานที่ใหม่ ซึ่งก็อยู่อีกย่านหนึ่งในแถบเมืองลูตันนาม Power Court คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีความจุระหว่าง 17,500 - 23,000 ที่นั่ง กำหนดแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดคือฤดูกาล 2025/26
สำหรับ เคนิลเวิร์ธ โรด มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่แพ้การเดินทางที่แสนมหัศจรรย์ของสโมสร สนามแห่งนี้เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่พร้อมเล่นงานทีมคู่แข่งยามมาเยือนอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ ลูตัน ทาวน์ เนรมิตรที่นี่เป็นสนามหญ้าเทียมในยุครุ่งเรืองของสโมสร และใช้เรื่อยมาจนกระทั่งฝ่ายจัดการแข่งขันออกกฎให้ใช้หญ้าจริงเท่านั้น ในยุค 90s
อีกหนึ่งเรื่องราวที่เป็นธงในใจเหล่าผู้บริหารสโมสรและคอยขับเคลื่อนอยู่เรื่อยมาคือปรัชญาการสร้างทีมที่เป็นดั่งภาพตัวแทนของเมืองลูตัน ที่เน้นความยั่งยืนและผูกโยงกับชุมชนที่ให้การสนับสนุนมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ
"ลูตันไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว" สวีต ในฐานะ CEO ลูตัน ทาวน์ กล่าวต่อ "ลูตันเป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ หมวก ฯลฯ ที่นี่มีความคิดสร้างสรรค์แต่ก็เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะขรุขระและมีปัญหา"
"แต่ทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้จากแนวทางการเล่นฟุตบอลของพวกเรา เราทำงานร่วมกันแบบไหน มันคือการทำงานเป็นทีม ไม่สำคัญว่าคนคนนั้นจะมาจากไหน เรามีความแน่นแฟ้น เราได้จำลองวัฒนธรรมของเมืองมายังสโมสรของพวกเรา - และนั่นคือเหตุผลที่เราประสบความสำเร็จโดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องหน้าตาสโมสรเสมอไป"
แง้มประตูสู่พรีเมียร์ลีก
2022/23 เป็นฤดูกาลที่ ลูตัน ทาวน์ ใกล้เคียงกับโอกาสคัมแบ็กสู่ลีกอาชีพสูงสุดของอังกฤษมากที่สุด
ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่อดีตกุนซืออย่าง นาธาน โจนส์ วางไว้ก่อนที่เขาจะถูก เซาธ์แฮมป์ตัน ดึงไปคุมทีมในช่วงกลางฤดูกาล
ในฤดูกาลที่ 4 ติดต่อกันบนเวที เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ทั้ง นาธาน โจนส์ รวมถึงกุนซือคนปัจจุบันอย่าง ร็อบ เอ็ดเวิร์ตส์ ทำให้ ลูตัน ทาวน์ กลายเป็นทีมที่คู่แข่งยากที่จะต่อกรด้วย พวกเขาเจาะรายละเอียดทั้งเกมรับเกมรุกทีม ประเมินแล้วประเมินอีกในทุก ๆ ตลาดซื้อขาย ควบคู่ไปกับความไว้เนื้อเชื่อใจเหล่าขุมกำลังที่เคยร่วมงานกับสโมสรมาอย่างยาวนาน
อาทิ เพลลี่ รัดด็อค เอ็มปานซู กองกลางเบอร์ 17 ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่สมัยเล่นนอกลีก เขาได้ลงเล่นถึง 19 เกม รวมถึงการให้โอกา สแดน พ็อตต์ กองหลังที่ลงเล่นให้ทีมตั้งแต่ลีกทูลงสนามรวมทุกรายการในปีนี้ไป 25 นัด
ทุกสิ่งอย่างแปรเปลี่ยนสู่ผลงานเด่นตลอดเส้นทาง 46 นัด ลูตัน ทาวน์ คว้าอันดับ 3 จากบรรดา 24 ทีมชิงชัย พร้อมผลงานแพ้น้อยที่สุดเป็นอันดับสองของลีก (8) และเสียประตูน้อยสุดเป็นอันดับสองร่วมของลีก (39)
คาร์ลตัน มอร์ริส กองหน้าที่ทีมซื้อเข้ามาใหม่ ตอบโจทย์ได้ทันทีตั้งแต่ฤดูกาลเดบิวต์ กองหน้าชาวอังกฤษรายนี้ซัดไป 20 ตุง เป็นดาวซัลโวอันดับสามของลีก ขณะที่อีธาน ฮอร์วาธ ผู้รักษาประตูชาวอเมริกัน ก็เหนียวแน่นน่าไว้ใจ โดยทำไปถึง 20 คลีนชีต มากที่สุดเป็นอันดับสองของลีก
สำหรับ ลูตัน ทาวน์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จากทีมที่เคยตกไปสู่ระดับนอกลีก สู่พรีเมียร์ลีก ถือเป็นการเดินทางที่น่ามหัศจรรย์ครั้งหนึ่งของสโมสร ดังบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งโดยสวีต ผู้บริหารระดับสูงของลูตัน ผ่านพอดแคสต์ Business Of Sport ของ The Athletic
"การโดนตัด 30 แต้มนั้นเป็นเรื่องแย่ เราเกือบเอาชนะเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้"
แหล่งอ้างอิง :
https://theathletic.com/3149978/2022/02/28/luton-town-a-club-left-to-rot-now-pushing-for-the-premier-league/
https://www.90min.com/th/posts/luton-town-from-non-league-to-premier-league
https://theathletic.com/4526257/2023/05/17/luton-town-stand-ready-to-inject-some-raucous-realism-into-the-premier-league/
https://www.skysports.com/football/news/11717/12585687/luton-town-championship-play-off-contenders-rise-from-non-league-exile-to-verge-of-premier-league
https://www.lutontown.co.uk/club/club-history/
https://www.thenationalnews.com/sport/football/2023/05/12/long-read-luton-town-recover-from-dark-days-to-be-within-reach-of-premier-league-dream/
https://www.lutontown.co.uk/news/2023/may/edwards-interview/