Feature

ข้อกำหนดทีมอาชีพ ? : "คลับ ไลเซนซิง" แค่เสือกระดาษหรือบังคับใช้จริง | Ball Thai Stand

ในช่วงปิดหรือกำลังจะเปิดฤดูกาล เรามักจะได้ยินคำว่า “คลับ ไลเซนซิง” บ่อยมากตามสื่อฟุตบอลไทย โดยเฉพาะบรรดาทีมที่ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นมาเล่นในลีกระดับสูงกว่าเดิมจะถูกจับตามองเป็นพิเศษว่ามาตรฐานของสโมสรผ่านเกณฑ์ที่ฝ่ายจัดการแข่งขันกำหนดไว้หรือไม่? 

 

 

นี่คือเรื่องสำคัญที่ฝ่ายจัดการแข่งขันให้ความสำคัญและจริงจังมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แล้ว คลับ ไลเซนซิง คืออะไร ถ้าสโมสรไม่มีจะทำอย่างไร ที่สำคัญบังคับใช้จริง 100 % หรือไม่ ไปติดตามกับ BallThaiStand 

 

“คลับ ไลเซนซิง” คืออะไร ทำไมต้องมี ?


"คลับ ไลเซนซิง"
มีความสำคัญกับวงการฟุตบอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฟุตบอลลีกของแต่ชาติในทวีปนั้นๆ เพราะมันคือใบอนุญาตและยืนยันว่าสโมสรฟุตบอลอาชีพมีมาตรฐานครบตามเกณฑ์ที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ “เอเอฟซี” กำหนดไว้

ข้อกำหนดพื้นฐานสำคัญของ “คลับ ไลเซนซิง” ที่ เอเอฟซี กำหนดไว้ แบ่งได้ 6 หัวข้อใหญ่ๆ คือ ด้านกีฬา, โครงสร้างพื้นฐาน, บุคลากรและการบริหารจัดการ, กฎหมาย, การเงิน และธุรกิจ โดยด้านกีฬาคือสร้างความมั่นใจว่าจะมีการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
 
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สนามแข่งขันต้องได้มาตรฐาน ไฟส่องสว่างไม่ต่ำกว่า 1,200 ลักซ์ ห้องต่างๆ ภายในสนามต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งาน

ส่วนบุคลากร แต่ละตำแหน่งต้องมีครบถ้วนไม่ต่างจากบริษัทหรือองค์กรทั่วไปที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อาทิ ประธาน, ผู้จัดการทีม, ผู้อำนวยการ, ผู้ฝึกสอน, ฝ่ายกฎหมาย หรือ ฝ่ายการเงิน เป็นต้น 

ขณะที่ด้านกฏหมายและการเงิน สโมสรต้องเคยไม่ติดค้างเงินเดือนนักเตะ ไม่มีคดีฟ้องร้องกัน ซึ่งหากสโมสรมีคุณสมบัติครบถ้วนจะได้ไฟเขียวผ่าน คลับ ไลเซนซิง จาก เอเอฟซี สามารถแข่งขันฟุตบอลในระดับประเทศและในระดับได้ทวีปอย่างไร้ปัญหา  

ฟุตบอลมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากที่เป็นเพียงกีฬาไปสู่ อุตสาหกรรมกีฬาที่มีมูลค่าหลายล้านบาท สโมสรฟุตบอลต้องมองหาช่องทางหารายได้เข้าสู่สโมสร 

กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริษัท ไทยลีก จำกัด เคยกล่าวว่า “ทีมที่จะเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นได้ ต้องผ่านทั้งการแข่งขันในลีกปกติ และ คลับ ไลเซนซิง โดยเฉพาะในส่วนของ คลับ ไลเซนซิง ซึ่งเราต้องส่งให้ เอเอฟซี พิจารณาว่าจะผ่านเกณฑ์หรือไม่”

“ดังนั้นระหว่างนี้ เราอยากให้สโมสรที่ได้สิทธิ์แล้ว รักษาสิทธิ์ของตัวเอง ในการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่ผ่านจริง ๆ ก็ไม่สามารถขึ้นมาเล่นได้”



สมาคมฯ ไม่สั่งให้สโมสรทำ คลับ ไลเซนซิง อย่างเดียว ยังให้เงินสนับสนุน 

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยุค พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เคยมีนโยบายยกระดับมาตรฐานให้แก่สโมสรสมาชิก ด้วยการนำเงินสนับสนุนจากฟีฟ่า โครงการ FA Development Program ให้กับทีมในไทยลีก 1 ทีมละ 5 ล้านบาท ให้ทีมในระดับไทยลีก 2 อีกทีมละ 1 ล้านบาท นอกจากเงินสนับสนุนทีมประจำปีที่ทุกสโมสรจะได้อยู่แล้ว 

