หากกล่าวถึงสโมสร เบิร์นลี่ย์ เชื่อได้เลยว่าเกือบร้อยทั้งร้อยคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า นี่คือทีมที่มีดีเอ็นเอของ “ฟุตบอลโบราณ” ในระดับเรือธง ทั้งการโยนยาวให้ไปวัดดวงหน้างาน ตั้งรับลึก คิดไม่ออกก็จ่ายให้ปีกครอส หรือเปิดโหม่งให้กองหน้าร่างโย่ง ๆ จบสกอร์
แต่ภาพจำที่ถูกผลิตซํ้ามายาวนานนี้ได้มลายไปสิ้น หลังการเข้ามานั่งแท่นกุนซือ “เดอะ คลาเร็ตส์” ของ “แว็งซองต์ กอมปานี”
นั่นเพราะ เบิร์นลี่ย์ ใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาล 2022-23 หันมาเน้นเล่นเกมรุก มีการเพรสซิ่ง และวิ่งไล่กดกันคู่ต่อสู้ 87 ประตู จาก 46 แมตช์ คือเครื่องการันตี แถมยังมีเกมรับที่แน่นตึ้บชนิดที่มากกว่าวิถีเน้นอุดแล้วรอสวนแบบเดิม ๆ ที่เคยทำมาบนลีกสูงสุดเสียด้วยซ้ำ และที่สำคัญไปกว่านั้น ก็องปานียังสามารถเสกสรรค์ทีมให้สามารถเก็บแต้มได้เกิน 100 คะแนนอีกด้วย
เกิดอะไรขึ้น ? หนึ่งในศิษย์ก้นกุฏิของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้นี้ เปลี่ยนวิถีของเบิร์นลี่ย์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ด้วยวิธีการใด ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
คิดจะเปลี่ยน ต้องโกนให้เตียนยันโคน
นับเป็นเรื่องปกติที่ทีมตกชั้นมักจะเสียนักเตะฝีเท้าดีประจำทีมไปให้กับทีมในลีกสูงสุด ที่จะคอยมาป้วนเปี้ยนเก็บตกไปใช้งานด้วยราคาที่จับต้องได้
แน่นอนว่าสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับเบิร์นลี่ย์เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น นิค โป๊ป ที่โดนนิวคาสเซิลคว้าตัวไปราคาที่ 10 ล้านปอนด์, แม็กซ์เวลล์ คอร์เนต์ ที่เวสต์แฮมมาดูดไปที่ราคา 17.5 ล้านปอนด์ หรือ ดไวท์ แมคนีล กับ นาธาน คอลลินส์ ที่เอฟเวอร์ตันและวูล์ฟแฮมป์ตันมาดึงตัวไปที่ราคา 20 กับ 20.5 ล้านปอนด์ ตามลำดับ
การเสียนักเตะไปเช่นนี้มีทั้งข้อเสียและข้อดี ข้อเสียคือ ทีมจะขาดสมดุลและความต่อเนื่อง นักเตะชุดเดิมที่ใช้งานมานาน จะเล่นได้อย่างเข้าใจกัน รวมถึงมีความเข้าใจวัฒนธรรมของสโมสร ส่วนข้อดีคือ ทีมจะได้ทำการรีสตาร์ทใหม่จากการเปลี่ยนทีมยกกระบิ เป็นโอกาสในการนับหนึ่งและเริ่มต้นกับอะไรใหม่ ๆ เผื่อฝันร้ายที่ตกชั้นลงมาจะมีอะไรดีขึ้นได้
แน่นอนว่าเบิร์นลี่ย์เลือกเดินทางหลัง ทีมปล่อยนักเตะออกไปแบบถาวร 30 คน และปล่อยแบบยืม 12 คน ถือได้ว่าเป็นจำนวนที่แฟนบอลแทบจะอ้าปากค้าง เพราะแทบจะเป็นการโละยกทีมจากชุดเดิม และที่โหดคือมีการเติมนักเตะถึง 18 คน และยืมอีก 5 คน มาเป็นส่วนเติมเต็มของทีม ด้วยความคาดหวังว่าจะพาทีมเลื่อนชั้นกลับไป ณ จุดเดิมให้ได้
โดยจำนวน 6 คน จากที่กล่าวไปเป็นนักเตะจากลีกเบลเยียมที่กอมปานีรู้เหลี่ยมรู้ฟอร์มการเล่นเป็นอย่างดี จากการที่เขาเคยทำงานที่นั่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเด็กในคาถาอย่าง จอช คัลเลน จาก อันเดอร์เลช, มานูเอล แบ็งซง จาก รอยัล อันเวิร์ป, มาร์เซล ลูอิส จาก อูนิยง แซงต์-ชิลลัวส์, อานาซ ซารูรี จาก รอยัล ชาเลอรัว รวมถึง วิตินโญ่ กับ ซามูแอล บาสแต็ง จาก เซอร์เคิล บรูซ และ สตองดาร์ ลีแอซ ซึ่งนอกจากลูอิสแล้วที่เหลือแทบจะเป็นแกนหลักในการสร้างทีมของเขาทั้งนั้น
