Feature

อัลแบรต์ กามูส์ : ปรัชญาความไร้แก่นสารแห่งชีวิต จากผู้รักษาประตูรางวัลโนเบล | Main Stand

อัลแบร์ กามูส์ คือหนึ่งในนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของโลกที่เคยมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลมาก่อน เขาเชื่อว่า กีฬา เป็นภาพสะท้อนของพฤติกรรมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยสีสัน กลยุทธ์ วิธีการ ทักษะ และการใช้ความคิดที่ผสมผสานกับห้วงอารมณ์อันยากต่อการคาดเดา ซึ่งเป็นการช่วงชิงจังหวะที่เหมาะสมเพื่อเดินทางสู่ชัยชนะเปรียบได้กับเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการไขว่คว้ามาให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลผู้นี้เข้าใจกฎแห่งเกมกีฬาได้อย่างแจ่มแจ้ง จากประสบการณ์ที่เคยเล่นเป็นผู้รักษาประตูเมื่อสมัยยังเป็นเด็กหนุ่ม เขากล่าวว่า "ฟุตบอลทำให้วัยเยาว์ของผมสว่างไสว"

ปรัชญาด้านกีฬาที่เขาค้นพบนั้นฝั่งรากลึกอยู่ในหนังสือที่เขาเขียนแทบทุกเล่ม มันล่องลอยและวนเวียนอยู่ในตัวเขาจนแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกัน

ฟุตบอลให้ปรัชญาอะไรแก่กามูส์บ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

เด็กกำพร้าจากสงคราม

วันที่ 7 พฤศจิกายน 1913 อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) เกิดที่เมืองมอนโดวี ประเทศแอลจีเรีย สมัยยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยเขามีสัญชาติฝรั่งเศสแม้ว่าชาวอาณานิคมฝรั่งเศสในเวลานั้นจะปฏิเสธเขาโดยสิ้นเชิงเพราะความยากจนของเขาก็ตาม

ปี 1914 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้น เขาถูกเลี้ยงดูท่ามกลางเสียงกลองรบและห่ากระสุนปืน เช่นเดียวกับทารกคนอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน

ลูเซียน (Lucien Camus) บิดาของเขา ถูกเกณฑ์ไปรบแทบจะทันที ก่อนได้รับบาดเจ็บสาหัสในสมรภูมิลุ่มแม่น้ำมาร์น และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะนั้นกามูส์มีอายุยังไม่ถึง 2 ขวบดีด้วยซ้ำ แต่เขาก็ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าบิดาที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอ้อมกอดอันอบอุ่นของบิดาเป็นเช่นไร

แคทเธอรีน (Catherine Hélène Camus) มารดาผู้พิการทางหู จำเป็นต้องโยกย้ายครอบครัวไปอยู่กรุงแอลเจียร์ ย่านจตุรัสเบลกูร์ บนพื้นที่สลัมสกปรกในตรอกแคบ ๆ ของเมืองหลวงประเทศแอลจีเรีย ซึ่งแออัดไปด้วยคนยากจนที่หิวโหย โดยมารดาของเขาทำงานเป็นคนรับใช้เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวตามลำพังเรื่อยมา

ในสภาพความทุกข์ยาก ครอบครัวของกามูส์ต้องอยู่อย่างขัดสน วัยเด็กของเขาจึงเต็มไปด้วยความลำบากยากไร้ แต่เพราะเป็นคนมีหัวคิดก้าวหน้าจึงมุ่งมั่นเรียนหนังสือและใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการอ่านหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน รวมถึงหนังสือบริจาคที่คนใจดีมอบให้

เขาเคยกล่าวไว้ว่า "ผมอยู่ตรงกลางระหว่างความยากจนกับแสงแดด ... ความยากจนขัดขวางไม่ให้ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่แสงแดดขจัดปัญหาทุกอย่างไปเสียสิ้น"