สโมสรไม่ว่าจะเป็นสโมสรเล็กหรือบิ๊กเนมของเมืองไทย ต่างร่างโครงการเพื่อเอาเงินจากสมาคมฯ ไปใช้ พัฒนาสโมสรด้านต่างๆ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ การต่อเติมสนามแข่งขัน, การติดตั้งไฟส่องสว่าง, การปรับปรุงห้องแต่งตัวนักกีฬา และ ห้องสำหรับสื่อมวลชน ให้ได้ตามมาตรฐานของเอเอฟซี

ไม่ว่าจะเป็น เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่เคยนำเงินไปใช้ปรับปรุงสนามหญ้าเทียม และระบบไฟส่องสว่างในสนามฝึกซ้อมด้านหน้าสนามแข่งขัน

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ปรับปรุงห้องพักนักกีฬาภายในสนามช้างอารีน่า และปรับปรุงสนามฝึกซ้อม ภายในแคมป์เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ไฟส่องสว่าง และสนามฝึกซ้อมภายในแคมป์บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

รวมถึง พีที ประจวบ นำงบประมาณไปปรับปรุงสนามสามอ่าว สเตเดียม ทั้ง การติดตั้งอัฒจันทร์แบบถอดประกอบได้ชนิดไม่มีเก้าอี้ จำนวน 2,125 ที่นั่ง และติดตั้งเก้าอี้ภายในสนาม จำนวน 2,500 ที่นั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แฟนบอล

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทำให้สภาพคล่องทางการเงินของสมาคมฯ สะดุด จนทางสมาคมฯ ตัดงบในโครงการ FA Development Program ไปเรียบร้อยแล้ว 

 

ได้ คลับ ไลเซนซิง แต่ภาคปฏิบัติยังบังคับใช้ไม่ได้ 100%

หลังได้ คลับ ไลเซนซิง เปิดไฟเขียวให้สโมสรดำเนินการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพได้ตามปกติ 

แต่มีบางเรื่องที่ฝ่ายจัดการแข่งขันมองข้ามและปล่อยผ่าน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ไลเซนส์โค้ช หรือหัวหน้าผู้ฝึกสอน

ที่ผ่านมากุนซือระดับไทยลีก 1 ต้องเป็นโค้ชระดับ เอ ไลเซนส์ แต่หลายสโมสรตีเนียนใช้ชื่อกุนซือรายอื่นที่ผ่านการอบรมโค้ชระดับ เอ หรือ โปร ไลเซนส์ มาแขวน  

แต่กุนซือเหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่จริงๆ ทั้งการคุมฝึกซ้อมหรือคุมทีมข้างสนาม กลายเป็นกุนซือที่เลเวลต่ำกว่าทำหน้าที่แทน ซึ่งถือว่าผิดข้อบังคับของ คลับ ไลเซนซิง 

ในฤดูกาล 2023/24 ทางสมาคมฯ และไทยลีก จะเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ ไม่อนุญาตให้กุนซือที่ไม่ผ่านการอบรมหรือกำลังศึกษาระดับโปร ไลเซนส์ คุมทีมข้างสนาม ส่วนจะทำได้จริงหรือเป็นเพียงแค่ลมปากต้องติดตาม

นอกจากนี้ในเรื่องของสนามแข่งกับสนามซ้อมต้องแยกกัน แต่บางสโมสรยังตีเนียนใช้สนามแข่งขันกับสนามซ้อมแห่งเดียวกัน 

 

ถ้าคลับไลเซนซิงไม่ผ่าน จะโดนลงโทษอย่างไร? 

แน่นอนว่าการเอาจริงเอาจังของ สมาคมฯ และ ไทยลีก ย่อมมีบทลงโทษสำหรับทีมที่ไม่ผ่านคลับ ไลเซนซิง หากใครจำกันได้ เมื่อปี 2017 นครปฐม ยูไนเต็ด และ สมุทรสงคราม ที่กำลังเล่นอยู่ในระดับไทยลีก 2 ไม่ส่งเอกสารคลับ ไลเซนซิง ตามเวลาที่กำหนดทำให้โดนตัดสิทธิ์ลงไปเล่นในไทยลีก 4 

ในฤดูกาล 2021/22 เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด ไม่ผ่านคลับ ไลเซนซิง เนื่องจากมีเรื่องค้างเงินเดือนนักเตะจนทำให้โดนตัดสิทธิ์ จากการแข่งขันไทยลีก 2 และเป็น ราชประชา ที่ตกชั้นไปแล้ว ได้โอกาสได้เล่นในไทยลีก 2 ในฤดูกาลที่ผ่านมาแทน