รวมถึงการเล็งเห็นความสามารถของ อาริยาเนต์ มูริช ผู้รักษาประตูโลกลืมของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โดนปล่อยยืมรัว ๆ มาก่อนหน้านั้นให้มาประจำการมือ 1 ของทีม ด้วยคอนเน็กชั่นส่วนบุคคลระหว่างกอมปานีและกวาร์ดิโอลา
ไหนจะมีการเก็บรักษานักเตะแกนหลักเดิมคนสำคัญอย่าง เจย์ โรดริเกซ, แอชลีย์ บาร์นส์ หรือ จอช บราวฮิลล์ และการยืมที่สายตาแหลมคมอย่างมากกับการจัด นาธาน เตย่า กลางรุกดาวรุ่งจาก เซาธ์แฮมป์ตัน มาประจำการในฐานะศูนย์กลางเกมรุกของทีม
ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดนี้สอดรับกับการทำงานของกอมปานีได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเขาสามารถชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ทำงานได้ไหลลื่นไม่มีสะดุดกับทีมชุดนี้ ทำให้การติดตั้งแทคติก รูปแบบการเล่น หรือเจาะจงรายละเอียดเกม สามารถกระทำการได้โดยง่ายตามไปด้วย เรียกได้ว่า นี่คือทีมของเขาจริง ๆ
เท่านั้นยังไม่พอ กอมปานียังดึงตัวนักเตะมาเพิ่มเติมในส่วนที่คิดว่าขาดหายไปในตลาดหน้าหนาว ซึ่งมาจากลีกเบลเยียมเป็นหลัก ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการไม่แพ้ใคร 22 แมตช์ติดต่อกัน ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนเมษายน แบ่งเป็นชนะ 16 เสมอ 6 การันตีแชมป์ลีกและเลื่อนชั้นตั้งแต่ไก่โห่ จบฤดูกาลแชมเปี้ยนชิพด้วยผลงาน 46 นัด ชนะ 29 เสมอ 14 แพ้เพียง 3 เก็บได้มากถึง 101 คะแนน
แน่นอนว่าในการให้เหตุผลสนับสนุนแนวทางนี้มักเป็นสิ่งที่สื่ออังกฤษเลือกใช้ในการอธิบาย เพราะเป็นเรื่องที่เห็นได้เป็นรูปธรรม คือไม่ต้องเป็นกูรูหรือนักวิจารณ์ก็สามารถรับรู้ได้ เพราะในชีวิตปกติการทำอะไรแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ โดยหวังให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่ ๆ ไม่ต่างอะไรจากการเป็นคนวิกลจริต สู้กรุยทาง ทดลอง และเปลี่ยนวิธีการแบบพลิกขั้วสลับด้านไปเลย แม้จะไม่ทราบถึงผลลัพธ์แต่สิ่งใหม่ ๆ อาจเกิดขึ้นก็เป็นได้
แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่ง เพราะการให้เหตุผลสนับสนุนนั้นมีที่เป็นแบบนามธรรมเสียด้วย
ไปด้วยกัน ไปได้ไกล
ฟุตบอลคือกีฬาประเภททีม แน่นอนว่าในการอธิบายถึงเหตุผลของความสำเร็จย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะชี้ให้เห็นถึงบางอย่างที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่สามารถรวมใจให้เกิดการพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ ณ ที่นี้เบิร์นลี่ย์ของกอมปานีก็มีแนวความคิดดังกล่าวเช่นกัน และเขาเป็นคนเอ่ยปากเองว่ามันคือ ความ “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล (Togetherness)” ดังที่เขาเคยกล่าวไว้กับ EFL ความว่า
“ทุกคน ที่นี่เบิร์นลี่ย์ไม่ใช่พวกลอนดอนหรือมาดริดแต่อย่างใดนะ!”
