Feature

ลูเซียโน่ สปัลเล็ตติ : ยอดโค้ชชะตา "เกือบได้" ก่อนพิชิตสคูเด็ตโต้กับนาโปลี | Main Stand

ระหว่าง “เกือบได้” กับ “เกือบตก” เป็นท่าน ท่านจะเลือกอะไร ?

 


เชื่อได้เลยว่าข้างต้นคือคำถามสุดคลาสสิกในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน ที่ครูบาอาจารย์หยิบยกขึ้นมาสอบถามเชาว์ปัญญาเป็นแน่ หากใครคิดไม่ทันหรือหลงชุดคำศัพท์ก็อาจจะเทใจให้ชอยส์ “เกือบได้” กันเป็นแถบ ทั้งที่จริง ๆ นั้น เกือบได้ หมายความว่า “อด” ทั้ง ๆ ที่เหลือเพียงแค่อีกคืบเดียวแท้ ๆ

กระนั้นชีวิตมนุษย์ไม่ใช่ปัญหาเชาว์ที่จะรู้คำตอบและตระหนักได้แบบทันท่วงที หลายครั้งที่ความพยายามแทบเป็นแทบตายมาทั้งหมดกับพานพบกับสิ่งที่เรียกว่า เกือบได้ แม้จะยืนหยัดลุกขึ้นมาสู้ใหม่ก็ยังติดอยู่กับคำว่าเกือบได้ร่ำไป ชนิดที่ใครได้พิจารณาก็อาจรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของโค้ชนามว่า “ลูเซียโน่ สปัลเล็ตติ (Luciano Spalletti)”

แม้จะมีโทรฟี่ประดับบารมีไม่น้อย แต่กับ เซเรีย อา นั้นเขาทำได้แค่เกือบเท่านั้น ทั้งที่ตั้งใจแต่ก็ไปไม่ถึงตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการคุมทัพที่ทรัพยากรน้อยแต่ปั้นจนฟอร์มเทพกับ อาแอส โรม่า 2 คำรบ หรือกระทั่งการมาคุมทัพ อินเตอร์ มิลาน ที่อู้ฟู่มีเงินถุงเงินถังแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่ในท้ายที่สุดเขาจะถึงฝั่งฝันกับ นาโปลี ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ร่วมติดตามชะตาชีวิตที่วนเวียนอยู่แต่กับความ “เกือบได้” จนมาบรรลุเป้าหมาย คว้าแชมป์ “สคูเต็ตโต” ของสปัลเล็ตติไปพร้อมกับ Main Stand

 

หมาป่าเขี้ยวตัน ดันกัดไม่เข้า

ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่า แท้จริงนั้นสปัลเล็ตติไม่ได้เป็นโค้ชไร้ชื่อเสียงหรือไร้บารมีในวงการฟุตบอลอิตาลีแต่อย่างใด นั่นเพราะในฤดูกาล 2004-05 ยอดโค้ชผู้นี้คุมทัพอูดิเนเซ่ จบอันดับที่ 4 ของตาราง คว้าโควตาไปลุยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้แบบเหลือเชื่อ ด้วยทรัพยากรนักเตะที่เป็นรองบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ที่จบอันดับต่ำกว่าอย่าง โรม่า, ลาซิโอ หรือ ซามพ์โดเรีย

อีกทั้งยังได้เปลี่ยนชุดวิธีคิดในการเล่นฟุตบอลตามธรรมเนียมของอูดิเนเซ่ (จริง ๆ คือทั้งประเทศ) ในการตั้งรับ ปิดประตูตีแมว นำแล้วเน้นครองบอล มาเน้นเกมบุกมากขึ้น พร้อมกับการให้กำเนิดคู่เพชฌฆาตสุดอันตรายนาม วินเซนโซ่ ยาควินต้า (Vincenzo Iaquinta) และ อันโตนิโอ ดิ นาตาเล่ (Antonio Di Natale) ซึ่งรายหลังต่อมาคือตำนานของพลพรรค “ม้าลายน้อย” อีกด้วย

