Feature

GT Academy : แคมป์ที่เปลี่ยนนักขับหน้าจอสู่สนามจริง | Main Stand

ภาพยนตร์ Gran Turismo แกร่งทะลุไมล์ เผยตัวอย่างออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้าฉายในประเทศไทย วันที่ 10 สิงหาคม 2023 นี้

 

 

ตัวอย่างภาพยนต์ : https://www.youtube.com/watch?v=Ew2H5h6Bpa0&ab_channel=SonyPicturesThailand

เมื่อเห็นคำว่า "สร้างจากเรื่องจริง" หลายคนอาจสงสัยว่า หนังที่สร้างจากเกมแข่งรถชื่อดังของค่าย Sony นี้ มีเรื่องจริงอะไรอยู่เบื้องหลังเนื้อเรื่อง ?

Main Stand ขอพาทุกท่านไปชม เรื่องราวจากชีวิตจริง เมื่อเกมแข่งรถอย่าง Gran Turismo คือสะพานให้เกมเมอร์สานฝันสู่การเป็นนักแข่งรถอาชีพ

 

เมื่อเซียนหน้าจอชนะสิงห์สนามจริง

ในวงการมอเตอร์สปอร์ต มีการแข่งขันอยู่รายการหนึ่งที่หากเปรียบเทียบกับกีฬาทั่วไปก็คงเหมือนกับเกมรวมดารา ออลสตาร์ นั่นคือรายการ Race of Champions หรือ ROC ซึ่งรวมเอาสุดยอดนักแข่งรถจากเวทีการแข่งขันต่าง ๆ มาดวลในสนามเดียวกัน ด้วยรถแบบเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

ยอดฝีมือจากวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถสูตรหนึ่ง, โมโตจีพี, แรลลี่, อินดี้คาร์, เอ็นดูรานซ์ (แข่งในระยะเวลานาน ๆ อย่างเช่น เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง) ฯลฯ ต่างตบเท้าเข้าร่วมการแข่งขันในทุกๆ ปี แต่ที่น่าสนใจคือ ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดโควต้าให้กับเซียนเกม ที่ชนะในการแข่งขันอีสปอร์ตของทางรายการ ให้ไปลงซิ่งดวลกับยอดมนุษย์เหล่านี้ในสนามจริง ด้วยรถจริง ๆ อีกด้วย

พูดถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า เกมเมอร์ที่มีประสบการณ์เพียงแต่บนหน้าจอมันจะไปเอาชนะนักแข่งอาชีพที่ฝึกซ้อมกับสิ่งเหล่านี้กับของจริงมาตลอดทั้งชีวิตได้อย่างไร ? ประเด็นก็คือ มันมีเหตุการณ์ที่เซียนเกมสามารถเอาชนะสิงห์สนามจริงได้แล้วเนี่ยสิ ...

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในศึก ROC ที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2019 เมื่อ เอ็นโซ่ โบนิโต้ โปรเกมเมอร์ชาวอิตาเลียนที่ได้ลงแข่งรายการนี้ด้วยสิทธิ์ของการเป็นผู้ชนะรายการ eROC หรือทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตของการแข่งขันรายการนี้ เหยียบคันเร่งนำรถของตัวเองคว้าชัยเหนือนักแข่งรถอาชีพได้สำเร็จ ... แถมไม่ใช่แค่เพียงครั้งเดียว แต่ถึง 2 ครั้ง

ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็คือ ลูคัส ดิ กราสซี่ อดีตนักแข่งรถสูตรหนึ่งที่ปัจจุบันโลดแล่นในรายการ ฟอร์มูล่า อี หรือ F1 พลังงานไฟฟ้า แถมยังมีดีกรีแชมป์โลกในฤดูกาล 2016-17 เป็นเครื่องการันตีฝีมือ ส่วนอีกคนก็คือ ไรอัน ฮันเตอร์-เรย์ นักแข่งในรายการ อินดี้คาร์ ดีกรีแชมป์ประจำปี 2012

