Feature

คนไทยก็มีดี : เหตุใดเทเบิลเทนนิส ทีมชาติไทย จึงก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับท็อปในย่านอาเซียน? | Main Stand

มหกรรมซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ในบางรายการได้แข่งขันและทราบผลกันไปบ้างแล้ว ซึ่งชาวไทยคงต้องปริ่มเปรมกันอีกครั้ง เพราะในประเภททีมหญิง ทัพลูกเด้งสาวไทยสามารถป้องกันแชมป์ซีเกมส์ได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เทเบิลเทนนิสทีมชาติไทยถูกยกให้เป็น คลื่นลูกใหม่ แห่งเอเชีย

 

ทัพลูกเด้งทีมชาติไทยทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จและพร้อมจะเป็นเจ้าแห่งอาเซียน แม้ว่าจะไม่ได้ใช้นักกีฬาโอนสัญชาติแบบชาติอื่น ๆ ?

Main Stand จะพาไปไขคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

เน้นพัฒนาเด็กในชาติ

การโอนสัญชาตินักกีฬานั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับวงการกีฬาในยุคนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวงการเทเบิลเทนนิสของไทยกลับไม่มีนักกีฬาโอนสัญชาติเข้ามาเลยแม้แต่คนเดียว นักกีฬาทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยที่มีสัญชาติไทยทั้งสิ้น

ซึ่งนักกีฬาไทยก็มีความพยายามและมีความสามารถไม่แพ้นักกีฬาชาติอื่น ๆ พวกเขาต้องพยายามอย่างหนักกว่าจะได้มีโอกาสขึ้นมาอยู่ในทีมชุดใหญ่ที่จะไปแข่งตามทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ

ยกตัวอย่างนักกีฬาจอมสร้างสถิติอย่าง หญิง สุธาสินี เสวตรบุตร กว่าที่เธอจะก้าวขึ้นมาเป็นมือวางอันดับ 1 ของทีมได้นั้น เธอพบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายจนเกือบพรากความฝันของเธอไปแล้ว

สุธาสินียอมทุ่มทุนเดิมพันชีวิตทั้งหมดไปกับกีฬาที่เธอชื่นชอบ เธอย้ำกับตัวเองเสมอว่า “ต้องทำให้ได้” จนยอมสละการใช้ชีวิตในบางช่วงเวลาเพื่อไล่ล่าความสำเร็จที่รออยู่ตรงหน้า

"หนูตามพี่ ๆ ไปที่สนามปิงปองทุกวัน ตอนแรกไม่รู้ว่าตัวเองชอบไหม แต่พอเราเห็นภาพแบบนั้นทุกวันมันก็เกิดความชอบไปเอง พอดีกับที่มีโค้ชคอยสอนด้วยก็เลยเริ่มจับไม้ปิงปองตั้งแต่ตอน 6 ขวบ"

หรือในด้านของทีมชายเช่น บอล ภาคภูมิ สงวนสิน ก็มีความรักและแรงบันดาลใจต่อกีฬาเทเบิลเทนนิสมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เขาพัฒนาฝีมือขึ้นมาอย่างรวดเร็วและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ จนก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาระดับท็อปที่โดดเด่นอย่างมากในปี พ.ศ. 2542 เขาก็สามารถคว้าแชมป์ประเทศไทยมาครองได้ ทั้งในประเภทชายเดี่ยว ชายคู่ และผสม

จะเห็นได้ว่าการจะก้าวขึ้นมาติดธงทีมชาติไทยนั้นมันยากแค่ไหน ทั้งต้องฝึกซ้อมอย่างหนักและต้องมีแรงบันดาลใจกับสิ่งนั้นจึงจะสามารถต่อยอดไปได้ไกล

อย่างไรก็ตาม ในบางทีมชาติที่โอนสัญชาตินักกีฬาลูกเด้งเข้ามาเช่นทีมชาติสิงคโปร์ หากไปตามดูประวัติของแต่ละคนแล้วจะพบว่าส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวจีน หลายคนยอมสละสัญชาติที่ตัวเองมีมาตั้งแต่กำเนิดเพื่อเล่นให้ทีมชาติสิงคโปร์