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทาง สมาคมฯ และ ไทยลีก จริงจังกับเรื่อง คลับ ไลเซนซิง เป็นอย่างมาก และบทลงโทษสำหรับสโมสรค่อนข้างหนักเลยทีเดียว เพราะการไปนับหนึ่งใหม่ในลีกระดับล่างต้องเจอความเสี่ยงมหาศาล รวมถึงต้องใช้เม็ดเงินมากกว่าจะพาทีมกลับมาอยู่ในจุดเดิม 

แม้ว่าจะใช้เงินทำทีมมาก แต่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ทุกครั้ง ดังนั้นทุกสโมสรจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ คลับ ไลเซนซิง และพยายามพัฒนาสโมสรให้พร้อมทุกมิติ ส่วนบทลงโทษที่หนักที่สุดคือการถอดถอนทีมออกจากการแข่งขันเลยทีเดียว



หากสโมสรกำลังปรับปรุงสโมสรและเลยกำหนดการส่ง คลับ ไลเซนซิง ต้องทำอย่างไร 


คลับ ไลเซนซิง ยังแบ่งเป็นระดับความสำคัญเป็น A B C โดยยึดตามข้อกำหนดของเอเอฟซี 

ระดับ “A” - “ภาคบังคับ” หากผู้ขอใบอนุญาตไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ A จะไม่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขัน 

ระดับ “B” - “ภาคบังคับ” หากผู้ขอใบอนุญาตมีคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ B ผู้ขอใบอนุญาตจะต้องถูกลงโทษตาม วิธีการที่ผู้ออกใบอนุญาตกำหนด แต่ยังคงได้รับใบอนุญาตเข้าร่วมการแข่งขัน) 

ระดับ “C” “การปฏิบัติที่ดีที่สุด” หลักเกณฑ์ C คือคำแนะนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในหลักเกณฑ์ C ไม่ได้นำไปสู่การลงโทษใด ๆ หรือการปฏิเสธสิทธิในการที่จะได้รับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ C อาจเปลี่ยนแปลงเป็นหลักเกณฑ์ "ภาคบังคับ" ได้ในภายหลัง

อย่างไรก็ตามเราจะเห็นหลายๆ เคสเข้าข่ายระดับ C คือขาดคุณสมบัติ แต่ก็ยังได้รับใบอนุญาต และจะต้องมีแผนที่จะทำในอนาคต ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงสนาม การปรับไฟสนามให้มีความสว่าง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานาน 

อย่างไรก็หากมีแผนรองรับในอนาคตว่าได้จัดจ้างและระยะเวลาที่จะแล้วเสร็จสามารถได้ใบอนุญาต คลับ ไลเซนซิง ให้ลงแข่งขันได้ตามปกติ เหมือนกรณีของ นครปฐม ยูไนเต็ด ซึ่งคว้าแชมป์ไทยลีก 2 และเลื่อนชั้นไปเล่นในรีโว ไทยลีก ฤดูกาล 2023/24 

แต่ไฟสนามโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม ไฟยังไม่ได้มาตรฐาน แต่ทางสโมสรได้มีการจัดจ้างผู้รับเหมามาติดไฟเพิ่มเติมแล้ว ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงไม่ตัดขัดแต่อย่างไรใด 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ ไทยลีก ซึ่งเป็นหน่อยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในประเทศไทย พยายามให้ทุกสโมสรฟุตบอลทำ คลับ ไลเซนซิง ให้ผ่านเกณฑ์

แม้จะมีบางสโมสรทำตามไม่ได้ 100% แต่ทุกสโมสรไม่ได้ปล่อยผ่านพยายามกำจัดจุดอ่อนตัวเอง เพื่อให้ได้ คลับ ไลเซนซิง จริงๆ พร้อมเป็นการยกระดับมาตรฐานของทีมและลีกมีคุณภาพสูงตามที่ เอเอฟซี กำหนดไว้ 

แต่หากจะมีการบังคับใช้ระเบียบเป๊ะทุกเม็ด คงต้องใช้เวลาพอสมควร เหมือนคำว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จ ภายในวันเดียว” 

 


อ้างอิง


https://www.siamsporttalk.com/th/entertainment/menus-general/553-football-club-licensing.html

https://fathailand.org/uploads/download/c35241c11bc7cdee2d28f8bc5cc38d10.pdf

https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/2012459

https://www.facebook.com/ballthaistand

https://www.goal.com/th/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%AD-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B9%8D%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A1t2-%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2/bltb4d1638f96306805

 

 

 

 

Author

ศุภฤกษ์ สีทองเขียว

หนุ่มแดนหมอแคน ผู้คลั่งไคล้ในฟุตบอล