จริงอยู่ ฝีมือของโบนิโต้ในวงการอีสปอร์ตสายรถแข่งก็ไม่ธรรมดา เพราะในปี 2019 เขาเป็นนักกีฬาของทีม McLaren Shadow ในการแข่งขัน F1 Esports Series แต่การสามารถเอาชนะนักแข่งรถอาชีพได้ มันก็เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดไม่น้อยว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

สิ่งที่ สเตฟาน ฟิลลาสแตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายลิขสิทธิ์, การตลาด และการค้าของสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA กล่าว น่าจะทำให้คุณๆ เห็นภาพชัดขึ้นมากเลยทีเดียว

"ผมคิดว่าสะพานเชื่อมระหว่างโลกเสมือนสู่โลกจริงในวงการมอเตอร์สปอร์ตนั้นเป็นอะไรที่ชัดเจนมากนะ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือ ภาษากายของผู้เล่นเกมเหล่านี้ แทบจะถอดแบบมาจากสิ่งที่นักแข่งรถอาชีพทำอยู่จริง ๆ กับรถของตัวเองเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เลียนแบบได้ยากสำหรับกีฬาอื่น ๆ"

"อย่างในกีฬาฟุตบอล เกมเมอร์ก็จะแค่นั่งบนเก้าอี้แล้วใช้จอยสติ๊กควบคุมผู้เล่น ซึ่งมันไม่เหมือนกับการลงสนามไปเล่นฟุตบอลจริง ๆ แต่ไม่ใช่สำหรับเกมแข่งรถ ที่สามารถจำลองอิริยาบถได้สมจริง จริงอยู่ มันมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่คุณก็แทบจะนึกออกทันทีว่าเวลาคุณขึ้นไปนั่งบนรถจริงแล้วต้องทำอะไร นั่นเลยทำให้เกมเมอร์ฝีมือดี ไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็ตามแต่ สามารถก้าวออกจากค็อกพิตตอนเล่นเกม แล้วขึ้นไปขับรถแข่งได้เลยชนิทแทบจะทันที"

แม้ค็อกพิต และชุดจอยพวงมาลัยจะมีสนนราคาที่สูงอยู่ไม่น้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความละเอียดในการควบคุม ทำให้เจ้าสิ่งนี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเล่นเกมแข่งรถ ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่นักแข่งรถอาชีพเอง ก็ยังใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คล้ายกับเหล่าเกมเมอร์ในการฝึกซ้อมแบบเสมือนจริง (Simulator) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสียหายหากเกิดความผิดพลาดกับรถจริงแล้ว ยังถือเป็นส่วนเติมเต็มต่อจากตารางการทดสอบฝึกซ้อมกับรถจริงที่ถูกจำกัดในแต่ละฤดูกาล และยิ่งหากฤดูกาลใดมีการเพิ่มสนามแข่งขันใหม่ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบสนามจากเดิม พวกเขาก็จะทำความคุ้นเคยกับมันได้ก่อนที่จะลงสนามจริงอีกด้วย

 

เปลี่ยนเกมเมอร์ให้เป็นนักแข่ง

จากที่กล่าวไปข้างต้นจึงเห็นได้ชัดว่า อีสปอร์ตไม่เพียงแต่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมด้านการตลาดให้กับการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่มันยังเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกให้นักกีฬา ไม่ว่าจะในโลกจริงหรือโลกเสมือนคุ้นชินกับสิ่งที่พวกเขาอาจต้องเจอในอนาคตได้อีกด้วย

แต่แน่นอน คำถามยังคงมีอยู่ว่า แม้เกมเมอร์จะมีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่างๆ ในการเล่นซึ่งไม่ต่างอะไรกับการแข่งรถจริง พวกเขาจะสามารถเติบโต และก้าวข้ามจากโลกเสมือน สู่การแข่งขันรถแข่งในสนามจริง ๆ ได้หรือไม่ ?