กีฬาเทเบิลเทนนิสได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศแถบเอเชีย รวมถึงในประเทศจีนที่กีฬาเทเบิลเทนนิสโด่งดังและสร้างนักกีฬาชาวจีนที่มีความสามารถมาก ๆ ทว่าส่วนใหญ่จะโอนสัญชาติจากจีนไปเล่นให้กับทีมชาติอื่น ๆ แทน

ทีมชาติสิงคโปร์ได้นักกีฬาโอนสัญชาติจากจีนมานานหลายปี ทำให้ช่วงหนึ่งพวกเขาทะยานขึ้นไปอยู่ในระดับท็อปของย่านอาเซียน อีกทั้งมีคำกล่าวที่ว่า หากนักกีฬาจีนพวกนั้นยังเล่นอยู่ที่จีนพวกเขาคือที่ 10 แต่ถ้าย้ายมาสิงคโปร์พวกเขาจะเป็นที่ 1 

เพราะเมื่อมาแข่งขันกันในซีเกมส์จริง ๆ แล้ว สิงคโปร์ก็ได้ครองความสำเร็จมาโดยตลอด อีกเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้คือ การที่ประเทศจีนมีจำนวนประชากรสูงมาก (1,400 ล้านคน) ซึ่งมากที่สุดในโลก และโอกาสในการติดทีมชาติของตัวเองก็ทวีความยากขึ้นไปอีก ทำให้บางคนเปลี่ยนสัญชาติแล้วไปลงแข่งให้กับประเทศอื่น

ตัดภาพมาที่ทีมชาติไทย พวกเขาเน้นพัฒนาบุคลากรในชาติของตัวเองก่อน โดยเฟ้นหานักกีฬาที่มีความสามารถมาตั้งแต่ตอนยังเป็นเยาวชน และบ่มเพาะมาตั้งแต่ตอนนั้นจนมีโอกาสติดทีมชาติเพื่อไล่ล่าความสำเร็จต่อไป

ด้วยการฝึกซ้อมที่หนัก เข้มข้น และค่อย ๆ สร้างจากรากฐาน ทำให้ประเทศไทยขึ้นมาตีตื้นทีมในย่านอาเซียนได้แล้วในตอนนี้ และพวกเขาก็มีรากฐานที่แข็งแกร่งและยากที่จะโค่น ดูเหมือนว่าการค่อย ๆ สร้างรากฐานนี้จะค่อย ๆ ผลิดอกออกผล เห็นได้จากผลการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ

เพราะล่าสุดในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ทัพนักกีฬาลูกเด้งสาวไทยคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิง โดยนี่ถือเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันที่สามารถทำได้

ด้วยความมุ่งมั่นและความพยายาม สุธาสินีเผยว่า “จริง ๆ คือเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะพวกเราหมายมั่นปั้นมือจะมาป้องกันแชมป์อยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะประมาทคู่แข่งแต่ละชาติได้เลย เพราะพวกเขามีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้ายพวกเราก็ยังทำสำเร็จ”

“ส่วนหลังจากนี้กับประเภทที่เหลือก็คิดว่าทีมหญิงเราจะสามารถคว้าเหรียญทองมาได้เพิ่มอีก โดยเฉพาะประเภทหญิงคู่ แต่ก็ไม่สามารถประมาทสิงคโปร์และมาเลเซียได้ โดยเฉพาะมาเลเซียที่ทำได้ดีมากในซีเกมส์ครังนี้”

 

บริบทของเทเบิลเทนนิสในแถบเอเชีย

ในแถบเอเชียแห่งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่ครองตำแหน่งเจ้ายุทธจักรวงการลูกเด้งมาอย่างยาวนาน รวมถึงส่งออกนักกีฬาโอนสัญชาติไปก็หลายคน

กีฬาเทเบิลเทนนิสถูกเลือกให้เป็นกีฬาแห่งชาติ เพราะตอนนั้นรัฐบาลจีนมองว่าเป็นกีฬาที่เล่นได้ทุกชนชั้นและไม่ต้องใช้พื้นที่มากนัก นับจากวันนั้นทั้งการทุ่มงบจากรัฐบาลจีนและความร่วมมือของคนในประเทศก็ทำให้กีฬาเทเบิลเทนนิสในจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ว่ากันว่าโต๊ะปิงปองมีอยู่ทุกสวนสาธารณะในประเทศจีน และในโรงเรียนก็มีที่ให้ฝึกซ้อมอยู่มากมาย