กามูส์ไม่เคยรู้สึกว่าความยากจนที่ได้รับจะเป็นความปวดร้าวของชีวิต เขาจึงใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง เพราะเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่า การเรียนและการแสวงหาความรู้จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งแก่ตัวเขาในอนาคต

 

นักฟุตบอลจากผ้าขี้ริ้ว

ในสลัมโกโรโกโสแห่งกรุงแอลเจียร์ทำให้กามูส์รู้จักกับฟุตบอลเป็นครั้งแรก เขาหัดเล่นบนพื้นปูนขรุขระของสลัม โดยมีลูกฟุตบอลที่ทำจากผ้าขี้ริ้ว ประตูรูหนูที่ทำจากรองเท้า และเศษก้อนหินที่กระเด็นตกตามข้างทาง

กามูส์หลงรักฟุตบอลและฝึกซ่อมอย่างจริงจังทุกวัน แม้จะต้องถูกคุณยายตำหนิหรือดุด่าว่ากล่าว เพราะกลัวว่าฟุตบอลจะทำให้รองเท้านักเรียนขาดรุ่ยจนใช้งานไม่ได้ เนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อรองเท้าคู่ใหม่บ่อยนัก แต่กามูส์ก็ยังคงแอบออกไปเล่นฟุตบอลเป็นประจำกับพ้องเพื่อนโดยไม่กลัวไม้เรียวของคุณยายเลยแม้แต่น้อย

สมัยเรียนชั้นประถม ครูชื่อ หลุยส์ แชร์แมง (Louis Germain) ได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือเขาอย่างสุดกำลัง ส่งผลให้เขาได้รับทุนเรียนต่อจนจบ ซึ่งระหว่างนั้นเขาก็กลายเป็นนักฟุตบอลมากพรสวรรค์ประจำโรงเรียนไปเสียแล้ว

เขาเล่นได้เกือบทุกตำแหน่ง เป็นกองหน้าก็จบสกอร์ได้อย่างเฉียบคม เป็นกองกลางที่ควบคุมจังหวะเกมได้ดี รวมถึงยังเป็นกองหลังที่ตัดเกมได้อย่างเฉียบขาดอีกด้วย แต่ตำแหน่งที่เขาหลงรักจริง ๆ กลับเป็นผู้รักษาประตู ซึ่งเขาชื่นชอบความโดดเดี่ยวด้านหลังเสาประตู มันเปรียบเสมือนการทดสอบจิตใจของตัวเองว่าจะมั่นคงแข็งแกร่งได้มากขนาดไหนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่ไร้ความปราณี

แต่ทว่าในขณะที่ทุกอย่างกำลังเป็นไปได้ด้วยดี เขาก็ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งทำให้ความฝันที่อยากเป็นนักฟุตบอลต้องพังทลายลงทันที

ขณะนั้นกามูส์อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังก่อเค้าปะทุขึ้นด้วยความโกลาหล แม้ว่าเขาอยากเป็นทหารที่กล้าหาญเช่นเดียวกับคุณพ่อผู้ล่วงลับ แต่วัณโรคก็ทำให้เขาต้องล้มเลิกทุกความฝันด้วยความจำยอม

เขาย้ายออกจากบ้านไปอยู่กับลุงชื่อ กุสตาฟ อาโกต์ (Gustave Acault) เป็นคนขายเนื้อที่มีอิทธิพลต่อความคิดของกามูส์ในช่วงวัยเยาว์ เป็นผู้สอนให้เขาได้รู้จักปรัชญาและการเขียนหนังสือเป็นครั้งแรก

ระหว่างทำการศึกษาอยู่นั้น กามูส์ทำงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่เป็นคนขายเครื่องอะไหล่ยนต์ พนักงานพยากรณ์อากาศ เสมียนบริษัทเดินเรือ ไปจนถึงลูกจ้างในกรมตำรวจ พร้อมกันนั้นเขาก็เริ่มเขียนบทความว่าด้วยปัญหาสังคมและการเมืองไปด้วย

ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของครูหลุยส์ แชร์แมง เขาสามารถเรียนจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาเมื่อปี 1935 และถัดมาอีกปีก็เรียนจบระดับมหาบัณฑิต

แม้กามูส์จะป่วยเป็นวัณโรคจนไม่สามารถกลับไปเล่นฟุตบอลได้อีก แต่ความรักในกีฬาในตัวเขาก็ไม่เคยลดลงไป เขายังคงไปดูทีมท้องถิ่นแข่งขันเป็นประจำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

 

กีฬาคือมหาวิทยาลัยชีวิต

กามูส์ได้เรียนรู้หลายสิ่งจากการเล่นกีฬา เขายอมรับว่าเป็นความสุขไม่กี่อย่างที่เขาจะไขว่คว้าหามาได้ในช่วงวัยเด็ก และเขาก็ชอบความสนุกของการได้สัมผัสฟุตบอลบนผิวปูนขรุขระของสลัมที่สอนให้รู้จักชัยชนะเล็ก ๆ บนกองปูนแห่งความพ่ายแพ้ ซึ่งกัดกินดวงวิญญาณของผู้คนให้จมปลักอยู่กับความแร้นแค้นสิ้นหวัง

ฟุตบอลให้อะไรมากกว่าความสนุก กามูส์เข้าถึงปรัชญาแห่งชีวิตครั้งแรกก็ด้วยการเล่นเป็นผู้รักษาประตูให้กับโรงเรียนบ้านเกิด

เขาสามารถเล่นเป็นกองหน้าหรือผู้เล่นแนวรุกที่โดดเด่นได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ทว่าเขากลับเลือกเล่นเป็นผู้รักษาประตู โดยให้เหตุผลว่า

"ฟุตบอลสอนให้ผมรู้จักศีลธรรมเป็นครั้งแรก ผมจำเป็นต้องล่อหลอกผู้อื่นที่มีทักษะน้อยกว่าเพื่อเดินหน้าทำประตู และบางครั้ง ผมก็จำเป็นต้องเล่นนอกเกมเพื่อให้อีกฝ่ายทำผิดพลาด ดังนั้นผมจึงชอบเป็นผู้รักษาประตู เพราะมันเป็นตำแหน่งที่ทำร้ายผู้คนน้อยที่สุด แม้จะต้องโดดเดี่ยวในบางครั้งก็ตาม"

จิม ไวท์ (Jim White) พิธีกรด้านกีฬาชื่อดังแห่งสหราชอาณาจักร ได้วิเคราะห์แนวคิดของกามูส์ ไว้ใน The Telegraph ว่า

"กามูส์ รวมถึงผู้รักษาประตูคนอื่น ๆ ต่างเล่นภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ท้าทาย หากทีมของเขาได้ประตู ผู้รักษาประตูจะรู้ว่าไม่เกี่ยวอะไรกับเขา แต่ในทางกลับกันหากอีกฝ่ายสามารถทำประตูได้ มันกลับเป็นความผิดของเขาทั้งหมด"

ตัวของกามูส์เองก็ออกมายอมรับว่า "ผู้รักษาประตูคือตำแหน่งที่เหงาที่สุด"

กระนั้นแนวคิดว่าด้วยเรื่องความไร้สาระของชีวิตที่กามูส์นำเสนอผ่านนวนิยายของตนนั้นก็ดูจะเด่นชัดที่สุดกับตำแหน่งผู้รักษาประตูที่สามารถมองเห็นปฏิกิริยาทุกอย่างในเกมโดยใช้การเคลื่อนที่น้อยที่สุด ซึ่งเขามีโอกาสไม่มากที่จะพิสูจน์ตัวเอง แต่ไม่ว่าอย่างไรผู้รักษาประตูก็เป็นแพะรับบาปทันทีที่ลูกฟุตบอลวิ่งเข้าไปซุกอยู่ในก้นตาข่าย

นอกจากนั้นกามูส์ยังเชื่อว่ากีฬาสะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์ได้เด่นชัดที่สุด เราสามารถเข้าถึงตัวตนของเราเองได้ในระหว่างการแข่งกีฬา ซึ่งเป็นเพียงเวลาสั้น ๆ ที่เปิดโอกาสให้จิตใจของเราได้รับรู้ถึงอิสระของความคิดอย่างแท้จริงว่าเราเป็นคนอย่างไรกันแน่ ?