แน่นอนด้วยความเป็นโค้ชสายแหวกแนวและไม่เหมือนใครในลีก ทำให้ผลงานไปเข้าตา โรม่า ที่ดึงตัวไปทำงานสุดหินในการคืนความยิ่งใหญ่กลับสู่เมืองหลวง ภายหลังจากร้างมือจากการชูโทรฟี่ไปนานพอสมควร (ถ้วยสุดท้าย ณ เวลานั้นคือ เซเรีย อา 2000-01) 

ในตอนแรกเริ่มถือได้ว่าเป็นงานที่ยากลำบากของเขาอย่างมาก เนื่องจากทีมยังคงเคยชินกับวัฒนธรรมการตั้งรับแน่น ๆ แบบฝังหัว แถมเกมรุกยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ส่วนมากจะพลาดแพ้แบบผลต่างลูกเดียว หรือหลุดเสมอไปอย่างน่าเหลือเชื่อ แม้จะมีกองหน้าระดับเทพนาม ฟรานเชสโก้ ต็อตติ อยู่กับทีม 

จนในที่สุดเขาจึงได้คิดค้นระบบที่ทำให้ใช้ประสิทธิภาพนักเตะได้มากขึ้น นั่นคือการให้ต็อตติลงมาเล่นแบบ “False 9” หรือก็คือให้ลงมาล้วงบอล ทำเกม และวิ่งหลอกตัวประกบ รวมถึงยิงประตูหากมีโอกาส ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบที่เหมาะกับต็อตติและทีมอย่างมาก เนื่องจากการยืนปักหลักทำให้ต็อตติขาดอิสระในการสร้างสรรค์หรือหาโอกาสยิงประตู แต่การมาเล่น False 9 ถือว่าช่วยได้มาก 

และเมื่อแนวรุกสามารถเป็นอิสระได้ แน่นอนว่าตำแหน่งอื่น ๆ ย่อมคลายความตึงเครียดลงไปมาก การเล่น False 9 ของต็อตติทำให้บรรดากองกลางหรือตัวริมเส้นมีโอกาสส่องเน้น ๆ หรือสร้างสรรค์เกมจากการดึงเซ็นเตอร์คู่ต่อสู้ไปประกบ False 9 ได้ ดังที่เห็นได้จากฟอร์มการเล่นที่โหดไม่แพ้กันของ ซิโมเน่ แปร็อตต้า (Simone Perrotta) และ มานชินี่ (Mancini)

จากความลงตัวแบบสุด ๆ นี้ทำให้ทีมเดินหน้าสู่การเล่นเกมรุกได้ไหลลื่นมากขึ้น และโหดถึงขนาดตะบันชัยชนะไปถึง 11 แมตช์ติด และไม่แพ้ใคร 13 แมตช์ติด ไต่เต้าจากอันดับ 15 ขึ้นไปอยู่ท็อป 4 ของตารางคะแนน และที่สำคัญเป็นการลุ้นแชมป์ลีกแบบเต็มตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5-6 ปี พร้อมกับฟุตบอลถ้วยที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ 

แต่ดวงจะแค่ เกือบ ก็คือ เกือบ อยู่วันยังค่ำ เพราะพลพรรคจัลโลรอสซี่ดวงแตกพลาดเสมอแบบรัว ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายจนทีมจบอันดับที่ 5 แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงนั้นมีคดีอื้อฉาวที่เรียกว่า “กัลโช่โปลี” ที่ปรับ ยูเวนตุส ตกชั้นและเลื่อน อินเตอร์ มิลาน มาเป็นแชมป์ ส่งผลให้โรมาจบด้วยรองแชมป์ไปแบบมีโชค กระนั้นที่น่าเจ็บใจคือ โคปป้า อิตาเลีย ที่เข้าใกล้แชมป์มาก ๆ ในแมตช์แรกที่เสมอ อินเตอร์ มิลาน แบบน่าชนะ 1-1 แต่แมตช์ที่สองกลับพลาดแพ้ไป 1-3 ส่งแชมป์ให้พลพรรค “งูใหญ่” ไปแบบสุดเศร้า (สมัยนั้นโคปป้า อิตาเลีย นัดชิงฯ แข่งแบบเหย้า-เยือน)