ด้วยระดับความนิยมที่มากขนาดนี้ ส่งผลให้มีคนเล่นกีฬาชนิดนี้เกือบ 100 ล้านคนในจีน แต่มีเพียง 40,000 คนเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ 

การแข่งขันภายในจึงดุเดือดมาก หลายคนจึงนิยมที่จะโอนสัญชาติไปเล่นให้กับชาติอื่น ๆ ในแถบอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และเราสามารถเห็นนักกีฬาจากจีนไปเล่นอยู่ในทีมชาติอื่นได้โดยง่ายทั้งใน แคนาดา, ออสเตรเลีย, อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา

นักกีฬาที่มาจากจีนเรียกได้ว่ามีความสามารถอย่างมาก พวกเขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ที่มองว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาแห่งชาติ 

ว่ากันว่าในจีนนั้นมีเรื่องพูดขำ ๆ อยู่ นั่นคืออย่าได้ไปพูดกับใครว่าตัวเองตีปิงปองเก่ง เพราะในวงสนทนาอาจมีบางคนที่เคยเป็นนักกีฬาระดับโลกนั่งฟังอยู่ก็ได้

หากเราจะเปรียบกับกีฬาฟุตบอลที่ บราซิล คือชาติที่ส่งออกนักเตะมากที่สุด สำหรับกีฬาเทเบิลเทนนิสคงไม่มีใครส่งออกนักกีฬาไปมากเท่าจีนอีกแล้ว

สำหรับทีมชาติสิงคโปร์ที่มีประชากรไม่กี่ล้านคน การที่จะประสบความสำเร็จทางด้านกีฬานั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจำนวนประชากรและพื้นที่สำหรับการพัฒนากีฬามีอยู่อย่างจำกัด

ในปี 1993 สมาคมเทเบิลเทนนิสสิงคโปร์จึงเสนอโครงการนำเข้านักกีฬาฝีมือดีเพื่อมาพัฒนากีฬาภายในประเทศ โดยเจ้าหน้าที่จะเฟ้นหาชาวต่างชาติที่มีความสามารถด้านกีฬาและให้โอนสัญชาติมาเล่นให้กับพวกเขาในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ

สิงคโปร์ดึงนักกีฬาจีนโอนสัญชาติมาแล้ว 21 ราย พวกเขาประสบความสำเร็จมากมาย คว้าแชมป์รายการหญิงเดี่ยวและหญิงคู่มาเกือบทุกสมัย ส่วนประเภททีมนับตั้งแต่มีโครงการดึงนักกีฬาโอนสัญชาติเข้ามา สิงคโปร์ก็คว้าเหรียญทองทีมชาย 7 สมัย และทีมหญิง 9 สมัยรวด

ทำให้สิงคโปร์ครองความเป็นเจ้าอาเซียนกับกีฬาเทเบิลเทนนิสมาอย่างยาวนาน เพราะพวกเขาได้รับนักกีฬาที่มีความสามารถจากจีนเข้่ามา ทำให้ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครสามารถต่อกรกับทีมชาติสิงคโปร์ได้เลย

กีฬาเทเบิลเทนนิสในแคนาดาก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการย้ายถิ่นฐานมาเป็นตัวแทนของชาติได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2020 นักกีฬาเทเบิลเทนนิสในโอลิมปิกของแคนาดาเพียง 6 คนจาก 20 คนเท่านั้นที่เกิดในแคนาดา และมีนักกีฬาเทเบิลเทนนิส 10 คนจาก 14 คนที่เป็นตัวแทนของแคนาดาเกิดในประเทศจีน

เมื่อทราบเรื่องราวของความยิ่งใหญ่ของกีฬาเทเบิลเทนนิสของประเทศจีนไปแล้ว หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่า ทีมชาติไทยที่ใช้นักกีฬาไทยล้วนจะไปสู้กับนักกีฬาเก่ง ๆ จากจีนที่โอนสัญชาติมาเล่นให้ทีมในแถบอาเซียนได้อย่างไร ?จริง ๆ แล้วมีคำอธิบายอยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ “การฝึกซ้อมอย่างหนัก” อดทนและค่อย ๆ สร้างจากรากฐาน จนเมื่อฐานแข็งแรงแล้วก็จะพัฒนาไปได้ไกลเอง