เรื่องดังกล่าวอาจเป็นแค่ความคิดเฉยๆ แต่สำหรับ คาซึโนริ ยามาอุจิ ซีอีโอแห่ง Polyphony Digital ผู้สร้าง Gran Turismo เกมแข่งรถสุดสมจริงที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลก เขาเชื่อว่า หากได้รับการฝึกฝนในการเปลี่ยนผ่านที่ถูกต้อง "เกมเมอร์สามารถเป็นนักแข่งรถอาชีพได้"

และด้วยการที่บริษัทของเขาต้องร่วมงานกับค่ายผู้ผลิตรถมากมายทั่วโลก ที่สุดแล้ว ก็มีบริษัทหนึ่งที่มีความคิดตรงกัน … นิสสัน ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นที่ส่งทั้งรถและนักแข่งออกล่ารางวัลในการแข่งขันทุกมุมโลก

เมื่อมีทั้งผู้เสนอและผู้สนอง ที่สุดแล้วจึงได้เกิดเป็น "GT Academy" โครงการที่จะเปลี่ยนความฝันของเหล่าเกมเมอร์ที่อยากเป็นนักแข่งรถให้กลายเป็นความจริงในปี 2008

รูปแบบของการแข่งขันไม่มีอะไรซับซ้อน โดยเกมเมอร์ที่อยากพลิกชีวิตสู่การเป็นนักแข่งจริงต้องเริ่มต้นจากการลงแข่งขันผ่านเกม GT ก่อนเป็นด่านแรก ซึ่งจะลงแข่งผ่านเครื่อง PlayStation ที่บ้าน หรือไปตามงานอีเวนต์ที่จัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เล่นเกมนี้ก็สุดแท้แต่ความสะดวกของแต่ละคน

แต่หลังจากได้กลุ่มผู้เล่นที่เร็วที่สุดมาแล้ว ด่านต่อไปซึ่งก็คือรอบชิงแชมป์ของประเทศ จะเป็นด่านแรกที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้สัมผัสกับรถจริง ๆ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบททดสอบด้านต่าง ๆ ทั้งบุคลิกภาพ, สภาพร่างกาย ฯลฯ เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

หลังจากนั้น แชมป์ของแต่ละประเทศจะต้องเดินทางมาที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเข้าสู่ด่านที่สาม หรือ Race Camp ซึ่งพวกเขาจะถูกทดสอบอย่างหนักหน่วงทั้งทักษะด้านการขับรถ รวมถึงสภาพความพร้อมของร่างกายในด้านต่าง ๆ ผู้เข้าแข่งขันจะถูกแบ่งตามภูมิภาค โดยมีโค้ชซึ่งผ่านประสบการณ์ในสนามจริงอย่างโชกโชนเป็นพี่เลี้ยง รวมถึงเป็นผู้ตัดสินใจคัดตัวออกหลังจบแต่ละภารกิจไปเรื่อย ๆ จนเหลือกลุ่มสุดท้าย ซึ่งจะต้องมาลงแข่งอีกครั้งโดยใช้รถจริงแข่งในสนามแข่งจริงเพื่อหาตัวผู้ชนะของรายการ

และแม้แคมป์ GT Academy จะมาถึงบทสรุป ได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อย แต่เส้นทางการเป็นนักแข่งอาชีพของพวกเขาเพิ่งเริ่มต้น เพราะผู้ชนะในโครงการนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในโปรแกรมพัฒนานักแข่งของทางนิสสันต่ออีกเป็นเวลาราว 2-4 เดือน เพื่อพัฒนาทักษะจนเชี่ยวชาญ รวมถึงสอบใบอนุญาตแข่งขันรถในระดับนานาชาติให้ผ่าน หลังจากนั้น รางวัลใหญ่ที่รอคอยก็จะมาถึง นั่นคือการได้ลงสนามในฐานะนักแข่งรถจริง ๆ เป็นครั้งแรก ส่วนเรื่องราวหลังจากนี้ เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะขีดเขียนเส้นทางชีวิตกันต่อด้วยสองมือและสองเท้าของตัวเอง