นั่นคือความ “เกือบได้” แรกที่เกิดขึ้นกับสปัลเล็ตติ

และก็เหมือนตลกร้าย เพราะในฤดูกาลต่อมา (2006-07) ก็มีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน เพียงแต่รอบนี้ การเล่นแบบ False 9 ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่พลาดแพ้ง่าย ๆ แบบฤดูกาลก่อน เพียงแต่ อินเตอร์ มิลาน ในช่วงนั้นคือทีมที่โหดสุด ๆ จริง ๆ ทำให้การขับเคี่ยวแย่งแชมป์เซเรีย อา จบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน หากแต่สิ่งที่จบไม่เหมือนกัน นั่นคือ โคปป้า อิตาเลีย ที่โรม่าทำการแก้เผ็ดพลพรรคงูใหญ่แบบสาสม โดยเปิด สตาดิโอ โอลิมปิโก ถล่มไปแบบสุดมันส์ 6-2 ก่อนจะไปแพ้ 1-2 ที่ จูเซปเป เมอัซซา และคว้าแชมป์ได้ที่นั่น เรียกได้ว่าเย้ยคาถิ่นเลยทีเดียว

ฤดูกาลที่แล้วว่าตลกร้ายแล้ว แต่ฤดูกาล 2007-08 ตลกร้ายยิ่งกว่า แน่นอนว่าโรม่าเถลิงบัลลังก์ฟุตบอลถ้วยในประเทศอีกครั้ง (ชนะ อินเตอร์ มิลาน 2-1) แต่ในลีกทีมก็จบรองแชมป์อีกตามเคย และมีคะแนนตามหลัง อินเตอร์ มิลาน เพียง 3 คะแนน และที่น่าเสียดายคือ 4 แมตช์ที่แพ้นั้นมีพลพรรคงูใหญ่รวมอยู่ด้วย

และในเมื่อเกือบแต่ไปไม่ถึง แน่นอนว่าตามตำราทีมจะต้องมีการลดระดับลงไปไม่มากก็น้อย และก็เป็นอีกฤดูกาล (2008-09) ที่โรม่าจบมือเปล่าด้วยอันดับที่ 6 ของตาราง และจบรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลถ้วย ก่อนที่ฤดูกาล 2009-10 ผลจากการสตาร์ทแล้วแพ้ทั้ง เจนัว และ ยูเวนตุส ส่งผลให้สปัลเล็ตติต้องแยกทางจากพลพรรคหมาป่าไป โดยออกนอกอิตาลีไปคุม เซนิต (FC Zenit) ที่รัสเซีย

แต่โชคชะตาก็พาให้เขากลับมารับงานคุมทัพหมาป่าอีกครั้งในช่วงกลางฤดูกาล 2015-16

ซึ่งมาคราวนี้ ชาติเสืออย่างไรย่อมไม่ทิ้งลายสปัลเล็ตติยกระดับทีมได้อย่างรวดเร็ว จากทีมกลางตาราง ขึ้นมาแย่งโควตาฟุตบอลสโมสรทวีปได้แบบไม่ยากเย็น ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา (2016-17) จะพาทีมขึ้นไปต่อกรกับ ยูเวนตุส มหาอำนาจที่ผูกขาดเซเรีย อา มาหลายปีได้อย่างสนุก

ทั้งยังเติมเต็มขุมกำลังที่มีแต่ขาโหด โดยเฉพาะในแดนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเก๋าใหญ่อย่าง ดานิเอเล่ เด รอสซี่ (Daniele De Rossi) เก๋ารองอย่าง รัดยา เนียงโกลัน (Radja Nainggolan) และเก๋าน้อยอย่าง เลอันโดร ปาเรเดส (Leandro Paredes) แนวรุกสายคืนชีพอย่าง โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah), ดิเอโก แปร์ร็อตติ (Diego Perotti) และศูนย์หน้าขิงแก่อย่าง เอดิน เชโก้ (Edin Džeko)

แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็เข้าอีหรอบเดิม สปัลเล็ตติเกือบอย่างไรก็เกือบอย่างนั้น โรม่าจบฤดูกาลด้วยการเป็นรองแชมป์อีกครั้ง ชนิดที่โดนเฉือนด้วย 3 คะแนน ซ้ำรอยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน แต่เปลี่ยนตัวแสดง เป็น ยูเวนตุส 

ก่อนที่การแยกทางคำรบที่สองจะมาเยือนอีกครั้ง โดยเป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่าย (Mutual Consent)