มีรายงานเผยถึงตารางในการฝึกซ้อมของ สุธาสินี เสวตรบุตร ไว้ว่า เธอแบ่งตารางฝึกซ้อมเป็นช่วงเช้าและเย็น ในช่วงเช้าจะเริ่มต้นเวลา 09.00-12.00 น. ส่วนการฝึกซ้อมในช่วงเย็นจะหนักที่สุดโดยเริ่มตั้งแต่ 15.00-20.00 น. และจะเป็นเช่นนี้ตลอดทั้งสัปดาห์

 

ส่งออกนักกีฬาสู่ต่างประเทศ

แน่นอนว่าการได้ออกไปโลดแล่นในต่างประเทศก็เป็นความฝันของนักกีฬาชาวไทยหลาย ๆ คน เพราะมันสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการลูกเด้งไทยดูเหมือนจะกลับมาคึกคักมากขึ้นอย่างชัดเจน จนสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ หรือ ไอทีทีเอฟ ยกให้เทเบิลเทนนิสไทยเป็นคลื่นลูกใหม่ของเอเชียที่น่าจับตามอง

นักกีฬาไทยหลายคนมีพัฒนาการที่ดีมากจนถูกสโมสรในต่างประเทศดึงตัวไปเล่นลีกอาชีพ พร้อมให้เงินเดือนที่สูงมาก เช่น สุธาสินี เสวตรบุตร 

รวมถึง ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล ที่เป็นนักปิงปองหนุ่มที่ทางสมาคมฯ เสนอชื่อให้ได้รับทุนจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ ก่อนจะเซ็นสัญญาอาชีพกับสโมสรฟัลเคนเบิร์กส ในประเทศสวีเดน

บรรยากาศที่แตกต่างจากที่ประเทศไทยและการฝึกซ้อมที่เข้มข้น ทำให้ภาดาศักดิ์เป็นกำลังหลักของทีมชาติไทยจับคู่กับ สุธาสินี เสวตรบุตร ช่วยกันคว้าเหรียญทองซีเกมส์คู่ผสมในปี 2017 ซึ่งถือเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์ที่นักปิงปองไทยทำได้ครั้งแรกในรอบ 32 ปี

อีกหนึ่งเสาหลักของเทเบิลเทนนิสไทย สุธาสินี เสวตรบุตร ที่ทำผลงานประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ด้วยฝีมือที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ สโมสรนิปปอน เพนต์ ดึงตัวไปเล่นในลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ซึ่งเธอก็เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นลีกอาชีพในแดนปลาดิบ

การส่งออกนักกีฬาสู่ต่างประเทศก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทัพนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะพวกเขาจะต้องไปเผชิญหน้ากับคู่แข่งในลีกที่เข้มข้น รวมถึงมีวิธีการฝึกซ้อมที่แตกต่างจากในประเทศไทยที่สามารถนำมาปรับใช้ต่อไปได้

น่าสนใจว่าคลื่นลูกใหม่แห่งวงการเทเบิลเทนนิสอย่างทีมชาติไทยจะสามารถไล่ล่าความสำเร็จได้ยาวนานแค่ไหน จากการค่อย ๆ สร้างจนรากฐานของพวกเขาแข็งแกร่ง การกวาดเหรียญทองในหลาย ๆ ทัวร์นาเมนต์คงจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

การหวังที่จะเป็นเจ้าแห่งอาเซียนและไปไกลถึงเวทีโลก ในตอนนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะตอนนี้วงการเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทยเดินมาไกลมากแล้วจริง ๆ

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/09523367.2023.2186857
https://mothership.sg/2014/07/4-reasons-why-the-spore-table-tennis-team-might-be-from-china/
https://stadiumth.com/olympic/highlight/detail?id=323&tab=thaispotlight
https://www.dailynews.co.th/news/2318641/
https://thethaiger.com/th/news/839608/
https://thestandard.co/sea-games-thai-table-tennis-won-gold-medal-sea-game/

Author

ยลดา เวียงสิงขรณ์

เด็กอักษรเอกเยอรมัน เชียร์เชลซีและการท่าเรือ ติดตามนางงามทุกเวที

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