 

สร้างฝันให้เป็นจริง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โครงการ GT Academy นั้นได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2008 ซึ่งเริ่มจากในทวีปยุโรปก่อน แต่ด้วยความสำเร็จทั้งกับตัวโครงการเอง รวมถึงนักแข่งที่มาจากจุดนี้ ตัวโครงการจึงได้ขยายวงสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งทวีปอเมริกา และเอเชียในเวลาต่อมาลูคัส ออร์โดเนซ ผู้ชนะโครงการนี้ในการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2008 คือหนึ่งในนั้น เพราะก่อนที่จะมี GT Academy ตัวเขาเป็นเพียงนักศึกษาชาวสเปนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แต่ชัยชนะจากรายการดังกล่าว ได้กลายเป็นใบเบิกทางให้เขากลายเป็นนักแข่งรถอาชีพที่มีโปรแกรมชุกตลอดทั้งปี

"คุณคงจินตนาการไม่ออกหรอกว่า การเล่นเกมมันจะทำให้คุณกลายเป็นนักแข่งรถอาชีพได้ มันเลยทำให้โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ สำหรับเรา ไม่เพียงเท่านั้น การที่สามารถทำผลงานในการแข่งขันได้ดี ก็เปรียบเสมือนการสาธิตให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เกมเมอร์ก็สามารถเป็นนักแข่งรถอาชีพได้"

ตัวเขายังยอมรับด้วยว่า การเป็นนักแข่ง แค่เร็วอย่างเดียวไม่พอ แต่ยังต้องมีความพร้อมในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่ง GT Academy สามารถเป็นแคมป์ที่ช่วยเตรียมตัวพวกเขาให้พร้อมเพื่อก้าวสู่จุดหมายต่อไปได้

อีกคนหนึ่งที่เป็นผู้ชนะจากรายการนี้เช่นกันก็คือ แยน มาร์เดนโบโร่ นักซิ่งจากเวลส์ ซึ่งแม้ในตอนที่ชนะการแข่งขันเมื่อปี 2011 ตัวเขาจะเป็นนักศึกษา แต่ก็ยอมรับว่า GT Academy คือสิ่งที่สานฝันในวัยเด็กของเขาให้เป็นจริง

“อันที่จริง ความฝันในวัยเด็กของผมคือการเป็นนักแข่งรถอาชีพนะ แต่พอเริ่มรู้เรื่องราวอะไรขึ้น มันก็จำเป็นต้องทิ้งความฝันนั้นไป เพราะต้นทุนของมันสูงมากจนครอบครัวของเราไม่มีปัญญา ก่อนที่ผมจะมาเจอกับรายการนี้ ซึ่งได้พลิกชีวิตผมจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างเร็วมาก ๆ เลย”

สิ่งที่มาร์เดนโบโร่พูดนั้นไม่ผิดจากความเป็นจริงเลย เพราะชัยชนะจากโครงการดังกล่าวทำให้เขาได้พบกับประสบการณ์สุดหลากหลายในสนามแข่งกับรถหลายรูปแบบ ทั้งรถสปอร์ต, โปรโตไทป์ ไล่ไปจนถึงรถ F3 รวมถึงรถแข่งฟอร์มูล่าอีเป็นครั้งแรกในฐานะนักขับทดสอบ

แม้เจ้าตัวยอมรับว่าการไปถึงการแข่งขันระดับสุดยอดอย่าง F1 คงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันไปในระยะยาว แต่จากเส้นทางข้างต้น โอกาสที่มาร์เดนโบโร่จะได้ลงแข่งในรายการระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่า และยังเป็นกระแสที่มาแรงขึ้นเรื่อย ๆ คงมาถึงในอีกไม่ไกล

 