 

งูใหญ่เณรนิ่ม นอนอยู่วันโมฬีโลก

การกลับมาอิตาลีครั้งนี้ของสปัลเล็ตติเป็นการอยู่แบบยาว ๆ เพราะไม่นานหลังจากตกงานที่เมืองหลวงเป็น อินเตอร์ มิลาน ยอดทีมจากแดนเหนือที่เคยฝากรอยช้ำการพลาดสคูเด็ตโต้ต่อตัวเขามาหลายต่อหลายครั้งยื่นสัญญา 2 ปีให้พิจารณา ซึ่งดีลนี้ จาง จินตง (Zhang Jindong) กรรมการผู้จัดการของ ซูหนิง (Suning) กลุ่มทุนสัญชาติจีนเจ้าของสโมสรเป็นคนเลือกมาด้วยตัวเอง เพื่อเริ่มต้นสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

แน่นอนว่ากลุ่มทุนจีนมีเงินให้สปัลเล็ตติชอปปิ้งแบบไม่อั้น เรียกได้ว่าเป็นฤดูกาลที่พลพรรค “เนรัซซูรี่” จัดมหกรรม ชิม ช็อป ใช้ ดึงนักเตะมาแบบรัว ๆ ราคาต่อหัวอาจจะไม่สูงแต่เน้นเยอะเข้าว่า โดยดีลที่น่าจับตามองคือ มิลาน สคริเนียร์ (Milan Škriniar), มาเทียส เวชิโน่ (Matías Vecino), อเลสซานโดร บาสโตนี่ (Alessandro Bastoni) และยืมตัว ชูเอา คันเซโล่ (João Cancelo) เข้ามาสู่ทีม
 
เมื่อรวมกับผูเล่นเดิมที่มีอยู่ เรียกได้ว่า อินเตอร์ มิลาน ณ ตอนนั้น (2017-18) เป็นทีมที่ใคร ๆ ก็อิจฉาตาร้อน และผลงานในสนามก็ถือว่าเกาะกลุ่มหัวตารางไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยที่มีความหวังในแดนหน้าคือ เมาโร อิการ์ดี้ (Mauro Icardi) และปีกสายแอสซิสต์อย่าง อิวาน เปริซิช (Ivan Perišić) คอยสนับสนุน

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสปัลเล็ตติโชคไม่ช่วยหรือดวงตกที่ทำให้อินเตอร์ตกต่ำลงตามลำดับ โดยผลการแข่งขันออกเสมอหรือแพ้บ่อย ๆ จนเกือบหลุดโควตา ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก กระนั้นนับว่ายังมีโชคบ้างเล็กน้อย เพราะทีมขึ้นมาจบอันดับที่ 4 ได้ในสัปดาห์สุดท้ายของเซเรีย อา พร้อมกับไปลุยถ้วยใหญ่ในทวีปอีกครั้ง

เมื่อทำผลงานได้ตามเป้า ซูหนิงจึงขยายสัญญาออกไปอีก 2 ปี แถมเพิ่มงบประมาณให้ไปจัดหนักในเวทีระดับทวีปอีกขั้น โดยฤดูกาล 2018-19 สปัลเล็ตติก็ได้ดึงเด็กในคาถาอย่าง เนียงโกลัน มาจากโรม่า ด้วยค่าตัวเกือบ 40 ล้านยูโร รวมถึง มาเตโอ โปลิตาโน่ (Matteo Politano) กองกลางเล็กพริกขี้หนูมาจาก ซาสซูโอโล่ และที่ฮือฮาคือการดึง เลาตาโร่ มาร์ติเนซ (Lautaro Martínez) ศูนย์หน้าที่กำลังดังในอาร์เจนตินา มาด้วยราคา 23 ล้านยูโร

ด้วยการเปย์ขนาดนี้ แน่นอนว่าความคาดหวังจึงต้องเพิ่มมากขึ้น หากแต่สปัลเล็ตติไม่สามารถเสกให้เกิดขึ้นได้ อินเตอร์จมกลางตารางของเซเรีย อา รวมถึงชิ่งตกรอบถ้วยหูใหญ่ไปตั้งแต่ไก่โห่ แถมในยูโรปา ลีก ยังตกรอบไวไม่แพ้กัน ยังดีที่ทีมประคองตัวให้จบอันดับที่ 4 ของตารางคะแนนได้สิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ต่ออีกครั้ง