“ผมมักจะหยิบยกความไปด้วยกัน ไปได้ไกล มาบอกนักเตะเสมอ บรรยากาศแบบนี้มีผลต่อตัวผมอย่างมากสำหรับการเป็นโค้ช สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมอยากได้จากทีมคือการทำงานหนักร่วมกัน เพราะผมอุทิศให้ทีมนี้แบบสุด ๆ ผมจึงอยากได้สิ่งนี้จากทีมเหมือนกัน ท่องเอาไว้ในใจเลย นี่เป็นปรัชญาของผม แน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลให้ผมสามารถดึงดูดนักเตะที่มีวิถีแบบเดียวกับผมเข้ามาหลายคน”
“ผมตะโกนสั่งนักเตะตลอดว่า ถ้าอยากครองบอลก็อย่าเสียบอลแบบโง่ ๆ ถ้าเชื่อว่าทำได้ก็ต้องทำให้ได้ เห็นไหมครับ ทีมเรากดคู่ต่อสู้ตลอด ใครหน้าไหนก็เป็นรองเรา สิ่งนี้ทำให้ทีมรับรู้ได้ว่าควรทำอะไรครับ”
จากที่กล่าวในข้างต้น ทำให้คิดได้ว่าทีมของกอมปานีการจะมาฉายเดี่ยวโดยหวังพึ่งคน ๆ เดียว หรือเน้นขึ้นเกมผ่านตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งคงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความไปด้วยกัน ไปได้ไกล ที่เขาหยิบยกขึ้นมานั้นคือปรัชญาประจำตน
กล่าวคือ มันเป็นฐานราก (Foundation) ของเขา และเมื่อใดก็ตามที่กลายเป็นรากฐานที่มั่นคงแล้วย่อมยากจะเปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อเขาเป็นผู้นำของทีม ย่อมต้องนำออกมาใช้ในฐานะแผนการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่า ความไปด้วยกัน ไปได้ไกล นี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับการสร้างทีมที่เน้นการครองบอล (Possession) และเพรสซิ่ง เพราะหากองค์ประกอบใดในทีมเกิดปวกเปียกและไม่ตั้งใจมุ่งมั่นวิ่งไล่ ย่อมเป็นช่องให้คู่ต่อสู้โจมตีและเกิดความเสียหายต่อทีมได้
การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ทีมที่เล่นบอลอุดแล้วโยน เล่นสวนกลับ หรือบอลชิงจังหวะ จะไม่ต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงแต่การเล่นแบบเน้นการครองบอลนั้นมีความเสี่ยงที่สร้างภาระต่อร่างกายและความฟิตของนักเตะอย่างมาก
หากเล่นแล้วผิดพลาดเพียงเล็กน้อยย่อมหมายถึงล้อฟรี จาก 100 เป็น 0 ได้ง่ายกว่าการเล่นแบบอื่น ที่ยังมีเรื่องของการออมแรง การลดภาระทางกาย หรือการเปิดช่องให้คนใดคนหนึ่งรับภาระได้มากกว่า
โดยเฉพาะแผนการเล่นประเภท 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 ที่เป็นแผนแบบ “สร้างสามเหลี่ยม” ในการเล่นค่อนข้างยาก ไม่เหมือนระบบ 4-4-2, 4-4-1-1, 4-2-2-2, 3-5-2 หรือ 5-3-2 ที่แต่ละตำแหน่งมีความใกล้กัน และถ่ายบอลแบบสามเหลี่ยมโดยมีคนคอยซ้อน 2 ตลอด หรือก็คือมีช่องว่างระหว่างการถ่ายเทบอลตำแหน่งต่อตำแหน่งสูงมาก โดยเฉพาะในแดนกลางที่เป็นช่องที่หลุดทีเดียวก็อาจทะลุไปจากหน้าถึงหลังได้ทันที