จุดจบสู่ก้าวต่อไป

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2008 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า GT Academy คือหนึ่งในการแข่งขันอีสปอร์ตส์ที่ประสบความสำเร็จสูง เพราะด้วยตัวรางวัลเองที่มีแรงดึงดูดอย่างมหาศาลสำหรับคนรักความเร็ว ทำให้มีผู้สมัครร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนหลายแสนคนจากทุกภูมิภาคที่มีการแข่งขันทั่วโลกในทุก ๆ ปี

แต่แม้จะประสบความสำเร็จทั้งในส่วนของจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ตลอดจนผลผลิตจากโครงการที่เติบใหญ่บนการแข่งขันสนามจริง แคมป์ที่เปลี่ยนจากนักซิ่งหน้าจอเป็นนักซิ่งแห่งโลกจริงก็มาถึงจุดจบในที่สุด โดยปี 2016 ถือเป็นการแข่งขันครั้งสุดท้าย …

ทว่าการปิดตัวของ GT Academy คือการปิดประตูบานหนึ่ง เพื่อเปิดประตูสู่ก้าวต่อไป เมื่อ Polyphony Digital จับมือกับ FIA เปิดการแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับเหล่าเกมเมอร์ขาซิ่งในชื่อ FIA Gran Turismo Championship ตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมา

คาซึโนริ ยามาอุจิ บิดาผู้สร้างเกม GT เปิดใจถึงการเปลี่ยนผ่านว่า "แน่นอนครับ เรายังมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับทางนิสสันอยู่ แต่นี่ก็ถือเป็นการเปิดประตูสู่มิติใหม่ ซึ่งหากเราไม่มีประสบการณ์ร่วม 10 ปีกับ GT Academy ผมก็ไม่คิดว่าเราจะสามารถสร้างการแข่งขัน FIA GT ให้มีระดับการแข่งขันที่สูงมากในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้"

แม้ยามาอุจิยอมรับว่า จุดประสงค์ของ FIA GT นั้นต่างจาก GT Academy ตรงที่พวกเขาไม่ได้เน้นไปที่การสร้างเกมเมอร์ให้เป็นนักแข่งรถอาชีพเหมือนแต่ก่อน แต่เวทีดังกล่าวก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการค้นหาเพชรในตมเพื่อนำไปปั้นสู่ดาวดวงใหม่ นิสสัน พันธมิตรดั้งเดิมจากสมัย GT Academy จึงยังเปิดพื้นที่ให้สำหรับเกมเมอร์ขาซิ่งเหมือนเดิม ซึ่งพวกเขาก็จะค้นหาเอาจากเกมเมอร์ที่ลงแข่งรายการ FIA GT นี่แหละ

ความสำเร็จของนักซิ่งที่มีเส้นทางจาก GT Academy รวมถึงผลงานของเกมเมอร์ในการชนะนักแข่งอาชีพระดับแชมป์ถือเป็นบทพิสูจน์ที่เกินพอแล้วว่า แม้ดีกรีของพวกเขาอาจจะสู้นักแข่งที่มาตามแบบแผนแบบดั้งเดิมไม่ได้ แต่หากได้รับการฝึกสอนในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่อย่างถูกต้อง นักซิ่งหน้าจอก็สามารถก้าวสู่เวทีนักแข่งรถอาชีพได้อย่างไม่อายใครเช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.autosport.com/esports/feature/8774/how-fia-esports-interest-could-change-motorsport
https://www.eurogamer.net/articles/2013-11-29-kazunori-yamauchi-profile
https://www.gran-turismo.com/gb/academy/
https://www.gran-turismo.com/th/gtsport/fia2018/intro/
https://www.motortrend.com/news/lucas-ordonez-interview/
http://www.thedrive.com/accelerator/21622/nissan-and-gran-turismo-on-the-hunt-for-top-driving-and-gaming-talent
https://www.youtube.com/watch?v=y0_OzV3LAAU

Author

เจษฎา บุญประสม

Content Creator ผู้ชื่นชอบการกิน, ท่องเที่ยว และดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล, อเมริกันเกมส์, มอเตอร์สปอร์ต, อีสปอร์ต

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น