แม้ เลาตาโร่ จะก้าวขึ้นมาแทนที่ อิการ์ดี้ ศูนย์หน้ามากปัญหา ได้แบบไม่เคอะเขิน แต่เมื่อเป้าหมาย “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” ที่เป็นปณิธานไม่เกิดขึ้น เข้าจึงถูกไล่ออกอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2019 

เรียกได้ว่าการคุมทัพงูใหญ่ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าเกือบได้แบบที่เป็นมาตลอดเลยด้วยซ้ำ

แต่ใครเลยจะรู้ว่าในที่สุดการขจัดคำว่าเกือบได้ให้พ้นไปจากชีวิตจะมาเกิดขึ้นกับสโมสรที่ชื่อว่า “นาโปลี”

 

ลาฟ้าพยศ กดคู่ต่อสู้ยับ

“ไอ้*** สปัลเล็ตติเนี่ยแปลก มึงไม่ได้เล่นบอลแบบนี้ แต่ก่อนตอนมึงคุมอูดิเนเซ่ โรม่า หรือ อินเตอร์ มึงยังเล่นเน้นชัวร์ เน้นรับ แม้จะมีเปิดเกมบุกบ้าง แต่มึงอายุขนาดนี้มาเปลี่ยนเป็นสไตล์บุกเต็มสูบ แม่งสุดตีนจริง ๆ ผมต้องยอมรับเลย”

คำกล่าวของ ฐสิษฐ์ สินคณาวิวัฒน์ หรือที่แฟนบอลรู้จักกันในนาม “สเตฟาน Antihero Thailand” มีความน่าสนใจอย่างมาก ตรงที่ว่าสปัลเล็ตติได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำทีมของตนเองบางอย่างเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป หรือก็คือในชีวิตการคุมทีมมีแต่คำว่าเกือบได้ การปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็อาจทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ได้

นาโปลีถือเป็นทีมที่มีคาแร็กเตอร์ไม่แตกต่างจากสปัลเล็ตติเท่าไรนัก เพราะตั้งแต่ยุคของ วอลเตอร์ มาซซารี่, เมาริซิโอ ซาร์รี่ มาจนถึง คาร์โล อันเชล็อตติ ทีมได้แค่เกือบคว้าแชมป์ลีกมาตลอด แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันเสมอมา แม้ขุมกำลังของทีมจะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่ไม่แตกต่างกัน

และเมื่อทำไม่ได้ทีมก็ลดระดับลง ในยุคของ เจนนาโร กัตตูโซ่ จนการเข้ามาของ สปัลเล็ตติ ในฤดูกาล 2021-22 อยู่ดี ๆ เขาก็เปลี่ยนให้พลพรรค “ลาฟ้าพยศ” ให้กลายเป็นทีมที่เน้นบุก เพรสซิง และใส่ไม่ยั้งจนนึกว่าเป็นทีมที่ลงเล่นในพรีเมียร์ลีก 

โดยเฉพาะการแจ้งเกิดให้ วิคตอร์ โอซิเมน (Victor Osimhen) ยิงกระจุยกระจาย รวมถึงคืนชีพแนวรุกวันชราของทีมทั้ง ดรีส์ เมอร์เทนส์ (Dries Mertens) และ ลอเรนโซ่ อินซินเย่ (Lorenzo Insigne) ให้มาร่วมด้วยช่วยกันยิงอีกครั้ง

จนในที่สุดทีมก็กลับมาลุ้นแชมป์ได้แบบองอาจ แม้จะน่าเสียดายที่พลาดจบอันดับที่ 3 แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนการเกือบได้แบบครั้งก่อน ๆ เพราะสปัลเล็ตติได้เล็งเห็นแล้วว่าวิถีเช่นนี้อาจนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ 

ฤดูกาล 2022-23 แม้จะเสียกำลังหลักไปมากมายทั้ง อินซินเย่, เมอร์เทนส์, คาลิดู คูลิบาลี (Kalidou Koulibaly), ฟาเบียง รุยซ์ (Fabián Ruiz), อดัม ยูนาส (Adam Ounas) และ อาร์คาดิอุซ มิลิค (Arkadiusz Milik) โดยมีคนที่เข้ามาแทนอย่าง อองเดร ฟรองค์ ซัมโบ อองกีสซ่า (André-Frank Zambo Anguissa), จาโคโม่ ราสปาโดรี่ (Giacomo Raspadori), ควิชา ควารัตสเคเลีย (Khvicha Kvaratskhelia) หรือ คิม มิน แจ (Kim Min-jae) ที่สร้างคำถามสำคัญสำหรับแฟนบอลว่า “พวกนี้คือใคร ?” 