ยิ่งใช้แผนนี้เล่นเกมรุก เน้นเพรสซิ่ง หรือ Possession ยิ่งแล้วใหญ่ แม้จะโดดเด่นในการทำเกมรุก เพราะมีผู้เล่นเติมอย่างน้อย 4-5 ตำแหน่ง แต่เมื่อพลาดขึ้นมาย่อมหมายถึงหายนะที่มาเยือนได้ในเสี้ยววินาที
ดังนั้นนักเตะที่จะมาจับยัดลงแผนดังกล่าวที่วางหมากโดยกอมปานีจึงจำเป็นที่จะต้องมีสำนึกในการเล่นด้วยกันเป็นทีม อยู่ในส่วนลึกของวิธีคิดไม่มากก็น้อย เพราะจะได้คุยกันได้ง่ายโดยไม่ต้องสอนอะไรเยอะ และพร้อมลงสนามได้ในเวลาไม่นาน
กระนั้นทั้งการให้เหตุผลที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมจะดูเป็นเรื่องฝันหวานไปเลย หากพิจารณาว่ากอมปานีนั้นเป็นเด็กใคร
ศิษยานุศิษย์เป๊ป การันตีว่าเทพจริง
ในวิถีแห่งโลกตะวันตก นับเป็นเรื่องปกติอย่างมากที่จะมี “สำนักคิด (School)” ขึ้นมา โดยเฉพาะในโลกแห่งการคิดและการประกอบสร้างทฤษฎี เพื่อเป็นการก่อร่าง (Shape) สร้างกระบวนการทางความคิดบางอย่างให้มีพื้นฐานที่สืบเนื่องต่อกัน ถ้าต่างสำนักคิดก็ย่อมมีความแตกต่างกันทางกระบวนการจัดตั้งคนในอาณัติที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับวงการฟุตบอลนั้น แม้ศาสตร์ลูกหนังที่เราคุ้นเคยจะอยู่ในโลกตะวันตกที่บุคคลคือปัจเจกที่มีเสรีภาพในการคิดและมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทว่าวัฒนธรรมฟุตบอลก็มีการสืบทอดมาแบบรุ่นสู่รุ่นค่อนข้างสูง
แน่นอนว่าบรมครูทางฟุตบอลที่ได้รับการยกย่องในโลกปัจจุบันคนหนึ่งก็คือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งปรัชญา วิธีคิด ระบบการเล่น แผนการเล่น แทคติก หรือการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะผ่านมามากกว่า 10 ปี เขาก็ถือได้ว่าไม่ตกยุค สิ่งที่เขาคิดยังคงทันสมัยกับฟุตบอลยุคปัจจุบัน เหมือนที่ครั้งหนึ่ง โยฮัน ครัฟฟ์ ที่ถือเป็นอาจารย์ของเป๊ปเคยอยู่จุดนี้มาก่อน และครัฟฟ์เองก็ได้รับการถ่ายทอดจาก ไรนุส มิเชลส์ ผู้ให้กำเนิดแนวคิด "Total Football" อีกต่อหนึ่ง
จาก Total Football ของ "สำนักมิเชลส์" (Michels School) สู่ "สำนักครัฟฟ์" (Cruyff School) จนถึงตอนนี้ อาจจะเรียกว่า สำนักแห่งโค้ชฟุตบอลเบอร์ 1 ของโลกคือ “สำนักเป๊ป (Pep School)” ก็ย่อมได้
แต่ถึงจะอยากทำตามก็อาจทำได้ไม่ง่าย อาจต้องเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดที่อยู่กันมานาน หรือเคยได้ยินอยู่ทุก ๆ วันโดยตรงถึงจะเข้าใจอย่างแท้จริง จึงทำให้คิดได้ว่า กอมปานี ที่เคยเป็นกัปตันทีมเรือใบสีฟ้า และชูถ้วยภายใต้การคุมทีมของเป๊ปมาเกือบทุกรายการ (ขาดก็แค่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ถ้วยเดียว) ย่อมมีความเป็นไปได้ที่เขาจะรับไม้ต่อแนวความคิดเกี่ยวกับการเป็นโค้ชมาด้วย