เหมือนอย่างที่กามูส์ได้อธิบายไว้ว่า "กีฬาเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต เราจะเข้าใจทุกอย่างของชีวิตได้ก็ด้วยการเล่นกีฬา"

 

มรดกของกามูส์

กามูส์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปี 1960 การตายของเขากะทันหันจนแทบไม่น่าเชื่อ เขาจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 44 ปีเท่านั้น

ชวนให้หลายคนอดคิดถึงแนวคิดว่าด้วยความไร้แก่นสารของชีวิตของเขาไม่ได้ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มักเน้นไปที่เรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อแลกกับสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เช่น การทำงานหนักเพื่อแลกกับชื่อเสียงเงินทอง หรือการถูกสาปให้หลงไปตามค่านิยมของยุคสมัย แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแสวงหาหนทางให้ชีวิตมีคุณค่าเพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายเท่านั้นเอง

คงเหมือนกับนักกีฬาที่มีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือการกระหายในชัยชนะ แม้ว่าวิถีทางไปสู่ชัยชนะจะไม่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องเริ่มต้นที่การฝึกซ่อม การมีระเบียบวินัย รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เข้มเเข็ง เพื่อเฝ้าระวังตัวเองทุกลมหายใจไม่ให้หลุดลอยออกจากกรอบเกณฑ์ที่วางไว้จนห่างไกลจากความสำเร็จ

แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดิ้นรนขนาดนั้น แต่มันก็เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้ชีวิตมีคุณค่าและงดงามในแบบที่เราต้องการให้เป็น

กามูส์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "ความไร้แก่นสารแห่งชีวิต"  

ผลงานชิ้นสำคัญที่กามูส์ทิ้งไว้ให้โลก ได้แก่ คนนอก (L'Étranger), กาฬวิบัติ (La Peste), ชะตากรรมของซีซีฟ (Le Mythe de Sisyphe), มนุษย์คนแรก (Le premier homme) และ มนุษย์สองหน้า (La Chute) เป็นต้น

เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 1957 จากนวนิยายเรื่องคนนอก ผลงานชิ้นเอกที่ใช้เทคนิคฉากโศกนาฎกรรมเพื่อสร้างความสง่างามให้ตัวละครโดดเด่น และยังคงเป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้

โดย ฌอง-ปอล ชาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) เพื่อนรักและนักเขียนคนสำคัญในยุคสมัยเดียวกัน เคยกล่าวสดุดีต่อการจากไปของกามูส์ไว้ว่า

"กามูส์คือยอดคนที่ฉลาด ความเก่งกาจของเขาทำให้เราได้ฉุกคิดบางอย่าง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่วิถีทางของเขาจะถูกจดจำในประวัติศาสตร์โลกไปอีกยาวนาน"

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.mmowen.me/camus-absurd-love-of-football
https://medium.com/the-philosophers-stone/albert-camus-the-absurd-and-football-d5aac514a39e
https://bookhaven.stanford.edu/2016/08/albert-camus-his-childhood-poverty-and-the-solar-side-of-his-work/
https://www.telegraph.co.uk/culture/books/bookreviews/9727511/The-Outsider-A-History-of-the-Goalkeeper-by-Jonathan-Wilson-review.html
https://www.cliffsnotes.com/literature/s/the-stranger/summary-and-analysis/part-2-chapter-v

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น