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าระบบแห่งการบุกแหลก ทะลวงฟัน ตีฝ่าวงล้อม ที่สปัลเล็ตติติดตั้ง กลับสอดรับกับบรรดานักเตะที่มาใหม่และที่อยู่มานานได้แบบไม่เคอะเขิน พร้อมทั้งสานต่อความโหดของ โอซิเมน รวมไปถึงให้โอกาส เออร์วิง โลซาโน่ (Hirving Lozano) ปีกเม็กซิกันที่อยู่มานานแต่สำรองทั้งปี และ ควารัตสเคเลีย ปีกจอร์เจีย ที่ก่อนหน้านี้โนเนมได้แสดงความยอดเยี่ยมออกมา

และในที่สุด สคูเด็ตโต้ ที่นาโปลีรอคอยมา 33 ปี และสปัลเล็ตติอคอยมาทั้งชีวิตการคุมทีมก็มาอยู่ในมือของเขา

“ไม่เคยหรอกครับที่ผมจะนั่งเฟิร์สคลาสติดริมหน้าต่าง ผมมีแต่โบกรถไปเรื่อย … ผมหมายถึงเราต้องไม่ลืมว่าต้องมองย้อนกลับไปในวันที่เราทุ่มเทชีวิตเพื่อการนี้ จนในที่สุดผมก็คว้าสคูเด็ตโต้มาอยู่ในมือไว้ได้ … ยากนะครับสำหรับการเริ่มต้นที่ต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น ๆ ที่เขามีทั้งการให้ความเคารพและการเยินยอจากการอยู่กับทีมใหญ่ ๆ มาตั้งแต่เริ่มต้น”

คำกล่าวของสปัลเล็ตติในข้างต้นเป็นเชิงตัดพ้อปนให้กำลังใจทั้งแก่ตนเองและสโมสร ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในแสงไฟแต่ก็สร้างแสงไฟให้สาดส่องลงมาได้ด้วยตัวเอง ออกตัวได้ด้วยทุนต่ำแต่กลับไปสูงดั่งติดสปริงกว่าพวกทุนสูง ๆ 

ไม่แน่ว่าการได้ถ้วยสคูเต็ดโตของนาโปลีและสปัลเล็ตติในครั้งนี้อาจจะให้บทเรียนได้อย่างหนึ่งว่า “ยิ่งรอนานเท่าไร เวลาเจอหน้ากันยิ่งดีใจมากเท่านั้น” ความหอมหวลของสคูเด็ตโต้จะส่งกลิ่นอบอวลไปทั่วมาตุภูมิก็ต่อเมื่อเป็นสิ่งที่รอคอยมาทั้งชีวิต 

แต่ความหอมหวลนั้นจะคงอยู่ได้ยาวนานขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า สปัลเล็ตติจะหลงอยู่ในภวังค์มากน้อยเพียงไร ตรงนี้เป็นเรื่องของอนาคต

 

แหล่งอ้างอิง

https://sportmob.com/en/article/973535-luciano-spalletti-biography 
https://www.theguardian.com/sport/blog/2009/oct/27/the-question-false-nines-jonathan-wilson 
https://bleacherreport.com/articles/1435904-great-team-tactics-francesco-totti-roma-and-the-first-false-nine 
https://www.sandiegouniontribune.com/sports/national/story/2023-05-04/spalletti-leads-napoli-to-title-after-totti-icardi-battles 
https://www.gentlemanultra.com/2017/06/08/luciano-spalletti-a-miserable-judas-or-underappreciated-saviour/ 
https://www.chiesaditotti.com/2021/8/4/22545894/other-teams-we-love-udinese-2004-2005 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น