จริงอยู่ที่อาจถกเถียงได้ว่า แม้จะมีการสอนแต่อาการหูทวนลมเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาย่อมเกิดขึ้นได้ ใช่ว่าการเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จจะเป็นโค้ชที่ดีเสมอไป แต่ลองไปพิจารณาบรรดาศิษยานุศิษย์เป๊ปอย่าง เอริก เทน ฮาก, มิเกล อาร์เตต้า หรือ ชาบี เอร์นานเดซ จะพบว่า แม้จะยังวัดรอยเท้าเป๊ปไม่ได้ แต่แนวโน้มที่จะฉายแววก็มีความเป็นไปได้สูงมาก
ที่สำคัญ ในเรื่องของวิธีการเล่น แฟนบอลต่างได้รับกลิ่นอายถึงความเป็นเป๊ปมาบางส่วน เรียกได้ว่าเพียงเขี่ยบอลเปิดเกมและเล่นไปสักพักก็ทราบในทันทีว่า “นี่มันเป๊ปชัด ๆ” หรือก็คือ สำนักเป๊ป อย่างน้อยในเชิงประจักษ์ถือว่ามี QC ประมาณหนึ่งในการการันตีว่ามีคุณภาพจริง ๆ ส่วนใครจะมีผลงานเป็นอย่างไรนั้นสุดแท้แต่วาสนา
ท้ายที่สุด แม้กอมปานีจะงัดฟอร์มเบิร์นลี่ย์ให้บินสูงอย่างถึงเครื่อง และเปลี่ยนวิถีของทีมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่อย่าลืมว่าลีกที่เล่นนั้นคือลีกรอง และยังมีสิงสาราสัตว์รอต้อนรับอยู่ในพรีเมียร์ลีกอีกมาก (หากกอมปานีได้ทำทีมต่อ โดยไม่มีเรื่องมีราวอะไรให้ต้องแยกทางกัน) ซึ่งเห็นกรณีมานักต่อนักที่ตอนอยู่ลีกล่างฟอร์มเทพ แต่เมื่อขึ้นมาลีกสูงสุด กลับพังไม่เป็นท่า และต้องกลับจุดเซฟเดิมอย่าง นอริช ซิตี้ หรือ ฟูแล่ม (สมัย 2-3 ฤดูกาลก่อน) เป็นต้น
แต่สิ่งหนึ่งที่กอมปานีนั้น Contribute หรือสรรค์สร้างให้แก่วงการฟุตบอลที่ศึกษาฟุตบอลอย่างจริงจัง นั่นคือ “คิดได้ทำได้” แม้จะมีการคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าคืออะไร แต่หากจะเปลี่ยนจริง ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้แบบไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญ
แหล่งอ้างอิง
https://totalfootballanalysis.com/team-analysis/burnley-202223-their-tactics-under-vincent-kompany-scout-report-tactical-analysis-tactics
https://www.bbc.com/sport/football/65191642
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11807703/How-Vincent-Kompany-transformed-Burnley-primed-Premier-League.html
https://www.lancs.live/sport/football/football-news/vincent-kompany-man-city-burnley-25823768
https://www.efl.com/news/2022/december/in-good-kompany/